EUR/USD: การปรับฐานหรือเทรนด์เปลี่ยนทิศทาง?
- หลังจากราคาขยับถึงระดับต่ำสุดที่ 1.1523 เมื่อวันอังคารที่ 12 ตุลาคม EUR/USD ก็จบรอบเทรนด์ขาลงซึ่งขยับมาตลอดห้าสัปดาห์ ราคาได้กลับตัวและขยับขึ้น นับตั้งแต่ฤดูใบไม้ร่วงเริ่มต้น ดอลลาร์แข็งค่ากลับขึ้นมา 385 จุดเทียบกับยูโร แล้วค่าเงินยูโรจะฟื้นตัวขึ้นมาในตอนนี้หรือไม่?
สถานการณ์ตอนนี้จริง ๆ แล้วมีความกำกวม ผู้เชี่ยวชาญบางคนคาดว่าราคาจะมีการปรับฐานครั้งใหญ่และพาราคาขึ้นไปทิศเหนือ แต่สิ่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้น ราคาขึ้นไปถึง 1.1624 เท่านั้น และปิดตลาดห้าวันทำการที่ 1.1600
สถิติของสัปดาห์นี้แสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวอย่างค่อนข้างรวดเร็วและต่อเนื่อง จึงมีโอกาสเกือบ 100% ที่ธนาคารเฟดจะเริ่มจำกัดมาตรการกระตุ้นทางเศรษฐกิจ(QE) ตั้งแต่เดือนหน้า
ยอดขอรับสวัสดิการว่างงานเบื้องต้นในสหรัฐฯ ลดลงเหลือ 293,000 เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่สถานการณ์โควิด-19 เริ่มขึ้น (ลดลง 36K จากที่คาดการณ์ 14,000) และจำนวนผู้ที่ได้รับสวัสดิการอยู่แล้ว จากตัวเลขคาดการณ์ที่ 78,000 ตัวเลขจริงลดลงจาก 2.72 เหลือ 2.59 ล้านราย โดยลดลง 134,000 ราย ดัชนีราคาผู้ผลิตก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกันจาก 8.3% เป็น 8.6% (จากตัวเลขคาดการณ์ 8.5%) ในส่วนอัตราเงินเฟ้อปีต่อปีมีแนวโน้มสูงขึ้นมากที่สุดในประวัติศาสตร์
ทั้งนี้ ดัชนีราคาผู้ผลิตถือว่าเป็นดัชนีชี้นำของดัชนีราคาผู้บริโภค ดังนั้น อัตราเงินเฟ้อจึงน่าจะขยับสูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้มีความจำเป็นต้องยุติมาตรการ QE ให้เร็วขึ้น โดยเฉพาะหลังจากดัชนียอดขายปลีกซึ่งประกาศเมื่อวันศุกร์ที่ 15 ตุลาคม ก็ออกมาในโซนสีเขียวเช่นกันที่ +0.7% เทียบกับตัวเลขคาดการณ์ที่ -0.2%
และตรงนี้เองก็ปรากฏคำถามว่า หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ดีทั้งหมด ทำไมราคาคู่นี้จึงไม่ขยับตัวลดลง? ทั้งนี้ ฝั่งกระทิงของยูโรยังคงมีความหวังว่า การปรับลดมาตรการกระตุ้นทางการคลังจะถูกชะลอออกไปอย่างน้อยจนถึงเดือนธันวาคม สิ่งนี้ได้รับการสนับสนุนโดยดัชนีตลาดหุ้นที่พุ่งสูงขึ้น ดัชนี S&P500 ปรับขึ้น 3% ในช่วงครึ่งหลังของสัปดาห์ (เป็นแนวโน้มสูงขึ้นมากที่สุดในรอบเจ็ดเดือน) และดัชนี Dow Jones ปรับขึ้น 3.4% ซึ่งไม่ปรากฏว่ามีการปรับตัวสูงขึ้นครั้งใหญ่แบบนี้ในรอบเกือบสามเดือนเต็ม
แล้วเราควรคาดหวังอะไรกับ EUR/USD ในอนาคตอันใกล้? เทรนด์ขาลงจะดำเนินต่อไปหลังจากการปรับฐานหรือไม่? ยูโรจะแข็งค่าขึ้นและเทรนด์ขาขึ้นจะกลับทิศทางไหมl? หรือราคาจะเคลื่อนไปในทิศทางด้านข้าง?
