อันดับแรกเป็นการทบทวนเหตุการณ์ในสัปดาห์ที่แล้ว:
- EUR/USD ตัวเลขการจ้างงานในสหรัฐฯ ล่าสุดไม่เพียงแต่ดูสดใสเท่านั้น แต่ยังดูสดใสมากเกินอีกด้วย: ประมาณ 4.8 ล้านคนกลับมาทำงานในเดือนมิถุนายน อัตราการว่างงานลดลงจาก 13.3% เหลือ 11.1% ซึ่งเป็นการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นมากที่สุดนอกภาคการเกษตรนับตั้งแต่มีการนับสถิติมาในปี 1939
หมายความว่าอย่างไร? ไม่มีอะไร! ตลาดแทบจะหยุดตอบสนองต่อดัชนีเศรษฐกิจมหภาค เพราะว่ามีอินดิเคเตอร์ตัวใหม่ที่มีผลมากกว่าในเวลานี้คือ จำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 และจำนวนผู้เสียชีวิตจากไวรัส ในที่นี้สหรัฐฯ แซงหน้าทั้งยุโรปและจีน เศรษฐกิจของอเมริกาจึงอยู่ในวงจรอุบาทว์ ยิ่งมีการจ้างงานมากขึ้น มีธุรกิจกลับมาเปิดมากขึ้น คนไปทำงานมากขึ้น เริ่มไปทานอาหาร เดินทางโดยรถโดยสารหรือรถไฟใต้ดิน ..ก็ยิ่งมีจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนารายใหม่เพิ่มมากขึ้น ยอดผู้ติดเชื้อเฉพาะเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 2 มิถุนายนสูงถึง 57,000 ราย ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าของยอดสูงสุดเมื่อเดือนเมษายน
หลายอย่างดูสถานการณ์ดีขึ้นในจีนและยุโรปจึงสามารถกลับมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อีกครั้ง ในทางกลับกัน ในสหรัฐฯ จะถูกบังคับให้ชะลอกิจกรรมต่าง ๆ สถิติที่เป็นบวกของเดือนกรกฎาคมอาจเป็นตัวเลขสูงสุดตามมาด้วยยอดลดลงครั้งใหม่ แต่จากรายงานของสำนักงานงบประมาณรัฐสภาชี้ว่า สหรัฐฯ จะต้องใช้เวลาอย่างน้อยสิบปีในการกลับสู่ระดับอัตราว่างงานเดียวกับช่วงก่อนหน้าการแพร่ระบาด (3.5%)
ในสถานการณ์ที่ไม่มีปัจจัยกระตุ้นในการตัดสินใจ ตลาดอยู่กลางสี่แยกเพื่อรอดูว่าสถานการณ์ COVID-19 จะมีพัฒนาการไปในทิศทางใด และรัฐบาลสหรัฐฯ จะต้องใช้มาตรการใดเพื่อรับมือกับคลื่นการแพร่ระบาดระลอกใหม่ การขาดความสามารถของนักลงทุนในการเลือกทิศทางสะท้อนให้เห็นในคำทำนายของผู้เชี่ยวชาญ เดิมในสัปดาห์ที่แล้วความเห็นของผู้เชี่ยวชาญแบ่งออกเป็นกลุ่มต่าง ๆ เกือบเท่ากัน: 30% โหวตให้กับแนวโน้มขาขึ้น 40% ขาลง และ 30% ให้กับเทรนด์ด้านข้าง ในขณะเดียวกัน กรอบที่ราคาขยับอยู่ในช่วงนี้มาตลอดครึ่งหลังของเดือนมิถุนายนที่ 1.1170 และ 1.1350 ถูกวางให้เป็นระดับแนวรับและแนวต้านหลัก ในความเป็นจริง ความผันผวนต่ำยิ่งกว่า ราคาไม่ได้ขยับเกินช่วง 1.1185-1.1300 และปิดตลาดท้ายสัปดาห์ที่ 1.1245 เกือบที่ระดับ Pivot Point เดิมที่ 1.1240 