บทวิเคราะห์ฟอเร็กซ์และคริปโตเคอเรนซีประจำวันที่ 16 - 20 สิงหาคม 2021

EUR / USD: ความสนใจต่อภาวะเงินเฟ้อ

  • คำคาดการณ์ที่ให้ไว้เมื่อสัปดาห์ที่แล้วปรากฏว่าแม่นยำ 100% โดยในครั้งที่แล้ว ผู้เชี่ยวชาญ 70% ชี้ว่า EUR/USD จะทดสอบระดับต่ำสุดของเดือนมีนาคมที่ 1.1700 อีกครั้ง และราคาก็ขยับลงไปยังระดับ 1.1705 จริงตั้งแต่วันพุธ อย่างไรก็ตาม แรงกระตุ้นให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าต่อไปนั้นไม่เพียงพอ และราคาก็เริ่มกลับทิศทางขึ้นเหนือในช่วงครึ่งหลังของสัปดาห์

    ราคาขึ้นทำระดับสูงสุดในรอบสัปดาห์เมื่อวันศุกร์ที่ 13 สิงหาคม โดยขึ้นมาที่ 1.1800 และปิดตลาดรอบห้าวันทำการที่ 1.1795 ซึ่งเป็นแนวโน้มขาขึ้นที่ดีที่สุดในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา แนวโน้มดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงตลาดอเมริกา เนื่องด้วยตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของ University of Michigan ที่ลดลงเป็นอย่างมาก ซึ่งดัชนีดังกล่าวปรับลดลงถึงระดับต่ำสุดของเดือนธันวาคมปี 2011 จาก 80.2 เหลือ 70.2 จุด ดัชนีนี้คำนวณจากผลการสำรวจผู้บริโภคและเป็นตัวชี้วัดความเชื่อมั่นในการเติบโตทางเศรษฐกิจในสหรัฐฯ หรือกล่าวง่าย ๆ ก็คือ เป็นตัวชี้วัดความเต็มใจที่จะใช้จ่ายเงินของผู้บริโภค ดัชนีอื่น ๆ โดยมหาวิทยาลัยดังกล่าวก็มีผลลัพธ์ต่ำกว่าความคาดหมายเช่นกัน

    ธนาคารเฟดได้เน้นย้ำซ้ำ ๆ หลายครั้งว่า ห้วงเวลาในการจำกัดมาตรการกระตุ้นทางการเงิน (QE) และการขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะขึ้นอยู่กับการเร่งตัวของภาวะเงินเฟ้อและการฟื้นตัวอย่างเต็มที่ในตลาดแรงงานสหรัฐฯ แต่ผลปรากฏว่า ความต้องการในการจับจ่ายใช้สอยของชาวอเมริกันกับลดลง ซึ่งไม่ช่วยกระตุ้นภาวะเงินเฟ้อและเป็นไปตามเป้าหมายของธนาคารเฟด

    ท่ามกลางสถิติที่น่าผิดหวังจาก University of Michigan ดัชนี DXY ปรับลงมายัง 92.50 และดัชนี Dow Jones และ S&P500 ทำระดับสูงสุดใหม่อีกครั้งที่ 35612.25 และ 4467.13 ตามลำดับ

    ที่น่าสนใจก็คือ ดัชนีหุ้นสหรัฐฯ เติบโตขึ้นทั้งในช่วงที่การประกาศรายงานดัชนีเศรษฐกิจนั้นทั้งน่าผิดหวังและน่ายินดี ชัดเจนว่านี่เป็นผลมาจากการอัดฉีดตลาดด้วยเงินดอลลาร์จำนวนมหาศาลภายใต้มาตรการ QE นักลงทุนจึงไม่รู้ว่าจะนำเงินไปพักไว้ที่ไหน โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่อัตราดอกเบี้ยของธนาคารเฟดต่ำมากอย่างในตอนนี้ ซึ่งนักลงทุนก็จะต้องนำเงินไปลงทุนในหุ้น

