EUR/USD: สัปดาห์แห่งสารพัดสถิติใหม่ในรอบหลายปี
- แม้ว่าจะมีผู้บริหารที่ใจร้อนอย่าง เจมส์ บูลลาร์ด (James Bullard) ประธานธนาคารเฟดสาขาเซนต์หลุยส์ ผู้เชื่อว่าควรขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% โดยทันที ทุกอย่างก็เกิดขึ้นอย่างที่ตลาดได้คาดการณ์ไว้ หลังการประชุมเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม คณะกรรมการ FOMC (คณะกรรมการตลาดเสรีของธนาคารเฟด) ได้ตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.5% เป็น 1.0% ซึ่งเป็นการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่มากที่สุดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2020 ทั้งนี้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ มีการปรับอัตราดอกเบี้ยที่อัตราคงที่คือ 0.25% มาตลอด 22 ปีที่ผ่านมา
ธนาคารเฟดสหรัฐฯ ชี้แจงว่า อัตราดอกเบี้ยอาจปรับขึ้นต่อเนื่อง เพราะตลาดแรงงานยังค่อนข้างมีความแข็งแกร่ง และอัตราเงินเฟ้อสูงต่อเนื่อง ทำระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี ธนาคารฯ ยังตัดสินใจเริ่มต้น “ลดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ” ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน อัตราการขาดดุลงบของธนาคารฯ อาจเพิ่มจาก $35 พันล้านเหรียญในเดือนมิถุนายน เป็น $65 พันล้านดอลลาร์ในเดือนกรกฎาคม และจากนั้นไปที่ระดับสูงสุดคือ $95 พันล้านดอลลาร์ต่อเดือน เริ่มตั้งแต่เดือนสิงหาคม
ในขณะเดียวกัน นายเจอโรม พาวเวลล์ (Jerome Powell) กล่าวในการแถลงความเห็นว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังไม่พิจารณาที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.75% ในการประชุมที่จะมาถึง คำพูดเหล่านี้ช่วยผ่อนคลายความกังวลเกี่ยวกับการเร่งเพิ่มความเข้มงวดในนโยบายทางการเงิน ซึ่งบีบให้ผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลูงขึ้น ตลาดรู้สึกได้ว่าธนาคารเฟดยังไม่เข้มงวดเพียงพอ และการซื้อขายในตลาดหุ้นสหรัฐฯ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 5 ยังคงปิดบวก และดึงตลาดคริปโตไปด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ดี ความต้องการในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสดใสเพียงแค่ชั่วคราว ในวันถัดมา ช่วงเช้าวันที่ 6 พฤษภาคม ดัชนีดอลลาร์ DXY ทำระดับสูงสุดในรอบหลายปี โดยขึ้นเหนือ 104.00 ครั้งสุดท้ายที่ดัชนีทำระดับสูงสุดดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อ 20 ปีที่แล้ว
