EUR/USD: เรารอดูการประชุมของธนาคารเฟด
- การเคลื่อนที่ของคู่ EUR/USD ตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม ถึง 9 มิถุนายน ถือว่าเป็นการเคลื่อนที่ด้านข้างในกรอบ 1.0640-1.0760 (โดยไม่นับการตัดทะลุลงแบบหลอกที่เกิดขึ้นทั้งสองทิศทาง) อย่างไรก็ตาม ช่วงสภาวะนิ่งสงบดังกล่าวหยุดลงหลังการประชุมของกรรมการบริหารธนาคารกลางยุโรปเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 9 มิถุนายน ตลาดตื่นขึ้น และราคาคู่นี้ก็ดิ่งลง โดยขยับลงกว่า 200 จุดในช่วงกลางวันของวันศุกร์ ก่อนที่จะหยุดนิ่งเพื่อรอฟังสถิติเงินเฟ้อจากสหรัฐฯ
แน่นอนว่าการประชุมของธนาคารกลางยุโรปนั้นเป็นกิจกรรมหลักของทั้งสัปดาห์ที่แล้วและสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมา นักลงทุนคาดว่าอัตราดอกเบี้ยจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงในเดือนมิถุนายนและคงตัวอยู่ที่ 0% (ซึ่งเกิดขึ้นจริง) แต่นักลงทุนก็คาดหวังด้วยว่า นางคริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรปจะประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในเดือนกรกฎาคม โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่เงินเฟ้อขยับทำสถิติสูงถึง 8.1% ในเดือนพฤษภาคม และให้การคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากในช่วงสามปีข้างหน้า แต่ผลปรากฏว่าธนาคารฯ ยังไม่พร้อมสำหรับการตัดสินใจดังกล่าว และจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.25% เท่านั้น ทั้งนี้ ธนาคารฯ จะพิจารณาโอกาสขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% อีกครั้งในช่วงต้นเดือนกันยายน
ธนาคารกลางยุโรปกลัวว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็ว อาจส่งผลในทางลบต่อเศรษฐกิจของยูโรโซน ซึ่งกำลังประสบปัญหาหนักเนื่องด้วยราคาเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น ปัญหาอุปทานชะงักตัว และปัญหาอื่น ๆ จากการรุกรานยูเครนโดยรัสเซีย
ผลการประชุมในวันพฤหัสบดีที่ 9 มิถุนายน ชี้ว่า ท่าทีของธนาคารกลางยุโรปในตอนนี้ดูจะไม่ใช่สายพิราบ (นโยบายแบบผ่อนปรน) อีกต่อไป แต่ก็ยังอยู่ห่างไกลจากสายเหยี่ยว (นโยบายแบบเข้มงวด) เหมือนของธนาคารเฟด และอัตราเงินเฟ้อนั้นจะสูงขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้ ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยจะลดต่ำลง สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบเชิงลบต่อความเชื่อมั่นในตลาด และทำให้ค่าเงินยูโรอ่อนค่า
