บทวิเคราะห์ฟอเร็กซ์และคริปโตเคอเรนซี ประจำวันที่ 30 กันยายน - 4 ตุลาคม 2019

อันดับแรกเป็นการทบทวนเหตุการณ์ในสัปดาห์ที่แล้ว:

  • EUR/USD ยิ่งสถานการณ์เลวร้ายต่อนายโดนัลด์ ทรัมป์มากเท่าไร จะยิ่งเป็นผลดีต่อเงินดอลลาร์มากเท่านั้น บทสรุปดังกล่าวสังเกตได้จากกราฟอัตราแลกเปลี่ยน ณ ตอนนี้ ข่าวบทสนทนากับประธานาธิบดียูเครน ทำให้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กำลังเผชิญกับความเสี่ยงที่จะถูกถอดถอนจากตำแหน่ง และดัชนีดอลลาร์ได้ขยับแล้วถึงระดับสูงสุดที่บริเวณ 99.00 เงินยูโรอ่อนค่าถอยลงมาอีก 100 จุด ส่งผลให้คู่ EUR/USD ทำระดับต่ำสุดใหม่เป็นระดับของเดือนเมษายนปี 2017 และปิดตลาดท้ายสัปดาห์ที่ 1.0940
  • GBP/USD ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นไม่เพียงเพราะสภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มถดถอยในประเทศโลกเก่า แต่รวมถึงความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับเบร็กซิต สภาสหราชอาณาจักรไม่มีวิธีที่จะรับมือกับนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน และเขาเองกำลังเผชิญหน้ากับทั้งรัฐสภาและอียูที่ยังคงไม่ยอมประนีประนอมกับอังกฤษ ในสถานการณ์เช่นนี้ นายไมเคิล ซาวน์เดอร์ หนึ่งในกรรมการบริหารนโยบายการเงินธนาคารกลางอังกฤษ กล่าวว่าธนาคารกลางฯ อาจถูกบังคับให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยแม้ว่าจะหลีกเลี่ยงเบร็กซิตแบบไร้ข้อตกลงได้สำเร็จก็ตาม
    ความเห็นดังกล่าวจากหนึ่งในผู้บริหารที่เน้นแนวทาง “คุมเข้ม” ทางการเงิน (Hawkish) ส่งผลกดดันต่อราคาให้เงินปอนด์ลดต่ำลงอีก ผลลัพธ์จึงเป็นไปตามที่ทำนายโดยผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ (60%) สกุลเงินปอนด์อังกฤษอ่อนค่าลงมากกว่า 200 จุดและปิดตลาดท้ายสัปดาห์ที่ 1.229 ดอลลาร์ต่อปอนด์
  • USD/JPY ในครั้งที่แล้วมีผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ (65%) ซึ่งสนับสนุนโดยตลาดหมีโหวตให้กับแนวโน้มขาลงของเงินดอลลาร์และราคาจะกลับมาสู่ช่วง 105.75-106.75 จริงๆ ราคาขยับลงตั้งแต่ช่วงตลาดเปิดโดยลงมาถึง 106.95 ตั้งแต่ช่วงเย็นของวันอังคาร หลังจากนั้นตามมาด้วยการยูเทิร์นกลับและราคากลับไปยังราคาเมื่อเจ็ดวันก่อนหน้าและปิดที่ 107.95
