บทวิเคราะห์ฟอเร็กซ์และคริปโตเคอเรนซีประจำวันที่ 24 - 28 มกราคม 2022

EUR/USD: การประชุมของ FOMC: วันที่ตลาดรอคอย

  • เหตุการณ์สำคัญที่ไม่ใช่ของสัปดาห์หน้าเท่านั้น แต่ยังเป็นเหตุการณ์สำคัญของเดือนนี้คือการประชุมของคณะกรรมการ FOMC (คณะกรรมการตลาดเสรี) ของธนาคารเฟดสหรัฐฯ ในวันที่ 26 มกราคม ธนาคารเฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้หรือไม่? หรือจะขึ้นในเดือนมีนาคม? หรือว่าจะถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด? คำถามเหล่านี้ยังคงไม่มีคำตอบ

    แผนปฏิบัติการประกอบด้วยสามประเด็นหลักในขณะนี้ ได้แก่ 1) การจำกัดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจฉุกเฉินในเดือนมีนาคม 2) การขึ้นอัตราดอกเบี้ยสามครั้งในปี 2022 ซึ่งครั้งแรกจะมีขึ้นในเดือนมีนาคม หลังจากนั้น 3) ธนาคารฯ จะเริ่มปรับสมดุลกลับคืนสู่ปกติ อย่างไรก็ตาม ไม่มีอะไรที่อยู่จีรังยั่งยืนตลอดไปบนโลกนี้ เช่นเดียวกันกับธนาคารเฟดของสหรัฐฯ ดังนั้น สามข้อหลักเหล่านี้จึงไม่ใช่สิ่งตายตัวและอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้

    แม้แต่ นางคริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป ก็ได้กล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ธนาคารกลางยุโรปเริ่มตอบสนองแล้วและพร้อมที่จะปรับนโยบายหากข้อเท็จจริงและตัวเลขสร้างเงื่อนไข แม้ว่ายังไม่ชัดเจนเท่าไรนักว่า “สิ่งที่เริ่มตอบสนองแล้ว” นั้นคืออะไร และความ “พร้อม” ก็เป็นหลักการที่หละหลวมมาก

    ลาการ์ดกล่าวว่า การขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่เร็วเกินไปอาจชะลอการเติบโตของ GDP ยูโรโซน แล้วทำไมจะต้องลดมาตรการกระตุ้นทางการขึ้นและขึ้นอัตราดอกเบี้ย ในเมื่อภาวะเงินเฟ้อนั้นเป็นเพียงปรากฏการณ์ชั่วคราวเท่านั้น? และอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ กำลังขยับขึ้นรวดเร็วกว่าในยุโรป ดังนั้น ธนาคารเฟดจึงอาจต้องปวดหัวกับปัญหาดังกล่าว แต่ฝั่งธนาคารยุโรปยังรอไปได้จนถึงปี 2023 จนกว่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ย และในขณะเดียวกันก็สามารถรอดูสถานการณ์ที่เกิดขึ้นรอบโลกได้

    ความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างท่าทีแบบเหยี่ยว (นโยบายรัดเข็มขัด) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ และท่าทีแบบพิราบ (นโยบายแบบผ่อนคลาย) ของธนาคารกลางยุโรปเป็นแรงสนับสนุนที่สำคัญให้กับดอลลาร์ จึงกดคู่ EUR/USD ลงมา อย่างไรก็ดี มีหลายโอกาสที่การกระทำของนักลงทุนไม่ได้ถูกกำหนดโดยปัจจัยทางเศรษฐกิจหรือการเมืองจริง แต่โดยข่าวลือที่เผยแพร่บรรดานักเก็งกำไร 

