EUR/USD: สึนามิเนื่องด้วยภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐฯ
- ชาวกรีกโบราณเริ่มประกาศสงบศึกในช่วงเกมกีฬาโอลิมปิกกว่า 2,800 ปีที่แล้ว ดูเหมือนว่าเหล่ากระทิงและหมีของคู่ EUR/USD ตัดสินใจที่จะรับธรรมเนียมนี้ในช่วงงานกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวปีนี้ในกรุงปักกิ่งเช่นกัน เราได้สังเกตเห็นช่วงเวลานิ่งสงบอย่างน้อยในช่วงครึ่งแรกของสัปดาห์ และราคาคู่นี้ได้ขยับออกทางด้านข้างภายใต้แรงกดดันเล็กน้อยในกรอบแคบ ๆ ไม่เกิน 60 จุดที่ 1.1400-1.1460
ภาวะนิ่งสงบดังกล่าวถูกพายุสึนามิลูกเล็กซัดโถมเข้าเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 10 กุมภาพันธ์ หลังจากมีการประกาศสถิติเงินเฟ้อล่าสุดของสหรัฐฯ โดยดัชนีราคาผู้บริโภคปรับขึ้นมา 7.5% ในขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานขยับขึ้นมาที่ 6.0% (จาก 5.5% ในเดือนก่อนหน้า) ทั้งสองดัชนีนั้นถือว่าสูงที่สุดในรอบ 40 ปีที่ผ่านมา และนี่คือสถานการณ์ที่เราไม่เคยเห็นนับตั้งแต่ปี 1982 และทำให้ตลาดหวาดกลัว
สิ่งที่ชัดเจนจริง ๆ แล้วก็คือ ไม่ใช่ตัวเลขสถิติดังกล่าวที่ทำให้พวกเขาหวาดกลัว แต่เป็นท่าทีตอบสนองของธนาคารเฟดสหรัฐฯ ต่อสถิติดังกล่าวมากกว่า นักลงทุนกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะมีท่าทีที่คุมเข้มมากกว่าที่คาดการณ์ไว้เพื่อรับมือกับภาวะเงินเฟ้อ แนวโน้มที่คณะกรรมการ FOMC (คณะกรรมการตลาดเสรีสหรัฐฯ หรือ Federal Open Market Committee) จะขึ้นอัตราดอกเบี้ย 50 จุดพื้นฐาน (bp) ในเดือนมีนาคมเพิ่มสูงขึ้นเป็น 80% อีกทั้งยังมีข่าวลือว่าอาจมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยถึง 7 ครั้ง ในปี 2022 ด้านนักวิเคราะห์ Goldman Sachs ทำนายว่าดอกเบี้ยอาจขึ้นเป็น 2.0% ภายในต้นปี 2023
ความหวาดวิตกนี้ส่งผลให้ดอลลาร์เริ่มแข็งค่าขึ้น ในขณะที่ดัชนหุ้น (S&P500, Dow Jones, Nasdaq) และคู่ EUR/USD ขยับตัวลงมา อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ตลาดหวาดกลัวต่อความเสี่ยงทางเศรษฐกิจโดยรวมที่มีสาเหตุมาจากแนวโน้มสถิติราคาผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่ง และหลังจากอัตราแลกเปลี่ยนตีกลับจากระดับ 1.1374 ราคาคู่นี้ขยับขึ้นเกือบ 120 จุด มาที่ 1.1494 หลังจากนั้นก็เปลี่ยนทิศทาง 180 องศาอีกครั้ง
สาเหตุของการกลับตัวครั้งนี้มีสองประการคือ อันดับแรกเป็นความเสี่ยงทางเศรษฐกิจโดยรวมซึ่งอาจบีบให้ธนาคารเฟดสหรัฐฯ ขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างดุดันมากขึ้น ประการที่สองคือ นางคริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป ผู้กล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า การคุมเข้มนโยบายทางการเงินจะส่งผลลบต่อเศรษฐกิจในยูโรโซน คำกล่าวนี้ให้ขอสรุปว่าธนาคารกลางยุโรปยังไม่พร้อมจะขึ้นอัตราดอกเบี้ย แม้ในช่วงภาวะเงินเฟ้อสูงก็ตาม และการคาดการณ์ชี้ว่า การขึ้นอัตราดอกเบี้ยรอบแรกที่ 25 bp น่าจะเกิดขึ้นในเดือนธันวาคมปี 2022 เท่านั้น