อีกหนึ่งกิจกรรมที่สำคัญในสัปดาห์นี้เป็นการประกาศสถิติตลาดผู้บริโภคของสหรัฐฯ (CPI) อัตราเงินเฟ้อและสถานการณ์ในตลาดแรงงานในขณะนี้เป็นดัชนีที่สำคัญที่สุดที่เป็นตัวตัดสินอนาคตของนโยบายทางการเงินของธนาคารเฟด ดังนั้น ดัชนีราคาผู้บริโภคจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก หากราคาสินค้าไม่สูงขึ้นต่อและเงินเฟ้อคงตัวที่ระดับเดิมคือ 8.3% นี่จะเป็นสัญญาณยืนยันว่านโยบายของธนาคารเฟดสหรัฐฯ มาถูกทางแล้ว โดยเฉพาะท่ามกลางการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นในยูโรโซน
สถิติดัชนีราคาผู้บริโภคที่ประกาศเมื่อวันที่ 10 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งไม่รวมสินค้าอาหารและเชื้อเพลิงพลังงาน (CPI m/m) ยังคงที่ไม่เปลี่ยนแปลงที่ 0.6% ในเดือนพฤษภาคม (แต่สูงกว่าการคาดการณ์ที่ 0.5%) และ CPI (g /d) ลดลงจาก 6.2% เหลือ 6.0% จากการคาดการณ์ที่ 5.9% ตลาดถือว่านี่เป็นสัญญาณที่ดีต่อดอลลาร์ และคู่ EUR/USD ขยับลงและปิดตลาดที่ 1.0520
ในสัปดาห์หน้า วันพุธที่ 15 มิถุนายน เราจะจับตาดูเหตุการณ์ที่อาจสำคัญยิ่งกว่าการประชุมของธนาคารกลางยุโรป ซึ่งก็คือการประชุมของธนาคารเฟดสหรัฐฯ ซึ่งจะมีการตัดสินใจเรื่องการขึ้นอัตราดอกเบี้ยรอบถัดไป เราเคยเขียนไว้แล้ว ธนาคารกลางสหรัฐฯ ตั้งใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.5% และมีแนวโน้มสูงที่ตลาดเก็งท่าทีดังกล่าวไว้ในอัตราแลกเปลี่ยนดอลลาร์อยู่แล้ว แต่หลังจากการประชุม เราจะจับตารอฟังคำแถลงข่าวโดยผู้บริหารของธนาคารฯ ซึ่งนักลงทุนจะได้ทราบท่าทีใหม่ ๆ เกี่ยวกับแผนในอนาคตของธนาคารกลางสหรัฐฯ จึงมีความน่าตื่นเต้นให้เราติดตาม
ในระหว่างนี้ คะแนนเสียงของผู้เชี่ยวชาญ ณ ช่วงเย็นวันที่ 10 มิถุนายน นั้นแบ่งออกเป็นสองกลุ่มเท่า ๆ คือ 50% โหวตฝั่งตลาดกระทิง 50% โหวตฝั่งตลาดหมี ในส่วนอินดิเคเตอร์บนกรอบ D1 สีแดงปกคลุมโดยสมบูรณ์ โดยคิดเป็นอินดิเคเตอร์เทรนด์ 100% ในขณะที่ 25% ของออสซิลเลเตอร์ให้สัญญาณว่าราคาอยู่ในโซน oversold แล้ว ระดับแนวต้านที่สำคัญและใกล้ที่สุดอยู่ในโซน 1.0600 หากทำสำเร็จ ฝั่งกระทิงจะพยายามตัดทะลุแนวต้านที่ 1.0640 และขยับขึ้นไปที่โซน 1.0750-1.0760 ส่วนเป้าหมายถัดไปคือ 1.0800 สำหรับฝั่งตลาดหมี ภารกิจอันดับหนึ่งคือการตัดทะลุแนวรับที่บริเวณ 1.0500 จากนั้นคือ 1.0460-1.0480 และอัปเดตราคา low ของวันที่ 13 พฤษภาคม หากทำได้สำเร็จ ราคาจะดิ่งลงไปทำระดับ low ของปี 2017 อีกครั้งที่ 1.0340 ซึ่งต่ำกว่านี้จะมีเพียงเป้าหมายของเมื่อ 20 ปีที่แล้วเท่านั้น
