บทวิเคราะห์ฟอเร็กซ์และคริปโตเคอเรนซีประจำวันที่ 22 - 26 มิถุนายน 2020

อันดับแรกเป็นการทบทวนเหตุการณ์ในสัปดาห์ที่แล้ว:

  • EUR/USD The Financial Times รายงานในบทความล่าสุดว่า นักวิเคราะห์เริ่มประสบปัญหาเนื่องจากตลาดฟอเร็กซ์ไม่ตอบสนองต่อปัจจัยพื้นฐานอีกต่อไปเหมือนเมื่อก่อน ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่แน่นอนในตลาดการเงินระหว่างประเทศ อารมณ์ความเสี่ยงของนักลงทุนมีอิทธิพลมากกว่า ซึ่งอารมณ์นี้กำหนดโดยท่าทีของธนาคารกลางในการใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) และการสนับสนุนตลาดหุ้น และในอีกทางหนึ่งก็เป็นความกลัวการระบาดของไวรัสระลอกที่สอง ความกลัวนี้เริ่มทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นหลังจากข่าวการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนาในจีนและจำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นในหลายรัฐของสหรัฐฯ
    ความกังวลของนักลงทุนนี้เห็นได้ชัดเจนในกราฟ EUR/USD ซึ่งเป็นเทรนด์ด้านข้างเมื่อช่วงเริ่มต้นสัปดาห์ ก่อนที่จะขยับขึ้น 150 จุด ตามมาด้วย “บันได” ขาลงอย่างสวยงามสี่ขั้น จนท้ายที่สุดราคาปิดตลาดที่ 1.1180 ต่ำกว่าระดับเริ่มต้นในรอบห้าสัปดาห์ประมาณ 80 จุด (เมื่อสองสัปดาห์ก่อนหน้า ความผันผวนสุดท้ายของคู่นี้อยู่ที่เพียง 30 จุดเท่านั้น โดยเป็นฝั่งดอลลาร์ที่แข็งค่ากว่า)
  • GBP/USD ทัศนคติที่ดีต่อท่าทีของธนาคารแห่งชาติอังกฤษเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 18 มิถุนายน จางหายไปอย่างช้า ๆ นักลงทุนบางคนเดิมคาดการณ์ว่าธนาคารจะสั่งซื้อพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มขึ้นมูลค่า £200 พันล้านยูโรในตลาดปิดและมีโอกาสที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย อย่างไรก็ตาม มาตรการเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้น ธนาคารกลางฯ คงอัตราดอกเบี้ยที่ 0.1% และเพิ่มการซื้อสินทรัพย์ภายใต้นโยบายการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) จากระดับเดิมที่ £645 พันล้านเป็น £745 พันล้าน โดยคิดเป็นการสั่งซื้อกว่า £13 พันล้านต่อสัปดาห์ในขณะนี้ ดังนั้น ปริมาณที่เพิ่มขึ้น £100 พันล้านเท่ากับการใช้นโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณในเวลาเพียง 8 สัปดาห์เท่านั้น
    แม้ว่าจะมีรายงานที่ดูสดใสเกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจของอังกฤษ ธนาคารแห่งชาติอังกฤษกลับยังคงพูดปลายเปิดเกี่ยวกับโอกาสการเกิดปัญหาในการสนับสนุนเศรษฐกิจ โดยกล่าวว่า ธนาคารฯ จะใช้มาตรการที่จำเป็นในสถานการณ์ที่จำเป็น ท่าทีนี้ดูไม่น่าดึงดูดใจสำหรับตลาดเท่าไรนัก และก่อให้เกิดคลื่นการเทขายเงินปอนด์อีกคลื่นหนึ่ง ซึ่งทำให้ราคาตกลงมาที่ 1.2350 ภายในท้ายสัปดาห์
