บทวิเคราะห์ฟอเร็กซ์และคริปโตเคอเรนซีประจำวันที่ 28 มิถุนายน - 2 กรกฎาคม 2021

อันดับแรกเป็นบทรีวิวเหตุการณ์ในสัปดาห์ที่แล้ว

  • EUR/USD สถิติจากตลาดแรงงานและเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งประกาศเมื่อสัปดาห์ที่แล้วไม่เป็นที่น่าประทับใจมากเท่าไรนัก อัตราการเติบโต GDP ใน Q1 (6.4%) เป็นไปตามตัวเลขคาดการณ์ ซึ่งไม่ดีกว่าและก็ไม่แย่กว่าการคาดการณ์ของตลาด จากนั้นก็มีสถิติน่าผิดหวังเล็กน้อย ยอดขอใช้สวัสดิการว่างงานเบื้องต้นอยู่ที่ 411K จากตัวเลขคาดการณ์คือ 380K ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทนของเดือนพฤษภาคมก็ลดลงเหลือ 2.3% ต่ำจากที่คาดการณ์คือ 2.7% คำสั่งซื้อสินค้าทุนยังอยู่ในโซนติดลบที่ -0.1% และทั้งหมดนี้เกิดขึ้นท่ามกลางอัตราการเติบโตทางธุรกิจในเยอรมนีตามดัชนี Markit (60.4 ในเดือนมิถุนายน เทียบกับ 56.2 ในเดือนพฤษภาคม) และในยูโรโซนโดยรวม (59.2 เทียบกับ 57.1)
    แม้ว่าเศรษฐกิจอเมริกาจะชะลอตัว ความต้องการความเสี่ยงของผู้ที่สมัครใจจะลงทุนก็ไม่ลดลง แต่ในทางกลับกันกลับเพิ่มขึ้น ความกระหายในความเสี่ยงนี้ได้รับแรงกระตุ้นมาจากแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประธานาธิบดีไบเดนที่ผ่านการเห็นชอบของวุฒิสภา แผนนี้รวมถึงการก่อสร้างถนนและสะพาน ท่าเรือแห่งใหม่ การลงทุนในสาธารณูปโภคน้ำ พลังงานสะอาด และอินเทอร์เน็ต เงินลงทุนโดยรวมคิดเป็นเงิน $1.2 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งเงินอัดฉีดจำนวนนี้จะช่วยสร้างตำแหน่งงานใหม่และเพิ่มคะแนนให้กับสหรัฐฯ ในการเผชิญหน้าทางเศรษฐกิจกับจีน
    ทัศนคติที่ดีขึ้นของนักลงทุนทำให้ดัชนี Dow Jones ขึ้นมาแล้ว 1,400 จุดในรอบสัปดาห์ ด้านดัชนี S&P500 และ Nasdaq Composite ยืนที่ระดับสูงสุดอีกครั้ง ส่วนดัชนี VIX Fear and Volatility Index ปรับลดลงมายังระดับต่ำสุดในรอบหนึ่งปี
    เงินที่ไหลเข้าตลาดหุ้นทำให้ดอลลาร์อ่อนค่าลง ดัชนี DXY ลดลงจาก 92.32 เหลือ 91.80 ในขณะที่ยูโรฟื้นขึ้นมา 110 จุดเทียบกับดอลลาร์ที่ระดับราคาสูงสุด โดยเริ่มต้นสัปดาห์ที่ 1.1865 และคู่ EUR/USD ขยับถึง 1.1975 เมื่อวันศุกร์ที่ 25 มิถุนายน หลังจากนั้นแรงกระทิงก็ล้าลง ก่อนจะตามมาด้วยการสู้กันอีกครั้ง และราคาปิดตลาดที่ 1.1940
  • GBP/USD การประชุมของธนาคารแห่งชาติอังกฤษจัดขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 24 มิถุนายน โดยไม่มีใครคาดว่าจะมีมาตรการเฉพาะเจาะจงที่น่าประหลาดใจใด ๆ เกิดขึ้นจากการประชุมในครั้งนี้ เป็นที่ชัดเจนสำหรับทุกคนว่า ธนาคารแห่งชาติอังกฤษจะไม่มีท่าทีสุดโต่งใด ๆ และจะปล่อยให้หลักเกณฑ์ด้านนโยบายต่าง ๆ ไม่เปลี่ยนแปลง และสิ่งนี้ก็เกิดขึ้นจริง: โครงการซื้อคืนสินทรัพย์คงที่ที่ £895 พันล้านปอนด์ และอัตราดอกเบี้ยที่ระดับเดิมคือ 0.1%
