บทวิเคราะห์ฟอเร็กซ์และคริปโตเคอเรนซีประจำวันที่ 28 มีนาคม - 1 เมษายน 2022

EUR/USD: ความยุ่งเหยิงของความโกลาหลและความขัดแย้ง

  • หัวข้อบทรีวิวคู่ EUR/USD ครั้งที่แล้วคือคำถามว่าตลาดบ้าไปแล้วหรือไม่ นักวิเคราะห์หลายคนเห็นด้วยว่า ตลาดมีพฤติกรรมที่ไม่สมเหตุสมผลหลังจากการประชุมของธนาคารเฟดเดือนมีนาคม และก็ถือว่าไม่สมเหตุสมผลเสียส่วนใหญ่

    แม้ว่าธนาคารเฟดสหรัฐฯ จะคุมเข้มนโยบายทางการเงินอย่างดุดัน ท่ามกลางการชะลอตัวของการเติบโตทางเศรษฐกิจในสหรัฐฯ เนื่องด้วยท่าทีของธนาคารเฟดและมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย และสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคที่รุนแรงขึ้นในจีน ดัชนีหุ้นขยับขึ้น ซึ่งเห็นได้ชัดเจนในดัชนี S&P500 ซึ่งบวกเกือบ 10% ตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม และปรับขึ้นมามากกว่าสองเท่าในเวลาสองปีตั้งแต่การแพร่ระบาดของ COVID-19 เริ่มขึ้น (หรือคิดเป็น 108%)

    มันเป็นเรื่องยากที่จะอธิบายสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น คำอธิบายแบบคลาสสิกที่ฟังดูสมเหตุสมผลมากที่สุดก็คือ ตลาดขยับขึ้นตามความคาดหวัง นักลงทุนจำได้ดีว่าดัชนีหุ้นฟื้นตัวรวดเร็วเพียงใดหลังภาวะช็อคเมื่อช่วงต้นการแพร่ระบาดและตัดสินใจว่าสิ่งที่คล้ายกันน่าจะเกิดขึ้นอีกครั้งในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งแปลว่า นี่คือจังหวะที่ควรซื้อหุ้นก่อนที่ราคาจะทะยานทำระดับสูงสุดใหม่

    สำหรับคู่ EUR/USD คู่นี้ก็มีพฤติกรรมที่ไม่สมเหตุสมผลเช่นกัน ตลาดกำลังรอดูท่าทีที่แตกต่างกันในนโยบายทางการเงินของธนาคารเฟดและธนาคารกลางยุโรป เพื่อรอกดราคาคู่นี้ อย่างไรก็ตาม ราคากลับแข็งตัวในบริเวณ 1.1000 ซึ่งเป็นการยืนยันการคาดการณ์แบบเป็นกลางของผู้เชี่ยวชาญและอินดิเคเตอร์ที่ให้ไว้ในสัปดาห์ที่แล้ว

    สิ่งที่ชัดเจนก็คือ นักลงทุนเชื่อว่า แม้ว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วโดยธนาคารเฟดจะหยุดภาวะเงินเฟ้อได้ แต่ก็สามารถสร้างปัญหาที่รุนแรงต่ออุตสหากรรมในสหรัฐฯ แต่ยุโรปอาจมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีในไตรมาสที่ 3 และ 4

    ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐฯ เคยกล่าวไว้ก่อนที่เขาเดินทางเยือนอียูในสัปดาห์ที่แล้วว่า เขาต้องการออกมาตรการคว่ำบาตรรอบใหม่ต่อรัสเซีย ซึ่งรวมถึงการคว่ำบาตรพลังงานจากรัสเซียโดยสมบูรณ์ อย่างไรก็ดี สิ่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้น ซึ่งยิ่งช่วยหนุนค่าเงินยูโร ทั้งนี้ การยุติความขัดแย้งทางการทหารในยูเครนหรืออย่างน้อยการผ่อนคลายความรุนแรงเพื่อเข้าสู่สภาวะความขัดแย้งแบบแช่แข็งสามารถช่วยให้ยูโรแข็งค่าขึ้น ด้านสถานการณ์ในตลาดหนี้นั้นดีขึ้นกว่ามากในเยอรมนี ซึ่งเป็นประเทศที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุโรปหลักก็ช่วยพยุงคู่ EUR/USD ไม่ให้ขยับลดลง

