EUR/USD: ถึงระดับคู่ขนาน 1:1
- สิ่งที่เราเคยพูดถึงมาตลอดในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาเป็นจริงแล้ว EUR/USD แตะระดับ 1.0000 เมื่อวันอังคารที่ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยระดับต่ำสุดทำไว้เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 14 กรกฎาคม ที่ 0.9951 ครั้งสุดท้ายที่ราคาต่ำสุดคือเดือนธันวาคมปี 2002 ทั้งนี้ ดอลลาร์ไม่ได้แข็งค่าเมื่อเทียบกับยูโรเท่านั้น แต่ยังแข็งค่าต่อสกุลเงินหลักทั้งหลายเช่นกัน ดัชนี DXY อยู่ในโซนสูงสุดในรอบ 20 ปี โดยขยับถึงระดับ 108.99 เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคมที่ผ่านมา
การทะยานขึ้นของดอลลาร์นั้นมาจากสถิติเงินเฟ้อล่าสุดของสหรัฐฯ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ขยับถึง 9.1% ในเดือนมิถุนายน ซึ่งสูงกว่าการคาดการณ์ที่ 8.8% ซึ่งเคยเกิดขึ้นเพียง 12 ครั้งเท่านั้นในรอบ 110 ปี และครั้งสุดท้ายที่อัตราเงินเฟ้อสูงกว่า 9% คือเมื่อปี 1981 สถิตินี้ทำให้ตลาดมีความคาดหวังมากขึ้นต่อนโยบายทางการเงินแบบเข้มงวด (QT) โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ ก่อนหน้านี้มีการสันนิษฐานกันว่าอัตราดอกเบี้ยจะขึ้น 50-75 จุดพื้นฐานในการประชุมครั้งถัดไปของคณะกรรมการตลาดเสรีสหรัฐฯ (FOMC) ในวันที่ 27 กรกฎาคม ในขณะนี้เริ่มมีการพูดถึงว่าธนาคารกลางฯ อาจขึ้นอัตราดอกเบี้ยทันทีถึง 100 จุดพื้นฐาน ความเป็นไปได้ดังกล่าวนั้นคาดการณ์ไว้ถึง 82% โดยนักวิเคราะห์ และมีความน่าจะเป็นที่ดอกเบี้ยจะปรับขึ้น 175 จุดพื้นฐานในการประชุมสองครั้งที่จะจัดขึ้นอยู่ที่ 75% อ้างอิงจาก CME Group FedWatch
ราฟาเอล บอสติก ประธานธนาคารเฟดสาขาแอตแลนตา (FRB) ได้ปัดตกโอกาสดังกล่าว โดยกล่าวเสริมว่าอัตราเงินเฟ้ออาจพุ่งขึ้นต่อภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งจะบีบให้ธนาคารเฟดต้องดำเนินการอย่างเด็ดขาดมากขึ้น ผู้เชี่ยวชาญมองว่า ความต้องการของธนาคารเฟดที่จะหยุดภาวะเงินเฟ้อโดยทุกวิถีทางอาจนำไปสู่สถานการณ์ที่อัตราดอกเบี้ยถูกปรับขึ้นเป็น 4.00% (ขณะนี้อยู่ที่ 1.75%) และนี่จะเกิดขึ้นถึงแม้ว่าเศรษฐกิจประเทศจะต้องตกอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ที่สุด
อะไรที่ดีต่อดอลลาร์จะไม่เป็นผลดีต่อตลาดหุ้น การหนีออกจากสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงยิ่งรุนแรงขึ้นท่ามกลางความกลัวในตลาดเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจขาลงที่ยืดเยื้อ ดัชนี S&P500, Dow Jones และ Nasdaq ปรับลดลง ในขณะที่ DXY ทะยานขึ้น สถิติการค้าปลีกในสหรัฐฯ ซึ่งประกาศเมื่อวันศุกร์ที่ 15 กรกฎาคม ช่วยยับยั้งกระแสการไหลออกของเงินดังกล่าว สถิติดังกล่าวออกมาที่ 1.0% ในเดือนมิถุนายนจากตัวเลขครั้งก่อนหน้าที่ -0.1% และการคาดการณ์ที่ 0.8% ซึ่งช่วยดันคู่ EUR/USD ขึ้นไปปิดตลาดที่ 1.0082
