บทวิเคราะห์ฟอเร็กซ์และคริปโตเคอเรนซีประจำวันที่ 7 - 11 กุมภาพันธ์ 2022

EUR/USD: อีกหนึ่งเซอร์ไพรส์จากธนาคารกลางยุโรปในครั้งนี้

  • มันยากที่จะต้านทานเมื่อคุณถูกโจมตีจากทั้งสองฝั่ง ดอลลาร์เจอแรงกดดันจากทั้งสองด้านในสัปดาห์ที่แล้ว ด้านหนึ่งจากธนาคารแห่งชาติอังกฤษ และอีกด้านหนึ่งคือธนาคารกลางยุโรป และดอลลาร์ไม่สามารถต้านทานได้ ดัชนี DYX ดิ่งลง จากระดับเดิมที่ 97.36 เมื่อวันที่ 28 มกราคม ลงมาที่ 95.14 ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ซึ่งไม่ได้แปลว่าดอลลาร์จะทรุดตัวหนักแต่การฟื้นตัวขึ้นก็จะไม่รวดเร็วเช่นกัน

    ทั้งนี้ ธนาคารแห่งชาติอังกฤษปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 25 จุดพื้นฐาน (bp) เป็น 0.50% ตามความคาดหมาย แต่สิ่งที่ทำให้ตลาดต้องประหลาดใจก็คือ การเปลี่ยนแปลงในทิศทางนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางยุโรป ตลาดรอให้ธนาคารฯ เริ่มพูดถึงการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวในช่วงปลายปีนี้ แต่ผลปรากฏว่ามันอาจเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คาดคิดไว้ และอาจจะเกิดขึ้นได้ในช่วงฤดูใบไม้ผลินี้

    สถิติอัตราว่างงานในยูโรโซนสูงกว่าความคาดหมายทั้งปวง ระดับอัตราว่างงานลดลงเหลือ 7.0% แต่ก็ไม่แค่นั้น การเติบโตของดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนมกราคมเร่งตัวขึ้นจาก 5% เป็น 5.1% และทำระดับสูงสุดใหม่ ในขณะที่หลายคนได้ให้คำคาดการณ์ในทางตรงกันข้าม เช่น ผู้เชี่ยวชาญจาก Bloomberg คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อจะชะลอตัวที่ 4.4%

    เป็นที่ทราบกันดีว่าอัตราว่างงานและอัตราเงินเฟ้อเป็นปัจจัยหลักที่กำหนดนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางในสถานการณ์ปัจจุบัน และหากนางคริสติน ลาการ์ด (Christine Lagarde) ประธานธนาคารยุโรปกล่าวไว้ไม่นานมานี้ว่า ธนาคารฯ จะไม่เดินตามรอยธนาคารเฟด เธอก็ถูกบีบบังคับให้ยอมรับที่งานแถลงข่าวเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 3 กุมภาพันธ์ว่า “สถานการณ์เปลี่ยนไปแล้วจริง ๆ”

    “อัตราเงินเฟ้อน่าจะคงที่ในระดับสูงนานกว่าที่คาดการณ์ไว้เบื้องต้น” กล่าวโดยลาการ์ด “เมื่อเทียบกับการประมาณการเดือนธันวาคมของเราแล้ว ความเสี่ยงของภาวะเงินเฟ้อในปัจจุบันนั้นโอนเอียงไปทางสูงขึ้น โดยเฉพาะในระยะสั้น”

    ประธานธนาคารกลางยุโรปไม่ได้พูดซ้ำเกี่ยวกับ “ความเป็นไปได้ต่ำอย่างยิ่ง” ของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2022 และแม้ว่าอัตราดอกเบี้ยจะคงที่ไม่เปลี่ยนแปลงที่ 0% ในการประชุมครั้งล่าสุด แหล่งข่าวชี้ว่าเจ้าหน้าที่เริ่มพูดถึงความเป็นไปได้ในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปลายปีนี้ ผู้เชี่ยวชาญบางคนมองว่า อัตราดอกเบี้ยอาจถูกปรับขึ้นไปถึง 40 หรือ 50 bp