สำหรับพัฒนาการทางเศรษฐกิจในสัปดาห์ที่จะถึงนี้ นอกเหนือจากการประชุมของคณะกรรมการ FOMC ของธนาคารเฟดแล้ว เราขอแนะนำให้นักลงทุนให้ความสนใจกับการประกาศดัชนี CPI และ ZEW Economic Sentiment Index ในเยอรมนีในวันอังคารที่ 14 มิถุนายน รวมถึงการประกาศดัชนีราคาผู้ผลิตในสหรัฐฯ ด้านดัชนียอดขายปลีกจะประกาศในวันพุธที่ 15 มิถุนายน และดัชนีกิจกรรมการผลิตในสหรัฐฯ จะประกาศในวันถัดไป และสุดท้ายคือดัชนีราคาผู้บริโภคของยูโรโซนจะประกาศในช่วงท้ายสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 17 มิถุนายน
GBP/USD: เราจับตาดูการประชุมของธนาคารแห่งชาติอังกฤษ
- สัปดาห์ที่ผ่านมาได้ยืนยันความสัมพันธ์เชิงบวกของเงินปอนด์ต่อเงินยูโรกับดอลลาร์ เงินยูโรซึ่งอ่อนค่าลงเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 9 มิถุนายน ได้ฉุดเงินปอนด์ลงไปด้วย ทั้งคู่ EUR/USD และ GBP/USD ขยับลงทิศใต้ และสถิติราคาผู้บริโภคในสหรัฐฯ ยิ่งเพิ่มแรงกดดันต่อทั้งสองคู่ดังกล่าวเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ส่งผลให้ราคาปิดตลาดที่บริเวณ 1.2311
ในวันพฤหัสบดีที่ 16 มิถุนายน ธนาคารแห่งชาติอังกฤษจะจัดการประชุมขึ้น ซึ่งเป็นหนึ่งวันหลังจากการประชุมของธนาคารเฟดสหรัฐฯ จึงมีความเป็นไปได้ที่การตัดสินใจเรื่องอัตราดอกเบี้ยนั้นจะขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของฝั่งสหรัฐฯ หนึ่งวันก่อนหน้า นอกจากนี้ การคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นอาจยิ่งบีบให้ธนาคารฯ ต้องเพิ่มความเข้มงวดในนโยบายทางการเงิน (QT แทนที่ QE) ในขณะที่การคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อโดยธนาคารกลางอังกฤษในช่วง 12 เดือนข้างหน้านั้นอยู่ที่ 4.6% จากเดิมที่ 4.3%
เมื่อเฝ้ารอติดตามการประชุมของธนาคารกลางทั้งสองแห่ง ทั้งของสหรัฐฯ และอังกฤษ การคาดการณ์ของเงินปอนด์ดูไม่แน่นอนเป็นอย่างมาก ราคาจะดิ่งลงต่อหรือไม่? ผู้เชี่ยวชาญ 40% ตอบว่าใช่ และ 50% ตอบว่าไม่ใช่ และอีก 10% ไม่มีคำตอบใด ๆ สำหรับอินดิเคเตอร์ในกรอบ D1 เสียงข้างมากอยู่ฝั่งตลาดหมีเหมือนกับในกรณีของคู่ EUR/USD ในส่วนอินดิเคเตอร์เทรนด์มี 100% ให้ผลลัพธ์เป็นแนวโน้มขาลง ส่วนออสซิลเลเตอร์ 90% ชี้ว่าราคาจะลงต่อ และมีหนึ่งในสี่ที่ให้สัญญาณว่าราคาอยู่ในโซน oversold ส่วน 10% ที่เหลือให้สัญญาณสีเทากลาง ระดับแนวรับอยู่ที่ 1.2290-1.2300, 1.2200 จากนั้นคือ 1.2154-1.2164 และ 1.2075 จุดแนวรับที่สำคัญสำหรับคู่นี้ คือ ระดับสำคัญทางจิตวิทยาที่ 1.2000 ในกรณีที่ราคาขยับขึ้น ราคาจะต้องผ่านแนวต้านที่บริเวณ 1.2400-1.2430, 1.2460, 1.2500, 1.2600 และจากนั้นคือ 1.2640-1.2665, 1.2700-1.2750, 1.2800-1.2835 และ 1.2975-1.3000
