บทวิเคราะห์ฟอเร็กซ์และคริปโตเคอเรนซีประจำวันที่ 5 - 9 กันยายน 2022

EUR/USD: สัปดาห์ที่ค่อนข้างน่าเบื่อ

  • สัปดาห์ที่แล้วเป็นสัปดาห์ที่ค่อนข้างน่าเบื่อ สถิติเศรษฐกิจซึ่งประกาศระหว่างวันที่ 30 สิงหาคม ถึง 2 กันยายน แม้จะมีตัวเลขที่ค่อนข้างดีแต่ก็ใกล้เคียงกับการคาดการณ์ของตลาด เช่น ดัชนีราคาผู้บริโภคของเยอรมนีอยู่ที่ 8.8% จากการคาดการณ์ตลาดที่ 8.8% ดัชนีราคาผู้บริโภคในยูโรโซนอยู่ที่ 9.1% จากการคาดการณ์ที่ 9.0% ดัชนีกิจกรรมทางธุรกิจในภาคการผลิต (PMI) ของสหรัฐฯ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงเดือนที่ผ่านมา โดยอยู่ที่ 52.8 (ตัวเลขคาดการณ์คือ 52.0) และจำนวนตำแหน่งงานใหม่นอกภาคการเกษตรของอเมริกา (NFP) ไม่สูงกว่าการคาดการณ์มากนักเช่นกัน อยู่ที่ 315K จาก 300K ผลก็คือ EUR/USD ขยับตามเส้นคู่ขนานที่ 1.0000 ตลอดห้าวันที่ผ่านมา มีความผันผวนอยู่ในกรอบ 0.9910-1.0078 และปิดตลาดที่ระดับ 0.9955

    คาดว่าตลาดจะมีความคึกคักมากขึ้นในสัปดาห์หน้านี้ วันสำคัญแน่นอนว่าจะเป็นวันพฤหัสบดีที่ 8 กันยายน ซึ่งธนาคารกลางยุโรปจะตัดสินใจกำหนดอัตราดอกเบี้ยและกล่าวแสดงความเห็นเกี่ยวกับนโยบายทางการเงิน อัตราเงินเฟ้อในยูโรโซนเพิ่มมากขึ้นในเดือนสิงหาคมจาก 8.9% เป็น 9.1% ดังนั้น ผู้เชี่ยวชาญหลายคน เช่น นักยุทธศาสตร์จาก Nordea เครือการเงินระหว่างประเทศจึงเชื่อว่า ทางการยุโรปจะขึ้นดอกเบี้ย 75 จุดพื้นฐานในคราวเดียว

    “ตลาดยังไม่เก็งการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ 75 จุดพื้นฐานอย่างโดยสมบูรณ์ และน้ำเสียงในงานแถลงข่าวก็น่าจะเป็นท่าทีสายเหยี่ยว (hawkish หรือนโยบายที่เน้นการลดสภาพคล่องในระบบ)” เขียนโดยนักเศรษฐศาสตร์ของ Nordea “เราคาดว่าท่าทีตอบโต้แรกจากตลาดจะเป็น ผลตอบแทนพันธบัตรที่สูงขึ้น ค่าสเปรดพันธบัตรที่กว้างขึ้น และเงินยูโรแข็งค่าขึ้น”

    ถ้าต้องพูดถึงการคาดการณ์โดยเฉลี่ย ณ ขณะที่เขียนบทวิเคราะห์ฉบับนี้ในช่วงเย็นวันศุกร์ที่ 2 กันยายน ชี้ว่า 50% ของผู้เชี่ยวชาญโหวตให้คู่ EUR/USD ขยับลงทิศใต้ในอนาคตอันใกล้ ส่วน 35% ให้แนวโน้มขาขึ้น ด้าน 15% ที่เหลือรอให้เทรนด์ขยับออกด้านข้างต่อไป ผลการวิเคราะห์อินดิเคเตอร์บนกรอบ D1 ให้สัญญาณที่ชัดเจนยิ่งกว่า โดยทั้งอินดิเคเตอร์เทรนด์และออสซิลเลเตอร์ 100% ชี้ทิศทางขาลง อย่างไรก็ดี มี 10% ของออสซิลเลเตอร์ที่ชี้ว่าราคาอยู่ในโซนที่มีแรงขายมากเกินไปแล้ว (oversold)