    ชัดเจนว่าธนาคารกลางยุโรปกำลังละทิ้งนโยบายแห่งความอดทน และเลือกเข้าร่วมกับธนาคารเฟดสหรัฐฯ และธนาคารแห่งชาติอังกฤษในการแข่งขันของ “เหยี่ยว” เพื่อคุมเข้มนโยบายทางการเงิน ทั้งนี้ เราสามารถเปรียบเทียบคำพูดของ นางคริสติน ลาการ์ด ล่าสุด และสิ่งที่ นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟดเคยพูดไว้เมื่อเดือนมิถุนายน 2021 ซึ่งมีความคล้ายคลึงกัน หลังจากนั้นดอลลาร์ก็เริ่มแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วถึง 1135 จุด เทียบกับยูโร ส่งผลให้คู่ EUR/USD ขยับจาก 1.2255 ลงมาที่ 1.1120 และตอนนี้ดูเหมือนว่าจะเป็นตาของยูโรที่จะฟื้นตัวกลับขึ้นมา

    นอกเหนือจากท่าทีสำคัญจากธนาคารอังกฤษและยุโรปแล้ว ดอลลาร์ก็ยังเผชิญกับแรงกดดันจากธนาคารเฟด โดยมีผู้แทนของธนาคารเฟดสหรัฐฯ อย่างน้อย 6 คนที่ให้ความเห็นในสัปดาห์แล้ว และไม่มีผู้บริหารสักคนกล่าวว่า FOMC (คณะกรรมการตลาดเปิดเสรีของสหรัฐฯ) จะสามารถขึ้นอัตราดอกเบี้ย 50 bp ในการประชุมเดือนมีนาคม (แม้ว่าตลาดจะกำลังรอฟังประเด็นนี้)

    ผลลัพธ์ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาถือว่าเจ็บปวดสำหรับดอลลาร์ และเป็นแนวโน้มขาขึ้นที่น่าประทับใจของยูโร ทำให้คู่ EUR/USD ขยับขึ้นอย่างรวดเร็วอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นตั้งแต่เกิดโรคระบาด โดยราคาขึ้นมา 343 จุดในหนึ่งสัปดาห์จาก 1.1140 ขึ้นมาที่ 1.1483

    จริงอยู่ที่ดอลลาร์ได้รับแรงสนับสนุนเล็กน้อยจากสถิติของฝั่งสหรัฐฯ เมื่อช่วงปลายสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ ดัชนีที่สำคัญซึ่งก็คือตำแหน่งงานนอกภาคการเกษตร (ดัชนี non-farm) รายงานออกมาที่ 467K ในขณะที่ตลาดคาดการณ์ไว้ว่าตัวเลขดังกล่าวจะลดลงมาที่ 150K ดัชนีนี้จึงส่งผลให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย และราคาปิดตลาดสุดท้ายที่ 1.1453

    อินดิเคเตอร์ส่วนใหญ่บนกรอบ D1 ชี้ขึ้นด้านบนในช่วงปลายสัปดาห์ ในส่วนอินดิเคเตอร์เทรนด์มี 85% ที่ให้สัญญาณสีเขียว (15% ยังคงเป็นสีแดง) และ 80% ในหมู่ออสซิลเลเตอร์ ส่วน 20% ที่เหลือมีท่าทีเป็นกลาง ในส่วนผู้เชี่ยวชาญ ความเห็นแบ่งแยกเกือบจะเท่ากัน แม้ว่าฝั่งกระทิงจะเป็นฝ่ายได้เปรียบเล็กน้อยที่ 45% ซึ่งเห็นด้วยกับแนวโน้มขาขึ้น มี 35% เห็นด้วยกับแนวโน้มขาลง และ 20% เห็นด้วยกับทิศทางด้านข้าง

    แนวต้านที่ใกล้ที่สุดคือระดับสูงสุดของวันที่ 13 มกราคม และ 4 กุมภาพันธ์ ในโซน 1.1480 ตามมาด้วย 1.1525, 1.1560 และ 1.1625 ส่วนแนวรับอยู่ในโซนและระดับที่ 1.1365-1.1385, 1.1275, 1.1220, 1.1185 และระดับต่ำสุดของวันที่ 28 มกราคมที่ 1.1120

    สำหรับเหตุการณ์สถิติที่สำคัญในสัปดาห์ที่จะถึงนี้ ที่สำคัญที่สุดจะเป็นข่าวที่เกี่ยวข้องกับอัตราเงินเฟ้อและตลาดผู้บริโภค โดยในวันพฤหัสบดีที่ 10 กุมภาพันธ์ จะมีการประกาศดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐฯ (ไม่รวมผลิตภัณฑ์อาหารและการขนส่งพลังงาน) และดัชนีราคาผู้บริโภครวมของเยอรมนี และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของ University of Michigan สหรัฐฯ ซึ่งจะประกาศในวันศุกร์ที่ 11 มกราคม

