บทวิเคราะห์ฟอเร็กซ์และคริปโตเคอเรนซี ประจำวันที่ 5 - 9 สิงหาคม 2019

อันดับแรกเป็นการรีวิวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมา:

  • USD มีเหตุการณ์สองอย่างเกิดขึ้นในสัปดาห์ที่แล้วเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 1 และวันศุกร์ที่ 2 สิงหาคม ที่ควรจะส่งผลสะเทือนต่อตลาดแต่กลับไม่กระทบใดๆ
    โดยเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา เป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2008 ที่ธนาคารเฟดสหรัฐฯ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงจาก 2.5% เป็น 2.25% เหตุการณ์นี้เป็นที่คาดการณ์อยู่ก่อนแล้ว ซึ่งโดยทั่วไปตลาดมักจะตอบสนองต่อท่าทีดังกล่าวด้วยราคาขาลง อย่างไรก็ตาม ในกรณีนี้ แทนที่ราคาจะลดลง ค่าเงินดอลลาร์กลับแข็งขึ้นแม้จะไม่มากเท่าใดนัก (แข็งค่าขึ้นต่อ EUR มากกว่า 100 จุดเล็กน้อย) และไม่นานนัก (เงินยูโรฟื้นตัวขึ้นมาในวันศุกร์ 85 จุด)
    เหตุผลเบื้องหลังการแข็งค่าขึ้นของสกุลเงินดอลลาร์คือความเห็นของนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารเฟด ซึ่งกล่าวว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่ 25 จุดไม่จำเป็นจะต้องหมายถึงการเริ่มใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงิน โดยคำพูดของเขาเป็นที่ยืนยันจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพียงแค่ 0.25% แทนที่ 0.50% และมีสมาชิกคณะกรรมการ FOMC สองคนที่โหวตคัดค้านการปรับลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว
    ดังนั้น ธนาคารเฟดจึงถือว่าดำเนินนโยบายที่ “ผ่อนปรน” น้อยที่สุดเมื่อเทียบกับท่าทีของธนาคารกลางประเทศอื่นๆ ที่ดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงิน ซึ่งนำไปสู่ค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งขึ้นในระยะสั้น
    เหตุการณ์ที่สองตามกำหนดปฏิทินคือการประกาศสถิติตลาดแรงงานสหรัฐฯ ดัชนี NFP ลดลงมาเล็กน้อยตามคำทำนาย (จาก 193K เหลือ 164K) ซึ่งตลาดตอบสนองอย่างค่อนข้างเฉื่อยชา โดยเฉพาะท่ามกลางกระแสจากผู้ทรงอิทธิพลต่อข่าวในช่วงปลายสัปดาห์ ซึ่งไม่ใช่ใครที่ไหนนอกจากนายโดนัลด์ ทรัมป์ (ตลาดคงขาดเขาไม่ได้!)