การเทขายครั้งใหญ่เริ่มขึ้นในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรรัฐบาล หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีได้รับผลกระทบมากที่สุด ดัชนี S&P500 ปรับลดลง 4% ถึงระดับต่ำสุดตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2021 ในขณะดัชนี NASDAQ Composite ติดลบ 5% ในขณะเดียวกัน ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะ 10 ปี ทำระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2018 โดยสูงกว่า 3%
ผู้เชี่ยวชาญบางคนเรียกสถานการณ์นี้ว่าเป็น “เกมชักเย่อระหว่างตลาดพันธบัตรที่ต้องการให้ธนาคารฯ ดำเนินการอย่างดุดันมากขึ้น และตลาดหุ้นที่ต้องการให้ธนาคารเฟดมีท่าทีที่ผ่อนปรนมากกว่านี้”
ท่ามกลางการเติบโตของดัชนี DXY คู่ EUR/USD มีพฤติกรรมที่ค่อนข้างสงบ โดยราคาเคลื่อนที่ในกรอบด้านข้างที่ 1.0470-1.0640 ตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน ในกรอบแคบ ๆ ที่ 1.0500-1.0580 นอกเหนือผลลัพธ์การประชุมที่คาดการณ์และเก็งไว้ในราคาอยู่แล้ว สถิติจากตลาดแรงงานที่ประกาศในวันศุกร์ที่ 6 พฤษภาคม ก็เกือบจะช่วยให้ราคาฟื้นตัว แต่ดัชนีที่สำคัญอย่างจำนวนตำแหน่งงานใหม่นอกภาคการเกษตรของสหรัฐฯ (ดัชนี NFP) ยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่ระดับเดียวกับเดือนก่อนหน้าคือ 428K ส่งผลให้ กราฟราคามีความลังเลเล็กน้อย และปิดตลาดรอบห้าวันที่โซนตรงกลาง ที่ระดับ 1.0540
อดีตเจ้าหน้าที่อาวุโสของธนาคารกลางสหรัฐฯ เคยกล่าวไว้ว่า อัตราดอกเบี้ยของธนาคารเฟดอาจขยับขึ้นถึง 5% ในที่สุด หลังการปรับดอกเบี้ยขึ้นต่อเนื่อง หากตลาดตัดสินใจเช่นนี้ ดอลลาร์จะทะยานแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง และจะคู่ขนานกับยูโรที่ 1:1 ในระหว่างนี้ เสียงของนักวิเคราะห์แบ่งออกเป็นหลายกลุ่ม ดังนี้ 75% มั่นใจว่าดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้นต่อไป ในขณะที่มีเพียง 25% ที่มีความเห็นในทางตรงกันข้าม อินดิเคเตอร์เทรนด์ 90% และ 85% ของออสซิลเลเตอร์บนกรอบ D1 ให้สัญญาณสีแดงและเข้าข้างดอลลาร์ ส่วน 10% และ 15% ให้สัญญาณสีเขียว แนวรับที่ใกล้ที่สุดอยู่ที่ 1.0500 ตามมาด้วยราคา low ของวันที่ 28 เมษายน ที่ 1.0470 สำหรับเป้าหมายฝั่งตลาดหมีถัดไปของ EUR/USD อาจเป็นราคา low ปี 2016 ที่ 1.0325 และโซนแนวต้านที่ใกล้ที่สุดคือ 1.0570-1.0600 จากนั้นเป็นโซน 1.0750-1.0800, 1.0830-1.0860, 1.0900-1.0935 และ 1.1000
ในสัปดาห์หน้าจะมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญบางประการ ซึ่งได้แก่ วันพุธที่ 11 และวันศุกร์ที่ 13 พฤษภาคม ที่จะมีการประกาศสถิติตลาดผู้บริโภคของเยอรมนีและสหรัฐฯ นอกจากนี้ จำนวนการเปลี่ยนแปลงในยอดขอรับสวัสดิการว่างงานในสหรัฐฯ จะประกาศในช่วงท้ายสัปดาห์ และที่ต้องไม่ลืมคือสถานการณ์การสู้รบในยูเครน ซึ่งเป็นเขตแดนติดกับอียู และข่าว “เซอร์ไพรส์” ที่รัสเซียอาจตอบโต้ต่อมาตรการคว่ำบาตรของสหภาพยุโรป
GBP/USD: คะแนน 1.0-1.0 อะไรจะเกิดขึ้นต่อไป?