  • คริปโตเคอเรนซี สิ่งที่ฝั่งตลาดกระทิงเกรงกลัวก็ได้เกิดขึ้นจริง ทุกคนเข้าใจดีว่าช่วงราคาบิทคอยน์ที่เคลื่อนที่ในรอบสามเดือนที่ $10,000 น่าจะจบลงด้วยการตัดทะลุของเทรนด์ แต่จะเป็นไปในทิศทางใด? สถานการณ์ที่เราประกาศว่าราคาน่าจะขยับลงมาที่ประมาณ $8,000 ได้รับการสนับสนุนโดยผู้เชี่ยวชาญ 35% ซึ่งปรากฏว่าเป็นกลุ่มที่ทำนายได้ถูกต้อง เมื่อวันที่ 24 กันยายน เป็นวันที่ถูกเรียกแล้วว่าเป็นวันอังคารทมิฬ โดยราคาบิทคอยน์ทรุดลงกว่า 17% ลงมาถึง $8,115 (ในช่วงที่ราคา “ไหลลงหนึ่งนาที” ที่ตลาดเงินคริปโต Binance มีบางคนฉวยโอกาสซื้อบิทคอยน์ได้ที่ราคา $1,800 เท่านั้น) แนวโน้มกระทิงพยายามจะดึงราคาขึ้นกลับแต่ก็ต้องล้มเหลว มีเพียงที่ตลาด BitMEX ที่มีการปิดตำแหน่ง “ซื้อ” มูลค่ากว่า $650 ล้านดอลลาร์อันเป็นผลมาจากคำสั่ง Stop และเมื่อวันพฤหัสบดี แนวโน้มขาลงยังคงดำเนินต่อไปและราคา BTC/USD สามารถขยับถึงระดับต่ำสุดที่ $7,700
    ตามสมมติฐานหนึ่งชี้ว่าการทรุดตัวของตลาดคริปโตมีความเกี่ยวข้องกับความผิดหวังกับปริมาณการซื้อขายบนแพล็ตฟอร์ม Bakkt ซึ่งมีขึ้นเพื่อการซื้อขายฟิวเจอร์สเงินคริปโตและเริ่มเปิดทำการเมื่อวันจันทร์ที่ 23 กันยายนที่ผ่านมา ในวันแรกขายได้ 71 สัญญาเท่านั้นแต่ละสัญญามีขนาด 1 BTC โดยการซื้อขายสัญญาฟิวเจอร์สควรที่จะช่วยหนุนตลาดเงินคริปโต แต่ในความเป็นจริงกลับเป็นในทางตรงกันข้าม และหลังจากวันที่ Bakkt เริ่มเปิดให้บริการหนึ่งวันก็กลายเป็น “วันอังคารทมิฬ”
    ราคาบิทคอยน์ค่อยๆ ตกเหวลงอย่างช้าๆ โดยบิทคอยน์ก็ดึงราคาอัลท์คอยน์สกุลอื่นๆ ลงไปด้วย ดังนั้น ราคาต่ำสุดของ Ethereum (ETH/USD) อยู่ที่ $154.3 (-30%) สำหรับ Litecoin (LTC/USD) ที่ $50.5 (-34%) สำหรับ Ripple (XRP/USD) ที่ $ 0.213 (-28%) มูลค่ารวมในตลาดเงินคริปโตลดลงมากกว่า 20% ในเจ็ดวันจาก $ 277 พันล้านเหลือ $ 218 พันล้านเหรียญสหรัฐ

