อันดับแรกเป็นบทรีวิวเหตุการณ์ในสัปดาห์ที่แล้ว:
- EUR/USD เศรษฐกิจสหรัฐฯ แสดงแนวโน้มการเติบโตที่น่าประทับใจ ในอีกด้านหนึ่ง ยุโรปมีคำสั่งล็อคดาวน์ทั่วทวีป และแน่นอนว่ากำลังประสบกับภาวะถดถอยเป็นรอบที่สอง สัดส่วนผู้ที่ได้รับวัคซีน COVID-19 อย่างน้อยหนึ่งโดสในอียูอยู่ที่ 25.1% ในขณะที่ในสหรัฐฯ สูงกว่าถึง 2.5 เท่า คือ 63.2% ยูโรจะแข็งค่าขึ้นในสถานการณ์เช่นนี้ได้จริงหรือ? มีผู้เชี่ยวชาญเพียง 25% เท่านั้นที่ตอบว่าใช่สำหรับคำถามนี้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และพวกเขาก็ทำนายได้ถูกต้อง EUR/USD ได้ขยับถึง 1.2080 เมื่อวันอังคารที่ 20 เมษายนที่ผ่านมา
นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ (50%) เชื่อว่า ตลาดกระทิงและตลาดหมีจะเล่นเกม “ชักเย่อ” อยู่บริเวณ 1.2000 และพวกเขาก็ทำนายได้ไม่ไกลไปจากความจริงมากนัก ราคาได้ผันผวนขึ้นลงในช่วง 1.1995-1.2080 ตั้งแต่วันอังคารจนถึงปลายสัปดาห์ แม้ว่าชัยชนะจะตกเป็นของฝั่งตลาดกระทิง เพราะตลาดปิดใกล้ระดับสูงสุดในรอบเจ็ดสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ 1.2100 แนวโน้มดังกล่าวนี้ถูกขับเคลื่อนด้วยเหตุผลสองประการ ประการแรกคือ อเมริกา และประการที่สองคืออีกฟากหนึ่งของมหาสมุทรแอตแลนติก ทวีปยุโรป
ในอีกด้านหนึ่ง ผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ยังคงลดลงต่อเนื่อง ประกอบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลง ดัชนีดอลลาร์เทียบกับค่าเงินหลักหกสกุล (DXY) ลดลงจาก 93.3 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของปีนี้ ลงมาเหลือ 91 เท่ากับว่าลดลงมา 230 จุด สิ่งนี้ยิ่งกระตุ้นความต้องการในความเสี่ยงของนักลงทุน และความพยายามที่จะดันดัชนีหุ้นสหรัฐฯ ขึ้นไป ทั้งหมดนี้จึงเกิดขึ้นแม้ว่าจะมีข้อเสนอจากประธานาธิบดีไบเดนของสหรัฐฯ ให้คิดภาษีเพิ่มเกือบเท่าตัว (จาก 20% เป็น 39.6%) สำหรับประชาชนผู้มีรายได้มากกว่า $1 ล้านเหรียญขึ้นไป
ในอีกด้านหนึ่งนั้น ยูโรก็ได้รับแรงสนับสนุนจากการประเมินอัตราการฉีดวัคซีนในยุโรปในทางบวก โดยเฉพาะข่าวที่ว่า Pfizer จะเพิ่มการส่งมอบวัคซีนให้กับอียูจำนวน 100 ล้านโดส ด้านผลตอบแทนพันธบัตรเยอรมันก็เพิ่มขึ้น ซึ่งเริ่มที่จะตามทันคู่แข่งจากฝั่งสหรัฐฯ แล้ว สถิติกิจกรรมทางธุรกิจที่แข็งแกร่งเหนือความคาดหมายในยูโรโซนก็ช่วยกระแสตลาดหมีของคู่ EUR/USD เช่นกัน นักวิเคราะห์ที่สำรวจโดยรอยเตอร์สได้คาดว่าค่าเฉลี่ยของดัชนี PMI จะลดลงจาก 53.2 เหลือ 52.8 แต่ตัวเลขจริงขยับขึ้นเป็น 