GBP/USD: ธนาคารแห่งชาติอังกฤษ: ยังไม่เป็นนกพิราบ แต่ก็ไม่ใช่เหยี่ยวอีกต่อไป

  • แน่นอนว่า การอ่อนค่าลงโดยรวมของดอลลาร์ส่งผลต่อคู่ GBP/USD เช่นกัน ซึ่งราคาทำระดับสูงสุดในรอบสัปดาห์ที่ 1.3627 อย่างไรก็ตาม อย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้น การขึ้นอัตราดอกเบี้ยโดยธนาคารกลางอังกฤษไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจใด ๆ และตลาดก็คาดการณ์ท่าทีนี้ไว้อยู่แล้ว ตผิดกับคำแถลงของ นางคริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป ซึ่งสร้างแรงสะเทือนไม่ใช่น้อย ทำให้ค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้นเป็นอย่างมากเทียบกับปอนด์อังกฤษ และ EUR/GBP จึงขยับขึ้นมามากกว่า 2.2% จาก 0.82843 ขึ้นมาที่ 0.84650 และสำหรับคู่ GBP/USD ราคาก็ปิดตลาดด้านล่างระดับสูงสุดในกรอบที่ 1.3528 ด้วยเหตุผลเดียวกันนี้เช่นกัน

    ฝั่งกระทิงของเงินปอนด์ก็ผิดหวังกับความเห็นที่ไม่ตรงกันในหมู่ผู้บริหารธนาคารกลางอังกฤษเช่นกัน มีคะแนนเสียงเพียง 4 จาก 9 คน ที่โหวตให้มีการขึ้นอัตราดอกเบี้ย 50 bps กรรมการส่วนใหญ่รวมถึงประธานธนาคารฯ นายแอนดริว ไบเลย์ ตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 25 จุดพื้นฐานเท่านั้น โดยอ้างถึงการชะลอตัวในการเติบโตของเศรษฐกิจ

    ธนาคารอังกฤษฯ ยังคงเดินหน้าท่าทีที่มีความสมดุลเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งเป็นที่ยืนยันโดย ฮิวจ์ พิลล์ (Hugh Pill) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารอังกฤษ เขากล่าวในบทสัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์สว่า ธนาคารฯ คาดการณ์ว่า “จะมีการคุมเข้มนโยบายในระดับปานกลางในช่วงไม่กี่เดือนที่จะถึงนี้ หากทุกอย่างเป็นไปตามแผน” และ “คุณจำเป็นต้องระมัดระวังในการกำหนดระดับอัตราดอกเบี้ย”

    นักยุทธศาสตร์ที่ธนาคาร MUFG Bank ของญี่ปุ่นกล่าวว่า ท่าทีที่ไม่น่าไว้วางใจนี้จำกัดแนวโน้มไม่ให้เงินปอนด์แข็งค่าขึ้น MUFG ไม่มองว่าเงินปอนด์จะแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง และเชื่อว่าหากการเคลื่อนที่ของ GBP/USD ไปยัง 1.4000 ไปต่อ ราคาคู่นี้จะเดินบนถนนที่เต็มไปด้วยหลุมบ่อตลอดทาง ด้าน Scoiabank มีความเห็นในทางตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง พวกเขามองว่า เนื่องจากราคาไม่สามารถยืนเหนือ 1.3600 ได้สำเร็จ ขณะนี้ เงินปอนด์ตกอยู่ภายใต้ความเสี่ยงที่จะขยับลงมาที่ 1.3400 ในตอนต้น และอาจลงมาถึง 1.3200 ในระยะสั้น

    ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ (55%) ยังคงเห็นด้วยกับแนวโน้มขาขึ้นต่อไปของคู่ GBP/USD ในขณะนี้ ส่วน 45% ที่เหลือมีความเห็นในทางตรงกันข้าม อินดิเคเตอร์บนกรอบ D1 ให้ผลลัพธ์ดังนี้: 45% ชี้ไปทางทิศเหนือ 10% ทิศใต้ ส่วน 45% ที่เหลือมีท่าทีเป็นกลาง ในส่วนอินดิเคเตอร์เทรนด์ 40% ชี้ไปทางทิศเหนือ 60% ชี้ลงทิศใต้ แนวรับอยู่บริเวณ 1.3500, 1.3425, 1.3365 ส่วนแนวรับถัดไปอยู่ถัดลงมา 100 ปิป ด้านโซนและระดับแนวต้าน ได้แก่ 1.3570-1.3600, 1.3640, 1.3700, 1.3750, 1.3835 และ 1.3900

    ข่าวสำคัญในสัปดาห์ที่จะถึงนี้ คือ ถ้อยแถลงของ นายแอนดริว ไบเลย์ ผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติอังกฤษ ในวันพฤหัสบดีที่ 10 กุมภาพันธ์ และการประกาศดัชนี GDP สหราชอาณาจักร และสถิติการผลิตทางอุตสาหกรรมในวันศุกร์ที่ 11 กุมภาพันธ์

USD/JPY: นิ่งสงบและสงบอีกครั้ง

  • ในขณะที่ธนาคารกลางประเทศ G10 ส่วนใหญ่ต่างขึ้นอัตราดอกเบี้ยหรือเริ่มมีท่าทีที่ก้าวร้าวมากขึ้น (เช่น ECB) สโลแกนของธนาคารแห่งชาติญี่ปุ่นยังคงเป็น “นิ่งสงบและสงบอีกครั้ง” ซึ่งสกุลเงินหลบภัยควรเป็นที่ที่นิ่งสงบมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ด้วยการคงอัตราดอกเบี้ยติดลบตลอดไป (-0.1%)

    ทั้งนี้ เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อในญี่ปุ่นไม่แสดงสัญญาณว่าจะขยับถึงระดับเป้าหมายที่ 2% ตามที่กำหนดโดยธนาคารกลางญี่ปุ่น ท่าทีของธนาคารจะล่าช้ากว่าธนาคารกลางประเทศอื่น ๆ และนักวิเคราะห์ที่ CIBC Capital Markets มองว่าสิ่งนี้จะส่งผลเป็นแรงกดดันต่อเงินเยนญี่ปุ่นต่อไป

    ในช่วงหนึ่งเริ่มปรากฏข่าวลือทั่วตลาดว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่นอาจปรับสมดุลนโยบายทางการเงินในปีนี้ แต่คำประกาศของธนาคารฯ ในที่ประชุมเดือนมกราคมชี้ให้เห็นชัดเจนว่านี่เป็นเพียงแค่ข่าวลือ โดย นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นกล่าวซ้ำหลายครั้งว่า เศรษฐกิจยังอยู่ห่างไกลจากเป้าหมายระดับเงินเฟ้อที่ 2.0% ซึ่งเขาค่อนข้างสะดวกใจกับการปล่อยให้เงินเยนอ่อนค่า

    สิ่งที่เกิดขึ้นกับคู่ USD/JPY ในช่วงสี่เดือนที่ผ่านมานี้ถือว่าเป็นเทรนด์ด้านข้างโดยมีฝั่งตลาดกระทิงเป็นฝ่ายได้เปรียบ ดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงโดยรวมไม่ช่วยเงินเยนญี่ปุ่นแต่อย่างใดในสัปดาห์ที่แล้ว ทำให้ราคาคู่นี้ขยับลงมาเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ที่ระดับ 114.14 โดยราคากลับมาอยู่ที่ระดับเดิมเหมือนที่เริ่มต้นในโซน 115.20 ภายในปลายสัปดาห์

    ณ ขณะที่เขียนบทวิเคราะห์ฉบับนี้ ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ (55%) คาดการณ์ว่าคู่ USD/JPY จะขยับต่อเนื่องไปทำระดับสูงสุดในรอบหลายปีที่ 116.35 ตามสถิติที่บันทึกไว้เมื่อวันที่ 4 มกราคม ส่วน 45% ที่เหลือเชื่อว่าดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงจะส่งผลเป็นแรงกดดันต่อเงินเยน ซึ่ง 100% ของอินดิเคเตอร์ให้สัญญาณสีเขียว แต่ 15% ของออสซิลเลเตอร์ให้สัญญาณแล้วว่าราคาอยู่ในโซน overbought (มีแรงซื้อมากเกินไป)

