อันดับแรกเป็นการรีวิวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมา:
- EUR/USD ดูเหมือนว่านายมารีโอ ดรากีห์ จะได้สูญเสียอิทธิพลในตลาดแล้ว ซึ่งปัจจุบันเขากำลังรอประธานธนาคารกลางยุโรปคนใหม่มารับตำแหน่งแทนที่เขา แต่อย่างน้อยท่าทีที่ดูผ่อนปรนของนายดรากีห์และเหตุผลของเขาเกี่ยวกับการปรับนโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาก็ได้รับการตอบสนองอย่างค่อนข้างสงบโดยนักลงทุน ค่าเงินยูโรก็ไม่อ่อนตัวลงจากการแถลงข่าวว่าไม่น่าจะมีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยจนกว่าจะถึงช่วงกลางปีหน้าเช่นกัน ดังนั้นจึงเป็นที่น่าประหลาดใจที่การแถลงข่าวของประธานธนาคารกลางยุโรปในครั้งนี้กลับส่งผลดีต่อค่าเงินยูโรและทำให้ราคาขยับขึ้นไปเหนือระดับ 1.1300 จากนั้นก็มีการไหลกลับของราคามาที่ 1.1250 และรอตัดทะลุขึ้นทิศเหนือหลังการประกาศสถิติตลาดแรงงานสหรัฐฯ ในวันศุกร์ที่ 7 มิถุนายน
ผู้เชี่ยวชาญเตรียมพร้อมรับมือกับดัชนีนอนฟาร์ม (จำนวนตำแหน่งงานใหม่นอกภาคการเกษตร) ที่อาจ “หดตัว” ลงประมาณ 30% แต่แทบไม่มีใครคาดการณ์ตัวเลขที่ลดลงถึง 3 เท่า (จาก 224K เหลือ 75K) ดังนั้น ราคาคู่นี้จึงไต่ขึ้นไปยังระดับ 1.1345 และแกว่งตัวในรอบสัปดาห์อยู่ที่ 180 จุด โดยราคาปิดตัวปลายสัปดาห์ห้าวันทำการที่ 1 ยูโรเท่ากับ $1.1333 - GBP/USD หลายคนกล่าวว่าการไม่มีข่าวคือข่าวที่ดี หลังจากการประกาศลาออกของนายกรัฐมนตรีเทเรซ่า เมย์ ก็ไม่ปรากฏเหตุการณ์สำคัญจากฝั่งอังกฤษ ทำให้เงินปอนด์ค่อยๆ แข็งค่าขึ้นตลอดทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีทรัมป์เดินทางเยือนเพื่อเข้าพบราชินีเอลิธซาเบ็ธที่ 2 จนเกิดข่าวการเมืองหน้าหนึ่งแต่ก็ไม่ใช่ข่าวสำคัญทางเศรษฐกิจ ในขณะที่ความพยายามของนางเมย์ที่จะทิ้งมรดกเป็นอิทธิพลเพื่อหลีกเลี่ยงเบร็กซิตแบบ “เด็ดขาด” ก็ส่งผลสนับสนุนต่อเทรนด์ขาขึ้นของเงินปอนด์เล็กน้อย ด้วยเหตุนี้ ราคาคู่นี้จึงไต่กลับขึ้นมาที่ราคาสูงสุดของสัปดาห์ก่อนหน้า โดยปิดตลาด ณ จุดที่นักวิเคราะห์กำลังรอการปรับตัวของราคาที่ระดับ 1.2733
- USD/JPY ในครั้งที่แล้วคะแนนโหวตของผู้เชี่ยวชาญแบ่งออกเป็นกลุ่มต่างๆ ดังนี้: 50% โหวตให้กับตลาดหมี 25% โหวตให้กับฝั่งกระทิง และอีก 25% มีท่าทีสับสนอยู่ตรงกลาง เรากล่าวได้ว่าความเหลื่อมล้ำนี้เองที่สะท้อนเป็นกราฟราคาคู่นี้
อัตราแลกเปลี่ยนของเงินเยนกับดอลลาร์สัมพันธ์กับพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นอย่างมาก แนวโน้มขาลงของอย่างหลังหยุดเมื่อวันจันทร์ที่ 3 มิถุนายน ยับยั้งไม่ให้ราคาตกลงมาต่ำกว่าระดับ 107.80 จากนั้นค่าเงินดอลลาร์ก็เริ่มฟื้นตัวอีกครั้ง และขยับถึงระดับ 108.65 ณ ช่วงเวลาที่มีการประกาศตัวเลขดัชนีนอนฟาร์ม ต่อมาราคาได้ขยับลดลงอย่างรวดเร็วจนถึงกรอบด้านล่างที่ระดับ 107.88 และปิดตลาดท้ายสัปดาห์ที่ 108.18 - คริปโตเคอเรนซีได้รับการประกาศให้อยู่ในสถานะ “ฮาลาล” ในอียิปต์ตามหลักกฎหมายชารีอะห์ของอิสลาม คำสั่งใหม่นี้เป็นการยกเลิกการแบนเงินคริปโตซึ่งได้สั่งห้ามมาตั้งแต่ปี 2018 และนี่อาจเป็นข่าวที่ดีที่สุดของสัปดาห์นี้ เหตุการณ์โดยรวมทั่วไปค่อนข้างจะเป็นกลาง ไม่มีข่าวสำคัญใดๆ ตามที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ แม้ว่าจะมีความพยายามจะดันราคาขึ้น แต่การปรับตัวของราคาก็ยังมีผลอย่างต่อเนื่อง: ทำให้ฝั่งกระทิงเก็บกำไรและการขายเหล่านี้ก็ส่งผลยับยั้งการไหลเข้าของนักลงทุนรายใหม่ โดยเมื่อวันศุกร์ที่ 31 พฤษภาคม ราคา BTC/USD อยู่ที่ระดับ $9,100 ในขณะที่วันพฤหัสบดีที่ 6 มิถุนายนที่ผ่านมา ราคาลดลงมาตั้งหลักอยู่ที่ $7,450 และเสียมูลค่า 18% ในเวลาหกวัน
กราฟ Ethereum (ETH/USD) แทบจะซ้ำรอยกราฟพี่ใหญ่อย่างบิทคอยน์อย่างสมบูรณ์ แต่สำหรับ Ripple และ Litecoin กลับมีความสามารถมากกว่า ดังนั้น ราคา XRP/USD เกือบจะกลับสู่ตัวเลขในช่วงปลายสัปดาห์ก่อนหน้าและราคา LTC/USD ก็ขยับแซงหน้ากว่าเล็กน้อย
สำหรับบทวิเคราะห์ของสัปดาห์นี้ เราได้สรุปความเห็นของบรรดานักวิเคราะห์มากมาย รวมถึงคำคาดการณ์ที่วิเคราะห์จากพื้นฐานทางเทคนิคและสถิติกราฟต่างๆ โดยเราสามารถสรุปผลวิเคราะห์ได้ดังต่อไปนี้:
- EUR/USD การกล่าวแถลงโดยนายมารีโอ ดรากีห์ เมื่อวันที่ 6 มิถุนายนที่ผ่านมาช่วยหนุนค่าเงินยูโรให้สูงขึ้น และในวันพุธที่ 12 มิถุนายนนี้ เราจะจับตามองการแถลงข่าวครั้งถัดไปของเขา ซึ่งนักลงทุนยังคงคาดหวังที่จะได้ยินสัญญาณที่ชัดเจนยิ่งขึ้นเกี่ยวกับนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางยุโรปในอนาคตอันใกล้นี้ อีกหนึ่งแหล่งข่าวสำคัญของตลาดคือทวิตเตอร์ของประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งเขามักจะแชร์ข้อมูลข่าวสารและแผนการต่างๆ เกี่ยวกับสงครามทางการค้า โดยเฉพาะกับจีน
สำหรับตัวเลขที่ชัดเจนในสัปดาห์ที่จะถึงนี้จะเป็นตัวเลขระดับเงินเฟ้อ ในวันพุธจะมีการประกาศดัชนี CPI โดยสำนักงานสถิติของจีน ในส่วนวันพุธและวันศุกร์จะมีการประกาศดัชนีราคาผู้บริโภคจากฝั่งสหรัฐฯ และในวันพฤหัสบดีที่ 13 มิถุนายน จะมีการประกาศดัชนีตัวเดียวกันจากเยอรมนี
ในระหว่างนี้ ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญแบ่งออกได้ดังนี้: 60% ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยการวิเคราะห์กราฟในกรอบ D1 และ 20% จากออสซิลเลเตอร์ให้สัญญาณว่าราคาอยู่ในช่วงถูกซื้อมากเกินไป และคาดว่าราคาจะพยายามตัดทะลุระดับแนวรับที่ 1.215 และจะทดสอบจุดต่ำที่โซน 1.1100 อีกครั้ง ในขณะที่อีกมุมมองหนึ่งเป็นของผู้เชี่ยวชาญจำนวน 40% และสัญญาณส่วนใหญ่จากออสซิลเลเตอร์และดัชนีเทรนด์ หากเขาพวกทำนายถูกต้อง คาดว่าราคาจะสามารถขยับขึ้นไปตั้งหลักเหนือระดับ 1.1400 ได้สำเร็จโดยตั้งเป้าระดับแนวต้านไว้ที่ 1.1525 - GBP/USD ในช่วงต้นสัปดาห์นี้ เราจะทราบว่าใครคือผู้สมัครชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมของอังกฤษ และจะมีความชัดเจนมากขึ้นว่าพรรคจะได้คะแนนเท่าไรเพื่อชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ตลอดจนแนวโน้มความเป็นไปได้ของสถานการณ์แยกตัวเบร็กซิตแบบ “เด็ดขาด” ออกจากอียูโดยปราศจากข้อตกลง
