อันดับแรกเป็นบทรีวิวเหตุการณ์ในสัปดาห์ที่แล้ว:
- EUR/USD สัปดาห์ที่แล้วของเดือนเมษายนมีสามเหตุการณ์หลักเกิดขึ้น คือ การประชุมของธนาคารเฟด การประกาศสถิติของสหรัฐฯ และ GDP ของยูโรโซน
สำหรับธนาคารเฟดนั้น ผลลัพธ์การประชุมไม่ผิดความคาดหมาย อัตราดอกเบี้ยคงที่ไม่เปลี่ยนแปลงที่ 0.25% ปริมาณโครงการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เท่าเดิมที่ $120 พันล้านดอลลาร์ต่อเดือน นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารฯ แทบจะกล่าวแบบเดียวกันกับที่เราเคยเขียนไว้ในบทวิเคราะห์ฉบับที่แล้วเกือบคำต่อคำ แม้ว่าอัตราการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะน่าประทับใจ นี่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะเริ่มพูดถึงการจำกัดมาตรการกระตุ้นทางการคลัง ณ ตอนนี้ ทุกอย่างยังคงดูเปราะบาง นายพาวเวลล์กล่าวว่า การเร่งตัวของภาวะเงินเฟ้อเป็นแค่ปัจจัยชั่วคราวเท่านั้น และจำนวนผู้ที่ได้รับว่าจ้างงานคงที่ต่ำกว่าตัวเลขในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2020 อยู่ 8.5 ล้านคน
อีกด้านหนึ่ง อัตราการเติบโตของ GDP สหรัฐฯ ในไตรมาสแรกสูงกว่าการคาดการณ์และอยู่ที่ 6.4% (จาก 4.3% ในไตรมาสก่อนหน้า) นับว่าเป็นอัตราที่ดีที่สุดนับตั้งแต่ปี 1984 เศรษฐกิจประเทศจำเป็นต้องฟื้นขึ้นมาเพียง 1% เพื่อขยับถึงระดับสูงสุดก่อนช่วงวิกฤติ และมีแนวโน้มสูงว่าจะฟื้นตัวได้อย่างสมบูรณ์ก่อนต้นเดือนกรกฎาคมสำหรับดัชนีนี้
สถิติที่เข้มแข็งนี้ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ สูงขึ้น แต่ก็ไม่ช่วยเงินดอลลาร์มากจนกระทั่งปลายสัปดาห์ เพราะพันธบัตรของฝั่งยูโรก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน อัตราหนี้ 10 ปี ของเยอรมนีทำระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2020
ช่องว่างระหว่างสหรัฐฯ และอียูในเรื่องความเร็วในการฟื้นตัวกลับสู่สภาวะก่อนวิกฤติอาจแคบลงในเร็ว ๆ นี้ นางคริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรปกล่าวไว้เมื่อวันที่ 28 เมษายนว่า “เริ่มเห็นแสงปลายอุโมงค์หลังจากอัตราการฉีดวัคซีนในอียูเร่งความเร็วขึ้น” และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจก็คาดว่าจะเร่งตัวในครึ่งหลังของปี
ผลลัพธ์จากปัจจัยต่าง ๆ ข้างต้นทำให้การต่อสู้ระหว่างฝั่งกระทิงและหมีสำหรับคู่ EUR/USD มีความสำเร็จแตกต่างกันไปตลอดสัปดาห์ ความคาดหวังต่อเงินเฟ้อส่งผลเป็นแรงกดดันต่อดอลลาร์ ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ยังคงอัดฉีดเศรษฐกิจด้วยเม็ดเงินมหาศาล หลังจากมาตรการ $1.9 ล้านล้านดอลลาร์ที่อนุมัติผ่านสภาคองเกรสแล้ว ยังมีมาตรการการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการบริหารจัดการอีก $2.25 ล้านล้านดอลลาร์ที่รอต่อคิวอยู่ ด้วยเหตุนี้ ดอลลาร์จึงอ่อนค่าลงและคู่ EUR/USD ทำระดับสูงสุดในรอบสองเดือนเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 29 เมษายน ที่ 1.2150