อัตราการคุมเข้มนโยบายทางการเงินที่ไม่สอดคล้องกันโดยธนาคารเฟดและธนาคารกลางยุโรปเป็นผลดีต่อดอลลาร์มาโดยตลาด ในครั้งนี้ก็เช่นกัน คู่ EUR/USD ดิ่งลงมาอีกครั้งโดยขึ้นถึง 1.1500 ไม่สำเร็จ ราคาแตะกรอบด้านล่างที่ 1.1329 และปิดตลาดท้ายสัปดาห์ที่ 1.1340
เมื่อพิจารณาพฤติกรรมกราฟในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา การวิเคราะห์อินดิเคเตอร์บนกรอบ D1 ณ ช่วงเวลาที่เขียนบทวิเคราะห์ฉบับนี้ในช่วงเย็นวันศุกร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ มีดังนี้: ออสซิลเลเตอร์ 65% เป็นสีเขียว ส่วน 35% ที่เหลือเป็นสีเทากลาง ในส่วนอินดิเคเตอร์เทรนด์มี 25% เท่านั้นที่ให้สีเขียว ส่วน 75% ที่เหลือเป็นสีแดง สำหรับผู้เชี่ยวชาญ แน่นอนว่าทุกคนจะรอดูสัญญาณจากธนาคารเฟดสหรัฐฯ ว่าจะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเท่าใดในการประชุมของคณะกรรมการ FOMC เดือนมีนาคม แต่ตอนนี้มีผู้เชี่ยวชาญ 55% แล้วที่โหวตว่าค่าเงินดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้นและคู่ EUR/USD จะขยับลงในทิศใต้ 30% โหวตให้กับแนวโน้มขาขึ้น ส่วนนักวิเคราะห์ 15% คาดการณ์การเคลื่อนที่ด้านข้างของคู่นี้
ระดับแนวต้านที่ใกล้ที่สุด คือ 1.1379 ตามมาด้วย 1.1415, 1.1480-1.1525, 1.1560 และ 1.1625 ส่วนแนวรับอยู่ในโซนและระดับที่ 1.1275-1.1315, 1.1220, 1.1185 และราคาต่ำสุดของวันที่ 28 มกราคม 1.1120
สำหรับในสัปดาห์ที่จะถึงนี้ จะมีการประกาศสถิติ GDP ยูโรโซนในวันอังคารที่ 15 กุมภาพันธ์ ความผันผวนที่สูงอาจปรากฏขึ้นเนื่องจากจะมีการประกาศรายงานส่วนถัดไปของดัชนีตลาดผู้บริโภคของสหรัฐฯ ในวันพุธที่ 16 กุมภาพันธ์ และการเผยแพร่รายงานการประชุมของ FOMC รอบเดือนกุมภาพันธ์ก็จะเป็นที่สนใจเป็นพิเศษในวันนี้ด้วยเช่นกัน
GBP/USD: แนวโน้มขยับขึ้น ยังคงขยับขึ้น
- ในขณะที่ธนาคารกลางยุโรปตามหลังธนาคารเฟด ด้านธนาคารแห่งชาติอังกฤษแซงหน้าไปไกลแล้ว โดยขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าธนาคารกลางแห่งอื่น ๆ ดังนั้น เงินปอนด์จึงยังคงปักหลักได้ในสัปดาห์ที่ผ่านมาและปิดตลาดรอบห้าวันทำการที่ 1.3551 คำสำคัญในที่นี้ก็คือ “ยังคง” “ยังคงทำได้” ซึ่งความได้เปรียบของปอนด์เหนือดอลลาร์นั้นบอบบางมากและอาจเริ่มถอยกลับได้อย่างรวดเร็ว