53.7 ในเดือนเมษายน - GBP/USD ก่อนอื่นเราจะพูดถึงอีกคู่หนึ่งก่อนเล็กน้อย GBC/USD ซึ่งเป็นคู่ที่อาจปรากฏขึ้นใหม่ในอนาคตอันใกล้ ในขณะที่บางประเทศ รัฐบาลสั่งแบนคริปโตเคอเรนซี (เช่น ตุรกี) ในบางประเทศก็พยายามที่จะผลักดันให้เกิดการบริการ ธนาคาร Bank for International Settlements (BIS) ไม่นานมานี้ได้จัดทำแบบสำรวจ และผลปรากฏว่าธนาคารกลางจำนวน 52 แห่ง จากทั้งหมด 66 แห่งนั้น กำลังคิดสร้างสกุลเงินดิจิทัลเป็นของตนเอง และหนึ่งในนั้นคือธนาคารแห่งชาติอังกฤษ ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยเครือบริษัทด้านการเงินขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ คือ Barclays
ปอนด์ดิจิทัลได้รับการตั้งชื่อเช่นแล้วว่า “Britcoin” ซึ่งย่อมทำให้ผู้ที่รู้จัก “Brit Milah” ต้องยิ้มออก และสำหรับผู้ที่ไม่รู้จัก เราขออธิบายให้ฟัง: นี่คือพิธีการขลิบในหมู่ชาวยิวที่เคร่งศาสนา แต่หาก Brit Milah เป็นธรรมเนียมปลูกฝังในอดีตโบราณ Britcoin นั้นเป็นเหรียญดิจิทัลในอนาคตของสหราชอาณาจักรที่ได้แยกตัวออกจากอียู
แต่จนกว่าคู่ GBC/USD จะปรากฏตัวในฐานะสินทรัพย์การเทรด เราขอกลับมาสู่ “พี่สาวคนโต” คู่ GBP/USD ตามปกติกันก่อน ราคาคู่นี้ได้ขยับขึ้นเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ เนื่องด้วยดอลลาร์อ่อนค่าลงเช่นเดียวกับคู่ EUR/USD โดยราคาได้ขยับถึงระดับ 1.4010 เมื่อวันอังคาร โดยขึ้นมา 170 จุด แต่ราคาไม่สามารถยืนเหนือระดับ 1.4000 ได้สำเร็จ สองวันต่อมาก็เสียหลักและกลับตัวย่อลงมายังระดับ 1.3825 ในช่วงปลายสัปดาห์การเทรด เงินปอนด์ได้รับแรงสนับสนุนจากสถิติที่แข็งแกร่งของดัชนีกิจกรรมทางธุรกิจในภาคบริการ ดัชนี Markit ขยับขึ้นจาก 56.3 เป็น 60.1 (จากการคาดการณ์ที่ 59.0) ในรอบเดือน ส่งผลให้ราคาขยับขึ้นเล็กน้อยและปิดตลาดรอบห้าวันทำการที่ 1.3885 - USD/JPY ก่อนหน้านี้ เราได้อธิบายในบทวิเคราะห์ฉบับที่แล้วถึงหนึ่งในเหตุผลที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐรอบ 10 ปี ลดต่ำลง มาพร้อมกับเงินเยนที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ซึ่งอาจทำให้ผู้ซื้อชาวญี่ปุ่นกลับคืนสู่ตลาด เดิมพวกเขาพยายามกำจัดพันธบัตรอเมริกันออกไปภายในสิ้นปีงบประมาณนี้ แต่พวกเขาเริ่มกลับมาเติมพันธบัตรในพอร์ตการลงทุนอีกครั้งในเวลานี้
นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ (70%) โหวตเมื่อเจ็ดวันก่อนหน้านี้ว่า แนวโน้มการเติบโตของค่าเงินเยนญี่ปุ่นและคู่ USD/JPY จะมีผลต่อไป และคำทำนายนี้ปรากฏว่าถูกต้องอย่างสมบูรณ์ ระดับ 107.50 ถูกวางให้เป็นแนวรับ ซึ่งกลายเป็นแนวรับล่างสุดของสัปดาห์ ตามมาด้วยการปรับฐานและปิดที่ 107.85 - คริปโตเคอเรนซี ในขณะที่ภารกิจของฝั่งกระทิงเมื่อวันศุกร์ที่ 16 เมษายน คือ การป้องกันไม่ให้คู่ BTC/USD ขยับลงต่ำกว่า $60,000 แต่ในเจ็ดวันต่อมาพวกเขาแทบจะยืนเหนือระดับ $50,000 ไม่ไหว หลังจากราคาได้พุ่งทะยานไปที่ $64,800 เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่มีการเปิดขาย IPO ของ Coinbase ในตลาดหุ้นอเมริกา ตามมาด้วยภาวะทรุดตัวอย่างรวดเร็วเช่นกัน ราคาบิทคอยน์ดิ่งลงมาสู่ระดับ $47,545 เมื่อวันศุกร์ที่ 23 เมษายน โดยมูลค่าลดลงมาทั้งสิ้น 26.6%
การชี้แจงว่ามีเหตุผลหลักอะไรที่อยู่เบื้องหลังการทรุดตัวนี้เป็นเรื่องยาก Willy Woo นักวิเคราะห์ชื่อดังกล่าวว่า แนวโน้มขาลงถูกกระตุ้นโดยเหตุการณ์ไฟฟ้าดับครั้งใหญ่ในจังหวัดซินเจียง หนึ่งในภูมิภาคขนาดใหญ่ที่สุดของจีนซึ่งมีการกระจุกตัวของการขุดเหรียญบิทคอยน์อยู่มาก ตามรายงานของ BTC Cambridge Energy Consumption Index จังหวัดซินเจียงมีสัดส่วนแฮชเรตของเหรียญทั้งหมดประมาณ 25% เนื่องด้วยนักขุดเหรียญส่วนใหญ่ไม่สามารถทำงานได้ชั่วคราวนั้น แฮชเรตของสินทรัพย์นี้จึงเริ่มลดลง และค่าเฉลี่ยของค่าธรรมเนียมธุรกรรมในเครือข่ายบิทคอยน์เพิ่มขึ้นเกิน $50 ซึ่งไม่เคยเจอกรณีแบบนี้มาตั้งแต่ปี 2017
นาย Woo ชี้ว่า บิทคอยน์น่าจะกลับมาตาเติบโตได้อีกครั้งหลังจากสถานการณ์การจ่ายกระแสไฟฟ้ากลับสู่ภาวะปกติ แต่แม้ว่ากระแสไฟฟ้าจะกลับมาในจังหวัดดังกล่าว แต่บิทคอยน์ก็ยังคงดิ่งลงต่อเนื่อง
เราเคยเขียนไปแล้วหลายครั้งว่า ตลาดคริปโตได้รับอิทธิพลจากความเสี่ยงของเหล่ารัฐบาลสูง และในกรณีนี้มีความเป็นไปได้ว่า กระแสหวาดวิตกนั้นเป็นเพราะข่าวลือว่าจะเริ่มมีการสืบสวนในสหรัฐฯ เกี่ยวกับจำนวนสถาบันทางการเงินที่ถูกตั้งข้อสงสัยว่ามีการฟอกเงินโดยใช้คริปโตเคอเรนซี แรงกดดันเพิ่มเติมต่อตลาดมาจากข่าวใหม่สองชิ้น ข่าวแรกก็คือ สภาคองเกรสสหรัฐฯ ได้อนุมัติการจัดตั้งคณะทำงานของ SEC และ CFTC เพื่อพัฒนาการกำกับดูแลคริปโตเคอเรนซี ข่าวชิ้นที่สองคือแผนการของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่จะปรับเพิ่มภาษีเงินทุน ซึ่งอาจจำกัดการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล
มูลค่ารวมในตลาดเงินคริปโตลดลง 17% ตลอดทั้งสัปดาห์ จาก $2.2 ล้านล้าน เหลือ $1.825 ล้านล้านดอลลาร์ ในขณะเดียวกัน บิทคอยน์ยังคงเสียศูนย์ หากมูลค่ารวมในตลาดเมื่อวันที่ 2 มกราคม อยู่ที่ 72.65% ตอนนี้เหลือแค่ 50.70% ในวันที่ 23 เมษายน ซึ่งชี้ให้เห็นว่านักลงทุนกำลังมองหาสินทรัพย์ที่ทำกำไรได้มากกว่าเพื่อการลงทุนในกลุ่มอัลท์คอยน์ โดยปัจจุบันมีอัลท์คอยน์กว่า 8,000 เหรียญ หากเราดูที่ราคา Ethereum แม้ว่าราคาจะทรุดลงเมื่อวันที่ 18 เมษายน อัลท์คอยน์ผู้นำนี้ยังคงทำระดับสูงสุดใหม่ในสัปดาห์ที่แล้วที่ $2,635 แน่นอนว่าคลื่นการเทขายยังไม่จบ แต่แนวโน้มการปรับฐานลดลงของ ETH ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาอยู่ที่เพียง 11% เท่านั้น สำหรับส่วนแบ่งในตลาดของ Ethereum เทียบกับมูลค่ารวมในตลาดเงินคริปโตนั้นถือว่าเพิ่มขึ้นจาก 10.79% เป็น 14.49% ตั้งแต่ต้นปี
เมื่อสรุปผลในสัปดาห์ที่ผ่านมา เราขอเน้นว่าราคาบิทคอยน์ปรับตัวลดลงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยรอบ 50 วัน ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยที่ค่อนข้างน่าตกใจ และอาจกระตุ้นให้เกิดการเทขายอีกรอบ ดัชนีการครองตลาดของ BTC ก็ขยับลดลงเช่นกัน แต่ยังคงต่ำกว่าระดับต่ำสุดของต้นปี 2018 อยู่มาก เมื่อลดลงไปที่ 32% ด้านดัชนี Crypto Fear & Greed Index ก็ขยับลงมาจาก 78 เหลือ 55 ในช่วงตลอดสัปดาห์และได้เข้าสู่โซนปานกลาง
สำหรับบทวิเคราะห์ของสัปดาห์นี้ เราได้สรุปความเห็นของบรรดานักวิเคราะห์มากมาย รวมถึงคำคาดการณ์ที่วิเคราะห์จากพื้นฐานทางเทคนิคและสถิติกราฟต่างๆ โดยเราสามารถสรุปผลวิเคราะห์ได้ดังต่อไปนี้:
- EUR/USD และก็เป็นไปตามที่คาดการณ์ ธนาคารกลางยุโรปคงนโยบายแบบผ่อนปรนขั้นสุดและไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในการประชุมเมื่อวันที่ 22 เมษายน และนางคริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางฯ ได้พยายามทุกวิถีทางเพื่อจำกัดการแข็งค่าขึ้นของเงินยูโร นักลงทุนควรสรุปได้จากถ้อยแถลงของเธอว่า ธนาคารกลางยุโรปจะเริ่มลดมาตรการกระตุ้นทางการคลัง (QE) ช้ากว่าธนาคารเฟดสหรัฐฯ เนื่องจากเศรษฐกิจอียูยังคงตามหลังอเมริกา (ตามการคาดการณ์ของ JPMorgan ดัชนี GDP ของยูโรโซนน่าจะเติบโต 6% ในไตรมาสที่สอง หลังจากลดลง 1% ในไตรมาสแรกของปี 2021 ในขณะที่ของสหรัฐฯ ตัวเลขเดียวกันนี้อยู่ที่ +5% และ +10%)