ตามที่ราคาขยับกลับไปเมื่อเดือนมีนาคม 2019 - GBP/USD ราคามีการย่อตัวชั่วคราวหรือเป็นการกลับทิศทางของแนวโน้มขาลงในรอบ 20 วันเดือนมิถุนายน? ผู้เชี่ยวชาญหลายคนระบุว่า การเจรจาในช่วงหลักเบร็กซิตกำลังไปด้วยดีและดูเหมือนว่าอียูพร้อมที่จะประนีประนอมในเรื่องการตัดสินของศาลยุติธรรม สิ่งนี้เป็นความหวังให้กับนักลงทุนที่มองสถานการณ์ในแง่บวกเกี่ยวกับอนาคตของเงินปอนด์ อันเห็นได้จากราคาคู่นี้ เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับยูโรและดอลลาร์ คู่ GBP/USD อยู่ที่กรอบด้านล่างที่ 1.2250 เมื่อวันจันทร์ที่ 29 มิถุนายน หลังจากนั้นราคาก็ขยับขึ้นถึงระดับ 1.2530 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 2 กรกฎาคม ก่อนที่จะปิดตลาดที่บริเวณ 1.2480 ส่งผลให้เงินปอนด์ฟื้นกลับขึ้นมา 145 จุดจากเงินดอลลาร์ในหนึ่งสัปดาห์
- USD/JPY กองทุนเงินบำนาญญี่ปุ่น (GPIF) ซึ่งเป็นบริษัทบริหารในด้านนี้ที่ใหญ่ที่สุดในโลกประกาศตัวเลขขาดทุนในไตรมาสแรกของปี 2020 ซึ่งคิดเป็นเงิน ¥17.7 ล้านล้านเยน ($165 พันล้านเหรียญ) โครงสร้างการขาดทุนนี้ช่วยให้เราได้สรุปการวิเคราะห์ได้บางส่วน โดย GPIF ขาดทุน 22% (10.2 ล้านล้านเยน) ในการลงทุนในหุ้นบริษัทต่างประเทศ 18% (7.4 ล้านล้านเยน) ในการลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่น และเพียง 0.5% เท่านั้น (185 พันล้านเยน) ในการลงทุนในตราสารหนี้รัฐบาลญี่ปุ่น จากเหตุการณ์แพร่ระบาด ดัชนี S&P500 ของอเมริกาปรับลดลง 20% ส่วน Topix ของญี่ปุ่นปรับลดลงต่ำกว่าเล็กน้อยที่ 18% ในขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ รอบสิบปีในช่วงเวลานี้ลดลงมา 125 จุดพื้นฐาน และในที่นี้เองผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลที่คล้ายกันของฝั่งญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 3 จุดพื้นฐาน และเงินเยนก็แข็งค่าขึ้นในไตรมาสแรก 1% เทียบกับดอลลาร์ และ 3% เทียบกับยูโร ตัวเลขเหล่านี้ค่อนข้างชัดเจนว่าสินทรัพย์ญี่ปุ่นถือว่าเป็นสินทรัพย์หลบภัยอย่างแท้จริง ในขณะที่พฤติกรรมของคู่ USD/JPY ในสัปดาห์ที่ผ่านมาก็ไม่มีเหตุการณ์อะไรพิเศษ เงินเยนและดอลลาร์ยังคงต่อสู้เพื่อดึงดูดเงินจากนักลงทุนที่ไม่ต้องการความเสี่ยง ทำให้ราคาขยับไปยังระดับ Pivot Point ในโซน 107.50 ซึ่งเป็นระดับที่ราคาปิดตลาด