    อย่างไรก็ตาม นักลงทุนหวังว่าสถิติตลาดแรงงานสหราชอาณาจักรที่เป็นบวกจะกระตุ้นให้ผู้บริหารธนาคารฯ เริ่มหารือเรื่องการจำกัดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในเร็ว ๆ นี้ เช่นเดียวกันกับที่ฝั่งสหรัฐฯ ตั้งใจจะดำเนินการ
    ท่ามกลางความคาดหวังเหล่านี้ นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ (55%) จึงทำนายว่า GBP/USD จะขยับไปทางทิศเหนือถึงระดับสำคัญที่ 1.4000 อย่างไรก็ดี ระดับทัศนคติในทางบวกลดลง กระแสแรงกดดันแรกเกิดขึ้นเมื่อวันพุธที่ 23 วันพุธหลังมีการประกาศดัชนี Markit PMI ของเดือนมิถุนายนสำหรับภาคบริการของสหราชอาณาจักร ซึ่งปรากฏว่าต่ำกว่าเดือนพฤษภาคม อยู่ที่ 61.7 เทียบกับ 62.9 นอกจากนี้ ธนาคารแห่งชาติอังกฤษยังไม่เพียงแค่คงหลักเกณฑ์มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ต่าง ๆ ไว้เท่าเดิมเท่านั้น แต่ยังไม่ให้สัญญาณใด ๆ ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ดังกล่าวในอนาคตอันใกล้อีกด้วย
    เมื่อเต็มไปด้วยกระแสน้ำแห่งความนิ่งเฉยเหล่านี้ GBP/USD จึงขยับลงไปด้านล่างของกรอบที่ 1.3870 และแทบจะผลักขึ้นมาต่อไม่ไหว ทำให้ราคาปิดตลาดเพียง 20 จุดขึ้นมาที่ระดับ 1.3885
  • USD/JPY เมื่อทำการวิเคราะห์ในสัปดาห์ที่แล้ว ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ (65%) โหวตว่าดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้นต่อไป และราคาคู่นี้จะขยับขึ้นไปยังเหนือระดับ 111.00 ซึ่งการคาดการณ์นี้สนับสนุนโดยการวิเคราะห์กราฟบน H4 รวมถึงออสซิลเลเตอร์และอินดิเคเตอร์เทรนด์ 95% บน D1 พวกเขาทำนายได้ถูกต้อง แม้ว่าดอลลาร์จะอ่อนค่าลงเทียบกับยูโรและเงินปอนด์ในช่วงครึ่งแรกของสัปดาห์ แต่ก็ยังแข็งค่าเทียบกับเงินเยนญี่ปุ่น ทำให้ขึ้นไปที่ระดับ 111.10 เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน จริงอยู่ที่เงินเยนญี่ปุ่นไม่สามารถยืนเหนือราคาดังกล่าวได้สำเร็จ ทำให้ปิดตลาดอยู่ที่ 110.75
  • คริปโตเคอเรนซี แม้ว่าสกุลเงินเหล่านี้จะเสมือนจริง แต่ข่าวต่าง ๆ ที่รายงานนั้นค่อนข้างจะจริง เราจะมาเริ่มต้นกันด้วยภาพรวมพอสังเขป
    นักพัฒนาระบบแอนตีไวรัสผู้โด่งดั่งภายใต้ชื่อเดียวกันคือ “crypto-baron” หรือ นายจอห์น แม็คกาฟี ถูกพบเป็นศพเสียชีวิตในคุกที่เมืองบาร์เซโลนา สาเหตุการตายตามการรายงานของ Forbes โดยอ้างจากกระทรวงยุติธรรมสเปน เชื่อว่าเป็นการฆ่าตัวตายหลังจากศาลสเปนตัดสินที่จะส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนให้นายแม็คกาฟีกลับไปยังสหรัฐฯ โดยที่นั่นเขาเป็นผู้ต้องหาในคดีฟอกเงิน หลีกเลี่ยงภาษี และมีส่วนร่วมในกลโกงอัลท์คอยน์ กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ อ้างว่า นายแม็คกาฟีและหุ้นส่วนของเขาทำเงินมากกว่า $2 ล้านดอลลาร์จากคริปโตเคอเรนซี