ทั้งนี้ นโยบายถอนสภาพคล่องออกจากระบบของธนาคารเฟดสร้างปัญหาต่อทั้งเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมถึงเศรษฐกิจโลกโดยรวม สัดส่วนของดอลลาร์ในเงินสำรองระหว่างประเทศอยู่ที่ 59% ณ ช่วงปลายปี 2020 และสัดส่วนการไกล่เกลี่ยเงินระหว่างประเทศ ณ เดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ 39% ดังนั้น ดอลลาร์จึงเป็นทั้งสกุลเงินสำรองหลักและสื่อกลางในการชำระเงินในโลก เมื่อดอลลาร์แข็งค่าขึ้น ภาระจึงเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะต่อประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ซึ่งได้รับเงินกู้จากไอเอ็มเอฟ ปัญหาการชำระหนี้สินนั้นทำให้หลายประเทศผิดนัดชำระหนี้แล้ว เช่น ศรีลังกา และยังมีปัญหารออยู่ในประเทศ เช่น เอลซัลวาดอร์ ตูนีเซีย อียิปต์ ปากีสถาน และกานา
ความนิยมในดอลลาร์ในฐานะสินทรัพย์ป้องกันจะสูงขึ้นต่อเนื่องเมื่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยมาถึงและเนื่องด้วยนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ณ ขณะที่เขียนบทวิเคราะห์ฉบันนี้ในช่วงเย็นวันที่ 15 กรกฎาคม ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์สถานการณ์นี้ 60% และมี 30% ที่มองว่าราคาจะปรับฐานขึ้นด้านบนต่อไป และ 10% ของนักวิเคราะห์ให้การคาดการณ์ที่เป็นกลาง สัญญาณจากออสซิลเลเตอร์ในกรอบ D1 ให้สัญญาณที่ชัดเจนมาก ทั้ง 100% ให้สัญญาณสีแดง โดย 85% ของจำนวนนี้เป็นอินดิเคเตอร์เทรนด์ และ 15% สนับสนุนทิศทางตรงกันข้าม
แนวรับสำคัญที่ใกล้ที่สุดสำหรับคู่ EUR/USD คือโซน 1.0040-1.0050 ตามมาด้วยระดับ 1.0000 หลังจากที่ตัดผ่านระดับนี้ ฝ่ายตลาดหมีจะตั้งเป้าที่ราคาต่ำสุดของวันที่ 14 กรกฎาคมที่ 0.9950 ซึ่งต่ำกว่านั้นจะเป็นโซนแนวรับ/แนวต้านที่สำคัญของปี 2002 ที่บริเวณ 0.9900-0.9930 ส่วนเป้าหมายสำคัญที่ใกล้ที่สุดของฝั่งตลาดกระทิงคือการกลับไปที่โซน 1.0350-1.0450 หลังจากนั้นจะตามมาด้วยโซน 1.0450-1.0600 และ 1.0625-1.0770 โดยมีหลายระดับระหว่างทางไปจนถึง 1.0350 ซึ่งราคาได้ตัดผ่านลงมาอย่างง่ายดาย ดังนั้น จึงเป็นเรื่องยากที่จะกำหนดว่าระดับไหนจะเป็นอุปสรรคสำคัญในกรณีที่ราคาปรับฐานขึ้นด้านบน
