EUR/USD: คำพูดขับเคลื่อนเทรนด์
- แรงขับเคลื่อนหลักของสัปดาห์ที่ผ่านมาคือคำแถลงของเจ้าหน้าที่บุคคลสำคัญของธนาคารกลางยุโรป (ECB) และธนาคารเฟดสหรัฐฯ (FRS) อย่างไรก็ตาม ในช่วงต้นสัปดาห์ทุกอย่างดูนิ่งสงบเนื่องด้วยวันหยุดเทศกาลอีสเตอร์ ในขณะที่ฝั่งยุโรป ตลาดพักผ่อนทั้งวันศุกร์ที่ 15 และวันจันทร์ที่ 18 เมษายน โดยดอลลาร์ได้รับแรงหนุนเล็กน้อยเมื่อวันจันทร์จากคำพูดของผู้แทนจากธนาคารกลางสหรัฐฯ ราฟาเอล บอสติก (Rafael Bostic) ประธานธนาคารเฟดสาขาแอตแลนตา กล่าวว่าอัตราดอกเบี้ยอาจอยู่ที่ประมาณ 1.75% ภายในสิ้นปี 2022 และ ชาร์ลส์ อีวานส์ (Charles Evans) ประธานธนาคารฯ สาขาชิคาโก เชื่อว่า อัตราดอกเบี้ยจะขยับถึง 2.25-2.50% ด้าน เจมส์ บูลลาร์ด (James Bullard) ประธานธนาคารเฟดสาขาเซนต์หลุยส์ ประกาศว่า อัตราดอกเบี้ยอาจปรับขึ้น 0.75% โดยทันทีในที่ประชุมคณะกรรมการ FOMC เดือนพฤษภาคม
สถานการณ์กลับพลิกผันโดยสิ้นเชิงในวันอังคาร คู่ EUR/USD กลับทิศทางหลังจากราคาขึ้นมา 175 จุด ถึงระดับ 1.0935 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 21 เมษายน โดยครั้งนี้ไม่ใช่ดอลลาร์ แต่เป็นเงินยูโรที่ได้รับแรงหนุนจากท่าทีสายเหยี่ยวจากสมาชิกในคณะกรรมการบริหารธนาคารกลางยุโรป มาร์ตินส์ คาซัคส์ (Martins Kazaks) ประธานธนาคารกลางลัตเวีย กล่าวเมื่อวันพุธว่า การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ ECB อาจเริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ส่วนปิแอร์ วุนช์ (Pierre Wunsch) ประธานธนาคารกลางเบลเยียม ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Bloomberg ในวันถัดมาว่า อัตราดอกเบี้ยอาจเป็นบวกในปีนี้ ด้าน หลุย์ เดอ กวินโดส (Luis de Guindos) รองประธาน ECB ยืนยันความเป็นไปได้ดังกล่าว และระบุว่ามาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) อาจสิ้นสุดลงในเดือนกรกฎาคม หลังจากนั้นจะเป็นการเปิดทางไปสู่การขึ้นอัตราดอกเบี้ย
แรงกระตุ้นเพิ่มเติมสำหรับคู่นี้มาจากบรรยากาศความเสี่ยงที่ดีขึ้น และผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ลดลง จึงส่งผลให้ดัชนี DXY ขยับลงมา 1% หลังจากทำสถิติสูงสุดในรอบสองปีเมื่อวันอังคาร
สถานการณ์เปลี่ยนแปลงอีกครั้งเป็นครั้งที่สามในช่วงกลางวันวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ดอลลาร์เป็นฝ่ายบุกโจมตีรอบใหม่ด้วยความช่วยเหลือจากผลตอบแทนของพันธบัตรระยะ 10 ปี ของสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นเป็น 2.974% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2018 สถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจาก นายเจอโรม พาวเวลล์ ได้กล่าวแถลงในที่ประชุมรอบฤดูใบไม้ผลิในกรอบของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เขาได้ยืนยันว่ามีความเป็นไปได้สูงที่จะต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.5% ในการประชุม FOMC ครั้งถัดไปที่จะมาขึ้นในวันที่ 3-4 พฤษภาคมนี้ เขากล่าวว่าการดำเนินการดังกล่าวยังอยู่ภายใต้การพิจารณา และตลาดแรงงานของสหรัฐฯ “ร้อนแรงมากเกินไป” แล้ว และก็ไม่ตัดโอกาสที่อัตราดอกเบี้ยอาจปรับขึ้นอีกรอบหนึ่งที่ 0.5% ในเดือนมิถุนายน