- คริปโตเคอเรนซี จากการประมาณการของ Buy Shares บริษัทการลงทุนสัญชาติอังกฤษ บิทคอยน์นำเหนือดัชนีชั้นนำต่าง ๆ โดยเฉลี่ยแล้วกว่า 70 เท่าในช่วงเวลาห้าปีที่ผ่านมา ในช่วงเวลานี้ การลงทุนในเงินคริปโตสกุลบิทคอยน์สามารถนำกำไรมาให้สูงกว่า 3400% ในขณะเดียวกัน ดัชนี NASDAQ ขยับขึ้น 96% ดัชนี S&P500 ที่รวบรวมหุ้นบริษัทกว่า 505 แห่งและซื้อขายบนตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ ก็แสดงถึงผลตอบแทนที่ต่ำยิ่งกว่าที่ 46% ดัชนีค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม Dow Jones ให้ผลลัพธ์ใกล้ ๆ กันที่ 42% ผลลัพธ์ที่ต่ำที่สุดในบรรดาที่กล่าวมาข้างต้นนี้เป็นของดัชนีชั้นนำของตลาดหุ้นอังกฤา FTSE100 ซึ่งตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2015 จนถึงปัจจุบัน ดัชนีปรับลดลงเกือบ 7%
อย่างไรก็ตาม บุญกุศลของบิทคอยน์ในอดีตยังไม่สามารถการันตีผลบุญในปัจจุบันหรืออนาคตได้ ราคาบิทคอยน์ยังคงขยับอยู่ในช่วงแคบ ๆ ที่ $9,000-10,000 เป็นเวลาสัปดาห์ที่เจ็ดติดต่อกัน เทรนด์ด้านข้างเช่นนี้มักจะยุติลงด้วยการทรุดตัวลงของราคาครั้งใหญ่ โดยบิทคอยน์ได้แตะราคากรอบด้านล่างอย่างอันตรายมาตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยราคาไม่สามารถยืนเหนือระดับ $9,285 นอกจากนี้ ตลาดหมียังมีความพยายามตัดทะลุกราฟขาลงหลายครั้ง ซึ่งทำให้ราคาแตะลงมาที่ระดับ $8,840 ส่งผลให้นักลงทุนเกิดความกังวล และสถานการณ์เช่นนี้ก็ไม่เป็นที่น่าประทับใจสำหรับนักขุดเงินคริปโตที่ต้องทำงานโดยผลตอบแทนที่ต่ำลงหลังการฮาล์ฟเหรียญเดือนพฤษภาคมด้วยเช่นกัน
แม้ว่าตัวเลขผลตอบแทนของบิทคอยน์ที่สูงเป็นอย่างมาก นักวิเคราะห์กลับเริ่มพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างคริปโตเคอเรนซีกับตลาดหุ้นกันมากขึ้น จากการคาดการณ์คลื่นการแพร่ระบาดรอบที่สองในสหรัฐฯ ดัชนีตลาดหุ้นขยับสู่โซนสีแดงในช่วงปลายสัปดาห์ ความกระหายของนักลงทุนจึงเริ่มหายไป ความสนใจในบิทคอยน์ลดลง และมูลค่ารวมในตลาดเงินคริปโตแทบไม่เปลี่ยนแปลงอยู่ที่ $266 พันล้านเหรียญเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน และ $263 เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน ส่วนวันที่ 3 กรกฎาคมอยู่ที่ $260 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ทั้งนี้ มูลค่ารวมตลาดเงินคริปโตอยู่ในปริมาณเดียวกันในช่วงเดือนมิถุนายน กรกฎาคม ปี 2018) ดัชนี Crypto Fear & Greed Index ก็ยังคงชะลอตัวอย่างยึกยัก ลูกศรดัชนีอยู่ที่ระดับ 41 (39 เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน และ 40 เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน)