    แต่เสียงของเหล่าผู้สนับสนุนนโยบาย “เข้มงวด” ว่าถึงเวลาที่จะยุติมาตรการ QE เริ่มชัดเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ ภายในธนาคารเฟดของสหรัฐฯ เอง ผลสำรวจจากผู้เชี่ยวชาญ Reuters 28 จาก 43 คน ชี้ว่า ธนาคารเฟดจะประกาศเริ่มต้นการจำกัดมาตรการต่าง ๆ ภายในเดือนกันยายน ซึ่งหนึ่งในสามของผู้ตอบแบบสำรวจเชื่อว่า ท่าทีนี้จะเกิดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ด้านผู้เชี่ยวชาญ  60% เชื่อว่า การซื้อคืนที่ลดลงจะเริ่มขึ้นในไตรมาสที่ 1 ปี 2022 ในขณะที่คนที่เหลือว่าจะเกิดขึ้นก่อนหน้านั้น คือ ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปีนี้

    การเริ่มจำกัดมาตรการกระตุ้นทางการคลังมีแนวโน้มอย่างยิ่งที่จะทำให้เงินไหลออกจากตลาดหุ้นและดอลลาร์แข็งค่า แต่ ณ ขณะนี้ กำหนดเวลายังไม่ชัดเจน และไม่มีความแน่นอนในหมู่ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ การประเมินแนวโน้มอนาคตอันใกล้ของคู่ EUR/USD มี 30% โหวตว่าราคาจะขยับสูงขึ้น และ 35% โหวตว่าราคาจะขยับลดลง และขยับในทิศทางด้านข้างที่แนว 1.1800

    ไม่มีสัญญาณที่พ้องกันในหมู่อินดิเคเตอร์เช่นกัน ผลการวิเคราะห์กราฟส่วนใหญ่หลังจากราคาพุ่งขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ 13 ที่ผ่านมาให้ผลลัพธ์สีเขียว แต่ในที่นี้มีออสซิลเลเตอร์ 25% ที่ให้สัญญาณแล้วว่าราคาอยู่ในช่วง overbought ในส่วนของ D1 ยังไม่สามารถที่จะให้ข้อสรุปเป็นสีใด ๆ ได้ หนึ่งในสามของออสซิลเลเตอร์ให้ผลลัพธ์เป็นสีเขียว แดง และเทากลางเท่า ๆ กัน ในส่วนอินดิเคเตอร์เทรนด์บนกรอบ D1 ส่วนใหญ่ (65%) ชี้ว่าราคาจะขยับในเทรนด์ขาลงระยะกลางต่อไป และจะพยายามทดสอบแนวรับที่ 1.1705 อีกครั้ง หากทำสำเร็จ ราคาจะเผชิญกับแนวรับสำคัญในโซน 1.1600-1.1610 ซึ่งหากฝั่งกระทิงเป็นฝ่ายชนะ แนวต้านจะอยู่ที่บริเวณ 1.1840, 1.1910 และ 1.1975

    ในบรรดาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสัปดาห์ที่จะถึงนี้ ซึ่งอาจส่งผลต่อเทรนด์นั้น เราควรให้ความสนใจกับสถิติ  GDP ยูโรโซนในไตรมาสที่ 2 ตลอดจนดัชนียอดขายปลีกสหรัฐฯ และสถิติเงินเฟ้อ ข้อมูลเหล่านี้จะประกาศในวันอังคารที่ 17 สิงหาคม และในวันถัดมา วันที่ 18 สิงหาคม จะมีการเผยแพร่ผลการประชุมของคณะกรรมการ FOMC ของธนาคารเฟด ซึ่งผู้เชี่ยวชาญจะพยายามทำความเข้าใจว่าฝั่งใดถือไพ่เหนือกว่า ฝั่งนกพิราบ หรือฝั่งนกเหยี่ยว ว่าด้วยเรื่องกำหนดเวลาในการจำกัดมาตรการ QE

GBP/USD: หมอกปกคลุมลอนดอน

  • อย่างที่คาดการณ์ไว้ สถิติที่ประกาศเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 12 สิงหาคม ชี้ให้เห็นถึงการเติบโตของ GDP สหราชอาณาจักรที่แข็งแกร่งในไตรมาสที่ 2 ปี 2021 จาก -1.6% เป็น +4.8% อย่างไรก็ตาม ตัวเลขนี้สอดคล้องกับการคาดการณ์โดยสมบูรณ์ จึงไม่ได้สร้างความประทับใจเป็นพิเศษใด ๆ ต่อตลาด แต่สถิติจาก University of Michigan ส่งผลให้คู่ GBP/USD ขยับขึ้น 85  จุดจาก 1.3790 เป็น 1.3875 และปิดท้ายสัปดาห์เกือบจะเป็นบริเวณเดียวกันกับที่เริ่มต้นที่ 1.3868