ด้าน คริสติน ลาการ์ด ประธาน ECB ได้กล่าวแถลงในที่ประชุม IMF เดียวกันนี้ โดยเธอปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเงินยูโรในเดือนกรกฎาคม “สิ่งนี้จะขึ้นอยู่กับผลการดำเนินงานทางเศรษฐกิจ” เธอกล่าวอย่างคลุมเครือ ซึ่งส่งผลให้คู่ EUR/USD ขยับลง
ประธาน ECB ได้ตัดสินใจที่จะเพิ่มความเข้มงวดในท่าทีของเธอเล็กน้อยในช่วงวันทำการสุดท้ายที่ 22 เมษายนที่ผ่านมา เธอไม่ได้ปฏิเสธว่า โครงการซื้อสินทรัพย์ของ ECB อาจยุติลงตั้งแต่ต้นไตรมาสที่ 3 และกล่าวเสริมว่าอาจมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ตั้งแต่ปี 2022 คำพูดของเธอดูเป็นท่าทีสายเหยี่ยว (นโยบายการเงินแบบเข้มงวด) มากกว่าเมื่อเทียบกับคำกล่าวเมื่อวันพฤหัสบดีก่อนหน้า แต่ก็ไม่ได้ช่วยหนุนเงินยูโร ราคาคู่นี้ทำระดับต่ำสุดในรกอบที่ 1.0770 หลังจากนั้นก็ปรับฐานเล็กน้อยขึ้นทางด้านบนและปิดที่ 1.0800
ยูโรได้รับแรงหนุนเล็กน้อยจากผลลัพธ์ของการโต้วาทีระหว่าง เอมมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส และ มารีน เลอ แปง ผู้นำพรรคฝ่ายค้าน แบบสำรวจแสดงให้เห็นว่า ผู้ตอบแบบสอบถาม 56% มองว่าประธานาธิบดีคนปัจจุบันฟังดูน่าเชื่อถือในการโต้วาทีครั้งนี้กว่าคู่แข่งของเขา
การเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบที่สองในฝรั่งเศสจะจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 24 เมษายน โดย เอมมานูเอล มาครง ชนะการเลือกตั้งไป 27.84% ในรอบแรก ด้านมารีน เลอ แปง หัวหน้าพรรคฝ่ายขวาจัด National Rally Party ได้รับคะแนนเสียง 23.15% ก่อนหน้านี้เธอเคยอยู่ในกลุ่มผู้กังขาในอียู (Eurosceptics) และเคยเรียกร้องให้ประเทศออกจากกลุ่มยูโรโซนเมื่อปี 2017 และหากเธอขึ้นสู่อำนาจในฐานะประธานาธิบดี คู่ EUR/USD อาจขยับลงมายังระดั 1.0500 หรือต่ำกว่านั้น
ณ ขณะเวลาที่เขียนบทวิเคราะห์ฉบับนี้ เรายังไม่ทราบผลการเลือกตั้ง นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ (50%) จึงไม่ได้ให้คำทำนายใด ๆ 35% เชื่อว่าดอลลาร์จะแข็งค่าต่อไป ส่วน 15% เท่านั้นที่มีความเห็นในทางตรงกันข้าม ในส่วนอินดิเคเตอร์เทรนด์และออสซิลเลเตอร์ทั้งหมดบนกรอบ D1 ให้สัญญาณสีแดง แต่ 15% ของออสซิลเลเตอร์ให้สัญญาณแล้วว่าราคาอยู่ในโซน oversold โดยมีแนวรับที่ใกล้ที่สุดตั้งอยู่ที่ระดับ 1.0770 ในขณะที่เป้าหมายฝั่งหมีถัดไปของ EUR/USD จะเป็นราคา low ของวันที่ 14 เมษายนที่ 1.0757 และหากราคาหลุดแนวรับดังกล่าว จะมุ่งเป้าไปต่อไปที่ low ของปี 2020 ที่ 1.0635 และ low ของปี 2016 ที่ 1.0325 โซนแนวต้านที่ใกล้ที่สุดคือ 1.0830-1.0860 ตามมาด้วย 1.0900 ซึ่งเป็นราคา high ของวันที่ 21 เมษายน และราคา high ที่ 1.0935 และ 1.1000
สำหรับการประกาศสถิติสำคัญทางเศรษฐกิจ จะมีการเผยแพร่สถิติปริมาณคำสั่งซื้อสินค้าทุนและสินค้าคงทนในหรัฐฯ ในวันอังคารที่ 26 เมษายน และจะมีการประกาศสถิติ GDP และตลาดผู้บริโภคในเยอรมนีและยูโรโซนในวันพฤหัสบดีที่ 28 เมษายน และวันศุกร์ที่ 29 เมษายน นอกจากนี้ สถิติ GDP รายปีเบื้องต้นของสหรัฐฯ จะประกาศในวันพฤหัสบดี
GBP/USD: การต่อสู้เพื่อชิง 1.3000 นั้นพ่ายแพ้แล้ว แต่จะถูกโจมตีกลับอีกครั้งหรือไม่?