เหตุการณ์ไฮไลต์สำคัญในสัปดาห์นี้แน่นอนว่าเป็นการประชุมของธนาคารกลางยุโรปในวันพฤหัสบดีที่ 21 กรกฎาคม ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าธนาคารฯ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจาก 0.0% เป็น 0.25% มาตรการดังกล่าวจะช่วยหนุนยูโรเล็กน้อย แต่ก็ยังดูเบาบางมากเมื่อเทียบกับนโยบายสายเหยี่ยวของธนาคารเฟด ความสนใจหลักจะอยู่ที่งานแถลงข่าวหลังการประชุมของธนาคารกลางยุโรป ซึ่งจะช่วยให้ตลาดเห็นภาพเกี่ยวกับทิศทางนโยบายในอนาคตของธนาคารฯ
กิจกรรมอื่น ๆ ได้แก่ การประกาศดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในวันอังคารที่ 19 กรกฎาคม และรายงานการให้สินเชื่อธนาคารในยูโรโซน ด้านสถิติตลาดแรงงานและกิจกรรมภาคการผลิตในสหรัฐฯ จะประกาศในวันพฤหัสบดีที่ 21 กรกฎาคม และค่า PMI (ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ) ในภาคการผลิตของเยอรมนีจะเผยแพร่ในวันถัดมา นอกจากนี้ เราแนะนำให้คุณให้ความสนใจกับการตัดสินใจเรื่องอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางจีนในวันที่ 20 กรกฎาคม ซึ่งจะมีความน่าสนใจเป็นพิเศษ เนื่องจากค่า GDP ของจีนในไตรมาสที่ 2 ปี 2022 ลดลง 2.6% จากตัวเลขคาดการณ์ที่ 1.5% ซึ่งแสดงถึงแนวโน้มของเศรษฐกิจประเทศที่จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย
GBP/USD: ศึกชิง 1.2000 แพ้แล้ว แต่มันยังไม่จบแค่นั้น
- คู่ GBP/USD แตกต่างไปจากคู่ EUR/USD โดยราคายังไม่ทำลายสถิติรอบหลายปี แต่ก็ใกล้มากแล้ว ราคาต่ำสุดทำไว้ที่ 1.1759 ในสัปดาห์ที่แล้ว และสถิติสุดท้ายในรอบห้าวันทำการอยู่ที่ 1.1865 ซึ่งด้านล่างมีเป้าหมายสำคัญอยู่สองระดับคือ 1.1409 ซึ่งเป็นจุดที่ราคาทรุดตัวลงหลังจากภาวะการแพร่ระบาดของ COVID-19 เริ่มขึ้นในเดือนมีนาคม 2020 และราคาต่ำสุดในเดือนธันวาคม 1984 ที่ 1.0757 เราคิดว่ามันยังเร็วเกินไปที่จะพูดถึงการคู่ขนานกันระหว่างเงินปอนด์และดอลลาร์ที่ 1:1
สถิติเศรษฐกิจมหภาคซึ่งประกาศเมื่อวันพุธที่ 13 กรกฎาคม ปรากฏว่าเขียวสดใสอย่างผิดความคาดหมาย ค่า GDP ของอังกฤษ (ปีต่อปี) ประกาศที่ 3.5% จากการคาดการณ์ที่ 2.7% ในขณะที่ GDP เดือนมิถุนายนขยับขึ้น 0.5% จากการคาดการณ์ที่ 0.1% และตัวเลขก่อนหน้าที่ -0.2% แม้ว่าจะมีแนวโน้มในเชิงบวก ปัจจัยที่เป็นแรงกดดันต่อเศรษฐกิจอังกฤษยังไม่หายไป ในบรรดาปัญหาต่าง ๆ นั้นมีปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเบร็กซิตและความขัดแย้งเรื่องศุลกากรระหว่างสหราชอาณาจักรและไอร์แลนด์เหนือ อัตราเงินเฟ้อคงตัวในระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี และมีความเป็นไปได้ว่าเงินเฟ้ออาจแตะระดับ 11% ภายในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งจะยิ่งกดดันเศรษฐกิจให้เข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างรุนแรง อีกทั้ง วิกฤติของรัฐบาลอังกฤษที่มาจากการประกาศลาออกของนายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน รวมถึงปัญหาที่เกี่ยวข้องกับมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียเนื่องด้วยการบุกรุกประเทศยูเครนก็เป็นแรงกดดันเช่นกัน
