EUR/USD: การสิ้นสุดมาตรการ QE ใกล้เข้ามา
- ธนาคารเฟดไม่ได้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ต่อนโยบายทางการเงินในที่ประชุมเมื่อวันที่ 21-22 กันยายนที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ธนาคารฯ ได้ให้ความกระจ่างในข้อคิดเห็นว่ามีแนวโน้มที่จะเริ่มทยอยจำกัดมาตรการกระตุ้นทางการเงิน (QE) ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนนี้
สมาชิกมากกว่าครึ่งหนึ่งในคณะกรรมการ FOMC (Federal Open Market Committee หรือคณะกรรมการนโยบายตลาดเสรีสหรัฐฯ) เชื่อว่า การขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะเริ่มขึ้นในอีกไม่กี่เดือนหลังมาตรการ QE สิ้นสุดลง คืออาจก่อนปลายปี 2022 โดยรวมแล้ว ในช่วงปี 2022-2024 ธนาคารเฟดวางแผนที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ย 6 ครั้ง (หากเปรียบเทียบกันแล้ว ธนาคารกลางยุโรปจะเริ่มดำเนินการในเวลาสามปี)
แนวโน้มดังกล่าวส่งผลดีต่อดอลลาร์ ทำให้ดัชนี DXY ขยับขึ้นไปที่ 93.498 และคู่ EUR/USD ทำระดับต่ำสุดใหม่ของเดือน โดยขยับลดลงมาที่ 1.1683
เดิมมีโอกาสเล็กน้อยที่อาจมีการประกาศลดมาตรการ QE ตั้งแต่ตอนนี้ แต่ก็ไม่ได้เกิดขึ้น และธนาคารเฟดยังคงพิมพ์ธนบัตรดอลลาร์ต่อไปในขณะนี้ที่ปริมาณอย่างน้อย $120 พันล้านดอลลาร์ต่อเดือน ปริมาณงบดุลของครัวเรือนสหรัฐฯ เพิ่มเป็น $16.5 ล้านล้านดอลลาร์ใน Q2 และจะยิ่งเพิ่มขึ้นในอนาคตอันใกล้ (เดิมอยู่ที่ $12.7 ล้านล้านเมื่อช่วงปลายปี 2019) แต่ก็ยังมีห้วงเวลาที่ประชาชนจะเริ่มกลับมาจับจ่ายใช้สอยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ หลังจากมาตรการ QE ถูกจำกัดลดลง
สถิติดังกล่าวยิ่งเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่ออนาคตที่สดใส และฟื้นฟูความต้องการในความเสี่ยง ส่งผลผลักดันให้ดัชนีหุ้น S&P500, Nasdaq และ Dow Jones ขยับขึ้นไปอีกครั้ง ในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นฟื้นคืนส่วนที่ติดลบไปเมื่อวันจันทร์จากข้อมูลเกี่ยวกับแนวโน้มการล้มละลายของบริษัท Evergrande หนึ่งในบริษัทก่อสร้างขนาดใหญ่ที่สุดของจีน ซึ่งพบว่ามีภาระหนี้สินถึง 2 ล้านล้านหยวน ($309 พันล้านดอลลาร์) เป็นภาระหนี้สินที่มากที่สุดในโลกและมีปริมาณมากกว่ามูลค่าสุทธิของบริษัทถึงเกือบ 80 เท่า (ประมาณ $3.9 พันล้านดอลลาร์) จากรายงาน Bloomberg ชี้ว่า บริษัท Evergrande มีกิจการนอกชายฝั่ง 200 แห่ง และบริษัทสัญชาติจีน 2,000 แห่งที่ประกอบกิจการในหลายประเทศ ดังนั้น ภาวะล้มละลายที่เกิดขึ้นของบริษัทยักษ์ใหญ่ขนาดนี้อาจส่งแรงสะเทือนต่อเศรษฐกิจโลกได้ในเวลานี้