- เราได้สันนิษฐานไว้ในบทรีวิวครั้งที่แล้วว่า ศึกการต่อสู้ระหว่างฝั่งกระทิงและหมีจะยืดเยื้อต่อไป และจะขึ้นไปที่โซน 1.3000 ทั้งนี้ 1.3000 คือระดับแนวรับ/แนวต้านที่สำคัญ ซึ่งฝั่งกระทิงได้พ่ายแพ้ในศึกครั้งนี้ หลังจากดันราคา GBP/USD ไปถึงระดับ 1.3090 ท้ายที่สุดก็อ่อนแรงลง และถอยกลับลงมาทำราคาต่ำสุดในกรอบไว้ที่ 1.2822 เมื่อวันศุกร์ และปิดตลาดสูงกว่าเล็กน้อยในโซน 1.2830
เหตุผลภาวะทรุดตัวดังกล่าวของเงินปอนด์นั้นมาจากสองฝั่งของมหาสมุทรแอตแลนติก ในทางหนึ่งคือท่าทีสายเหยี่ยวของธนาคารเฟดสหรัฐฯ และการเพิ่มขึ้นของผลตอบแทนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ในอีกด้านหนึ่งก็คือความเห็นที่ระมัดระวังจากธนาคารแห่งชาติอังกฤษ (BoE) และสถิติทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอจากฝั่งอังกฤษ
แอนดริว ไบลน์ ผู้ว่าการ BoE ให้ความเห็นต่อสภาวะเศรษฐกิจอังกฤษเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาว่า ภาวะช็อคเนื่องด้วยเงินเฟ้อในอังกฤษมีความสอดคล้องกับสถานการณ์ในยูโรโซนมากกว่าในสหรัฐฯ “เราไม่ควรจะพึงพอใจเกี่ยวกับความคาดหวังเรื่องเงินเฟ้อ” เขากล่าวโดยเน้นว่า พวกเขากำลังรับมือกับ “เส้นบาง ๆ ระหว่างการต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อและผลกระทบต่อรายได้จริง”
หนึ่งวันหลังคำแถลงโดยผู้ว่าการธนาคารอังกฤษ สำนักงานสถิติสหราชอาณาจักรก็เผชิญกับแรงสะเทือนกับเงินปอนด์อีกครั้ง โดยสำนักงานฯ รายงานว่ายอดขายปลีกลดลง 1.4% ในเดือนมีนาคม ดัชนีนี้ประกาศหลังจากแนวโน้มที่ลดลง 0.5% ในเดือนกุมภาพันธ์ และผลปรากฏว่ายังเลวร้ายกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่คาดว่าจะลดลงเพียง 0.3% เท่านั้น
ความล้มเหลวครั้งใหญ่นี้แทบจะทำให้นักลงทุนตกอยู่ในภาวะช็อค และต้องใช้เวลาที่จะฟื้นความต้องการในการถือเงินปอนด์อีกครั้ง ตลาดหมีพยายามจะกดราคา GBP/USD ลงไปต่ออีก โดยมีนักวิเคราะห์ 65% ที่โหวตให้กับสถานการณ์ดังกล่าว และ 35% ที่เหลือคาดว่าราคาจะปรับฐานขึ้นสู่ด้านบน
อินดิเคเตอร์บนกรอบ D1 ยังมองว่าฝั่งสีแดงเป็นฝ่ายที่เป็นต่อโดยสมบูรณ์ ซึ่งคิดเป็น 100% ของอินดิเคเตอร์เทรนด์และออสซิลเลเตอร์ แต่ในส่วนของออสซิลเลเตอร์ชี้ว่าราคาอยู่ในโซน oversold แล้ว สำหรับเป้าหมายที่ใกล้ที่สุดของตลาดหมีคือการหลุดแนวรับที่ 1.28000 และทำ low เดือนตุลาคม 2020 ใหม่ที่บริเวณ 1.2760 เพื่อเปิดทางไปสู่ low เดือนกันยายน 2020 ที่โซน 1.2685-1.2700 สำหรับเป้าหมายที่ห่างไกลกว่านั้นอยู่ที่ระดับ 1.2400, 1.2250, 1.2085 และ 1.2000 ทางด้านตลาดหมีอาจจะพยายามกลับมาโจมตีอีกครั้งเพื่อชิง 1.3000 แต่อย่างไรก็ตาม พวกเขาจะต้องฝ่าฟันเอาชนะแนวต้าน 1.2860 และ 1.2915 ระหว่างทางให้สำเร็จได้ก่อน ในกรณีที่ขึ้นไปยืนเหนือ 1.3000 ได้สำเร็จ แนวต้านถัดไปจะเป็นระดับ 1.3100, 1.3150 และโซน 1.3190-1.3215 ตามลำดับ
