EUR/USD: ผลการประชุมคณะกรรมการ FOMC: ทำไมดอลลาร์อ่อนค่าลงและหุ้นขยับขึ้น
- การประชุมของคณะกรรมการ FOMC (คณะกรรมการกำกับนโยบายทางการเงิน) ของธนาคารเฟดสหรัฐฯ ได้จัดขึ้นเมื่อวันพุธที่ 27 กรกฎาคมที่ผ่านมา นั้นมีความชัดเจนว่าธนาคารจะขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่จะขึ้นเท่าไร? 100 จุดพื้นฐาน (bp) ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นนับตั้งแต่ปี 1981 หรือขึ้น 75 จุด? ดูเหมือนว่าตลาดจะเก็งทางเลือกแรก แต่ธนาคารเฟดกลับเลือกทางเลือกที่สอง ซึ่งผ่อนปรนกว่า ส่งผลให้แทนที่ราคาจะกลับไปโจมตีระดับ 1.0000 อีกครั้ง EUR/USD ขยับขึ้นและกลับสู่กรอบ 1.0150-1.0270 ซึ่งเป็นบริเวณที่ราคาเคลื่อนที่มาตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม ตามมาด้วยความพยายามที่ไม่สำเร็จของตลาดหมีจะทุบราคากลับไปยังกรอบด้านล่าง (สาเหตุมีอธิบายไว้ด้านล่างในบทวิเคราะห์ของคู่ the GBP/USD) และปิดตลาดที่ระดับ 1.0221
เมื่อพูดถึงช่วงท้ายการประชุม นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารเฟดพยายามที่จะโน้มน้าวทุกคนว่า ธนาคารฯ มีนโยบายทางการเงินแบบหดตัว (สายเหยี่ยว) เขาระบุว่า เขาไม่เชื่อว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย เนื่องจากตลาดแรงงานและธุรกิจบางภาคส่วนยังคงแข็งแกร่ง และความเสี่ยงที่อัตราเงินเฟ้อสูงจะยืดเยื้อนั้นมีมากกว่าความเสี่ยงของภาวะถดถอย ดังนั้น หากมีความจำเป็น ธนาคารเฟดจึงพร้อมที่จะเร่งอัตราการขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ทุกเมื่อ
อย่างไรก็ตาม ตลาดไม่เชื่อในสิ่งที่พาวเวลล์พูด และตอบสนองต่อผลการประชุมของคณะกรรมการ FOMC โดยหันเข้าหาตลาดหุ้น ดัชนีดอลลาร์ DXY ขยับลดลง 0.7% แต่ดัชนีหุ้นขยับขึ้น โดย S&P500 บวกขึ้น 2.6%, Dow Jones ขึ้น 1.4%, NASDAQ ขึ้น 4.1% ฟิวเจอร์สน้ำมันก็เพิ่มขึ้น 3.4% เช่นกัน
ก่อนหน้านี้มีการคาดการณ์ว่า มาตรการจำกัดทางการเงินจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยขึ้นถึง 3.4% ภายในปีนี้ และมันอาจขยับสูงขึ้นเป็น 3.8% ภายในสิ้นปี 2023 ทั้งนี้ มีข่าวลือแพร่ทั่วตลาดในเวลานี้ว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจหยุดขึ้นอัตราดอกเบี้ยโดยสิ้นเชิงในเดือนพฤศจิกายน และจะกลับสู่มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณอีกครั้ง (QE) ในปี 2023 สาเหตุหลักคือการต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อโดยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยและงบประมาณขาดดุลที่ลดลง ถึงแม้ว่าท่าทีของนายพาวเวลล์ที่ปลอบประโลมใจจะส่งผลในทางลบต่อ GDP แต่กลับทำให้สถานการณ์ในตลาดแรงงานย่ำแย่ขึ้น
