EUR/USD: ดอลลาร์แข็งค่าอีกครั้ง
- คู่ EUR/USD ขยับออกด้านข้างในกรอบ 1.0500-1.0600 เป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ครึ่ง อย่างไรก็ตาม เป็นที่ชัดเจนว่านักลงทุนและนักเก็งกำไรต่างไม่สนใจในช่วงภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว แต่จำเป็นต้องมีมาตรการบางอย่างเพื่อยับยั้งสถานการณ์นี้
การประชุมครั้งล่าสุดของผู้นำกลุ่มประเทศ G7 และการประชุมสุดยอดผู้นำ NATO ไม่มีแถลงการณ์ที่โดดเด่นแต่อย่างใด ทั้งสองการประชุมนั้นแสดงออกถึงความตั้งใจที่จะให้ความช่วยเหลือกับยูเครนต่อไปในการเผชิญหน้าทางการทหารกับรัสเซียและกลุ่ม NATO มีสมาชิกใหม่สองประเทศคือ สวีเดนและฟินแลนด์ แต่ผลลัพธ์ดังกล่าวนี้ไม่เพียงพอที่จะส่งผลต่อดอลลาร์และยูโร
ปัจจัยกระตุ้นให้ดอลลาร์แข็งค่า ซึ่งบีบให้คู่ EUR/USD ขยับไปยังทิศใต้เมื่อวันอังคารที่ 28 มิถุนายน และตัดผ่านกรอบด้านล่างในวันถัดมาคือ ความต้องการที่เพิ่มขึ้นในสินทรัพย์ปลอดภัยท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลก และเนื่องด้วยดอลลาร์ทำหน้าที่เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงที่ผ่านมา น้ำหนักจึงเอนไปในทิศทางนี้
เมื่อพูดถึงการประชุมประจำปีของธนาคารกลางยุโรปที่เมืองซิงตรา โปรตุเกส นางคริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรปได้กล่าวว่า “การคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในยูโรโซนสูงกว่าแต่ก่อนมาก” “เราไม่น่าจะกลับไปสู่สภาพแวดล้อมที่อัตราเงินเฟ้อต่ำในเร็ว ๆ นี้” และธนาคารกลาง “จะดำเนินการให้มากที่สุดเท่าที่จำเป็นเพื่อลดอัตราเงินเฟ้อให้ได้ตามเป้าหมายที่ 2%” คริสติน ลาการ์ด ยืนยันว่าธนาคารกลางยุโรปตั้งใจจะขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมวันที่ 21 กรกฎาคมนี้ เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ตลาดมองว่าท่าทีที่ผ่อนปรนดังกล่าวไม่น่าจะส่งผลอย่างมีนัยสำคัญใด ๆ และการประชุมครั้งถัดไปของธนาคารฯ จะมีขึ้นในช่วงฤดูใบไม้ร่วงเท่านั้น คือวันที่ 8 กันยายน จึงมีความเป็นไปได้สูงที่อัตราเงินเฟ้อจะเติบโตต่อไปในช่วงเวลานี้
คำแถลงของ นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารเฟดสหรัฐฯ ซึ่งได้เข้าร่วมในการประชุมของธนาคารกลงยุโรปในฐานะเพื่อนร่วมงานและแขกเกียรติยศในงานมีน้ำเสียงที่ค่อนข้างต่างออกไปจากคำพูดของ คริสติน ลาการ์ด ทางฝั่งอเมริกายืนยันว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ อยู่ในจุดที่ดีที่จะรับมือกับนโยบายถอนสภาพคล่องออกจากระบบ