    ระดับและโซนแนวรับ ได้แก่ 115.00, 114.55-114.80, 114.15, 113.75, 113.45, 113.20, 112.55 และ 112.70 ส่วนโซนแนวต้านที่ใกล้ที่สุด คือ 115.50-115.70 โดยเป้าหมายฝั่งกระทิงที่สำคัญและใกล้ที่สุดคือระดับสูงสุดในรอบห้าปีที่ 116.35

    ในสัปดาห์ที่แล้วและสัปดาห์ที่จะถึงนี้ไม่มีสถิติเศรษฐกิจที่สำคัญใด ๆ จากญี่ปุ่น มีเพียงในวันศุกร์ที่ 11 กุมภาพันธ์นี้เท่านั้นที่จะเป็นวันหยุดในญี่ปุ่น ซึ่งเป็นวันหยุดเฉลิมฉลอง Kenko Kinen No Hi หรือวันชาติ โดยเชื่อว่าจักรพรรดิพระองค์แรกของญี่ปุ่น พระจักรพรรดิจิมมู ได้ขึ้นครองราชย์ในวันนี้เมื่อปี 660 ก่อนคริสตกาล และก่อตั้งราชวงศ์ญี่ปุ่นและประเทศ

คริปโตเคอเรนซี: ใครเป็นคนคุมคู่ BTC/USD? คำตอบ: ธนาคารเฟดสหรัฐฯ

  • ไม่ว่าผู้สนับสนุนคริปโตจะกล่าวว่าอย่างไร บิทคอยน์ก็ไม่ได้มีฐานะสินทรัพย์อิสระอีกต่อไป และปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดในคู่ BTC/USD ก็คือดอลลาร์ และความแข็งแกร่งและความอ่อนแอของดอลลาร์นั้นก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของธนาคารเฟดสหรัฐฯ (และส่วนหนึ่งจากท่าทีของธนาคารกลางประเทศอื่น ๆ)

    บรรดาแฟน ๆ ของคริปโตต่างวาดฝันรอกระแสเงินที่ไหลเข้าจากนักลงทุนรายสถาบัน ส่วนนักลงทุนรายใหญ่เหล่านี้ต่างรอให้หน่วยงานทางการจัดการเรื่องกฎระเบียบในการทำงานกับสินทรัพย์ดิจิทัล ดังนั้น การเคลื่อนที่ของราคาบิทคอยน์จะขึ้นอยู่ (และขึ้นอยู่แล้ว) ไม่ใช่กับอารมณ์ของนักลงทุนรายย่อยหลายล้านคน แต่เป็นอารมณ์ของรัฐบาลและธนาคารกลางของไม่กี่ประเทศ ลองดูที่ความสัมพันธ์ระหว่างคริปโตเคอเรนซีและตลาดหุ้น ความสัมพันธ์นี้เริ่มเข้มข้นมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเห็นได้จากความต้องการในความเสี่ยงของนักลงทุนรายใหญ่

    แน่นอนว่าความผันผวนใน BTC/USD อาจได้รับผลกระทบจากอากาศที่ย่ำแย่ ซึ่งส่งผลให้นักขุดเหรียญต้องหยุดปฏิบัติการในเท็กซัส แต่พวกเขาไม่ใช่ผู้กำหนดแนวโน้มหลัก แต่เป็นการดำเนินการของทางการ

    ขณะนี้ บิทคอยน์ถูกมองว่าเป็น “สินค้าเงินตรา” และไม่มีเหรียญไหนที่สามารถท้าทายสถานะดังกล่าวได้ในอนาคตอันใกล้ นักวิเคราะห์จาก Fidelity Digital Assets ให้ข้อสรุปเช่นนี้ โดยผู้เชี่ยวชาญกลุ่มนี้เรียกบิทคอยน์ว่าไม่ใช่แค่เทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังเป็นเงินในรูปแบบที่สมบูรณ์แบบ แล้วรัฐบาลประเภทไหนจะอนุญาตเงินที่ “สมบูรณ์แบบ” นี้ผ่านไป? และอาจมีทางออกสองทาง: คือสั่งแบนโดยสมบูรณ์เหมือนกับในประเทศจีน หรือควบคุมอย่างเข้มงวด