โดยทั้งหมดนี้ได้รับการยืนยันจากสถิติมหภาคที่ประกาศเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 28 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งการคาดการณ์เบื้องต้นของ GDP สหรัฐฯ ในไตรมาที่ 2 ปี 2022 อยู่ที่ -0.9% จากการคาดการณ์ที่ +0.3% เป็น +0.5%
ด้วยเหตุนี้ แนวโน้มที่ลดลงของ GDP จึงส่งผลเชิงลบต่อดอลลาร์ เพราะมันอาจบีบให้ธนาคารเฟดต้องขึ้นดอกเบี้ยอย่างระมัดระวังมากขึ้น ซึ่งน้อยกว่า 75 จุดพื้นฐานในการประชุมทุกครั้ง เครื่องมือ FedWatch จาก CME Group ชี้ว่า มีความเป็นไปได้เกือบ 80% ที่ธนาคารฯ จะขึ้นดอกเบี้ยเพียง 50 จุดพื้นฐานเท่านั้นในเดือนกันยายน นอกจากนี้ แนวโน้มผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ลดลงอย่างต่อเนื่องก็ส่งผลกระทบต่อดอลลาร์อเมริกันเช่นกัน โดยผลตอบแทนลดลงจาก 3.4% เป็น 2.68% ในเวลาแค่หนึ่งเดือน ซึ่งยิ่งทำให้ตลาดคิดว่าอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่ควบคุมได้ และมาตรการการถอนสภาพคล่องจากระบบ (QT) อาจเสร็จสิ้นได้ก่อนกำหนด
ในอีกด้านหนึ่ง หลายอย่างก็ไม่ได้ราบรื่นในฝั่งยุโรปเท่าไรนัก ปัญหาที่ยืดเยื้อและการขาดแคลนทรัพยากรพลังงานธรรมชาติจากรัสเซียกำลังส่งผลกระทบต่อยูโร ทั้งนี้ ยุโรปตอบโต้การแบล็คเมล์พลังงานจากรัสเซีย โดย นางเออร์ซูลา วอน แด เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปเรียกร้องให้ประเทศอียูเตรียมยุติการใช้พลังงานก๊าซจากรัสเซียโดยสมบูรณ์ เธอมองว่า มีความจำเป็นที่จะต้องประหยัดทรัพยากรแม้แต่ในประเทศที่มีการพึ่งพาแหล่งพลังงานจากรัสเซียน้อย เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายอย่างรุนแรงทั้งระบบ
เคลาส์ มุลเลอร์ ผู้อำนวยการหน่วยงานกำกับดูแลด้านพลังงานของเยอรมนี (Bundesnetzagentur) เชื่อว่า ภัยคุกคามจากการขาดแคลนก๊าซจากรัสเซียจะส่งผลต่อเยอรมนีในฤดูหนาวสองปีด้วยกัน และค่าไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นในเดือนสิงหาคม
เมื่อพูดถึงยูโรโซน สถิติเศรษฐกิจซึ่งประกาศเมื่อวันศุกร์ที่ 29 กรกฎาคม ไม่ได้ดูน่ากลัวแต่อย่างใด ในอีกด้านหนึ่ง อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งก่อนหน้านี้มีตัวเลขอยู่ที่ 8.6% และมีการคาดการณ์เดียวกัน ได้ขยับขึ้นจริงที่ 8.9% ในเดือนกรกฎาคม อีกด้านหนึ่ง ค่า GDP (ปีต่อปีในไตรมาสที่ 2) ของยูโรโซนลดลง 4.0% จากการคาดการณ์ว่าน่าจะลดลง 5.4% เหลือ 3.4% สถานการณ์ตลาดแรงงานในเยอรมนีดูดีเช่นกัน โดยจำนวนผู้ว่างงานลดลงจาก 132K เหลือ 48K ในเวลาหนึ่งเดือน