ปัจจัยหลักที่อาจบีบให้ธนาคารแห่งชาติอังกฤษหยุดขึ้นอัตราดอกเบี้ยและคงอัตราไว้ที่ระดับต่ำก็คือ ค่า GDP และอัตราการเติบโตของตลาดแรงงานที่อ่อนแอ รวมถึงการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคในระดับต่ำ สถิติ GDP สหราชอาณาจักรที่เผยแพร่เมื่อวันศุกร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แทนที่จะขึ้นตามการคาดการณ์ที่ 1.1% กลับเติบโตขึ้นเพียง 1.0% ในไตรมาสที่ 4 ปี 2021 และสถานการณ์ในตลาดแรงงานและตลาดผู้บริโภคก็จะเป็นที่ทราบแน่ชัดในสัปดาห์หน้านี้ ด้านสถิติอัตราการว่างงานจะประกาศในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ และระดับราคาในสหราชอาณาจักรจะประกาศในวันที่ 16 กุมภาพันธ์
ในการคาดการณ์ท่าทีขั้นต่อไปของธนาคารกลางอังกฤษ เราต้องไม่ลืมว่ามีกรรมการ 4 คน จากทั้งหมด 9 คน ในคณะกรรมการธนาคารแห่งชาติอังกฤษโหวตให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ย 50 bps ในที่ประชุมครั้งที่แล้ว คะแนนเสียงส่วนใหญ่รวมถึงของ นายแอนดริว ไบเลย์ (Andrew Bailey) ผู้ว่าการธนาคารฯ อ้างถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 25 จุดพื้นฐานเท่านั้น
ข้อเท็จจริงก็คือธนาคารกลางอังกฤษจะคงท่าทีที่ระมัดระวังอย่างยิ่งต่อไป ซึ่งยืนยันได้จากคำพูดของ นายฮิวจ์ พิลล์ (Hugh Pill) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารฯ ในบทสัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์สว่า ธนาคารคาดการณ์ว่าจะมีการ “คุมเข้มนโยบายในระดับปานกลางต่อไปในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้าหากทุกอย่างเป็นไปตามแผน” และ “เราต้องระมัดระวังในการกำหนดอัตราดอกเบี้ย”
ณ ขณะนี้ ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ (60%) กำลังเดิมพันว่าดอลลาร์จะแข็งค่า โดยเชื่อว่าคู่ GBP/USD จะขยับลงในอนาคตอันใกล้ นักวิเคราะห์ 30% มีมุมมองในทางตรงกันข้าม ส่วน 10% ที่เหลือมีความเห็นเป็นกลาง ด้านอินดิเคเตอร์บนกรอบ D1 ให้ผลลัพธ์ดังนี้: 90% ของออสซิลเลเตอร์ชี้ไปยังทิศเหนือ (10% อยู่ในโซน overbought) 10% ชี้ไปทางทิศใต้ ในส่วนอินดิเคเตอร์เทรนด์ อัตราส่วนเกือบเท่ากันเช่นกันที่ 85/15% แนวรับอยู่ที่บริเวณ 1.3500, 1.3425, 1.3365 ส่วนแนวรับสำคัญถัดไปอยู่ต่ำลงมาอีก 100 จุด ด้านแนวต้าน ได้แก่ 1.3585, 1.3600-1.3625, 1.3700, 1.3750, 1.3835 และ 1.3900
USD/JPY: คู่นี้โถมขึ้นสู่ราคาสูงสุดในรอบห้าปีอีกครั้ง