    เป้าหมายตลาดหมีที่ใกล้ที่สุดของคู่ EUR/USD อยู่ในโซน 0.9900-0.9910 ทั้งนี้ กรอบที่ 0.9900-0.9930 ก็เป็นโซนแนวรับ/แนวต้านที่สำคัญของปี 2002 นอกจากระดับคู่ขนานที่ 1.0000 ถ้ายูโรแข็งค่าขึ้น เป้าหมายแรกจะเป็นการพยายามพิชิตแนวต้านที่ 1.0030 หลังจากนั้น ราคาจะต้องฝ่าระดับ 1.0080 ให้สำเร็จ และจะขึ้นไปพักตัวที่ 1.0100-1.0280 โดยมีเป้าหมายถัดไปคือโซน 1.0370-1.0470

    สำหรับกิจกรรมที่สำคัญในสัปดาห์นี้ นอกเหนือจากการประชุมของธนาคารกลางยุโรป เราอาจเน้นการประกาศสถิติค้าปลีกในยูโรโซนในวันจันทร์ที่ 5 กันยายน ซึ่งเป็นวันหยุดในสหรัฐฯ เนื่องในวันแรงงาน เรายังฟังการประกาศดัชนีกิจกรรมทางธุรกิจ (ISM) ในภาคบริการของสหรัฐฯ ในวันอังคารที่ 6 กันยายน และดัชนี GDP ในเยอรมนีและยูโรโซนในวันพุธ ซึ่ง นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารเฟดมีกำหนดจะกล่าวแถลง ในวันเดียวกันนั้นจะมีการประกาศอัตราการว่างงานในสหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน

GBP/USD: สู่ราคาต่ำสุดในรอบ 37 ปี

  • เราเคยตั้งชื่อบทวิเคราะห์คู่ GBP/USD ว่า "การคาดการณ์ที่มืดมนของเงินปอนด์เป็นจริงต่อเนื่อง” เมื่อสองสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งหัวข้อดังกล่าวฟังดูเป็น “ภาพรวมระยะยาวที่ย่ำแย่มาก” ในสัปดาห์นี้เราก็ไม่สามารถดีใจได้เช่นกัน เงินปอนด์ยังคงเป็นสกุลเงินที่อ่อนแอที่สุดในกลุ่มประเทศ G7 ซึ่งได้รับผลกระทบมาจากแนวโน้มเศรษฐกิจอังกฤษที่เลวร้ายยิ่งขึ้น

    หอการค้าสหราชอาณาจักร (BCC) ประมาณการว่า สหราชอาณาจักรกำลังอยู่ในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวและภาวะเงินเฟ้อที่แตะ 14% ในปีนี้ Goldman Sachs ชี้ว่า เงินเฟ้ออาจขยับถึง 22% ภายในสิ้นปี 2023 ส่วน Financial Times ก็ระบุว่า ครัวเรือนอังกฤษที่ตกอยู่ในภาวะความยากจนทางพลังงานจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นสองเท่าเป็น 12 ล้านคน ในเดือนมกราคม และนายกรัฐมนตรีคนใหม่จะต้องดำเนินมาตรการเร่งด่วนเพื่อหลีกเลี่ยงหายนะทางเศรษฐกิจ แต่จะเป็นมาตรการอะไร? ดูเหมือนยังไม่มีใครรู้คำตอบ

    ในสถานการณ์เช่นนี้ เราเข้าใจได้ว่าตลาดมีความกังวลเกี่ยวกับผู้ชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ซึ่งจะประกาศให้ทราบในวันจันทร์ที่ 5 กันยายน หลังจากนายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน ลาออกจากตำแหน่งจากข่าวฉาวเรื่องเพศกับหนึ่งในสมาชิกในคณะรัฐมนตรีของเขา