ความแตกต่างระหว่างนโยบายทางการเงินที่ระมัดระวังของธนาคารกลางยุโรปและธนาคารเฟดที่เป็นสายเหยี่ยวยังคงถูกตีความเข้าข้างฝั่งดอลลาร์ในสายตาตลาด เช่นเดียวกันกับในครั้งนี้ และคู่ EUR/USD จึงขยับลดลงต่อไป
ค่าเงินยูโรได้รับแรงหนุนจากสถิติมหภาคที่อ่อนแอจากสหรัฐฯ ในช่วงครึ่งหลังของวันที่ 30 มิถุนายน ปัจจัยกระตุ้นให้ราคาคู่นี้ขยับขึ้นชั่วคราวคือการประกาศสถิติ GDP ซึ่งปรากฏว่าต่ำกว่าการคาดการณ์ โดยลดลง 1.6% แทนที่การคาดการณ์ที่ 1.5% นอกจากนี้ สถิติยังแสดงถึงการชะลอตัวในอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจาก 5.5% เหลือ 3.5% ด้านสถิติการจับจ่ายใช้สอยพื้นฐานของผู้บริโภคในสหรัฐฯ ก็ไม่เป็นไปตามการคาดการณ์เช่นกัน โดยสถิติยอดขอรับสวัสดิการว่างงานในสหรัฐฯ ปรากฏว่าต่ำกว่าความคาดหมาย เดิมจำนวนคำขอเบื้องต้นคาดว่าจะลดลงจาก 233K เหลือ 218K อย่างไรก็ตาม ตัวเลขจริงลดลงมาแค่ 231,000 เท่านั้น สถานการณ์ที่คล้ายกันกับยอดคำขอรับสวัสดิการซ้ำ ซึ่งลดลงจาก 1.331K เหลือเพียง 1.328K
อย่างไรก็ดี ปัจจัยเชิงลบทั้งหมดข้างต้นนั้นให้แรงหนุนเพียงชั่วคราวต่อยูโร การประกาศสถิติอัตราเงินเฟ้อในยูโรโซน ซึ่งเร่งตัวจาก 8.1% เป็น 8.6% ยิ่งเร่งให้นักลงทุนหนีไปหาสินทรัพย์ปลอดภัย ดังนั้น ราคาคู่นี้จึงปักหลักที่ราคาต่ำสุดคือ 1.0364 และปิดตลาดรอบห้าวันทำการที่ 1.0425
คะแนนเสียงของผู้เชี่ยวชาญ ณ เวลาที่เขียนบทรีวิวฉบับนี้คือช่วงเย็นวันที่ 1 กรกฎาคม แบ่งออกเป็นกลุ่มต่าง ๆ ดังนี้: 35% เห็นด้วยกับฝั่งกระทิง 50% กับฝั่งตลาดหมี และ 15% มีท่าทีเป็นกลาง ในหมู่ออสซิลเลเตอร์บนกรอบ D1 มี 75% เป็นสีแดง 10% สีเขียว และ 15% ให้สีเทากลาง ในส่วนของอินดิเคเตอร์เทรนด์เข้าข้างฝั่งสีแดง 100% โดยมีแนวต้านที่ใกล้ที่สุดอยู่ในโซน 1.0470-1.0500 จากนั้นคือโซน 1.0600-1.0615 ในกรณีที่ฝั่งกระทิงขยับขึ้นสำเร็จ จะพาราคาไปที่โซน 1.0750-1.0770 เป้าหมายถัดไปคือ 1.0800 ยกเว้นแต่ 1.0400 ซึ่งภารกิจอันดับ 1 ของตลาดหมีคือตัดทะลุโซนแนวรับที่ 1.0350-1.0364 ซึ่งเป็นแนวรับจากราคาต่ำสุดของวันที่ 13 พฤษภาคมและ 1 กรกฎาคม หากทำสำเร็จ ราคาจะไปจู่โจมระดับต่ำสุดของปี 2017 ที่ 1.0340 ซึ่งมีแนวรับต่ำสุดเกิดขึ้นเมื่อ 20 ปีที่แล้ว และไปเยือนระดับคู่ขนานที่ 1:1
ในสัปดาห์ที่จะถึงนี้ วันที่ 4 กรกฎาคมเป็นวันหยุดนักขัตฤกษ์ในสหรัฐฯ: สหรัฐฯ จะเฉลิมฉลองวันประกาศอิสรภาพ ด้านสถิติยอดขายปลีกในยูโรโซนจะประกาศในวันพุธที่ 6 กรกฎาคม ในวันเดียวกันนั้นจะมีการประกาศดัชนีกิจกรรมทางธุรกิจ ISM ในภาคบริการของสหรัฐฯ และผลการประชุมประจำเดือนมิถุนายนของคณะกรรมการ (FOMC) คณะกรรมการตลาดเสรีของสหรัฐฯ) ซึ่งน่าให้ความสนใจเช่นกัน ผลการประชุมที่คล้ายกันของฝั่งธนาคารกลางยุโรปและรายงาน ADP ว่าด้วยระดับการจ้างงานในสหรัฐฯ ในภาคเอกชนและภาคนอกการเกษตร และจำนวนการขอรับสวัสดิการว่างงานเบื้องต้นจะประกาศในวันพฤหัสบดีที่ 7 กรกฎาคม ส่วนดัชนีอีกหนึ่งชุดจากตลาดแรงงานสหรัฐฯ จะประกาศในวันศุกร์ที่ 8 กรกฎาคม ได้แก่ ดัชนีที่สำคัญต่าง ๆ เช่น อัตราการว่างงาน และจำนวนตำแหน่งงานใหม่นอกภาคการเกษตร (NFP)