ผลการวิเคราะห์อินดิเคเตอร์บนกรอบ D1 ดูค่อนข้างน่าสับสน ออสซิลเลเตอร์ 55% ให้สีแดง 15% เป็นสีเขียว ส่วน 30% ที่เหลือให้สัญญาณสีเทากลาง ไม่มีสัญญาณพ้องกันในหมู่อินดิเคเตอร์เทรนด์เช่นกัน ในที่นี้ 65% ชี้ไปทางทิศใต้ และ 35% หันไปทางทิศเหนือ ในส่วนการวิเคราะห์ชี้ว่าราคาจะขยับขึ้นไปที่ 1.1725 จากนั้นจะย้อนตัวกลับลงมาและเคลื่อนที่ในช่วงราคา 1.1585-1.1725
ในส่วนของนักวิเคราะห์ 20% มองว่าราคาจะขยับลดลงต่อไป 50% ชี้ว่าราคาจะขยับขึ้น และอีก 30% มีท่าทีเป็นกลาง แนวรับในที่นี้ ได้แก่ 1.1585, 1.1560, 1.1520, 1.1485 และ 1.1450 ส่วนระดับแนวต้าน ได้แก่ 1.1625, 1.1685 1.1715, 1.1800, 1.1910.
ในส่วนเหตุการณ์ในสัปดาห์หน้านี้จะมีการประชุมของคณะมนตรียุโรปในวันพฤหัสบดีที่ 21 ตุลาคม และการประกาศดัชนี Markit PMI ภาคการผลิตในเยอรมนีและยูโรโซนโดยรวมในวันที่ 22 ตุลาคม นอกจากนี้จะมีการประกาศอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งชาติของจีนในวันพุธที่ 20 ตุลาคม ซึ่งอาจส่งผลต่อคู่นี้เช่นกัน
GBP/USD: ชัยชนะยังอยู่กับเงินปอนด์ในตอนนี้
- เงินปอนด์อยู่ในสถานะที่แตกต่างไปจากเงินยูโรเพื่อนบ้าน โดยเงินปอนด์แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องเทียบกับดอลลาร์ ทั้งนี้ คู่ GBP/USD ปรับขึ้นมา 360 จุด (จาก 1.3412 ขึ้นมาที่ 1.3772) ตั้งแต่วันที่ 29 กันยายน และปิดที่ 1.374 เหตุผลของการเคลื่อนที่ดังกล่าวนั้นเข้าใจได้และทั้งหมดเป็นเพราะแผนการของธนาคารแห่งชาติอังกฤษที่จะเริ่มจำกัดนโยบายทางการเงินและขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นในอนาคตอันใกล้
อย่างที่เราได้เขียนไว้แล้ว ผู้เชี่ยวชาญจาก Citibank ชี้ว่า เงินปอนด์ในขณะนี้กำลังได้รับแรงหนุนจากปัจจัยดังต่อไปนี้ ปัจจัยแรกคือความสำเร็จของสหราชอาณาจักรในการต่อสู้กับ COVID-19 ประการที่สองคือความเสี่ยงทางการเมืองที่ลดลงซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการเจรจาระหว่างอียูและสหราชอาณาจักรว่าด้วยเรื่องประเด็นไอร์แลนด์เหนือ และการปฏิเสธให้มีการลงประชามติเรื่องการแยกตัวของสกอตแลนด์ และแน่นอนคือการตัดสินใจของธนาคารแห่งชาติอังกฤษในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็น 0.25% ในเดือนพฤษภาคม 2022 และขึ้นเป็น 0.50% ในเดือนธันวาคม แนวโน้มดังกล่าวต่อนโยบายทางการเงินของสหราชอาณาจักรนั้น “ถูกวางไว้เป็นอย่างดีเพื่อเผชิญหน้ากับนโยบายของธนาคารเฟด” กล่าวโดยนักวิเคราะห์ Citibank ซึ่งเป็นสิ่งที่เราได้เห็นในช่วงเดือนตุลาคมนี้