- ความสัมพันธ์ระหว่างพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และ USD/JPY ไม่ใช่ความลับใด ๆ ถ้าผลตอบแทนของพันธบัตรสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ดอลลาร์ก็จะแข็งค่าขึ้นเทียบกับเงินเยน ด้านค่าเงินญี่ปุ่นเจอแรงโจมตีสองเท่าในสัปดาห์ที่แล้ว ทั้งผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลรอบ 10 ปี ขยับขึ้นสู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2019 และดัชนี DXY ของ USD ก็ขยับขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากเหตุการณ์วันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ส่งผลให้ราคาคู่นี้กลับมาทดสอบระดับสูงสุดในรอบหลายปีที่ 116.35 อย่างไรก็ตาม คู่นี้ล้มเหลวในการทุบสถิติดังกล่าวและปิดท้ายสัปดาห์ที่ 115.30
ณ ขณะนี้ ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ (60%) คาดการณ์ว่าคู่ USD/JPY จะพยายามอีกครั้งที่จะทำระดับสูงสุดใหม่นี้และขยับขึ้นไปยังจุดที่ไม่เคยเคลื่อนที่มาก่อนตั้งแต่เดือนมกราคมปี 2017 ออสซิลเลเตอร์ทั้งหมด 100% บนกรอบ D1 และอินดิเคเตอร์เทรนด์ 80% เห็นด้วยกับสถานการณ์นี้ โซนแนวต้านที่ใกล้ที่สุดคือ 115.70 ส่วนผู้เชี่ยวชาญที่เหลือ 40% และอินดิเคเตอร์เทรนด์ 20% เห็นด้วยกับฝั่งตลาดหมี โดยมีแนวรับอยู่ที่ 115.00 ตามด้วย 114.15, 113.75, 113.45, 113.20, 112.55 และ 112.70
สถิติ GDP (Q4) ของญี่ปุ่น ซึ่งจะประกาศในวันอังคารที่ 15 กุมภาพันธ์นี้ อาจช่วยพยุงค่าเงินเยนได้บ้าง การคาดการณ์ชี้ว่า ค่า GDP ของญี่ปุ่นอาจเพิ่มขึ้นจาก -0.9% เป็น +1.4% ในรอบไตรมาส แต่ในสถานการณ์หลังช่วงโควิดในปัจจุบัน อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจดังกล่าวอาจยิ่งส่งผลลบต่อเศรษฐกิจประเทศ จึงยิ่งยืนยันความถูกต้องของนโยบายผ่อนคลายแบบสุดโต่งของธนาคารกลางญี่ปุ่นที่แช่แข็งอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ -0.1% ในระยะยาว
คริปโตเคอเรนซี: การปรับฐานหรือการกลับตัว?
- คำถามว่าเราได้เห็นอะไรในช่วงสามสัปดาห์ที่ผ่านมาว่าเป็นช่วงการปรับฐานไปสู่เทรนด์ขาลง หรือเป็นช่วงเริ่มต้นของแนวโน้มขาขึ้นรอบใหม่ ยังคงเป็นคำถามปลายเปิด ราคาคริปโตเคอเรนซีขยับขึ้นตามดัชนี S&P500 และ Dow Jones และแม้แต่แซงหน้าเล็กน้อย
เราอาจสังเกตเห็นบางสิ่งที่คล้ายกันในช่วงไม่กี่เดือนก่อนหน้า แต่ในตอนนั้น ค่าเงินดิจิทัลทำผลงานได้ดีกว่าหุ้นไปเกือบสองเดือนด้วยการเปลี่ยนผ่านจากแนวโน้มเติบโตเป็นทรุดตัว คู่ BTC/USD ขยับถึงระดับสูงสุดใหม่เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2021 หลังจากนั้นก็หันลงทิศใต้ สำหรับดัชนี S&P500 เคยทำระดับสูงสุดไว้เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2022 และก็ถือว่าสมเหตุสมผลดี แม้ว่าจะมีความสัมพันธ์กัน ตลาดหุ้นยังคงมีเสถียรภาพมากกว่าตลาดคริปโตอยู่มาก แต่ตลาดทั้งสองก็ล้วนขึ้นอยู่กับนโยบายทางการเงินของธนาคารเฟดเป็นอย่างมาก (รวมถึงท่าทีของธนาคารกลางประเทศอื่น ๆ ด้วยส่วนหนึ่ง)
มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เริ่มด้วยการพิมพ์ธนบัตรทุ่มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ด้วยดอลลาร์ราคาถูกและกระตุ้นความต้องการสินทรัพย์ความเสี่ยงสูง ในขณะนี้ ธนาคารเฟดอยู่ระหว่างการคุมเข้มนโยบายทางการเงิน เราจึงอาจทำนายได้ว่านักลงทุนน่าจะมีความสนใจลดลงในคริปโตเคอเรนซี
เราเคยกล่าวไว้แล้วว่า การเคลื่อนที่ของราคาคริปโตจะขึ้นอยู่กับอารมณ์ของรัฐบาลและธนาคารกลางไม่กี่ประเทศในอนาคตอันใกล้นี้ (และก็ขึ้นอยู่ด้วยบ้างแล้ว) แต่ชุมชนผู้เชี่ยวชาญยังไม่มีข้อสรุปที่เป็นเอกฉันท์ว่าทัศนคติของพวกเขาจะเป็นอย่างไร
เช่น จอห์นนี ลิว (Johnny Liu) ซีอีโอตลาดคริปโต KuCoin เข้าร่วม “ข้างที่สดใส” โดยเชื่อว่าทางการจะค่อย ๆ เข้าใจข้อดีของคริปโตเคอเรนซี เขามองว่ายังมีเทรนด์ในการยอมรับเงินคริปโตเป็นวงกว้างในระดับรัฐ รัฐบาลกำลังแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกันในเรื่องข้อกฎหมาย ดังนั้น ข้อจำกัดใด ๆ นั้นเป็นเพียงมาตรการชั่วคราวเท่านั้น
มุมมองในทางตรงกันข้ามเป็นของ นายเรย์ ดาลิโอ (Ray Dalio) เศรษฐีพันล้านและผู้ก่อตั้ง Bridgewater Associates ผู้เชื่อว่าสินทรัพย์ประเภทนี้มีแนวโน้มที่จะถูกสั่งแบนโดยรัฐบาลในหลายประเทศ
ริคาร์โด ซาลินาส พลีเอโก (Ricardo Salinas Pliego) หนึ่งในบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในเม็กซิโกและผู้ก่อตั้งเครือบริษัท Grupo Salinas เชื่อเช่นกันว่ารัฐบาลไม่มีความสนใจที่จะอำนวยความสะดวกในการใช้งานบิทคอยน์ เนื่องจากธรรมชาติของบิทคอยน์นั้นทำให้มันมีความยากลำบากมากในการควบคุมปริมาณที่หมุนเวียน
โรเบิร์ต บรีดเลิฟ (Robert Breedlove) CEO ของ Parallax Digital เห็นด้วยเช่นกัน เขากล่าวว่าทางการจะพยายามทำให้ชีวิตของคริปโตนั้นยากลำบากมากที่สุด เนื่องจากสินทรัพย์ประเภทนี้เป็นภัยคุกคามต่อระบบการเงินของพวกเขา พวกเขาจะใช้เครื่องมือทั้งหมดในการกำกับสินทรัพย์ดิจิทัลให้ได้มากที่สุด นี่คือสิ่งที่เราได้เห็นในประเทศ เช่น จีน และรัสเซีย
ทัศนคติในแง่ดีบางส่วนนั้นมาจากข้อเท็จจริงที่มีผู้แทนธุรกิจขนาดใหญ่จำนวนค่อนข้างมากอยู่แล้วที่อยู่เคียงข้างสินทรัพย์ดิจิทัล โดยยอมรับในคริปโตเคอเรนซีในระดับที่แตกต่างกันไป แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนที่พร้อมจะลงทุนเป็นเงินจำนวนมหาศาลในตลาดในขณะนี้ เรย์ ดาลิโอ เศรษฐีพันล้าน แม้ว่าจะกล่าวว่า “เงินสดคือขยะ” ก็ยอมรับว่าสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นเป็น “เปอร์เซ็นต์เล็กน้อย” ในพอร์ตการลงทุนส่วนตัวของเขา และโดยทั่วไปแล้ว เนื่องด้วยตลาดคริปโตเคอเรนซีที่มีขนาดเล็ก มัน “ได้รับความสนใจมากเกินไป”