    ท่ามกลางสถานการณ์ที่มืดมน เงินปอนด์อ่อนค่าลงตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมเป็นต้นมา โดยราคาตัดทะลุแนวรับที่ 1.1500 และทำระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปี (1.1495) เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ก่อนที่จะปิดตลาดสูงกว่าเล็กน้อยที่บริเวณ 1.1510 ด้านผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ (55%) เชื่อว่า GBP/USD จะขยับลงต่อไปในช่วงหลายสัปดาห์ข้างหน้า และจะไม่หยุดแม้ว่าธนาคารอังกฤษจะสั่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 75 จุดพื้นฐานในวันที่ 15 กันยายน โดยมี 30% ของผู้เชี่ยวชาญที่หวังให้ราคาย่อปรับฐานและ 15% มีท่าทีเป็นกลาง

    ในส่วนของนักยุทธศาสตร์จาก UOB Group มีความเห็นว่า แนวรับที่สำคัญถัดไปหลัง 1.1500 จะเป็นราคาต่ำสุดเดือนมีนาคม 2020 “อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในระยะสั้นมีแรงขายสูงมากเป็นอย่างยิ่ง และยังไม่มีความชัดเจนว่า แนวรับสำคัญนี้จะเอื้อมถึงได้ไหมในครั้งนี้” สำหรับการปรับฐานขึ้นไปทิศเหนือนั้น UOB เชื่อว่า การที่ราคาตัดขึ้นเหนือ 1.1635 ได้เท่านั้นจึงจะเป็นสัญญาณว่าเงินปอนด์ไม่พร้อมที่ดิ่งลงอีกต่อไป

    ทั้งนี้ ราคาต่ำสุดของเดือนมีนาคม 2020 (1.1409-1.1415) นั้นเป็นเวลาเดียวกันกับราคาต่ำสุดที่เคยทำไว้เมื่อ 37 ปีที่แล้วเช่นกัน คู่ GBP/USD เคยขยับลงมาที่ 1.0800 ในปี 1985 เท่านั้น ส่วนฝั่งกระทิงจะเจอกับแนวต้านในโซนและระดับที่ 1.1585-1.1625, 1.1700, 1.1750, 1.1800-1.1825, 1.1900 และ 1.2000 และการอ่านอินดิเคเตอร์บนกรอบ D1 ให้ผลลัพธ์คล้ายกันกับของคู่ EUR/USD: ซึ่ง 100% ให้สัญญาณสีแดง อย่างไรก็ดี มีออสซิลเลเตอร์จำนวนหนึ่งในสามที่ให้สัญญาณว่าราคา oversold ซึ่งหลายครั้งมักแปลว่าอาจเกิดการย่อตัวปรับฐานได้

    ปฏิทินเศรษฐกิจของอังกฤษในสัปดาห์นี้จะมีการประกาศดัชนี PMI ภาคบริการและภาคการผลิต และดัชนี Composite PMI ในวันจันทร์ที่ 5 และอังคารที่ 6 กันยายน ส่วนในวันพุธที่ 7 กันยายนจะมีการประกาศรายงานเงินเฟ้อ โดยจะเป็นเพียงการแจ้งข้อมูล และไม่มีการตัดสินใจที่สำคัญใด ๆ ในวันดังกล่าว

USD/JPY: สูงขึ้น สูงขึ้น และสูงขึ้น

  • นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ (60%) ได้คาดการณ์ว่าราคาจะทดสอบระดับสูงสุดของวันที่ 14 กรกฎาคมอีกครั้ง และราคาจะไปที่ 139.40 ในสัปดาห์ที่แล้ว และก็เกิดขึ้นจริง โดย USD/JPY ขยับขึ้นไปที่ 140.79 จึงทำระดับสูงสุดในรอบ 24 ปี และปิดตลาดท้ายสัปดาห์ที่ 140.20