การฟื้นตัวของความสนใจของนักลงทุนในสินทรัพย์ความเสี่ยงสูง และเงินทุนที่ไหลออกเข้าสู่ตลาดหุ้นส่งผลให้เทรนด์ของคู่ EUR/USD กลับทิศทางไปยังทิศเหนือเมื่อวันพฤหัสบดี ดอลลาร์อ่อนค่าลงหลังจากการประกาศสถิติที่อ่อนแอจากตลาดแรงงานสหรัฐฯ
ยอดขอรับสวัสดิการว่างงานเบื้องต้นเพิ่มขึ้นเป็น 351,000 ในสัปดาห์นี้จากที่คาดการณ์ 320,000 ราย จำนวนยอดขอรับสวัสดิการรัฐบาลซ้ำเพิ่มขึ้นเป็น 2.8 ล้านราย ซึ่งแน่นอนว่านี่ไม่ใช่หายนะ แต่เป็นเสียงเรียกเตือนสำหรับธนาคารเฟด และหากดัชนี NFP รวมถึงดัชนีอื่น ๆ ซึ่งจะมีการเผยแพร่ในวันที่ 8 ตุลาคม ออกมาน่าผิดหวังเช่นกันนั้น ธนาคารเฟดอาจพิจารณาเลื่อนการจำกัดมาตรการ QE ออกไปนานกว่าเดิม
ปัจจัยทั้งสองประการเหล่านี้ช่วยให้ฝั่งกระทิงดันราคา EUR/USD ขึ้นมาที่ 1.1750 เมื่อวันที่ 23 กันยายนที่ผ่านมา ในส่วนปลายสัปดาห์ทำการ ราคาปิดตลาดที่บริเวณ 1.1715 หลังถ้อยแถลงของ นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารเฟดสหรัฐฯ เมื่อช่วงเย็นวันศุกร์
ข่าวแผนการของธนาคารเฟดสหรัฐฯ ที่จะเริ่มลดมาตรการ QE ในอีก 1-2 เดือนข้างหน้าและจะดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในกลางปี 2022 หลังจากนั้นจะตามมาด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนั้น ส่งผลต่อการคาดการณ์ว่าดอลลาร์น่าจะแข็งค่าขึ้นในระยะกลาง ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ (65%) คาดว่า ดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้นและคู่ EUR/USD จะขยับลดลงต่อไปในช่วงสัปดาห์หน้า โดยแนวโน้มดังกล่าวมีสัญญาณ 85% จากออสซิลเลเตอร์ และอินดิเคเตอร์เทรนด์อีก 100% บนกรอบ D1 ที่สนับสนุน ในส่วนนักวิเคราะห์ 35% ที่เหลือโหวตว่าราคาจะขยับขึ้นไปและมี 15% ของออสซิลเลเตอร์ที่ชี้ว่าราคาอยู่ในช่วง oversold
ระดับแนวรับในที่นี้ ได้แก่ 1.1705, 1.1685, 1.1600 และ 1525 ส่วนระดับแนวต้าน ได้แก่ 1.1750, 1.1800, 1.1845, 1.1908, 1.1975, 1.2025 และ 1.2100
ด้านเหตุการณ์สำคัญที่จะมาถึงคือ การเลือกตั้งทั่วไปของเยอรมนี ซึ่งจะจัดขึ้นในวันจันทร์ที่ 26 กันยายนนี้ หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรี อังเกลา แมร์เคิล จะออกจากตำแหน่ง นอกจากนี้จะมีการประกาศคำสั่งซื้อสินค้าทุนและสินค้าคงทนของสหรัฐฯ ในวันจันทร์ที่ 27 กันยายน และมีสถิติผู้บริโภคของเยอรมนีและยูโรโซนในวันสุดท้ายของเดือน รวมถึงการประกาศสถิติ GDP สหรัฐฯ และสุดท้ายคือดัชนี ISM PMI ภารการผลิตที่จะประกาศในวันศุกร์ที่ 1 ตุลาคม
GBP/USD: ฝั่งเหยี่ยวในธนาคารแห่งชาติอังกฤษเป็นฝ่ายชนะ
