EUR/USD: นกพิราบของธนาคารเฟดกลายเป็นเหยี่ยวอีกครั้ง
- หลังจากการประชุมของธนาคารเฟดสหรัฐฯ และธนาคารกลางยุโรป ดัชนีดอลลาร์ DXY ลดลงมายังระดับต่ำสุดใหม่ในรอบ 9 เดือนที่ 100.80 เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นหลังจากสัญญาณสายพิราบจาก Jerome Powell ประธานธนาคารเฟด ผู้กล่าวยอมรับเป็นครั้งแรกในช่วงการแถลงข่าวหลังการประชุมว่า “กระบวนการเงินฝืดเริ่มขึ้นแล้ว” ตลาดตัดสินว่านี่คือจุดเริ่มต้นของจุดจบ หรือคลื่นกระทิงใกล้จะถึงจุดสิ้นสุดแล้วนั่นเอง
แต่สัญญาณที่ว่านั้นไม่มีความเฉพาะเจาะจงอะไร โดยเฉพาะ Jerome Powell ประธานธนาคารเฟดสหรัฐฯ ได้กล่าวแถลงที่งาน Washington Economic Club ว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดของสหรัฐฯ อาจสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ และอาจจะสูงกว่าการคาดการณ์ของ Fed ทั้งนี้ ทัศนคติสายเหยี่ยวของ Powell ได้รับเสียงสนับสนุนจาก John Williams ประธานธนาคารเฟดสาขานิวยอร์ก (FRB), Christopher Waller กรรมการบริหารธนาคารเฟด และ Neil Kashkari ประธานธนาคารเฟดสาขามินนิอาโปลิส ซึ่งคนสุดท้ายกล่าวว่า Fed ยังมีงานต้องทำอีกมากเพื่อรับมือกับภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งอาจหมายความว่าอัตราดอกเบี้ยจะปรับเพิ่มขึ้นจากระดับปัจจุบันที่ 4.75% และปรับขึ้นไปจนถึง 5.40% หรือสูงกว่า และอยู่ที่ระดับสูงเป็นเวลาระยะหนึ่ง
ในครั้งนี้ ตลาดตัดสินว่ามันไม่คุ้มค่าที่จะรอให้มีการผ่อนคลายนโยบายทางการเงินตั้งแต่เนิ่น ๆ และดอลลาร์ก็เริ่มแข็งค่า ดัชนี DXY ทำระดับสูงสุดในรอบห้าสัปดาห์ที่ 103.96 เมื่อวันอังคารที่ 7 กุมภาพันธ์ แต่มันไม่สามารถขยับขึ้นไปได้ เพราะต้องเจอกับแนวต้านที่ค่อนข้างแข็งแกร่งที่เคย 1) เป็นเส้น SMA 50 2) เป็นเส้นเทรนด์ไลน์ตั้งแต่ปี 2021 3) กรอบด้านบนของช่องราคาขาลงซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2022 รวมถึงแนวต้านแนวนอนที่โซน 104.00
ช่วงห้าวันที่ผ่านมาไม่ค่อยมีการประกาศสถิติ แต่เต็มไปด้วยคำแถลงจากบุคคลสำคัญจากทั้งอเมริกาและยุโรป (การประชุมของผู้นำอียูจัดขึ้นเมื่อวันที่ 9-10 กุมภาพันธ์) สัปดาห์หน้าจะมีการรายงานสถิติเศรษฐกิจหลายชุดด้วยกัน โดยสถิติผู้บริโภคของสหรัฐฯ เดือนมกราคม (CPI) จะประกาศในวันอังคารที่ 14 กุมภาพันธ์ การคาดการณ์ชี้ว่าราคาได้เพิ่มขึ้น 0.4-0.5% ในเดือนมกราคม (0.1% ในเดือนธันวาคม) ในขณะเดียวกัน สถิติรายปีอาจออกมาต่ำกว่าตัวเลขครั้งก่อนหน้า (6.2% เทียบกับ 6.5%) หากดัชนี CPI บ่งชี้ว่าภาวะเงินเฟ้อคงที่ นี่จะช่วยยืนยันท่าทีสายเหยี่ยวล่าสุดของธนาคารเฟดและจะช่วยหนุนเงินดอลลาร์ (นักเศรษฐศาสตร์จาก Scotiabank เชื่อว่า EUR/USD อาจขยับลงมาต่ำกว่า 1.0500-1.0600) ในกรณีที่ภาวะเงินเฟ้อลดลงอย่างต่อเนื่อง ดอลลาร์จะเจอแรงกดดันอย่างหนัก