    สาเหตุที่ราคาทำสถิติใหม่ยังคงเหมือนเดิม คือ ความไม่สอดคล้องกันระหว่างนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) และธนาคารกลางอื่น ๆ โดยเฉพาะธนาคารเฟดสหรัฐฯ ธนาคารกลางญี่ปุ่นยังคงมุ่งมั่นจะใช้นโยบายแบบผ่อนปรนทางการเงินสุดโต่งต่อไป ซึ่งวางเป้าว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศผ่านมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) และการคงอัตราดอกเบี้ยติดลบ (-0.1%) ความไม่สอดคล้องกันดังกล่าวเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลให้เงินเยนอ่อนค่าและคู่ USD/JPY ขยับขึ้น

    นักเศรษฐศาสตร์จาก Bank of America Global Research คาดการณ์ว่า USD/JPY จะคงระดับราคาสูงไปจนถึงการปรับฐานครั้งใหญ่ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2022 “เราคาดว่าคู่ USD/JPY จะปิดท้ายปี 2022 ที่ราคา 127” กล่าวโดยนักวิเคราะห์ “แต่ความอ่อนแอเชิงโครงสร้างของเงินเยนญี่ปุ่นน่าจะปรากฏขึ้นอีกครั้งในระยะยาว”

    ณ ขณะนี้ มีนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ (50%) เชื่อว่า คู่ USD/JPY จะขยับไปยังทิศเหนือต่อไป ยังดีที่ยังมีพื้นที่ให้ขยับขึ้นได้อีก โดยในอดีตเมื่อปี 1971 เงิน 1 ดอลลาร์เท่ากับ 350 เยน ทั้งนี้ มีผู้เชี่ยวชาญ 30% ที่คาดว่าฝั่งกระทิงจะหยุดพักบริเวณราคาสูงสุดที่ทำเอาไว้ และอีก 20% มองว่าจะมีการย่อตัวลงทิศใต้

    ในส่วนของอินดิเคเตอร์บนกรอบ D1 ผลการอ่านคล้ายกันกับคู่ก่อนหน้านี้ 100% ชี้ไปยังทิศเหนือ ในขณะที่ออสซิลเลเตอร์จำนวนหนึ่งในสามให้สัญญาณ overbought ด้านภารกิจหลักของฝั่งกระทิงคือการทำราคาสูงสุดใหม่ของวันที่ 2 กันยายน และขยับขึ้นไปเหนือ 140.80 และเป้าหมายถัดไปคือ 142.00 ด้านแนวรับอยู่ที่ระดับและโซน ได้แก่ 140.00, 138.35-139.05, 137.70, 136.70-137.00, 136.15-136.30, 135.50, 134.70, 134.00-134.25

    สำหรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ เราอาจให้ความสนใจกับการประกาศสถิติ GDP ของญี่ปุ่นในวันพฤหัสบดีที่ 8 กันยายนนี้

คริปโตเคอเรนซี: ความหวังทั้งหมดเพื่อ Ethereum

  • คู่ BTC/USD ขยับในกรอบแคบ ๆ ที่บริเวณ $21.330 มาเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ก่อนการกล่าวแถลงของ นายเจอโรม พาวเวลล์ เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม คำพูดของประธานเฟดท่านนี้ส่งแรงสะเทือนต่อสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง ทำให้ตลาดหุ้นและคริปโตร่วงลง อย่างไรก็ดี แม้ว่าดัชนีหุ้น S&P500, Dow Jones และ Nasdaq จะดิ่งลงต่อเนื่องในสัปดาห์ที่ผ่านมา บิทคอยน์กลับยังคงปักหลักอยู่ในบริเวณ $20,000 ($19,518-20,550) และ Ethereum ก็ทำราคาสูงขึ้นเพื่อรอการเปลี่ยนไปใช้กลไก PoS