 

สำหรับบทวิเคราะห์ของสัปดาห์นี้ เราได้สรุปความเห็นของบรรดานักวิเคราะห์มากมาย รวมถึงคำคาดการณ์ที่วิเคราะห์จากพื้นฐานทางเทคนิคและสถิติกราฟต่างๆ โดยเราสามารถสรุปผลวิเคราะห์ได้ดังต่อไปนี้:

  • EUR/USD ค่าเงินดอลลาร์ยังคงเป็นที่ต้องการท่ามกลางความสับสนอัลหม่านในเบร็กซิตและสถิติเศรษฐกิจที่อ่อนแอจากอียู อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนโดยผลลัพธ์ที่เข้มแข็งจากการประมูลพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และข่าวดีเกี่ยวกับผลลัพธ์ของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน ดังนั้น ในสัปดาห์ที่แล้ว รัฐมนตรีพาณิชย์ของจีนแสดงความหวังว่าได้เห็นผลลัพธ์ที่ดีสำหรับทั้งสองฝ่ายจากการเจรจากับทางการสหรัฐฯ
    แต่นอกเหนือไปจากข่าวดีทั้งหมดนี้ อีกด้านหนึ่งก็ยังคงมีความไม่พึงพอใจในตัวประธานาธิบดีทรัมป์และรัฐบาลของเขา เงินดอลลาร์ที่แข็งค่าส่งผลในทางลบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมอเมริกา จึงพอคาดการณ์ได้ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะต้องเผชิญกับแรงกดดันจากประธานาธิบดีสหรัฐฯ และจะถูกบีบให้ดำเนินมาตรการนโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ซึ่งจะนำไปสู่เงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงหรือไม่อย่างน้อยก็เป็นการชะลอตัวไม่ให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นไปมากกว่านี้
    ในสัปดาห์นี้ เราจะได้เห็นข่าวเศรษฐกิจมากมายจากทั้งทางฝั่งยุโรปและสหรัฐฯ โดยจะมีการประกาศตัวเลขเบื้องต้นของดัชนีราคาผู้บริโภคเยอรมนี (30 กันยายน) และของอียู (1 ตุลาคม) ส่วนในวันอังคารที่ 1 ตุลาคมและวันพุธที่ 2 ตุลาคม จะมีการประกาศดัชนีกิจกรรมทางธุรกิจของ ISM และตัวเลขในภาคการผลิตและการบริการของสหรัฐฯ ในส่วนวันศุกร์แรกของเดือนตุลาคมจะมีการประกาศสถิติตลาดแรงงานสหรัฐฯ ได้แก่ ดัชนี NFP และจะปิดท้ายสัปดาห์ด้วยคำแถลงจากนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ
    มาถึงในส่วนความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ มี 55% คาดว่าคู่ EUR/USD จะปรับตัวขึ้นไปที่โซน 1.1000-1.1100 โดย 15% ของออสซิลเลเตอร์ในกรอบ D1 และ W1 ก็สนับสนุนสถานการณ์นี้เช่นกันโดยให้สัญญาณว่าราคาอยู่ในช่วงถูกขายมากเกินไป นักวิเคราะห์อีก 45% ที่เหลือรวมถึงดัชนีส่วนมากเห็นด้วยกับฝั่งตลาดหมี โดยคาดว่าดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้นต่อไปและราคาน่าจะขยับลงมาที่ระดับ 1.0800 และมีแนวรับที่ใกล้ที่สุดที่ 1.0885 คำทำนายที่ประนีประนอมมากกว่าได้จากการวิเคราะห์กราฟในกรอบ D1 ซึ่งชี้ว่าในตอนต้น ราคาจะขยับลงไปที่ระดับ 1.0800 จากนั้นจะเคลื่อนที่ในช่วง 1.0800-1.0885 ก่อนที่จะกลับขึ้นไปที่ระดับ 1.1000
  • GBP/USD ในวันจันทร์นี้ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของเดือนกันยายนจะมีการประกาศดัชนี GDP ของสหราชอาณาจักรในไตรมาสที่ 2 ดัชนีนี้คาดว่าจะเติบโตขึ้น 0.7% (จาก -0.2% เป็น +0.05%) อย่างไรก็ตามคาดว่าตัวเลขดังกล่าวไม่น่าจะส่งผลในระยะยาวต่อเงินปอนด์เท่าใดนัก ซึ่งอัตราแลกเปลี่ยนของเงินปอนด์จะถูกกำหนดโดยบทสรุปของเบร็กซิตเป็นหลัก โดยวันขีดเส้นตายที่ 31 ตุลาคมก็เริ่มใกล้เข้ามาเรื่อยๆ