    ธนาคารกลางรัสเซียอยากจะเดินตามรอยประเทศจีน โดยประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน สนับสนุนข้อเสนอของรัฐมนตรีการคลัง ซึ่งไม่ใช่เป็นการแบนเงินคริปโต แต่เป็นการกำกับดูแลการหมุนเวียนของเงินตราและการขุดเหรียญ ซึ่งนี่เป็นการตัดสินใจที่จริงจังมาก เพราะรายงานจาก Bloomberg ชี้ว่า ประชาชนชาวรัสเซียเป็นเจ้าของสินทรัพย์ดิจิทัลจำนวนมหาศาลคิดเป็นมูลค่าประมาณ $214 พันล้านดอลลาร์ การประมาณการนี้มาจากการวิเคราะห์หมายเลขที่อยู่ IP ของผู้ใช้งานในตลาดแลกเปลี่ยนคริปโตขนาดใหญ่ที่สุด นอกจากนี้ University of Cambridge ยังรายงานด้วยว่า รัสเซียเป็นประเทศอันดับสามของโลกในการขุดเหรียญบิทคอยน์ (11.23%) ในฤดูร้อนปี 2021 ตามหลังสหรัฐฯ (35.4%) และคาซัคสถาน (18.1%) ซึ่งนักขุดเหรียญหลายคนย้ายฐานมาหลังจากถูกแบนในประเทศจีน

    นายไมเคิล เซย์เลอร์ (Michael Saylor) ผู้ก่อตั้ง MicroStrategy เชื่อเช่นกันว่าปัญหาปัจจุบันของตลาดคริปโตมีสาเหตุมาจากการกำกับดูแลที่ไม่โปร่งใสและความไม่แน่นอนด้านกฎระเบียบในอุตสาหกรรมคริปโต เขามองว่านักลงทุนรายสถาบันกำลังติดตามบิทคอยน์แต่ยังไม่รีบที่จะเข้ามาลงทุน

    นักวิเคราะห์ JPMorgan ชี้ว่า ความผันผวนที่สูงอย่างยิ่งเป็นอุปสรรคสำคัญซึ่งจำกัดการยอมรับบิทคอยน์โดยนักลงทุนรายสถาบัน

    ที่น่าสนใจก็คือ นักลงทุนจากธนาคารเพื่อการลงทุนขนาดใหญ่อีกแห่งหนึ่ง Goldman Sachs เห็นด้วยว่าคริปโตเคอเรนซีไม่น่าจะหลีกเลี่ยงอิทธิพลของปัจจัยเศรษฐกิจมหภาค เช่น นโยบายทางการเงินของธนาคารเฟดสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม พวกเขาเชื่อว่าการยอมรับเงินคริปโตเป็นวงกว้างจะยิ่งส่งผลร้ายต่อโอกาสการเติบโตของราคาในระยะยาว โดยให้ข้อโต้แย้งว่า ความนิยมทั่วโลกต่อสินทรัพย์ดิจิทัลจะยิ่งเพิ่มความสัมพันธ์ของราคากับเงินตราดั้งเดิม ซึ่งจะยิ่งลดความผันผวนในคริปโตเคอเรนซี รวมถึงลดความได้เปรียบในการกระจายความเสี่ยงให้กับสินทรัพย์ในพอร์ตของนักลงทุน

    สำหรับสถานการณ์ปัจจุบัน แม้ว่าราคาจะเด้งออกจากระดับต่ำสุดในรอบ 90 วัน ที่ $32,950 ราคาบิทคอยน์ยังไม่สามารถตัดผ่านแนวต้านสำคัญในโซน $38,000-39,000 อยู่นาน อย่างไรก็ตาม คู่ BTC/USD ตัดทะลุกรอบและขยับขึ้นถึง $40,880 ณ ขณะที่เขียนบทวิเคราะห์ฉบับนี้เมื่อช่วงเย็นวันศุกร์ 4 กุมภาพันธ์

    มูลค่ารวมของตลาดในสัปดาห์นี้เพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ $1.85 ล้านล้านดอลลาร์เทียบกับ $1.70 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อเจ็ดวันก่อนหน้า ด้านดัชนี Crypto Fear & Greed Index ดิ่งลงมากขึ้นเข้าสู่โซนกลัวอย่างยิ่ง (Extreme Fear) จาก 24 เหลือ 20 จุด