    อย่างไรก็ตาม เงินสองล้านนี้ดูไม่สมเหตุสมผลเมื่อเทียบกับเงิน $3.6 พันล้านดอลลาร์ที่ผู้ก่อตั้ง Africypt คือพี่น้องสองคน ได้แก่ นายราอีส์ และอาเมียร์ คาจี จากแอฟริกาใต้ ได้ขโมยไปจากนักลงทุน และหากนายแม็คกาฟีอายุ 75 ปี แล้ว เหล่ามิจฉาชีพสองคนนี้เพิ่งจะอายุ 17 และ 20 ปีเท่านั้น
    ตามรายงานของ Bloomberg พี่น้องตระกูลคาจีน่าจะฉ้อโกงเป็นมูลค่าสูงสุดในประวัติศาสตร์ของตลาดคริปโต ซึ่งขณะนี้พบว่าได้ดูดเงินในกระเป๋าของลูกค้าไปแล้วกว่า $162 ล้านจากโครงการ QuadrigACX ของแคนาดา
    จริงอยู่ที่เงินจำนวนเหล่านี้เป็นเงินจำนวนมหาศาล แต่การขาดทุนหลักสำหรับนักลงทุนไม่ได้มาจากการกระทำของเหล่ามิจฉาชีพ แต่เป็นเพราะหน่วยงานทางการทั้งหลาย มูลค่ารวมในตลาดคริปโตลดลงเกือบ $400 พันล้านดอลลาร์ในเวลาเพียง 10 วัน ตั้งแต่วันที่ 15-25 มิถุนายน จาก $1734 เหลือ $1336 พันล้านดอลลาร์ และยังลดลงถึงระดับ $1164 พันล้านดอลลาร์ที่ระดับต่ำสุด ซึ่งเป็นการกลับไปสู่ระดับของเดือนกุมภาพันธ์ปี 2021 นอกจากนี้ สัญญาฟิวเจอร์สมูลค่ากว่า $900 ถูกล้างลงในวันเดียวคือวันที่ 23 มิถุนายน
    นอกจากแนวโน้มขาลงในตลาดคริปโตแล้ว แฮชเรตของเครือข่าย BTC ก็ลดลงด้วยเช่นกัน แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่านี่อาจเป็นเพราะการย้ายฐานการขุดเหรียญจากที่จีนไปยังประเทศอื่น ๆ
    ภูมิหลังข่าวลบทำให้ราคาบิทคอยน์ลงมาต่ำกว่าระดับอันตรายทางจิตวิทยาที่ $30,000 ทำให้ BTC/USD กลับสู่ระดับที่เคยอยู่เมื่อห้าเดือนก่อนหน้าเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2021 โดยลงมาถึง $29,240 (ขาดทุนไป 55% จากวันที่ 14 เมษายน)
    ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่า ราคาอาจตกลงมายังระดับ $25,000 แต่เหล่าผู้ซื้อเข้ามาช่วยไว้ทัน ซึ่งเป็นบรรดาผู้ที่รอช้อนซื้อที่ราคาส่วนลดครั้งใหญ่ ทำให้ราคาเด้งขึ้นมาเล็กน้อย และเมื่อช่วงเย็นวันศุกร์ที่ 25 มิถุนายน BTC ซื้อขายอยู่ที่บริเวณ $32,000-33,000 ต่อเหรียญ
    อาจดูเหมือนว่าในสถานการณ์เช่นนี้ ดัชนี Crypto Fear & Greed Index จะตกลงอยู่ในช่วงโซนความกลัวอย่างยิ่ง หรือลงมาเป็นศูนย์ แต่ดัชนีกลับลดลงมาเล็กน้อยที่เพียง 22 จุด และกลับสู่ระดับ 25 เหมือนในสัปดาห์ที่แล้วอย่างรวดเร็ว ซึ่งผู้เชี่ยวชาญบางคนมองว่า การที่บิทคอยน์สามารถยืนเหนือระดับ $30,000 ช่วยพิสูจน์ความพิเศษของมัน และหากปราศจากสิ่งนี้ อัลท์คอยน์ทั้งหลายจะอาจดิ่งลงเหว

 