GBP/USD: ความเหมือนและความแตกต่างกับ EUR/USD
- GBP/USD แสดงการเคลื่อนไหวที่คล้ายกันกับคู่ EUR/USD ในสัปดาห์ที่แล้ว เหตุผลที่ราคาขยับขึ้นและลงก็คล้ายกันเช่นกัน จึงไม่มีความจำเป็นต้องอธิบายซ้ำอีกครั้ง ราคาคู่นี้ได้ขยับด้านข้างในกรอบ 1.2165-1.2325 เป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ครึ่งและจากนั้นราคาก็ดิ่งลงเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ราคาตัดทะลุแนวรับที่ 1.2100 จึงยิ่งเพิ่มแรงกดดันตลาดหมี และราคาทำระดับต่ำสุดในรอบสองสัปดาห์ที่ 1.1975 ตามมาด้วยการปรับฐานไปยังด้านบนและปิดที่ 1.2095
แม้ว่ายูโรและเงินปอนด์จะมีพฤติกรรมที่คล้ายกันเมื่อเทียบกับดอลลาร์ แต่ก็ยังมีความแตกต่างอยู่บ้าง เศรษฐกิจยูโรโซนนั้นมีความซับซ้อนจากการพึ่งพาแหล่งพลังงานธรรมชาติของรัสเซียเป็นอย่างมาก ซึ่งปริมาณพลังงานมีจำกัดเนื่องด้วยมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียหลังจากการบุกรุกยูเครน สถานการณ์ค่อย ๆ ดีขึ้น โดยสหรัฐฯ แซงหน้ารัสเซียในการส่งออกก๊าซมายังยุโรปในเดือนมิถุนายน ซึ่งนับว่าเป็นครั้งแรกที่เคยเกิดขึ้น แต่ทางออกสุดท้ายต่อปัญหาวิกฤติพลังงานนั้นยังอีกห่างไกล
อังกฤษมีความแตกต่างจากอียูตรงที่มีการพึ่งพาพลังงานของรัสเซียน้อย อย่างไรก็ตาม การแข็งค่าขึ้นของเงินปอนด์นั้นถูกขัดขวางโดยการขาดเสถียรภาพทางการเมือง นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ได้รอดจากการลงคะแนนเสียงไม่ไว้วางใจในเดือนมิถุนายนแล้ว โดยมีสมาชิกสภาหลายคนจากพรรคอนุรักษ์นิยมของเขาเองที่โหวตไม่สนับสนุนเขา นอกจากนี้ หลังการเลือกตั้งซ่อม พรรคของจอห์นสันยังเสียเก้าอี้สองที่นั่งในสภาอังกฤษ ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเบร็กซิตก็ยิ่งเพิ่มความกังวลใจ เงินปอนด์จึงตกอยู่ภายใต้แรงกดดันเพิ่มเติมหลังจากสมาชิกสภาฯ อนุมัติร่างกฎหมายที่อนุญาตให้รัฐมนตรียกเลิกส่วนหนึ่งในโปรโตคอลไอร์แลนด์เหนือ
ในส่วนของเศรษฐกิจประเทศ ผู้เชี่ยวชาญบางรายมองว่าอัตราเงินเฟ้อในสหราชอาณาจักรจะสูงขึ้นต่อเนื่อง และอาจสูงเกิน 11% ภายในเดือนพฤศจิกายน