    ในขณะเดียวกัน สถิติมหภาคดูค่อนข้างขัดแย้งกัน และยิ่งเพิ่มความน่าสับสนมากขึ้นให้กับการประเมินสถานการณ์ในปัจจุบัน กิจกรรมทางธุรกิจในยูโรโซนปรับลดลงจาก 55.5 เหลือ 54.5 ในเดือนนี้ แต่ก็ยังดีกว่าการคาดการณ์ที่ 53.7 จุด และในสหรัฐฯ ดัชนีคอมโพสิตของกิจกรรมทางธุรกิจเพิ่มขึ้นจาก 55.9 ไปที่ 58.5 เทียบกับการคาดการณ์ที่ 55.4 จุด และนี่ก็เป็นความขัดแย้งกันอีกอย่างหนึ่ง คำถามก็คือ สถานการณ์นี้เป็นไปได้อย่างไรที่มาตรการต่อต้านรัสเซียกำลังส่งแรงกดดันต่อเศรษฐกิจทั้งสองฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก และราคาเชื้อเพลิงพุ่งสูงขึ้น?

    ความสับสนที่เพิ่มมากยิ่งขึ้นนั้นมาจากการตัดสินใจของประธานาธิบดีปูติน ในการขายทรัพยากรพลังงานเป็นเงินรูเบิล จริงอยู่ที่รัสเซียยอมขายเป็นเงินรูเบิลให้กับประเทศที่ไม่เป็นมิตรด้วยเท่านั้น แต่ประเทศเหล่านี้ได้แก่ สหรัฐฯ และประเทศในอียูทั้งหมด รวมถึงสหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา และสวิตเซอร์แลนด์

    การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) ได้ปรับตัวเลขคาดการณ์ลดลงแล้วของค่า GDP สหรัฐฯ ในปี 2022 จาก 3.0% เหลือ 2.4% และยังมีการปรับตัวเลข GDP ของยูโรโซนด้วยเช่นกัน ซึ่งปรับลดหนักยิ่งกว่าถึงครึ่งหนึ่ง เหลือ 1.7% ซึ่งนี่ดูเหมือนว่าจะเป็นเพราะความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์ของอียูกับพื้นที่สงครามในยูเครน รวมถึงความพึ่งพาอาศัยของยุโรปต่อก๊าซและน้ำมันจากรัสเซีย และในขณะนี้ ไม่มีใครรู้ว่าจะซื้อพลังงานด้วยเงินรูเบิลได้อย่างไร เพราะไม่เคยมีหลักปฏิบัติเช่นนี้ในโลกมาก่อน ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ที่การจัดซื้อน้ำมันและก๊าซนี้จะเกิดขึ้นผ่านประเทศสื่อกลาง เช่น จากแอฟริกาเหนือ หรือตะวันออกกลาง ซึ่งจะทำให้ราคาเชื้อเพลิงปรับสูงขึ้นอีก

    คู่ EUR/USD อยู่ในช่วงแนวรับที่ 1.0960-1.0965 ตลอดทั้งสัปดาห์ที่ผ่านมา และปิดตลาดที่ 1.0982 นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ (60%) เชื่อว่าราคาจะพยายามตัดผ่านแนวรับในโซน 1.0900 และทดสอบระดับต่ำสุดของวันที่ 7 มีนาคมอีกครั้งที่ 1.0805 จากนั้นถ้าโชคดีก็จะตามมาด้วยราคาต่ำสุดของปี 2020 ที่ 1.0635 และต่ำสุดของปี 2016 ที่ 1.0325 เป้าหมายยุทธศาสตร์ที่สำคัญคือที่ระดับ 1.0000 ในส่วนผู้เชี่ยวชาญ 40% ที่เหลือไม่เห็นด้วยกับการคาดการณ์ดังกล่าว และโหวตว่าราคาจะขยับขึ้น โดยให้เป้าหมายที่ใกล้ที่สุดคือการตัดผ่านโซนแนวต้านที่บริเวณ 1.1050 จากนั้นจะเป็นโซน 1.1100-1.1135, 1.1280-1.1350 และราคาสูงสุดของวันที่ 13 มกราคม และ 10 กุมภาพันธ์ที่บริเวณ 1.1485 ในขณะเดียวกัน หากเราปรับจากการคาดการณ์รายสัปดาห์เป็นระยะกลางของเดือนเมษายน ระดับ Pivot Point ของเดือนนี้จะอยู่ที่บริเวณ 1.1000 เหมือนในตอนนี้