สำหรับบทวิเคราะห์ของสัปดาห์นี้ เราได้สรุปความเห็นของบรรดานักวิเคราะห์มากมาย รวมถึงคำคาดการณ์ที่วิเคราะห์จากพื้นฐานทางเทคนิคและสถิติกราฟต่างๆ โดยเราสามารถสรุปผลวิเคราะห์ได้ดังต่อไปนี้:

  • EUR/USD หลังจากการประชุมเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน การคาดการณ์ท่าทีนโยบายทางการเงินแบบเข้มงวดมากขึ้นของผู้บริหารธนาคารเฟดสหรัฐฯ ยิ่งเพิ่มความต้องการของตลาดต่อเงินดอลลาร์ นักลงทุนได้รับแรงบันดาลใจจากท่าทีนี้และรีบซื้อดอลลาร์แม้ว่าสถิติมหภาคของสหรัฐฯ จะอ่อนแอก็ตาม
    ด้วยเหตุนี้ ราคาได้เริ่มต้นที่ระดับ 1.2125 เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน และดิ่งลงมา 280 จุด ก่อนที่จะปิดตลาดห้าวันทำการที่ 1.1845 เมื่อวันศุกร์ที่ 18 มิถุนายน และกลับตัวอีกครั้งก่อนที่จะขยับขึ้นเมื่อวันจันทร์ที่ 21 มิถุนายน
    เกิดอะไรขึ้น? นักลงทุนเปลี่ยนใจแล้วใช่หรือไม่? หรือนี่เป็นเพียงการปรับฐานสู่ขาลงเท่านั้น? ในทางหนึ่ง ผู้แทนธนาคารเฟดสหรัฐฯ ยังคงยืนยันว่าตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังอยู่ห่างไกลจากระดับก่อนวิกฤติ ดังนั้น ณ ตอนนี้จึงยังจำเป็นที่จะต้องรักษาเงื่อนไขทางการเงินที่ผ่อนปรนต่อไป คำแถลงดังกล่าวประกอบกับความกระหายต่อความเสี่ยงรอบโลก และสถิติทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นจากยูโรโซนน่าจะช่วยดันคู่ EUR/USD ให้สูงขึ้น
    แต่กลับกันนั้น นายเจอโรม พาวเวลล์ และเพื่อนร่วมงานของเขาตระหนักถึงความจำเป็นในการพูดคุยเรื่องการเริ่มผ่อนผันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (QE) และยังมีสัญญาณถึงความตั้งใจที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าการคาดการณ์ ในทางตรงกันข้าม ฝั่งธนาคารกลางยุโรปประกาศว่าจะไม่รีบเร่งลดปริมาณมาตรการ QE และอัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันของยูโรโซนไม่ใช่สาเหตุที่น่ากังวล และปัจจัยเหล่านี้จึงไม่เป็นผลดีต่อเงินดอลลาร์เท่าไรนัก
    ดัชนีเศรษฐกิจมหภาคที่ประกาศในสัปดาห์หน้าอาจเปลี่ยนทิศทางหัวเรือได้ สถิติตลาดผู้บริโภคของเยอรมนี ซึ่งจะประกาศในวันอังคารที่ 29 มิถุนายน และพฤหัสบดีที่ 1 กรกฎาคม และดัชนีราคาผู้บริโภคเบื้องต้นจะมีการประกาศในวันพุธ ซึ่งแสดงถึงระดับอัตราเงินเฟ้อโดยรวมในยูโรโซน สำหรับสถิติจากสหรัฐฯ เราจะได้ทราบถึงตัวเลขการเปลี่ยนแปลงในดัชนีกิจกรรมทางธุรกิจของ ISM ในภาคการผลิตของสหรัฐฯ ในวันที่ 1 กรกฎาคม และสถิติตลาดแรงงานสหรัฐฯ จะประกาศในวันที่ 30 มิถุนายน และ 2 กรกฎาคม ซึ่งรวมถึงดัชนีที่สำคัญ ได้แก่ จำนวนตำแหน่งงานใหม่นอกภาคการเกษตร (NFP)