    ก่อนหน้าการประกาศสถิติดังกล่าว ผู้เชี่ยวชาญหลายคนคาดการณ์แนวโน้มขาลงของคู่นี้ว่าจะมีผลต่อไป ซึ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อช่วงปลายเดือนกรกฎาคม ผู้เชี่ยวชาญจาก Commerzbank วางระดับต่ำสุดของวันที่ 21 มิถุนายนที่ 1.3786 ให้เป็นแนวรับเบื้องต้น หลังจากราคาตัดผ่านสำเร็จ ราคาจะทิ้งตัวลงไปยังระดับต่ำสุดของวันที่ 2 กรกฎาคม (1.3735) และวันที่ 12 เมษายน (1.3669) ซึ่งเป้าหมายคือระดับราคาต่ำสุดของวันที่ 20 กรกฎาคมที่ 1.3571

    นักวิเคราะห์จากธนาคาร OCBC จากสิงคโปร์ให้บทวิเคราะห์ที่คล้ายกัน โดยตั้งเป้าแนวรับไว้ที่ระดับ 1.3779 และ 1.3732 ด้านนักเศรษฐศาสตร์จาก French Societe Generale ก็เห็นด้วยกับความเห็นนี้ โดยเชื่อว่าการผสมผสานกันระหว่างดอลลาร์ที่แข็งค่าและเงินปอนด์ที่อ่อนแออาจพาคู่ GBP/USD ลงมาต่ำกว่าระดับ 1.3750

    อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ยังไม่เกิดขึ้นแต่อย่างใด และเราอาจอ้างถึงความเห็นของผู้เชี่ยวชาญจาก Credit Suisse ด้วยเช่นกัน ซึ่งมองว่าราคาคู่นี้ได้ก่อตัวกราฟรูปแบบ bullish reversal โดยสมบูรณ์แล้ว แต่ราคาจะขึ้นต่อไปได้ก็ต่อเมื่อสามารถยืนเหนือ 1.3895 จากนั้นเป้าหมายถัดไปจะเป็นการปิดราคาเหนือ 55-DMA ที่ 1.3920 และจากนั้นคือโซน 1.3978-1.4010

    ในส่วนผลวิเคราะห์อินดิเคเตอร์มีความใกล้เคียงกับ “เพื่อน” คู่ก่อนหน้าคือ EUR/USD แม้ว่าฝั่งสีเขียวจะมีความได้เปรียบอยู่บ้างในกรอบ H4 แต่ก็ยังไม่ควรใช้ผลวิเคราะห์นี้เป็นตัวชี้นำ ณ ตอนนี้

    ในบรรดาสถิติมหภาคที่สำคัญสำหรับเงินปอนด์ในสัปดาห์หน้า คือ การประกาศสถิติตลาดแรงงานสหราชอาณาจักรในวันอังคารที่ 17 สิงหาคม และตลาดผู้บริโภคในวันพุธที่ 18 สิงหาคม อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทั้งสองดัชนีจะมีผลลัพธ์ออกมาเป็นบวก ก็ยังไม่คุ้มค่าที่จะรอสัญญาณที่ชัดเจนจากธนาคารแห่งชาติอังกฤษเกี่ยวกับจังหวะเวลาในการจำกัดมาตรการ QE

USD/JPY: ลงใต้ตามผลตอบแทนพันธบัตร

  • เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เราได้ตั้งชื่อบทวิเคราะห์ของคู่นี้ว่า “ขึ้นเหนือตามผลตอบแทนพันธบัตร” และสำหรับบทวิเคราะห์สัปดาห์นี้ มีเพียงแค่หนึ่งคำที่ถูกใช้แทนคือจาก “เหนือ” เป็น “ใต้”