นอกเหนือจากการประชุมของธนาคารแห่งชาติอังกฤษ กิจกรรมที่สำคัญในสัปดาห์หน้านี้ของฝั่งอังกฤษ ได้แก่ สถิติ GDP ที่จะประกาศในวันจันทร์ที่ 13 มิถุนายน และสถิติค่าจ้างและอัตราว่างงานของสหราชอาณาจักรในวันที่ 14 มิถุนายนนี้
USD/JPY: จับตาดูการประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่น
- จริง ๆ แล้ว เราอาจจะไม่ต้องจับตาดูการประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่นเท่าไรนัก เพราะมีแนวโน้มสูงที่ธนาคารฯ จะคงนโยบายทางการเงินแบบผ่อนปรนตามเดิมอีกครั้งในการประชุมประจำเดือนในวันศุกร์ที่ 17 มิถุนายนนี้ และอัตราดอกเบี้ยจะติดลบตามเดิมคือ 0.1% แต่ถ้าหากในการแถลงข่าวปรากฏสัญญาณการเพิ่มความเข้มงวดในอนาคต สิ่งนี้อาจเป็นระเบิดเวลาและส่งผลให้เงินเยนแข็งค่าขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญ
แต่อย่างที่เราได้กล่าวไปแล้ว โอกาสนั้นมีไม่มาก และดอลลาร์ที่แข้งค่าขึ้นก็ดันคู่ USD/JPY ให้อัปเดตราคาสูงสุดในรอบ 20 ปีอีกครั้ง ครั้งล่าสุดที่ราคาทำลายสถิติคือที่ระดับ 134.55 ในสัปดาห์ที่แล้ว และราคาปิดตลาดต่ำกว่าเล็กน้อยที่บริเวณ 134.37
ณ ขณะนี้ มีนักวิเคราะห์เพียง 15% ที่โหวตว่าราคาจะขยับขึ้นไปเหนือ 135.00 ด้าน 35% มองว่าเป็นกลาง และส่วนใหญ่ (50%) คาดการณ์ว่าราคาจะปรับฐานลงด้านล่าง (อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาน้ำหนักขาขึ้นของคู่นี้ การปรับฐานอาจเลื่อนออกไปอย่างไม่กำหนดได้) ในส่วนของอินดิเคเตอร์บน D1 ให้ภาพรวมที่แตกต่างไปจากความเห็นของผู้เชี่ยวชาญโดยสิ้นเชิง ทั้งอินดิเคเตอร์เทรนด์และออสซิลเลเตอร์ 100% ให้สัญญาณสีเขียว แต่ 40% ของออสซิลเลเตอร์ก็ชี้เช่นกันว่าราคาอยู่ในโซน overbought แล้ว สำหรับแนวรับที่ใกล้ที่สุดอยู่ที่ 134.00 ตามมาด้วยโซนและระดับคือ 133.00-133.35, 132.25-132.50, 130.45-131.00, 129.70-130.20, 128.60, 128.00, 127.50, 127.00, 126.00-126.35 และ 125.00 ด้านเป้าหมายของฝั่งกระทิงคือการทำราคาสูงสุดใหม่ของวันที่ 9 มิถุนายนที่ 134.55 เป้าหมายถัดไปคือราคาสูงสุดของวันที่ 1 มกราคม 2002 ที่ 135.19 ซึ่งยังอยู่ไม่ไกลนัก (ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงปลายเดือนเมษายน เราเคยเขียนไว้ว่าฝั่งกระทิงอาจเริ่มโจมตีขาขึ้นในอีกหนึ่งเดือนครึ่งข้างหน้า และเราก็เห็นแล้วว่าการคำนวณดังกล่าวปรากฏว่าถูกต้อง 100%)