แม้ว่าจะมีคำพูดจากผู้บริหารธนาคารแห่งชาติอังกฤษว่า พวกเขาพร้อมที่จะยอมรับมาตรการถอนสภาพคล่องจากระบบในอัตราที่เร็วขึ้น ในความเป็นจริง ธนาคารฯ ดำเนินการอย่างระมัดระวังมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ อัตราดอกเบี้ย ณ ปัจจุบันอยู่ที่ 1.25% ซึ่งต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยของธนาคารเฟด (1.75%) และการประชุมครั้งถัดไปของธนาคารกลางอังกฤษจะจัดขึ้นในวันที่ 4 สิงหาคม 2022 เท่านั้น และนี่ย่อมจะเป็นแรงกดดันต่อคู่ GBP/USD อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ณ ขณะนี้ ผู้เชี่ยวชาญ 50% เชื่อว่า ค่าเงินปอนด์จะอ่อนค่าลงต่อเนื่อง 25% มองว่าราคาจะรีบาวด์กลับขึ้น ส่วน 25% มีท่าทีเป็นกลาง ผลการวิเคราะห์อินดิเคเตอร์บนกรอบ D1 มีดังนี้ ในส่วนอินดิเคเตอร์เทรนด์บนกรอบ D1 อัตราส่วนอยู่ที่ 100% เป็นสีแดง ด้านออสซิลเลเตอร์ ความได้เปรียบของตลาดหมีต่ำกว่าเล็กน้อย โดย 90% บ่งชี้ถึงแนวโน้มขาลง และ 10% ชี้ไปยังทิศเหนือ
ระดับแนวรับที่ใกล้ที่สุดคือ 1.1800 ตามมาด้วยราคาต่ำสุดของวันที่ 14 กรกฎาคมที่ 1.1759 ตามด้วย 1.1650, 1.1535 และราคาต่ำสุดเดือนมีนาคม 2020 ในโซน 1.1400-1.1450 สำหรับภารกิจของฝั่งกระทิงในระยะสั้นคือต้องขยับขึ้นในโซน 1.1875-1.1915 และจากนั้นจะเป็นศึกรอบใหม่เพื่อชิงระดับ 1.2000 อีกครั้ง ซึ่งเป็นศึกที่พ่ายแพ้ไปในสัปดาห์ที่แล้ว ในกรณีที่พิชิตได้สำเร็จ ราคาคู่นี้จะเจอกับแนวต้านในโซนและระดับที่ 1.2100, 1.2160-1.2175, 1.2200-1.2235, 1.2300-1.2325 และ 1.2400-1.2430
สำหรับปฏิทินเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักร เราแนะนำให้คุณให้ความสนใจกับสถิติตลาดแรงงานของอังกฤษที่จะประกาศในวันอังคารที่ 19 กรกฎาคม โดยในวันเดียวกันจะมีการแถลงข่าวของ นายแอนดริว ไบเลย์ ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) จะประกาศในวันพุธที่ 20 กรกฎาคม และสถิติชุดใหญ่เกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรจะประกาศในวันศุกร์ ซึ่งได้แก่ ดัชนียอดค้าปลีกเดือนมิถุนายน และสถิติกิจกรรมทางธุรกิจ (PMI) ทั้งในกลุ่มธุรกิจและของประเทศโดยรวม
USD/JPY: พายุหลังภาวะนิ่งสงบ