    ในส่วนออสซิลเลเตอร์บนกรอบ D1 ให้ภาพที่ผสมกัน: 35% ให้สัญญาณสีแดง 30% ให้สีเขียว และ 35% ให้สีเทากลาง ด้านอินดิเคเตอร์เทรนด์ 100% อยู่ฝั่งสีแดง

    สัปดาห์หน้าจะมาพร้อมกับสถิติเศรษฐกิจที่สำคัญหลายตัวด้วยกัน โดยจะมีการประกาศดัชนีราคาผู้บริโภคในเยอรมนีในวันพุธที่ 30 มีนาคม และปริมาณยอดขายปลีกในเยอรมนีในวันถัดไป ด้านสถิติราคาผู้บริโภคของยูโรโซนโดยรวมจะประกาศในวันศุกร์ที่ 1 เมษายน นอกเหนือจากสถิติของฝั่งยุโรปแล้ว ยังมีการประกาศสถิติการจ้างงานในภาคเอกชนและ GDP สหรัฐฯ ในวันพุธที่ 30 มีนาคม และนอกเหนือจากดัชนีกิจกรรมทางธุรกิจ (ISM) เรายังรอฟังส่วนหนึ่งของสถิติตลาดแรงงานสหรัฐฯ ในวันศุกร์ รวมถึงจำนวนตำแหน่งงานใหม่นอกภาคการเกษตร (NFP)

GBP/USD: กรอบแคบท่ามกลางความไม่แน่นอน

  • เช่นเดียวกับคู่ ฝั่งกระทิงและหมีของ GBP/USD ก็น่าสับสนเช่นกัน เหตุผลก็เป็นเรื่องเดียวกันคือ ความต้องการในความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นอย่างน่าประหลาดใจในหมู่นักลงทุน และสถานการณ์ที่ยังคาดการณ์ไม่ได้ในภาคพลังงาน ราคาคู่นี้จึงขยับออกด้านข้างตลอดทั้งสัปดาห์ และติดอยู่ในกรอบแคบ ๆ ที่ 1.3120-1.3220 โดยมีความพยายามของฝั่งกระทิงที่จะตัดทะลุเมื่อช่วงกลางสัปดาห์ขึ้นไปเหนือระดับ 1.3300 แต่ก็ล้มเหลว ราคาปิดตลาดตรงกลางของกรอบดังกล่าวที่ระดับ 1.3180

    การคาดการณ์ของผู้เชี่ยวชาญสำหรับคู่ GBP/USD สำหรับสัปดาห์หน้านี้มีดังนี้: 50% โหว่าราคาจะขยับไปยังด้านบน 25% โหวตให้กับด้านล่าง ส่วน 25% ที่เหลือโหวตให้กับแนวโน้มด้านข้าง ในส่วนออสซิลเลเตอร์บนกรอบ D1 ในขณะนี้มี 70% ที่ชี้ไปทางด้านบน 30% ชี้ไปทางด้านล่าง ส่วนอินดิเคเตอร์เทรนด์ให้ภาพตรงกันข้าม โดย 80% เห็นด้วยกับฝั่งตลาดหมี และ 20% กับตลาดกระทิง

    ระดับแนวรับที่ใกล้ที่สุดอยู่ในบริเวณ 1.3150 และจากนั้นก็เป็นโซน 1.3080-1.3100 และระดับต่ำสุดของวันที่ 15 มีนาคม (และในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2021-2022) ที่ 1.13000 ตามมาด้วยแนวรับปี 2020 ส่วนระดับแนวต้านอยู่ที่ 1.329-1.3215 จากนั้นคือ 1.3270-1.3325, 1.3400, 1.3485, 1.3600, 1.3640

    สำหรับเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักร เราสามารถเน้นความสำคัญของถ้อยแถลงโดยผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติอังกฤษ นายแอนดริว ไบเลย์ ในวันจันทร์ที่ 28 มีนาคม รวมถึงการประกาศสถิติ GDP สหราชอาณาจักร ในไตรมาสที่ 4 ปี 2022 ในวันพฤหัสบดีที่ 31 มีนาคม

USD/JPY: ต่อต้านสถิติใหม่ของค่าเงินญี่ปุ่น

  • เงินเยนอ่อนค่าลงทำระดับต่ำสุดในรอบ 6 ปี เมื่อสัปดาห์ที่แล้วที่ 119.15 JPY ต่อ 1 USD ทำสถิติใหม่ในสัปดาห์นี้ โดยราคาทำระดับ 122.43 เมื่อวันศุกร์ที่ 25 มีนาคม เมื่อตลาดปิดทำการ