คริปโตเคอเรนซี: บิทคอยน์หาจุดต่ำสุด
- ฝั่งกระทิงได้รับมือกับการโจมตีของฝั่งหมีได้อย่างสำเร็จในดัชนี S&P500, Dow Jones และ Nasdaq ตลอดสองสัปดาห์ที่ผ่านมาจนถึงวันที่ 9 มิถุนายน อย่างไรก็ดี ดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นและการที่นักลงทุนหนีออกจากความเสี่ยงของภาวะเงินเฟ้อกลายเป็นสาเหตุให้เกิดการเก็บกำไรของตำแหน่งซื้อในตลาดหุ้น ส่งผลให้ดัชนีขยับลง
การต่อสู้ระหว่างกระทิงและหมีในแนวหน้าของคู่ BTC/USD อยู่ที่บริเวณ $30,000 โดยยังไม่จบสิ้นมาเป็นเวลาเกือบห้าสัปดาห์ และถึงแม้ว่าตลาดหุ้นจะดิ่งลง คริปโตยังคง (ณ ช่วงเย็นของวันศุกร์ที่ 10 มิถุนายน) ยืนเหนือเส้นดังกล่าวได้ โดยมีปรับตัวลงเล็กน้อยเท่านั้น ในสถานการณ์ตลาดนิ่งสงบเช่นนี้ นักลงทุนระยะยาวได้แต่รอคอยและหวังให้ราคาขยับขึ้น ในส่วนของนักเทรดแบบเทรดวันต่อวัน ธุรกรรมในช่วงเทรนด์ด้านข้างในกรอบแคบ ๆ นั้นให้กำไรได้ดี แต่ก็ต้องอาศัยทักษะในการเทรด
ในความเห็นของเรา ทุกคนล้วนมีอิสระที่จะใช้กลยุทธ์การเทรดที่เหมาะกับตนเองมากที่สุด แต่ละคนล้วนมีประสบการณ์ที่แตกต่างกันไป มีสภาวะทางจิตวิทยาที่ต่างกัน มีโอกาสทางการเงินที่ต่างกัน และมีกรอบเวลาที่สามารถทุ่มเทให้กับการเทรดที่ต่างกันไป โดยทั่วไปแล้ว ทุกคนล้วนมีลักษณะเฉพาะของตนเอง เช่น ไมเคิล เซย์เลอร์ ซีอีโอของบริษัท MicroStrategy เชื่อว่า เราไม่ควรยึดติดอยู่กับราคาในช่วงระยะสั้น หลายคนให้ความสนใจกับกราฟมากเกินไป “มันก็แค่เป็นการคาดเดา” “ถ้าคุณไม่วางแผนจะถือมัน [บิทคอยน์] ไว้เป็นเวลาสี่ปี คุณก็ไม่ใช่นักลงทุนแต่อย่างใด คุณเป็นนักเทรด และคำแนะนำของผมสำหรับนักเทรดก็คือ อย่าเทรดมัน จงลงทุนในบิทคอยน์” นักธุรกิจรายนี้ให้สัมภาษณ์กับ The Block
ทั้งนี้ ณ วันที่ 14 เมษายน 2022 บริษัท MicroStrategy คงสถานะเป็นบริษัทมหาชนที่ถือบิทคอยน์จำนวนมากที่สุด โดยบริษัทในเครือทั้งหมดเป็นเจ้าของ 129,218 BTC ที่ซื้อด้วยเงิน $3.97 พันล้านดอลลาร์ที่ราคาเฉลี่ยประมาณ $30,700 ดังนั้น สถานการณ์ปัจจุบันถือว่าสำคัญต่อ MicroStrategy และนายไมเคิล เซย์เลอร์เอง บริษัทจะอยู่ในสถานะที่เสียเปรียบหากราคาบิทคอยน์ไม่ขยับขึ้น และผู้เชี่ยวชาญหลายคนก็มองว่าราคาอาจขยับไปอีกทางหนึ่ง
