อันดับแรกเป็นการรีวิวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมา:
- EUR/USD ตามที่ได้ทำนายไว้ในครั้งที่แล้ว การประชุมระหว่างประธานาธิบดีทรัมป์ของสหรัฐฯ และผู้นำสี จิ้นผิงของจีนในวันสุดท้ายของงานประชุมที่โอซากาไม่ได้นำไปสู่การสิ้นสุดของสงครามการค้า ผู้นำทั้งสองตกลงกันได้เพียงว่าจะกลับมาร่วมโต๊ะเจรจาทางการค้าและเศรษฐกิจกันอีกครั้งแม้ท่ามกลางบรรยากาศที่ไม่เป็นมิตร อย่างไรก็ตาม ตลาดมีท่าทีตอบสนองค่อนข้างดีต่อผลลัพธ์ดังกล่าว ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นตลอดทั้งวันเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ทำให้ราคาตกลงมาเกือบ 100 จุดและตามมาด้วยช่วงนิ่งสงบระยะยาว ก่อนที่จะเกิดความเคลื่อนไหวเมื่อมีการประกาศข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา จำนวนตำแหน่งงานใหม่นอกภาคการเกษตร (NFP) เพิ่มขึ้นกว่าสามเท่าในเดือนมิถุนายนเมื่อเทียบกับตัวเลขเดือนพฤษภาคม (จาก 72K เป็น 224K) ซึ่งช่วยให้เงินดอลลาร์กดดันเงินยูโรต่ำลงไป ราคาคู่นี้ขยับเกือบถึงระดับ 1.1200 หลังจากนั้นจึงตามมาด้วยการรีบาวด์และปิดตลาดที่ 1.1225
- GBP/USD ตัวเต็งสำคัญสำหรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษ นายบอริส จอห์นสัน ยังคงใช้บทบาท “ความหวาดกลัว” ต่อตลาด คำแถลงการณ์ของนายจอห์นสันเกี่ยวกับโอกาสความเป็นไปได้ในการแยกตัวเบร็กซิต “แบบเด็ดขาด” โดยปราศจากข้อตกลงยิ่งส่งแรงกดดันต่อค่าเงินปอนด์ ทำให้ราคาตกลงมาที่ระดับช่วงปลายปี 2006 - ต้นปี 2017 ทั้งนี้ เป็นเรื่องธรรมชาติที่สถิติที่เป็นบวกจากฝั่งตลาดแรงงานอเมริกันส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของราคาคู่นี้เช่นกัน ทำให้บทวิเคราะห์ที่ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ทำนายไว้ในสัปดาห์ที่แล้วปรากฏออกมาถูกต้อง โดยตามที่คาดไว้ ราคาได้ขยับมาอยู่จุดต่ำสุดในกรอบโซน 1.2480 หลังจากนั้นก็ไต่ขึ้นมาอีก 45 จุด และปิดตลาดห้าวันทำการ
- USD/JPY ในสัปดาห์ที่แล้วเราไม่สามารถให้คำทำนายที่ชัดเจนสำหรับคู่นี้ ผู้เชี่ยวชาญ 40% ได้โหวตว่าเงินเยนญี่ปุ่นจะแข็งค่าขึ้นและราคาคู่นี้จะเคลื่อนที่ในขาลง อีก 30% ให้ภาพการเคลื่อนที่ในทิศเหนือ ในขณะที่นักวิเคราะห์ที่เหลือกลับมีท่าทีเป็นกลาง ผลสรุปก็คือทุกฝ่ายต่างทำนายได้ถูกต้อง โดยราคาได้ขยับลงมาที่ระดับ 107.52 ในช่วงกลางสัปดาห์ จากนั้นก็ขยับขึ้นมาและเมื่อวันศุกร์ที่ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมา ราคาได้กลับไปสู่ระดับสูงสุดของวันจันทร์ที่ 1 กรกฎาคม ทำให้ค่าเงินดอลลาร์ฟื้นตัวกลับขึ้นมาเพียง 55 จุดต่อเงินเยนในรอบห้าวัน และรักษากรอบราคาอยู่ในช่องด้านข้างสำหรับช่วงครึ่งแรกของเดือนมิถุนายนนี้
- คริปโตเคอเรนซี ราคา BTC/USD ทำสถิติต่ำสุดในรอบสองสัปดาห์เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา โดยตกลงไปที่ $9.725 กล่าวคือหลังจากราคาพุ่งทะยานขึ้นกว่า 155% ในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน บิทคอยน์กลับเสียมูลค่าเกือบครึ่งของราคาที่เติบโตขึ้นในรอบสองเดือนภายในช่วงเวลาเพียงเจ็ดวันตั้งแต่วันที่ 26 มิถุนายน-2 กรกฎาคม ซึ่งไม่มีอะไรน่าประหลาดใจในความผันผวนของเงินคริปโต และผู้เชี่ยวชาญหลายคนก็กล่าวถึงโอกาสการปรับตัวของราคาที่ 30% และแม้แต่ 505 แต่เป็นไปได้หรือไม่ที่จะเรียกความผันผวนดังกล่าวว่าเป็น “การปรับตัวของราคา”?