อย่างไรก็ตาม เนื่องด้วยสถิติมหภาคที่ไม่น่าประทับใจขนาดนั้นจากฝั่งอียู ค่าเงินยูโรจึงเสียหลักเมื่อวันศุกร์ แรงกระตุ้นเสริมสำหรับเงินดอลลาร์ยังมาจากการประมูลพันธบัตรรัฐบาลเมื่อช่วงเย็นวันศุกรที่ 30 เมษายน โดยกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ขายตราสารหนี้ได้เป็นมูลค่ากว่า $130.6 พันล้านดอลลาร์ สภาพคล่องที่ถูกถอนออกจากระบบการเงินจึงเกิดเป็นแรงหนุนเพิ่มเติมสำหรับดอลลาร์ ราคาคู่นี้จึงปิดตลาดรอบห้าวันทำการต่ำกว่าในช่วงเริ่มต้นสัปดาห์อยู่มาก โดยปิดที่ 1.2020 - GBP/USD ในบทวิเคราะห์ของสัปดาห์ที่แล้ว ผู้เชี่ยวชาญ 45% โหวตว่าคู่นี้จะขยับขึ้น 35% โหวตทิศใต้ และอีก 20% โหวตทิศทางด้านข้าง
และก็เป็นไปตามความเห็นของคนส่วนใหญ่ (45%) เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นในช่วงสี่วันแรกของสัปดาห์ และนักลงทุนเริ่มหวังว่า GBP/USD จะตัดผ่านระดับ 1.4000 อีกครั้งและกลับสู่การเติบโตอย่างมั่นคงอย่างที่เคยเกิดขึ้นเมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคม 2020 จนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2021 อย่างไรก็ตาม หลังจากราคาขึ้นไปทำระดับ 1.3975 ก็หยุดชะงัก แรงกดดันตลาดหมีเริ่มเข้มข้นขึ้น และราคาทรุดลงมาในช่วงในปลายสัปดาห์ตามการวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญ 35% แรงกดดันได้จากงานประมูลของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ทำให้ราคาตกลงมายังระดับ 1.3800 ตามมาด้วยการเด้งขึ้นเล็กน้อยและปิดที่ 1.3810 ซึ่งถือว่าเป็นจุด Pivot Point ในช่วง 9 สัปดาห์ที่ผ่านมา ดังนั้น ผู้เชี่ยวชาญ 20% ที่โหวตให้กับเทรนด์ด้านข้างของคู่นี้ก็พึงพอใจกับผลลัพธ์เช่นกัน - USD/JPY เราเคยกล่าวไปแล้วว่าผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นตัวชี้วัดสำคัญสำหรับคู่นี้ ซึ่งอัตราผลตอบแทนดังกล่าวเติบโตขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเทียบกับเงินเยนทำให้ USD/JPY ขยับขึ้นไปเหนือระดับ 109.00 และขึ้นมาทั้งหมด 145 จุด ก่อนปิดตลาดที่ 109.30
- คริปโตเคอเรนซี ในบทวิเคราะห์เจ็ดวันก่อนหน้า เราเขียนไว้ว่าภารกิจหลักของฝั่งตลาดกระทิงในสัปดาห์ที่แล้วคือให้ BTC/USD ยืนเหนือบริเวณ $50,000 และพวกเขาก็ทำสำเร็จแม้ว่าจะค่อนข้างยากลำบาก ทั้งนี้ ราคาได้ดิ่งลงมาที่ $47,000 เมื่อวันที่ 25 เมษายน แต่ก็ตีกลับขึ้นมายืนในโซน $50,000-55,000 ได้สำเร็จ นักลงทุนและนักเก็งกำไรเริ่มกักเก็บเหรียญอย่างคึกคักที่ระดับต่ำสุดเพื่อเตรียมทำกำไร และมูลค่ารวมของตลาดคริปโตอยู่ที่ระดับ $1.750 ล้านล้านดอลลาร์ เมื่อวันที่ 26 เมษายน และขึ้นมาที่ $2.110 ล้านล้านดอลลาร์ในวันสุดท้ายของเดือนเมษายน