- เราตั้งชื่อบทวิเคราะห์ฉบับที่แล้วว่า “ภาวะนิ่งสงบก่อนพายุซัดโถม” เนื่องจากคู่ USD/JPY ไม่ได้ทำระดับสูงสุดใหม่ในรอบ 24 ปีเป็นครั้งแรกในรอบห้าสัปดาห์และราคาหยุดพัก แต่พายุก็ซัดโถมในที่สุด ราคาทำระดับสูงสุดใหม่ที่ 139.38 เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม และราคาคู่นี้ปิดตลาดที่ 138.50
สาเหตุที่ทำให้เงินเยนอ่อนค่ายังคงเหมือนเดิม คือ ความแตกต่างระหว่างนโยบายทางการเงินสายเหยี่ยวของธนาคารเฟดสหรัฐฯ และนโยบายสายพิราบแบบสุดโต่งของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) นอกจากนี้ การประชุมครั้งถัดไปของธนาคารกลางญี่ปุ่นจะมีขึ้นในสัปดาห์หน้า ในวันพฤหัสบดีที่ 21 กรกฎาคม ซึ่งมีแนวโน้มที่ธนาคารฯ จะคงอัตราดอกเบี้ยไม่เปลี่ยนแปลงอีกครั้งที่ระดับติดลบ -0.1%
โดยปกติเราจะพูดถึงการต่อสู้กันระหว่างฝั่งกระทิงและฝั่งหมี แต่ในแง่ของอนาคตของเงินเยน การต่อสู้นี้เป็นศึกระหว่างนักวิเคราะห์และธนาคารกลางญี่ปุ่น โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่แล้วกำลังรอให้ธนาคารกลางฯ เปลี่ยนแปลงนโยบาย จึงโหวตอย่างดื้อดึงว่าเงินเยนน่าจะแข็งค่าขึ้น ส่วนธนาคารกลางฯ ก็ดื้อดึงไม่แพ้กัน ซึ่งยังคงนโยบายเหมือนเช่นเดิม ส่งผลให้คู่ USD/JPY ขยับขึ้นในที่สุด
ในครั้งนี้ มีผู้เชี่ยวชาญเพียง 40% เท่านั้นที่กล่าวว่าราคาคู่นี้จะขยับขึ้นไปที่ระดับ 142.00 ส่วน 60% ที่เหลือหวังว่าเทรนด์จะกลับทิศทางสู่ขาลง ในส่วนอินดิเคเตอร์บนกรอบ D1 ไม่มีความขัดแย้งแต่อย่างใด 100% ของอินดิเคเตอร์เทรนด์และออสซิลเลเตอร์ชี้ไปยังทิศเหนือ แต่ 20% ของออสซิลเลเตอร์อยู่ในโซน overbought ทั้งนี้ แนวรับอยู่ที่ระดับและโซนคือ 137.65, 137.00, 136.60 135.50-135.70, 134.00, 133.50 และ 133.00 ส่วนเป้าหมายของฝั่งกระทิงคือ 140.00 และ 142.00 และถ้าหากอัตราการเติบโตของคู่นี้ยังคงเหมือนเดิมอย่างในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ราคาอาจขยับถึงโซน 150.00 ได้ในช่วงปลายเดือนสิงหาคม-ต้นเดือนกันยายน
นอกเหนือไปจากการประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่นและงานแถลงข่าวที่ตามมาของฝ่ายผู้บริหารแล้ว ไม่มีกิจกรรมที่สำคัญใด ๆ คาดว่าจะเกิดขึ้นในญี่ปุ่นในสัปดาห์นี้
คริปโตเคอเรนซี: จุดเริ่มต้นของจุดจบของระยะตลาดหมี
- บทวิเคราะห์ฉบับที่แล้วให้ความสนใจกับความผิดปกติระหว่างดอลลาร์และดัชนีตลาดหุ้นสหัรฐฯ S&P500, Dow Jones และ Nasdaq ซึ่งขยับขึ้นพร้อมกัน ในสัปดาห์ที่แล้วทุกอย่างเริ่มกลับเป็นปกติ สกุลเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องและดัชนีขยับลดลง ทั้งนี้ แม้ว่าจะมีกระแสเงินไหลออกจากสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง ราคาบิทคอยน์ยังคงอยู่ในช่วง $20,000 แต่มันจะอยู่ที่ระดับดังกล่าวไปจนถึงเมื่อไร?