สำหรับอนาคตอันใกล้ของคู่ EUR/USD ณ ขณะที่เขียนบทวิเคราะห์ฉบับนี้ในช่วงเย็นวันที่ 29 กรกฎาคม ผู้เชี่ยวชาญ 45% สนับสนุนแนวโน้มขาขึ้น ส่วน 45% โหวตให้กับแนวโน้มขาลง และ 10% ที่เหลือชี้ไปยังแนวโน้มออกข้าง ผลการวิเคราะห์อินดิเคเตอร์บนกรอบ D1 ไม่ให้สัญญาณที่ชัดเจนเช่นกัน ในส่วนอินดิเคเตอร์เทรนด์ 50% ชี้ในทางทิศใต้ 50% ทิศเหนือ ด้านออสซิลเลเตอร์ 35% เข้าข้างฝั่งตลาดหมี 65% ตลาดกระทิง ซึ่งในจำนวนนี้มี 25% ที่ชี้ว่าราคาอยู่ในโซน overbought
ยกเว้น 1.0200 โดยแนวรับที่ใกล้ที่สุดสำหรับคู่ EUR/USD คือโซน 1.0150-1.0180 จากนั้นคือ 1.0100 และแน่นอนคือระดับที่ 1.0000 หลังจากที่ตัดผ่าน ตลาดหมีจะตั้งเป้าหมายไว้ที่ราคาต่ำสุดของวันที่ 14 กรกฎาคมที่ 0.9950 ซึ่งระดับที่ต่ำกว่านั้นจะเป็นโซนแนวรับ/แนวต้านสำคัญของของปี 2002 ที่ 0.9900-0.9930 ด้านภารกิจสำคัญถัดไปสำหรับฝั่งกระทิงคือการตัดทะลุแนวต้านที่ 1.0250-1.0270 และกลับสู่โซน 1.0400-1.0450 ตามมาด้วยโซน 1.0520-1.0600 และ 1.0650-1.0750
กิจกรรมที่จะมีขึ้นในสัปดาห์นี้ ได้แก่ การประกาศดัชนีกิจกรรมทางธุรกิจ (ISM) ในภาคการผลิตของเยอรมนีและสหรัฐฯ ในวันจันทร์ที่ 1 สิงหาคม ในวันเดียวกันนั้นจะมีการประกาศปริมาณยอดค้าปลีกในเยอรมนี ส่วนดัชนียอดค้าปลีกของยูโรโซนและกิจกรรมทางธุรกิจ (ISM) ในภาคบริการของสหรัฐฯ จะประกาศในวันพุธที่ 3 สิงหาคม ด้านสถิติจากตลาดแรงงานจะประกาศในช่วงท้ายสัปดาห์คือวันศุกร์ที่ 5 สิงหาคม รวมถึงอัตราการว่างงาน และอินดิเคเตอร์ที่สำคัญ เช่น NFP หรือจำนวนตำแหน่งงานเปิดว่างใหม่นอกภาคการเกษตรของสหรัฐฯ
GBP/USD: การตัดสินใจของธนาคารแห่งชาติอังกฤษกระทบต่อความเชื่อมั่น
- การตัดสินใจอย่างระมัดระวังของธนาคารเฟด ความเห็นที่ระมัดระวังของนายเจอโรม พาวเวลล์ และสถิติการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 2 ที่น่าผิดหวังส่งผลกระทบต่อคู่ GBP/USD ในสัปดาห์ที่แล้ว โดยฝั่งกระทิงดันราคาขึ้นมาทำระดับสูงสุดที่ 1.2245 เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม ราคาได้ขยับลงทางด้านล่าง 1.2062 สั้น ๆ ในช่วงกลางวันวันเดียวกัน ทั้งนี้ ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นจากการประกาศดัชนีรายจ่ายการบริโภคส่วนบุคคล (Personal Consumption Expenditures - PCE) ในสหรัฐฯ การเติบโตของดัชนีอัตราเงินเฟ้อรายเดือนอยู่ที่ 0.6% (สูงกว่าค่าครั้งก่อนหน้าที่ 0.3% และสูงกว่าการคาดการณ์ที่ 0.5%) สถานการณ์นี้ส่งอิทธิพลต่อสภาพอารมณ์ในตลาดและช่วยให้ดอลลาร์เริ่มฟื้นตัว นอกจากนี้ ในวันที่ 29 กรกฎาคม ยังเป็นวันทำการสุดท้ายของเดือน และนักลงทุนหลายคนตัดสินใจที่จะเก็บกำไรหลังจากเงินปอนด์แข็งค่าขึ้น อย่างไรก็ดี ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นแค่ชั่วคราวและปิดตลาดท้ายสัปดาห์ที่ 1.2176