แม้ว่าจะไม่มีอะไรมาก แต่ข่าวเบื้องหลังก็ช่วยฝั่งตลาดกระทิง ข่าวจาก CoinDesk รายงานว่า JPMorgan บริษัทการเงินยักษ์ใหญ่ของอเมริกาในที่สุดได้ตัดสินใจเปิดกองทุนที่เน้น BTC โดยเฉพาะ โดยแหล่งข่าวชี้ว่ากองทุนบิทคอยน์นี้จะเริ่มเปิดทำการในฤดูร้อนปีนี้
การเปิดตัวของ Bitcoin-ETF อาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสนับสนุนได้ อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ (SEC) ของสหรัฐฯ ได้เลื่อนการตัดสินใจเรื่องคำขออนุมัติของ VanEck ออกไปเดือนมิถุนายน ในขณะนี้ มีการยื่นคำขอเปิดตัวกองทุน ETFs แล้วกว่า 10 คำขอ และกลต. ชี้ว่าพวกเขาต้องอาศัยเวลามากขึ้นในการศึกษารายละเอียดเรื่องนี้
ด้วยเหตุนี้ ราคาบิทคอยน์จึงอยู่ที่บริเวณ $50,000 แต่ก็ไม่สามารถขยับขึ้นเหนือเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่รอบ 50 วัน ได้ ซึ่งเป็นเส้นแนวรับสำหรับคู่ BTC/USD มาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2020 หลังจากราคาขยับเข้าถึงเส้นนี้ ซึ่งตอนนี้ได้กลายเป็นแนวต้าน กิจกรรมของฝั่งผู้ซื้อก็ลดลงอย่างรวดเร็ว นี่ถือว่าเป็นสัญญาณที่น่าตกใจสำหรับนักลงทุน ตลาดกำลังอยู่ในช่วงครุ่นคิดซึ่งได้รับการยืนยันโดยดัชนี Crypto Fear & Greed Index ซึ่งตั้งอยู่ในโซนตรงกลางที่ระดับ 51 จุด
เราได้กล่าวไปแล้วหลายครั้งว่า ในสถานการณ์แห่งความไม่แน่นอนเช่นนี้ นักลงทุนหลายคนเริ่มหันเหความสนใจไปหาอัลท์คอยน์ บิทคอยน์เริ่มเสียหลัก หากส่วนแบ่งของมูลค่ารวมในตลาดเคยอยู่ที่ 72.65% เมื่อวันที่ 2 มกราคม และ 50.70 เมื่อวันที่ 23 เมษายน ในเวลานี้เริ่มลดลงมาภายในปลายเดือน และถึงระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปี 2018 ที่ 47.87%
ในอีกด้านหนึ่งนั้น ความน่าดึงดูดของ Ethereum เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง CoinMerics คำนวณว่าแฮชเรตในเครือข่าย Ethereum เติบโตขึ้น 89% ในช่วง 100 วันที่ผ่านมา และคู่ ETH/USD แตกต่างจากบิทคอยน์ตรงที่คู่นี้ยังคงทำระดับสูงสุดใหม่อย่างต่อเนื่องซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยขึ้นถึงระดับ $2,790 เมื่อวันที่ 29 เมษายน
สำหรับบทวิเคราะห์ของสัปดาห์นี้ เราได้สรุปความเห็นของบรรดานักวิเคราะห์มากมาย รวมถึงคำคาดการณ์ที่วิเคราะห์จากพื้นฐานทางเทคนิคและสถิติกราฟต่างๆ โดยเราสามารถสรุปผลวิเคราะห์ได้ดังต่อไปนี้:
- EUR/USD การอ่อนค่าลงของดอลลาร์ ซึ่งกลายเป็นสินทรัพย์หลบภัยแทบจะหลัก ๆ ในช่วงภาวะการแพร่ระบาดนั้บได้รับแรงสนับสนุนจากการเติบโตของความคาดหมายในเงินเฟ้อ ซึ่งสูงเกิน 2.4% และทำระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2013 การอีดฉีดทางการเงินครั้งใหญ่น่าจะทำให้ GDP สหรัฐฯ ขยับขึ้นทำสถิติสูงสุด ซึ่งส่งผลต่อระดับความเสี่ยงและเพิ่มความสนใจของนักลงทุนต่อตลาดหุ้น อ้างอิงจากสถิติ Dow Jones Market Data ดัชนี S&P500 ขยับขึ้นมาแล้ว 11% ในช่วง 100 วันแรกของประธานาธิบดี โจ ไบเดน นี่คือผลลัพธ์ที่ดีที่สุดนับตั้งแต่ประธานาธิบดีแฟรงก์ลิน รูสเวลต์ ในปี 1933 และโดยเฉลี่ยแล้ว ตั้งแต่ปี 1929 ดัชนีตลาดหุ้นเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ 3.2%
ในอีกทางหนึ่ง การเป็นประเทศเศรษฐกิจมีอิทธิพลมากที่สุดในโลกของสหรัฐฯ ก็จะช่วยพยุงเศรษฐกิจประเทศอื่น ๆ ขึ้นไปด้วย จึงช่วยปรับสมดุลช่องว่างในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งดอลลาร์น่าจะได้รับแรงสนับสนุนจากอัตราผลตอบแทนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้น
ในตอนนี้ หากให้บทวิเคราะห์สำหรับสัปดาห์ที่จะถึงนี้ ผู้เชี่ยวชาญ 60% คาดว่า EUR/USD จะพยายามขยับขึ้นอีกครั้ง ระดับแนวต้านใกล้ที่สุด คือ 1.2055 และ 1.2100 ส่วนเป้าหมายคือการขยับถึงระดับสูงสุดของวันที่ 29 เมษายน ที่ 1.2150 ส่วนออสซิลเลเตอร์ 70% และอินดิเคเตอร์เทรนด์ 75% บนกรอบ D1 เห็นด้วยกับบทวิเคราะห์นี้ ในขณะที่ออสซิลเลเตอร์ 30% ที่เหลือให้สัญญาณเป็นสีเทากลาง
เมื่อปรับมาเป็นการวิเคราะห์จากรายสัปดาห์มาเป็นรายเดือน ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง ในที่นี้ 75% กำลังรอให้ดอลลาร์แข็งค่า และให้ราคาคู่นี้ปรับตัวลงมายังโซน 1.1900 และลงต่ำมาอีก 100 จุด เป้าหมายของตลาดหมีคือการทำสถิติต่ำสุดของวันที่ 31 มีนาคม ที่ 1.1704
ด้านการวิเคราะห์กราฟบนกรอบ D1 ชี้ถึงการเคลื่อนที่ของคู่นี้ในกรอบ 1.1945-1.2150 ในขณะเดียวกัน ในส่วนการวิเคราะห์บนกรอบ H4 ชี้ว่า ในตอนแรกราคาจะลดลงมายังกรอบด้านล่างของช่องนี้ จากนั้นจะรีบาวด์ขึ้นไป
สำหรับเหตุการณ์ในสัปดาห์นี้ เราควรให้ความสนใจกับการประกาศสถิติกิจกรรมทางธุรกิจของ ISM ในภาคการผลิต (3 พฤษภาคม) และภาคเอกชน (5 พฤษภาคม) ในสหรัฐฯ นอกจากนี้ เราจะยังรอฟังสถิติการจ้างงานของสหรัฐฯ รายงาน ADP ที่จะประกาศในวันพุธที่ 5 พฤษภาคม และจำนวนตำแหน่งงานที่สร้างขึ้นนอกภาคการเกษตร (NFP) ในวันศุกร์ที่ 7 พฤษภาคม