ในสัปดาห์ที่จะถึงนี้ไม่มีการประกาศสถิติที่สำคัญใด ๆ จากฝั่งเศรษฐกิจสหราชอาณาจักร มีเพียงกิจกรรมเดียวคือการประกาศสถิติตลาดอสังหาริมทรัพย์ในวันศุกร์ที่ 29 เมษายนนี้
USD/JPY: ธนาคารแห่งชาติญี่ปุ่นจะยืนหยัดท่าทีเดิมหรือไม่?
- เงินเยนญี่ปุ่นทำสถิติซ้ำแล้วซ้ำเล่า และความคาดหวังในสัปดาห์ที่ผ่านมาอาจเป็นคำยืนยันที่ชัดเจนอีกครั้ง คู่ USD/JPY ได้ทำสถิติ high อีกครั้งที่ 129.39 เมื่อวันพุธที่ 20 เมษายน โดยครั้งล่าสุด ราคาได้ไต่ขึ้นไปสูงขนาดนี้เกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม 2002 หรือเมื่อ 20 ปีที่แล้ว
สาเหตุที่เงินเยนอ่อนค่ายังคงเหมือนเดิม คือ ความแตกต่างระหว่างนโยบายทางการเงินของสหรัฐฯ และญี่ปุ่น แม้ว่าคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะต่อต้านเงินเยนที่อ่อนค่า ธนาคารกลางญี่ปุ่นยังปฏิเสธที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยแม้จะขึ้นเป็นศูนย์ก็ตาม และไม่ต้องการจะลดมาตรการกระตุ้นทางการเงิน ธนาคารกลางฯ เชื่อว่า การรักษากิจกรรมทางเศรษฐกิจมีความสำคัญมากกว่าการต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ
การประชุมทั่วไปของธนาคารกลางญี่ปุ่นจะจัดขึ้นในสัปดาห์หน้า วันพฤหัสบดีที่ 28 เมษยน นักยุทธศาสตร์จาก UOB Group (United Overseas Bank) ของสิงคโปร์มองว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่นจะคงนโยบายเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง “เรามั่นใจว่า BOJ จะคงนโยบายทางการเงินที่หลวม ๆ เหมือนปัจจุบันไปตลอดปี 2022 และจะยังรักษาระดับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่เอาไว้ โดยน่าจะคงไว้จนถึงปีงบประมาณ 2023 เป็นอย่างน้อย”
เงินเยนได้รับแรงหนุนบางส่วนจากรายงานข่าวว่า ชุนอิจิ ซูซูกิ (Shunichi Suzuki) รัฐมนตรีการคลังญี่ปุ่นได้หารือเกี่ยวการแทรกแซงการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ กับ เจเน็ต เยลเลน (Janet Yellen) รัฐมนตรีการคลังสหรัฐฯ และดูเหมือนว่า “ทางฝั่งอเมริกาฟังดูเหมือนจะพิจารณาไอเดียดังกล่าว” อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังญี่ปุ่นก็ลดความหวังต่อความร่วมมือระหว่างทั้งสองประเทศ โดยปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเกี่ยวกับรายละเอียดของการสนทนาระหว่าง ซูซูกิ และเยลเลย