    เหตุการณ์ที่คล้ายกันนี้ดูเหมือนจะเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 มกราคม นายเจอโรม พาวเวลล์ กล่าวต่อที่ประชุมสภาคองเกรสของสหรัฐฯ อีกครั้งว่า สำหรับการต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อที่สูงสุดในรอบสี่สิบปีนั้น ธนาคารเฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อยสองครั้งในปีนี้ และหากจำเป็นอาจขึ้นอัตราดอกเบี้ยสามครั้ง กล่าวคือ ไม่มีการกล่าวอะไรใหม่ แต่ข่าวลือกลับทำให้ตลาดรอฟังการขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งที่ “สี่” และก็ผิดหวังในที่สุดเพราะไม่มีการพูดถึง ดังนั้น ดัชนีดอลลาร์ DXY จึงขึ้นสู่ระดับสูงสุด และคู่ EUR/USD ขยับขึ้นทิศเหนือแทนที่จะลงไปยังทิศใต้

    เนื่องด้วยสถิติอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ยูโรแข็งค่าขึ้นมากกว่าเดิมในวันถัดมาเมื่อวันที่ 12 มกราคม และคู่ EUR/USD ขยับขึ้นต่อไปจนตัดทะลุกรอบราคาด้านข้างระยะกลางที่ 1.1220-1.1385 โดยราคาทำระดับสูงสุดในรอบเก้าสัปดาห์เมื่อช่วงเช้าวันที่ 14 มกราคมที่ 1.1482 หลังจากนั้น ทุกอย่างก็กลับคืนสู่ปกติ ตลาดตระหักดีว่าไม่มีสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้ยูโรแข็งค่าขึ้น และราคาก็กลับลงมายังกรอบที่ 1.1220-1.1385 อีกครั้งเมื่อวันอังคารที่ 18 มกราคม โดยทำระดับต่ำสุดที่ 1.1300 เมื่อวันที่ 21 มกราคม และปิดตลาดที่ 1.1343

    ณ ขณะที่เขียนบทวิเคราะห์ฉบับนี้ ออสซิลเลเตอร์ส่วนใหญ่ (55%) บนกรอบ D1 ให้สัญญาณสีแดง 20% ให้สีเขียว และ 25% ให้สีเทากลาง อินดิเคเตอร์เทรนด์ให้ผลลัพธ์สีแดง 90% และสีเขียวเพียง 10% ในบรรดาผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ (55) โหวตว่าดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้น 45% โหวตให้แนวโน้มขาลง ส่วนโซนแนวต้านที่ใกล้ที่สุดอยู่ที่ 1.1370-1.1385 จากนั้นคือ 1.1400-1.1435, 1.1480 และ 1525 ส่วนโซนแนวรับที่ใกล้ที่สุดอยู่ที่ 1.1300-1.1315 จากนั้นคือ 1.1275 และ 1.1220 ตามมาด้วยระดับต่ำสุดของวันที่ 24 พฤศจิกายนในปีที่แล้วที่ 1.1185 และโซน 1.1075-1.1100

    สำหรับปฏิทินเศรษฐกิจในสัปดาห์ที่จะถึงนี้ นอกจากการประชุมของคณะกรรมการ FOMC ของธนาคารเฟดสหรัฐฯ และการแถลงข่าวหลังจากการประชุมแล้ว เราสามารถเน้นการประกาศสถิติกิจกรรมทางธุรกิจในเยอรมนีและยูโรโซน (ดัชนี Markit) ในวันจันทร์ที่ 24 มกราคม ส่วนสถิติเบื้องต้นของ GDP สหรัฐฯ จะประกาศในวันพฤหัสบดีที่ 27 มกราคม รวมถึงปริมาณคำสั่งซื้อสินค้าทุนและสินค้าคงทน (เนื่องจากการซื้อสินค้าดังกล่าวมักต้องอาศัยเงินลงทุนมหาศาล สถิติเหล่านี้จึงสะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในสหรัฐฯ รวมถึงองค์ประกอบของอัตราเงินเฟ้อ) และสุดท้ายคือสถิติ GDP เยอรมนี ซึ่งจะประกาศในวันทำการสุดท้ายของสัปดาห์ วันที่ 28 มกราคม

