อันดับแรกเป็นการทบทวนเหตุการณ์ในสัปดาห์ที่แล้ว:
- EUR/USD ดอลลาร์กำลังอ่อนค่าอย่างช้า ๆ ราคาได้ขยับเหนือระดับ Pivot Point ที่ 1.1240 เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แต่ยังคงตัวอยู่ในกรอบรอบห้าสัปดาห์ที่ 1.1170-1.1350 ตามที่คาดการณ์โดยผู้เชี่ยวชาญ 25% ฝั่งกระทิงพยายามดันราคาให้ขึ้นถึงระดับ 1.1400 แต่การโจมตีนี้หยุดชะงักอย่างรวดเร็วและราคาปรับลงมาที่ 1.1370 ก่อนที่จะขยับลงมาอีกครั้งและปิดตลาดรอบห้าวันในโซน 1.1300
แรงกดดันต่อค่าเงินอเมริกานี้อธิบายได้จากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่พัฒนาในทางที่ดีขึ้นในหลายประเทศ รวมถึงอียู กิจการต่าง ๆ เริ่มกลับมาเป็นปกติอีกครั้ง ความต้องการฟื้นตัว ฝั่งผู้บริโภคเริ่มเข้าร้านค้าอีกครั้ง ซึ่งต่างจากสถานการณ์ในสหรัฐฯ ที่แม้แต่เจ้าหน้าที่เฟดเองก็ยังคงมีข้อกังขาว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วจริงหรือไม่ โรเซนเกรนและบาร์คิน สมาชิกในคณะกรรมการกำหนดนโยบายทางการเงิน (FOMC) ชี้ว่า หลังจากอุตสาหกรรมได้ปิดคำสั่งซื้อเก่าแล้ว ณ ตอนนี้ยังไม่ได้รับคำสั่งซื้อใหม่ใด ๆ และนี่อาจนำไปสู่สถานการณ์ที่ต้องมีการพิมพ์ธนบัตรดอลลาร์เพิ่มขึ้น และเพิ่มมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE)
ทั้งหมดนี้มาพร้อมกับคลื่นการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกที่สอง เมื่อวันพุธที่ 8 กรกฎาคม ยอดผู้ติดเชื้อทำตัวเลขสูงสุดในสหรัฐฯ ที่ 60,000 คน จำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นสองเท่าเมื่อเทียบกับระดับเฉลี่ยที่ 1,000 รายต่อวัน ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญให้ตลาดเริ่มมีมุมมองในแง่ลบ
ในทางกลับกัน ฝั่งเงินยูโรมีสถานการณ์ที่ดูดีกว่าอันเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ดีขึ้น และประสิทธิภาพของนโยบายการเงินและการคลังของอียู เงินยูโรยังแข็งขึ้นเพราะเป็นผลพวงมาจากเงินหยวนที่แข็งค่าขึ้นเช่นกัน รวมถึงเป็นผลมาจากท่าทีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และหาก นายโจ ไบเดน ฝั่งเดโมแครตชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ นโยบายของวอชิงตันต่อปักกิ่งอาจพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ ซึ่งจะทำให้เงินหยวนแข็งค่าขึ้นต่อไป และตามมาด้วยเศรษฐกิจยุโรปที่เข้มแข็งขึ้นด้วยเช่นกัน - GBP/USD ในบทวิเคราะห์ฉบับที่แล้ว เราตั้งข้อสงสัยว่าแนวโน้มเติบโตของเงินปอนด์เป็นเพียงการปรับตัวชั่วคราวหรือเป็นการกลับตัวของเทรนด์ที่แท้จริง อินดิเคเตอร์ส่วนใหญ่ รวมถึงการวิเคราะห์กราฟได้ทำนายว่าราคาคู่นี้จะปรับขึ้นต่อไป โดยผู้เชี่ยวชาญ 50% โหวตว่าราคาจะขึ้นในทิศเหนือ โดยมี 30% กำหนดระดับแนวต้านที่ 1.2680 และพวกเขาก็ทำนายได้ถูกต้อง ราคาสูงสุดของสัปดาห์อยู่ที่ 1.2670 ตามมาด้วยการดีดกลับของราคาเล็กน้อย ก่อนที่จะปิดที่ 1.2625