- สัปดาห์ที่ผ่านมาเรียกได้อย่างปลอดภัยว่าเป็นสัปดาห์แห่งธนาคารกลาง ไม่ใช่แค่ธนาคารเฟดสหรัฐฯ เท่านั้น แต่รวมถึงธนาคารแห่งชาติอังกฤษ ญี่ปุ่น และสวิตเซอร์แลนด์ ที่ล้วนจัดการประชุมกันอย่างคึกคัก และแม้ว่าธนาคารสองแห่งสุดท้ายข้างต้นยังไม่มีท่าทีใด ๆ ธนาคารอังกฤษกลับแสดงท่าทีเหยี่ยว (นโยบายการเงินแบบรัดกุม) ขึ้นมาอย่างฉับพลัน
ธนาคารแห่งชาติอังกฤษมีท่าทีในเชิงรับอย่างยิ่งมาตลอดปีสองปีที่ผ่านมา โดยเดินตามรอยธนาคารเฟดกลางยุโรปและธนาคารเฟดสหรัฐฯ จนกระถึงกลางสัปดาห์ที่แล้ว ในที่ประชุมเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 23 กันยายน ธนาคารกลางอังกฤษได้ทำให้ตลาดต้องประหลาดใจ และคู่ GBP/USD ขยับขึ้นไป 140 จุด จาก 1.3608 ขึ้นมาที่ 1.3748 ซึ่งธนาคารฯ ไม่เพียงแต่จะประกาศแผนนโยบายการเงินที่รัดกุมมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังออกกำหนดเวลาในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกด้วย ซึ่งจะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยรอบแรก 0.25% ในเดือนพฤษภาคม 2022 และขึ้นอีกครั้ง 0.50% ในเดือนธันวาคม
ตรงกันข้ามกับห้วงเวลาที่ยังคงไม่ชัดเจนของธนาคารกลางสหรัฐฯ ธนาคารแห่งชาติอังกฤษมีแผนกำหนดภารกิจไว้อย่างชัดเจนตามรายละเอียดข้างต้น ตลาดตอบรับข่าวดังกล่าวอย่างกะตือรือร้น แต่คู่ GBP/USD ก็ไม่ได้ขยับขึ้นเหนือ 1.3748 เพราะแม้ว่าจะขาดตัวเลขที่ชัดเจนในขณะนี้ ธนาคารเฟดยังคงมีแผนครั้งใหญ่ที่จะยกเลิกมาตรการ QE ซึ่งจะมีขึ้นในกรอบเวลาอันสั้น ข่าวนี้ยิ่งทำให้ฝั่งสนับสนุนเงินปอนด์สงบลง และผลที่เกิดขึ้นจากการต่อสู้ระหว่างฝั่งกระทิงและฝั่งหมีในคู่ GBP/USD จบลงด้วยชัยชนะสำหรับฝั่งสุดท้าย โดยราคาเริ่มเปิดตลาดต้นสัปดาห์ที่ 1.3730 และปิดที่ 1.3670
การวิเคราะห์ทางเทคนิคก็เข้าข้างฝั่งตลาดหมีเช่นกัน ทั้งออสซิลเลเตอร์และอินดิเคเตอร์เทรนด์ให้สัญญาณสีแดงบนกรอบ D1 ซึ่งไม่ใช่แค่เทรนด์ของสองสัปดาห์ที่ผ่านมาเท่านั้นที่ส่งผลต่อราคา แต่ยังเป็นพฤติกรรมราคาตลอดสามเดือนในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา ในส่วนผู้เชี่ยวชาญให้เสียงตอบรับ 50/50 โดยมีแนวต้านอยู่ที่ระดับ 1.3690, 1.3765, 1.3810, 1.3910 จากนั้นที่ 1.3960, 1.4000 และ 1.4100 โดยฝั่งกระทิงวางเป้าที่จะพิชิตระดับสูงสุดของวันที่ 1 มิถุนายนที่ 1.4250 ส่วนแนวรับอยู่ในโซน 1.3640, 1.3600, 1.3570 และ 1.3520
ด้านสถิติเศรษฐกิจมหภาคนั้นจะมีการประกาศ GDP สหราชอาณาจักรใน Q2 ของปี 2021 ในวันพฤหัสบดีที่ 30 กันยายน และแม้ว่าตัวเลขครั้งก่อนหน้าจะเป็นบวก (+4.8%) การคาดการณ์ในครั้งนี้กลับติดลบที่ -1.5%