ในส่วนขนาดของตลาด นายโรเบิร์ต บรีดเลิฟ เชื่อว่า มูลค่ารวมของบิทคอยน์จะเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีข้างหน้า และเกิน $5.0 ล้านล้านเหรียญ อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ อยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบ 40 ปีในตอนนี้ และประธาน Parallax Digital ยังมองว่า สิ่งที่เคยเกิดขึ้นกับค่าเงินของเวเนซุเอลาอาจเกิดขึ้นกับดอลลาร์ ซึ่งดอลลาร์สหรัฐจะเฟ้อหนักภายในปี 2035 และในจุดนั้น ราคาบิทคอยน์เป็นเงินดอลลาร์จะพุ่งสูงขึ้นไม่หยุดเป็น 1, 5 หรือ 10 ล้าน USD ต่อเหรียญ กล่าวคือ การพิมพ์ธนบัตรของเฟดจะยิ่งช่วยเป็นแรงหนุนให้กับบิทคอยน์ แต่ภัยคุกคามที่ใหญ่ที่สุดของมันก็มาจากธนาคารกลางเช่นกัน ตามความเห็นของนายโรเบิร์ต บรีดเลิฟ
ดัชนีทั้งหมดในตลาดคริปโตดูค่อนข้างเบาบางในขณะที่เขียนบทวิเคราะห์ฉบับนี้ในช่วงเย็นวันศุกร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ มูลค่ารวมในตลาดเข้าใกล้ระดับ $2.0 ล้านล้านดอลลาร์เล็กน้อย และอยู่ที่ $1.90 ล้านล้าน ($1.85 ล้านล้านเมื่อหนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้า) ด้านดัชนีการครองตลาดของบิทคอยน์ (Bitcoin Dominance Index) อยู่ที่ 42.46% ส่วนคู่ BTC/USD ซื้อขายในโซน $42,500 และดัชนีความกลัวและความโลภ (Crypto Fear & Greed Index) ออกจากโซนความกลัวอย่างสุดโต่ง (Extreme Fear) แล้ว และขยับขึ้นมาอย่างรวดเร็วที่ 50 จุด ซึ่งตรงกับช่วงที่ตลาดเป็นกลาง
จำนวนผู้เชี่ยวชาญที่ติดตามพฤติกรรมอุปสงค์และอุปทานของบิทคอยน์เริ่มตื่นตัวกับแนวโน้มขาขึ้นที่อ่อนแอในขณะนี้ของบิทคอยน์ พวกเขาจึงมองว่าคู่ BTC/USD อาจกลับไปที่โซน $40,000 ภายในหนึ่งเดือน และจากนั้นจะขยับลงต่ำยิ่งกว่าเดิมที่ $29,000 ในระยะกลาง
และการคาดการณ์ในแง่ลบยิ่งกว่านั้นเป็นของเจ้าของหนังสือเรื่อง "The Ascent of Money" ไนอัลล์ เฟอร์กูสัน (Niall Ferguson) นักประวัติศาสตร์ด้านเศรษฐศาสตร์ เขาเชื่อว่าหากพฤติกรรมการผันผวนของ BTC ซ้ำรอยเดิม ราคาเหรียญจะร่วงลงในเดือนพฤศจิกายนปี 2022 มาที่ราคาต่ำสุดคือ $11,515 ซึ่งต่ำกว่าระดับสถิติสูงสุด 83% ของบิทคอยน์ที่เคยทำไว้ในเดือนพฤศจิกายน 2021
ในขณะเดียวกัน นายเฟอร์กูสันไม่เห็นด้วยกับความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ผู้ชนะรางวัลโนเบล นายพอล ครูกแมน (Paul Krugman) ผู้ให้ข้อสรุปการขนานกันระหว่างความผันผวนของตลาดคริปโตและภาวะตลาดอสังหาฯ ตกต่ำในสหรัฐฯ ช่วงปี 2007-2008 ซึ่งตามมาด้วยวิกฤติการเงินรอบโลก
ไนอัล เฟอร์กูสัน เชื่อว่า “มันไม่คุ้มค่าที่จะรอให้เกิดกระแสลมวนในขั้วโลก หรือไซโคลนน้ำแข็งครั้งใหญ่ แต่นี่ไม่ได้หมายความว่าฤดูหนาวคริปโตจะหนาวน้อยกว่าเดิม”