ตลาดผู้บริโภคยุโรปน่าจะสร้างความตื่นเต้นให้กับนักลงทุนในวันที่ 3 และ 6 พฤษภาคม ตัวเลขคาดการณ์ยอดขายปลีกลดลงในเยอรมนีถูกปรับจาก -9.0% เหลือ -3.15% ในขณะที่การคาดการณ์ชี้ว่ายอดขายปลีกในยูโรโซนโดยรวมเพิ่มขึ้นจาก -2.9% เป็น +9.4% - GBP/USD เหตุการณ์สำคัญสำหรับค่าเงินปอนด์ คือ การประชุมของธนาคารแห่งชาติอังกฤษในวันพฤหัสบดีที่ 6 พฤษภาคม ซึ่งจะอุทิศให้กับเรื่องนโยบายทางการเงินโดยเฉพาะ มีแนวโน้มว่าอัตราดอกเบี้ยจะคงที่ไม่เปลี่ยนแปลงที่ 0.1% ในส่วนมาตรการ QE ปริมาณการซื้อพันธบัตรรัฐบาลอาจลดลงจาก £895 เหลือ 875 พันล้านปอนด์ หากสิ่งนี้เกิดขึ้นจริง ตลาดจะได้รับสัญญาณความตั้งใจของธนาคารฯ ที่จะเริ่มจำกัดนโยบาย
ธนาคารกลางฯ อาจปรับตัวเลขคาดการณ์เกี่ยวกับอัตราการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งมีเหตุผลรองรับหลายประการ กล่าวคือ อัตราการว่างงานในสหราชอาณาจักรลดลง 0.1% ในไตรมาสแรก จาก 5.0% เหลือ 4.9% มีประชาชนเกือบ 30 ล้านคน ที่ได้รับวัคซีนแล้วในประเทศ ซึ่งกว่า 2.5 ล้านคนได้รับวัคซีน COVID-19 แล้วสองโดส มาตรการกักตัวบางส่วนถูกยกเลิก และเริ่มมีปัจจัยในทางบวกต่อเงินปอนด์ ซึ่งอาจผลักดันให้ GBP/USD ขยับขึ้นไปได้อีกครั้ง ปัจจัยนี้ได้รับการยืนยันโดยการวิเคราะห์กราฟทั้งบนกรอบ H4 และ D1
สำหรับการวิเคราะห์อินดิเคเตอร์ทางเทคนิคนั้นค่อนข้างจะขัดแย้งกันกับ D1 เนื่องด้วยการเคลื่อนที่ออกด้านข้างในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ในกรอบ H4 ส่วนใหญ่ให้ภาพสีแดง แม้ว่าออสซิลเลเตอร์ 25% จะให้สัญญาณว่าคู่นี้อยู่ในโซน oversold
ในส่วนของผู้เชี่ยวชาญ 60% คาดว่าราคาจะขึ้นไปอย่างน้อยถึงระดับ 1.4000 ในกรณีที่สามารถตัดผ่านระดับดังกล่าวได้สำเร็จ เป้าหมายถัดไป คือ 1.4240 โดยมีแนวต้านที่ใกล้ที่สุด ได้แก่ 1.3860, 1.3925 และ 1.3975.
ส่วนนักวิเคราะห์ที่เหลือ 40% เห็นด้วยกับตลาดหมี แนวรับหลักอยู่ในโซน 1.3670-1.3700 จากนั้นคือ 1.3600 - USD/JPY ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญเป็นไปตามที่เคยแสดงออกไว้เมื่อสัปดาห์ที่แล้วอย่างสมบูรณ์ 70% เชื่อว่า ราคาจะขยับลงทิศใต้อีกครั้ง โดยต่ำกว่าระดับ 109.00 แนวรับถัดไปคือ 108.40 และ 107.45 ในส่วนนักวิเคราะห์ 30% ที่เหลือคาดการณ์ว่าราคาจะขยับขึ้นต่อไป แนวรับอยู่ที่ 110.00 และมีเป้าหมายคือการขยับขึ้นไปอีก 100 จุดที่ 111.00
ด้านอินดิเคเตอร์ มีออสซิลเลเตอร์ 75% และอินดิเคเตอร์เทรนด์ 100% บนกรอบ H4 และตามลำดับ 70% และ 95% บนกรอบ D1 ให้สัญญาณเป็นสีเขียว ออสซิลเลเตอร์ที่เหลือให้สัญญาณว่าราคาอยู่ในโซน overbought ส่วนการวิเคราะห์กราฟบนทั้งสองกรอบเวลาชี้ว่า ราคาคู่นี้จะตกลงมายังระดับ 107.45 - คริปโตเคอเรนซี อย่างที่กล่าวไว้ในส่วนแรกของบทวิเคราะห์นี้ คู่ BTC/USD ไม่สามารถยืนเหนือเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 50 วัน ได้ในช่วงวันสุดท้ายของเดือนเมษายน และนี่ดูเหมือนจะเป็นสัญญาณเตือนภัยสำหรับนักลงทุน โดยเฉพาะการตกลงมาต่ำกว่าเส้นดังกล่าวนี้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคมเมื่อปีที่แล้ว เมื่อราคาเพิ่งตัดผ่านระดับ $10,000