อย่างไรก็ตาม ทันทีที่ธนาคารเฟดเริ่มจำกัดมาตรการ QE หลายสิ่งอาจเริ่มเปลี่ยนไปเป็นอย่างมากและเข้าทางฝั่งดอลลาร์ ผู้เชี่ยวชาญ 60% คาดการณ์ในขณะนี้ว่า ราคาคู่นี้จะขยับลงทิศใต้อีกครั้งเพื่อทดสอบแนวรับที่ 1.3675, 1.3600, 1.3575, 1.3525 และ 1.3400 ส่วนนักวิเคราะห์ 20% โหวตว่าแนวโน้มขาขึ้นจะดำเนินต่อไป (ระดับแนวต้านและเป้าหมายของฝั่งกระทิงอยู่ที่ 1.3770, 1.3810, 1.3900 และ 1.4000) และผู้เชี่ยวชาญ 20% ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยการวิเคราะห์กราฟบนกรอบ D1 คาดการณ์เทรนด์ด้านข้าง
ในส่วนอินดิเคเตอร์ ฝั่งที่ได้เปรียบมากกว่าเป็นอย่างมากคือฝั่งสีเขียว โดยมีออสซิลเลเตอร์ 60% และอินดิเคเตอร์เทรนด์ 100% ที่บ่งชี้ว่าเทรนด์จะขยับขึ้นต่อไปบนกรอบรายวัน ส่วนออสซิลเลเตอร์ 25% ให้สัญญาณว่าราคาอยู่ในโซน overbought และ 15% ยังมีท่าทีเป็นกลาง
ในส่วนปฏิทินเศรษฐกิจของสัปดาห์หน้านี้ เราควรให้ความสนใจกับตัวชี้วัดอัตราเงินเฟ้อที่สำคัญ เช่น ดัชนี CPI ของสหราชอาณาจักร (จะประกาศในวันพุธที่ 20 ตุลาคม) รวมถึงดัชนี Markit PMI ภาคบริการของสหราชอาณาจักรซึ่งจะประกาศในวันศุกร์ที่ 22 ตุลาคม
USD/JPY: เส้นทางสู่ดวงดาวนั้นเต็มไปด้วยความยากลำบาก
- ในภาษาลาตินมีสำนวนว่า Per aspera ad astra ซึ่งมาจากนักปรัชญาชาวโรมันโบราณที่ชื่อ Lucius Anna Seneca สำนวนนี้มีความหมายว่า “ผ่านความยากลำบากจนกว่าจะไปถึงดวงดาว” และหมายความว่า “ผ่านความยากลำบากจะไปสู่ชัยชนะ” และนี่คือสิ่งที่ฝั่งกระทิงของ USD/JPY ได้คว้าชัยชนะ
ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่คาดการณ์ไว้ว่า ฝั่งกระทิงจะไม่หยุดจนกว่าจะพิชิต 112.00 ได้สำเร็จ และในขณะนี้ ความพยายามหลายเดือนของพวกเขาก็สำเร็จในที่สุด และที่สำคัญ หลังจากราคาพุ่งขึ้น 222 จุดตลอดทั้งสัปดาห์ ราคายังขึ้นไปถึง 114.45 เมื่อวันศุกร์ที่ 15 ตุลาคม โดยปิดตลาดต่ำลงมาเล็กน้อยที่ 114.21 ใกล้กับกรอบด้านบนของช่องที่ราคามีการซื้อขายมาตั้งแต่ต้นปี 2017
การเคลื่อนที่ครั้งสำคัญของค่าเงินญี่ปุ่นนี้เป็นไปตามบทบาทของเงินเยนในฐานะสินทรัพย์หลบภัยโดยสมบูรณ์ และสะท้อนถึงความสัมพันธ์ในทางกลับกันระหว่างอัตราแลกเปลี่ยนและความต้องการในความเสี่ยง ความสนใจที่เพิ่มขึ้นของนักลงทุนในตลาดหุ้นอเมริกาและญี่ปุ่น (ดัชนีหลักทรัพย์ญี่ปุ่น Nikkei 225 เติบโตคู่ขนานกันกับ &P 500) ยิ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเงินเยน ราคาน้ำมันที่ดีดตัว ซึ่งญี่ปุ่นเป็นประเทศที่นำเข้าเป็นส่วนใหญ่นั้นยิ่งสนับสนุนความต้องการของตลาดในหุ้นญี่ปุ่นเช่นกัน