  • USD/JPY ความสนใจในเงินเยนในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยทางการเงิน ซึ่งเราสังเกตเห็นได้ตั้งแต่ช่วงวันที่ 8 - 12 มิถุนายน เริ่มเลือนลางลง ราคาจึงกลับมาที่โซนช่องระยะกลางที่ค่อนข้างยาวนาน ซึ่งเริ่มขึ้นในเดือนเมษายน และขยับตามช่วงแคบ ๆ ที่ 106.55-107.65 ตลอดทั้งสัปดาห์ ก่อนที่จะปิดตลาดที่ระดับ 106.85
  • คริปโตเคอเรนซี บิทคอยน์ยังคงเป็นอาวุธในการเผชิญหน้าระหว่างทรัมป์และคู่อริของเขาในสหรัฐฯ ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2018 โดนัลด์ ทรัมป์ เคยสั่งให้ นายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีการคลังสหรัฐฯ ให้ยุติการซื้อขายบิทคอยน์ หนึ่งปีต่อมา นายมนูชินยังคงเดินหน้าโจมตีสินทรัพย์เงินคริปโตอย่างต่อเนื่อง โดยกล่าวหาว่าเป็นเครื่องมือในการฟอกเงิน และขณะนี้ นายสตีฟ ฟอร์บส์ บรรณาธิการบริหารของ Forbes ก็เรียกบิทคอยน์ว่าเป็นเครื่องมือหนึ่งเช่นกัน แต่เป็นการเรียกจากลบเป็นบวก เขามองว่าคริปโตเคอเรนซีคือ “เสียงร้องเรียกความช่วยเหลือ” ของเทคโนโลยีขั้นสูง และเครื่องมือต่อสู้กับนโยบายทางเศรษฐกิจที่ขาดเสถียรภาพที่ดำเนินโดยรัฐบาลที่ทำให้เกิดการจัดสรรสินเชื่อให้เปล่าและการผ่อนคลายเชิงปริมาณ
    สำหรับสินทรัพย์เงินคริปโตที่มีความน่าสนใจมากที่สุดในการลงทุนในช่วงเวลาที่ไม่แน่นอนนี้ ผู้เชี่ยวชาญบางท่านเริ่มพูดถึง stablecoins กันมากขึ้น ซึ่งเป็นคริปโตเคอเรนซีประเภทหนึ่งที่มูลค่าของเหรียญผูกกับราคาโลหะมีค่าหรือเงินพันธบัตร โดยส่วนใหญ่ที่อัตรา 1:1 เหรียญ stablecoin หนึ่งเหรียญจะเท่ากับหนึ่งดอลลาร์ เป็นต้น เหรียญที่เป็นที่นิยมมากที่สุดในภาคดิจิทัลนี้ ได้แก่ เหรียญ Tether (USDT) ซึ่งเป็นเหรียญอันดับที่สี่ในมูลค่ารวมในตลาด จากรายงานของ Messari การออกเหรียญดิจิทัลนี้ในปัจจุบันเกินกว่า $11 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 100% นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์
    อย่างไรก็ตาม stablecoins ยังคงอยู่ห่างจากบิทคอยน์เป็นอย่างมาก จากเว็บศูนย์วิเคราะห์ Blockchaincenter พบว่า เฉลี่ยแล้ว 80.8% ของคำขอที่เกี่ยวข้องกับคริปโตเคอเรนซีในบัญชี Google ทั่วโลกนั้นเป็นคำขอที่เกี่ยวกับ ฺBTC ตามมาด้วย Ethereum ที่ 13.7% และอันดับสามคือ Ripple ที่ 7.7% ในเคนยา (94.7%) และบราซิล (92.6%) ขึ้นนำเป็นประเทศต้น ๆ ที่ให้ความสนใจในบิทคอยน์มากที่สุด ในโปแลนด์อยู่ในสิบอันดับแรกที่สัดส่วน 86.4% และอเมริกาใต้เป็นทวีปที่ให้ความสนใจในคริปโตเคอเรนซีมากที่สุด
    จริงอยู่ที่บิทคอยน์อาจไม่ทำให้แฟน ๆ ประทับใจเท่าใดนักในเดือนมิถุนายนนี้ เทรนด์ขาลงของ BTC/USD ดูชัดเจน และหากในช่วงสิบวันแรกของเดือนระดับแนวรับอยู่ที่ $9,500 สิบวันถัดมาระดับดังกล่าวกลายเป็นแนวต้าน
    มูลค่ารวมในตลาดเงินคริปโตแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงและในวันที่ 19 มิถุนายน อยู่ที่ $266 พันล้านเหรียญเทียบกับ $268 พันล้านเมื่อเจ็ดวันก่อนหน้า ลูกศรของดัชนี Crypto Fear & Greed Index ก็นิ่งอยู่ในโซนน่ากลัวที่ 39 เทียบกับ 38 เมื่อหนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้า

