บทวิเคราะห์ฟอเร็กซ์และคริปโตเคอเรนซี ประจำวันที่ 22-26 กรกฎาคม 2019

อันดับแรกเป็นการรีวิวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมา:

  • EUR/USD ในครั้งที่แล้วผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ (65%) คาดการณ์ว่าดอลลาร์สหรัฐจะแข็งค่าขึ้นและราคาจะเคลื่อนที่ไปที่โซน 1.1150-1.1200  และราคาได้ขยับลดลงโดยแตะที่ระดับ 1.1200 เมื่อคืนวันที่ 16-17 กรกฎาคม อย่างไรก็ดี แรงตลาดหมีกลับอ่อนล้าลง ณ จุดดังกล่าว และสองวันต่อมา แรงตลาดกระทิงได้พากราฟกลับขึ้นไปยังจุดเริ่มต้นเมื่อวันจันทร์ที่ 15 กรกฎาคมที่ระดับ 1.1285 ดังนั้นจึงเป็นสัปดาห์ที่สองติดต่อกันที่ราคาขยับอยู่ในช่องที่ค่อนข้างแคบ โดยจำกัดความผันผวนอยู่ในกรอบ 1.1190 และ 1.1285 เหตุผลที่ราคาค่อนข้างนิ่งสงบในสัปดาห์นี้ (อาจเป็นความสงบก่อนพายุ) ไม่ใช่วันหยุดฤดูร้อนของเหล่านักลงทุน แต่เป็นการรอฟังความเคลื่อนไหวจากที่ประชุมธนาคารกลางยุโรปในวันพฤหัสบดีที่ 25 กรกฎาคม ซึ่งผู้บริหารธนาคารยุโรปอาจทำการตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ย
  • GBP/USD หากคุณพิจารณากราฟ D1 คุณจะกล่าวได้ว่าเงินปอนด์ประสบกับการปรับตัวทางเทคนิคอีกครั้งหนึ่งในสัปดาห์ที่แล้ว เหตุผลเบื้องหลังก็คือตัวเลขที่แข็งแกร่งจากระดับค่าจ้างและการขายปลีกในสหราชอาณาจักร แต่โดยรวมแล้วทุกอย่างก็เป็นไปตามที่ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ (60%) คาดการณ์ไว้ โดยกราฟจัดว่าอยู่ในแนวโน้มขาลงมาตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมีนาคม ในตอนต้นราคาได้ทดสอบระดับแนวรับในโซน 1.2440 อีกครั้ง และจากนั้นก็ตัดทะลุระดับดังกล่าวและแตะถึงระดับต่ำสุดของวันที่ 3 มกราคม 2019 ที่ 1.2405 ก่อนที่จะตกลงมาอีก 25 จุดมายังกรอบด้านล่างที่ระดับ 1.2380 และขยับขึ้นอีกครั้ง การปรับตัวของราคาครั้งนี้ทำให้กราฟขยับขึ้นไปเกือบ 180 จุดและปิดตลาดท้ายสัปดาห์ในโซน 1.2500
  • USD/JPY โดยทั่วไป อัตราการเคลื่อนที่ของราคาจะสอดคล้องกับคำทำนายของนักวิเคราะห์ อยา่งไรก็ตาม ความผันผวนต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้เล็กน้อย ดังนั้น ท่ามกลางการเติบโตที่แข็งแกร่งของดัชนี Dow Jones Industrial Average ผู้เชี่ยวชาญจำนวนหนึ่งในสามรอให้ราคาขยับขึ้นมาที่โซน 108.50-109.00 ในตอนต้นสัปดาห์ อย่างไรก็ดี ฝั่งตลาดกระทิงพาราคาขยับขึ้นมาได้เพียงถึงระดับ 108.37 หลังจากนั้นแนวโน้มกลับไปอยู่ฝั่งของตลาดหมีตามที่ได้ทำนายไว้โดยนักวิเคราะห์จำนวน 70% โดยราคาวิ่งลงมาทิศใต้ยังจุดต่ำสุดของเดือนมิถุนายนที่บริเวณ 106.75-107.00 แต่ ณ จุดนี้ กราฟขยับลงมาไม่ถึงเป้าและคลาดไปประมาณ 20 จุดเช่นกัน ราคาขาลงหยุดอยู่ที่ 107.20 ก่อนที่จะตามมาด้วยการกลับตัวของเทรนด์อีกครั้ง และราคาปิดตลาดท้ายสัปดาห์ที่บริเวณ 107.70
  • คริปโตเคอเรนซี รัฐบาลสหรัฐฯ มีท่าทีต่อต้านแผนโครงการสกุลเงินดิจิทัล Libra ของบริษัท Facebook นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการบริการทางการเงินในสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐได้นำเสนอร่างกฎหมายที่จะสั่งแบนการออกคริปโตเอเรนซีไม่เพียงเฉพาะโดย Facebook เท่านั้น แต่รวมถึงบริษัทขนาดใหญ่อื่นๆ ที่มีผลกำไรรายปีสูงกว่า $25 พันล้านเหรียญสหรัฐอีกด้วย (เช่น Google) หากประธานาธิบดีทรัมป์ลงนามในกฎหมายฉบับนี้ ผู้ละเมิดจะต้องจ่ายค่าปรับเป็นเงิน $1 ล้านเหรียญต่อวัน และแม้ว่าผลกำไรจาก Libra ของบริษัท Facebook อาจสูงกว่าจำนวนดังกล่าว บริษัทก็ยังอาจปฏิเสธที่จะดำเนินการต่อเนื่องจากไม่ต้องการบั่นทอนความสัมพันธ์ับทางรัฐบาล
    ท่ามกลางข่าวนี้ ทำให้ราคาบิทคอยนลดลงอย่างต่อเนื่องและแตะถึงระดับต่ำสุดในรอบสี่สัปดาห์ที่บริเวณ $9.080 จริงอยู่ที่ราคามีการรีบาวด์ขึ้นไปบ้างและโดยรวมราคา BTC/USD มีมูลค่าลดลงประมาณ 11% ในรอบเจ็ดวัน
    สำหรับ Ethereum (ETH/USD) และ Ripple (XRP/USD) ได้ขยับลดลงเช่นกัน แต่ Litecoin (LTC/USD) ก็สามารถกลับมาอยู่ราคาระดับเดิมในช่วงครึ่งหลังของสัปดาห์ และเมื่อเดือนสิงหาคมเริ่มใกล้เข้ามา นักลงทุนพบว่าเหรียญอัลคอยน์อยู่ต่ำกว่ามูลค่าจริงและจึงเริ่มกว้านซื้อเหรียญดังกล่าว