    ชื่อหัวเรื่องของสัปดาห์ที่แล้วก็บอกไว้ชัดเจนดี และเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ USD/JPY ขยับขึ้นในช่วงครึ่งแรกของสัปดาห์ที่ระดับ 110.80 เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม อย่างไรก็ตาม “บางอย่างกลับผิดปกติ” ราคากลับทิศทางและหันลงทิศใต้ ทำระดับสุดท้ายที่ 109.55 เหตุผลแรกนั้นพูดถึงไว้แล้วหลายครั้งข้างต้น แรงสนับสนุนเพิ่มเติมต่อค่าเงินเยนในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย คือ ผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ รอบ 10 ปี ซึ่งลดลงถึง 4.5% ขยับถึงระดับต่ำสุดในรอบสัปดาห์ที่ 1.3%

    คู่ USD/JPY ปิดตลาดห้าวันทำการต่ำกว่าระดับสำคัญที่ 110.00 และผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า สิ่งนี้ไม่เป็นผลดีต่อดอลลาร์ (ชัดเจนว่าหมายถึงในระยะใกล้) ดังนั้น นักวิเคราะห์ 45% จึงโหวตว่าเทรนด์ขาลงจะมีผลต่อไป ส่วนอีก 45% เห็นด้วยกับเทรนด์ด้านข้าง และมีเพียง 10% เท่านั้นที่เชื่อว่า ตลาดกระทิงจะสามารถพาราคากลับขึ้นทิศเหนือได้อีกครั้ง

    ในส่วนอินดิเคเตอร์เทรนด์เห็นได้ถึงความได้เปรียบที่ชัดเจนของฝั่งสีแดง: 100% เห็นด้วยกับ H4 ส่วน 75% บน D1 ไม่มีสัญญาณจากออสซิลเลเตอร์บนกรอบ H4 ใด ๆ ที่ชี้ว่าราคาจะขยับขึ้นทิศเหนือ จริงอยู่ที่ 25% มีท่าทีเป็นกลาง และ 75% จากทั้งหมดนี้หันลงไปทางใต้ โดยเกือบครึ่งหนึ่งอยู่ในโซน oversold ในส่วน D1 มี 65% ชี้ไปทางใต้ 20% ชี้ทิศทางด้านข้าง และ 15% ชี้ทิศเหนือ

    แนวรับ ได้แก่ 109.35, 109.05 และ 108.70 เป้าหมายของฝั่งตลาดหมีคือการทดสอบระดับต่ำสุดของเดือนเมษายนที่ 107.45 โดยมีแนวต้านที่ใกล้ที่สุดในโซน 110.00, 110.55, 110.80, 111.00 และ 111.65 ส่วนเป้าหมายสูงสุดของฝั่งกระทิงยังคงเหมือนเดิม คือ พิชิตระดับ 112.00 ให้ได้

    ในส่วนเหตุการณ์สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ การประกาศรายงาน GDP ของญี่ปุ่นเบื้องต้นสำหรับไตรมาสที่ 2 ปี 2021 (ตัวเลขคาดการณ์: จาก -1.0% เป็น +0.2%) อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติชี้ให้เห็นว่า เหตุการณ์นี้จะส่งผลเพียงเล็กน้อยต่อพฤติกรรมราคา สิ่งที่ควรให้ความสนใจเป็นหลักคือสถิติมหภาคของฝั่งสหรัฐฯ ซึ่งอาจหยุดเทรนด์และพาราคาขึ้นทิศเหนือได้

คริปโตเคอเรนซี: ฤดูใบไม้ร่วงคริปโตเข้าโถมเต็มที่

  • “นักลงทุนหวังว่าช่วงฤดูหนาวคริปโตจะผ่านไปแล้ว และแทนที่อากาศหนาวนี้จะตามมาด้วยฤดูใบไม้ผลิคริปโตโดยทันที” เราอธิบายสถานการณ์ในตลาดไว้ดังนี้ในบทรีวิวครั้งก่อนหน้า สัปดาห์ที่แล้วไม่ได้ทำลายอารมณ์ฤดูใบไม้ผลิแต่อย่างใด บิทคอยน์ทะยานขึ้นมาประมาณ 12% ในรอบเจ็ดวัน และเข้าใกล้ระดับ $47,800 ณ เวลาที่เขียนบทวิเคราะห์ฉบับนี้ มูลค่ารวมในตลาดคริปโตก็เพิ่มขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันจาก $1.67 เป็น $1.957 ล้านล้านดอลลาร์ และวันที่มูลค่ารวมจะพุ่งขึ้นเหนือระดับ $2.0 ล้านล้านดอลลาร์อีกครั้งนั้นดูจะอยู่ไม่ไกลนัก ในส่วนดัชนี Crypto Fear & Greed Index ในที่สุดก็ขยับออกจากโซนตรงกลางเข้าระดับสีเขียว โดยขึ้นมาจาก 52 เป็น 70 จุด ในขณะเดียวกัน ยังถือว่าอยู่ห่างไกลจากโซน overbought อย่างรุนแร และให้ความหวังกับนักลงทุนว่าวันที่คู่ BTC/USD จะทำราคาสูงสุดใหม่นั้นจะมาถึงในที่สุด