GBP/USD: เดิมพันการขึ้นอัตราดอกเบี้ย

  • ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นต่อเงินปอนด์เล็กน้อยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เดิมคู่ GBP/USD อยู่ที่ระดับ 1.3748 เมื่อวันที่ 13 มกราคม และปรับลงมาที่ 1.3545 เมื่อช่วงเย็นวันที่ 21 มกราคม ผู้เชี่ยวชาญบางคนชี้ว่า เงินปอนด์โดยรวมนั้นเจอแรงซื้อมากเกินไป หลังจากการตัดสินใจของธนาคารแห่งชาติอังกฤษให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยจาก 0.1% เป็น 0.25% เป็นครั้งแรกในรอบสามปี ราคาคู่นี้ก็ขึ้นมาประมาณ 575 จุด ด้วยเหตุนี้ แนวโน้มขาลงปัจจุบันที่ 200 จุดจึงไม่ได้หมายถึงการกลับทิศทางระยะกลาง แต่เป็นเพียงแค่การปรับฐานชั่วคราว

    เงินปอนด์มีโอกาสสูงที่จะกลับมาแข็งค่าขึ้นอีกครั้ง แม้ว่าธนาคารเฟดสหรัฐฯ จะมีท่าทีที่จะใช้นโยบายรัดเข็มขัดก็ตาม ดัชนี CPI ซึ่งประกาศเมื่อวันที่ 19 มกราคม ชี้ว่า อัตราเงินเฟ้อในสหราชอาณาจักรขยับขึ้นระดับสูงสุดในรอบ 15 ปี ถึง 5.4% (ก่อนหน้านี้อยู่ที่ 5.1% ตัวเลขคาดการณ์อยู่ที่ 5.2%) การเติบโตที่ต่อเนื่องของอัตราเงินเฟ้ออาจบีบให้ธนาคารกลางขึ้นอัตราดอกเบี้ยตั้งแต่ในการประชุมครั้งถัดไปในวันที่ 3 กุมภาพันธ์นี้ โดยมีความเป็นไปได้ว่าในขณะเดียวกันนี้ อาจมีการทบทวนแผนลดมาตรการกระตุ้นทางการเงิน (QE) ที่ใช้บังคับในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เนื่องด้วยผลกระทบในระดับปานกลางของไวรัสโอไมครอนที่มีต่อเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักร

    แบบสำรวจผู้เชี่ยวชาญ 45 คน ที่จัดทำโดยสำนักข่าวรอยเตอร์สชี้ว่า ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ (65%) คาดการณ์ว่าธนาคารแห่งชาติอังกฤษจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ เป็น 0.5% ครั้งนี้ หากเกิดขึ้นจริง นักยุทธศาสตร์จาก Scotiabank เชื่อว่าคู่ GBP/USD อาจกลับสู่ระดับที่ 1.3800 อีกครั้ง

    นักวิเคราะห์มากกว่า 75% คาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยจะถูกปรับขึ้นเป็น 0.5% ภายในสิ้นเดือนมีนาคม นอกจากนี้ การคาดการณ์เห็นพ้องกันว่า ธนาคารกลางอังกฤษจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 25 จุดพื้นฐานในไตรมาสที่ 3 (ขึ้นเป็นหนึ่งในสี่เร็วกว่าความคาดหมาย) หลังจากนั้นจะตามมาด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งเป็น 1.0% ในช่วงต้นปี 2023

    อย่างไรก็ตาม สำหรับการคาดการณ์ในช่วงไม่กี่วันข้างหน้านี้ ผู้เชี่ยวชาญ 60% เห็นด้วยกับฝั่งตลาดหมี โดยคาดว่าราคาคู่นี้จะขยับลดลงอย่างน้อยมาที่โซน 1.3450-1.3500 ด้านอินดิเคเตอร์ส่วนใหญ่บนกรอบ D1 เห็นด้วยกับคำทำนายนี้ ออสซิลเลเตอร์จำนวน 60% ชี้สัญญาณขาย (แต่ 10% อยู่ในโซน oversold แล้ว) อีก 20% แนะนำให้ซื้อ และ 20% ให้สัญญาณเป็นกลาง ในบรรดาอินดิเคเตอร์เทรนด์มี 40% ชี้ไปทางทิศเหนือ และ 60% ชี้ไปทางทิศใต้