ในส่วนของข่าวเศรษฐกิจจากสหราชอาณาจักรในสัปดาห์หน้า เราอาจเน้นการประกาศดัชนี Composite PMI และดัชนีกิจกรรมทางธุรกิจในภาคบริการของสหราชอาณาจักรในวันพุธที่ 3 สิงหาคม แต่กิจกรรมสำคัญของสัปดาห์นี้แน่นอนว่าจะเป็นการประชุมของธนาคารแห่งชาติอังกฤษ (BOE) ในวันพฤหัสบดีที่ 4 สิงหาคม
ธนาคารฯ ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจาก 1.00% เป็น 1.25% ในการประชุมครั้งก่อนหน้าเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน จึงอาจดูเหมือนว่า 25 จุดพื้นฐานนั้นเป็นเพียงหนึ่งในสามของ 75 จุด ตามที่ธนาคารเฟดสหรัฐฯ เคยปรับขึ้น แต่เงินปอนด์ก็แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยแข็งค่าขึ้นมา 365 จุดในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง และคู่ GBP/USD ทำระดับสูงสุดในกรอบที่ 1.2405
มาดูกันว่าในครั้งนี้จะเกิดอะไรขึ้นและราคาจะกลับสู่ระดับดังกล่าวได้หรือไม่ หรือมันจะไปเกินกว่านั้น? ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่า BOE อาจตัดสินใจดำเนินการอย่างเต็มที่ โดยยอมขึ้นอัตราดอกเบี้ย 150 จุดในครั้งเดียว ซึ่งจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 2.75% และสูงกว่าดอกเบี้ยของดอลลาร์ปัจจุบันที่ 2.50% ซึ่งจะเป็นการโต้กลับที่สำคัญและช่วยหนุนเงินปอนด์
ณ ขณะนี้ ผู้เชี่ยวชาญ 35% เชื่อว่า เงินปอนด์จะยังคงเสียหลักต่อเนื่อง ในทางกลับกัน 35% มองว่าราคาจะรีบาวด์ขึ้นไป และ 30% มีท่าทีเป็นกลาง ผลการวิเคราะห์อินดิเคเตอร์บนกรอบ D1 มีดังนี้ ในส่วนของอินดิเคเตอร์เทรนด์ให้ผลลัพธ์เท่ากันคือ 50-50% ในส่วนของออสซิลเลเตอร์ มี 10% เท่านั้นที่เห็นด้วยกับฝั่งตลาดหมี และ 90% ชี้ถึงแนวโน้มขาขึ้น ซึ่ง 15% ชี้ว่าราคาอยู่ในโซน overbought แล้ว
ด้านแนวรับที่ใกล้ที่สุดอยู่ที่ 1.2045 ตามมาด้วย 1.2000 และโซน 1.1875-1.1915 ซึ่งต่ำกว่าระดับนี้จะเป็นระดับ 1.18000 ตามมาด้วยราคาต่ำสุดวันที่ 14 กรกฎาคมที่ 1.1759 และจากนั้นคือ 1.1650, 1.1535 และราคาต่ำสุดของเดือนมีนาคม 2020 ในโซน 1.1400-1.1450 สำหรับฝั่งกระทิงจะพยายามโจมตีแนวต้านที่โซนและระดับ 1.2200-1.2245, 1.2300-1.2325 และ 1.2400-1.2430
USD/JPY: ทำสถิติดิ่งลง 500 ปิป
- เหตุผลเดียวกันข้างต้นทั้งหมดนี้ส่งผลให้เงินเยนแข็งค่าขึ้น ก่อนการประชุมของธนาคารเฟดสหรัฐฯ ในวันที่ 27 กรกฎาคม คู่ USD/JPY อยู่ที่ระดับ 137.45 และราคาดิ่งลงมาเกือบ 500 จุด ทั้งนี้ ราคาได้ปักหลักอยู่ที่บริเวณระดับต่ำสุดในรอบ 6 สัปดาห์แล้วที่บริเวณ 132.49 ในสองวันถัดมา โดยมีความเป็นไปได้ที่ราคาดิ่งลงหนักเช่นนั้นเป็นเพราะเงินเยนนั้นมีแรงขายมากเกินไป ซึ่งทำระดับต่ำสุดในรอบ 24 ปีเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม
การประกาศดัชนี Personal Consumption Expenditures ของสหรัฐฯ เมื่อช่วงท้ายสัปดาห์ในวันศุกร์ที่ 29 กรกฎาคม ส่งผลให้ราคารีบาวด์ชั่วคราวกลับมาที่ระดับ 134.58 หลังจากนั้น เทรนด์ขาลงก็ดำเนินไปต่อ และราคาปิดตลาดรอบห้าวันทำการที่บริเวณ 133.31
สำหรับแนวโน้มเงินเยนญี่ปุ่น การคาดการณ์ของผู้เชี่ยวชาญดูค่อนข้างเป็นกลางเช่นเดียวกับในคู่ก่อนหน้านี้ โดย 45% ของผู้เชี่ยวชาญรอให้ราคาตัดทะลุขึ้นไปยังทิศเหนือ อีก 45% หวังว่าเทรนด์ขาลงจะดำเนินต่อไป ด้าน 10% ที่เหลือพูดถึงแนวโน้มด้านข้าง สำหรับภาพรวมณ์ในหมู่อินดิเคเตอร์บนกรอบ D1 นั้นแตกต่างไปเล็กน้อย อินดิเคเตอร์เทรนด์มีอัตราส่วน 65% ต่อ 35% ซึ่งฝั่งสีแดงเป็นต่อ และในส่วนของออสซิลเลเตอร์ 25% ชี้ไปยังทิศเหนือ และ 75% ชี้ไปยังทิศใต้ แต่หนึ่งในสามให้สัญญาณว่าราคาอยู่ในโซน oversold แล้ว
ค่าความเคลื่อนของราคา (slippage) และช่วงโซนแนวรับ/แนวต้านเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากเนื่องด้วยความผันผวนที่สูงมากของคู่นี้ ระดับแนวรับอยู่ที่ระดับและในโซน 132.50-133.00, 131.40, 128.60 และ 126.35-127.00. ส่วนแนวต้านอยู่ที่ 134.20-134.60, 135.00-135.55, 136.30-137.45, 137.90-138.40, 138.50-139.00 ตามมาด้วยราคาสูงสุดวันที่ 14 กรกฎาคมที่ 139.38 และเป้าหมายเลขที่ลงท้ายด้วยศูนย์ของฝั่งกระทิงคือ 140.00 และ 142.00
คริปโตเคอเรนซี: บิทคอยน์อาจขยับขึ้น แต่ไม่ใช่เร็ว ๆ นี้
- การที่ธนาคารเฟดสหรัฐฯ ขึ้นอัตราดอกเบี้ยไม่ใช่ 1.0% แต่เป็น 0.75% ในที่ประชุมวันที่ 27 กรกฎาคม ยิ่งเป็นแรงสนับสนุนอย่างมากให้กับสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง โดยเฉพาะตลาดหุ้น นักวิเคราะห์ที่สุดโต่งมากที่สุดบางคนกล่าวว่า ธนาคารฯ อาจหยุดขึ้นอัตราดอกเบี้ยตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน และจะกลับมาใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณอีกครั้ง (QE) ในปี 2023 และจะเริ่มซื้อสินทรัพย์และสร้างงบดุลอีกครั้ง โดยจะพิมพ์ธนบัตรดอลลาร์ให้หมุนเวียนสะพัดในระบบรอบใหม่ ด้านดัชนี S&P500, Dow Jones และ Nasdaq ขยับขึ้นจากความคาดหวังในแง่บวกของนักลงทุน และราคาสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง เช่น บิทคอยน์ และคริปโตเคอเรนซีก็ขยับขึ้นตามมา
ราคาบิทคอยน์ดีดขึ้นมาจากระดับ $20,000 มาเป็นเวลาสองสัปดาห์แล้วตอนนี้ ซึ่งดึงดูดนักเก็งกำไรเป็นอย่างมาก สถานการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากมีการโอนเหรียญจากผู้ถือเหรียญระยะยาว (hodlers) ที่ยอมแพ้ไปยังผู้ซื้อที่มีแรงศรัทธา “รายใหม่” ผู้เชี่ยวชาญจาก Glassnode เน้นย้ำว่า ยังมีความต้องการจากนักเก็งกำไรก่อนหน้านี้ที่ระดับ $30,000 และ $40,000 อีกด้วย
นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า นักลงทุนกลุ่มวาฬเหล่านั้น (นักลงทุนที่มียอดเงินมากกว่า 1000+ และ 10000+ BTC) ผู้ที่ยังคงถือเหรียญและระยะยาว และเข้าซื้อบิทคอยน์ในช่วงที่เกิดภาวะขาดทุนสะสม นั้นมีบทบาทเช่นกัน
โดยกิจกรรมของผู้ถือเหรียญ BTC จำนวนน้อย เช่น ที่มียอดคงเหลือ 0.01+ BTC ทำระดับมากที่สุดในประวัติศาสตร์ที่ 10,543,548 ที่อยู่
Glassnode เตือนว่า มันอาจต้องใช้เวลาเพิ่มเติมอีกเพื่อสร้างรากฐานที่แข็งแกร่ง ซึ่งหลักฐานนี้เห็นได้จากอินดิเคเตอร์ระยะยาวอย่าง URPD ทั้งนี้ การจะเพิ่มโอกาสให้ตลาดกลับทิศทางได้นั้น เราจะต้องเห็นเหรียญที่เก็งกำไรเปลี่ยนผ่านไปสู่ประเภทเหรียญที่ “ถือโดยนักลงทุนระยะยาว” (หรือกล่าวได้อีกอย่างว่า “อายุ” ของเหรียญจากช่วงเวลาที่ซื้อขายจะต้องมากกว่า 155 วันขึ้นไป)
นิโคลาส แมร์เทน นักวิเคราะห์คริปโต เชื่อว่ามีแนวโน้มที่จะเกิดช่วงขาขึ้นที่เหนือความคาดหมายในตลาด ซึ่งจะเป็นเรื่องเซอร์ไพรส์ครั้งใหญ่สำหรับฝั่งหมี “บิทคอยน์พุ่งขึ้นจาก $29,000 เป็น $53,000 ในเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว โดยขยับขึ้น 80% ในหนึ่งเดือน ผมว่าตลาดสามารถเติบโตได้อีกครั้งในตอนนี้และกลับมาทดสอบแนวด้านข้างที่บริเวณ $30,000 โดยไม่มีโซนแนวต้านสำคัญใด ๆ อยู่ข้างหน้า และค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่กำลังนำไปสู่จุดนี้อย่างชัดเจน จึงให้โอกาสด้านบนที่ดีเยี่ยมมากสำหรับบิทคอยน์ คนส่วนใหญ่ไม่เชื่อในความเป็นไปได้นี้ แต่การทะยานขึ้นอาจทำให้คุณประหลาดใจเนื่องด้วยขนาดในตลาดที่มีปริมาณอนุพันธ์มากเกินไป”
แม้ว่านายแมร์เทนจะไม่ตัดโอกาสที่ บิทคอยน์อาจขยับขึ้นในระยะสั้น เขายังสงสัยว่าสินทรัพย์นี้จะขยับถึงจุดต่ำสุด “หลายคนเชื่อว่าเราได้ขยับถึงจุดต่ำสุดไปแล้วเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน เราได้เห็นการเทขายครั้งใหญ่และช่วงรีบาวด์ที่ดี ตลาดยังได้กำจัดเงินทุนที่กู้ยืมมาที่ใช้ในการเก็งกำไรคริปโต แต่เราไม่สามารถลดทอนอิทธิพลที่ต่อเนื่องของตลาดมหภาคได้ ซึ่งจะยังคงจำกัดการลงทุนในคริปโตเคอเรนซีในระยะยาวต่อไป”
ความเห็นที่คล้ายกันนี้ยังมาจากนักวิเคราะห์ชื่อ แอรอน ชอมสกี เขาเชื่อว่า การที่คู่ BTC/USD ขยับออกจากกรอบด้านข้างโดยทะลุด้านบนขึ้นมาน่าจะเป็นแค่ปัจจัยกระตุ้นให้ราคาลงต่อ เขาคาดการณ์ว่าราคาจะกลับตัวและตัดทะลุกรอบด้านล่างในที่สุด โดยมีเป้าหมายคือ $17,500 ในขณะเดียวกัน แอรอน ชอมสกี เชื่อว่าเป้าหมายที่ $10,000 ก็มีความเป็นไปได้เช่นกัน “ชัดเจนว่าเรากำลังอยู่ในช่วงฤดูหนาวคริปโตที่ยาวนาน” เขาเขียน “บิทคอยน์ตั้งเป้าไว้ที่ $5-7,000 ความล่าช้าใด ๆ อย่างที่เราเห็นในตอนนี้นั้นยิ่งบีบให้เราต้องทบทวนเป้าหมายใหม่ให้ต่ำลง”