นายชูนิชิ ซูซูกิ รัฐมนตรีการคลังญี่ปุ่นชี้ว่า เงินเยนที่อ่อนแอจะช่วยสนับสนุนการส่งออก แต่ก็ทำให้ต้นทุนในการนำเข้าสูงขึ้นสำหรับหลายบริษัทรวมถึงผู้บริโภค ในขณะเดียวกัน เขากล่าวด้วยว่า เสถียรภาพในตลาดฟอเร็กซ์นั้นมีความสำคัญต่อรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลติดตามผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยนและเศรษฐกิจประเทศอย่างใกล้ชิด แต่เขาปฏิเสธที่จะให้ความเห็นโดยตรงเกี่ยวกับสถานการณ์ ณ ปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มขาลงของเงินเยนในช่วงสองสัปดาห์ของเดือนตุลาคมดูรวดเร็วมากเกินไปเมื่อพิจารณาการเคลื่อนที่ในช่วงห้าเดือนที่ผ่านมา และนี่อาจเป็นเหตุผลให้มีการปรับฐานครั้งรุนแรงของคู่ USD/JPY ไปยังทิศใต้ได้ ดังนั้น นักวิเคราะห์ 70% เชื่อว่า ราคาคู่นี้จะขยับกลับไปยังโซน 111.00-112.00 ภายในสามถึงห้าสัปดาห์หน้านี้ อย่างไรก็ตาม ฝั่งตลาดกระทิงจะมีข้อได้เปรียบในระยะสั้น ส่วนผู้เชี่ยวชาญ 55% มองว่า ความสนใจที่ต่อเนื่องของนักลงทุนต่อตลาดหุ้นอาจทำให้ค่าเงินเยนญี่ปุ่นอ่อนค่าลงต่อไปได้
ณ ขณะที่เขียนบทรีวิวฉบับนี้มีออสซฺิลเลเตอร์ 75% และอินดิเคเตอร์เทรนด์ 100% บนกรอบ D1 ชี้ว่าราคาจะเติบโตขึ้นต่อไป ส่วนออสซิลเลเตอร์ 25% ให้สัญญาณว่าราคาอยู่ในโซน overbought และเป็นไปได้ที่จะมีการปรับฐาน ระดับแนวต้าน ได้แก่ 114.55 และ 115.50 ส่วนเป้าหมายของตลาดกระทิงในระยะยาวคือระดับสูงสุดของเดือนธันวาคมปี 2016 ที่ 118.65 ระดับแนวรับ ได้แก่ 113.80, 113.25, 112.00 และ 111.65.
คริปโตเคอเรนซี: เป้าหมายใหม่ของ BTC คือ $68,000
- ข่าวที่เกี่ยวข้องกับจีนเกือบจะเปลี่ยนทิศทางเทรนด์บิทคอยน์ให้ขยับลงทิศใต้อีกครั้งเมื่อวันพุธที่ 13 ตุลาคม หลัง Binance ตลาดแลกเปลี่ยนคริปโตขนาดใหญ่ที่สุดได้ประกาศว่าจะหยุดให้บริการลูกค้าจากประเทศจีน และลบเงินหยวนออกจากรายการสินทรัพย์ที่รองรับตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม
ก่อนที่ปักกิ่งจะเริ่มกวาดล้างคริปโต ประชาชนชาวจีนได้รวมกลุ่มกันจนเป็นหนึ่งในชุมชนขนาดใหญ่ในแวดวงคริปโต โดยประเทศจีนมีบทบาทนำในการขุดเหรียญบิทคอยน์ เมื่อช่วงปี 2020 สัดส่วนนี้อยู่ที่ 50-60% ของแฮชเรตรอบโลก สถานการณ์ดังกล่าวเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงตั้งแต่นั้นมา และสถิติจาก Cambridge University ชี้ว่า ประเทศที่มีการขุดเหรียญคริปโตมากที่สุดในขณะนี้ คือ สหรัฐฯ (35.4%) คาซัคสถาน (18.1%) และรัสเซีย (11.2%)
หากคุณดูบนแผนที่คุณจะเห็นได้ว่า สองประเทศหลังนี้มีเขตแดนติดกับประเทศจีน ซึ่งอาจเป็นไปได้ที่มีการเคลื่อนย้ายอุปกรณ์ขุดเหรียญจำนวนมากข้ามเขตแดน ด้วยเหตุนี้เอง นักขุดเหรียญที่ผิดกฎหมายในบางภูมิภาคบริเวณเขตแดนรัสเซียจึงมีปริมาณการใช้กระแสไฟฟ้าต่อปีสูงขึ้นกว่า 160%