หลังจากราคาขยับลดลง บิทคอยน์ได้กลับทิศทางและฟื้นตัวขึ้นมาเล็กน้อย โดยขยับขึ้นมาถึง $11,100 ภายในช่วงเย็นวันศุกร์ที่ 5 กรกฎาคม ในส่วน Ethereum (ETH/USD), Ripple (XRP/USD) และ Litecoin (LTC/USD) ต่างเดินตามรอยบิทคอยน์และแสดงความผันผวนที่ใกล้เคียงกัน โดยเฉลี่ยแล้วมีช่วงความผันผวนของเหรียญดังกล่าวอยู่ที่ 17% ถึง 23%
สำหรับบทวิเคราะห์ของสัปดาห์นี้ เราได้สรุปความเห็นของบรรดานักวิเคราะห์มากมาย รวมถึงคำคาดการณ์ที่วิเคราะห์จากพื้นฐานทางเทคนิคและสถิติกราฟต่างๆ โดยเราสามารถสรุปผลวิเคราะห์ได้ดังต่อไปนี้:
- EUR/USD ตลาดตอบสนองด้วยความสนใจอย่างล้นหลามต่อสถิติแรงงานสหรัฐฯ ของเดือนมิถุนายน ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่าสถิติเหล่านี้อาจส่งอิทธิพลต่อการตัดสินใจของธนคารเฟดเกี่ยวกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ตามคำนายระบุว่าการตัดสินใจนี้อาจเกิดขึ้นที่การประชุมธนาคารเฟดวันที่ 31 กรกฎาคมนี้ ในขณะที่ตัวเลขดัชนี NFP ที่มีค่าต่ำจะยิ่งส่งผลเพิ่มความเป็นไปได้ในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่ 25 หรือแม้แต่ 50 จุด แต่ตามที่ได้ระบุข้างต้น ตัวเลขดัชนี NFP เพิ่มสูงขึ้นกว่า 3 เท่า และชี้ให้เห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจในสหรัฐฯ ไม่ได้มีความรุนแรงมากนัก ดังนั้นเหตุใดจึงต้องใช้นโยบายผ่อนคลายและยอมทิ้งเงินถูกๆ โดยใช่เหตุ? นักลงทุนจะพยายามหาคำตอบต่อคำถามนี้จากแถลงการณ์ของนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารเฟดในวันที่ 9, 10 และ 11 กรกฎาคม รวมถึงจะรออ่านบันทึกสรุปผลการประชุมธนาคารฯ ในวันพุธที่ 10 กรกฎาคม
การประชุมธนาคารกลางยุโรปจะมีขึ้นในวันพุธนี้ ตลาดคาดหมายว่าธนาคารกลางยุโรปจะมีการใช้มาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของอียู โดยวันชี้ชะตาคือวันที่ 25 กรกฎาคม
โดยท่าทีจะเป็นไปในทิศทางใดยังคงไม่ปรากฏความชัดเจน การปรับใช้นโยบายทางการเงินที่ผ่อนคลายโดยธนาคารเฟดอาจส่งผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนแอลง ในขณะที่การใช้นโยบายที่คล้ายกันโดยธนาคารกลางยุโรปก็จะกดให้ค่าเงินยูโรต่ำลงเช่นกัน และทั้งสองสิ่งนี้อาจเกิดขึ้นพร้อมกัน ข้อสังเกตประการหนึ่งคือ ผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลเยอรมนีรอบ 30 ปีให้ผลตอบแทนที่ลดลงอยู่ที่จุดฐาน ซึ่งบังเอิญตรงกับอัตราการให้ผลตอบแทนของพันธบัตรสหรัฐฯ รอบ 30 ปีเช่นกัน