รูเชียร์ ชาร์มา ซีอีโอ Rockefeller International และอดีตหัวหน้านักยุทธศาสตร์ของ Morgan Stanley มองว่าแนวโน้มตลาดหมีมักกินเวลาประมาณหนึ่งปีในตลาดหุ้น และดัชนีตลาดหุ้นขยับลดลง 35% ในขณะนี้ ตลาดปรับลดลงมาเพียง 20% เท่านั้น ดังนั้น เราคาดว่าความต้องการในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงจะลดลงต่อไป รวมถึงบิทคอยน์ในช่วงหกเดือนข้างหน้า
“ผมจะไม่พูดว่าเราอยู่ด้านล่างสุดแล้ว” ชาร์มากล่าว พร้อมเสริมว่าบิทคอยน์จะกลับสู่แนวโน้มขาขึ้นและขยับทำระดับสูงสุดใหม่หลังจากวัฎจักรตลาดหมีสิ้นสุดลง นักการเงินรายนี้อ้างถึงสถานการณ์ที่เคยเกิดขึ้นกับ Amazon เมื่อช่วงต้นปี 2000s ในช่วงฟองสบู่ดอทคอมที่ราคาหุ้นบริษัททรุดลงกว่า 90% อย่างไรก็ดี ราคาหุ้นเด้งกลับและขยับขึ้นมาถึง 300 เท่าในช่วง 20 ปีถัดมา
หากคุณดูที่กราฟ BTC/USD จะเห็นว่าราคาบิทคอยน์เกาะติดอยู่ที่ระดับเลขจำนวนเต็มในช่วงที่ผ่านมา โดยฝั่งกระทิงและหมีต่างต่อสู้กันที่ช่วงระดับ $40,000 ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน ถึง 5 พฤษภาคม โดยศึกรบกันแนวหน้าอยู่ที่ $30,000 ตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคม ถึง 10 มิถุนายน การต่อสู้ที่โซน $20,000 เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยในตอนนี้มีนักลงทุน 60% ที่ตอบแบบสำรวจของ Bloomberg เชื่อว่า แนวโน้มขาลงของราคาบิทคอยน์ถึง $10,000 นั้นมีความเป็นไปได้มากกว่า ส่วน 40% ที่เหลือรอให้ราคาฟื้นตัวขึ้นมายัง $30,000 การศึกษานี้มีผู้ตอบแบบสำรวจ 950 คน ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับสถาบันต่าง ๆ จะพบว่าจำนวนผู้ที่ยังสงสัยในบิทคอยน์มีมากกว่าในหมู่นักลงทุนรายย่อย นักลงทุนจำนวนหนึ่งในสี่เรียกบิทคอยน์ว่าเป็น “ขยะ” (18% เป็นนักลงทุนมืออาชีพ)
ไมค์ โนโวกราตซ์ ซีอีโอของ Galaxy Digital กล่าวในบมสัมภาษณ์กับ CNBC ว่า เขาไม่เชื่อในโอกาสที่บิทคอยน์จะดิ่งลงไปถึง $13,000 “มันมีความรู้สึกว่าช่วงปลดแอกจากอัตราทด (deleveraging) จบลงไปแล้ว 90% ปัญหาคือการเติบโตต่อไปต้องอาศัยศรัทธาและเงินทุนใหม่ที่มากขึ้น” เขากล่าว โดยเขามองว่า บริษัทในตลาดคริปโตถือคำสั่งที่ใช้อัตราทดมากเกินไป ซึ่งนำไปสู่การล้มละลายของบางบริษัท เขายังทำนายได้ว่าแนวโน้มด้านข้างในอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลจะดำเนินต่อไปจนกว่าธนาคารเฟดสหรัฐฯ จะยุติการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ประธานบริษัท Galaxy Digital รายนี้มองว่าจะใช้เวลาประมาณ 18 เดือน