ณ ขณะนี้ มีผู้เชี่ยวชาญ 60% ที่เชื่อว่าคู่ GBP/USD จะพยายามทดสอบแนวรับที่ 1.1975 และ 1.1932 อย่างต่อเนื่องในอนาคตอันใกล้ ในทางกลับกันนั้นมี 40% ที่รอให้ราคาขึ้นไปตัดทะลุแนวต้านที่ 1.2100 และขยับขึ้นทิศเหนือต่อไป ในส่วนของอินดิเคเตอร์เทรนด์บนกรอบ D1 ให้ผลที่ 100:0% ซึ่งอยู่ฝั่งสีแดง ในส่วนของออสซิลเลเตอร์ ตลาดหมีได้เปรียบน้อยกว่าเล็กน้อยที่ 75% และ 25% ที่เหลือมองว่าราคาจะขยับออกด้านข้าง ระดับแนวรับที่สำคัญอยู่ที่ 1.2000 ตามด้วยราคาต่ำสุดของวันที่ 1 กรกฎาคมที่ 1.1975 และราคาวันที่ 14 มิถุนายนที่ 1.1932 เป้าหมายระยะกลางของตลาดหมีอาจเป็นราคาต่ำสุดของเดือนมีนาคม 2020 ที่ 1.1409 ส่วนในกรณีที่ราคาขยับขึ้นต่อ ราคาจะเจอกับแนวต้านในโซนและระดับที่ 1.2100, 1.2160-1.2175, 1.2200-1.2235, 1.2300-1.2325, 1.2400-1.2430, 1.2460 จากนั้นจะเป็นเป้าหมายในบริเวณ 1.2500 และ 1.2600 ที่ตามมา
สำหรับปฏิทินเศรษฐกิจมหภาคของสหราชอาณาจักร เราแนะนำให้คุณให้ความสนใจกับคำแถลงของ นายแอนดริว ไบเลย์ ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษในวันอังคารที่ 5 กรกฎาคม ส่วนดัชนี Composite PMI และดัชนีกิจกรรมทางธุรกิจของภาคบริการสหราชอาณาจักรจะประกาศในวันเดียวกัน และดัชนีกิจกรรมทางธุรกิจในภาคการก่อสร้างจะประกาศในวันถัดมา
USD/JPY: แค่หยุดพักหรือแนวโน้มมีการเปลี่ยนแปลง?
- USD/JPY ทำระดับสูงสุดในรอบ 24 ปีในสัปดาห์ที่แล้วอีกครั้ง โดยราคาไต่ขึ้นไปที่ 136.99 เมื่อวันพุธที่ 29 มิถุนายน อย่างไรก็ตาม ส่วนต่างเมื่อเทียบกับราคาสูงสุดก่อนหน้าเมื่อวันที่ 22 มิถุนายนนั้นน้อยกว่า 30 จุด และกราฟในรอบสองสัปดาห์ค่อนข้างดูเหมือนจะเป็นกรอบด้านข้างมากกว่าแนวโน้มขาขึ้น บางทีแรงของตลาดกระทิงอาจแผ่วลง หรืออย่างน้อยก็กำลังหยุดพัก
และบางที ความฝันที่รอคอยมาอย่างยาวนานของผู้นำเข้าและแม่บ้านชาวญี่ปุ่นจะเป็นจริงในที่สุด เงินเยนจะเริ่มแข็งค่าขึ้น กู้คืนสถานะการเป็นสกุลเงินที่หลบภัยยอดนิยมอีกครั้ง? มีความเป็นไปได้แต่ไม่สามารถรับประกันได้ ความแตกต่างระหว่างนโยบายทางการเงินที่ผ่อนคลายแบบสุดขั้วของธนาคารกลางญี่ปุ่น และนโยบายแบบสายเหยี่ยวที่ดุดันมากของธนาคารกลางสหรัฐฯ นั้นมีมากเกินไป
นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ (50%) ยังคงคาดการณ์ว่าราคาจะขยับลงไปอย่างน้อยที่โซน 129.50-131.00 ส่วนผู้เชี่ยวชาญ 30% โหวตว่าราคาจะพยายามทำระดับสูงสุดใหม่อีกครั้ง และขยับขึ้นไปเหนือ 137.00 และอีก 20% เชื่อว่าราคาคู่นี้จะหยุดพัก โดยจะขยับในกรอบด้านข้างที่ 134.50-137.00 ด้านอินดิเคเตอร์บนกรอบ D1 ให้ภาพที่แตกต่างไปจากความเห็นของผู้เชี่ยวชาญเป็นอย่างมาก ออสซิลเลเตอร์ 65% ให้สัญญาณสีเขียว (10% จากจำนวนนี้ชี้ว่าราคาอยู่ในโซน overbought) ส่วน 