    ในระหว่างนี้ นักวิเคราะห์ 60% สนับสนุนโดยออสซิลเลเตอร์ 85% และอินดิเคเตอร์เทรนด์บนกรอบ D1 คาดว่าดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้นและราคาจะขยับลดลงไปยังระดับต่ำสุดของวันที่ 18 มิถุนายนที่ 1.1845 เป้าหมายถัดไปสำหรับฝั่งตลาดหมี คือ ระดับต่ำสุดของวันที่ 31 มีนาคม 2021 ที่ 1.1700 โดยมีแนวรับใกล้ที่สุด คือ 1.1915 และ 1.1880 ส่วนผู้เชี่ยวชาญ 40% ที่เหลือเห็นด้วยกับตลาดกระทิงว่าจะพยายามฟื้นขึ้นมาจากส่วนที่ขาดทุนไปเมื่อเดือนที่แล้ว แนวต้านสำคัญด่านแรกคือโซน 1.1985-1.2000 แนวต้านถัดไปสูงขึ้นมาอีก 100 จุด และเป้าหมายคือการทำระดับสูงสุดของวันที่ 25 พฤษภาคมที่ 1.2265
  • GBP/USD ย้ำเตือนกันอีกครั้งหนึ่งว่า นายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน ของสหราชอาณาจักรได้เลื่อนการเปิดธุรกิจต่าง ๆ ในประเทศออกไปอีกหนึ่งเดือน เนื่องด้วยตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์เดลต้าที่เพิ่มขึ้น ซึ่งพบครั้งแรกในอินเดีย และทำให้อัตราผู้ป่วยต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า จำนวนผู้ติดเชื้อขณะนี้อยู่ที่ 20,000 ต่อวัน และกำลังส่งแรงกดดันต่อเงินปอนด์ (แม้ว่ามีคนแค่ 18 คนเท่านั้นที่เสียชีวิตจาก COVID-19 ในช่วงระยะเวลานี้ อัตราส่วนนั้นน้อยกว่า 0.001 ซึ่งถือว่าเป็นตัวชี้วัดที่ดูดีมาก)
    ความสัมพันธ์ที่มีความไม่แน่นอนมากขึ้นระหว่างลอนดอนและบรัสเซลส์หลังเบร็กซิตยังคงเป็นแรงกดดันต่อเงินปอนด์ โดยเฉพาะในเรื่องการค้าระหว่างไอร์แลนด์เหนือและสหราชอาณาจักร
    อย่างไรก็ตาม ในขณะเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญ 50% หวังว่าเงินปอนด์จะมีกำลังมากพอที่จะทดสอบระดับ 1.4000 อีกครั้ง และขยับขึ้นไปอีก 100 จุด แนวต้านที่ใกล้ที่สุดคือ 1.3940 และแนวต้านถัดไปคือ 1.4150 และ 1.4250
    ด้านนักวิเคราะห์ 20% เดิมพันกับชัยชนะของดอลลาร์ และคาดว่าราคาคู่นี้จะขยับลงมายังโซน 1.3670-1.3700 ในส่วน 30% ที่เหลือเชื่อว่า ราคาคู่นี้จะยังคงขยับในกรอบด้านข้างที่ 1.3800-1.4000
    ผลการวิเคราะห์อินดิเคเตอร์มีดังนี้: 85% ของออสซิลเลเตอร์ให้สัญญาณสีแดง ส่วน 15% ที่เหลือให้สัญญาณว่าราคาอยู่ในโซน oversold ด้านอินดิเคเตอร์เทรนด์ก็อยู่ในโซนสีแดงเป็นส่วนมากเช่นกัน ซึ่งคิดเป็น 100% บน H4 และ 85% บน D1 ส่วนการวิเคราะห์กราฟให้กรอบการซื้อขายที่ 1.3850-1.4050 บน H4 และ 1.3770-1.4000 บน D1