ลิน อัลเดน ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐศาสตร์มหภาคให้ข้อสังเกตที่คล้ายกัน เธอเชื่อว่า แม้จะไม่มีสัญญาณกระทิงที่ชัดเจนในตลาดคริปโต เวลาสำหรับการยอมจำนนของโลกนั้นได้ผ่านไปแล้ว เธอมองว่าช่วงที่เลวร้ายที่สุดของเทรนด์ตลาดหมีสิ้นสุดลงไปพร้อมกับช่วงเวลาแห่งความผันผวนในครึ่งแรกของปี 2022 ซึ่งมูลค่าของ BTC ดิ่งลง 56% นักยุทธศาสตร์รายนี้เชื่อว่า บิทคอยน์อาจฟื้นตัวเพราะการเทขายบิทคอยน์ครั้งใหญ่ได้หยุดลง
อย่างไรก็ตาม อัลเดนเตือนว่า บิทคอยน์อาจขยับลงได้อีกหนึ่งขั้น “ในทางเศรษฐศาตร์มหภาคนั้น ตอนนี้ยังไม่มีปัจจัยกระตุ้นตลาดกระทิงมากเท่าไรนัก และฉันจะไม่ตัดโอกาสที่ราคาอาจขยับลงได้ต่อ” “เราเห็นแล้วว่า โดยส่วนใหญ่แล้ว บิทคอยน์มีความสัมพันธ์กับการเติบโตของอุปทานเงินเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเงินดอลลาร์ ดังนั้น ในช่วงที่เราเห็นปริมาณเงินเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลรอบโลกในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา บิทคอยน์ก็ทำผลงานได้ดีมาก” เธออธิบาย ขณะนี้สิ่งที่ตรงกันข้ามกำลังเกิดขึ้นเพราะธนาคารเฟดสหรัฐฯ และธนาคารกลางอื่น ๆ พยายามที่จะยับยั้งอัตราเงินเฟ้อ และสิ่งนี้จึงส่งผลต่อราคาบิทคอยน์ กล่าวคือ ขณะนี้กระแสเงินราคาถูกเริ่มแผ่วลง และอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น นักลงทุนจึงไม่อยากมีส่วนเกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง
ผู้เชี่ยวชาญบางรายเลือกที่จะเรียกสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในตลาดคริปโตว่าไม่ใช่การทรุดตัว แต่เป็นการปรับฐานครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง นอกจากนี้ สถิติในอดีตยังชี้ว่า พวกเขาได้เข้าสู่ตลาดหมีระยะสุดท้าย โดยเมื่อปลายปี 2018 มีแนวโน้มขาลงทั้งสิ้น 84% จากระดับสูงสุดก่อนหน้า แต่ในขณะนี้คู่ BTC/USD ขยับลดลงจากราคาสูงสุดวันที่ 11 พฤศจิกายน 2021 เพียง 71% เท่านั้น ดังนั้น หากเราคิดตามโมเดลนี้ เราอาจได้เห็นการปรับฐานเสร็จสมบูรณ์ที่บริเวณ $10,000-11,000 และช่วงแข็งตัวของราคาอาจกินเวลาประมาณหนึ่งปีหรือนานกว่านั้น
สถิติจาก Glassnode ชี้ว่า การหดตัวของตลาดได้กำจัด “นักท่องเที่ยวในตลาด ที่เหลือออกไปจากเกมนี้ และเหลือเพียงแต่ผู้ถือเหรียญระยะยาว (hodlers) “ที่แนวหน้า” เท่านั้น โดยเฉลี่ยแล้ว พวกเขามีการขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงอยู่ที่ประมาณ 33% ซึ่งนี่ไม่ใช่ตัวชี้วัดที่แย่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ซึ่งแปลว่าแนวโน้มตลาดระยะสุดท้ายเพิ่งเริ่มขึ้น