35% ให้ท่าทีเป็นกลาง ด้านอินดิเคเตอร์เทรนด์จำนวน 65% ชี้ไปทางทิศเหนือเช่นกัน และมีเพียง 35% เท่านั้นที่ชี้ไปยังทิศใต้ ระดับแนวรับที่ใกล้ที่สุดอยู่ที่ 134.50-134.75 ตามมาด้วยโซนและระดับคือ 134.00, 133.50, 133.00, 132.30, 131.50, 129.70-130.30, 128.60 และ 128.00 นอกจากการพิชิตแนวต้านที่ใกล้ที่สุด 136.00-136.35 และขึ้นไปยืนเหนือ 137.00 การให้เป้าหมายของฝั่งกระทิงยังทำได้ยาก แต่บ่อยครั้งเรามักจะดูที่เลขจำนวนเต็ม เช่น 137.00, 140.00 และ 150.00 และถ้าหากอัตราการเติบโตของคู่นี้ยังเหมือนกับช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ราคาจะสามารถขยับถึงโซน 150.00 ได้ในช่วงปลายเดือนสิงหาคมหรือต้นเดือนกันยายน
ไม่คาดว่าจะมีเหตุการณ์ที่สำคัญ การประกาศสถิติทางเศรษฐกิจ หรือปัจจัยทางการเมืองของญี่ปุ่นที่จะปรากฏขึ้นในสัปดาห์นี้
คริปโตเคอเรนซี: บิทคอยน์จะดิ่งลงมาที่ $1,100 หรือไม่? เราจับตาดูที่ธนาคารเฟดสหรัฐฯ
- การต่อสู้ที่ระดับ 20,000 ดำเนินต่อเนื่องตลอดช่วงครึ่งหลังของเดือนมิถุนายน ราคา BTC/USD ขยับลงมายัง $17,940 จากนั้นขึ้นไปที่ $21,940 ทั้งนี้ $20,000 คือระดับที่สำคัญมากที่สุดสำหรับบิทคอยน์ โดยเมื่อเกิดเหตุการณ์บิทคอยน์ทรุดลงหนักเมื่อเดือนธันวาคม 2017 ราคาได้ขยับถึงระดับดังกล่าวที่บริเวณ $19,270 และจากนั้นก็ร่วงลง 84% ผู้เชี่ยวชญหลายคนคาดการณ์ว่าสิ่งที่คล้ายกันน่าจะเกิดขึ้นในครั้งนี้ โดยคาดว่าราคาจะดิ่งลงต่ออีก 50-80% และ โรเบิร์ต คิโยซากิ นักเขียนเจ้าของหนังสือขายดีเรื่อง Rich Dad Poor Dad ได้ทำนายว่าราคาจะทรุดหนักยิ่งกว่าครั้งก่อน ๆ ถึง 95% เหลือราคาเพียง $1,100
ในระหว่างนี้ (ณ ช่วงเย็นวันศุกร์ที่ 1 กรกฎาคม) ราคาบิทคอยน์ซื้อขายอยู่ในโซน $19,440 โดยมีมูลค่ารวมในตลาดคริปโตที่ $0.876 ล้านล้านดอลลาร์ ($0.960 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ก่อนหน้า) ด้านดัชนี Crypto Fear & Greed Index อยู่ในโซนความกลัวขั้นสุด (Extreme Fear) ที่บริเวณ 11 จุดจาก 100 เหมือนเมื่อหนึ่งสัปดาห์ก่อน
หากคุณดูที่กราฟ คุณจะเห็นได้ว่าตลาดหมีเป็นฝ่ายได้เปรียบอย่างชัดเจนในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา และอันที่จริงแล้ว เราต้องเน้นย้ำว่าเราจะโทษบิทคอยน์ไม่ได้ แต่มันเป็นเพราะดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น ซึ่งแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเนื่องด้วยอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นและการถอนสภาพคล่องออกจากระบบโดยนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในสถานการณ์เช่นนี้ นักลงทุนจึงเลือกที่จะเทขายสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงโดยซื้อดอลลาร์เก็บไว้ ตลาดหุ้นทั่วโลกกำลังตกอยู่ภายใต้แรงกดดันจากฝั่งผู้ขาย ดัชนี MSCI World และ MSCI EM ขยับลดลง ซึ่งแสดงถึงสถานการณ์ในตลาดประเทศพัฒนาแล้วและตลาดเศรษฐกิจเกิดใหม่ตามลำดับ ในส่วนตลาดเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้ว แรงกดดันหลักอยู่กับยุโรปแต่ก็ไม่ได้ข้ามสหรัฐฯ ไปเช่นกัน ดัชนี S&P500, Dow Jones และ Nasdaq Composite ซึ่งบิทคอยน์มีความสัมพันธ์โดยตรงนั้นก็ขยับลงทิศใต้เช่นเดียวกัน
แรงกดดันเพิ่มเติมต่อราคาบิทคอยน์นั้นมาจากบริษัทขุดเหรียญคริปโตที่จำเป็นต้องมีสภาพคล่อง นิโคเลาส์ ปานิเกิร์ตโซกลู นักยุทธศาสตร์ของ JPMorgan มองว่าสถานการณ์นี้จะดำเนินต่อไปในไตรมาสที่ 3 โดยบริษัทขุดเหรียญสาธารณะคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 20% ของแฮชเรต บริษัทหลายแห่งขายเหรียญบิทคอยน์เพื่อชดเชยค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและสินเชื่อบริการ และเนื่องด้วยการเข้าถึงเงินทุนที่จำกัด นักขุดเหรียญรายย่อยจึงต้องทำเหมือนกัน “การลดภาระจะดำเนินต่อไปในไตรมาสที่ 3 หากความสามารถในการทำกำไรในแง่การผลิตไม่ดีขึ้น ซึ่งปรากฏให้เห็นแล้วในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน จะมีความเสี่ยงที่กระบวนการนี้จะมีผลต่อไป” นักยุทธศาสตร์เชื่ออย่างนั้น
Bloomberg รายงานว่า ต้นทุนในการขุดเหรียญ 1 BTC ลดลงจาก $18,000-$20,000 เมื่อช่วงต้นปี เหลือประมาณ $15,000 ในเดือนมิถุนายน เนื่องด้วยการเริ่มใช้อุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพทางพลังงานมากขึ้น อย่างไรก็ตามยังไม่มีความชัดเจนว่านี่จะเพียงพอสำหรับการปฏิบัติงานอย่างมั่นคงของนักขุดเหรียญได้หรือไม่
ภาวะถดถอยในตลาดคริปโตจะกินเวลาอีกประมาณ 18 เดือน และอุตสาหกรรมนี้จะได้เห็นสัญญาณการฟื้นตัวครั้งแรกหลังจากนโยบายทางการเงินของธนาคารเฟดเริ่มผ่อนคลาย ซึ่งความเห็นนี้เป็นของ ไมค์ โนโวกราตซ์ ประธานและผู้ก่อตั้งธนาคารคริปโต Galaxy Digital ในบทสัมภาษณ์กับนิตยสาร New York Magazine “ผมหวังว่า เราได้เห็นช่วงที่เลวร้ายที่สุดไปแล้ว ผมจะมั่นใจต่อเรื่องนี้หากผมรู้ว่าภาวะเงินเฟ้อจะเป็นอย่างไรในช่วงสองไตรมาสข้างหน้า [...] ผมคิดว่าธนาคารเฟดจะต้องล้มเลิกการขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายในช่วงฤดูใบไม้ร่วง และผมเชื่อว่านี่จะทำให้หลายคนนิ่งสงบและเริ่มสร้างตัวอีกครั้ง” กล่าวโดยประธาน Galaxy Digital