    ในช่วงเริ่มต้น ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เรียกพฤติกรรมของนายพาวเวลล์ว่าเป็นการทรยศหักหลัง หลังจากนั้นเติมฟืนให้สงครามการค้าอันอ่อนไหวระหว่างสหรัฐฯ-จีนกลับมาปะทุอีกครั้ง โดยประกาศว่าจะบังคับใช้ภาษี 10% กับสินค้านำเข้าจีนคิดเป็นมูลค่ากว่า $300 พันล้านดอลลาร์ในวันที่ 1 กันยายนนี้ ท่าทีดังกล่าวของนายทรัมป์ยิ่งเสริมโอกาสให้ธนาคารเฟดต้องดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินแม้จะดูขัดกับแถลงการณ์ของนายพาวเวลล์ก็ตาม ดังนั้นโอกาสที่จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้จึงสูงขึ้นจาก 64% เป็น 92% และในเดือนธันวาคมจาก 42% เป็น 75%
    ภัยคุกคามจากสงครามรอบใหม่ระหว่างสหรัฐฯ และจีนส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นอเมริกัน และนักลงทุนก็กลับมาให้ความสำคัญกับสกุลเงินลี้ภัยอีกครั้ง เช่น เยนญี่ปุ่น เป็นต้น โดยเงินเยนแข็งค่าต่อดอลลาร์สหรัฐกว่า 275 จุดในช่วงปลายสัปดาห์
  • คริปโตเคอเรนซี ไม่ต้องสงสัยเลยว่าบิทคอยน์เคยเป็นและยังคงครองตำแหน่งสกุลเงินดิจิทัลอันดับ 1 ในตลาดเงินคริปโต โดยมีมูลค่าเงินหมุนเวียนมหาศาลและเป็นสกุลเงินที่กำหนดเทรนด์และราคาของอัลท์คอยน์สกุลอื่นๆ และถึงแม้ว่าบางครั้งจะมีเสียงเสนอให้ Ethereum ถือสถานะเป็นเหรียญอันดับหนึ่งแทนที่บิทคอยน์ ก็ยังคงไม่น่าจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้
    ข่าวที่มักเป็นตัวกำหนดเทรนด์หลักในช่วงนี้ก็ค่อนข้างมีความกำกวม โดยบริษัทโซเชียลมีเดียขนาดใหญ่ที่สุดอย่าง Facebook ออกมาประกาศว่าการเปิดตัวโครงการสกุลเงินดิจิทัล Libra ของตนเองอาจต้องถูกยกเลิกหลังได้รับแรงกดดันอย่างหนักจากตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ (SEC)
    ในอีกทางหนึ่งก็ดูเหมือนจะเป็นเรื่องดีสำหรับบิทคอยน์ เพราะว่าคู่แข่งที่น่ากลัวหายไปอีกหนึ่ง ในอีกทางหนึ่งหลังจากที่ไม่มี Libra แล้ว รัฐบาลอาจมีท่าทีที่หนักแน่นต่อตลาดเงินคริปโตโดยรวม ซึ่งเสียงเรียกร้องในเรื่องนี้ก็ยังคงไม่จบสิ้น ตัวอย่างเช่น หน่วยงานสรรพากรสหรัฐฯ (IRS) ได้ส่งจดหมายถึงนักลงทุนกว่า 10,000 คน โดยเรียกร้องให้ยื่นข้อมูลเกี่ยวกับสินทรัพย์เงินคริปโตในการขอคืนภาษี มิเช่นนั้นผู้ละเมิดจะถูกปรับ ในระหว่างนี้ ราคา BTC/USD ยังคงขยับในช่องด้านข้างและพยายามที่จะตัดทะลุระดับแนวต้านที่ $10,500 ในส่วนอัลท์คอยนสกุลอื่นๆ ได้แก่ Litecoin (LTC/USD), Ethereum (ETH/USD) และ Ripple (XRP/USD)ก็ขยับในเทรนด์ด้านข้างโดยมีความผันผวนต่ำเช่นกัน จึงสันนิษฐานได้ว่าเหตุผลหลักของภาวะนิ่งสงบเช่นนี้คือช่วงกลางฤดูร้อนที่นักลงทุน นักกฎหมาย และแม้แต่ผู้ตรวจสอบภาษีก็ต่างเดินทางไปพักร้อน แต่นี่ก็อาจเป็นภาวะนิ่งสงบก่อนพายุรอบใหม่จะซัดถล่มได้เช่นกัน