USD/JPY: ฝั่งนกพิราบของญี่ปุ่นเป็นฝ่ายแพ้
- คู่ USD/JPY ได้ขยับตามแนว 110.00 มาตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยมีความพยายามไม่กี่ครั้งที่จะออกนอกกรอบ 108.30-111.00 ในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน ราคาได้เปิดตลาดต้นสัปดาห์ที่ 109.95 และขยับถึง 110.78 ภายในปลายสัปดาห์ ก่อนที่จะปิดตลาดที่ 110.75
ธนาคารกลางญี่ปุ่นมีท่าทีแตกต่างไปจากธนาคารกลางของประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อื่น ๆ โดยยังคงยึดนโยบายทางการเงินที่ผ่อนปรนเป็นอย่างมาก และใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบ ด้วยเหตุนี้ เงินเยนจึงยังคงเป็นที่สนใจในฐานะสกุลเงินหลบภัยมากกว่าเครื่องมือในการทำรายได้
ช่วงเริ่มต้นสัปดาห์เป็นผลดีต่อเงินเยน โดยความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากภาวะล้มละลายของบริษัท Evergrande ช่วยกดให้ราคา USD/JPY ขยับลงมายังระดับ 109.10 อย่างไรก็ตาม หลายอย่างกลับแย่ลง นักลงทุนเริ่มต้องการทำกำไรอีกครั้งและหันกลับเข้าหาสินทรัพย์ความเสี่ยงสูง หลังจากการประชุมของธนาคารเฟด อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐเพิ่มขึ้นมากว่า 1.44% จริง ๆ แล้ว ค่าส่วนต่างของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นรอบสิบปีและของสหรัฐฯ นั้นทำให้พันธบัตรของสหรัฐฯ ได้เปรียบกว่าเป็นอย่างมาก และสมดุลดังกล่าวจึงเข้าทางฝั่งกระทิงของคู่ USD/JPY ทำให้เงินเยนต้องอ่อนค่าลงในที่สุด
หากธนาคารกลางญี่ปุ่นยังคงนโยบายการเงินที่ผ่อนปรนสูงและธนาคารเฟดสหรัฐฯ เร่งจำกัดมาตรการกระตุ้นทางการคลัง นี่จะไม่เป็นผลดีต่อเงินเยน และคู่ USD/JPY จะพยายามบุกขึ้นไปพิชิตระดับ 112.00 โดยสถานการณ์นี้สามารถกอบกู้ได้เมื่อความต้องการในสินทรัพย์เสี่ยงสูงลดลง หรือหากตลาดลังเลที่จะผลักดันราคาขึ้นไปสูงกว่ากรอบดังกล่าวในระยะกลาง
ในขณะนี้ ผู้เชี่ยวชาญ 60% เชื่อว่าคู่ USD/JPY อาจเข้าใกล้ระดับ 112.00 แต่มีเพียงนักวิเคราะห์แค่ครึ่งหนึ่งที่โหวตว่าราคาจะขยับขึ้นไปยืนเหนือระดับดังกล่าวได้ อีกครึ่งหนึ่งเชื่อว่าราคาคู่นี้จะกลับเข้าสู่กรอบที่ระบุข้างต้นอีกครั้ง
สำหรับอินดิเคเตอร์บนกรอบ D1 มีออสซิลเลเตอร์ 65% ชี้ไปทางทิศเหนือ ส่วนที่เหลือให้สัญญาณสีเทากลางหรือบ่งชี้ว่าราคาอยู่ในช่วง overbought แต่ด้านอินดิเคเตอร์เทรนด์โหวตเป็นเสียงเดียวกันว่าราคาจะขยับขึ้นเหนือต่อไป