- ไม่ใช่แค่ธนาคารเฟด แต่รวมถึงธนาคารแห่งชาติอังกฤษที่ทำสถิติเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยธนาคารอังกฤษได้ขึ้นอัตราดอกเบี้ย 25 จุดพื้นฐาน เป็น 1.0% ที่การประชุมเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 4 พฤษภาคม ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2009 นอกจากนี้ กรรมการ 3 จาก 9 ท่าน ในคณะกรรมการ MPC (คณะกรรมการนโยบายทางการเงิน) ของธนาคารแห่งชาติอังกฤษได้โหวตให้ขึ้นอัตรดาอกเบี้ย 1.25% โดยทันที จำนวนคะแนนเสียงที่คัดค้านการขึ้นอัตราดอกเบี้ยคือ 0 นอกจากนี้ ธนาคารอังกฤษยังกำลังวางแผนที่จะขายพันธบัตรรัฐบาลที่ได้ซื้อไว้หลังวิกฤติ ซึ่งขณะนี้อยู่ที่ประมาณต่ำกว่า £850 พันล้านปอนด์เล็กน้อย
ธนาคารแห่งชาติอังกฤษยังปรับทบทวนตัวเลขคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อของปี 2022 จาก 5.75% เป็น 10.25% (ทั้งนี้ ในเดือนมีนาคม อัตราเงินเฟ้อทำระดับสูงสุดตั้งแต่ปี 1992 และอยู่ที่ 7% (y/y) จากระดับเป้าหมายที่ 2%) สาเหตุสำคัญคือราคาเชื้อเพลิงและค่าขนส่งที่พุ่งขึ้น เฉพาะในเดือนเมษายนอย่างเดียวเท่านั้น ค่าเชื้อเพลิงในสหราชอาณาจักรพุ่งขึ้นถึง 54% และยังไม่หยุดแค่นั้น นอกเหนือจากผลที่ตามมาจากเบร็กซิตและการแพร่ระบาดของ COVID-19 สถานการณ์ยังได้รับผลกระทบให้เสียหายหนักขึ้นจากมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียที่บุกรุกยูเครน และมาตรการล็อกดาวน์รอบใหม่ในจีน ตัวเลขคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในปี 2023 ก็ถูกปรับให้แย่ลงจาก 2.5% เป็น 3.5%
การคาดการณ์ทางเศรษฐกิจไม่ทำให้นักลงทุนประทับใจเท่าไรนัก และถึงแม้ว่าธนาคารแห่งชาติอังกฤษจะคงตัวเลขคาดการณ์อัตราการเติบโตของ GDP ในปีปัจจุบันไว้ที่เท่าเดิม (+3.75%) แต่คาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะเริ่มขึ้นตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ธนาคารกลางคาดว่า GDP จะหดตัว 0.25% ในปี 2023 จากที่เคยประเมินไว้ก่อนหน้าคือ 1.25% ตัวเลขคาดการณ์ใหม่ชี้ว่า GDP อาจเติบโตไม่ใช่ที่ 1.0% แต่เพียง 0.25% เท่านั้นในปี 2024
อัตราดอกเบี้ยของธนาคารเฟดและธนาคารแห่งชาติอังกฤษขยับขึ้นถึงระดับเดียวกันที่ 1.0% ในขณะนี้ อย่างไรก็ดี หากอัตราดอกเบี้ยของดอลลาร์ขยับถึง 3.0-3.5% ในช่วงต้นปีหน้าหรือสูงกว่า ธนาคารอังกฤษอาจสั่งให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินปอนด์เป็น 2.5% ภายในกลางปี 2023 และให้ลดลงเป็น 2.0% ภายในช่วงท้ายของระยะเวลาสามปี ความแตกต่างในอัตราการเพิ่มความเข้มงวดในนโยบายทางการเงินคาดว่าจะส่งแรงกดดันต่อเงินปอนด์ต่อไป แต่ในกรณีที่ธนาคารเฟดปรับการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อใหม่ในเดือนมิถุนายน หลายสิ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้อีก