ขณะนี้มาถึงอัลท์คอยน์ จำนวนเหรียญเงินคริปโตทุกประเภทในปัจจุบันมีจำนวนมหาศาลถึง 5687 ชนิด บิทคอยน์เป็นผู้นำตลาดซึ่งมีส่วนแบ่ง 64.4% ตามมาด้วย Ethereum (ETH) ที่ 9.70% ความต้องการเหรียญนี้ถูกกระตุ้นโดยคำสัญญาของนายวิตาลิค บูเทอริน ผู้ก่อตั้งเหรียญ ที่จะเพิ่มแบนด์วิดธ์เครือข่ายให้ได้ 100,000 ธุรกรรมต่อวินาที อีกหนึ่งเหรียญที่เป็นที่นิยมมากแซงหน้า Ripple เป็นของ Tether stablecoin (USDT) ซึ่งแสดงการเคลื่อนที่ที่เป็นบวกในช่วงเวลายากลำบากในตลาดเงินคริปโต มูลค่ารวมของ USDT ในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาอยู่ที่ 3.55% ซึ่งมูลค่ารวมของ Ripple (XRP) อยู่ที่เพียง 3.04% เท่านั้น
สำหรับบทวิเคราะห์ของสัปดาห์นี้ เราได้สรุปความเห็นของบรรดานักวิเคราะห์มากมาย รวมถึงคำคาดการณ์ที่วิเคราะห์จากพื้นฐานทางเทคนิคและสถิติกราฟต่างๆ โดยเราสามารถสรุปผลวิเคราะห์ได้ดังต่อไปนี้:
- EUR/USD ในสัปดาห์ที่จะถึงนี้ไม่คาดว่าจะมีเหตุการณ์สำคัญทางเศรษฐกิจใด ๆ โดยจะมีการประกาศจำนวนผู้ขอใช้สวัสดิการว่างงานในสหรัฐฯ รวมถึงสถิติกิจกรรมทางธุรกิจของ ISM ในภาคบริการในประเทศ และการผลิตทางอุตสาหกรรมในเยอรมนี อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มสูงที่สถิติเหล่านี้จะไม่มีผลต่อตลาดเท่าไรนัก เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยของทุกแห่งอยู่ที่ประมาณระดับศูนย์ ค่าส่วนต่างของพันธบัตรรัฐบาลเมื่อเทียบกันแล้วแทบไม่มีค่าส่วนต่างใด ๆ เช่นกัน และอย่างที่กล่าวไว้แล้ว การตอบสนองของนักลงทุนต่อข่าว COVID-19 น่าจะเป็นข่าวที่ส่งผลต่อพฤติกรรมคู่ EUR/USD มากที่สุด
อีกหนึ่งปัจจันที่น่าสนใจที่อาจส่งผลต่อดอลลาร์ได้ก็คือผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต เหลือเวลาเพียงสี่เดือนเท่านั้น และคาดว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างจริงจังเฉพาะในช่วงฤดูใบไม้ร่วง แม้ว่านายโดนัลด์ทรัมป์ จะเป็นที่รู้จักในฐานะที่ชอบมีข่าวเซอร์ไพรส์ได้ทุกขณะ แต่ถึงอย่างไร “ปัจจัย” นี้ก็แทบจะทำนายล่วงหน้าไม่ได้เลย
สิ่งที่ควรให้ความสนใจคือการวิเคราะห์อินดิเคเตอร์ของคู่ EUR/USD ในสัปดาห์ที่ผ่านมา และแทบจะเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากสีหลักของกรอบ H4 และ D1 เป็นสีเทากลาง การวิเคราะห์กราฟก็ไม่ช่วยให้ภาพใด ๆ เช่นกัน แต่ในบรรดานักวิเคราะห์ต่าง ๆ เชื่อว่าเงินดอลลาร์ยังคงได้เปรียบอยู่ จึงมี 45% ของผู้เชี่ยวชาญโหวตให้กับแนวโน้มขาขึ้น และมองว่าราคาคู่นี้น่าจะปรับลงมาในตอนแรกที่กรอบด้านล่างบริเวณ 1.1170 และในกรณีที่กราฟตัดทะลุระดับดังกล่าวสำเร็จ ราคาจะปรับลงไปอีก 70-100 จุด ส่วนผู้เชี่ยวชาญ 25% คาดว่าจะเห็นราคาที่ระดับ 1.1400 และอีก 30% ทำนายเทรนด์การแข็งตัวของราคาไปที่บริเวณ Pivot Point ที่ 1.1240