    ระดับแนวรับอยู่ที่ 1.3525, 1.3480, 1.3430, 1.3375 ส่วนระดับแนวรับถัดไปอยู่ต่ำลงมาอีก 100 จุด ระดับและโซนแนวต้านอยู่ที่ช่วง 1.3570-1.3600, 1.3640, 1.3700, 1.3750, 1.3835 และ 1.3900


    การประชุมของธนาคารแห่งชาติอังกฤษจะจัดขึ้นในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ และในสัปดาห์หน้านี้จะไม่มีการประกาศสถิติเศรษฐกิจมหภาคที่มีความสำคัญเท่าไรนัก การประกาศดัชนีกิจกรรมทางธุรกิจ Markit อาจทำให้ความผันผวนเพิ่มขึ้นในวันอังคารที่ 24 มกราคม แต่มีแนวโน้มสูงที่นักลงทุนจะไม่ให้ความสนใจเท่าไรนัก เมื่อเป็นช่วงใกล้การประชุมของธนาคารเฟดสหรัฐฯ

USD/JPY: เงินเยนในฐานะที่หลบภัย

  • การประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่นมีขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เมื่อวันที่ 18 มกราคม และเป็นไปตามคาด ธนาคารฯ คงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับเดิมคือระดับติดลบ -0.1% อย่างที่เราเคยเขียนไว้ก่อนหน้านี้ ธนาคารกลางญี่ปุ่นไม่ต้องการค่าเงินที่แข็งค่า และเงินเยนที่อ่อนค่าจะสามารถช่วงพยุงเศรษฐกิจได้ดีกว่าเพราะเป็นการส่งเสริมการส่งออกและกำไรของบริษัทญี่ปุ่น

    โดยรวมแล้ว ผลลัพธ์ของสัปดาห์ที่แล้วสำหรับคู่ USD/JPY สามารถประเมินว่าคงที่ ในตอนต้น ราคาได้ขยับขึ้นไปที่ระดับ 115.05 เมื่อวันอังคารที่ 18 มกราคม จากนั้นเทรนด์ก็เปลี่ยนมาเป็นเทรนด์ขาลง และราคาขยับลงมายังระดับที่ซื้อขายเมื่อหนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้าในโซน 113.60-114.00 ภายในปลายสัปดาห์ห้าวันทำการ

    ค่าเงินเยนได้รับแรงหนุนจากความต้องการในความเสี่ยงที่ลดลงในตลาด นักลงทุนเริ่มละทิ้งจากสินทรัพย์กลุ่มเสี่ยงอีกครั้งเพื่อหันเข้าหาเงินเยน ซึ่งทำหน้าที่เป็น “ที่หลบภัย” สาเหตุของการเปลี่ยนแปลงในอารมณ์ตลาดในครั้งนี้คือการคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อจะสูงขึ้น ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางรอบโลก และความตึงเครียดด้านการเมืองที่เพิ่มขึ้น

    คู่ USD/JPY ปิดตลาดในสัปดาห์ที่แล้วที่ 113.66 กล่าวคืออยู่ในช่วงซื้อขายคือ 113.40-114.40 ซึ่งราคาได้เคลื่อนที่ในกรอบดังกล่าวอยู่เป็นปกติในช่วงสามเดือนที่ผ่านมา และแม้ว่านักวิเคราะห์ 60% โหวตให้กับแนวโน้มขาขึ้น, 25% ขาลง, และ 15% เทรนด์ด้านข้าง การคาดการณ์โดยเฉลี่ยชี้ว่าราคาจะคงตัวอยู่ในกรอบนี้ เว้นแต่จะมีข่าวที่น่าประหลาดใจใด ๆ จากการประชุมของธนาคารเฟดสหรัฐฯ ทั้งนี้ นักเทรดต้องไม่ลืมเกี่ยวกับโอกาสการเกิดสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งอาจสร้างข่าวที่น่าประหลาดใจ หรือข่าวที่ไม่พึงประสงค์ได้เช่นกัน