และ “ด้านล่าง” ในความเห็นของ จิม โรเจอร์ส ผู้ร่วมก่อตั้ง Quantum Fund และ Soros Fund Management อาจเป็นราคาดิ่งลงเหลือศูนย์ นักลงทุนชาวอเมริกันรายใหญ่นี้กล่าวว่า เราจำเป็นต้องอาศัยความสนับสนุนจากรัฐบาลก่อนที่เราจะถือว่าคริปโตเคอเรนซีเป็นการลงทุนที่น่าเชื่อถือ BTC เป็นเพียงเครื่องมือการพนันเท่านั้น ไม่ใช่เงินจริง บิทคอยน์เป็นสินทรัพย์ที่เหมาะสำหรับการเก็งกำไร แต่ท้ายที่สุดมันจะล้มเหลวในฐานะสกุลเงิน
จิม โรเจอร์ส เน้นย้ำว่า เขาจะพิจารณาซื้อ BTC หากสหภาพยุโรปรับรองให้บิทคอยน์เป็นสกุลเงินอย่างเป็นทางการเท่านั้น แต่คำพูดนี้ถือว่าเป็นคำพูดประชดประชัน เพราะอียูไม่มีแนวโน้มที่จะดำเนินการดังกล่าวในช่วงสิบปีนี้
แน่นอนว่า ตรงกันข้ามกับผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์ที่พร้อมจะขุดหลุมฝังตลาดคริปโตได้ทุกเมื่อ ก็มีผู้ที่มีแรงศรัทธาที่เชื่อในอนาคตอันสดใสของบิทคอยน์เสมอ เช่น ราอูล พาล ผู้ร่วมก่อตั้ง Real Vision Group และอดีตซีอีโอจาก Goldman Sachs เชื่อว่า ตลาดคริปโตเคอเรนซีกำลังเตรียมเข้าสู่ช่วงเทรนด์กลับทิศทางในทางบวก ตลาดได้รับการขับเคลื่อนด้วยสภาพคล่องเป็นหลัก ซึ่งมาจากอุปทานเงิน M2 เขากล่าว โดยอุปทานเงินนี้มีความสัมพันธ์กับปริมาณเงินโดยรวมที่หมุนเวียนอยู่ในระบบ บวกกับสภาพคล่องสูงของสินทรัพย์ที่ไม่ใช่เงินสด ซึ่งสามารถแปลงเป็นเงินสดได้อย่างง่ายดาย
นักลงทุนคริปโตส่วนใหญ่เชื่อว่า ผลตอบแทนจากการขุดเหรียญในการฮาล์ฟเหรียญครั้งถัดไปจะช่วยดันราคาให้สูงขึ้น อย่างไรก็ดี ราอูล พาล โต้แย้งว่า บทบาทของ M2 นั้นยิ่งใหญ่กว่าการฮาล์ฟเหรียญ “คริปโตเคอเรนซีไม่ได้ถูกขับเคลื่อนด้วยวัฎจักรธุรกิจ แต่โดยสภาพคล่องของโลก ดังนั้น ตัวชี้วัดหลักสำหรับการเติบโตของบิทคอยน์จะเป็นอัตราการเปลี่ยนแปลงของ M2 ทุกครั้งที่อุปทานเงินเพิ่มขึ้น ก็จะมีการกลับทิศทางเสมอ ผู้เชี่ยวชาญรายนี้กล่าว
ในที่นี้ เราได้พูดถึงไปแล้วในช่วงต้นบทวิเคราะห์ฉบับนี้ว่า หากธนาคารเฟดเปลี่ยนจากมาตรการถอนสภาพคล่องจากระบบ (QT) กลับไปเป็นมาตรการแบบผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) จริง และมีเงินหมุนเวียนในตลาดเพิ่ม ความต้องการในความเสี่ยงของนักลงทุนจะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน
ราอูล พาล ก็กล่าวได้ถูกต้องว่า นักลงทุนหลายคนคาดการณ์ว่าราคาเงินคริปโตจะทะยานขึ้นครั้งใหญ่ก่อนการฮาล์ฟเหรียญครั้งถัดไป นอกจากนี้ การคาดการณ์ดังกล่าวยังอ้างอิงจากสถิติในอดีตที่ค่อนข้างน่าเชื่อถือ หนึ่งในผู้ที่สนับสนุนสถานกาณ์ดังกล่าวคือนักวิเคราะห์การเงินที่ชื่อว่า ฟลอเรียน กรัมเมส นักวิเคราะห์ทางการเงินและผู้อำนวยการบริหารบริษัท Midas Touch Consulting เขามองว่า แม้ราคาจะมีการฟื้นตัวเล็กน้อย ฤดูหนาาวคริปโตนั้นยังไม่สิ้นสุดลง การทะยานขึ้นไปที่ $35,000 จะเกิดขึ้นในอีก 6-12 เดือนข้างหน้า ซึ่งนี่จะเรียกว่าเป็น “การทะยานขึ้นเสริม” ที่อาจเกิดขึ้นก่อนแนวโน้มขาขึ้นที่ใหญ่กว่าในอนาคต
ในระยะยาว เขามองโลกในแง่ดี แต่เตือนว่า เนื่องจากตลาดคริปโตเป็นตลาดที่มีความสัมพันธ์กับตลาดหุ้นโดยตรง เราต้องเตรียมตัวสำหรับการเบี่ยงเบนที่ไม่ใช่แค่ในทางขาขึ้น แต่ยังรวมถึงขาลงที่ช่วงปัจจุบันด้วย
ผู้เชี่ยวชาญรายนี้เคยทำนายว่า BTC จะขยับขึ้นไปที่ $100,000 ในไตรมาสแรกของปี 2022 ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นจริง ดังนั้น การคาดการณ์ของเขารวมถึงการคาดการณ์อื่น ๆ ควรจะรับฟังไว้อย่างระมัดระวังในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน
ผู้มองโลกในแง่ดีมากที่สุดในสัปดาห์ที่แล้วเป็นนักวิเคราะห์ชื่อดังที่มีชื่อเล่นว่า PlanB และเป็นผู้พัฒนาโมเดล Stock-to-Flow ที่โด่งดัง เขาเคยทำนายวันที่ทั้งหุ้นสหรัฐฯ และบิทคอยน์จะขยับถึงระดับสูงสุดใหม่ในประวัติศาสตร์ “บางคนกลัวเรื่องเศรษฐศาสตร์มหภาค ความสัมพันธ์ระหว่างบิทคอยน์กับตลาดหุ้น ฯลฯ” เขาเขียนในทวิตเตอร์ “ความเห็นของผมก็คือ S&P500 จะอยู่ในช่วง $5,000-$6,000 ในช่วง 5 ปีข้างหน้า และบิทคอยน์จะอยู่ที่ระหว่าง $100,000 และ $1 ล้านดอลลาร์”
แน่นอนว่าแนวโน้มนั้นดีเยี่ยม แต่ทั้ง PlanB และฟลอเรียน กรัมเมส ต่างเคยทำนายผิดพลาดมาแล้วทั้งคู่ ดังนั้น การคาดการณ์ของพวกเขารวมถึงของคนอื่น ๆ จึงต้องพิจารณาอย่างระมัดระวัง สิ่งเดียวที่ยังคงเป็นจริงอยู่ ณ ขณะที่เขียนบทวิเคราะห์ฉบับนี้ (ช่วงเย็นวันศุกร์ที่ 28 กรกฎาคม) คือ บิทคอยน์ยังคงซื้อขายอยู่ที่บริเวณ $23,900 โดยมีมูลค่ารวมในตลาดคริปโตอยู่ที่ $1.098 ล้านล้านดอลลาร์ ($1.026 เมื่อหนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้า) และดัชนี Crypto Fear & Greed ยังคงอยู่ในโซนความกลัว (Fear) ที่ 39 จุด (33 จุดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว)
กลุ่มนักวิเคราะห์ NordFX
หมายเหตุ: เนื้อหาดังกล่าวไม่ควรยึดถือเป็นคำแนะนำในการลงทุนหรือเป็นคำปรึกษาในการซื้อขายในตลาดการเงิน โดยเนื้อหาข้างต้นเป็นไปเพียงเพื่อจุดประสงค์ในการให้ข้อมูลเท่านั้น การซื้อขายในตลาดการเงินมีความเสี่ยงและอาจทำให้เกิดการสูญเสียเงินฝากได้
กลับ กลับ