    ในสถานการณ์นี้มีผู้เชี่ยวชาญ 45% ซึ่งสนับสนุนโดยการวิเคราะห์กราฟในกรอบ D1 และดัชนีส่วนใหญ่ที่คาดว่าราคาจะพยายามทำราคาต่ำสุดในวันที่ 3 กันยายนที่ 1.1960 โดยมีแนวรับใกล้ที่สุดที่ระดับ 1.2210, 1.2080, 1.2015
    นักวิเคราะห์ 25% โหวตให้กับการเคลื่อนที่ด้านข้างของคู่นี้ตามแนวจุดวกกลับที่ 1.2300 และผู้เชี่ยวชาญอีก 30% คาดการณ์ว่าราคาจะเติบโตขึ้นไปที่ 1.2500 ซึ่งคำทำนายดังกล่าวสนับสนุนโดยออสซิลเลเตอร์จำนวน 15% ในกรอบ H4 และ D1 ซึ่งให้สัญญาณว่าราคาถูกขายมากเกินไป โดยมีแนวต้านใกล้ที่สุดในโซน 1.2385-1.2415
  • USD/JPY สำหรับเงินเยน นักลงทุนจะรอข่าวความคืบหน้าในสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน และผลลัพธ์การประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่นในช่วงปลายเดือนตุลาคม ซึ่งอาจมีการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ ค่าเงินเยนที่แข็งขึ้นอาจส่งผลให้ผลตอบแทนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ลดลง
    ในระหว่างนี้ เสียงของผู้เชี่ยวชาญแตกออกเป็นหลายกลุ่มดังนี้: 40% ของนักวิเคราะห์และการวิเคราะห์กราฟในกรอบ D1 โหวตให้กับแนวโน้มขาลงของคู่นี้ เป้าหมายคือการตัดทะลุระดับแนวรับในโซน 107.00 และการปรับตัวเข้าสู่โซน 105.75-106.70 โดยมีเป้าหมายถัดไปที่ 105.00 ในส่วนผู้เชี่ยวชาญ 60% และดัชนีเทรนด์ 100% ในกรอบ H4 และ 90% ในกรอบ D1 ได้โหวตว่าราคาคู่นี้จะขยับถึงโซน 109.00 และมีแนวต้านใกล้ที่สุดที่ 108.50
  • คริปโตเคอเรนซี ดูเหมือนว่าสถานการณ์ที่โกลาหลบนโลกนี้ก็ส่งผลต่อตลาดเงินคริปโตด้วยเช่นกัน และแทนที่เงินคริปโตจะกระโดดขึ้นตามที่เคยให้สัญญาไว้โดยนายโธมัส ลี นักลงทุนชื่อดัง กลับเป็นฤดูหนาวเงินคริปโตที่เข้ามาเยือน ซึ่งอย่างน้อยจะเห็นว่าราคาบิทคอยน์ไม่ได้ขยับขึ้นถึงห้าหมื่น หนึ่งแสน หรือสองแสนดอลลาร์ตามที่กูรูหลายคนเคยทำนายไว้ หรืออาจยังไม่เกิดขึ้น แต่ข้อเท็จจริงที่ ณ ตอนนี้ราคารีบาวด์จากระดับ $7,700 ยังคงไม่มีแรงซื้อสำคัญใดๆ มาช่วยหนุนราคาจึงชี้ให้เห็นถึงการขาดความต้องการในหมู่ผู้บริโภคและนักลงทุน
    ดัชนี “Fear & Greed Index” แตะถึงระดับ “12” ซึ่งเข้าข่าว “ความกลัวอย่างยิ่ง” ตามความเห็นของนักพัฒนาดัชนีชี้ว่านี่คือโอกาสที่ดีที่จะเข้าตำแหน่ง “ซื้อ” แต่ก็อย่างที่เคยชี้ให้เห็นว่า ณ ตอนนี้ยังไม่มีการเข้าซื้ออย่างแข็งขัน และมีความเป็นไปได้ว่าแรงซื้อจะเกิดขึ้นเฉพาะเมื่อราคาได้ขยับถึงโซน $7,000-7,400 แล้วเท่านั้น

 

โรมัน บุทโก, NordFX

 

หมายเหตุ: เนื้อหาดังกล่าวไม่ควรยึดถือเป็นคำแนะนำในการลงทุนหรือเป็นคำปรึกษาในการซื้อขายในตลาดการเงิน โดยเนื้อหาข้างต้นเป็นไปเพียงเพื่อจุดประสงค์ในการให้ข้อมูลเท่านั้น การซื้อขายในตลาดการเงินมีความเสี่ยงและอาจทำให้เกิดการสูญเสียเงินฝากได้

กลับ กลับ
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ นโยบายคุกกี้ ของเรา