จัสติน เบนเน็ตต์ นักวิเคราะห์คริปโตให้การคาดการณ์ราคาเหรียญในช่วงไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า โดยมองว่าราคานั้นอาจซ้ำรอยกราฟเดือนมิถุนายน 2021 เส้นแนวต้านถัดไปสำหรับฝั่งกระทิงคือ $28,600 ถ้าหากราคาขยับลงต่ำกว่าระดับนี้ จะมีความเสี่ยงที่จะไปถึงราคา low ของเดือนพฤษภาคมที่ $26,580-26,910
นักวิเคราะห์รายนี้มองว่า ถ้าหากบิทคอยน์ขยับตามราคาในช่วงเดือนมิถุนายน 2021 บิทคอยน์จะทำราคาต่ำสุดใหม่ในปีปัจจุบัน “ในกรณีที่ถูกเทขายครั้งใหญ่ แนวโน้มขาลงอาจพาราคาไปที่ $24,000-25,000 แต่ผมไม่คิดว่ามันจะเป็นจุดต่ำสุดของวัฎจักรปัจจุบัน”
หลังจากที่ราคาก่อตัวทำระดับต่ำสุดใหม่ในรอบปี จัสติน เบนเน็ตต์ ทำนายว่าบิทคอยน์จะเติบโตขึ้นในระดับหนึ่ง “มีแนวโน้มสูงที่จะปรากฏการทะยานขึ้นในระยะสั้นและทำราคาสูงสุดในกรอบที่ต่ำกว่า” การคำนวณของเขาบ่งชี้ว่า ราคา BTC อาจขึ้นไปถึง $35,000 ในช่วงการเติบโตระยะสั้นดังกล่าว
แต่ เคธี วูด ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอ ARK Invest ซึ่งมีสินทรัพย์กว่า $60 พันล้านดอลลาร์ได้ทำนายการเติบโตอย่างยิ่งใหญ่ของบิทคอยน์ เธอระบุว่า อินดิเคเตอร์ของเครือข่ายให้สัญญาณว่า BTC กำลังอยู่กรอบด้านล่าง “จากสถิติของเรา ผู้ถือเหรียญระยะสั้นยอมแพ้แล้ว และนี่เป็นข่าวที่ดีเยี่ยมที่เรามาถึงพื้นด้านล่าง สัดส่วนของผู้ถือเหรียญระยะยาวอยู่ในระดับสูงสุด 65.7% (พวกเขาถือ BTC ไว้อย่างน้อยหนึ่งปี) แต่ก็ยังมีความเป็นไปได้ที่อีกหลายคนจะยอมแพ้จนกว่าจะถึงกรอบด้านล่าง
นอกเหนือจากอินดิเคเตอร์เครือข่ายแล้ว เคธี วูด ยังติดตามตลาดฟิวเจอร์สบิทคอยน์ โดยบ่งชี้ถึงระยะเวลาที่ความผันผวนเพิ่มขึ้นในสินทรัพย์นี้ “มันยังเป็นเรื่องยากที่จะบอกว่าราคาบิทคอยน์จะไปในทิศทางใด แต่เราเชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงที่การระเบิดของความผันผวนครั้งถัดไปจะเป็นทิศทางขาขึ้น”
แม้ว่าจะมีทัศนคติที่ดีปรากฏอยู่บ้าง เราต้องมีความระมัดระวังเป็นอย่างมากหลังจากที่เหรียญ Terra (LUNA) ล่มสลาย “ในขณะเดียวกัน เราก็ยังระมัดระวัง” กล่าวโดยซีอีโอของ ARK Invest “การล่มสลายของ Terra เป็นเรื่องอัปยศของคริปโตเคอเรนซี และรัฐบาลก็ยิ่งมีเหตุผลให้ต้องบังคับใช้มาตรการที่เข้มงวดมากยิ่งขึ้นในการกำกับดูแลเงินคริปโตกว่าที่เราเคยคาดหวัง”
นอกจากนี้ เมื่อให้ความเห็นเรื่องการล่มสลายของ Terra และการปรับฐานของตลาดที่ตามมา ประธานบริษัท MicroStrategy ข้างต้นก็ยังมีข้อกังขาว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นเป็นหลักฐานของระยะตลาดหมี “ผมไม่รู้ว่ามันเป็นตลาดหมีหรือไม่ แต่ถ้าใช่ เราก็เคยผ่านมันมาแล้วสามครั้งในช่วง 24 เดือนที่ผ่านมา” เขากล่าวย้ำ