 

สำหรับบทวิเคราะห์ของสัปดาห์นี้ เราได้สรุปความเห็นของบรรดานักวิเคราะห์มากมาย รวมถึงคำคาดการณ์ที่วิเคราะห์จากพื้นฐานทางเทคนิคและสถิติกราฟต่างๆ โดยเราสามารถสรุปผลวิเคราะห์ได้ดังต่อไปนี้:

  • EUR/USD ตลาดยังคงเต็มไปด้วยความคาดวังว่าจะมีการตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วโดยธนาคารเฟดสหรัฐฯ และธนาคารกลางยุโรป โดยอย่างที่กล่าวไปข้างต้น ตลาดยังคงมองว่าธนาคารกลางยุโรปน่าจะประกาศการตัดสินใจดังกล่าวในวันพฤหัสบดีที่ 25 กรกฎาคมนี้ แม้ว่าผู้เชี่ยวชาญหลายคนเชื่อว่าอัตราดอกเบี้ยน่าจะคงที่ที่ระดับเดิมจนถึงเดือนกันยายนคือที่ระดับศูนย์ ในกรณีแรกจะส่งผลให้ราคาขยับลงอย่างรวดเร็ว และในกรณีที่สองจะทำให้ไม่น่ามีความผันผวนในอัตราแลกเปลี่ยนเท่าใดนัก นอกจากนี้ แม้ว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจะชะลอตัว สถานการณ์ในเศรษฐกิจยูโรโซนก็ยังไม่ถือว่าเลวร้ายมาก ดัชนีราคาผู้ผลิตยังคงเติบโต และดุลการค้ายังเป็นบวกในเดือนมิถุนายนที่เกือบ €30 พันล้านยูโร (เทียบกับ€22.5 พันล้านในเดือนเมษายน). และแม้ว่าจะมีสงครามทางการค้าเกิดขึ้นอยู่ก็ตาม!
    เป็นที่น่าสนใจว่าสหรัฐฯ จะมีท่าทีต่อสถานการณ์นี้อย่างไร? ประธานาธิบดีทรัมป์ทวีตข้อความที่ดูโกรธเคืองโดยกล่าวว่านโยบายการผ่อนคลายเชิงปริมาณโดยธนาคารกลางยุโรปและเงินยูโรที่่อ่อนค่าลงต่อดอลลาร์จะช่วยให้อียู “แข่งขันกับสหรัฐฯ ได้ง่ายขึ้นอย่างไม่ยุติธรรม” “ยุโรปได้ผลประโยชน์มาตลอดหลายปี รวมถึงจีนและประเทศอื่นๆ ด้วย!” เขียนโดยนายทรัมป์ ซึ่งยิ่งช่วยเสริมความมั่นใจให้นักลงทุนมีความคาดหวังว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยโดยธนาคารเฟดและดอลลาร์จะอ่อนค่าลง
    อัตราแลกเปลี่ยนยูโรหรือดอลลาร์จะเป็นไปในทิศทางใด? ยังคงเป็นคำถามที่ยังไม่มีคำตอบ นอกจากนี้ คำแถลงของนายสตีเฟน มนูชิน รัฐมนตรีการคลังสหรัฐฯ กลับเป็นไปในทางตรงกันข้ามกับของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งไม่นานมานี้นายมนูชินได้แถลงข่าวหลังการประชุมรัฐมนตรีการคลังของกลุ่มประเทศ G7 ที่ฝรั่งเศสและยืนยันกับนักข่าวว่ายังไม่มีการเปลี่ยนแปลงในนโยบายแข็งค่าเงินดอลลาร์ ณ ขณะนี้
    ในระหว่างนี้ ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ 75%! คาดการณ์ว่าราคาจะขยับมาที่ระดับ 1.1350-1.1415 โดยมีระดับแนวต้านที่ใกล้ที่สุดที่ 1.1285
    นักวิเคราะห์ 25% ส่วนใหญ่และ 90% ของออสซิลเลเตอร์และดัชนีเทรนด์จำนวน 100% ในกรอบ D1 ต่างไม่เห็นด้วยกับผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ ในกลุ่มนี้มองว่าราคาน่าจะขยับลงมาที่จุดต่ำสุดของฤดูใบไม้ผลิที่บริเวณ 1.1100-1.1115
    สำหรับเหตุการณ์ที่อาจส่งผลต่อการก่อตัวของเทรนด์ระยะสั้นในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ผลการวิจัยการให้สินเชื่อธนาคารในยูโรโซนที่จะรายงานในวันที่ 23 กรกฎาคม การประกาศดัชนีธุรกิจ Markit ในเยอรมนีและยูโรโซนในวันที่ 24 กรกฎาคม และการประกาศข้อมูล GDP รายปีของสหรัฐฯ ในวันศุกร์ที่ 26 กรกฎาคม