    ในส่วนออสซิลเลเตอร์บนกรอบ D1 มี 100% หันไปทางทิศใต้ แต่ 25% ให้สัญญาณแล้วว่าราคาคู่นี้มีแรงขายมากเกินไป ในหมู่อินดิเคเตอร์เทรนด์มี 65% แนะนำให้ขาย 35% แนะนำให้ซื้อ และระดับแนวรับ ได้แก่ 113.50, 113.20, 112.55 และ 112.70 ระดับแนวต้านที่ใกล้ที่สุด คือ 114.00-114.25, 114.40-114.65 จากนั้นคือระดับที่ 115.00, 115.45, 116.00 และ 116.35

คริปโตเคอเรนซี: นี่ไม่ใช่แค่ฤดูหนาวในตลาดคริปโต แต่เป็นอากาศหนาวแบบขั้นโลก

  • ราคาของบรรดาสินทรัพย์กลุ่มเสี่ยงตกอยู่ภายใต้แรงกดดันหนักเมื่อรอฟังข่าวการประชุมของธนาคารเฟดสหรัฐฯ ดัชนี Dow Jones, S&P500 และ Nasdaq ติดลบมาเกือบตลอดเดือนมกราคม แต่สำหรับคริปโตเคอเรนซีสกุลชั้นนำถือว่าประสบความสำเร็จในการรับมือกับการโจมตีของฝั่งตลาดหมีในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา หากเราพูดถึงบิทคอยน์ ฝั่งผู้ซื้อทำอย่างเต็มที่เพื่อพยุงราคาคู่ BTC/USD ไม่ให้แตะระดับสำคัญทางจิตวิทยาที่ $40,000 อย่างไรก็ตาม ตลาดหมีทำสำเร็จในการกดราคาลงมาเมื่อวันศุกร์ที่ 21 มกราคม ถึง $36,160 มูลค่ารวมในตลาดคริปโตจึงดิ่งลงมาเช่นกันที่ $1.72 ล้านล้านดอลลาร์ ด้านดัชนี Crypto Fear & Greed Index จึงติดอยู่ในโซนเกรงกลัวอย่างยิ่ง (Extreme Fear) โดยขยับลงมาที่ 19 จุด

    ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่าสถานการณ์ดูไม่ค่อยดีนักสำหรับคริปโตเคอเรนซีในขณะนี้ ฟองสบู่เริ่มฟอดลง ดังนั้น ราคาบิทคอยน์อาจดิ่งลงมาที่ $30,000 ความเห็นนี้เป็นของผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทการลงทุน Invesco ซึ่งมองว่าราคาอาจทรุดตัวลงเหมือนช่วงตลาดตกต่ำปี 1929

    ผู้เชี่ยวชาญกลุ่มนี้มองว่า ราคาเหรียญที่ปรับลดลงจากระดับสูงสุดที่บริเวณ $69,000 ลงมายัง $42,000 เมื่อช่วงต้นเดือนมกราคมนั้นเป็นไปตามรูปแบบฟองสบู่อย่างชัดเจน แนวโน้มดังกล่าวสันนิษฐานว่าสินทรัพย์จะสูญเสียมูลค่า 45% ภายใน 12 เดือนหลังจากระดับสูงสุด กล่าวคือ ราคาจะขยับลงมาที่ $34,000-$37,000 ภายในปลายเดือนตุลาคมและถึง $30,000 ภายในปลายปี 2022