สำหรับการคาดการณ์ระยะยาวยังคงมีความเห็นในหลากหลายทิศทาง พอล ครูกแมน นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันและเจ้าของรางวัลโนเบลเรียกคริปโตเคอเรนซีว่าเป็นกลโกง โดยเปรียบเทียบเงินคริปโตกับวิกฤติอสังหาริมทรัพย์ในปี 2008 ในบทสัมภาษณ์กับ Fox NEws เขาได้เอ่ยถึงภาพยนตร์เรื่อง The Big Short ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวของวิกฤติการเงินช่วงปี 2000s ที่มาจากการทรุดตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ ราคาอสังหาฯ ในเวลานั้นสูงเป็นอย่างยิ่ง แต่ก็ไม่สามารถหยุดใครได้ สถานการณ์เดียวกันกำลังเกิดขึ้นในตลาดคริปโต อธิบายโดยครูกแมน
เขาวิจารณ์ผู้ที่อ้างว่าสินทรัพย์คริปโตเป็นอนาคตของโลกการเงิน บิทคอยน์ซึ่งปรากฏขึ้นในปี 2009 ยังไม่พบกับการใช้งานในทางปฏิบัติที่มีนัยสำคัญตลอดหลายปีที่ผ่านมา ยกเว้นการใช้ในกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย
“คริปโตเคอเรนซีกลายเป็นประเภทสินทรัพย์ขนาดใหญ่ และผู้สนับสนุนมันกำลังเพิ่มอิทธิพลทางการเมืองของพวกเขา ดังนั้น มันจึงฟังดูไม่สมเหตุสมผลที่คริปโตเคอเรนซีจะมีมูลค่าจริง ๆ แต่นี่เป็นเพียงแค่บ้านที่สร้างขึ้นมาจากเม็ดทราบ ผมยังคงจำวิกฤติฟองสบู่อสังหาฯ และวิกฤติสินเชื่อจำนองได้ และผมกล่าวได้เลยว่าเรากำลังมาจากเกมการขายครั้งใหญ่มาสู่การถูกโกงครั้งใหญ่” เจ้าของรางวัลโนเบลกล่าว
ความเห็นที่ต่างจากของ พอล ครูกแมน เป็นของ ไมค์ แม็คโกลน ผู้เชี่ยวชาญ Bloomberg เชื่อว่า อัตราเงินเฟ้อที่สูงที่สุดในรอบ 40 ปี กำลังเริ่มขึ้น ซึ่งจะก่อให้เกิดวิกฤติการเงินครั้งใหญ่ที่สุด หลังจากนั้นสินทรัพย์ เช่น คริปโตเคอเรนซี พันธบัตรสหรัฐฯ และทองคำจะยิ่งเติบโตอย่างที่ไม่เคยมีให้เห็นมาก่อน เขากล่าวในบทสัมภาษณ์กับ Kitco News ว่า “นี่อาจทำให้เรานึกถึงช่วงปี 1929 แต่ผมเห็นด้วยกับเวอร์ชันที่มองว่ามันน่าจะมีผลที่ตามมาเหมือนกับวิกฤติปี 2008 มากกว่า หรืออาจเป็นผลที่ตามมาของช่วงตลาดตกต่ำปี 1987”
เช่นเดียวกับ ไมค์ แม็คโกลน, เคธี วูด และไมเคิล เซย์เลอร์ ยังมีนักยุทธศาสตร์ด้านการลงทุนชาวอเมริกันอีกหนึ่งท่านคือ ลินน์ อัลเดน ที่เห็นด้วยกับฝั่งกระทิง เธอไม่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะลดลงในเร็ว ๆ นี้แต่อย่างใด เนื่องจากสหรัฐฯ จะยังคงเดินหน้าพิมพ์ธนบัตรเพื่อทำตามพันธะทางการเงินของประเทศ เธอจึงมองว่า ในขณะนี้ บิทคอยน์เป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่มีความน่าเชื่อถือมากที่สุด ควบคู่ไปกับทองคำและอสังหาริมทรัพย์