  • GBP/USD ในวันอังคารจะมีการรายงานผลการประชุมคณะกรรมาธิการนโยบายการเงินสหราชอาณาจักร อย่างไรก็ตาม เอกสารที่ค่อนข้างสำคัญฉบับนี้ไม่น่าจะผลกับตลาดเท่าใดนัก เนื่องจากมีอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในวันเดียวกัน ในวันที่ 23 กรกฎาคม พรรคอนุรักษนิยมของสหราชอาณาจักรจะทำการนับคะแนนและประกาศชื่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่ โดยมีผู้ชิงตำแหน่งสองคน ได้แก่ นายบอริส จอห์นสัน อดีตผู้ว่าการกรุงลอนดอนและอดีตรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ และนายเจเรอมี ฮันต์ รัฐมนตรีต่างประเทศคนปัจจุบัน ทั้งนี้ อนาคตของเบร็กซิตจะขึ้นอยู่กับว่าใครจะเป็นผู้ได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รวมถึงว่ากระบวนการแยกตัวออกจากอียูว่าจะสำเร็จหรือไม่และภายใต้เงื่อนไขใด
    นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ (65%) คาดการณ์ว่าเงินปอนด์จะแข็งค่าขึ้นและอัตราแลกเปลี่ยนคู่นี้จะเติบโตขึ้นไปในโซน 1.2650-1.2750 โดยมีแนวต้านที่ใกล้ที่สุดที่ 1.2575 ในส่วนผู้เชี่ยวชาญอีก 35% ที่เหลือเชื่อว่าก่อนที่ราคาจะขยับสูงขึ้น ราคาน่าจะกลับไปที่โซน 1.2380-1.24505 ในส่วนการวิเคราะห์กราฟในกรอบ D1 กลับให้ภาพที่สุดโต่งยิ่งขึ้น ตามคำทำนายนี้ ราคาสามารถตัดทะลุระดับแนวรับในโซน 1.2400 และตกลงมาอีก 200 จุดภายในสองสัปดาห์
  • USD/JPY สำหรับคู่นี้ การวิเคราะห์กราฟในกรอบ D1 ให้ภาพว่าราคาจะเคลื่อนที่ในตอนต้นไปที่ช่วง 106.75-108.35 และหลังจากนั้นจะขยับขึ้นมาที่ระดับ 109.00 อย่างไรก็ตาม มีผู้เชี่ยวชาญเพียง 40% เห็นด้วยกับคำทำนายนี้ โดยความเห็นของพวกเขามาจากการพิจารณาสถิติเศรษฐกิจมหภาคล่าสุด ทั้งนี้ ธนาคารกลางญี่ปุ่นกำหนดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อไว้ที่ 2% อย่างไรก็ตาม เป้าหมายนี้คงเป็นเพียงแค่ความฝัน ระดับเงินเฟ้อในเดือนมิถุนายน 2019 ปรากฏออกมาว่าอยู่ที่ระดับเดียวกันกับตัวเลขของปีที่แล้วที่เพียง 0.7% ในสถานการณ์เช่นนี้ ธนาคารกลางญี่ปุ่นอาจเริ่มพิจารณาการปรับลดอัตราดอกเบี้ย อย่างที่ประเทศอื่นๆ ในเอเชียแปซิฟิคได้ทำมาแล้ว เช่น ออสเตรเลีย อินเดีย อินโดนีเซีย และเกาหลีใต้
    ในส่วนนักวิเคราะห์อีก 60% เชื่อว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นไม่น่าจะมีท่าทีดังกล่าว พวกเขามองว่าโอกาสความเป็นไปได้ที่จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารเฟดสหรัฐในการประชุมวันที่ 31 กรกฎาคม ยังคงสูงกว่ามาก ในกรณีนี้ ราคาอาจจะลดตัวลงไปที่ระดับ 106.75 และอาจตัดทะลุระดับนี้ลงไปที่อัตราต่ำสุดของเดือนมกราคม 2019 ที่โซน 105.00 ในส่วน 90% ของออสซิลเลเตอร์และดัชนี 100% ในกรอบ D1 เห็นด้วยกับฝั่งแนวโน้มตลาดหมี