ในระหว่างนี้ คู่ GBP/USD ขยับลงต่อเนื่อง โดยกลับมาสู่ระดับเดือนมิถุนายน 2020 และขยับถึงระดับต่ำสุดในกรอบที่ 1.2275 ก่อนที่จะปิดตลาดที่ 1.2340
คะแนนเสียง 55% โหวตว่าเงินปอนด์จะอ่อนค่าลงต่อ 30% คาดว่าราคาคู่นี้จะปรับฐานไปยังทิศเหนือ และ 15% คาดว่าจะขยับไปยังทิศทางด้านข้าง สำหรับอินดิเคเตอร์บนกรอบ D1 ฝั่งที่เป็นฝ่ายได้เปรียบโดยสิ้นเชิงคือฝั่งสีแดง 100% ของทั้งอินดิเคเตอร์และออสซิลเลเตอร์ชี้ไปยังทิศใต้ แต่มี 10% ของอย่างหลังที่ให้สัญญาณ oversod ส่วนเป้าหมายที่ใกล้ที่สุดของตลาดหมีคือการหลุดแนวรับที่ 1.2250 จากนั้นคือ 1.2075 ด้านแนวรับที่สำคัญของคู่นี้คือระดับสำคัญทางจิตวิทยาที่ 1.2000 ในส่วนของฝั่งตลาดกระทิง หากราคาสามารถคว้าโอกาสจะสามารถขึ้นไปเผชิญกับแนวต้านในโซน 1.2400, 1.2470-1.2570, 1.2600-1.2635, 1.2700-1.2750, 1.2800-1.2835 และ 1.2975-1.3000 ตามลำดับ
สำหรับสถิติที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรในสัปดาห์นี้ ที่น่าสนใจที่สุดคือสถิติ GDP ซึ่งจะประกาศในวันพฤหัสบดีที่ 12 พฤษภาคม
USD/JPY: เป้าหมายของกระทิงคือ 135.00
- ความสัมพันธ์ระหว่างพันธบัตรรัฐบาลชุด 10 ปี และคู่สกุลเงิน USD/JPY ยังไม่หมดลง ในกรณีที่ผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มขึ้น ดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเยนญี่ปุ่น เราได้เห็นการยืนยันความสัมพันธ์ดังกล่าวในสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาคู่นี้ได้ขยับขึ้นทำ high ที่ 130.80 เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม และขณะนี้กำลังมุ่งทำราคา high ในรอบ 20 ปีที่ 1.3125 นักยุทธศาสตร์ของกลุ่มการเงินระหว่างประเทศ Nordea คาดว่า ราคาอาจขยับถึง 135.00 ภายในสิ้นปีนี้ พวกเขามองว่า เงินเยนจะแข็งค่าและแนวโน้มขาลงของคู่นี้อาจเกิดขึ้นได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2023
ดัชนีราคาผู้บริโภคของญี่ปุ่น ซึ่งไม่รวมสินค้าประเภทอาหารสด และเป็นตัวชี้วัดสำคัญที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นเฝ้าติดตาม ปรับสูงขึ้นเป็น 2.1% ในเดือนเมษายน ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่ 2.0% เป็นครั้งแรกในรอบหลายปี และหากเงินเยนทำสถิติผ่านระดับ 140 ต่อ $1 อัตราเงินเฟ้อในญี่ปุ่นอาจขยับถึง 3.0% ตามความเห็นของผู้เชี่ยวชาญจาก BNP Paribas อย่างไรก็ตาม นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ (Haruhiko