ในบทวิเคราะห์ครั้งที่แล้วเราได้ให้ระดับเป้าหมายของบิทคอยน์ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญจาก InvestAnswers กำหนดให้โดยเลือกค่าเฉลี่ยจากการคาดการณ์ของ Fidelity, ARK Invest และบริษัทอื่น ๆ เมื่อผสมผสานกับโมเดลคริปโตที่มีชื่อเสียง พวกเขาก็ได้ข้อสรุปตัวเลขคาดการณ์ราคา BTC ภายในปี 2030 ที่บริเวณ $1,555,000 ต่อ เหรียญ
อย่างไรก็ดี จูรเรียน ทิมเมอร์ นักวิเคราะห์แมคโครและผู้อำนวยการบริษัทการลงทุน Fidelity ได้ทบทวนการคาดการณ์ในระยะยาวของราคา BTC เขาอ้างถึงโมเดล Stock-to-Flow (S2F) ชื่อดังของนักวิเคราะห์ที่มีชื่อเล่นว่า PlanB ซึ่งเขามองว่าราคา BTC ที่ทำนายไว้นั้นมาจากภาวะช็อคของอุปทานที่เกิดจากการฮาล์ฟเหรียญ อย่างไรก็ดี เขายังได้เพิ่มอีกสองโมเดลเข้ามาประกอบ ซึ่งเป็นโมเดลอัตราการเริ่มใช้อินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือ
ทิมเมอร์กล่าวว่า จากโมเดลการใช้โทรศัพท์มือถือ ราคาบิทคอยน์อาจขยับขึ้นอย่างรวดเร็วไปที่ $144,753 ภายในปี 2025 (ประมาณหนึ่งปีหลังการฮาล์ฟเหรียญครั้งถัดไป) แต่ถ้าหาก BTC ขยับตามอัตราการเริ่มใช้อินเทอร์เน็ต ก็จะแปลว่าสินทรัพย์ได้ทำระดับสูงสุดเรียบร้อยแล้ว และอาจซื้อขายได้ที่ $47,702 ในช่วง 3 ปี โดยมูลค่าเฉลี่ยของโมเดลอุปทานที่ปรับแต่งโดยนายทิมเมอร์นั้นอยู่ที่ $63,778
เวลาจะเป็นตัวบอกว่าผู้เชี่ยวชาญท่านไหนที่ทำนายได้ถูกต้อง ในระหว่างนี้ ณ ขณะที่เขียนบทวิเคราะห์ฉบับนี้ในช่วงเย็นวันศุกร์ที่ 10 มิถุนายน มูลค่ารวมในตลาดคริปโตอยู่ที่ระดับ $1.192 ล้านล้านดอลลาร์ ($1.225 ล้านล้านเมื่อหนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้า) และดัชนี Crypto Fear & Greed Index ปักหลักอยู่ในโซนความกลัวขั้นสุด (Extreme Fear) และอยู่ที่บริเวณ 13 จุด (อยู่ที่ 10 จุดเมื่อหนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้า) และคู่ BTC/USD ซื้อขายอยู่ที่ $29.340
กลุ่มนักวิเคราะห์ NordFX
หมายเหตุ: เนื้อหาดังกล่าวไม่ควรยึดถือเป็นคำแนะนำในการลงทุนหรือเป็นคำปรึกษาในการซื้อขายในตลาดการเงิน โดยเนื้อหาข้างต้นเป็นไปเพียงเพื่อจุดประสงค์ในการให้ข้อมูลเท่านั้น การซื้อขายในตลาดการเงินมีความเสี่ยงและอาจทำให้เกิดการสูญเสียเงินฝากได้
กลับ กลับ