    ในขณะเดียวกัน Invesco ยอมรับว่าพวกเขาทำนายอย่างผิดพลาดในปี 2021 ที่เคยคาดการณ์ว่าราคา BTC จะขยับลดลงต่ำกว่า $10,000 นักวิเคราะห์อธิบายข้อผิดพลาดของพวกเขาว่า บิทคอย์ดูเหมือนจะไม่ผ่านระดับใด ๆ แต่กำลังผ่านช่วงฟองสบู่หลายฟอง (แม้ว่าบางทีผู้เชี่ยวชาญจาก Invesco อาจรีบมากไป และคำทำนายนี้อาจจะเป็นจริงในปีนี้)

    นักวิเคราะห์ชื่อดังอย่าง PlanB ได้ให้การคาดการณ์ที่ผิดในปีที่แล้วเช่นกัน โดยเขาเป็นผู้พัฒนาโมเดลในการทำนายพฤติกรรมราคาเหรียญบิทคอยน์ (S2F) ซึ่งสัญญาณจากโมเดลนี้ชี้ว่า BTC จะทะยานขึ้นไปที่ $100,000 ในปี 2021 แม้ว่าการคาดการณ์ของ S2F จะไม่เป็นจริง PlanB ยังคงยึดในทฤษฎีของเขาต่อไป เขามั่นใจว่าบิทคอยน์ยังไม่เคลื่อนที่อย่างเต็มศักยภาพจากการฮาล์ฟเหรียญที่เริ่มขึ้นในปี 2020 เขามองว่า ขณะนี้เหรียญกำลังอยู่บริเวณระดับต่ำสุดในกรอบและเตรียมทำระดับสูงสุดใหม่ในเดือนมีนาคม ซึ่งมูลค่าสูงสุดของบิทคอยน์ภายในวัฎจักรปัจจุบันอาจเกิดขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2022

    อีกหนึ่งผู้ที่ทำนายไว้อย่างผิดพลาดคือ นายแม็กซ์ ไคเซอร์ พิธีกรรายการทีวี ผู้กำกับหนัง และอดีตนักเทรด เขาอธิบายในอีกบทสัมภาษณ์หนึ่งว่าทำไมการคาดการณ์ของเขานั้นไม่ถูกต้องในปีที่แล้ว “สำหรับปี 2021 ผมเคยบอกไว้ว่าราคาจะขึ้นไปที่ $220,000 ต่อเหรียญ ซึ่งเป็นเรื่องปกติสำหรับวัฎจักรสี่ปี สิ่งที่เกิดขึ้นในปี 2021 คือ การขุดเหรียญที่ถูกกวาดล้างครั้งใหญ่ในจีน ทำให้อัตราแฮชเรตลดลง 50% เราฟื้นตัวขึ้นมาแล้วหลังจากนั้นและกำลังจะเข้าสู่ช่วงแฮชเรตสูงสุดใหม่ในประวัติศาสตร์ ด้วยเหตุนี้ ผมจึงเลื่อนเป้าหมายของผมจากปี 2021 เป็น 2022"

    “มีเรื่องของราคา แฮชเรต และการตั้งค่าความซับซ้อน นี่คือสามสิ่งที่คุณต้องตระหนักถึง” แม็กซ์ ไคเซอร์ อธิบายต่อ “ผมกล่าวเสมอว่าราคาจะล้าหลังแฮชเรต ดังนั้นเมื่อใดที่เราเห็นอัตราแฮชเรตสูงสุดใหม่ ราคาบิทคอยน์สูงสุดใหม่ในประวัติศาสตร์ก็จะตามมา”