    สำหรับเหตุการณ์สำคัญในสัปดาห์นี้ เราจะเน้นการประกาศสถิติ GDP ของสหราชอาณาจักรในวันพุธที่ 30 มิถุนายน รวมถึงถ้อยแถลงของ นายแอนดริว ไบเลย์ ผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติอังกฤษ ในวันพฤหัสบดีที่ 1 กรกฎาคม

  • USD/JPY ใครจะเป็นผู้ชนะระหว่างสกุลเงินหลบภัยอย่างดอลลาร์ หรือ เงินเยนญี่ปุ่น? หรือหากคุณอยากจะถามแบบกลับกันคือ ระหว่างสกุลเงินหลบภัยเยนญี่ปุ่น หรือดอลลาร์สหรัฐ? ออสซิลเลเตอร์ 80% และอินดิเคเตอร์เทรนด์ 90% บน D1 เดิมพันที่ฝั่งดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม 20% ของออสซิลเลเตอร์ให้สัญญาณว่าราคาอยู่ในโซน overbought
    ในส่วนการวิเคราะห์กราฟเชื่อว่า หลังจากราคาดีดออกจากแนวรับที่โซน 109.75-110.100 ราคาจะขยับขึ้นเพื่อตัดผ่านแนวต้านที่ 111.00 และจะพยายามอัปเดตระดับสูงสุดใหม่ของปีที่แล้ว เมื่อวันที่ 24 มีนาคม ที่ 111.70 และจากนั้นเป็นราคาสูงสุดของวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2020 ที่ 112.25
    ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญต่อการเคลื่อนที่ของราคาคู่นี้ในสัปดาห์หน้านั้นแบ่งออกเป็นสองส่วนเท่า ๆ กัน 50/50 อย่างไรก็ดี เมื่อปรับมาเป็นการวิเคราะห์ในรอบเดือนกรกฎาคม 75% เห็นด้วยกับแนวโน้มตลาดหมี โดยเชื่อว่า USD/JPY จะสามารถขยับลดลงมายังบริเวณ 108.00-108.55
    ในด้านสถิติเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งชาติญี่ปุ่นจะประกาศดัชนี Tankan ของไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ในวันที่ 1 กรกฎาคม ดัชนีผู้ผลิตขนาดใหญ่ตัวนี้จะช่วยสะท้อนสภาพแวดล้อมทางธุรกิจโดยรวมของประเทศ รวมถึงภาพรวมของบริษัทเพื่อการส่งออก ผลลัพธ์ที่มากกว่า 0 จะเป็นผลบวกต่อ JPY และหากต่ำกว่า 0 จะเป็นผลลบต่อค่าเงิน ดัชนีนี้คาดการณ์ว่าจะขยับขึ้นถึง 15 จาก 5 ในไตรมาสที่ 1 ปี 2021
  • คริปโตเคอเรนซี มีความเป็นไปได้สูงที่การต่อสู้ระหว่างกระทิงและหมีในบริเวณ $30,000 จะดำเนินต่อไป เป้าหมายระยะกลางของฝั่งตลาดหมีคือกดราคา BTC/USD กลับมาที่ $20,000 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของเดือนธันวาคมปี 2017 หลังจากราคาขยับถึงระดับดังกล่าวก็ตามมาด้วยฤดูหนาวอันเย็นยะเยือก สำหรับในตอนนี้ ราคาบิทคอยน์ลดลงมาแล้ว 55% ในเวลาเพียงสองเดือน ดังนั้นฤดูหนาวคริปโตรอบปัจจุบันอาจรุนแรงยิ่งกว่าเมื่อปี 2018 และอย่างที่ระบุไว้ข้างต้น นักลงทุนหลายคนพากันปิดตำแหน่งซื้อและขจัดธุรกรรมฟิวเจอร์ส และบรรดาประธานบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านการเงินอย่าง JPMorgan และ Goldman Sachs ได้ประกาศให้บิทคอยน์เป็นการลงทุนที่ไม่พึงค์ประสงค์อีกครั้ง