  • คริปโตเคอเรนซี ในช่วงท้ายวันที่ศูกร์ที่ 19 กรกฎาคม ราคา BTC/USD อยู่ในช่วงระดับแนวรับหลักรอบสี่สัปดาห์ (ซึ่งขณะนี้กลายเป็นระดับแนวต้านไปแล้ว) ที่ $10,500 และแม้ว่าตอนนี้ยังไม่สามารถให้ข้อสรุปที่ชัดเจนใดๆ ได้ แต่หากพิจารณาคำทำนายในระยะกลางจะพบว่าผู้เชี่ยวชาญส่วนมาก (65%) โหวตให้กับแนวโน้มขาขึ้นของคู่นี้
    ในกรณีนี้ ปัญหาของบริษัท Facebook, Google และบริษัทขนาดใหญ่อื่นๆ เกี่ยวกับการออกเหรียญดิจิทัลของตนเองอาจช่วยสนับสนุนราคาบิทคอยน์ โดยบิทคอยน์ต่างจาก Libra ตรงที่บิทคอยน์เป็นสกุลเงินคริปโตที่มีการกระจายศูนย์กลาง และดังนั้นรัฐบาลสหรัฐฯ จะไม่สามารถกล่าวหาหรือกำกับดูแลได้อีกต่อไป นอกจากนี้ยังปรากฏทฤษฏีสมคบคิดว่าจริงๆ แล้วผู้ที่สนับสนุนเงินบิทคอยน์ไม่ใช่ใครที่ไหน หากแต่เป็นการคลังสหรัฐฯ เองที่จะทำทุกอย่างเพื่อกั้นไม่ให้เกิดคู่แข่งกับสินทรัพย์ดิจิทัลชนิดนี้

 

โรมัน บุทโก, NordFX

 

หมายเหตุ: เนื้อหาดังกล่าวไม่ควรยึดถือเป็นคำแนะนำในการลงทุนหรือเป็นคำปรึกษาในการซื้อขายในตลาดการเงิน โดยเนื้อหาข้างต้นเป็นไปเพียงเพื่อจุดประสงค์ในการให้ข้อมูลเท่านั้น การซื้อขายในตลาดการเงินมีความเสี่ยงและอาจทำให้เกิดการสูญเสียเงินฝากได้

กลับ กลับ
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ นโยบายคุกกี้ ของเรา