ด้านระดับแนวรับยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่: 110.15, 109.60, 109.10, 108.70 และ 108.30 ความฝันของฝั่งตลาดหมี (ที่ดูจะเป็นไปไม่ได้แล้ว) คือ การกลับไปทดสอบระดับต่ำสุดของเดือนเมษายนที่ 107.45 โดยมีแนวต้านที่ใกล้ที่สุดคือ 110.80, 111.00 และ 111.65 เป้าหมายสูงสุดของตลาดกระทิงยังคงเหมือนเดิมคือการพิชิตระดับเป้าหมายที่ 112.00 และอาจจะฝ่าทะลุระดับดังกล่าวให้สำเร็จ
สำหรับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในญี่ปุ่นในสัปดาห์หน้านี้ เราให้ความสำคัญกับการประชุมของคณะกรรมการนโยบายทางการเงินของธนาคารแห่งชาติญี่ปุ่นที่จะจัดขึ้นในวันอังคารที่ 28 กันยายน และการประกาศดัชนี Tankan Index of Large Producers ของประเทศในไตรมาสที่ 3 ในวันศุกร์ที่ 1 ตุลาคม แต่ดัชนีเหล่านี้จะส่งผลต่อ USD/JPY มากน้อยเพียงใด? เรามองว่าไม่น่าจะมีผลเท่าไรนัก
คริปโตเคอเรนซี: เหล่าปลาวาฬเตรียมรับมือการโจมตีของฝูงหมี
- กราฟ BTC/USD และ ETH/USD ในสัปดาห์นี้มีความใกล้เคียงอย่างมากกับดัชนีหุ้น S&P500 และ Dow Jones เหตุผลก็คือความผันผวนของอารมณ์นักลงทุน
ความเสี่ยงของการผิดชำระหนี้ของหนึ่งในบริษัทการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่สุดในจีนอย่าง Evergrande ซึ่งมีภาระหนี้สินสะสมกว่า 2 ล้านล้านหยวน ($ 309 พันล้านดอลลาร์) ยิ่งกระตุ้นให้เกิดความกังวลในตลาดการเงินในวันที่ 20 กันยายน นักลงทุนเริ่มขจัดสินทรัพย์ความเสี่ยงและส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้น ตลาดคริปโตก็ไม่รอดพ้นจากแรงเทขายเช่นกัน เดิมเมื่อวันจันทร์ราคาบิทคอยน์อยู่ที่ $52,870 และดิ่งลงมายัง $39,666 ในช่วงเวลาสั้น ๆ ทำให้เสียมูลค่า 25% เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา
ภาวะหวาดวิตกที่เกิดจากบริษัท Evergrande เริ่มเบาบางลงเมื่อวันที่ 22 กันยายน ตามมาด้วยการปรับฐาน และความต้องการในความเสี่ยงกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้งหลังการประชุมของธนาคารเฟด ทำให้กราฟขยับสูงขึ้น อย่างไรก็ดี นี่อาจจะยังเร็วเกินไปที่จะคิดว่าแรงขายนั้นสิ้นสุดลงแล้ว หลังจากบิทคอยน์ขยับขึ้นมาที่ $45,150 ราคาเหรียญก็ดิ่งลงอีกครั้งเมื่อวันศุกร์ที่ 24 กันยายน จากนั้นก็สู้กลับขึ้นมาและซื้อขายอยู่ที่ $43,000 ณ ขณะที่เขียนบทรีวิวฉบับนี้
เป็นอีกครั้งที่ประเทศจีนคือสาเหุตเบื้องหลังการเทขาย โดยธนาคารแห่งชาติของจีนได้ประกาศให้กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับคริปโตเคอเรนซีทั้งหมดนั้นผิดกฎหมาย โดยให้สัญญาว่าจะดำเนินการอย่างเคร่งครัดกับผู้ที่ละเมิดกฎหมาย คำสั่งห้ามนี้ยังรวมถึงการห้ามบริการของตลาดคริปโตต่างประเทศที่ให้บริการในประเทศ