    นายไมเคิล เบอร์รี นักลงทุนและผู้ก่อตั้งเฮดจ์ฟันด์ Scion Capital ผู้เคยทำนายวิกฤติสินเชื่อจำนองเมื่อปี 2007 ออกมาเตือนผู้ติดตามของเขาเกี่ยวกับการทรุดตัวลงของตลาดคริปโตเคอเรนซี “ทั้งกระแสและการเก็งกำไรกำลังดึงดูดนักลงทุนรายย่อยก่อนจะเกิดภาวะทรุดตัวทั้งหลายทั้งปวง เทรนด์พาราโบลิกจะไม่ผ่านไป ประวัติศาสตร์ไม่มีการเปลี่ยนแปลง” เขาเขียนไว้ นักลงทุนยังเน้นถึงปัญหาของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลที่ขึ้นอยู่กับอัตราทดมากเกินไป “หากคุณไม่รู้ว่าคริปโตเคอเรนซีมีอัตราเลเวอเรจมากเท่าไร คุณไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับคริปโตเคอเรนซี” เขากล่าวย้ำ
    ก่อนหน้านี้ นายเบอร์รีเคยเตือนว่าตลาดนี้เกิดภาวะเงินเฟ้อ “เป็นฟองสบู่ก้อนใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์” ในโพสต์ของเขา เขาใช้แฮชแท็ก FlyingPigs360 ซึ่งตามรายงานจาก Business Insider นั้นอาจเป็นการเปรียบเปรยกับการลงทุน “กระทิงทำเงิน หมีทำเงิน แต่หมูโดนเชือด”
    นายโรเบิร์ต คิโยซากิ เจ้าของหนังสือเล่มขายดี "Rich Dad Poor Dad" เห็นด้วยกับนายไมเคิล เบอร์รี เขาเองก็คาดการณ์ว่าตลาดคริปโตจะทรุดตัวลงเช่นกัน “ฟองสบู่ขนาดใหญ่ที่สุดกำลังขยายใหญ่ขึ้น การทรุดตัวลงครั้งใหญ่ที่สุดของประวัติศาสตร์โลกกำลังใกล้เข้ามา ซื้อทองคำและเงินให้มากขึ้น รอดูบิทคอยน์ดิ่งลงมาถึง $24,000” เขาเขียนไว้ (ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2020 นายคิโยซากิเคยแนะนำให้ซื้อบิทคอยน์ไว้จนกระทั่งราคาขยับเกิน $20,000 และคาดการณ์ว่าราคาจะไปถึง $50,000)
    นายจิม คราเมอร์ อดีตผู้บริหารเฮดจ์ฟันด์ Cramer & Co และผู้จัดรายการ Mad Money ช่อง CNBC ขายเหรียญบิทคอยน์เกือบทั้งหมดของเขาหลังจากมีข่าวมาตรการกวาดล้างการขุดเหรียญในจีน “เมื่อจีนเริ่มทำอะไร พวกเขามักจะทำให้มันยุติลง ผมคิดว่าพวกเขามองบิทคอยน์ว่าเป็นภัยคุกคามโดยตรงต่อระบอบเนื่องด้วยตัวตนของมันเอง คือ ระบบที่อยู่นอกเหนือการควบคุม” เขากล่าวและเสริมว่าอัตราการขุดเหรียญที่ลดลงน่าจะส่งผลดีต่อราคาบิทคอยน์ แต่สิ่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้น “เมื่อการขุดเหรียญถูกจำกัด บิทคอยน์จะต้องขยับขึ้นอย่างชัดเจน เว้นแต่คนที่ถือเหรียญจะถือกันอย่างมั่ว ๆ ไปทุกหนแห่ง”
    อย่างไรก็ตาม เหมือนเช่นเคย ตลาดไม่ได้มีแต่ผู้ขายเท่านั้น แต่ก็มีผู้ซื้อเช่นกัน ตัวอย่างในที่นี้ คือ นายสตีฟ โคเฮน ผู้ก่อตั้ง Point72 Asset Management Fund ซึ่งในทางกลับกันนั้น นายโคเฮนเป็นบุคคลที่มีความมั่งคั่งคาดการณ์อยู่ที่ $14 พันล้านดอลลาร์ เขากล่าวว่า เขาไม่สนใจเกี่ยวกับราคาปัจจุบันของบิทคอยน์ เพราะเขายังใหม่ในการลงทุนชนิดนี้ “คราวนี้ล่ะผมจะไม่พลาดเลย ผมพลาดในส่วนแรกไปแล้ว แต่ผมยังรู้สึกว่าผมเข้ามาค่อนข้างเร็วอยู่” กล่าวโดยเศรษฐีพันล้าน