แนวโน้มที่แข็งค่าขึ้นของเงินปอนด์ได้รับแรงหนุนจากเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงโดยรวม (จากเหตุผลที่ระบุข้างต้น) รวมถึงทัศนคติที่ค่อนข้างดีในเรื่องการเจรจาข้อกำหนดการแยกตัวออกจากอียูของสหราชอาณาจักร - USD/JPY โตเกียวอยู่ในสถานการณ์ที่คล้ายกันกับหลายรัฐในสหรัฐฯ ซึ่งพบว่ามีจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาทำสถิติสูงสุดเช่นกัน อย่างไรก็ตาม สถานการณ์นี้ยังไม่เป็นที่น่ากังวลสำหรับนักลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เนื่องจากสถิติคำสั่งซื้ออุปกรณ์เครื่องจักรที่ประกาศในสัปดาห์นี้ปรากฏออกมาว่าสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ ซึ่งแสดงถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นในระดับหนึ่ง
ท่ามกลางสถานการณ์ที่ดอลลาร์อ่อนค่าลง เงินเยนแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย: โดยเริ่มตั้งแต่ต้นสัปดาห์ที่ 107.50 ราคาขยับลดลงมาที่ระดับ 106.65 ภายในช่วงเย็นวันศุกร์ และปิดตลาดท้ายสัปดาห์ที่ 106.90 - คริปโตเคอเรนซี หากเมื่อสองสามเดือนก่อน ประเด็นหลักในการพูดคุยกันคือคำถามว่า บิทคอยน์ถือว่าเป็นสินทรัพย์หลบภัยได้หรือไม่ ในตอนนี้ประเด็นที่ถกเถียงกันอย่างต่อเนื่องคือเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบิทคอยน์กับตลาดหุ้น เช่น เว็บไซต์ Skew คำนวณว่าความสัมพันธ์ระหว่างบิทคอยน์และดัชนี S&P500 ขยับถึงระดับสูงสุดในประวัติศาสตร์ และค่าสัมประสิทธิ์ตอนนี้อยู่ที่ประมาณ 66% ความเห็นของนักวิเคราะห์ชี้ว่า บิทคอยน์ล้มเหลวในการเป็นสินทรัพย์หลบภัยจากสินทรัพย์การเงินดั้งเดิม และกำลังขยับเข้าสู่หมวดหมู่เดียวกัน บางคนถึงขั้นเรียกบิทคอยน์ว่าเป็น “สตาร์ทอัพตลาดหุ้น”
เหตุผลนี้มีตรรกะรองรับ เนื่องจากแหล่งที่มาของเงินที่อุดหนุนตลาดทั้งสองแห่ง ได้แก่ ตลาดเงินคริปโต และตลาดหุ้นนั้นคือธนาคารกลางฯ ในช่วงหลายเดือนล่าสุด และอันดับหนึ่งเลยก็คือ ธนาคารเฟดของสหรัฐฯ ที่ฉีดอันเศรษฐกิจด้วยสภาพคล่องมหาศาลราคาถูก
แต่หากคุณดูที่กราฟ คุณจะเห็นภาพที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ตั้งแต่การฮาล์ฟเหรียญเดือนพฤษภาคม ดัชนี S&P500 ขยับขึ้นประมาณ 9% Nasdaq 100 ที่ 19% แต่บิทคอยน์ไม่สามารถตั้งหลักเหนือระดับ $10,000 ได้สำเร็จ โดยราคาขยับลงและแข็งตัวในโซน $9,000-9,500 แล้วความสัมพันธ์ที่ว่านี้อยู่ตรงไหน?