    รายงานฉบับล่าสุดของ JPMorgan เน้นย้ำถึง “ความสนใจที่เพิ่มขึ้นต่อสัญญาฟิวเจอร์สและปริมาณบนตลาดแลกเปลี่ยนชี้ให้เห็นถึงความหวาดวิตกที่ลดลงหรือสัญญาที่ถูกล้างพอร์ตน้อยลงกว่าเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว โดยเฉพาะในส่วนของนักลงทุนคริปโตรายใหญ่” ในขณะเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญจากธนาคารยังไม่ตัดโอกาสที่ราคาบิทคอยน์จะร่วงลงต่อ แม้ว่ายังไม่ปรากฏสัญญาณยอมยกธงขาวจากฝั่งผู้ซื้อ โดยผู้เชี่ยวชาญได้ปรับลดมูลค่าที่เหมาะสมของบิทคอยน์ลงจาก $150,000 เหลือ $38,000

    สื่อ Business Insider รายงานว่า โมเดลของ JPMorgan สันนิษฐานว่าความผันผวนของบิทคอยน์จะมาบรรจบกับความผันผวนของราคาทองคำ และสอดคล้องกับหุ้นในพอร์ตการลงทุนของพวกเขา และในตอนนี้ นักวิเคราะห์จากธนาคารยอมรับว่าในการคาดการณ์ก่อนหน้าของพวกเขาว่า อัตราส่วนความผันผวนของบิทคอยน์ต่อทองคำจะลดลงเหลือ 2/1 ภายในสิ้นปี 2022 นั้นไม่เป็นความจริง ดังนั้น นักวิเคราะห์จึงปรับลดมูลค่าเหมาะสมของบิทคอยน์ดังกล่าว

    นายปีเตอร์ แบรนดท์ (Peter Brandt) นักเทรดวอลล์สตรีทชื่อดังพร้อมประสบการณ์ 45 ปีในตลาด เน้นย้ำว่าผู้นิยเงินคริปโตส่วนใหญ่กำลังอยู่ในอารมณ์ตลาดหมีเป็นอย่างยิ่ง ผู้เข้าร่วมในแฟลชม็อบ Laser Eyes ส่วนใหญ่ต่างมั่นใจว่าราคาบิทคอยน์จะดิ่งลงต่ำกว่า $30,000 ในอนาคตอันใกล้ ซึ่งนี่อาจเป็นสัญญาณให้เข้าซื้อบิทคอยน์ “เมื่อตลาดกระทิงมีดวงตาที่มีแสงเลเซอร์ ก็ถึงเวลาขาย เมื่อกระทิงกลายเป็นหมี ก็ถึงเวลาซื้อใช่หรือไม่? เขาถาม

    ทั้งนี้ แฟลชม็อป “Laser Eyes” เริ่มขึ้นบนทวิตเตอร์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2021 เมื่อบิทคอยน์ทำราคาสูงสุดที่ $58,300 หลังจากนั้น ผู้ที่สนับสนุนบิทคอยน์หลายคนที่เก็งว่าราคาจะขึ้นไปที่ $100,000 ต่างโพสต์รูปภาพดวงตาพร้อมแสงเลเซอร์ (laser eyes”) เป็นรูปโปรไฟล์ โดยมีผู้อิทธิพลหลายรายที่เข้าร่วมในแฟลชม็อบดังกล่าว เช่น แอนโธนี ปอมพลีอาโน (Anthony Pompliano) ผู้ร่วมก่อตั้ง Morgan Creek Digital และแม็ก ไคเซอร์ (Max Kaiser) พิธีกรทีวี ชางเพง เฉา (Changpeng Zhao) ซีอีโอ Binance และอีลอน มัสก์ (Elon Musk) ซีอีโอ Tesla

    อย่างไรก็ตาม แทนที่ราคาจะขยับขึ้นไปที่ $100,000 ราคาเหรียญกลับทรุดตัวลงมาที่ $29,000 ในเดือนมิถุนายน ดังนั้น ราคาปัจจุบันตามการคาดการณ์ของ ปีเตอร์ แบรนดท์ จึงเป็นราคาที่ควรให้ความสนใจอย่างชัดเจน