ธนาคารกลางยุโรปไม่อยากเห็นยูโรแข็งค่า เพราะจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของยุโรปและมองว่าอัตราแลกเปลี่ยน EUR/USD ณ ปัจจุบันนั้นค่อนข้างสูงอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ลาการ์ดก็ไม่สามารถกลับเทรนด์เป็นขาลงได้สำเร็จ นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มที่ นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารเฟดสหรัฐฯ จะกล่าวในแบบเดียวกันในการประชุมที่จัดขึ้นในวันพุธที่ 28 เมษายน ว่า ถึงแม้ว่าอัตราการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะน่าประทับใจ แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะเริ่มพูดถึงการจำกัดมาตรการกระตุ้นทางการคลัง
การประชุมครั้งถัดไปของธนาคารกลางยุโรปจะจัดขึ้นในวันที่ 10 มิถุนายน และหลายอย่างอาจเกิดขึ้นได้ในระหว่างนี้ เงินยูโรจะถูกผลักขึ้นไปตามอัตราการฉีดวัคซีนที่เร่งสูงขึ้น และอัตราการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของอียู และตลาดหมีไม่น่าจะสามารถกดราคาให้กลับลงทิศใต้ได้จนกว่าผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ จะเริ่มเพิ่มขึ้นอีกครั้ง
นักวิเคราะห์จาก Goldman Sachs เชื่อว่า ประเทศขนาดใหญ่ที่สุดสี่ประเทศในยูโรโซนจะฉีดวัคซีนให้กับประชากรทั้งหมด 37% ภายในเดือนพฤษภาคม และตัวเลขนี้จะเป็น 54% ภายในเดือนมิถุนายน ด้วยเหตุนี้ ธนาคารฯ จึงปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์ของ EUR/USD จาก $1.2100 ภายในสิ้นปี เป็น $1.2500
ในทางกลับกัน การประมาณการล่าสุดของ Bloomberg นั้นลดลง จากเดิมที่เคยคาดการณ์อัตราแลกเปลี่ยนไว้ที่ 1.2500 เมื่อเดือนมกราคม ตอนนี้ถูกปรับเหลือแค่ 1.2200 แต่อัตราแลกเปลี่ยนนี้ชี้ว่ายูโรจะแข็งค่าขึ้นต่อไป
เหตุการณ์สำคัญของสัปดาห์ที่จะถึงนี้จะเป็นการประชุมของคณะกรรมการตลาดเสรีของธนาคารเฟด และการแถลงความเห็นของผู้บริหารเกี่ยวกับนโยบายการเงินในอนาคต อย่างที่กล่าวไปแล้ว นายเจอโรม พาวเวลล์ มีแนวโน้มที่จะใช้คำพูดในแนวเดียวกันกับ นางคริสติน ลาการ์ด ซึ่งอาจจะส่งผลเป็นแรงกดดันอีกครั้งต่อผลตอบแทนพันธบัตรอเมริกันและอัตราค่าเงินดอลลาร์
การแข็งค่าขึ้นของยูโรในสัปดาห์ที่จะถึงนี้เป็นที่คาดการณ์โดยผู้เชี่ยวชาญ 60% ซึ่งสนับสนุนโดยการวิเคราะห์ อินดิเคเตอร์เทรนด์ 100% และออสซิลเลเตอร์ 85% ในกรอบ H4 และ D1 ส่วนออสซิลเลเตอร์ที่เหลือ 15% ให้สัญญาณแล้วว่า ราคาคู่นี้อยู่ในโซน overbought แนวต้าน ได้แก่ 1.2125, 1.2185 ซึ่งเป้าหมายก็คือระดับสูงสุดของวันที่ 25 กุมภาพันธ์ที่ 1.2245
ทั้งนี้ เมื่อปรับเป็นการวิเคราะห์ของเดือนพฤษภาคม ภาพรวมเปลี่ยนไปเป็นอย่างมาก และในที่นี่มีผู้เชี่ยวชาญ 70% สนับสนุนโดยการวิเคราะห์กราฟบนกรอบ D1 ที่คาดการณ์แล้วว่า EUR/USD จะลดลงมาต่ำกว่าระดับ 1.2000 แนวรับจะอยู่ที่ระดับ 1.1940, 1.1865 และ 1.1800 และเป้าหมายของตลาดหมีจะเป็นราคาต่ำสุดของช่วงปลายเดือนมีนาคมที่บริเวณ 1.1700