    ธนาคารแห่งชาติญี่ปุ่นซึ่งยังไม่อยากจะเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเงินแบบผ่อนปรนสุดโต่ง กลับถูกกล่าวโทษว่าทำให้เงินเยนอ่อนค่าลงอย่างรุนแรง ท่าทีของธนาคารกลางญี่ปุ่นแตกต่างกับแผนของธนาคารเฟด และธนาคารอังกฤษ และแม้แต่ธนาคารกลางยุโรปโดยสิ้นเชิง ญี่ปุ่นเชื่ือว่าการถอดถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเร็วเกินไปอาจทำให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี ซึ่งก็มีเหตุผลรองรับ ระดับเงินเฟ้อในญี่ปุ่นคิดเป็นเพียง 0.9% ในเดือนกุมภาพันธ์ในรายปีเทียบกับ 0.5% ในเดือนมกราคม ดัชนีนี้แม้ว่าจะทำระดับสูงสุดตั้งแต่เดือนเมษายนปี 2019 ซึ่งถือว่าไม่มากเมื่อเทียบกับระดับเงินเฟ้อในสหราชอาณาจักรหรือในสหรัฐฯ ซึ่งขึ้นสูงถึง 7.9% และเป็นระดับสูงสุดในรอบ 39 ปี

    ท่าทีสายพิราบได้รับการยืนยันอีกครั้งในช่วงการกล่าวถ้อยแถลงโดยผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติญี่ปุ่น นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ เมื่อวันที่ 22 มีนาคม เขากล่าวว่า ตอนนี้ยังเร็วเกินไปที่จะพูดถึงการจำกัดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) รวมถึงการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งอยู่ในระดับติดลบมาเป็นเวลานานที่ -0.1%

    ปัจจัยอีกสามประการก็ช่วยกดเงินเยนให้อ่อนค่า และให้คู่ USD/JPY ขยับขึ้น ปัจจัยแรกคือ นักลงทุนหนีออกจากสกุลเงินหลบภัยไปยังสินทรัพย์ความเสี่ยงสูง ประการที่สองคือท่าทีของประธานธนาคารเฟดที่เป็นสายเหยี่ยวมากขึ้น นายเจอโรม พาวเวลล์ ได้กล่าวในที่ประชุมของสมาคมเศรษฐศาสตร์และธุรกิจแห่งชาติของสหรัฐฯ ว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ พร้อมที่จะดำเนินการอย่างดุดันมากขึ้นหากจำเป็น คำเหล่านี้ทำให้ตลาดคิดว่า ธนาคารเฟดอาจปรับอัตราดอกเบี้ย 10-11 ครั้ง ภายในสิ้นปี 2023 ความคาดหวังดังกล่าวส่งผลให้ผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ระยะ 10 ปี ขยับขึ้นจาก 2.146% เป็น 2.282% โดยขยับถึงระดับสูงสุดตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปี 2019 และอย่างที่เราทราบกันดี อัตราแลกเปลี่ยนของเงินเยนญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์กับสินทรัพย์เหล่านี้ หากผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลระยะสิบปีเพิ่มขึ้น คู่ USD/JPY ก็เช่นกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่เราเห็นได้ในสัปดาห์ที่แล้ว

    และสุดท้ายแล้ว ปัจจัยที่สามคือการตัดสินใจของรัฐบาลรัสเซียให้รับชำระเงินค่าก๊าซเป็นเงินสกุลรูเบิล “เราไม่ค่อยเข้าใจว่าความต้องการของรัสเซียคืออะไรและจะทำมันได้อย่างไร” กล่าวโดย นายชุนอิชิ ซูซูกิ รัฐมนตรีการคลังญี่ปุ่น ซึ่งกล่าวได้ในที่ประชุมของรัฐสภาญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 23 มีนาคม

    นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ได้รอให้การทะยานขึ้นของช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมาสิ้นสุดลง แต่ก็ยังไม่ได้เกิดขึ้น ในทางกลับกันนั้น คู่ USD/JPY ขยับขึ้นมา 700 จุด และตอนนี้ “70-80%” ของ “นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่” ก็ “หดลง” เหลือ 50% และเมื่อปรับจากการคาดการณ์รายสัปดาห์เป็นรายเดือน จำนวนเสียงที่โหวตให้การกลับตัวของคู่นี้ไปยังทิศใต้และคาดว่าแนวโน้มจะขยับลดลงมาที่ 117.00-118.00 คิดเป็นคนส่วนใหญ่ถึง 85%