 

สำหรับบทวิเคราะห์ของสัปดาห์นี้ เราได้สรุปความเห็นของบรรดานักวิเคราะห์มากมาย รวมถึงคำคาดการณ์ที่วิเคราะห์จากพื้นฐานทางเทคนิคและสถิติกราฟต่างๆ โดยเราสามารถสรุปผลวิเคราะห์ได้ดังต่อไปนี้:

  • EUR/USD ิราคาคู่นี้อยู่ในขาลงใกล้กับจุดวกกลับของปี 2015-2016 และแม้ว่าราคาจะรีบาวด์กลับขึ้นมาเมื่อวันศุกร์ที่ 2 สิงหาคม โดยปรากฏสัญญาณสีเทากลางจากดัชนีในกรอบ H4 แต่ 90% ของออสซิลเลเตอร์และดัชนีเทรนด์ในกรอบ D1 ยังคงยืนยันว่าเทรนด์ขาลงจะดำเนินต่อไป ในส่วนผู้เชี่ยวชาญ 65% เห็นด้วยว่าสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐมีศักยภาพที่จะเติบโตต่อไป และดอลลาร์จะยังคงมีแรงกดดันต่อยูโร โดยเป้าหมายถัดไปของราคาคู่นี้อยู่ที่ 1.0950 และเป้าหมายถัดไปอยู่ต่ำลงมาอีก 100 จุด
    ณ ขณะนี้ มีนักวิเคราะห์เพียง 35% ที่โหวตให้กับแนวโน้มกระทิง อย่างไรก็ตาม เมื่อตลาดกำลังคาดหวังให้ธนาคารเฟดปรับใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงิน จึงส่งผลให้คำทำนายในระยะกลางมีผู้เชี่ยวชาญเห็นด้วยเพิ่มขึ้นเป็น 55%.
    หากเราพิจารณาการวิเคราะห์กราฟจะพบว่าการเคลื่อนที่ของราคาจะอยู่ในช่วง 1.1070-1.1165 ในกรอบ H4 และหลังจากนั้นราคาจะขยับขึ้นไปที่ระดับ 1.1225 และมีแนวต้านถัดไปที่ 1.1285
  • GBP/USD นับตั้งแต่เดือนเมษายนปี 2018 สกุลเงินปอนด์อังกฤษอ่อนค่าลงต่อดอลลาร์สหรัฐกว่า 2,300 จุด โดยไม่กี่วันมานี้ก็เช่นกัน เงินปอนด์เสียมูลค่า 430 จุดตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม ปัจจัยเบื้องหลังคือเหตุการณ์เบร็กซิตเหมือนเช่นเคย การเข้ามารับตำแหน่งของนายบอริส จอห์นสัน และคำสัญญาของเขาที่จะแยกตัวออกจากอียูอย่าง “เด็ดขาด” ในวันที่ 31 ตุลาคมยิ่งทำให้สถานการณ์ในหมู่นักลงทุนมีความน่ากังวลยิ่งขึ้นและเงินปอนด์ทรุดตัวลง
    75% ของผู้เชี่ยวชาญคาดว่าจะได้เห็นราคาในโซน 1.2000 ในเร็วๆ นี้ และหากราคาสามารถตัดทะลุระดับแนวรับดังกล่าวได้สำเร็จ ราคาจะสามารถ “บิน” โฉบลงมาอีก 100-150 จุด สถานการณ์นี้ได้รับการสนับสนุนโดยดัชนีเทรนด์จำนวน 95% และออสซิลเลเตอร์ 90% ในมกรอบ D1
    ออสซิลเลเตอร์อีก 10% ที่เหลือให้สัญญาณว่าราคาถูกขายมากเกินไป เช่นเดียวกันกับการวิเคราาะห์กราฟใมนกรอบ D1 และนักวิเคราะห์จำนวน 25% ที่คาดการณ์ว่าราคาจะขยับไปที่ช่องด้านข่างที่ช่วง 1.2100-1.2250 อยู่สักระยะ ในกรณีที่มีข่าวในทางบวกใดๆ เกี่ยวกับเบร็กซิต ราคาคู่นี้อาจเติบโตขึ้นไปที่ระดับ 1.2375
    สำหรับคำทำนายในระยะกลางมีนักวิเคราะห์จำนวน 70% มองว่าท้ายที่สุดธนาคารแห่งชาติอังกฤษ จะต้องถูกบังคับให้ยอมรับความเสี่ยงที่รุนแรงของการแยกตัวแบบ “เด็ดขาด” จากอียูและจะต้องใช้นโยบายทางการเงินที่ตึงตัว ดังนั้น ธนาคารกลางอังกฤษจะเป็นธนาคารแห่งเดียวที่จะต้องปรับอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น ซึ่งน่าจะนำไปสู่เงินปอนด์ที่แข็งค่าขึ้นเหนือระดับ 1.2800 อย่างไรก็ตาม สถานการณ์นี้อาจเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราได้ทราบเงื่อนไขพื้นฐานของการแยกตัวออกจากยูโรโซนเป็นอย่างน้อย
  • USD/JPY การเผชิญหน้ากันทางการค้าที่ตึงเครียดยิ่งขึ้นระหว่างสหรัฐฯ และจีนและการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเงินดอลลาร์สหรัฐทำให้เงินเยนญี่ปุ่นมีความน่าดึงดูดยิ่งขึ้นในฐานะสกุลเงินลี้ภัย ดังนั้น นักวิเคราะห์จำนวน 60% คาดการณ์ว่าราคาคู่นี้จะยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องโดยจะพยายามแตะถึงระดับต่ำสุดของเดือนมกราคม 2019 ที่ประมาณ 105.00 ในส่วนดัชนีเทรนด์ 100% และออสซิลเลเตอร์จำนวน 85% ในกรอบ D1 ก็ให้ภาพในทิศทางขาลงเช่นกัน อย่างไรก็ตามออสซิลเลเตอร์จำนวน 15% ให้สัญญาณแล้วว่าราคาถูกขายมากเกินไป โดยระบุแนวต้านที่ 107.80, 109.00 และ 110.00