ในขณะนี้มีผู้เชี่ยวชาญ 55% สนับสนุนโดยการวิเคราะห์กราฟในกรอบ H4 ยังคงเข้าข้างกับตลาดกระทิง และ 45% โหวตให้กับตลาดหมี ในส่วนดัชนีเทรนด์มีอัตราเดียวกันอยู่ที่ 55% ซึ่งให้สัญญาณแนวโน้มขาขึ้นของราคา และ 45% เข้าข้างแนวโน้มขาลง สำหรับออสซิลเลเตอร์ให้ภาพที่ต่างออกไปเล็กน้อย โดยในที่นี้ แม้ว่าสัญญาณส่วนใหญ่จะเป็น “สีเขียว” ก็มีสัญญาณ 10% จากดัชนีในกรอบ H4 และ D1 ที่บ่งชี้ว่าราคาถูกซื้อมากเกินไป ซึ่งอาจนำไปสู่การปรับตัวของราคาครั้งใหญ่หรืออาจเป็นการเริ่มต้นของเทรนด์ขาลง
ปัจจัยที่ส่งผลต่อราคาคู่นี้อาจเป็นสถิติจากตลาดแรงงานในอังกฤษ ซึ่งจะประกาศในวันอังคารที่ 11 มิถุนายน แต่มีความน่าจะเป็นสูงที่อิทธิพลดังกล่าวจะมีเพียงเล็กน้อยและชั่วคราวเท่านั้น
- USD/JPY ตัวเลข GDP ในญี่ปุ่นซึ่งจะประกาศออกมาในวันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน ก็ไม่น่าจะส่งอิทธิพลต่อตลาดมากเท่าใดนักเช่นกัน ตัวกระตุ้นสำคัญยังคงเป็นผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ราคาน้ำมัน และความคืบหน้าในการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ และจีน ในสถานการณ์แห่งความไม่แน่นอนนี้ นักวิเคราะห์ 40% จับตามองไปยังทิศเหนือ อีก 40% โหวตให้กับทิศใต้ และ 20% โหวตให้กับเทรนด์ด้านข้าง โดยมีระดับแนวรับอยู่ที่ 107.75 และ 107.00 และระดับแนวต้านที่ 109.15, 109.65, 110.35 และ 110.65
- คริปโตเคอเรนซี การปรับตัวของราคาบิทคอยน์ ณ ปัจจุบันเป็นเพียงชั่วคราวจริงหรือไม่? หรือนี่จะเป็นจุดเริ่มต้นของเทรนด์ขาลงครั้งใหม่? เริ่มปรากฏความขัดแย้งเกี่ยวกับการใช้วิธีการวิเคราะห์การเคลื่อนที่ของสกุลเงินทั่วไปกับการวิเคราะห์เงินดิจิทัล
แน่นอนว่าผู้สนับสนุนทฤษฎีการเติบโตคือผู้เป็นเจ้าของบิทคอยน์ที่กำลังพยายามทุกวิถีทางที่จะอุ่นเครื่องตลาดด้วยข่าวสารต่างๆ มากมาย เช่น ผู้ก่อตั้งบริษัท Dadiani Syndicate ได้รายงานว่าเธอได้รับคำสั่งจากลูกค้าคนหนึ่งให้ซื้อบิทคอยน์ 25% จากบิทคอยน์ที่ตราขายทั้งหมด (ซึ่งคิดเป็น 4.5 ล้านเหรียญมูลค่ากว่า $36 พันล้านดอลลาร์) อีกข่าวหนึ่งก็คือตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป กระเป๋า BTC ที่ใหญ่ที่สุดจะสามารถดึงดูดเม็ดเงินได้ถึง $2.72 พันล้านเหรียญ แต่ถ้าหากเป็นเช่นนี้จริง และมีเงินไหลเข้าถึงหลายพันล้านเหรียญ ทำไมราคา BTC/USD จึงตกลงมาถึง 18% ในเวลาหกวัน?
ทั้งนี้ควรคำนึงว่าในช่วงปลายสัปดาห์ทำการเมื่อวันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา ทั้งบิทคอยน์และอัลท์คอยน์สกุลหลักต่างพยายามฟื้นตัวและราคา BTC/USD ก็กลับมาอยู่ที่โซน $7,800-8,000 ซึ่งถือได้ว่าเป็นจุดวกกลับในรอบสามสัปดาห์
สำหรับนักวิเคราะห์ ณ ตอนนี้มี 50% ของนักวิเคราะห์ที่เชื่อว่าราคาควรจะขยับลงมาที่ระดับ $7,000 ในขณะที่ 20% ที่เหลือเห็นด้วยกับเทรนด์ด้านข้างที่ช่วง $7,500-8,450
โรมัน บุทโก, NordFX
หมายเหตุ: เนื้อหาดังกล่าวไม่ควรยึดถือเป็นคำแนะนำในการลงทุนหรือเป็นคำปรึกษาในการซื้อขายในตลาดการเงิน โดยเนื้อหาข้างต้นเป็นไปเพียงเพื่อจุดประสงค์ในการให้ข้อมูลเท่านั้น การซื้อขายในตลาดการเงินมีความเสี่ยงและอาจทำให้เกิดการสูญเสียเงินฝากได้
กลับ กลับ