นอกเหนือไปจากแรงกดดันจากหน่วยงานทางการแล้ว พฤติกรรมของเหล่าปลาวาฬก็ส่งสัญญาณเตือนภัย ในด้านหนึ่ง จำนวนเหรียญที่พวกเขาเป็นเจ้าของนั้นเพิ่มสูงขึ้น เดิมในเดือนกุมภาพันธ์มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3236 BTC ต่อหนึ่งปลาวาฬ (ผู้ถือเหรียญจำนวนมา) ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นเป็น 3722 BTC ในเดือนกันยายน แต่จำนวนปลาวาฬเองนั้นลดลง 15% และขณะนี้อยู่ที่ 2,125 ราย ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดในช่วง 15 เดือนที่ผ่านมา นอกจากนี้ เหรียญจำนวนมากยังไหลออกจากวอลเล็ตเข้าสู่บัญชีตลาดแลกเปลี่ยน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเหล่าปลาวาฬกำลังเตรียมพร้อมสำหรับตลาดหมีที่อาจยืดเยื้อต่อเนื่อง
แน่นอนว่ากลุ่มปลาวาฬไม่ใช่กลุ่มผูกขาดกลุ่มเดียว และแม้ว่าพวกเขาจะมีความต้องการทั่วไปที่จะทำกำไร พวกเขาก็สามารถแบ่งได้เป็นทั้งนักลงทุนระยะสั้นและระยะยาว นักลงทุนระยะสั้นมักจะเก็งกำไรและเก็บกำไรตั้งแต่จำนวนน้อย ๆ ในขณะที่นักลงทุนระยะยาวดังเช่น MicroStrategy ยินดีที่จะเก็บเหรียญเพิ่มเมื่อราคาดิ่งลง และเพราะกลุ่มนี้เองที่เป็นตัวช่วยไม่ให้ราคาเหรียญทรุดลงอย่างสิ้นเชิง
สำหรับอารมณ์ของนักลงทุน สถิติจาก Glassnode ในรายงานฉบับล่าสุดมีความน่าสนใจ โดยตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคม ราคาบิทคอยน์ได้ไต่ขึ้นมาจาก $31,000 เป็น $52,000 ผู้ถือเหรียญระยะยาวได้ขายเหรียญไปแล้วที่ระดับระหว่าง $18,000 และ $31,000 ซึ่งนักวิเคราะห์ชี้ว่านักลงทุนเชิงรับบางส่วนได้ย้ายกลุ่มมาเป็นนักเทรดขาประจำซึ่งขายเหรียญที่ซื้อมาใกล้เคียงกับระดับราคาปัจจุบัน
มูลค่ารวมในตลาดคริปโตขยับลงมาต่ำกว่าระดับสำคัญทางจิตวิทยาอีกครั้งที่ $2.0 ล้านล้านดอลลาร์ และขณะนี้อยู่ที่ $1.84 ล้านล้านดอลลาร์ ดัชนี Crypto Fear & Greed Index ได้ขยับจากโซนตรงกลาง (48 จุด) เข้าสู่โซนหวาดกลัว และอยู่ที่ 27 จุดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 23 กันยายน เป็นระดับต่ำสุดในรอบสัปดาห์ ก่อนที่จะขึ้นมาเล็กน้อยเมื่อวันศุกร์ที่ 24 กันยายนที่ 33 จุด
โดยทั่วไป ตลาดคริปโตในขณะนี้อยู่ในภาวะแห่งความไม่แน่นอน ผู้มีอิทธิพลบางคนคาดการณ์ว่าราคาจะเติบโตไปได้อย่างไม่เคยมีมาก่อน ในขณะที่บางคน เช่น นายปีเตอร์ ชิฟฟ์ ประธาน Euro Pacific Capital เชื่อว่า “ฟองสบู่” จะแตกลงในเร็ว ๆ นี้ แน่นอนว่าความเห็นดังกล่าวมีผลต่อทั้งบิทคอยน์ และรวมถึงอีธีเรียมเช่นกัน