    บริษัท MicroStrategy ก็ซื้อบิทคอยน์สำรองเพิ่มเช่นกัน โดยซื้อเพิ่มขึ้นมาอีก 13,005 เหรียญ ในขณะนี้ บริษัทของนายไมเคิล เซย์เลอร์ แห่งนี้เป็นเจ้าของเหรียญทั้งหมด 105,085 BTC จึงเป็นนักลงทุนรายบริษัทขนาดใหญ่ที่สุดที่ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล
    บริษัททำการซื้อขายหลังจากระดมทุนได้ $500 พันล้านดอลลาร์ผ่านการซื้อขายตราสารนี้แบบลำดับความสำคัญสูง นายเซย์เลอร์เขียนไว้บนทวิตเตอร์ว่า ได้ซื้อ 13,005 เหรียญด้วยเงินไม่ถึง $500 ล้านที่ราคาเฉลี่ยคือ $37,617 โดยรวมแล้ว นักธุรกิจรายนี้ลงทุนเป็นเงิน $2.7 พันล้านดอลลาร์ในบิทคอยน์ และราคาซื้อเฉลี่ยแล้วอยู่ที่ $26,080 ซึ่งทำให้บริษัทยังคงมีกำไรในขณะนี้
    ในส่วนการคาดการณ์ราคา นักวิเคราะห์ PlanB ชื่อดังให้บทวิเคราะห์ที่น่าสนใจจากโมเดลอัตราส่วน stock-to-flow (S2F) ซึ่งเขาเน้นย้ำว่า รูปแบบราคา ณ ปัจจุบันนั้นตรงกับตลาดขาลง แต่เขามั่นใจว่าบิทคอยน์จะขึ้นมาทำระดับสูงสุดอีกครั้งในเดือนตุลาคม และราคาจะขึ้นไปถึง $135,000 ภายในสิ้นปีนี้
    “บิทคอยน์ดิ่งลงมาต่ำกว่า $34,000” เนื่องด้วยทวีตของ นายอีลอน มัสก์ เกี่ยวกับความไม่ยั่งยืนของบิทคอยน์ รวมถึงความหวาดวิตกที่มาจากแรงกดดันของจีนต่อนักขุดเหรียญ” PlanB ทวีตข้อความ “อย่างไรก็ตาม ยังมีเหตุผลทางปัจจัยพื้นฐานอื่น ๆ ต่อแนวโน้มขาลงในเดือนมิถุนายนนี้ บางทีอาจจะมีผลไปถึงเดือนกรกฎาคม สถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดในความเห็นของผมสำหรับปี 2021 (จากการวิเคราะห์แบบ on-chain) คือ: สิงหาคม> $47,000, กันยายน> $43,000, ตุลาคม> $63,000, พฤศจิกายน> $98,000, ธันวาคม> $135,000"  ซึ่งสถานการณ์ที่ดูดีมากที่สุดคาดว่าจะได้เห็นบิทคอยน์ทำราคาขึ้นไปถึง $450,000
    ส่วนตัวเลขคาดการณ์เฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนักในหมู่ผู้เชี่ยวชาญสำหรับสัปดาห์หน้านี้ ได้แก่: 70% ของผู้เชี่ยวชาญคาดว่า BTC/USD จะกลับมาสู่โซน $36,000 ส่วน 30% ที่เหลือมองไว้ที่ $28,000-29,000



กลุ่มนักวิเคราะห์ NordFX

 

หมายเหตุ: เนื้อหาดังกล่าวไม่ควรยึดถือเป็นคำแนะนำในการลงทุนหรือเป็นคำปรึกษาในการซื้อขายในตลาดการเงิน โดยเนื้อหาข้างต้นเป็นไปเพียงเพื่อจุดประสงค์ในการให้ข้อมูลเท่านั้น การซื้อขายในตลาดการเงินมีความเสี่ยงและอาจทำให้เกิดการสูญเสียเงินฝากได้

กลับ กลับ
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ นโยบายคุกกี้ ของเรา