Kuroda) ผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติญี่ปุ่นได้กล่าวไว้หลายครั้งแล้วว่า แม้ประชาชนชาวญี่ปุ่นจะไม่พึงพอใจในราคาสินค้าที่สูงขึ้นอย่างไร ธนาคารฯ จะยังคงภักดีต่อนโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลาย ในกรณีที่ธนาคารกลางฯ ตัดสินใจเพิ่มความเข้มงวด จะยิ่งสร้างความลำบากในการสร้างเสถียรภาพและลดอัตราหนี้สาธารณะต่อ GDP ตามความเห็นของ Fitch Ratings นอกจากนี้ อัตราส่วนดังกล่าวยังขยับถึง 248% ในปีงบประมาณ 2021 ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดในบรรดาประเทศที่มีคะแนนนำด้านการลงทุนและเป็นจุดอ่อนหลักของญี่ปุ่น (เมื่อเทียบกันแล้ว อิตาลีซึ่งมีอันดับที่สองนั้นมีตัวเลขนี้อยู่ที่ประมาณ 150%)
ในสัปดาห์หน้าจะมีการประกาศรายงานผลการประชุมของคณะกรรมการนโยบายทางการเงินของธนาคารแห่งชาติญี่ปุ่น ในวันจันทร์ที่ 9 พฤษภาคม อย่างไรก็ดี มีโอกาสน้อยที่รายงานดังกล่าวจะส่งผลใด ๆ ต่อดุลอำนาจระหว่างดอลลาร์และเงินเยน ในส่วนผู้เชี่ยวชาญที่มองว่าคู่ USD/JPY จะขยับขึ้นไปยังทิศเหนือมีจำนวน 65% ส่วน 35% รอดูการเคลื่อนที่ลงทิศใต้ ด้านอินดิเคเตอร์เทรนด์และออสซิลเลเตอร์บนกรอบ D1 จำนวน 100% ชี้ไปยังทิศเหนือ แต่ 15% ให้สัญญาณแล้วว่าราคาอยู่ในโซน overbought ด้านแนวรับที่ใกล้ที่สุดอยู่ที่ 129.70-130.15 ตามมาด้วยโซนและระดับ ได้แก่ 128.60-129.30, 127.80-128.00, 127.00, 126.30-126.75 และระดับที่ 126.00 และ 125.00 เป้าหมายของฝั่งกระทิงคือการทำ high ใหม่ของวันที่ 28 เมษายนที่ 131.25 การพยายามหาเป้าหมายถัดไปของฝั่งกระทิงนั้นไม่ต่างกับการดูดวงเท่านั้น สิ่งที่พอจะสันนิษฐานได้ในตอนนี้คือ ราคาจะกำหนดราคา high ของวันที่ 1 มกราคม 2002 ที่ 135.19 เป็นเป้าหมายได้ หากอัตราการเติบโตของคู่นี้ยังคงที่ต่อไป ราคาอาจขยับถึงระดับดังกล่าวได้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน
คริปโตเคอเรนซี: ทุกอย่างล้วนขึ้นอยู่กับธนาคารเฟด
- รายงานที่เผยแพร่ล่าสุดโดยบริษัท DappRadar บริษัทด้านการวิเคราะห์ ชี้ให้เห็นถึงการเติบโตในกิจกรรมคริปโตในสหรัฐฯ รัสเซีย และยูเครน และหากความต้องการที่เพิ่มขึ้นในสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นเป็นเพราะมาตรการคว่ำบาตรและหายนะทางมนุษยธรรมในสองประเทศหลังแล้ว การยอมรับเงินเสมือนจริงในสหรัฐฯ ก็เป็นผลของจำนวนนักเทรดและบริษัทคริปโตที่เพิ่มขึ้น
ผลลัพธ์ของงานวิจัยระบุว่า มีจำนวนบริษัทใหม่ทำสถิติสูงสุดในสหรัฐฯ ตั้งแต่ไตรมาสแรกของปีนี้ ซึ่งบริษัทเหล่านี้มีความเกี่ยวข้องกับบล็อกเชน เมตาเวิร์ส NFT และสินทรัพย์ดิจิทัล เอกสารฉบับนี้ระบุว่า แม้แต่แนวโน้มขาลงของบิทคอยน์ก็ไม่ส่งผลต่ออารมณ์โดยรวมในตลาด