หลังจากราคาทำ high ในรอบหลายปี คู่ USD/JPY ก็ตีกลับเล็กน้อยในช่วงครึ่งหลังของสัปดาห์ และปิดตลาดที่ระดับ 128.53 ด้านผู้เชี่ยวชาญ 40% โหวตว่าฝั่งกระทิงจะบุกขึ้นทำ high ใหม่ ส่วน 30% มีท่าทีที่ตรงกันข้าม และ 30% มีท่าทีเป็นกลาง ในส่วนอินดิเคเตอร์ D1 มีอินดิเคเตอร์เทรนด์ 100% ที่ชี้ไปยังทิศเหนือ ด้านออสซิลเลเตอร์ 90% (หนึ่งในสามนั้นอยู่ในโซน overbought) และ 10% ที่เหลือชี้ไปทางทิศใต้ ด้านแนวรับที่ใกล้ที่สุดอยู่ที่บริเวณ 127.80-128.00 ตามมาด้วยโซน 127.45, 126.30-126.75 และระดับ 126.00 และ 125.00 ด้านแนวต้านอยู่ที่ระดับ 128.70, 129.10 และ 129.39 ส่วนความพยายามที่จะกำหนดเป้าหมายถัดไปของฝั่งกระทิงนั้นไม่ต่างอะไรกับการดูดวงพยากรณ์ เราสันนิษฐานได้แค่เพียงว่า ราคาอาจทำ high ของวันที่ 1 มกราคม 2001 ที่ 135.19 เป็นเป้าหมายระยะไกลเท่านั้น
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาดูจะเห็นว่าราคาได้ขยับขึ้นมา 1400 จุด ในช่วง 7 สัปดาห์ที่ผ่านมา และอาจไปถึงระดับดังกล่าวได้ในอีกหนึ่งเดือนครึ่ง หากยังเคลื่อนที่ในอัตราปัจจุบัน
นอกเหนือจากการประชุมของธนาคาร BoJ และรายงานนโยบายทางการเงินแล้ว ก็ไม่มีข้อมูลที่สำคัญอื่นใดเกี่ยวกับเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ควรจับตาดูในสัปดาห์นี้
คริปโตเคอเรนซี: BTC จาก $30,000 ถึง $200,000
- ตลอดปี 2022 บิทคอยน์ได้ขยับตาม Pivot Point ที่บริเวณ $40,000 โดยพยายามจะขึ้นไปที่ $50,000 ไม่ก็ลงมายัง $30,000 สาเหตุของความผันผวนดังกล่าวแน่นอนว่าเป็นเพราะธนาคารเฟดสหรัฐฯ นักลงทุนยังไม่สามารถตัดสินใจได้ว่าจะมีท่าทีอย่างไรต่อนโยบายทางการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นและการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ความต้องการในความเสี่ยงจึงลดลงอีกครั้ง ซึ่งในตอนแรกนั้นส่งผลกับตลาดหุ้น ซึ่งมีความสัมพันธ์กับความผันผวนของบิทคอยน์เช่นกัน
เราได้เคยกล่าวถึงความสัมพันธ์ของคู่ BTC/USD กับหุ้นบริษัทกลุ่มเทคโนโลยีไว้แล้วหลายครั้ง ตามรายงานของ Arcane Research ความสัมพันธ์ระหว่างบิทคอยน์และดัชนี Nasdaq Composite Index ขยับถึงระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2020 ตัวชี้วัดที่คล้ายกันระหว่างบิทคอยน์และทองคำลดลงสู่ระดับต่ำสุดในประวัติศาสตร์ ซึ่งล่าสุดได้ทำหน้าที่เป็นเครื่องประกันความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อ และราคาทองคำก็ขึ้นมาใกล้ระดับสูงสุดที่ $2.070 ต่อออนซ์เมื่อวันที่ 8 มีนาคม (ราคาสูงสุดที่ $2.075 ที่เคยบันทึกไว้เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2020)