 

สำหรับบทวิเคราะห์ของสัปดาห์นี้ เราได้สรุปความเห็นของบรรดานักวิเคราะห์มากมาย รวมถึงคำคาดการณ์ที่วิเคราะห์จากพื้นฐานทางเทคนิคและสถิติกราฟต่างๆ โดยเราสามารถสรุปผลวิเคราะห์ได้ดังต่อไปนี้:

  • EUR/USD มีการพูดถึงหลายครั้งว่าในสถานการณ์ปัจจุบันเช่นนี้ นักลงทุนหลายท่านมองว่าดอลลาร์กลายเป็นสกุลเงินปลอดภัย การแพร่ระบาดในสหรัฐฯ กำลังเป็นชนวนกระตุ้นความกลัวการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของไวรัสโคโรนา ดัชนี S&P500 กำลังหันทิศทางลงนับตั้งแต่ระดับสูงสุดที่ 3150 ตั้งแต่เดือนมีนาคม จึงชี้ว่านักลงทุนยังคงมีข้อกังขาเกี่ยวกับการฟื้นตัวของตลาดหุ้นในอนาคตอันใกล้
    ในสถานการณ์ดังกล่าว 65% ของผู้เชี่ยวชาญ สนับสนุนโดยการวิเคราะห์กราฟและ 85% ของอินดิเคเตอร์ในกรอบ H4 คาดการณ์ว่าดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้นต่อไปและราคาคู่นี้จะปรับลงอันดับแรกไปที่ระดับ 1.1100 และจากนั้นจะปรับลดลงต่อไปอีก 100 จุด
    นักวิเคราะห์เพียง 35% เท่านั้นและออสซิลเลเตอร์ 15% ในกรอบ H4 ให้สัญญาณว่าราคาอยู่ในโซน oversold โดยโหวตว่าราคาจะขยับสูงขึ้น เป้าหมายที่ใกล้ที่สุดของตลาดกระทิง คือ 1.1350 และระดับสูงสุดของวันที่ 9 มิถุนายนที่ 1.1425
    ในส่วนการประกาศดัชนีเศรษฐกิจมหภาค สถิติกิจกรรมทางธุรกิจของอียูและเยอรมนีจะประกาศในวันอังคารที่ 23 มิถุนายน และจะมีการประกาศสถิติตลาดแรงงานสหรัฐฯ และ GDP ไตรมาสที่ 1 ในวันพฤหัสบดีที่ 25 มิิถุนายน นอกจากนี้ จะมีรายงานนโยบายทางการเงินจากที่ประชุมธนาคารกลางยุโรปในวันนี้เช่นกัน
  • GBP/USD นอกเหนือจากสถิติอียู ในวันอังคารที่ 23 มิถุนายน จะมีการประกาศดัชนีกิจกรรมทางธุรกิจภาคการบริการในสหราชอาณาจักร จากตัวเลขคาดการณ์ชี้ว่า ดัชนีนี้อาจเพิ่มขึ้นกว่าหนึ่งในสาม จาก 29.0 เป็น 39.5 โดยหลักการแล้ว ธนาคารกลางอังกฤษยังคงพอมีเวลาที่จะตัดสินใจปรับลดหรือปรับเพิ่มคำสั่งซื้อพันธบัตรภายใต้มาตรการ QE หรือแม้แต่เพิ่มสินทรัพย์อื่น ๆ เพิ่มเติม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพัฒนาการของสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ การกำหนดใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบยังเป็นอีกหนึ่งมาตรการสำรองที่แข็งแกร่ง แต่ธนาคาร ฯ น่าจะเลือกใช้มาตรการนี้เฉพาะเป็นทางเลือกสุดท้ายเท่านั้น ในกรณีที่เศรษฐกิจประเทศใกล้เข้าสู่ภาวะตกต่ำอย่างแท้จริง