    ดังนั้น แทนที่จะได้เห็นความสัมพันธ์ของคู่ BTC/USD กับหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีตามปกติแลล้ว เรากลับสังเกตเห็นความสัมพันธ์ของบิทคอยน์กับคู่ฟอเร็กซ์อย่าง EUR/USD ในช่วงไม่กี่วันนี้ โดยราคาขยับไซด์เวยส์ตามแนวคู่ขนานที่ 1.0000 โดยมีการฟื้นตัวเล็กน้อยเมื่อวันศุกร์ที่ 2 กันยายน หลังการประกาศสถิติอัตราว่างงานในสหรัฐฯ แต่ราคาก็ไม่ขยับออกนอกกรอบ และบิทคอยน์ยังคงซื้อขายที่ $19,930 ณ ขณะที่เขียนบทรีวิวฉบับนี้ ด้านมูลค่ารวมตามราคาตลาดคริปโลดลงต่ำกว่าระดับที่สำคัญทางจิตวิทยที่ $1 ล้านล้านดอลลาร์ โดยอยู่ที่ $0.976 ล้านล้าน ($0.991 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ก่อนหน้า) ดัชนี Crypto Fear & Greed Index ขยับลดลงอีก 2 จุดในรอบเจ็ดวัน จาก 27 เหลือ 25 และอยู่ในโซนความกลัวขั้นสุด (Extreme Fear)

    ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีแค่ปี 2018 เท่านั้นที่นักลงทุนประสบกับภาวะขาดทุนหนักกว่าครั้งนี้ และแรงกดดันของตลาดคริปโตยังคงไม่แผ่วเบา โดยหลักแล้วเป็นผลมาจากนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่เข้มงวดขึ้น CoinShares ระบุว่า  ปริมาณซื้อขายผลิตภัณฑ์การลงทุนในคริปโตเคอเรนซีลดลงสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2020 กระแสเงินที่ไหลออกยังดำเนินต่อไปเป็นเวลาสามสัปดาห์ติดต่อกัน “ในขณะที่ [...] ความเคลื่อนไหวนี้ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากผลกระทบตามฤดูกาล เรายังได้เห็นความเฉื่อยชาที่ยืดเยื้อหลังจากแนวโน้มขาลงล่าสุด ดูเหมือนว่าความระมัดระวังนี้มีความเกี่ยวข้องกับท่าทีสายเหยี่ยวของธนาคารเฟด” ผู้เชี่ยวชาญอธิบาย นอกจากนี้ นักเก็งกำไรและ “นักท่องเที่ยว” ขาจรที่เป็นผู้ถือ BTC ระยะกลาง (มีประวัติถือเหรียญไม่เกิน 5 เดือน) ก็เริ่มทยอยออกจากตลาดนี้

    กระแสความคลั่งไคล้ในคริปโตเริ่มแผ่วลง บิทคอยน์นั้นเป็น “สินทรัพย์เพื่อเก็งกำไรโดยสมบูรณ์โดยไม่มีการใช้ประโยชน์ใด ๆ” เนื่องจากมันขาดความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี กล่าวโดยจัสติน บอนส์ ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการด้านการลงทุนของกองทุน Cyber Capital เขาเคยใช้ผู้สนับสนุนบิทคอยน์ตัวยง แต่เปลี่ยนมุมมองและเรียกมันว่าเป็น “หนึ่งในคริปโตเคอเรนซีที่แย่ที่สุดในโลก” โลกก้าวไปข้างหน้า โดยเคยมีการพูดกันว่า ทองคำดิจิทัลจะกลายเป็นเทคโนโลยีที่ดีที่สุด สมมติฐานนี้แน่นอนว่ายังไม่เป็นจริงโดยสมบูรณ์ บิทคอยน์ไม่มีสมาร์ทคอนแทรค (smart contracts) ไม่มีเทคโนโลยีความเป็นส่วนตัว หรือการบุกเบิกวงการในแง่ขนาด” บอนส์กล่าวอธิบาย

    “คุณสมบัติทางเศรษฐกิจของบิทคอยน์ก็อ่อนแอมากเช่นกัน บิทคอยน์ต้องแข่งขันกับสกุลเงินคริปโตที่สามารถมีอัตราเงินเฟ้อติดลบ มีความสามารถในการจัดเก็บและใช้ประโยชน์สูงอย่าง ETH” “คนส่วนใหญ่ลงทุนในบิทคอยน์เพราะว่าพวกเขาเชื่อว่าราคามันจะขยับขึ้นเท่านั้น พวกเขาทำเหมือนกับหลักการของคนที่เข้าร่วมในกลโกงแชร์ลูกโซ่” ผู้ก่อตั้ง Cyber Capital เชื่ออย่างนั้น