จุดเริ่มต้นของระยะสุดท้ายนี้ยังเห็นได้จากสัญญาณการยอมแพ้ของบรรดานักขุดเหรียญ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับราคาต่ำสุดของบิทคอยน์ บริษัทขุดเหรียญมหาชนส่วนใหญ่ขยายกิจการตนเองโดยใช้เงินสินเชื่อ ในขณะนี้ รายได้ของพวกเขาลดลง 50% ซึ่งบังคับให้พวกเขาต้องเทขายเหรียญที่ถือไว้เพื่อนำเงินมาใช้จ่ายในค่าดำเนินกิจการและการใช้หนี้ Glassnode ประมาณการว่า ปริมาณเงินของนักขุดเหรียญอยู่ที่ประมาณ 70,000 BTC คิดเป็นมูลค่า $1.3 พันล้านดอลลาร์ และในกรณีที่ช่วงราคาแข็งตัวดำเนินต่อไป พวกเขาจะถูกบีบบังคับให้ต้องขายเหรียญต่อและจะยิ่งเพิ่มแรงกดดันต่อตลาด
โปรดทราบว่าในกรณีนี้ เรากำลังพูดถึงจุดเริ่มต้นเท่านั้น และไม่ได้พูดถึงจุดสิ้นสุดของระยะสุดท้ายของแนวโน้มตลาดหมี ดังนั้น การยอมแพ้ของนักขุดเหรียญในช่วง 2018-2019 กินเวลาประมาณสี่เดือน ในขณะที่วัฎจักรปัจจุบันกินเวลามากกว่าหนึ่งเดือนเล็กน้อย
สำหรับ Ethereum อัตราการเคลื่อนไหวของคู่ ETH/USD แทบจะขยับตามคู่ BTC/USD โดยสมบูรณ์ ผู้เชี่ยวชาญบางท่านไม่ตัดโอกาสที่ราคาจะขึ้นชั่วคราวไปยัง $1,280 อย่างไรก็ดี พวกเขาเชื่อว่านี่จะเป็นอีกหนึ่งกับดักตลาดกระทิง และคู่นี้จะกลับเข้าสู่โซน $1,000 และมีเป้าหมายถัดไปของตลาดหมีคือ $500
กลับมาที่ผลการสำรวจของ Bloomberg นักลงทุนส่วนใหญ่จากจำนวน 950 คน ได้แสดงความเชื่อมั่นใน Bitcoin และ Ethereum ในช่วงห้าปีข้างหน้า พวกเขามีความเห็นว่า พัฒนาการล่าสุดในตลาดคริปโตจะกระตุ้นให้หน่วยงานต่าง ๆ เพิ่มความเข้มงวดในการกำกับดูแลอุตสาหกรรมนี้ สิ่งนี้อาจช่วยเพิ่มความไว้วางใจและนำไปสู่การยอมรับสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นวงกว้างมากขึ้น รูเชียร์ ชาร์มา ซีอีโอ Rockefeller International เชื่อเช่นกันว่า บิทคอยน์จะมีเสถียรภาพมากขึ้นภายในสามถึงห้าปี ซึ่งจะช่วยดันดอลลาร์สหรัฐฯ ได้อย่างจริงจัง
ณ ขณะที่เขียนบทวิเคราะห์ฉบับนี้ (ช่วงเย็นวันศุกร์ที่ 15 กรกฎาคม) บิทคอยน์ซื้อขายอยู่ในโซน $20,900 โดยมูลค่ารวมในตลาดคริปโตคือ $0.945 ล้านล้านดอลลาร์ ($0.966 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อหนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้า) ดัชนี Crypto Fear & Greed ขยับลดลง 5 จุดในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาจาก 20 เหลือ 15 จุด และยังคงอยู่ในโซนความกลัวขั้นสุด (Extreme Fear)
กลุ่มนักวิเคราะห์ NordFX
หมายเหตุ: เนื้อหาดังกล่าวไม่ควรยึดถือเป็นคำแนะนำในการลงทุนหรือเป็นคำปรึกษาในการซื้อขายในตลาดการเงิน โดยเนื้อหาข้างต้นเป็นไปเพียงเพื่อจุดประสงค์ในการให้ข้อมูลเท่านั้น การซื้อขายในตลาดการเงินมีความเสี่ยงและอาจทำให้เกิดการสูญเสียเงินฝากได้
กลับ กลับ