    บางที มาตรการเหล่านี้จะทำให้ตลาดหันมาให้ความสนใจกับค่าเงินปอนด์อังกฤษเพิ่มขึ้น ในระหว่างนี้ นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ (60%) สนับสนุนโดยออสซิลเลเตอร์ 85% และอินดิเคเตอร์เทรนด์เกือบ 100% บนทั้งกรอบ H4 และ D1 กำลังรอคอยการกลับตัวของเทรนด์ขาลงคู่ GBP/USD มาที่ระดับต่ำสุดของเดือนพฤษภาคมที่บริเวณ 1.2070 แนวรับที่ใกล้ที่สุด คือ 1.2265 และ 1.2160
    การวิเคราะห์กราฟในกรอบ D1 เข้าข้างตลาดหมีเช่นกัน แต่ในกรอบ H4 นี้อยู่ฝั่งตลาดกระทิง รวมถึงผู้เชี่ยวชาญ 40% และออสซิลเลเตอร์ 15% ที่อยู่ในโซน oversold ระดับแนวต้าน ได้แก่ 1.2455, 1.2565 1.2650 และ 1.2800
  • USD/JPY ตลาดยังคงมีความกลัวเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19  รอบใหม่ที่มีผลต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งแน่นอนว่าย่อมส่งผลต่อการวิเคราะห์อนาคตของคู่นี้เช่นกัน ดังนั้นนักวิเคราะห์ 60% เชื่อว่ายังคงมีแนวโน้มที่เงินเยนจะทำหน้าที่เป็นสกุลเงินปลอดภัยต่อ และพวกเขาชื่นชอบเงินเยนญี่ปุ่นมากกว่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม พวกเขามองว่าราคาคู่นี้ไม่น่าจะปรากฏเทรนด์ขาลงกำลังแรง และเป้าหมายอย่างต่ำที่สุดน่าจะอยู่ที่ระดับ 106.00 โดยมีแนวรับระดับถัดไปอยู่ถัดลงมาอีก 100 จุดแต่อย่างไรก็ตาม ราคาไม่น่าจะไปถึงระดับดังกล่าว
    สำหรับการวิเคราะห์ทางเทคนิค 90% ของอินดิเคเตอร์เทรนด์บนกรอบ H4 และ 100% บนกรอบ D1 ให้สัญญาณสีแดง ภาพนี้มีความแตกต่างกันเล็กน้อยในหมู่ออสซิลเลเตอร์ ในที่นี้ 90% หันไปยังทิศใต้ที่ H4 และ 70% ในกรอบ D1 ในขณะที่สัญญาณที่เหลือบ่งชี้ว่าราคาอยู่ในช่วง oversold
  • คริปโตเคอเรนซี ยังคงมีการถกเถียงกันอยู่ว่า บิทคอยน์เป็นสินทรัพย์ความเสี่ยงหรือสินทรัพย์ปลอดภัยกันแน่ จริงอยู่ที่หากคุณเปรียบเทียบกราฟ BTC/USD กับสถานการณ์ในตลาด คุณจะเห็นทั้งสองบทบาทเหล่านี้ ในขณะเดียวกันก็สามารถสันนิษฐานได้ว่า ในกรณีที่สถานการณ์ทรุดหนักอย่างจริงจัง นักลงทุนน่าจะมีแนวโน้มที่จะเทขายเงินคริปโตมากกว่าสินทรัพย์ทั่วไป
    ในระหว่างนี้ เราสามารถสังเกตเห็นแนวโน้มความสนใจที่เพิ่มขึ้นในหมู่นักลงทุนรายใหญ่ จากรายงานการวิเคราะห์ของ Glassnode ชี้ว่า จำนวน “ปลาวาฬ” ที่มีวอลเล็ตบรรจุมากกว่า 1,000 เหรียญขึ้นไปขณะนี้คงที่อยู่ที่ระดับเดียวกับช่วงปลายปี 2017 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ราคา BTC เข้ามาใกล้กับระดับ $20,000 กิจกรรมของสถาบันก็ได้รับการยืนยันโดยสถิติจากตลาดฟิวเจอร์สชิคาโก (CME) ที่คำขอออปชั่นบิทคอยน์เพิ่มขึ้นสิบเท่าในช่วงวันที่ 