    อินดิเคเตอร์บนกรอบ D1 ให้เสียงที่ไม่สอดคล้องกันโดยสมบูรณ์หลังจากราคาตัดผ่านขึ้นทิศเหนืออย่างรุนแรง อินดิเคเตอร์เทรนด์และออสซิลเลเตอร์ 100% ชี้ไปยังทิศเหนือ แต่ออสซิลเลเตอร์ 35% อยู่ในโซน overbought ิอยู่แล้ว

    การคาดการณ์แนวโน้มกระทิงล่าสุดเรียกโซน 119.80-120.20 เป็นเป้าหมาย ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ต่ำกว่าระดับดังกล่าว และยังยากอย่างยิ่งที่จะให้เป้าหมายใหม่ใด ๆ ในสถานการณ์ปัจจุบัน ทางที่ดีที่สุดควรให้ความสำคัญกับระดับที่ลงท้ายด้วยเลขตัวกลมโดยบวกลบอีก 15-20 จุด แนวทางนี้ได้รับการยืนยันในสัปดาห์ที่แล้ว เมื่อราคาปิดตลาดที่ 122.08 ช่วงโซนแนวรับกว้างขึ้นเนื่องด้วยความผันผวนที่สูงเป็นอย่างมาก โซนเหล่านี้ได้แก่ 120.60-121.40, 119.00-119.40, 118.00-118.35.

    สำหรับปฏิทินเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ เหตุการณ์สำคัญอาจเป็นวันศุกร์ที่ 1 เมษายน เมื่อธนาคารแห่งชาติญี่ปุ่นประกาศดัชนี Tankan Large Producers Index ซึ่งนี่เป็นดัชนีที่สำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงเงื่อนไขทางธุรกิจโดยรวมสำหรับบริษัทอุตสาหกรรมส่งออกขนาดใหญ่ในญี่ปุ่น

คริปโตเคอเรนซี: คาดหวังแนวโน้มกระทิง

  • ความต้องการความเสี่ยงของนักลงทุนซึ่งส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นเติบโตขึ้น ได้พาตลาดคริปโตขึ้นไปด้วย บิทคอยน์ขยับขึ้นมาอย่างทรงพลังยังระดับแนวต้านที่ $45,000 เมื่อช่วงเย็นวันศุกร์ที่ 25 มีนาคม เป็นครั้งที่ห้านับตั้งแต่ต้นปีนี้ โดยยังคงเป็นคำถามปลายเปิดว่า บิทคอยน์จะสามารถยืนปักหลักเหนือระดับดังกล่าวได้หรือไม่ ความพยายามสี่ครั้งก่อนหน้าล้วนล้มเหลว คู่ BTC/USD ย้อนตัวกลับลงมา อย่างไรก็ตาม เราสามารถเห็นกราฟรูปลิ่มขาขึ้นได้อย่างชัดเจน ซึ่งช่วงขาลงของราคาค่อย ๆ เล็กลง ราคาบิทคอยน์ปรับตัวลงมาที่ $32,945 เมื่อวันที่ 24 มกราคม และถึงระดับ $34.415 ในอีกหนึ่งเดือนถัดมา ก่อนที่จะทำระดับต่ำที่ $37.170 เมื่อวันที่ 7 มีนาคม

    มูลค่ารวมในตลาดคริปโตขยับขึ้นเป็น $2.280 ล้านล้านดอลลาร์ ณ ราคาสูงสุดของวันที่ 25 มีนาคม แต่ราคาก็ไม่สามารถยืนเหนือระดับสำคัญดังกล่าวได้ และ ณ ขณะที่เขียนบทรีวิวฉบับนี้ บิทคอยน์มีราคาซื้อขายอยู่ที่ $1.995 ล้านล้านเหรียญ ($1.880 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อหนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้า) ด้านดัชนี Crypto Fear & Greed Index ในที่สุดก็ขยับออกจากโซน Extreme Fear มายังโซนตรงกลางของดัชนี โดยขยับขึ้นมาจาก 25 ไปที่ 47 จุด