    นอกจากนี้ ยังควรให้ความสนใจกับงานเสวนาโต๊ะกลมที่จัดขึ้นโดยเว็บไซต์ Finder วงสนทนาดังกล่าวมีผู้เชี่ยวชาญด้านฟินเทคเข้าร่วม 33 คน ครึ่งหนึ่งไม่เชื่อว่าบิทคอยน์จะร่วงลงต่อในสถานการณ์ที่จะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐฯ การคาดการณ์โดยเฉลี่ยของผู้เสวนาในงานนี้คาดว่าบิทคอยน์อาจพุ่งขึ้นที่ $93,717 ในปีนี้ และคาดการณ์ว่าจะมีมูลค่า $76,360 ภายในสิ้นปี 2022 และขึ้นไปใกล้ $193,000 ภายในปลายปี 2025

    วาเนสซา ฮาร์ริส (Vanessa Harris) ผู้อำนวยการสตาร์ทอัพคริปโต Permission คือหนึ่งในผู้เข้าร่วมที่เชื่อมั่นมากที่สุด เธอทำนายว่าราคา BTC จะทำระดับสูงสุดที่ $220,000 ในปีนี้ ส่วน แดเนียล โปโลตสกี (Daniel Polotsky) ผู้ก่อตั้งเครือข่ายเอทีเอ็มบิทคอยน์ชื่อว่า CoinFlip คาดการณ์ไว้ปานกลาง เขามองว่าบิทคอยน์ไม่น่าจะทำราคาได้สูงกว่า $60,000 ในปี 2022 เพราะฟองสบู่ที่สร้างขึ้นมาโดยธนาคารเฟดสหรัฐฯ ในช่วงการระบาดนี้เริ่มหดตัวลงแล้วในตอนนี้

    เจสัน พิซซีโน (Jason Pizzino) นักวิเคราะห์คริปโตเชื่อว่า แม้ว่าราคาจะรีบาวด์ขึ้นมาอย่างแข็งแกร่งจากระดับต่ำสุดในรอบ 90 วันที่ $32,950 ราคาบิทคอยน์ยังคงเผชิญกับแนวต้านที่สำคัญ เมื่อราคาขยับถึง $38,000 ราคาหยุดตัวเพราะว่าแนวต้านนั้นแข็งแกร่งเกินไป

    ในขณะเดียวกัน พิซซีโนมองว่า บิทคอยน์จะยังคงเข้าสู่ช่วงสะสมพลังในระยะกลาง เมื่อบรรดานักเทรดปลาวาฬและนักลงทุนที่มีเงินจำนวนมากเริ่มลงทุนในคริปโตเคอเรนซี และรอคอยเทรนด์กระทิงรอบใหม่ ซึ่งอาจใช้เวลาหนึ่งปีเต็มที่ BTC จะเริ่มทะยานขึ้น การคาดการณ์ของพิซซีโนชี้ว่าบิทคอยน์อาจทำระดับสูงสุดใหม่ได้ในครึ่งหลังของปี 2022 แต่นี่จะไม่ใช่การเคลื่อนที่ขาขึ้นอย่างฉับพลันแต่จะเป็นการค่อย ๆ ขยับขึ้นของราคา

    สุดท้ายนี้ การคาดการณ์แบบสูงสุดเป็นของ เจเรอมี อัลเลอร์ (Jeremy Aller) ประธาน Circle ซึ่งในบทสัมภาษณ์กับ Business Insider เขายอมรับว่าเขาเองไม่ใช่คน “สุดโต่งต่อบิทคอยน์” แต่เขายังเชื่อในราคาสูงสุดใหม่ของเหรียญนี้ ในขณะเดียวกัน เขาเองยังไม่อยากเปรียบเทียบบิทคอยน์กับทองคำ โดยเชื่อว่าสินทรัพย์ดิจิทัลมีประสิทธิภาพดีกว่าโลหะมีค่า และการใช้ทองคำเป็นเงินนั้นถือว่าไร้ประโยชน์ในสังคมสมัยใหม่

 

กลุ่มนักวิเคราะห์ NordFX

 

หมายเหตุ: เนื้อหาดังกล่าวไม่ควรยึดถือเป็นคำแนะนำในการลงทุนหรือเป็นคำปรึกษาในการซื้อขายในตลาดการเงิน โดยเนื้อหาข้างต้นเป็นไปเพียงเพื่อจุดประสงค์ในการให้ข้อมูลเท่านั้น การซื้อขายในตลาดการเงินมีความเสี่ยงและอาจทำให้เกิดการสูญเสียเงินฝากได้

กลับ กลับ
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ นโยบายคุกกี้ ของเรา