    อูมาร์ ฟารูค ประธานแผนกบล็อกเชน Onyx แห่ง JPMorgan เครือบริษัทด้านการเงินขนาดใหญ่ ก็วิพากษ์วิจารณ์ตลาดคริปโตอย่างหนักหน่วงเช่นกัน เขามองว่าสินทรัพย์คริปโตในตลาดส่วนใหญ่นั้นเป็น “ขยะ” ยกเว้นเหรียญไม่กี่สิบสกุลเงิน และตัวเลือกจริงสำหรับการใช้งานสกุลเงินดิจิทัลยังไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเพียงพอ เขาให้ข้อสังเกตว่า กฎระเบียบพัฒนาล่าช้ากว่าการเติบโตในอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญทำให้สถาบันการเงินหลายแห่งไม่อยากเข้าร่วมในตลาดนี้ ผู้บริหาร Onyx รายนี้เชื่อด้วยว่า เทคโนโลยีในอุตสาหกรรมคริปโตยังไม่สุกงอมเพียงพอที่จะใช้งานเพื่อกิจกรรม เช่น การดำเนินธุรกรรมมูลค่าสูงระหว่างสถาบันต่าง ๆ หรือการให้บริการผลิตภัณฑ์การฝากเงินธนาคารเป็นเหรียญ

    เควิน โอ’เลียรี นักลงทุนและพิธีกรเชื่อเช่นกันว่า ราคาบิทคอยน์กำลังชะลอตัว เพราะไม่มีหน่วยงานไหนที่อนุญาตให้นักลงทุนรายสถาบันเข้าลงทุนในกลุ่มธุรกิจนี้ “คุณจำเป็นต้องใช้เงินหลายล้านล้านดอลลาร์ที่ผู้มีอำนาจทางเศรษฐกิจต้องบริหารจัดการ แต่พวกเขาจะไม่ซื้อบิทคอยน์เพราะมันไม่มีการกำกับดูแล” “คนเราลืมไปว่า 70% ของความมั่งคั่งบนโลกนี้เป็นเงินเกษียณและกองทุนความมั่งคั่ง หากพวกเขาไม่ได้รับอนุญาตให้ซื้อสินทรัพย์ประเภทนี้ พวกเขาก็จะไม่เดิมพันกับมัน”

    อย่างไรก็ดี นักลงทุนรายนี้ชื่อว่า เราจะได้เห็นการกำกับดูแลเริ่มขึ้นภายในสองหรือสามปี ในระหว่างนี้ หากไม่มีกรอบการทำงานด้านระเบียบต่าง ๆ คริปโตเคอเรนซีก็จะไม่ถือว่าเป็นประเภทสกุลเงินอย่างเต็มตัวได้ และบิทคอยน์ก็ไม่น่าจะขยับขึ้นเหนือ $25,000

    คำคาดการณ์ของ จัสติน เบนเน็ตต์ นักวิเคราะห์ชื่อดังยังดูมืดมนยิ่งกว่า เขามองว่า กระแสการเทขายล่าสุดในตลาดหุ้นจะนำไปสู่ราคาขาลงของบิทคอยน์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ “การขายหุ้นที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ยืนยันกับดักตลาดกระทิงครั้งใหญ่ และมีแนวโน้มที่จะนำไปซึ่งช่วงขาลงที่ยาวนาน กล่าวได้ว่า S&P500 จะขยับลดลงประมาณ 16% และ BTC 30%-40% ลงไปที่ระดับ $12,000”

    “BTC กำลังทดสอบเส้นเทรนด์ไลน์ปี 2015 อีกครั้ง จงอย่าเชื่อผู้ที่มองว่ามันเป็นปรากฏการณ์ที่ดี ไส้เทียนที่ยาวด้านล่างสุดของปี 2015 และ 2020 แสดงถึงอุปสงค์ที่สูงและควรจับตาดูให้ดี ในครั้งนี้ เราจะได้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในทางตรงกันข้าม” เบนเน็ตต์มองว่า เป้าหมายของตลาดหมีคือระดับสูงสุดก่อนช่วงโควิดที่ $3,400