แน่นอนว่าย่อมมีการคาดการณ์ในเชิงบวกมากกว่าเช่นกัน ชอน ฟาร์เรลล์ (Sean Farrel) นักวิเคราะห์ที่บริษัทวิจัยทางการเงิน FSINsight เชื่อว่า การครองตลาดของบิทคอยน์ที่สูงกว่าอัลท์คอยน์ยังคงไม่มีอะไรมาทดแทน และราคาอาจขยับขึ้นถึง $200,000 ในครึ่งหลังของปี 2022 แม้ว่าจะมีช่วง “การเริ่มต้นที่สั่นคลอน” ในเดือนมกราคม
รายงานของ FSInsight ยังระบุด้วยว่า แพลตฟอร์มอีธีเรียมมีมูลค่าต่ำกว่าความเป็นจริง และราคาเหรียญอันดับสองนี้อาจขยับถึง $12,000 ในปีนี้ นักวิเคราะห์รายนี้เชื่อมั่นต่อการเปลี่ยนผ่านของอีธีเรียมไปยังอัลกอริทึม (Proof-of-Stake) และหากกระบวนการนั้นเป็นไปอย่างราบรื่น เงินทุนที่ไหลเข้ามาในระบบนิเวศนี้จะเพิ่มขึ้น “ไม่ว่าจะผลงานของบิทคอยน์จะเป็นอย่างไรก็ตาม” ด้าน จอห์นนี ลิว เชื่อว่า เนื่องจากโครงการนวัตกรรมส่วนใหญ่เริ่มต้นบนเครือข่ายอีธีเรียม มันจึงจะแซงหน้า BTC ในระยะยาว
การทำนายว่าคู่ BTC/USD จะสามารถยืนเหนือระดับ $100,000 ได้ภายในปลายปีนี้หรือในช่วงต้นปี 2023 ก็ระบุโดยนักเทรดคริปโตภายใต้ชื่อเล่น Dave the Wave เช่นกัน แต่เป็นมุมมองว่าสถานการณ์นี้คือ “การปรับฐานที่ดี” นักเทรดเน้นย้ำว่าวัฎจักรเส้นโค้งนั้นชี้ไปที่ $100,000 ซึ่งไม่ควรจะตีความว่าเป็นระดับแนวรับ แต่เป็นอัตราโดยเฉลี่ยที่บิทคอยน์สามารถขยับตามได้อย่างคร่าว ๆ ในส่วนอนาคตอันใกล้ Dave the Wave เน้นว่า แม้ว่ากราฟรายเดือนของบิทคอยน์อาจดูเป็นแนวโน้มตลาดหมี สัญญาณกระทิงเริ่มปรากฏให้เห็นบนกราฟรายสัปดาห์ นอกจากนี้ บิทคอยน์ยังได้ตัดทะลุกรอบแนวโน้มขาลงแคบ ๆ ซึ่งแสดงถึงแนวโน้มขาขึ้นที่กำลังจะมาถึงเช่นกัน
และในช่วงท้ายของบทรีวิวเป็นเรื่องราวไลฟ์แฮ็คคริปโตเหมือนเช่นเคย ในครั้งนี้ เราจะมาพูดถึงนักเทรดชื่อเล่นว่า macromule ผู้มีอัลกอริทึมการเทรดที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เขาเผยว่า สัญญาณในการเปิดคำสั่งซื้อขายคือข้อความทวีตของนักวิจารณ์บิทคอยน์และผู้สนับสนุนทองคำตัวยงผู้มีชื่อว่า ปีเตอร์ ชิฟฟ์ (Peter Schiff) เกี่ยวกับบิทคอยน์ ผู้ใช้งานรายนี้แนะนำให้เข้าซื้อ BTC ทุกครั้งหลังจากทวีตข้อความดังกล่าวและปิดคำสั่งหลังจากนั้น 72 ชั่วโมง macromule ระบุว่ากลยุทธ์นี้เทรดได้ 203 ธุรกรรมตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว ซึ่ง 65% ให้ผลลัพธ์เป็นบวก และทำรายได้ได้ประมาณ 1,000% ต่อปี
แน่นอนว่าเราไม่สามารถแนะนำให้ใช้ “กลยุทธ์” นี้ได้ แต่หากใครอยากจะลองทดสอบมัน พวกเขาก็สามารถทำได้บนบัญชีทดลองโดยไม่ต้องเสี่ยงเงินจริง
กลุ่มนักวิเคราะห์ NordFX
หมายเหตุ: เนื้อหาดังกล่าวไม่ควรยึดถือเป็นคำแนะนำในการลงทุนหรือเป็นคำปรึกษาในการซื้อขายในตลาดการเงิน โดยเนื้อหาข้างต้นเป็นไปเพียงเพื่อจุดประสงค์ในการให้ข้อมูลเท่านั้น การซื้อขายในตลาดการเงินมีความเสี่ยงและอาจทำให้เกิดการสูญเสียเงินฝากได้
กลับ กลับ