ทั้งนี้ต้องขอกล่าวเล็กน้อยเกี่ยวกับเยอรมนี เยอรมนีจะประกาศสถิติเศรษฐกิจมหภาคชุดหนึ่งในวันจันทร์ที่ 8 กรกฎาคม ซึ่งรวมถึงสถิติดุลการค้าประจำเดือนพฤษภาคม ตามคำทำนายชี้ว่าตัวเลขอาจเป็นบวกซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อค่าเงินยูโรเล็กน้อย
อย่างไรก็ตาม 60% ของผู้เชี่ยวชาญยังคงเชื่อว่าราคายังไม่ขยับถึงระดับต่ำสุดในกรอบและคาดการณ์ว่าจะได้เห็นราคาคู่นี้ในโซน 1.1100-1.1185 ในส่วนดัชนีเทรนด์ 90% และออสซิลเลเตอร์ 80% ในกรอบ H4 และ D1 เห็นด้วยภาพการณ์นี้ สำหรับนักวิเคราะห์อีก 40% ที่เหลือมองว่าราคาไม่น่าจะสามารถตัดทะลุระดับแนวรับที่โซน 1.1185 ได้สำเร็จและน่าจะกลับไปสู่ระดับ 1.1275-1.1320 โดยมีเป้าหมายถัดไปอยู่ที่ 1.1350 และ 1.1400 ทั้งนี้ควรคำนึงว่าเมื่อปรับไปพิจารณาคำทำนายในรอบเดือน จำนวนผู้สนับสนุนแนวโน้มตลาดกระทิงในบรรดากลุ่มผู้เชี่ยวชาญเพิ่มขึ้นจาก 40% เป็น 65% ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยออสซิลเลเตอร์จำนวน 20% ที่ขณะนี้อยู่ในโซน oversold
- GBP/USD แม้ว่าจะมีแถลงการณ์โดยนายมาร์ค คาร์นีย์ ประธานธนาคารแห่งชาติอังกฤษ ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ยังเชื่อว่าอัตราดอกเบี้ยของเงินปอนด์จะไม่มีการปรับลดในวันที่ 1 สิงหาคมหรือแม้แต่วันที่ 19 กันยายน ความหวังที่จะเกิดการแยกตัวเบร็กซิตแบบ “อ่อนโยน” ยังคงไม่เลือนลาง ซึ่งความหวังนี้คือสิ่งที่ช่วยหนุนค่าเงินปอนด์ของอังกฤษแม้จะเพียงเล็กน้อย อีกหนึ่งปัจจัยเชิงบวกต่อเงินปอนด์คือ ณ ขณะนี้ เงินปอนด์ได้ขยับถึงโซนต่ำสุดในรอบสามสัปดาห์ นี่คือเหตุผลว่าทำไมผู้เชี่ยวชาญจำนวน 60% ถึงคาดการณ์ว่าราคาจะรีบาวด์กลับขึ้นมาและจะรักษาระดับอยู่ในช่วง 1.1250-1.2750 โดยมีระดับแนวต้านที่ใกล้ที่สุดที่ 1.2570 และ 1.2700
ในส่วนนักวิเคราะห์จำนวน 40% ซึ่งสนับสนุนโดยการวิเคราะห์กราฟในกรอบ D1 มีความเห็นในทางตรงกันข้าม โดยมองว่าราคาคู่นี้น่าจะขยับลงมายังจุดต่ำสุดของเดือนธันวาคมปี 2018 - มกราคม 2019 ที่โซน 1.2405-1.2475