10 พฤษภาคม และ10 มิถุนายน ทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นว่า หลังจากช่วงเวลาที่นิ่งสงบในหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เราอาจเห็นความผันผวนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และเหล่า “ปลาวาฬ” อาจกระตุ้นให้เกิดการเติบโตและการทรุดตัวลงของราคาได้ทุกเมื่อ
    มุมมองที่น่าสนใจเป็นของนักเทรดและนักวิเคราะห์ชื่อดัง นายโทน เวยส์ ผู้เชื่อว่าแนวโน้มตลาดหมีในขณะนี้สามารถส่งผลในทางบวกต่อบิทคอยน์ในปี 2021 การที่ราคา “วิ่งไม่ถึงดวงจันทร์” ในความเห็นของเขานั้น น่าจะทำให้หลายคนรู้สึกโกรธจนเริ่มขายบิทคอยน์ ราคาไปถึงดวงจันทร์ หมายถึง แนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่องของคริปโตเคอเรนซีในอัตราก้าวหน้าทางเรขาคณิต การขาดแนวโน้มเติบโตดังกล่าวจะกระตุ้นให้ราคาพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วได้ในอนาคต” เขากล่าวว่า “บิทคอยน์จะทะยานได้ คนต้องเกลียดมันก่อน”
    “จนกว่าราคาจะตัดทะลุระดับ $10,000 ผมคาดว่าราคาน่าจะปรับลดลงก่อน” เวยส์ให้ข้อสรุปในบทสัมภาษณ์กับ ForkLog หากราคาตกต่ำลงภายในช่วงท้ายฤดูร้อน ผมคิดว่าราคาน่าจะปรับลงมาที่บริเวณ $7,000 แต่บิทคอยน์จะไม่ปรับลงต่ำกว่า $6,000"
    สำหรับสถานการณ์ในปัจจุบัน ผู้เชี่ยวชาญ 55% เชื่อว่า ราคาจะสามารถตั้งหลักและโจมตีระดับสัญลักษณ์ที่ $10,000 อีกครั้ง ในทางกลับกัน 45% ที่เหลือคาดการณ์ว่าราคา BTC จะตกลงมาที่ $8,500-8,800 โดยมีเป้าหมายเป็นระดับแนวรับถัดไปที่ค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 200 วันในโซน $8.350
    นอกจากบิทคอยน์ ในช่วงที่ผ่านมา Ethereum ก็เป็นที่สนใจเป็นอย่างมากในหมู่ผู้เชี่ยวชาญ จากการคาดการณ์ของ CoinMetrics ธุรกรรมของอีธีเรียมเพิ่มขึ้นจนขยับถึงระดับสูงสุดในรอบ 27 เดือน สิ่งนี้เกิดขึ้นโดยหลักแล้วเป็นผลมาจากแอปการกระจายศูนย์กลางทางการเงิน (DeFi) และเหรียญ Stablecoin Tether (USDT) ทำให้จำนวนธุรกรรมในบล็อกเชน Ethereum เพิ่มขึ้นกว่า 450% ตั้งแต่ต้นปี 2020

 

กลุ่มนักวิเคราะห์ NordFX

 

หมายเหตุ: เนื้อหาดังกล่าวไม่ควรยึดถือเป็นคำแนะนำในการลงทุนหรือเป็นคำปรึกษาในการซื้อขายในตลาดการเงิน โดยเนื้อหาข้างต้นเป็นไปเพียงเพื่อจุดประสงค์ในการให้ข้อมูลเท่านั้น การซื้อขายในตลาดการเงินมีความเสี่ยงและอาจทำให้เกิดการสูญเสียเงินฝากได้

กลับ กลับ
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ นโยบายคุกกี้ ของเรา