    วิตาลิก บูเทอริน (Vitalik Buterin) ผู้ก่อตั้งเหรียญ Ethereum ได้ประนามเหตุการณ์ที่รัสเซียบุกรุกยูเครนในบทสัมภาษณ์กับ Time ในขณะเดียวกัน เขามองว่า เหตุการณ์นี้ได้ย้ำเตือนให้ชุมชนคริปโตได้เล็งเห็นถึงวัตถุประสงค์ของสินทรัพย์ดิจิทัลในการให้ประโยชน์ที่แท้จริงกับประชาชน และคริปโตเคอเรนซีสามารถเป็นตัวถ่วงสมดุลกับรัฐบาลเผด็จการ และบ่อนทำลาย “การควบคุมแบบบีบรัด” ของยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีได้

    อาร์เธอร์ เฮยส์ (Arthur Hayes) ผู้ร่วมก่อตั้งตลาดซื้อขาย BitMEX เห็นด้วยกับนายบูเทอริน เขาเชื่อว่า มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียจะช่วยให้บิทคอยน์ได้เปรียบเหนือดอลลาร์สหรัฐ และอาจรวมถึงทองคำด้วย เขามองว่า มาตรการต่อต้านรัสเซียและประเทศอื่น ๆ จะยิ่งโน้มน้าวให้ประชาชนหันมาลงทุนในทองคำและบิทคอยน์ และไม่ถือเงินดอลลาร์อีกต่อไป เขาอธิบายว่าในสถานการณ์ที่ยากลำบากทางเศรษฐกิจ ประชาชนจะมีความเชื่อมั่นในสินทรัพย์ที่มีปริมาณหรือข้อเสนอที่จำกัด โดยพิจารณาว่าสินทรัพย์เหล่านี้เป็นวิธีที่น่าเชื่อถือมากกว่าในการออมเงิน

    ผู้ร่วมก่อตั้ง BitMEX เชื่อว่า การตัดขาดของรัสเซียออกจากระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ SWIFT เป็นการโดดเดี่ยวผู้นำด้านพลังงาน ซึ่งอาจส่งผลที่ตามมาในทางลบระยะยาวต่อระบบการเงินดลก ทองคำจะกลายเป็นสินทรัพย์ครอบงำอยู่ระยะหนึ่ง และจะถูกใช้ในการค้าระหว่างประเทศในผลิตภัณฑ์พลังงานและอาหาร หลังจากเวลาระยะหนึ่ง ธนาคารกลางจะเริ่มเก็บสะสมทองคำ และจะยากมากขึ้นที่จะทำการชำระเงินดังกล่าว ซึ่งนี่อาจส่งผลให้เกิดการใช้งานสกุลเงินดิจิทัลอย่างแพร่หลายมากขึ้น

    คริปโตเคอเรนซีต้องอาศัยการกำกับดูแลที่ชัดเจนเพื่อจะได้รับความนิยมจริง ๆ นี่คือความเห็นของ แมตต์ ฮูแกน (Matt Hougan) ผู้อำนวยการด้านการลงทุนที่ Bitwise Asset Management เขาเชื่อว่า อุตสาหกรรมดิจิทัลในระยะปัจจุบันกำลังปูทางไปสู่การเติบโตที่จะเกิดขึ้นในปีนี้และจะดำเนินต่อไปในปีหน้า

    หนึ่งในขั้นตอนการกำกับดูแลที่สำคัญตามความเห็นของผู้อำนวยการของ Bitwise รายนี้ก็คือ คำสั่งผู้บริหารล่าสุดของประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ซึ่งอาจนำไปสู่แนวโน้มเพิ่มขึ้นของบิทคอยน์ เอกสารฉบับนี้กำหนดให้หน่วยงานระดับรัฐต้องไปศึกษาผลกระทบของคริปโตเคอเรนซีต่อความมั่นคงและเศรษฐกิจแห่งชาติภายในปีนี้ รวมถึงยังระบุถึงการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นในข้อกฎหมาย โดยเฉพาะการทำงานร่วมกับคณะกรรมการกลต. (คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ) และ CFTC (คณะกรรมการตลาดซื้อขายฟิวเจอร์สสินทรัพย์โภคภัณฑ์) ตลอดจนการให้นิยามบทบาทของหน่วยงานระดับรัฐบาล ตั้งแต่กระทรวงการต่างประเทศไปจนถึงกระทรวงพาณิชย์