สำหรับดัชนีส่วนใหญ่ต่างให้สัญญาณเป็นสีแดงทั้งในกรอบ H4 และ D1 อย่างไรก็ดี มีออสซิลเลเตอร์แล้ว 15% ที่ให้สัญญาณว่าราคาอยู่ในช่วง oversold - USD/JPY ความสนใจในค่าเงินเยนเริ่มอ่อนตัวลงท่ามกลางเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นและความน่าดึงดูดที่เพิ่มขึ้นในการถือสินทรัพย์ความเสี่ยงสูง แต่ก็มีนักวิเคราะห์เพียง 40% เท่านั้นที่คาดการณ์ว่าราคาจะสามารถตัดทะลุระดับแนวต้านที่ช่วง 108.50-108.80 และไต่ขึ้นไปถึงช่วง 109.00-109.60 ได้สำเร็จ ในส่วนผู้เชี่ยวชาญอีก 60% ที่เหลือเชื่อว่าราคาจะขยับในช่องด้านข้างอยู่สักระยะหนึ่งที่ 107.55-108.50 โดยจะพยายามตัดทะลุกรอบด้านล่างและหากทำได้สำเร็จ ราคาจะลดตัวจมลงไปที่ระดับ 106.75% ในส่วนออสซิลเลเตอร์จำนวน 15% ในกรอบ H4 และ D1 ซึ่งอยู่ในโซน overbought ให้สัญญาณว่ามีโอกาสที่การเคลื่อนที่ของราคาจะเป็นไปในทิศทางขาลง
- คริปโตเคอเรนซี โดยทั่วไป ข่าวสารต่างๆ ค่อนข้างเป็นบวกในตลาดเงินคริปโต ทั้งบิทคอยน์และเงินคริปโตสกุลอื่นๆ ยังคงดึงดูดนักลงทุนรายใหญ่ผู้มีประสบการณ์ เช่น ตามรายงานของ Bloomberg ระบุว่าเศรษฐีพันล้าน นายเฮนรี อาร์ คราวิส อายุ 75 ปี ก็ไม่อาจต้านทานได้และไม่นานมานี้ก็ได้ผันตัวมาเป็นนักลงทุนในกองทุนคริปโตเคอเรนซีของ ParaFi Capital ความสนใจในเงินบิทคอยน์พุ่งกระฉูดในช่วงเดือน 17 เดือนที่ผ่านมา โดยตัวเลขการค้นหาเกี่ยวกับบิทคอยน์บน Google สูงกว่าคำค้นหาเกี่ยวกับนายโดนัลด์ ทรัมป์ และคิม คาร์ดาเชียน ที่เคยรักษาตำแหน่งอันดับหนึ่งและอันดับสอง แม้แต่รัฐบาลจีนเองก็ได้ปรับเปลี่ยนทัศนคติต่อคริปโตเคอเรนซี ในรายงานฉบับหนึ่งของ Xinhua ซึ่งเป็นหน่วยงานข้อมูลทางการของจีนระบุว่าบิทคอยน์ถือเป็นสินทรัพย์ที่มีคุณสมบัติเป็น “ที่หลบภัย” ที่สมบูรณ์แบบสำหรับนักลงทุน
คำทำนายในทางบวกยังคงเหมือนเช่นเคย: $50,000-100,000 ต่อเหรียญ BTC ภายในระยะเวลาหนึ่งปีครึ่งหลังจากนี้ ในขณะเดียวกับ “การปรับตัว” ขาลงมีความเป็นไปได้โดยอาจปรับตัวถึง 50% หรือมากกว่า ในระหว่างนี้ ผู้เชี่ยวชาญจำนวน 30% กล่าวว่าราคา BTC/USD อาจตกลงมาที่ระดับแนวรับ $9,200 ในส่วนอีก 40% คาดการณ์ว่าราคาจะขยับขึ้นสู่ระดับ $14,000 และอีก 30% ระบุถึงการเคลื่อนที่ในช่วงด้านข้างที่ $9,725-12,200
โรมัน บุทโก, NordFX
หมายเหตุ: เนื้อหาดังกล่าวไม่ควรยึดถือเป็นคำแนะนำในการลงทุนหรือเป็นคำปรึกษาในการซื้อขายในตลาดการเงิน โดยเนื้อหาข้างต้นเป็นไปเพียงเพื่อจุดประสงค์ในการให้ข้อมูลเท่านั้น การซื้อขายในตลาดการเงินมีความเสี่ยงและอาจทำให้เกิดการสูญเสียเงินฝากได้
กลับ กลับ