Bitcoin-ETP แสดงให้เห็นถึงการไหลออกของกระแสเงิน และหากอัตราการไหลออกยังคงอยู่ในระดับในตอนนี้ จะเกิดสถิติต่ำสุดของเดือนกรกฎาคม 2021 เมื่อนักลงทุนถอนเงิน 13,849 BTC ภายในปลายเดือนนี้ ทั้งนี้ จำนวนที่อยู่ที่มีกิจกรรมซื้อขายบนเครือข่ายบิทคอยน์ลดลงเหลือ 15.6 ล้านที่อยู่ โดยต่ำกว่าระดับสูงสุดของเดือนมกราาคมปี 2021 ประมาณ 30% ผู้ถือและนักเก็งกำไรระยะสั้นหลายคน (ต่ำกว่า 155 วัน) ได้ออกจากการถือครอง BTC แล้ว ตามรายงานของ Glassnode
ขณะนี้ ตลาดนั้นได้รับการสนับสนุนจากผู้ถือระยะยาว (LTH) อย่างที่เราเคยเขียนไว้แล้ว ล่าสุดนั้นมีเทรนด์สะสมบิทคอยน์เกิดขึ้น ปริมาณการสะสมนั้นสูงกว่าปริมาณการขุดเหรียญ รายงานจาก Glassnode ระบุว่า อัตราการไหลออกจากของเหรียญจากแพลตฟอร์มที่มีศูนย์กลางเพิ่มขึ้นเป็น 96,200 BTC ต่อเดือน ซึ่งเกิดขึ้นได้ยากเป็นอย่างยิ่งหากมองย้อนกลับไปในอดีต นอกเหนือจากเหล่า “วาฬ” แล้วยังมีกลุ่มคนที่เป็น “กุ้ง” (ที่อยู่ที่มียอดเงินต่ำกว่า 1 BTC) ที่มีบทบาทสำคัญในการสะสมเหรียญนี้ คิดเป็น 14.26% ของปริมาณในตลาด
ณ ขณะนี้ มีผู้ถือเหรียญระยะยาวประมาณ 15% กำลังขาดทุน แต่พวกเขาไม่ใช่แค่จะยังถือเหรียญต่อไป แต่ยังทยอยตุนเหรียญใหม่เพิ่มโดยหวังว่าราคาจะเติบโตในอนาคต เช่น บริษัท MicroStrategy ผู้ให้บริการซอฟต์แวร์เพื่อการวิเคราะห์ วางแผนที่จะ “ปฏิบัติตาม” ยุทธศาสตร์อย่างใกล้ชิด และเพิ่มปริมาณเงินสำรองเป็นบิทคอยน์ต่อไป นี่คือคำแถลงโดย ไมเคิล เซย์เลอร์ (Michael Saylor) ซีอีโอของบริษัทต่อคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ ทั้งนี้ แหล่งข่าว Bitcoin Treasuries ระบุว่า บริษัทแห่งนี้ถือบิทคอยน์ไว้ 129,218 BTC คิดเป็นมูลค่า $5.17 พันล้านดอลลาร์ โดย MicroStrategy เข้าซื้อครั้งล่าสุดด้วยเงิน $190.5 ล้านดอลลาร์เมื่อช่วงต้นเดือนเมษายน หากเทียบกันแล้ว Tesla จัดว่าอยู่อันดับที่สองรองจาก MicroStrategy โดย Tesla เป็นเจ้าของทั้งหมด 43,200 BTC คิดเป็นมูลค่าประมาณ $1.7 ล้านดอลลาร์
ณ ขณะที่เขียนบทวิเคราะห์ฉบับนี้ในช่วงเย็นวันศุกร์ที่ 22 เมษายน มูลค่ารวมในตลาดคริปโตยังคงต่ำกว่าระดับจิตวิทยาที่สำคัญที่ $2 ล้านล้านดอลลาร์ โดยอยู่ที่ $1.850 ล้านล้าน ($1.880 ล้านล้านเมื่อหนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้า) ด้านดัชนี Crypto Fear & Greed Index มีผลลัพธ์ดีขึ้นเล็กน้อย โดยมีคะแนนขึ้นมาจาก 22 เป็น 26 จุด และกลับจากโซน Extreme Fear สู่โซน Fear