บิทคอยน์แตกต่างจากตลาดหุ้นตรงที่ บิทคอยน์ดูเหมือนจะไม่ใช่สินทรัพย์ที่น่าดึงดูดที่สุดในเวลานี้ แม้ว่ากูรูเงินคริปโตจะวาดภาพอย่างไร บิทคอยน์ยังคงเป็นสกุลเงินที่ต้องอาศัยต้นทุนพลังงานมหาศาล และที่ราคา ณ ปัจจุบัน ส่งผลให้บิทคอยน์ต้องสูญเสียผู้สนับสนุนแม้แต่ในกลุ่มนักขุดเหรียญ ซึ่งพบว่ารายได้การขุดเหรียญลดลง 26% ในเดือนมิถุนายนจากการคาดการณ์ของ Coindesk
มูลค่ารวมในตลาดเงินคริปโตเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยขยับถึง $269 พันล้านเหรียญ และเพิ่งกลับสู่ระดับก่อนหน้าของวันที่ 22 และ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา ในส่วนดัชนี Crypto Fear & Greed Index ก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดทั้งสัปดาห์ คงตัวอยู่ที่ 41
ภาวะชะงักงันของบิทคอยน์เช่นนี้ส่งผลดีต่ออัลท์คอยน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ อัลท์คอยน์สามารถหาซื้อได้ง่ายกว่าเดิมมากเมื่อเทียบกับหนึ่งหรือสองปีก่อนหน้า โดยเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ส่วนแบ่งของบิทคอยน์ในตลาดเงินคริปโตอยู่ที่ 69.81 แต่ขณะนี้ลดลงเหลือเพียง 62.79% ซึ่งเป็นเวลาเพียงแค่สองเดือนเท่านั้นที่ส่วนแบ่งในตลาดของบิทคอยน์ลดลงถึง 7.02% หรือคิดเป็น 10% ในอัตราเปรียบเทียบ
อัลท์คอยน์หลายสกุลแตกต่างจากบิทคอยน์ โดยแสดงถึงแนวโน้มเติบโตที่น่าประทับใจเดือนกรกฎาคม ซึ่งแน่นอนว่าย่อมดึงดูดใจต่อนักลงทุน เช่น การเติบโตของ Ethereum (ETH/USD) ณ ราคาสูงสุดของวันที่ 7 ก.ค. อยู่ที่ 10% Ripple (XRP/USD) - 20%, Cardano - 34% สถิติสูงสุดเป็นของ Dogecoin ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 79% หลังจากวิดีโอไวรัลใน TikTok และ VeChain ที่ 101%
สำหรับบทวิเคราะห์ของสัปดาห์นี้ เราได้สรุปความเห็นของบรรดานักวิเคราะห์มากมาย รวมถึงคำคาดการณ์ที่วิเคราะห์จากพื้นฐานทางเทคนิคและสถิติกราฟต่างๆ โดยเราสามารถสรุปผลวิเคราะห์ได้ดังต่อไปนี้:
- EUR/USD หากก่อนหน้านี้ จุดอ้างอิงหลักของนักลงทุนคือดัชนีหุ้นสหรัฐฯ ในเวลานี้ ทุกอย่างเปลี่ยนไปแล้ว เมื่อช่วงต้นเดือนกรกฎาคม ตัวตัดสินไม่ใช่ S&P500 ของอเมริกา แต่เป็นดัชนี Shanghai Composite และหากก่อนหน้านี้ เศรษฐกิจสหรัฐฯ เติบโตเร็วแซงหน้าเศรษฐกิจยุโรปอยู่มากซึ่งกระตุ้นโดยสงครามการค้ากับจีนนั้น ในตอนนี้ทุกอย่างพลิกผันไป 180 องศา ขณะนี้ ธนาคารเฟดไม่สามารถปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยได้อีกต่อไป ทำให้ดอลลาร์น่าดึงดูดมากกว่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินคู่แข่ง เงาดำที่ปกคลุมเศรษฐกิจสหรัฐฯ คือ แนวโน้มการผิดชำระหนี้จำนวนมหาศาลที่ปกติเป็นปัจจัยกระตุ้นหลักในการเติบโตเศรษฐกิจ
ดัชนีดอลลาร์ขยับถึงระดับต่ำสุดของเดือนมิถุนายนแล้ว โดยปรับลง 1.4% ตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคม และเทรนด์นี้น่ากลัวว่าจะกลายเป็นเทรนด์ระยะยาว ผู้เชี่ยวชาญบางท่านมองว่า สกุลเงินดอลลาร์ของอเมริกาอาจอ่อนค่าลงถึง 20% ภายในเวลาไม่กี่ปีนี้ ซึ่งจะเสียมูลค่าที่เคยเติบโตขึ้นมานับตั้งแต่ปี 2014