    นอกเหนือไปจากผู้มองโลกในแง่ดีแล้ว แน่นอนว่าต้องมีผู้มองโลกในแง่ร้ายในตลาดไม่แพ้กัน ในบรรดานักเศรษฐศาสตร์มืออาชีพที่เป็นที่ยอมรับในวงการ อาทิเช่น นายเรย์ ดาลิโอ เศรษฐีพันล้านผู้ก่อตั้ง  Bridgewater Associates ยังไม่ตัดโอกาสการเติบโตของราคาบิทคอยน์ แต่เขาชื่นชอบทองคำมากกว่า เขากล่าวไว้ว่าเขาถือบิทคอยน์ไว้ “ในปริมาณน้อยมาก” “หากคุณหันปืนมาที่ผม และให้ผมเลือกเฉพาะหนึ่งจากสองตัวเลือกนี้ ผมจะเลือกทองคำ” เขากล่าว

    นักธนาคารชื่อดัง เช่น นายเดวิด โซโลมอน ซีอีโอของ Goldman Sachs และนายเจมี ไดมอน จาก JPMorgan Chase ยังคงวิพากษ์วิจารณ์คริปโตเคอเรนซี แต่ในขณะเดียวกัน พวกเขาและธนาคารอื่น ๆ หลายแห่งยังคงใช้บริการที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัล และนักวิเคราะห์จาก JPMorgan เองก็คาดการณ์ว่าราคา BTC จะขึ้นไปที่  $146,000 ตั้งแต่ในปีนี้

    การถกเถียงกันว่าควรจะลงทุนในอะไรดีกว่ากัน โลหะมีค่าหรือคริปโตเคอเรนซีนั้นยังคงเป็นคำถามที่ถกเถียงกันไม่สิ้นสุด ในขณะเดียวกัน การคำนวณง่าย ๆ แสดงให้เห็นว่าบิทคอยน์เหนือกว่าอย่างชัดเจน ราคาทองคำปรับลดลงประมาณ 5.5% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ส่วนราคาบิทคอยน์เติบโตขึ้น 571,000% ในช่วงเวลาเดียวกัน แปลว่า หากลงทุนด้วยเงินแค่ 2 ดอลลาร์ในบิทคอยน์ในขณะนั้น คุณจะเป็นเศรษฐีเงินล้านในตอนนี้ และแค่ในห้าปีที่ผ่านมา ราคาทองคำปรับลดลงเทียบกับบิทคอยน์ถึง 25 เท่า

    ตัวเลขเท่านั้นยังไม่พอ แต่เราต้องไม่ลืมความน่าเชื่อถือเรื่องการลงทุนด้วยเช่นกัน ในระหว่างปี 2010 และ 2015 ราคาทองคำประสบกับภาวะขาลงสูงสุด โดยราคาดิ่งลงมา 40% ในเวลาห้าปี แต่หากคุณดูที่กราฟเดือนเมษายน-พฤษภาคมของปีนี้ คุณจะเห็นว่าบิทคอยน์มีมูลค่าลดลง 40% เช่นเดียวกันในเวลาแค่สี่สัปดาห์เท่านั้น!