    นายกวีโด บูเอห์เลอร์ ซีอีโอของ SEBA ซึ่งเป็นธนาคารคริปโตเคอเรนซีที่ได้รับการรับรองให้การคาดการณ์ในทางตรงกันข้าม เขาเชื่อว่าราคาทองคำดิจิทัลจะทะยานขึ้นไปที่ $75,000 ภายในสิ้นปี 2022 ความเห็นของเขาต่อ CNBC ระบุว่า “ต้นแบบในการประเมินมูลค่าภายในชี้ราคาที่ระหว่าง $50,000 และ $75,000 มค่อนข้างมั่นใจว่าเราจะเห็นระดับนี้” เขากล่าวพร้อมเสริมด้วยว่าความผันผวนของบิทคอยน์จะคงตัวในระดับสูง แต่สินทรัพย์จะสามารถทดสอบระดับสูงสุดใหม่ แต่คำถามคือเรื่องเวลาเท่านั้น

    นายจัสติน เบ็นเน็ตต์ อีกหนึ่งนักวิเคราะห์คริปโตเคอเรนซีเชื่อว่า บิทคอยน์เตรียมทะยานขึ้นครั้งใหญ่ในอนาคตอันใกล้ เขาประเมินโมเดลการเคลื่อนที่ของราคา BTC ในอดีต ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสินทรัพย์คาดว่าจะขยับขึ้นมา 20-30% “คุณเห็นได้ว่า ตั้งแต่ต้นปี 2021 เมื่อบิทคอยน์ทำระดับต่ำสุดต่ำกว่าระดับสภาพคล่อง ราคาก็ขยับกลับขึ้นมา อัตราเฉลี่ยของการเคลื่อนที่ดังกล่าวนี้อยู่ที่ประมาณ 63% และระดับต่ำสุดเมื่อเดือนเมษายนอยู่ที่ 27%” กล่าวโดยผู้เชี่ยวชาญ “หากคุณพิจารณาสถิตินี้และดูที่ระดับต่ำสุดบริเวณ $40,000 ดังนั้น การเคลื่อนที่ขั้นต่ำที่ประมาณ 27% จะทำให้ตลาดขยับไปที่ราคาประมาณ $50,000 สิ่งนี้มีความเป็นไปได้สูงเนื่องจากช่วงราคาที่ $50,000-53,000 มีความสำคัญอย่างยิ่ง และฝั่งขายจะต้านทานที่ช่วงราคานี้”

    ไม่มีความเห็นที่ชัดเจนต่ออนาคตของอีธีเรียมเช่นกัน ผู้เชี่ยวชาญบางคนยังคงหวังว่าคู่ ETH/USD จะต้อนรับปี 2023 ที่ราคาบริเวณ $7,000-10,000 ในขณะที่บางคนคาดว่าเหรียญนี้จะทรุดตัวลงตามหลังบิทคอยน์ เช่น นายปีเตอร์ แบรนดท์ นักเทรดจากวอลล์สตรีทผู้มีประสบการณ์ 45 ปี คาดการณ์ว่า ราคา Ethereum จะขยับลดลง จนถึงวันนี้ ราคาเหรียญนั้นได้ขยับลงมาแล้ว 36% จากระดับสูงสุดในประวัติศาสตร์ที่ $4,878 ที่เคยบันทึกไว้เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2021 เขาเองมีทัศนคติในแง่ลบเพราะเขาเชื่อว่า ในมุมมองทางเทคนิคแล้ว อีธีเรียมนั้นเป็นแพลตฟอร์มที่ “ซับซ้อน ราคาแพงมาก และไม่สะดวกต่อผู้ใช้งาน”ในแง่ของการใช้งานสำหรับ NFTs, เหรียญพิเศษ และบทบาทใน Metaverse” แนวคิดนี้เองที่ทำให้นายปีเตอร์ แบรนดท์ สรุปว่า ETH จะเสียคะแนนในมุมมองของนักลงทุน และเป็นรองคู่แข่งอื่น ๆ