- GBP/USD เรามาทบทวนคำถามที่ถามไว้ในส่วนแรกของบทรีวิวนี้กัน: “นี่คือการย่อตัวของราคาชั่วคราวหรือการกลับตัวของเทรนด์ขาลงเดือนมิถุนายน?” การวิเคราะห์กราฟในกรอบ H4 ให้คำตอบอย่างมั่นใจว่าเป็น “การกลับทิศทาง” และให้ภาพต่อไปว่าราคาจะขยับขึ้นไปที่ระดับสูงสุดของวันที่ 10 มิถุนายนที่ 1.2810 ในส่วนกรอบ D1 คำทำนายแตกต่างกันเล็กน้อยโดยมองว่าราคาจะปรับลงมาที่แนวรับ 1.2245 ในตอนแรก จากนั้นจะกลับสู่ระดับ 1.2480
อินดิเคเตอร์เทรนด์ส่วนใหญ่ (90%) และออสซิลเลเตอร์ (85%) ในกรอบ H4 ให้สัญญาณสีเขียว ในกรอบ D1 ไม่มีสัญญาณเห็นพ้องกัน แต่ในที่นี้เทน้ำหนักไปที่สีเทาปานกลาง และออสซิลเลเตอร์ 15% ให้สัญญาณว่าราคาอยู่ในช่วง overbought
สำหรับนักวิเคราะห์ พวกเขาจะรอฟังผลลัพธ์การเจรจาข้อกำหนดการแยกตัวเบร็กซิตก่อน ในระหว่างนี้ 30% ยังคงเชื่อว่าราคาจะขยับในช่วงด้านข้างที่ 1.2245-1.2680 ในโซนตรงกลาง ซึ่งราคาปิดตัวไปในสัปดาห์ก่อนหน้า อีก 20% คาดว่าราคาจะขยับขึ้นมาที่ระดับ 1.2810 และ 50% ของผู้เชี่ยวชาญทำนายว่าราคาจะปรับลดลงมาที่แนวรับ 1.2160 และลงมาอีก 100 จุด - USD/JPY ในที่นี้ คะแนนโหวตของผู้เชี่ยวชาญแบ่งเป็นกลุ่มต่าง ๆ ได้แก่ 40% โหวตขาขึ้น 40% ขาลง และ 20% โหวตเทรนด์ด้านข้าง ในกรอบ H4 การวิเคราะห์อินดิเคเตอร์ก็ไม่ชัดเจน โดยภาพที่พอเห็นชัดเป็นของการวิเคราะห์ในกรอบ D1 ในบรรดาอินดิเคเตอร์เทรนด์บนกรอบเวลานี้ 70% ให้ภาพไปทางทิศเหนือ และออสซิลเลเตอร์ 85% ให้ภาพทิศเหนือเช่นกัน ระดับแนวรับอยู่ที่ 107.30, 106.60 และกรอบด้านล่างของช่องด้านข้างของราคาคือ 106.600 แนวต้าน ได้แก่ 108.10, 109.30 และ 109.85
- คริปโตเคอเรนซี กูรูตลาดยังคงเงยหน้ามองดวงดาวตามเคย โดยทำนายว่าราคาบิทคอยน์จะพุ่งทะยานไปอวกาศ รายงานวิจัยเงินคริปโตฉบับเดือนมิถุนายนให้คำทำนายว่า ราคา BTC อาจขยับถึง $400,000 ในอีกสิบปีข้างหน้า ส่วนอัลท์คอยน์ยอดนิยมอย่าง Ethereum (ETH), Litecoin (LTC), Bitcoin Cash (BCH) และ Stellar (XLM) จะปรับเพิ่มสูงขึ้นมากด้วยเช่นกัน “เราเชื่อว่าบิทคอยน์กำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของเส้นโค้ง” รายงานระบุ “ราคาที่ $7,200 ในช่วงปลายปี 2019 ชี้ว่า BTC ในปัจจุบันยังมีส่วนแบ่งน้อยกว่า 0.44% ของตลาดมูลค่า $212 ล้านล้านเหรียญทั้งหมด หากตัวเลขนี้ขยับถึง 10% ราคาน่าจะพุ่งขึ้นไปเกือบ $400,000 นี่หมายความว่าราคาบิทคอยน์ในปี 2030 จะเพิ่มขึ้นมากกว่า 4,000% ETH, LTC และ BCH ในสถานการณ์นี้จะดูสดใสมากด้วยเช่นกัน ซึ่งจะทะยานขึ้นไปถึง 1600%, 5000% และ 5400% ตามลำดับ แนวโน้มเติบโตสูงที่สุดน่าจะเป็นของ XLM ที่ 11,000% (จาก $0.07 เป็น $7,81)