สำหรับเหตุการณ์สำคัญที่จะเกิดขึ้นในสัปดาห์หน้านี้ นอกเหนือไปจากการประชุมของธนาคารเฟด เราควรให้ความสนใจกับสถิติจากตลาดผู้บริโภค ในสหรัฐฯ จะประกาศในวันจันทร์ที่ 26 เมษายน ส่วนในเยอรมนีในวันพฤหัสบดีที่ 29 เมษายน และยูโรโซนประกาศวันศุกร์ที่ 30 เมษายน นอกจากนี้จะมีการประกาศดัชนี GDP ของไตรมาสแรกในสหรัฐฯ ในวันที่ 29 เมษายน ตลอดจนเยอรมนีและยูโรโซนในวันที่ 30 เมษายน - GBP/USD ผู้เชี่ยวชาญจำนวนหนึ่งเชื่อว่าการฉีดวัคซีนให้กับประชากรอย่างสำเร็จจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจสหราชอาณาจักร มาตรการกักกันโรคผ่อนคลายลงเป็นอย่างมากในช่วงไม่กี่สัปดาห์ล่าสุด ทั้งผับและร้านอาหารเริ่มเปิดกิจการ สถิติเศรษฐกิจมหภาคเริ่มดูสดใส อย่างไรก็ตาม ข้อกังวลที่เกี่ยวข้องกับเบร็กซิต การขาดดุลการค้าครั้งใหญ่ และการขาดดุลงบประมาณของสหราชอาณาจักรยังคงเป็นแรงกดดันหลักต่อเงินปอนด์ แต่ดอลลาร์ก็เจอแรงกดดันเช่นกัน บางที ด้วยเหตุนี้เอง การคาดการณ์ของคู่ GBP/USD ดูค่อนข้างขัดแย้งกันเอง ผู้เชี่ยวชาญ 45% โหวตให้การเคลื่อนที่ไปทางทิศเหนือ 35% ไปทางทิศใต้ และ 20% ที่เหลือโหวตว่าราคาจะขยับออกด้านข้าง ส่วนการวิเคราะห์ทางเทคนิคบนกรอบ H4 ดูค่อนข้างขัดแย้งเช่นกัน
ในกรอบ D1 เนื่องด้วยเทรนด์ขาขึ้นที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อ 13 เดือนก่อนหน้า ออสซิลเลเตอร์ส่วนใหญ่ (65%) และอินดิเคเตอร์เทรนด์ (85%) หันขึ้นทางทิศเหนือ ส่วนการวิเคราะห์กราฟก็ชี้ให้เห็นว่า ราคาจะพยายามอีกครั้งที่จะขึ้นไปทดสอบระดับ 1.4000 แต่หลังจากนั้น ราคาจะขยับลงมายังแนวรับที่โซน 1.3670-1.3700 โดยมีระดับแนวต้านใกล้ที่สุดที่ 1.3920 และแนวรับใกล้ที่สุด คือ 1.3800 - USD/JPY ตัวชี้วัดหลักสำหรับคู่นี้เคยเป็นและยังคงเป็นผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ หากผลตอบแทนดังกล่าวยังคงลดลงต่อเนื่องในสัปดาห์หน้านี้ คู่ USD/JPY ก็จะขยับลงต่อ แนวรับใกล้ที่สุดอยู่ในโซน 106.80-107.10 ส่วนแนวรับถัดไปอยู่บริเวณใกล้ค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 200 วัน ที่ 105.80
ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญตรงกับความเห็นในสัปดาห์ที่แล้วอย่างสมบูรณ์ 70% ของผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าราคาคู่นี้จะขยับลงต่อไป ส่วน 30% ที่เหลือคาดว่าราคาจะรีบาวด์ขึ้นมา (แนวรับคือ 108.35 และ 109.00) แต่สัญญาณจากออสซิลเลเตอร์มีความขัดแย้งกันในกรอบ H4 ในขณะที่กรอบ D1 มี 75% ให้สีแดง และ 25% ให้สัญญาณว่าราคาอยู่ในโซน oversold ด้านการวิเคราะห์กราฟบนทั้งสองกรอบเวลาชี้ให้เห็นว่า ในตอนแรกราคาจะขยับขึ้นไปยังแนวต้านที่ 108.35 และจากนั้นจะสามารถตีกลับจากระดับดังกล่าว และจะขยับลดลงอย่างรวดเร็ว
- คริปโตเคอเรนซี ผู้เชี่ยวชาญจำนวนหนึ่งมองว่า แนวโน้มที่ลดลงของส่วนแบ่งบิทคอยน์ในมูลค่ารวมของตลาดคริปโตเป็นปัจจัยเตือนภัยเป็นอย่างยิ่งสำหรับนักลงทุน อย่าลืมว่าดัชนีการครองตลาดของบิทคอยน์เคยอยู่ที่ 85% เมื่อช่วงต้นปี 2017 และลดลงเหลือ 45% ก่อนที่จะทรุดตัว ขณะนี้ตัวเลขดังกล่าวอยู่แค่เพียง 50% กว่า ๆ เท่านั้น ผู้ที่ไม่เห็นด้วยโต้แย้งว่า ราคาขาขึ้นของ BTC/USD ก่อนการจดทะเบียนของ Coinbase ในตลาด NASDAQ คือ ระยะสุดท้ายของการทะยานขึ้นของตลาดกระทิง และเราจำเป็นต้องเตรียมพร้อมรับมือกับ “ฤดูหนาวคริปโต” แล้วในตอนนี้ ซึ่งหากเกิดขึ้นอาจกินเวลาหลายปี ซึ่งได้รับการยืนยันจากกระแสการปิดสัญญาฟิวเจอร์สบิทคอยน์ชุดใหญ่
อย่างไรก็ตาม เรามีคนมองโลกในแง่ร้ายฉันใด ก็มีคนมองโลกในแง่ดีฉันนั้น เช่น นักวิเคราะห์ที่ Santiment เชื่อว่าเทรนด์ของบิทคอยน์ยังคงเป็นตลาดกระทิง พวกเขาได้ข้อสรุปหลังจากวิเคราะห์ความถี่ของทวิตเตอร์ที่มีข้อความ “buy the dip” (ให้ซื้อตอนย่อ) และ “bought the dip” เมื่อราคาบิทคอยน์ดิ่งลงต่ำกว่า $51,000 จำนวนโพสต์ข้อความทำสถิติสูงสุดในรอบสัปดาห์ถึง 2,108 ทวีต ทำให้นักวิเคราะห์จาก Santiment สรุปว่า การปรับฐานนี้ไม่เป็นอะไรมากไปกว่า “เนินกระแทกบนถนน” เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้งานทวิตเตอร์สองพันคนคงไม่มีผลต่อตลาดได้เท่าใดนัก สิ่งสำคัญคืออารมณ์ของนักลงทุนรายสถาบัน ผู้ไม่ใช่แฟนตัวยงของเงินคริปโตเท่าไรนัก และยังมีความเป็นไปได้สูงว่าพวกเขาจะยังคงนิ่งอยู่จนกว่าจะเกิดความชัดเจนเกี่ยวกับท่าทีของทางการ สำหรับ “เหล่าปลาวาฬ” ที่ซื้อเงินคริปโตไปเมื่อช่วงขาลงของปี 2020 อาจเริ่มเก็บกำไรที่ราคาปัจจุบัน ซึ่งราคาที่บริเวณ $45,000-50,000 นั้นถือว่ายังคงยอมรับได้สำหรับพวกเขา แต่การซื้อชุดใหญ่ในตอนนี้นั้นยังดูมีความเสี่ยงอยู่
กลุ่มนักวิเคราะห์ NordFX
หมายเหตุ: เนื้อหาดังกล่าวไม่ควรยึดถือเป็นคำแนะนำในการลงทุนหรือเป็นคำปรึกษาในการซื้อขายในตลาดการเงิน โดยเนื้อหาข้างต้นเป็นไปเพียงเพื่อจุดประสงค์ในการให้ข้อมูลเท่านั้น การซื้อขายในตลาดการเงินมีความเสี่ยงและอาจทำให้เกิดการสูญเสียเงินฝากได้
กลับ กลับ