    คำทำนายของ นายปีเตอร์ แบรนด์ นั้นค่อนข้างเป็นที่โต้เถียง จริงอยู่ที่โปรโตคอลที่ช้าลงทำให้เกิดความล่าช้าในการทำธุรกรรมและค่าธรรมเนียมที่สูงขึ้นเป็นอย่างมาก บางครั้งต้นทุนค่าธรรมเนียมนั้นสูงกว่า $50 ซึ่งถือว่าแพงมากเมื่อเทียบกับคู่แข่ง เช่น ค่าธรรมเนียมของ Solana นั้นน้อยกว่าหนึ่งเซ็นต์ อย่างไรก็ตาม เนื่องด้วยการกระจายศูนย์กลางในระดับสูง Ethereum ยังเป็นเหรียญผู้นำในแง่ของการใช้งานสมาร์ทคอนแทรค (smart contracts) ในขณะนี้ อีธีเรียมคุมตลาดบล็อกเชนที่เหลือในภาค DeFi ด้วยเงินทุนที่บล็อกไว้แล้ว $157 พันล้านดอลลาร์ หรือ 66% ของตลาดทั้งหมด และยิ่งนำโด่งในภาค NFT ซึ่ง ETH นั้นแทบจะผูกขาดโดยมีสัดส่วนสูงกว่า 90%

    มีความเป็นไปได้ว่าสัดส่วนดังกล่าวจะลดลงในอนาคตเนื่องจากการแข่งขัน แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนยังคงให้สัญญาอนาคตที่สดใสสำหรับเหรียญนี้ ธุรกรรมในรูปบบ proof-of-stake และการปรับระดับเครือข่ายที่ตามมาน่าจะช่วยให้ ETH คงตำแหน่งผู้นำไว้ได้ โดยช่วง “X hour สำหรับขั้นตอนเหล่านี้นั้นมีกำหนดไว้ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2022 ในตอนนี้ อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงที่วันที่ดังกล่าวจะถูกเลื่อนออกไปอีกครั้ง แต่ก็ดูเหมือนว่าสิ่งนี้จะไม่ทำให้นักลงทุนหวาดกลัวเท่าไรนัก แพลตฟอร์ม Glassnode ชี้ว่า นักลงทุนเริ่มตุนซื้อเหรียญแม้ว่าราคาเหรียญจะลดลง

    ETH เสียมูลค่าไปแล้ว 50% ในเวลาสองเดือน ในขณะเดียวกัน จำนวนวอลเล็ต ETH ที่มียอดคงเหลือไม่เป็นศูนย์ทำระดับสูงสุดใหม่ที่ 73,025,019 วอลเล็ต ส่วนกิจกรรมของเครือข่ายก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความต้องการของนักลงทุนในการฉวยโอกาสจากการปรับฐาน และซื้อเหรียญให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ จำนวนธุรกรรมโดยเฉลี่ยต่อวันบนบล็อกเชนสูงเกิน 1.2 ล้านในขณะนี้

    นักวิเคราะห์จาก Glassnode ระบุว่า ETH จะซื้อขายอยู่ในกรอบแคบ ๆ จนกว่าจะมีสัญญาณการเคลื่อนที่ที่ชัดเจนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ หากเงินทุนไหลเข้าสู่สินทรัพย์ความเสี่ยงสูงอีกครั้ง อีธีเรียมก็จะเริ่มขยับขึ้นพร้อมกับบิทคอยน์

    แต่สถานการณ์นี้จะเกิดขึ้นเมื่อไร?

    และจะเกิดขึ้นจริงไหม?

 

กลุ่มนักวิเคราะห์ NordFX

 

หมายเหตุ: เนื้อหาดังกล่าวไม่ควรยึดถือเป็นคำแนะนำในการลงทุนหรือเป็นคำปรึกษาในการซื้อขายในตลาดการเงิน โดยเนื้อหาข้างต้นเป็นไปเพียงเพื่อจุดประสงค์ในการให้ข้อมูลเท่านั้น การซื้อขายในตลาดการเงินมีความเสี่ยงและอาจทำให้เกิดการสูญเสียเงินฝากได้

กลับ กลับ
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ นโยบายคุกกี้ ของเรา