นายแม็ก ไคเซอร์ ผู้รายงานข่าวทางทีวีและผู้ก่อตั้ง Bitcoin Capital มองว่าราคาบิทคอยน์จะเติบโตสูงยิ่งกว่า อย่าลืมว่าเขาเริ่มโฆษณาคริปโตเคอเรนซีนี้ตั้งแต่ราคายังอยู่ที่ $1 และ ณ ตอนนี้ นายไคเซอร์ชี้ว่า ราคาเหรียญบิทคอยน์อาจขยับได้ถึง $500,000 อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้จำเป็นต้องอาศัย “บางสิ่งเล็กน้อย” คือ สงครามการขุดเหรียญระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่าน และเวเนซุเอลาสำหรับแฮชเรต และอีกไม่นาน เวเนซุเอลาอาจสามารถควบคุมแฮชเรตได้ที่ -5% บังคับให้สหรัฐฯ เข้าสู่การแข่งขันในการขุดเหรียญ และอาจนำไปสู่ราคาที่เพิ่มขึ้นของบิทคอยน์
อย่างไรก็ตาม อนาคตอันใกล้ก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลายอย่างที่นายแม็ก ไคเซอร์ วาดภาพไว้ เราเคยกล่าวไว้แล้วว่า ในสายตามุมมองของนักลงทุนรายสถาบัน บิทคอยน์เคยเป็น คือ และในอนาคตจะเป็นสินทรัพย์ความเสี่ยงสูง ตามมาด้วยดัชนีหุ้นอย่าง S&P500 และในอนาคตอันใกล้นี้ นักวิเคราะห์ JP Morgan มองว่า กองทำบำนาญอาจต้องขายสินทรัพย์หุ้นต่าง ๆ มูลค่า $175 พันล้านเหรียญ ซึ่งจะส่งผลเป็นชนวนที่นำไปสู่คลื่นแรงขายครั้งใหญ่ในตลาดหุ้นและตลาดเงินคริปโต
ไม่มีผู้เชี่ยวชาญท่านใดมองคู่ BTC/USD ว่าสามารถยืนเหนือระดับ $9,000 ได้ในสัปดาห์ที่จะถึงนี้ 40% ของผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่าราคาจะขยับในช่องด้านข้างต่อไปในช่วง $ 9,000-10,000 นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ (60%)เชื่อว่าราคาจะตกลงมาที่ระดับ $ 8,000-9,000
เมื่อปรับมาที่คำทำนายระยะกลาง จำนวนผู้สนับสนุนตลาดกระทิงเพิ่มเป็น 55-60% ตัวอย่างเช่น นายไมค์ แมคโกลน นักวิเคราะห์จาก Bloomberg คาดว่าราคา BTC อาจขยับขึ้นไปที่ระดับ $13,000 และอาจใกล้กับระดับสำคัญที่ $20,000 ภายในสิ้นปีนี้ และหลังจากนั้นผู้เชี่ยวชาญหลายคนคาดการณ์ว่าจะมีการแห่ปิดตำแหน่งซื้อขนานใหญ่และกดราคาให้ลดต่ำลงเป็นอย่างมาก
กลุ่มนักวิเคราะห์ NordFX
หมายเหตุ: เนื้อหาดังกล่าวไม่ควรยึดถือเป็นคำแนะนำในการลงทุนหรือเป็นคำปรึกษาในการซื้อขายในตลาดการเงิน โดยเนื้อหาข้างต้นเป็นไปเพียงเพื่อจุดประสงค์ในการให้ข้อมูลเท่านั้น การซื้อขายในตลาดการเงินมีความเสี่ยงและอาจทำให้เกิดการสูญเสียเงินฝากได้
กลับ กลับ