นักวิเคราะห์จาก DappRadar กล่าวว่า ความนิยมในคริปโตเคอเรนซีเพิ่มขึ้นไม่เพียงแต่ในประเทศข้างต้นเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นรอบโลก เช่น ท่ามกลางภัยคุกคามของภาวะเงินเฟ้อ ความต้องการถือเงินเสมือนจริงในบราซิลและอินเดียเพิ่มขึ้นถึง 40% และ 45% ตามลำดับ ผู้เชี่ยวชาญบางท่านระบุว่า จำนวนผู้ใช้งานคริปโตเคอเรนซีจะเพิ่มขึ้น 5 เท่า ในช่วงอีก 10-20 ปีข้างหน้า และจะมีจำนวนถึง 1 พันล้านคน
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า กิจกรรมของนักลงทุนรายย่อยที่ยังคงเชื่อในอนาคตของบิทคอยน์เป็นผู้ที่ช่วยพยุงราคาไม่ลงหนักในขณะนี้ ทั้งนี้ เจ้าของวอลเล็ตจำนวน 0.1 - 10 BTC มีจำนวนเพิ่มขึ้นสองเท่าในเดือนเมษายนเพียงเดือนเดียว โดยเพิ่มสัดส่วนบิทคอยน์ขึ้นทั้งหมด 2.5 ล้าน BTC
สำหรับนักลงทุนรายสถาบัน (ผู้ที่ลงทุนมากกว่า $1 ล้านดอลลาร์) การเคลื่อนไหวนั้นเป็นไปในทางตรงกันข้าม และโดยหลักแล้วมีสาเหตุมาจากท่าทีของธนาคารเฟดสหรัฐฯ ธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้พิมพ์ธนบัตรดอลลาร์จำนวนมากกว่าหนึ่งในสามนับตั้งแต่ฤดูใบไม้ผลิปี 202 และดุลงบประมาณก็เพิ่มขึ้นเป็น $9 ล้านล้านดอลลาร์ ในขณะที่ธนาคารเฟดทุ่มเงินดอลลาร์จำนวนมหาศาลในตลาด เงินจำนวนมากก็ถูกนำมาลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง และยิ่งช่วยสนับสนุนตลาดหุ้นและตลาดคริปโตเคอเรนซี ตอนนี้ถึงเวลาที่ธนาคารเฟดจะเริ่มคุมเข้มนโยบายทางการเงิน ซึ่งแน่นอนว่าย่อมจะส่งผลต่อสินทรัพย์เหล่านี้ด้วยเช่นกัน ดังนั้น กระแสเงินลงทุนที่ไหลออกจากกองทุนคริปโตก็ทำระดับสูงสุดที่ 14,327 BTC นอกจากนี้ นักลงทุนชาวอเมริกันเป็นผู้ที่ขายบิทคอยน์ทิ้งมากที่สุด โดยลดจำนวนเงินลงทุนถึง 11% ในหนึ่งเดือน (ถึงแม้ว่าจำนวนนักทรเดและบริษัทคริปโตในสหรัฐฯ จะเพิ่มขึ้นก็ตาม)
ณ ขณะที่เขียนบทวิเคราะห์ฉบับนี้ ในช่วงเย็นวันศุกร์ที่ 6 พฤษภาคม มูลค่ารวมในตลาดคริปโตอยู่ที่ $1.657 ล้านล้านดอลลาร์ ($1.752 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อหนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้า ส่วนดัชนี Crypto Fear & Greed Index ลดลงเล็กน้อย จาก 23 เหลือ 22 จุด โดยปักหลักอยู่ในโซนความกลัวขั้นสุด (Extreme Fear) คู่ BTC/USD ซื้อขายอยู่ที่บริเวณ $36.100 และทำราคา low ของสัปดาห์ไว้ที่ $35.280
การขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องและการเติบโตของดัชนีดอลลาร์ DXY ประกอบกับผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลที่เพิ่มขึ้นยังคงส่งแรงกดดันต่อราคากลุ่มสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง หาก 50% ของบิทคอยน์ทั้งหมดที่หมุนเวียนในตลาดทำกำไรให้กับเจ้าของได้เมื่อช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ตัวเลขดังกล่าวจะยิ่งลดลงเมื่อราคาเหรียญขยับลดลง ดังนั้น เหรียญ 40% เท่านั้นที่จะทำกำไรได้ที่ระดับ $33,000 ซึ่งอาจก่อให้เกิดภาวะหวาดวิตกครั้งใหญ่ได้
ปีเตอร์ แบรนดท์ (Peter Brandt) นักเทรดและประธาน Factor LLC ทำนายว่าบิทคอยน์จะทดสอบบระดับ $28,000 ผู้เชี่ยวชาญรายนี้ได้ดึงดูดความสนใจต่อรูปแบบที่บิทคอยน์ได้ก่อตัวตั้งแต่ต้นปีนี้ และราคาได้ทะลุลงมายังกรอบด้านล่าง “ช่องขาลงที่ก่อตัวโดยสมบูรณ์มักจะนำไปสู่แนวโน้มขาลงที่เท่ากับความกว้างของมัน ในกรณีนี้ จะเป็นการทดสอบที่ยากที่ $32,000 แต่ผมคิดว่าน่าจะเป็นที่ $28,000”
อีกหนึ่งนักเทรดคริปโตชื่อดัง เบนจามิน โคเวน (Benjamin Cowen) เชื่อเช่นกันว่า บิทคอยน์จะยอมจำนนครั้งใหญ่ก่อนที่การกลับตัวของตลาดกระทิงจะเริ่มต้นขึ้น เขามองว่ามันจะกระตุ้นให้เกิดการทะยานขึ้นของแนวโน้มกระทิงรอบใหม่
เมื่อราคา BTC ขยับลงต่ำกว่าระดับ $40,000 อีกครั้ง โคเวนได้ทำนายสถานการณ์แนวโน้มขาลงที่อาจเกิดขึ้น นักเทรดเน้นย้ำถึงเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ที่สำคัญที่สุดสามเส้นที่พยุง BTC ไว้ตามแนวรับในแนวโน้มขาลงในเวลาหลายปี คือ เส้น SMA 300-, 200- และ 100 สัปดาห์ ราคาที่หลุดเส้น SMA 100 สัปดาห์ ในอดีตนั้นถือว่าเป็นโอกาสที่ดีเยี่ยมสำหรับฝั่งกระทิง “เส้น SMA 100 สัปดาห์ในตอนนี้อยู่ที่ $36,000 และจังหวะที่ดีที่สุดในการซื้อบิทคอยน์จะเกิดขึ้นทุกครั้งที่ราคาหลุดลงต่ำกว่าเส้นดังกล่าว” โคเวนกล่าว แต่หากแนวโน้มขาลงมีความแข็งแกร่ง เขามองว่าบิทคอยน์อาจทรุดตัวลงหนักยิ่งกว่า และอาจทดสอบระดับค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 200 สัปดาห์ที่ $21,600” “หลายคนไม่เชื่อว่าสิ่งนี้สามารถเกิดขึ้นได้” นักเทรดกล่าว “แต่มันเป็นไปได้ ผมเคยซื้อ BTC ที่ $6,000 และจากนั้นราคาก็ลดลงมายัง $3,000 จากนั้นผมได้ซื้อ BTC ที่ $7,000 และ $10,000 และราคาก็ขยับลงอีกครั้งมาที่ $3,800 ดังนั้น มันเคยเกิดขึ้นมาก่อนและสามารถเกิดขึ้นได้ในตอนนี้”
กราฟบิทคอยน์แตะเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 300 สัปดาห์ ในช่วงสั้น ๆ เพียงครั้งเดียวในช่วงตลาดตกต่ำจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาเมื่อเดือนมีนาคม 2020 โคเวนไม่เชื่อว่าเหตุการณ์จะเกิดขึ้นซ้ำรอยได้อีก