ดัชนี Bitcoin Dominance Index ก็ลดลงมาต่ำกว่า 50% ซึ่งเป็นที่น่าดึงดูดสำหรับนักลงทุนรายสถาบันที่คอยฉุดตลาดคริปโตขึ้นไปราวกับขบวนรถ
เมื่อพิจารณาปัจจัยเหล่านี้ประกอบกัน นักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่าสถานการณ์นี้มีความคล้ายคลึงกับช่วงเดือนมกราคมปี 2018 เมื่อตลาดค่อย ๆ เข้าสู่ช่วงฤดูหนาวคริปโตที่ยืดเยื้อ
แต่ในหมู่ผู้มองโลกในแง่ร้าย เราก็ได้ยินจากฝั่งผู้ที่มองโลกในแง่ดีเช่นกัน PlanB ผู้คิดค้นโมเดล stock-to-flow และนักวิเคราะห์คริปโตชื่อดังเชื่อว่า แนวโน้มขาลงของบิทคอยน์ในเวลานี้เป็นเรื่องค่อนข้างปกติและคาดการณ์ได้ และยิ่งเป็นการยืนยันแนวโน้มกระทิง นักวิเคราะห์รายนี้ยังเน้นด้วยว่า เราไม่ควรคาดหวังการเติบโตอย่างต่อเนื่องในตลาด บางครั้งราคาก็ควรย่อปรับฐาน “ไม่มีอะไรเติบโตได้โดยไม่มีการย่อตัว บิทคอยน์เติบโตมาตลอด 6 เดือนติดต่อกัน นี่คือสิ่งที่คล้ายกันกับการปรับฐานตอนกลางวัฎจักรที่เราเคยเห็นเมื่อปี 2013 และ 2017”
PlanB ยังกล่าวด้วยว่า เขายัง “สงบใจในระดับหนึ่ง” ตลาดไม่คุกรุ่นเกินไป และช่วง “เย็น ๆ” กำลังรออยู่ นอกจากนี้ อัตราบิทคอยน์ยังถือว่าต่ำกว่าความคาดหมายของโมเดล S2F ซึ่งหมายความว่า ราคาอาจเติบโตขึ้นต่อเนื่อง
ด้าน นายแดน มอร์เฮด ซีอีโอของบริษัท Pantera Capital ก็มีความหวังเช่นกัน เขามองว่า BTC มีชะตาที่จะเติบโตขึ้นต่อไป เพราะมีนักลงทุนมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่เริ่มเข้าใจว่า การเก็บเงินคริปโตเคอเรนซีนั้นมีประสิทธิภาพดีกว่าสินทรัพย์ดั้งเดิมทั่วไป
จากการคำนวณโดยประธาน Pantera Capital มูลค่าของ BTC เพิ่มขึ้น $200 ในทุกครั้งที่ผู้ใช้งาน 1 ล้านคนลงทะเบียนบนเครือข่ายนี้ หากอัตราดังกล่าวยังคงอยู่ ราคาบิทคอยน์ในปี 2022 จะขยับถึงหรือเกินระดับ $200.000 ในที่สุด
ตามความคิดของ นายแดน มอร์เฮด การแพร่กระจายของบิทคอยน์เป็นผลลัพธ์ของจำนวนผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนด้วยส่วนหนึ่งเป็นสำคัญ ตอนนี้มีคนบนโลกแล้วกว่า 3.5 พันล้านคนที่เป็นเจ้าของสมาร์ทโฟน ทำให้บิทคอยน์เข้าถึงได้ทุกที่และทุกเวลา
กลุ่มนักวิเคราะห์ NordFX
หมายเหตุ: เนื้อหาดังกล่าวไม่ควรยึดถือเป็นคำแนะนำในการลงทุนหรือเป็นคำปรึกษาในการซื้อขายในตลาดการเงิน โดยเนื้อหาข้างต้นเป็นไปเพียงเพื่อจุดประสงค์ในการให้ข้อมูลเท่านั้น การซื้อขายในตลาดการเงินมีความเสี่ยงและอาจทำให้เกิดการสูญเสียเงินฝากได้
กลับ กลับ