ตัวเลขคาดการณ์เฉลี่ยของธนาคารขนาดใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ 11 แห่งชี้ว่า EUR/USD จะขยับถึงที่ระดับ 1.1500 ภายในสิ้นปี 2020 มีเพียงธนาคารเดียวคือ Merrill Lynch ที่ทำนายว่าดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้น และราคาคู่นี้จะปรับลดลงไปที่ 1.0500 ซึ่งเหตุผลสนับสนุนคำคาดการณ์นี้มาจากการคาดเดาว่า ธนาคารยุโรปจะขยายมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณอีก €400-600 พันล้านยูโร
หากเราพูดถึงการวิเคราะห์ในไม่กี่วันข้างหน้า Bloomberg Probability Calculator ให้บทวิเคราะห์ตลาดออปชั่นไว้ว่า คู่ EUR/USD มีโอกาสสูงที่ราคาจะปรับขึ้นมาเหนือ 1.1500 มากกว่าที่จะขยับลดลงต่ำกว่า 1.1200 ในขณะที่ออสซิลเลเตอร์ 80% และอินดิเคเตอร์เทรนด์ 95% ในกรอบ D1 ให้สัญญาณสีเขียว ส่วนออสซิลเลเตอร์ 15% ที่เหลือให้สัญญาณว่าราคาอยู่ใซน overbought - GBP/USD ในสัปดาห์นี้เราจะรอติดตามคำแถลงของ นายแอนดริว ไบเลย์ ประธานธนาคารแห่งชาติอังกฤษในวันจันทร์ที่ 13 กรกฎาคม การประกาศค่า GDP ในวันอังคาร สถิติตลาดผู้บริโภคในวันพุธ สถิติตลาดแรงงานสหราชอาณาจักรในวันพฤหัสบดี เหตุการณ์ที่น่าสนใจเป็นพิเศษเป็นของวันอังคารที่ 14 กรกฎาคม ซึ่งตัวเลขคาดการณ์เบื้องต้นชี้ว่า GDP เดือนพฤษภาคมน่าจะเพิ่มขึ้น 5% เทียบกับตัวเลขที่ลดลง 20.4 ในเดือนก่อนหน้า และหากตัวเลขคาดการณ์ถูกต้อง อาจส่งผลเป็นแรงกระตุ้นในทางบวกต่อเงินปอนด์อังกฤษ
ผู้เชี่ยวชาญ 65% คาดว่าราคาจะขยับขึ้น สนับสนุนโดยออสซิลเลเตอร์ 80% และอินดิเคเตอร์เทรนด์ 80% ในกรอบเวลา H4 รวมถึงออสซิลเลเตอร์ 85% และอินดิเคเตอร์เทรนด์ 95% ในกรอบ D1 เป้าหมายหลักคือราคาสูงสุดของวันที่ 10 มิถุนายนที่ 1.2810 ซึ่งแนวต้านอยู่ที่ 1.2670 และ 1.2740
มุมมองในทางตรงกันข้ามเป็นของกลุ่มนักวิเคราะห์ 35% และออสซิลเลเตอร์ที่เหลือซึ่งให้ภาพสีแดงบนกรอบ H4 และชี้ว่าราคาอยู่ในโซน overbought ในกรอบ D1
ทั้งนี้ควรคำนึงว่า เมื่อปรับมาเป็นการวิเคราะห์รายเดือน จำนวนผู้สนับสนุนฝั่งตลาดหมีในหมู่ผู้เชี่ยวชาญเพิ่มขึ้นเป็น 60% โดยวางเป้าหมายว่าราคาจะกลับมาที่โซน 1.2250-1.2400
- USD/JPY หากยกเว้นช่วงวันที่ 2-5 มิถุนายน ช่วงเดียวนั้น ราคาได้ขยับในกรอบด้านข้างที่ 106.00-108.10 มาเป็นเวลา 13 สัปดาห์ติดต่อกัน ผู้เชี่ยวชาญมองว่าราคาจะยังคงไม่หลุดออกจากกรอบนี้ ในขณะเดียวกันนักวิเคราะห์ 70% โหวตว่าเงินเยนจะแข็งค่าขึ้นต่อไป ทำให้ราคาปรับลงมาที่กรอบด้านล่าง คำทำนายนี้สนับสนุนโดยการวิเคราะห์กราฟในกรอบ H4 และ 30% ชี้ว่าราคาจะขยับขึ้นไปยังกรอบด้านบน ในส่วนออสซิลเลเตอร์ทั้งใน H4 และ D1 มีจำนวน 80% และอินดิเคเตอร์เทรนด์อีก 95% ที่ให้สัญญาณสีแดง
สำหรับพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่สำคัญนั้น ธนาคารกลางญี่ปุ่นจะตัดสินใจกำหนดอัตราดอกเบี้ยในวันพุธที่ 15 กรกฎาคม ตามมาด้วยการแถลงความเห็นของฝ่ายบริหาร อย่างไรก็ตาม ตลาดไม่คาดว่าจะมีข่าวเซอร์ไพรส์ใด ๆ ที่ควรค่าแก่การรอคอย และอัตราดอกเบี้ยคาดว่าจะยังคงติดลบที่ระดับ -0.1% - คริปโตเคอเรนซี เหมือนเช่นเคย กูรูในตลาดนี้ต่างแข่งขันกันเพื่อทำนายแนวโน้มเติบโตของบิทคอยน์ ทีมงานนักวิจัยจาก Bloomberg Agency ได้เผยแพร่รายงาน ซึ่งระบุว่า คู่ BTC/USD คาดว่าจะขยับขึ้นถึง $12,000 ในอนาคตอันใกล้ เดิมก่อนหน้านี้ นายไมค์ แม็คโกลน นักวิเคราะห์ Bloomberg เป็นผู้สนับสนุนบิทคอยน์ตัวยง เขากล่าวไว้เมื่อเดือนมิถุนายนว่า ราคา BTC จะพุ่งกระโดดเร็ว ๆ นี้ และภายในสิ้นปี ราคาจะสามารถตัดผ่านระดับจิตวิทยาที่ $20,000 ได้สำเร็จ
- อันโธนี เทรนเชฟ หุ้นส่วนบริหารของแพล็ตฟอร์ม Nexo Credit Platform ได้ทำนายตัวเลขที่สูงยิ่งกว่า เขามองว่า มูลค่าบิทคอยน์อาจขยับเกินระดับ $50,000 ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ในระหว่างการสัมภาษณ์ที่งานประชุม Block Down นายอันโธนี เทรนเชฟ กล่าวว่า แพล็ตฟอร์ม Nexo กำลังขยายตัว 10% ในทุก ๆ เดือน ลูกค้ารายใหม่ลงทะเบียนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งเป็นทั้งลูกค้ารายย่อยและนักลงทุนสถาบัน และแนวโน้มการมีส่วนร่วมที่เพิ่มขึ้นของสถาบันจะเป็นแรงกระตุ้นการเติบโตของราคา “ผมยอมรับว่านี่อาจจะดูเป็นคำพูดที่กล้าหาญไป แต่ปัจจัยพื้นฐานและการเปลี่ยนแปลงในทัศนคติต่อคริปโตเคอเรนซีนี้จะทำให้เป็นจริงได้” เขากล่าวสรุผ
ข้อเท็จจริงที่ว่าทัศนคติกำลังเปลี่ยนแปลงนั้นถกเถียงไม่ได้ จากผลสำรวจที่ทำขึ้นโดย Tokenist ใน 17 ประเทศ สรุปว่า 45% ของผู้ตอบแบบสำรวจชอบที่จะถือเงินคริปโตมากกว่าหุ้น อสังหาริมทรัพย์ หรือทองคำ และในบรรดาเศรษฐีเงินล้านนั้นมีสัดส่วนการถือครอง 92%
และตอนนี้มาถึงอีกหนึ่งผลการสำรวจบนทวิตเตอร์โดยนักวิเคราะห์คริปโตชื่อดังที่รู้จักกันในนาม PlanB ซึ่งพยายามหาคำตอบว่าราคา BTC จะอยู่ที่เท่าใดภายในสิ้นปี 2021 คำตอบจาก 27,000 คน ชี้ว่า คนส่วนใหญ่ (57%) มองราคาที่ $55,000 เกือบ 30% ของผู้ตอบแบบสำรวจตั้งเป้าที่ระดับ $100,000 และอีก 17% ไม่ตัดโอกาสที่ราคาจะขยับขึ้นสูงถึง $300,000
สำหรับบทวิเคราะห์ในสัปดาห์หน้านี้ นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังคงตั้งเป้าระดับ $9,000 ไว้เป็น Pivot Point สำหรับคู่ BTC/USD โดยกำหนดให้ความผันผวนด้านล่างอยู่ที่บริเวณ $8,800 และกรอบด้านบนคือ $9,700 โดยมีเพียง 10% เท่านั้นที่เชื่อว่าราคาจะขยับลงมาที่โซน $8,400
กลุ่มนักวิเคราะห์ NordFX
หมายเหตุ: เนื้อหาดังกล่าวไม่ควรยึดถือเป็นคำแนะนำในการลงทุนหรือเป็นคำปรึกษาในการซื้อขายในตลาดการเงิน โดยเนื้อหาข้างต้นเป็นไปเพียงเพื่อจุดประสงค์ในการให้ข้อมูลเท่านั้น การซื้อขายในตลาดการเงินมีความเสี่ยงและอาจทำให้เกิดการสูญเสียเงินฝากได้
กลับ กลับ