คู่ BTC/USD ซื้อขายอยู่ที่บริเวณ $39,700 กราฟของช่วงสี่เดือนที่ผ่านมา ซึ่งมีราคา highs และ lows ที่ยกตัวสูงขึ้น จึงให้ความหวังกับนักลงทุนว่าราคาจะขยับขึ้นต่อไป อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างล้วนขึ้นอยู่กับผลการประชุมของธนาคารเฟดในเดือนพฤษภาคม และอารมณ์ของนักลงทุน ทั้งนี้ อาร์เธอร์ เฮย์ส์ (Arthur Hayes) ผู้ร่วมก่อตั้ง BitMEX ได้ทำนายว่าบิทคอยน์จะขยับลดลงมาที่ $30,000 ภายในปลายไตรมาสที่สองเนื่องด้วยแนวโน้มขาลงของดัชนี Nasdaq ตัวเลขเดียวกันนี้ระบุโดยนักวิเคราะห์และนักเทรดคริปโตเคอเรนซีชื่อดัง ไมเคิล วาน เดอ ป็อบเป (Michael van de Poppe) ผู้เชื่อว่า บิทคอยน์จะร่วงลงทำระดับต่ำสุดที่ต่ำกว่า $30,000 โดยให้เหตุผลอย่างอื่น คือ ความตึงเครียดเรื่องการเมืองระหว่างประเทศในยุโรปตะวันออกเนื่องด้วยการใช้กองกำลังทหารบุกรุกยูเครน
ผู้เชี่ยวชาญหลายคนก็ไม่ได้คาดหวังสิ่งที่ดีใด ๆ จากคู่ BTC/USD ในอนาคตอันใกล้นี้เช่นกัน แต่พวกเขาก็ให้คำทำนายในทางบวกในระยะกลางและระยะยาว แอนโทนี เทรนเชฟ (Antoni Trenchev) ซีอีโอของแพลตฟอร์มคริปโต Nexo กล่าวว่าราคาบิทคอยน์อาจขยับขึ้นเหนือ $100,000 ในช่วงอีก 12 เดือนข้างหน้า แต่เขา “รู้สึกกังวล” เกี่ยวกับแนวโน้มระยะสั้นของบิทคอยน์ ในมุมมองของเขา ราคาอาจดิ่งลงคู่กับตลาดหุ้น โดยมีสาเหตุมาจากการจำกัดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางสหรัฐฯ
เปาโล อาร์โดอิโน (Paolo Ardoino) ผู้อำนวยการด้านเทคโนโลยีของ Bitfinex ทำนายแนวโน้มที่คล้ายกันของบิทคอยน์ เขาเชื่อว่า ราคาบิทคอยน์จะ “สูงกว่า” 50,000 อยู่มากภายในสิ้นปี 2022 อย่างไรก็ดี เขายอมรับว่าจะเกิดช่วงขาลงในอนาคตอันใกล้ “ในขณะนี้ เรากำลังอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ผมต้องบอกว่าเป็น ความไม่แน่นอนรอบโลกในตลาด ไม่ใช่แค่ในคริปโตเคอเรนซี แต่ยังรวมถึงตลาดหุ้นด้วย”
อาลี มาร์ติเนซ (Ali Martinez) ผู้เชี่ยวชาญตลาดคริปโตได้วิเคราะห์กราฟราคาบิทคอยน์ และกล่าวว่า มูลค่าของบิทคอยน์อาจลดลงเหลือ $27,000 สิ่งสำคัญคือฝั่งกระทิงจะต้องยืนเหนือระดับแนวรับสำคัญเพื่อกันไม่ให้ราคาร่วงลงได้ จากการวิเคราะห์ Fibonacci levels แนวรับดังกล่าวคือช่วง $38,530 หากราคาหลุด บิทคอยน์จะร่วงลงต่อไปที่ $32,853 หรืออาจถึง $26,820 เขายังเชื่ยเหมือนกับนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ว่า เราไม่ควรเน้นความสำคัญที่การวิเคราะห์ทางเทคนิคเพียงอย่างเดียวและเพิกเฉยต่อปัจจัยพื้นฐาน หลายอย่างยังขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศในปัจจุบัน
เบนจามิน โคเวน (Benjamin Cowen) นักวิเคราะห์คริปโตเคอเรนซีมั่นใจว่า บิทคอยน์กำลังเข้าสู่ “จุดแห่งการเลือกทิศทางของเทรนด์” นายโคเวนอธิบายต่อว่า สิ่งนี้เคยเกิดขึ้นแล้ว “ในปี 2013 บิทคอยน์ทำระดับต่ำสุดหนึ่งครั้ง จากนั้นก็เกิดครั้งที่สอง และสาม และท้ายที่สุดก็เริ่มขยับขึ้น และจากนั้นในปี 2018 เมื่อราคา low ยกตัวขึ้น เราคิดว่าสิ่งเดียวกันจะเกิดขึ้นเหมือนกับในปี 2013 แต่ท้ายที่สุด บิทคอยน์กลับดิ่งลงทำ low ใหม่”
นักวิเคราะห์รายนี้มองว่า การที่เทรนด์กระทิงจะฟื้นตัวกลับมาได้อีกครั้งและลดความเป็นไปได้ของเทรนด์ตลาดหมี BTC/USD จะต้องยืนเหนือเส้น SMA 200 วันให้สำเร็จ ซึ่งในขณะนี้อยู่ที่บริเวณ $47,500 “หากบิทคอยน์สามารถมีแรงทะยานขึ้นไปเหนือเส้น SMA 200 วัน และขยับไปยังระดับ $50,000 จากนั้นมันจึงจะดูมีอนาคตที่สดใส แต่อะไรจะเกิดขึ้นถ้าตลาดดิ่งลงมาที่ $30,000 และจากนั้นบิทคอยน์จึงขยับขึ้นอีกครั้ง? แปลว่าจะมีโอกาสสูงที่เราจะได้กลับไปยังระดับ $40,000 หรืออาจที่ $43,000” กล่าวโดย เบนจามิน โคเวน
สิ่งที่น่าเป็นไปได้มากที่สุด แนวโน้มการกลับมาของบิทคอยน์จาก $30,000 ขึ้นไปที่ $40,000 ในสถานการณ์ปัจจุบันจะไม่ทำให้นักลงทุนประทับใจเท่าไรนัก เนื่องจากบิทคอยน์ขณะนี้ซื้อขายอยู่ที่บริเวณ $40,000 ดังนั้น เพื่อเป็นการทำให้พวกเขารู้สึกดีขึ้น เราจะอ้างอิงคำพูดของผู้เชี่ยวชาญอีกท่านหนึ่ง นิโคลัส แมร์เทน (Nicholas Merten) จาก DataDash ผู้เชื่อว่า BTC จะทำสถิติสูงสุดใหม่ตั้งแต่ปีหน้านี้ เขามองว่า ฝั่งกระทิงยังไม่สูญเสียการควบคุมแม้ว่าจะมีความผันผวนในตลาด ณ ปัจจุบัน “ตลาดกำลังอยู่ห่างไกลจากการทำให้นักลงทุนประทับใจ แต่สถานการณ์นี้มักสังเกตเห็นได้ในช่วงเริ่มต้นของการสะสมพลัง นี่คือโครงสร้างที่เทรนด์กำลังก่อตัวขึ้น”
แมร์เทนมองว่า การที่บิทคอยน์ทำราคา lows ที่ยกตัวสูงขึ้น และราคา highs ที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ยิ่งเป็นการยืนยันว่าฝั่งกระทิงกำลังคุมอยู่ ไม่ว่าหลายอย่างจะเป็นอย่างไรก็ตามในขณะนี้ นักวิเคราะห์รายนี้เชื่อว่า หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไป ราคา BTC มีทุกโอกาสที่จะขยับถึง $150,000 และแม้กระทั่งถึง $200,000 ภายในปีหน้า
กลุ่มนักวิเคราะห์ NordFX
หมายเหตุ: เนื้อหาดังกล่าวไม่ควรยึดถือเป็นคำแนะนำในการลงทุนหรือเป็นคำปรึกษาในการซื้อขายในตลาดการเงิน โดยเนื้อหาข้างต้นเป็นไปเพียงเพื่อจุดประสงค์ในการให้ข้อมูลเท่านั้น การซื้อขายในตลาดการเงินมีความเสี่ยงและอาจทำให้เกิดการสูญเสียเงินฝากได้
กลับ กลับ