เวลาจะเป็นเครื่องบ่งบอกว่าจีนจะเป็นผู้ชนะหรือผู้แพ้จากการคำสั่งแบนเหล่านี้ รวมถึงประเทศอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน ซึ่งหลายประเทศเตรียมใช้กฎหมายเข้มงวดในเรื่องคริปโตเคอเรนซีให้มากที่สุด ในขณะที่อีกหลายประเทศก็ยังคงซื่อสัตย์ต่อสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น นายจอห์น แรตคลิฟฟ์ ผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติสหรัฐฯ ได้ส่งจดหมายไปยังประธานคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ เมื่อปีที่แล้ว เพื่อขอให้เขาไม่จำกัดกิจกรรมของนักขุดเหรียญชาวอเมริกา และยังไม่รวมกรณีของประเทศเอล ซัลวาดอร์ ที่ให้การรับรองบิทคอยน์เป็นสกุลเงินทางการแล้วอีกด้วย
ที่น่าสนใจก็คือ การตัดสินใจนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักโดย นายวิตาลิก บูเทอริน ผู้พัฒนาเหรียญ Ethereum “ทุกคนควรละอาย (โอเค ผมจะบอกชื่อตัวร้ายหลัก พวกหัวสุดโต่งบิทคอยน์) ที่คอยสรรเสริญเขา (ประธานาธิบดี นายิบ บูเคเล) โดยไม่วิจารณ์อะไรเลย” นายบูเทอรินเขียนไว้บน Reddit เขาเน้นย้ำว่า กระบวนการที่บังคับให้ผนวกสินทรัพย์ดิจิทัลเข้าสู่ระบบการเงินนั้น “สวนทางกับอุดมคติเรื่องความเป็นอิสระที่ควรจะสิ่งที่สมาชิกในชุมชนคริปโตให้คุณค่า นอกจากนี้ กลอุบายในการแจกจ่าย BTC ให้กับชาวเอลซัลวาดอร์หลายล้านคนพร้อม ๆ กัน โดยไม่มีการฝึกอบรมหรือมีเพียงเล็กน้อยนี้เป็นสิ่งที่ไม่ระมัดระวัง และมีความเสี่ยงที่คนบริสุทธิ์จำนวนมากจะถูกโจรกรรมหรือหลอกลวงได้”
สถาบันวิจัย Capgemini ก็มีความกังวลในประเด็นว่าคริปโตเคอเรนซีจะเข้ามามีบทบาทกับชีวิตของคนทั่วไปอย่างแพร่หลายมากน้อยแค่ไหน นอกเหนือไปจากการจัดทำแบบสำรวจในหลายประเทศแล้ว สถาบันวิจัยนี้ยังได้วิเคราะห์สถิติจากธนาคารเพื่อการไกล่เกลี่ยระหว่างประเทศ ธนาคารกลางยุโรป กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ธนาคารโลก และธนาคารกลางอื่น ๆ
Capgemini ชี้ว่ามีผู้บริโภคต่ำกว่า 10% ที่ใช้งานคริปโตเคอเรนซีในการชำระเงินในปัจจุบัน แต่สถาบันวิจัยฯ ทำนายว่า ลูกค้าเกือบ 45% จะใช้ช่องทางการชำระเงินใหม่นี้ในอีกหนึ่งหรือสองปีข้างหน้า แนวโน้มนี้จะได้รับการสนับสนุนโดยความต้องการที่เพิ่มขึ้นในการชำระเงินระหว่างประเทศ และความลังเลที่จะจ่ายค่าธรรมเนียมที่สูง บัตรเครดิตคริปโตจะเป็นที่ใช้งานอย่างแพร่หลายมากขึ้น
หากประเทศผู้นำโลกไม่เริ่มไล่ล่าบิทคอยน์เหมือนกับจีน บิทคอยน์จะมีโอกาสที่จะแซงหน้าบริษัทชั้นนำต่าง ๆ และแม้แต่เศรษฐกิจโลกโดยรวมในแง่ของมูลค่ารวมในจลาด