โนโวกราตซ์มีความเห็นว่า วิกฤติครั้งนี้ได้เปลี่ยนแปลงทัศนคติของใครหลาย ๆ คนต่อสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น คริปโตเคอเรนซี เขากล่าวว่าในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาแสดงให้เห็นถึงระดับการพึ่งพาของอุตสาหกรรมต่อเลเวอเรจ (อัตราทด) ซึ่งไม่มีใครรู้มาก่อน และการล้มละลายของผู้เล่นที่อ่อนแอและการขายสินทรัพย์ที่ตกต่ำนั้นจะต้องอาศัยเวลาระยะหนึ่ง เขามองว่าสถานการณ์ในช่วงนี้นั้นคล้ายกันกับวิกฤติการเงินในปี 2008 ซึ่งตามมาด้วยคลื่นการกระจุกตัวของการลงทุนและอุตสาหกรรมการธนาคาร
เบนจามิน โคเวน นักวิเคราะห์คริปโตมีข้อกังขาว่า การคาดการณ์ราคา BTC ในปี 2023 ในระดับสูงอาจเป็นจริง โดยเขาได้พูดถึงตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ชื่อว่า ทิม เดรเปอร์ ซึ่งมองว่า ราคาบิทคอยน์อาจเติบโตขึ้นมากกว่า 1000% จากระดับปัจจุบันและขยับถึง $250,000
“ผมเคยเชื่อว่า BTC จะมีราคาเหนือ $100,000 ภายในปี 2023 แต่ในตอนนี้ ผมไม่ค่อยเชื่อในข้อเสนอนี้ โดยเฉพาะหลังจากที่นโยบายของธนาคารเฟดเปลี่ยนแปลงไปมากในช่วงหกเดือนที่ผ่านมา” “ผมยังดูที่ปัจจัยอื่น ๆ ด้วย เช่น สถิติของโซเชียลมีเดีย และผมเห็นว่าจำนวนคนที่มีความสนใจในคริปโตเคอเรนซีนั้นอยู่ในช่วงขาลง หากคนไม่มีเงินที่จะซื้อน้ำมัน มันก็จะยิ่งยากกว่าที่จะซื้อบิทคอยน์”
แทนที่ราคาจะขยับขึ้นอย่างรวดเร็ว นายโคเวนทำนายว่า ตลาด BTC จะไม่น่าสนใจในช่วงสองปีข้างหน้า “ผมคิดว่าตลาดหมีจะสิ้นสุดลงในปีนี้ และจากนั้นช่วงสะสมกำลังจะเริ่มขึ้น เหมือนกับในปี 2015 และปี 2019 จากนั้นจะเป็นช่วงการเตรียมตัวอย่างช้า ๆ เพื่อต้อนรับการฮาล์ฟเหรียญบิทคอยน์ และธนาคารเฟดอาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยหลังจากมีชัยชนะเหนืออัตราเงินเฟ้อในช่วงเวลานี้”
เป็นที่ชัดเจนว่า หลายคำคาดการณ์นั้นขึ้นอยู่กับโมเดล อินดิเคเตอร์ และเครื่องมือการวิเคราห์รูปแบบต่าง ๆ เช่น เราเคยเขียนไว้เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า แอนโธนี ซัสซาโน ผู้ก่อตั้ง The Daily Gwei และ วิตาลิก บูเทอริน ผู้ร่วมก่อตั้ง Ethereum ได้วิพากษ์วิจารณ์โมเดล Stock-to-Flow (S2F) ที่นักวิเคราะห์ชื่อดังอย่าง PlanB ใช้คาดการณ์ราคาคริปโต จริงอยู่ที่ S2F นั้นให้มุมมองการคาดการณ์แบบดีเกินไป ภาพรวมที่แม่นยำมากที่สุดนั้นมาจากการคาดการณ์โดยอ้างอิงความซับซ้อนและต้นทุนของการขุดเหรียญบิทคอยน์
นักยุทธศาสตร์คริปโต Dave the Wave ซึ่งเคยทำนายราคาบิทคอยน์ตกต่ำไว้เมื่อปี 2021 คาดว่าจะได้เห็นแนวโน้มราคาขาขึ้นอันรวดเร็วของ BTC ในช่วงไม่กี่ปีข้างหน้า โดยเขาใช้โมเดลเส้นโค้งการเติบโตแบบลอการิทึม (LGC) และเชื่อว่า BTC อาจเติบโตขึ้น 1100% ในเวลา 4 ปี และขยับถึง $260,000 ในระยะสั้นนี้ Dave the Wave คาดการณ์ว่าราคาบิทคอยน์มีโอกาสที่จะขึ้นไปถึง $25,000