    ในส่วน Ethereum เบนเน็ตต์เชื่อว่า เหรียญนี้กำลังก่อตัวส่วนด้านบนของรูปแบบ “head and shoulders” บนกราฟ โดยมีเป้าหมายขาลงที่บริเวณ $1,000 “ไหล่ด้านขวาของกราฟรูปแบบนี้เริ่มปรากฏขึ้น และถ้า ETH ขยับลงต่ำกว่า $1,500 จะเป็นสัญญาณยืนยัน”

    นักวิเคราะห์ Bloomberg ให้คำคาดการณ์ที่คล้ายกัน พวกเขาทำนายเช่นกันว่า ETH จะขยับลงต่ำกว่า $1,000 แม้ว่าราคาจะดีดกลับจากราคาต่ำสุดของวันที่ 29 สิงหาคม ทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากความผันผวนของราคา Ethereum ในสภาพตลาดหมี “อินดิเคเตอร์ทางเทคนิคของโมเมนตัมและเทรนด์ราคาแสดงให้เห็นว่า แนวโน้มขาลงของเหรียญนี้จากระดับสูงสุดที่บริเวณ $2,000 เมื่อช่วงกลางเดือนสิงหาคมลงไปยังโซนปัจจุบันที่ $1,500 น่าจะดำเนินต่อไป” อ้างอิงจากรายงานของ Bloomberg

    Ethereum ทำผลงานได้ดีกว่าบิทคอยน์ในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากบรรยากาศในชุมชน ETH ยังคงสดใสเนื่องด้วยการบูรณาการเครือข่ายที่จะมาถึง อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้ไม่ได้แปลว่าสินทรัพย์มีภูมิคุ้มกันต่อสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจในเชิงลบที่เกิดขึ้นล่าสุด

    Ethereum มีแนวรับที่ดูมีศักยภาพเมื่อดูเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ระยะ 50 วัน อย่างไรก็ดี หลังจากตลาดดิ่งลงมาเมื่อวันที่ 25-26 สิงหาคม เหรียญนี้ก็ยังคงอยู่ต่ำกว่าแนวรับดังกล่าว ซึ่งบ่งชี้ถึงความเสี่ยงที่ราคาจะทรุดลงต่อและทดสอบแนวรับที่บริเวณ $1,000 อีกครั้ง

    และส่งท้ายบทรีวิวฉบับนี้ด้วยทัศนคติดี ๆ กันบ้าง ผู้เชี่ยวชาญจำนวนหนึ่งชี้ว่า หากมีการเปลี่ยนผ่านไปยังเครือข่าย Ethereum 2.0 และการบังคับใช้กลไก Proof-of-Stake เป็นไปอย่างราบรื่น Ethereum อาจราคากระโดดขึ้น และช่วยดันตลาดคริปโต รวมถึงคู่แข่งอย่างบิทคอยน์ให้ขยับขึ้นด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ การอัปเดตเครือข่าย Ethereum มีกำหนดในช่วงวันที่ 15-20 กันยายน ดังนั้น เราจะได้ทราบกันในเร็ว ๆ นี้ว่าคำคาดการณ์ของใครจะถูกต้อง

 

กลุ่มนักวิเคราะห์ NordFX

 

หมายเหตุ: เนื้อหาดังกล่าวไม่ควรยึดถือเป็นคำแนะนำในการลงทุนหรือเป็นคำปรึกษาในการซื้อขายในตลาดการเงิน โดยเนื้อหาข้างต้นเป็นไปเพียงเพื่อจุดประสงค์ในการให้ข้อมูลเท่านั้น การซื้อขายในตลาดการเงินมีความเสี่ยงและอาจทำให้เกิดการสูญเสียเงินฝากได้

กลับ กลับ
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ นโยบายคุกกี้ ของเรา