อาร์เธอร์ เฮยส์ (Arthur Hayes) อดีตซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง BitMEX ได้ทำนายในเดือนเมษายนว่า บิทคอยน์จะดิ่งลงมาที่ $30,000 ภายในครึ่งปีแรก เขาอ้างถึงโอกาสแนวโน้มขาลงของดัชนี Nasdaq-100 ซึ่งทองคำมีความสัมพันธ์ด้วยในระดับสูง นักวิเคราะห์ที่ Arcane Research ยืนยันว่าความสัมพันธ์ทางสถิตินี้อยู่ในระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปี 2020
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านฟินเทคที่ร่วมตอบแบบสอบถาม Finder คาดการณ์ว่า ราคาบิทคอยน์จะอยู่เหนือ $65,000 ภายในสิ้นปีจากการเติบโตที่ต่อเนื่อง เฮยส์ไม่มีข้อสงสัยในแนวโน้มของบิทคอยน์ โดยเขาทำนายว่าราคาจะขยับขึ้นไปที่ $1 ล้านดอลลาร์ต่อเหรียญภายในสิบปี
นักวิเคราะห์ที่ชื่อ ไมเคิล วาน เดอ ปอบเปอ (Michael van de Poppe) มีความแตกต่างจากสองคนก่อนหน้านี้ เขาคิดว่าสถิติเครือข่ายให้สัญญาณว่า การกลับตัวของแนวโน้มกระทิงอาจเกิดขึ้นกับบิทคอยน์ เขามองว่า “แฮชเรตของ BTC ได้ขยับถึงระดับสูงสุดในประวัติศาสตร์ แต่ก็มีการหดตัวในพื้นที่คริปโตเคอเรนซี ดังนั้น ความต้องการในการขุด BTC เพิ่มขึ้น เครือข่ายปลอดภัยมากขึ้น และราคาสินทรัพย์ก็น่าจะตอบสนองต่อสิ่งนี้”
เขามองว่า คลื่นครั้งใหญ่อาจเริ่มขึ้นเนื่องด้วยการปรับฐานของดัชนีดอลลาร์สหรัฐ (DXY) “ในความเห็นของผม การเคลื่อนที่ครั้งใหญ่ไปด้านบนมีความเป็นไปได้ โดยเฉพาะหากดอลลาร์แสดงความอ่อนแอ” นักวิเคราะห์กล่าว “ในกรณีที่ ธนาคารเฟดละทิ้งแผนนโยบายทางการเงินที่เข้มงวด ดอลลาร์จะอ่อนค่าลง และนี่จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญสำหรับแนวโน้มขาขึ้นของบิทคอยน์”
ไมค์ แม็คโกลน (Mike McGlone) นักวิเคราะห์อาวุโสของ Bloomberg Intelligence เชื่อว่า การปรับฐานครั้งสำคัญในตลาดหุ้นจะบีบบังคับให้ธนาคารเฟดเปลี่ยนแปลงท่าทีในนโยบายทางการเงินที่เข้มงวด ซึ่งจะกระตุ้นแนวโน้มขาขึ้นในสินทรัพย์กลุ่มเสี่ยงสูง เช่น คริปโตเคอเรนซี “ธนาคารเฟดจะเดินหน้ากับนโยบายต่อไปจนกว่าตลาดหุ้นจะติดลบพอที่จะบังคับให้ต้องหยุดพัก นั่นคือช่วงที่เราคิดว่าเราจะได้เห็นบิทคอยน์ อีธีเรียม และอาจรวมถึงโซลานา (Solana) ที่จะขยับขึ้น” “หากคุณต้องการดัชนีขาลงที่ดีสำหรับบิทคอยน์และอัลท์คอยน์ ให้จับตาดูฟิวเจอร์สกองทุนของธนาคารเฟด นี่คือสิ่งที่ตลาดคาดหวังจากธนาคารเฟดในหนึ่งปี ตอนนี้ดัชนีอยู่ที่ 3% หรืออาจมากกว่า และอัตราจริงอยู่ที่ 1% เมื่อใดก็ตามที่การคาดการณ์ล่วงหน้าดังกล่าวเริ่มลดลง ผมคิดว่าบิทคอยน์จะเริ่มดิ่งลงต่ำสุด” กล่าวโดยนักวิเคราะห์
กลุ่มนักวิเคราะห์ NordFX
หมายเหตุ: เนื้อหาดังกล่าวไม่ควรยึดถือเป็นคำแนะนำในการลงทุนหรือเป็นคำปรึกษาในการซื้อขายในตลาดการเงิน โดยเนื้อหาข้างต้นเป็นไปเพียงเพื่อจุดประสงค์ในการให้ข้อมูลเท่านั้น การซื้อขายในตลาดการเงินมีความเสี่ยงและอาจทำให้เกิดการสูญเสียเงินฝากได้
กลับ กลับ