    การลงทุนในคริปโตเคอเรนซีอาศัยการมีสติเป็นอย่างมาก รวมถึงหลักประกันที่ปลอดภัย ในช่วงที่ตลาดทรุดตัวลงอย่างรวดเร็ว บางคนเลือกจะทิ้งเหรียญเพราะความหวาดกลัว ในขณะที่บางคนมองเห็นการปรับฐานดังกล่าวเป็นจังหวะเข้าซื้อที่ยอดเยี่ยม

    ตามความเห็นของนายทอม ลี หัวหน้าบริษัทวิจัย Fundstrat ชี้ว่า “กฎทองคำ” สำหรับนักลงทุนคริปโตคือการซื้อบิทคอยน์ทุกครั้งที่ราคาตัดผ่านเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 200 วัน (MA 200) จากล่างขึ้นบน นับตั้งแต่ปี 2017 มีโอกาสให้เข้าซื้อดังกล่าวสามครั้งจากทั้งหมดห้าครั้ง เมื่อแท่งเทียนรายวันปิดตัวเหนือเส้นดังกล่าวจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ปริมาณการเทรดเพิ่มขึ้น และเทรนด์ขาขึ้นในระยะยาวเริ่มก่อตัว ซึ่งจะมีผลเป็นเวลาตั้งแต่ 4 เดือนถึงหนึ่งปี กรณีที่ล้มเหลวสองครั้ง นายทอม ลี มองว่าไม่ใช่การหักล้าง “กฎทองคำ” ดังกล่าว เนื่องจากกรณีเหล่านี้ อัตราแลกเปลี่ยน BTC ขยับขึ้นมาสูงเพียงพอให้นักเทรดได้ป้องกันตนเองจากการขาดทุนใด ๆ

    นายทอม ลี ยังเน้นย้ำคำทำนายของเขาว่า เขาเห็นราคาบิทคอยน์ที่บริเวณ $100,000-120,000 ในปี 2022 ซึ่ง นายไมค์ แม็คโกลน นักยุทธศาสตร์อาวุโสของ Bloomberg Intelligence ชี้ไปที่ระดับเดียวกันที่ $100,000 ในรายงานล่าสุดของเขา “บิทคอยน์ดูเหมือนจะมีแนวรับอยู่ที่บริเวณ $30,000 อย่างที่เคยมีแนวรับที่ $4,000 เมื่อช่วงต้นปี 2019 เราเห็นภาวะคู่ขนานของเหตุการณ์เหล่านี้และชัดเจนว่า บิทคอยน์อาจทำราคาถึงระดับ $100,000 ได้" เขากล่าว

    คำทำนายที่ถ่อมตนกว่าเป็นของผู้เชี่ยวชาญคริปโตอีกสามท่าน นายวิลลี วู นักวิเคราะห์คริปโตชื่อดังเชื่อว่า เมื่อพิจารณาจากปัจจัยพื้นฐาน ราคาที่ยุติธรรมของบิทคอยน์อยู่ที่ $53,200 อย่างไรก็ตาม เขาเตือนด้วยว่าปัจจัยพื้นฐานไม่ช่วยในการคาดการณ์ราคาในระยะสั้น แต่เมื่อมีเวลาเพียงพอ ราคาจะปรับตัวด้วยตนเองโดยสมบูรณ์

    นักวิเคราะห์อีกท่านหนึ่ง นายวิล เคลมองต์ เห็นด้วยกับความเห็นของนายวู และเน้นด้วยว่า เมื่ออ้างอิงจากข้อมูลสภาพคล่องบิทคอยน์จากแพลตฟอร์ม Glassnode เขาคาดการณ์ว่าราคาจะเติบโตไปที่ประมาณ $53,000 กลับไปวันที่ 31 กรกฎาคม ด้านนักยุทธศาสตร์คริปโตชื่อดังภายใต้ชื่อเล่น Crypto Dog ยืนยันการคาดการณ์เหล่านี้เช่นกัน โดยเขามีความเห็นว่า “บิทคอยน์จะไปถึง $50,000 ในเร็ว ๆ นี้"

 

กลุ่มนักวิเคราะห์ NordFX

 

หมายเหตุ: เนื้อหาดังกล่าวไม่ควรยึดถือเป็นคำแนะนำในการลงทุนหรือเป็นคำปรึกษาในการซื้อขายในตลาดการเงิน โดยเนื้อหาข้างต้นเป็นไปเพียงเพื่อจุดประสงค์ในการให้ข้อมูลเท่านั้น การซื้อขายในตลาดการเงินมีความเสี่ยงและอาจทำให้เกิดการสูญเสียเงินฝากได้

กลับ กลับ
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ นโยบายคุกกี้ ของเรา