    อัลเคช ชาห์ (Alkesh Shah) นักยุทธศาสตร์คริปโตของ Bank of America เชื่อเช่นกันว่า การกำกับดูแลตลาดคริปโตจะช่วยเพิ่มความมั่นใจและมูลค่ารวมของตลาดให้ทำสถิติสูงสุด “ที่สุดแล้ว เราต้องอาศัยการควบคุมดูแลและความไว้วางใจในระดับหนึ่ง แต่หน่วยงานต่าง ๆ ต้องการสั่งแบนเมื่อบางอย่างเริ่มผิดปกติ” ผู้เชี่ยวชาญรายนี้อธิบาย

    ดังนั้น เขามองว่า ระบบแบบกึ่งไร้ศูนย์กลางนั้นดีที่สุด บล็อกเชนซึ่งได้รับการบริหารจัดการอย่างลับ ๆ โดยองค์กรที่มีศูนย์กลาง “ผมคิดว่าเงิน $30 ล้านล้านดอลลาร์สำหรับส่วนที่กึ่งไร้ศูนย์กลางของระบบนิเวศคริปโตเคอเรนซีถือว่าเป็นปริมาณเงินทุนที่จริงจัง” เขากล่าวสรุป

    หากเราพูดถึงอนาคตอันใกล้นี้ บริษัทด้านการวิเคราะห์ Glassnode คาดว่าบิทคอยน์จะซ้ำราคาเดิมที่ $69,000 เหรียญนี้ซื้อขายต่ำกว่าระดับค่าเฉลี่นอย่างง่ายระยะ 200 วัน (SMA) มาเป็นเวลา 9 สัปดาห์ แต่ยังคงขยับขึ้นต่อเนื่อง สถานการณ์เดียวกันเห็นได้ในช่วงที่ราคาสะสมพลังเมื่อปี 2021 ซึ่งเป็นช่วงที่เตรียมทะยานขึ้นในไตรมาสที่สี่เมื่อราคาทำระดับสูงสุดใหม่ สถิติ Glassnode แสดงให้เห็นอีกด้วยว่า ผู้ถือเหรียญระยะยาวยังคงเก็บเหรียญบิทคอยน์ และจำนวนบิทคอยน์ในตลาดหลักทรัพย์ลดลง ผู้เชี่ยวชาญของบริษัทตีความข้อมูลนี้ว่าเป็นจุดสิ้นสุดของช่วงการปรับฐานขาลง

    ผู้เชี่ยวชาญบางท่านมองว่า ขณะนี้ Ethereum ดีกว่าบิทคอยน์เล็กน้อย เนื่องจากนักลงทุนหลายคนกำลังซื้อ ETH สำหรับ BTC นอกจากนี้ ชุมชนกำลังรอการอัปเดตเครือข่าย Ethereum Mainnet ที่เฝ้ารอกันมานาน ซึ่งการอัปเดต The Merge นั้นมีการทดสอบที่ประสบความสำเร็จบน testnet ก่อนที่จะเปิดตัว มีเหรียญ ETH มากกว่า $5.0 พันล้านเหรียญที่ถูกถอนออกจากการเบิร์นหรือเผาเหรียญ การเบิร์นเหรียญนั้นช่วยลดปริมาณรวมของเหรียญ Ethereum ซึ่งสามารถส่งผลดีต่อราคา และทำให้เหรียญอัลท์คอยน์นี้ทะยานขึ้นได้

    นักวิเคราะห์จาก FXStreet ชี้ว่า ราคาเหรียญอาจขยับขึ้นอีก 20% ในแนวโน้มขาขึ้นในขณะนี้ แต่จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อคู่ ETH/USD สามารถยืนเหนือระดับ $3,033 ได้สำเร็จ ซึ่งอาจนำไปสู่แนวโน้มการตัดทะลุกราฟขาขึ้นที่สมบูรณ์แบบเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2021

 

กลุ่มนักวิเคราะห์ NordFX

 

หมายเหตุ: เนื้อหาดังกล่าวไม่ควรยึดถือเป็นคำแนะนำในการลงทุนหรือเป็นคำปรึกษาในการซื้อขายในตลาดการเงิน โดยเนื้อหาข้างต้นเป็นไปเพียงเพื่อจุดประสงค์ในการให้ข้อมูลเท่านั้น การซื้อขายในตลาดการเงินมีความเสี่ยงและอาจทำให้เกิดการสูญเสียเงินฝากได้

กลับ กลับ
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ นโยบายคุกกี้ ของเรา