ตามสถิติของ Coinmarketcap ขณะนี้ บริษัท Apple มีมูลค่ารวมในตลาดสูงที่สุด ($2.34 ล้านล้านดอลลาร์), ตามมาด้วย Microsoft, Google, Amazon และบิทคอยน์เป็นอันดับที่ห้า หากคุณดูจากสถิติ มูลค่ารวมของตลาดหุ้นในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ $100 ล้านล้านดอลลาร์ ส่วนมูลค่าในตลาดทองคำอยู่ที่ประมาณ $12 ล้านล้านดอลลาร์ ส่วนมูลค่ารวมในตลาดคริปโตเคอเรนซี ณ ขณะที่เขียนบทรีวิวฉบับนี้นั้นอยู่ที่ $2.42 ล้านล้านดอลลาร์ และมีสัดส่วนของ BTC ที่ $1.12 ล้านล้านดอลลาร์ (ดัชนีการครองตลาดอยู่ที่ 46.24%)
บิทคอยน์ยังไม่หยุดทำให้นักลงทุนประทับใจในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลอดเจ็ดวันดังกล่าว คู่ BTC/USD ขยับขึ้นมา 16% โดยขยับถึงระดับสูงสุดในกรอบที่ $62,880 การคาดการณ์นี้ได้รับการสนับสนุนโดยผู้เชี่ยวชาญหลายคน ซึ่งชี้ว่าอีกไม่นาน ราคาน่าจะขึ้นทดสอบระดับสูงสุดในประวัติศาสตร์ที่ $64,810 ของวันที่ 14 เมษายน หากทำสำเร็จ จากสถิติความผันผวนชี้ว่าราคาอาจขยับขึ้นถึง $68,000 ได้ และอาจตามมาด้วยการปรับฐานครั้งรุนแรงหลังมีการเก็บกำไรครั้งใหญ่
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าราคาอาจมีการย่อตัวกลับมา ภาพรวมระยะกลางของคู่นี้ยังคงเป็นบวก ระดับแนวต้านที่สำคัญถัดไปอยู่ที่บริเวณ $80,000-81,000 ผู้เชี่ยวชาญจาก Kraken ตลาดแลกเปลี่ยนขนาดใหญ่ของอเมริกาเชื่อว่า ราคาบิทคอยน์อาจขยับถึง $100,000 ภายในสิ้นปี 2021 อ้างอิงจากการวิเคราะห์พฤติกรรมราคาในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การคำนวณนี้ชี้ว่าราคาบิทคอยน์มักจะขยับขึ้นในช่วงไตรมาสที่สี่ของปี ซึ่งในช่วงเวลานี้ “ผลตอบแทนโดยเฉลี่ยและระยะกลางนั้นขยับถึง +119% และ +58% ตามลำดับ" หากผลตอบแทนโดยเฉลี่ยของปี 2020 เกิดขึ้นอีกครั้ง ในปีนี้ BTC อาจส่งท้ายปีที่ราคา $100,000 หรือจะให้ชัดเจนก็คือที่บริเวณ $96,000 อย่างไรก็ตาม ถ้าหากเราไม่ได้ดูที่ค่าเฉลี่ย แต่เป็นโอกาสการทำกำไรจากค่ากลาง ราคาบิทคอยน์ก็น่าจะขยับขึ้นไปที่ประมาณ $70,000
ด้านดัชนี Crypto Fear & Greed Index ไต่ขึ้นมาจากโซนเกรงกลัว (Fear Zone) เป็นโซนความโลภ (Greed Zone) ในช่วงสองสัปดาห์ของเดือนตุลาคม โดยขยับขึ้นมาที่ 71 จุด อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ได้หมายความว่าตลาดมีแรงซื้อมากเกินไป และในความเห็นของนักพัฒนาดัชนีนี้มองว่า ยังถือว่าอันตรายอยู่ที่จะเปิดตำแหน่งขายในสถานการณ์เช่นนี้
กลุ่มนักวิเคราะห์ NordFX
หมายเหตุ: เนื้อหาดังกล่าวไม่ควรยึดถือเป็นคำแนะนำในการลงทุนหรือเป็นคำปรึกษาในการซื้อขายในตลาดการเงิน โดยเนื้อหาข้างต้นเป็นไปเพียงเพื่อจุดประสงค์ในการให้ข้อมูลเท่านั้น การซื้อขายในตลาดการเงินมีความเสี่ยงและอาจทำให้เกิดการสูญเสียเงินฝากได้
กลับ กลับ