แพลตฟอร์มการวิเคราะห์ CryptoQuant ชี้ว่าอินดิเคเตอร์ด้านวัฏจักรส่วนใหญ่ (Bitcoin Puell Multiple, MVRV, SOPR และ MPI BTC Miner Position Index) บ่งชี้ว่าบิทคอยน์ใกล้ถึงช่วงต่ำสุด ผลการวิเคราะห์อินดิเคเตอร์เหล่านี้นั้นอ้างอิงจากรูปแบบในอดีตซึ่งจะปรากฏก่อนช่วงแนวโน้มขาขึ้นมาแล้วหลายครั้ง อินดิเคเตอร์เหล่านี้ยังชี้ด้วยว่า บิทคอยน์กำลังอยู่ในช่วงที่มูลค่าต่ำเกินจริง อันเป็นสัญญาณว่าการทะยานขึ้นใกล้จะมาถึง จำนวนการขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงจำนวนมากนั้นช่วยยืนยันการคาดการณ์นี้
บิทคอยน์นั้น “มีแรงขายมากเกินไปในแง่เทคนิค” หากคุณดูราคา ณ ปัจจุบันในบริบทของการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของกิจกรรมกระเป๋าวอลเล็ต และวิธีการใช้งานที่เพิ่มมากขึ้น นี่เป็นความเห็นของ แอนโธนี สการามัชชี ผู้ก่อตั้งกองทุน SkyBridge Capital ผู้บริหารเฮดจ์ฟันด์รายนี้แนะนำให้นักลงทุนประเมินบิทคอยน์โดยมองย้อนกลับไปในอดีต แนวทางนี้จะช่วยให้เห็นว่า สินทรัพย์จะ “ถูกมาก ๆ เนื่องด้วยอัตราทดปริมาณมาก ซึ่งคุ้มค่าต่อการฉวยโอกาส"
ในสัปดาห์ที่แล้ว เราได้ส่งท้ายบทวิเคราะห์ด้วย “โมเดลการคาดการณ์” อีกโมเดลหนึ่งที่นำเสนอโดยประธานาธิบดี นายิบ บูเคเล ของเอลซัลวาดอร์ “คำแนะนำของผมก็คือให้เลิกดูกราฟซะและไปสนุกกับชีวิต หากคุณได้ลงทุนใน BTC เงินลงทุนของคุณจะปลอดภัย มูลค่าของมันจะขยับขึ้นอย่างประเมินค่าไม่ได้หลังจากตลาดหมีสิ้นสุดลง สิ่งสำคัญคือการอดทน” กล่าวโดยผู้นำประเทศท่านนี้
และในขณะนี้ ยีฟาน เหอ ซีอีโอบริษัทบล็อกเชนสัญชาติจีน Red Date Technology ได้ตอบกลับคำแนะนำนี้ โดยเขาเปรียบเทียบคริปโตเคอเรนซีกับกลโกงปิระมิด และกล่าวว่ารัฐบาลประเทศเอลซัลวาดอร์และสาธารณรัฐแอฟริกากลาง (CAR) ที่ตัดสินใจรับรองให้บิทคอยน์ถูกกฎหมายนั้นจำเป็นต้องศึกษาพื้นฐานการเงินอย่างจริงจัง เขากล่าวว่า ผู้นำประเทศเหล่านี้กำลังพาประเทศทั้งประเทศตกอยู่ในความเสี่ยง เว้นแต่เสียว่าพวกเขาตั้งใจจะฉ้อฉลประชาชนของตนเอง ตอนนี้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่า ประธานาธิบดีนายิบ บูเคเล ขุ่นเคืองกับคำวิจารณ์นี้หรือไม่ แต่เราจะติดตามข่าวนี้ต่อไป
กลุ่มนักวิเคราะห์ NordFX
หมายเหตุ: เนื้อหาดังกล่าวไม่ควรยึดถือเป็นคำแนะนำในการลงทุนหรือเป็นคำปรึกษาในการซื้อขายในตลาดการเงิน โดยเนื้อหาข้างต้นเป็นไปเพียงเพื่อจุดประสงค์ในการให้ข้อมูลเท่านั้น การซื้อขายในตลาดการเงินมีความเสี่ยงและอาจทำให้เกิดการสูญเสียเงินฝากได้
กลับ กลับ