 

  • คริปโตเคอเรนซี ผู้เป็นเจ้าของบิทคอยน์ยังคงพยายามหาข้อสนับสนุนที่จะผลักราคาขึ้นไป ซึ่งเหตุผลใดๆ ก็เหมาะกับสถานการณ์นี้ แม้แต่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟด เงินดอลลาร์ที่ไม่น่าดึงดูดอีกต่อไป กระแสนักลงทุนลงทุนในสินทรัพย์ที่ทำกำไรและมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเช่น บิทคอยน์ เป็นต้น แต่ถ้าหากคุณพิจารณาดีๆ แล้ว อะไรคือสิ่งที่ยับยั้งไม่ให้นักลงทุนเสี่ยงมาตั้งแต่ก่อนหน้านี้? การปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่ 0.25% เป็นเพียงข้อโต้แย้งที่อ่อนน้ำหนักมากในกรณีนี้
    นายไมค์ โนโวกราซ เศรษฐีพันล้านและประธานธนาคารเงินคริปโต Galaxy Digital กล่าวในบทสัมภาษณ์กับ Bloomberg ว่าราคาบิทคอยน์จะขยับขึ้นอีกครั้งไปที่จุดสูงสุดที่บันทึกไว้ที่ $20,00 ต่อหน่วยภายในสิ้นปีนี้ ในขณะเดียวกัน เขายังคงมองว่ามีโอกาสที่ราคาจะตกลงมาที่ $8,500 ต่อ 1 BTC ได้อยู่ สำหรับนายโจ แคร์เนน พิธีกรชื่อดังได้ประกาศผ่านช่องรายการโทรทัศน์ CNBC ว่าราคาจะขยับขึ้นไปที่ $55,000 ในเดือนพฤษภาคม 2020 การขุดเหมืองบิทคอยน์จะลดลงครึ่งหนึ่ง ซึ่งเขาเห็นว่าสิ่งนี้จะทำให้มูลค่าของบิทคอยน์พุ่งตัวอย่างรวดเร็วจากการกว้านซื้ออย่างดุดันก่อนปริมาณการขุดที่ลงครึ่งหนึ่ง
    สำหรับคำทำนายในระยะกลาง แม้ว่าบิทคอยน์จะแตะถึงระดับ $10,650 เมื่อวันที่ 2 สิงหาคมที่ผ่านมา โอกาสที่เราจะพูดถึงการเติบโตของราคาอย่างยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้เมื่อราคาตัดผ่านระดับ $11,000 ขึ้นไปปักหลักได้อย่างมั่นคง ในระหว่างนี้ ผู้เชี่ยวชาญแบ่งออกเป็นสองค่ายด้วยกัน แต่ทั้งฝ่ายมองโลกในแง่ดีและในแง่ลบล้วนกำหนดระดับ $10,000 ให้เป็นจุดวกกลับของราคา

 

โรมัน บุทโก, NordFX

 

หมายเหตุ: เนื้อหาดังกล่าวไม่ควรยึดถือเป็นคำแนะนำในการลงทุนหรือเป็นคำปรึกษาในการซื้อขายในตลาดการเงิน โดยเนื้อหาข้างต้นเป็นไปเพียงเพื่อจุดประสงค์ในการให้ข้อมูลเท่านั้น การซื้อขายในตลาดการเงินมีความเสี่ยงและอาจทำให้เกิดการสูญเสียเงินฝากได้

กลับ กลับ
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ นโยบายคุกกี้ ของเรา