ราคาเหรียญ ETH ขยับลงมา 40% จาก $4,020 เหลือ $2,650 ในเวลาเพียงสามวันเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ระหว่างวันที่ 20-22 กันยายน ในขณะเดียวกัน นายนิโคเลาส์ ปานิเกิร์ตโซกลู นักยุทธศาสตร์จากธนาคาร JPMorgan เชื่อว่าราคาควรดิ่งลงต่ำกว่านี้ เขามองว่าราคาที่เป็นธรรมของเหรียญอัลท์คอยน์นี้คือ $1,500 จากการประเมินกิจกรรมของเครือข่าย
มุมมองในทางตรงกันข้้ามนั้นเป็นของ นายลาร์ค ดาวิส นักเทรดและนักวิเคราะห์คริปโตผู้กล่าวว่า ETH จะขยับถึง $10,000 ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า เขาเน้นย้ำถึงนักลงทุนรายใหญ่ ธนาคาร และบริษัทต่าง ๆ ที่ยังคงลงทุนในระบบนิเวศอีธีเรียมอย่างต่อเนื่อง นายดาวิสอ้างถึงปริมาณที่จำกัดในตลาดว่าเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่เข้าข้างการเติบโตของอัลท์คอยน์ 87% ของเหรียญทั้งหมดไม่มีการเคลื่อนไหวเป็นเวลามากกว่าสามเดือน ซึ่งแสดงถึงความลังเลของนักลงทุนที่จะขายเหรียญที่ออมไว้ นอกจากนี้ การขาดแคลนเหรียญอีธีเรียมเป็นอย่างมากยังเกิดขึ้นจากการเผาค่าธรรมเนียมธุรกรรมอ้างอิง รวมถึงจำนวนเงินฝากที่เพิ่มขึ้นใน ethereum 2.0
และในส่วนบทสรุป การค้นพบครั้งหนึ่งที่สะเทือนวงการเกิดขึ้นเมื่อ 100 ปีที่แล้ว เมื่อนายเฮนรี ฟอร์ด นักอุตสาหกรรมรถยนต์ชื่อดังได้เสนอแนวคิดในการแทนที่ทองคำด้วยสิ่งที่เรียกว่า “ค่าเงินพลังงาน” ซึ่งเขาได้เสนอประเด็นนี้ขึ้นมาในงาน New York Tribune ตั้งแต่ปี 1921 งานวิจัยชิ้นนี้ชี้ว่าโครงการที่นายฟอร์ดเสนอให้เริ่มใช้สกุลเงินใหม่นี้มีความใกล้เคียงอย่างน่าทึ่งกับคำอธิบายของ BTC ซึ่งเป็นเหรียญที่ปรากฏขึ้นมาในปี 2008 โดย นายซาโตชิ นากะโมโตะ
หน้าแรกของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้เขียนถึงบทความเกี่ยวกับ “ค่าเงินพลังงาน” ซึ่งนายฟอร์ดเชื่อว่าจะช่วยยุติสงครามและกลายเป็นกระดูกสันหลังของระบบการเงินยุคใหม่
นักปฏิวัติอุตสาหกรรมยานยนต์คนนี้ยังเสนอให้แทนที่ทองคำด้วยค่าเงินดังกล่าว ซึ่งจะช่วยทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์บนพื้นฐานของ “หน่วยแห่งแรง” ซึ่งเขาจะสามารถใช้มันในการสร้างสถานีพลังงานไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ ดังนั้นจึงเป็นการสร้างสกุลเงินที่จะกลายเป็นหน่วยทางการเงินที่มีเสถียรภาพและมั่นคงมากที่สุด และจะช่วยป้องกันไม่ให้คนร่ำรวยทำกำไรจากการเก็งกำไรด้วยทองคำได้มากขึ้น
กลุ่มนักวิเคราะห์ NordFX
หมายเหตุ: เนื้อหาดังกล่าวไม่ควรยึดถือเป็นคำแนะนำในการลงทุนหรือเป็นคำปรึกษาในการซื้อขายในตลาดการเงิน โดยเนื้อหาข้างต้นเป็นไปเพียงเพื่อจุดประสงค์ในการให้ข้อมูลเท่านั้น การซื้อขายในตลาดการเงินมีความเสี่ยงและอาจทำให้เกิดการสูญเสียเงินฝากได้
กลับ กลับ