หลังจากทำระดับสูงสุดที่ 1.1032 เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ (ระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2022) คู่ EUR/USD กลับทิศทางและปิดท้ายตลาดที่ 1.0679 โดยนักวิเคราะห์ 35% คาดว่าดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้นต่อ ณ ขณะที่เขียนบทวิเคราะห์ฉบับนี้ (ในช่วงเย็นวันศุกร์ที่ 10 กุมภาพันธ์) 20% ของนักวิเคราะห์คาดว่ายูโรจะแข็งค่า และ 45% ที่เหลือมีท่าทีเป็นกลาง ภาพรวมจากอินดิเคเตอร์บนกรอบ D1 ต่างออกไป ในที่นี่มีออสซิลเลเตอร์ 85% ที่ให้สัญญาณสีแดง (หนึ่งในสามชี้ว่าราคาอยู่ในภาวะ oversold) ในขณะที่ 15% ให้สัญญาณสีเขียว ในส่วนของอินดิเคเตอร์เทรนด์มี 40% แนะนำให้เข้าซื้อ และ 60% ให้ขาย ด้านระดับแนวรับที่ใกล้ที่สุดของคู่นี้อยู่ในโซน 1.0670 จากนั้นตามมาด้วยโซนและระดับ 1.0620, 1.0560, 1.0500, 1.0440 และ 1.0370-1.0400 สำหรับฝั่งกระทิงจะเจอกับแนวต้านที่บริเวณ 1.0700-1.0710, 1.0745-1.0760, 1.0800, 1.0865, 1.0895-1.0925, 1.0985-1.1030, 1.1110 หลังจากนั้นราคาจะพยายามยืนเหนือกรอบ 1.1260-1.1360 ให้สำเร็จ
สำหรับเหตุการณ์ที่สำคัญในสัปดาห์ที่จะถึงนี้ นอกเหนือจากการประกาศสถิติเงินเฟ้อที่กล่าวไปแล้วข้างต้น เรายังให้ความสนใจกับการรายงานสถิติ GDP เบื้องต้นของยูโรโซนในวันอังคารที่ 14 กุมภาพันธ์ (และแน่นอน อย่าลืมด้วยว่าวันที่ 14 กุมภาพันธ์นั้นเป็นวันวาเลนไทน์ วันหยุดแห่งความโรแมนติกที่เฉลิมฉลองกันทั่วโลก เป็นวันที่คนสารภาพรักต่อกันมาเป็นเวลากว่า 1,500 ปี) ในวันพุธที่ 15 กุมภาพันธ์จะมีการประกาศดัชนีค้าปลีก และดัชนีการจ้างงานสหรัฐฯ จะประกาศในวันพฤหัสบดีที่ 16 กุมภาพันธ์ รวมถึงดัชนีราคาผู้ผลิตสหรัฐฯ (PPI) ของเดือนมกราคมด้วยเช่นกัน
GBP/USD: สัปดาห์ที่จะถึงนี้: รับประกันความผันผวน
- เงินปอนด์พยายามที่จะฟื้นส่วนที่ขาดทุนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยคู่เงิน GBP/USD ดีดตัวขึ้นมาจากระดับที่ 1.1961 เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ (ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม) โดยขยับถึงระดับสูงสุดในรอบสัปดาห์ที่ 1.2193 เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ จากนั้นเงินปอนด์ก็เริ่มอ่อนค่าลงเทียบดอลลาร์และสกุลเงินอื่น ๆ ในดัชนี DXY ส่งผลให้ GBP/USD ปิดตลาดท้ายสัปดาห์ที่ 1.2055 และอยู่ที่บริเวณที่ 1.2050
ข่าวเบื้องหลังยังคงดูกำกวมและไม่ชัดเจน ปัญหาทางเศรษฐกิจยังคงส่งแรงกดดันต่อเงินปอนด์ ทั้งนี้ ในการต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ ธนาคารแห่งชาติอังกฤษ (BoE) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 50 จุดพื้นฐานเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์เป็น 4.00% แต่ในขณะเดียวกันก็มีท่าทีที่อ่อนโยนขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ส่งผลให้เงินปอนด์อ่อนค่าลงจากระดับสูงสุดนับตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายน 2022 (1.2450) มากกว่า 250 จุด
ผู้ร่วมตลาดเชื่อว่า BoE อาจกลัวว่าจะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างฉับพลันอีกครั้ง เกิดเป็นคำถามใหม่ว่าการขึ้นดอกเบี้ยจะส่งผลต่อภาวะเงินเฟ้ออย่างไร แต่มันก็อาจกระตุ้นให้เศรษฐกิจเผชิญกับภาวะวิกฤติได้ โดยเฉพาะในภาคการก่อสร้าง สถิติดัชนีกิจกรรมทางธุรกิจเดือนมกราคมในภาคการก่อสร้างของอังกฤษที่รายงานเมื่อวันจันทร์ที่ 6 มกราคม ชี้ว่าดัชนีลดลงจาก 48.8 เหลือ 48.4 คะแนน สำนักงานสถิติแห่งชาติของสหราชอาณาจักรได้รายงานเมื่อวันศุกร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ว่า เศรษฐกิจประเทศโดยรวมในเดือนธันวาคมหดตัวลง -0.5% จากที่คาดการณ์แค่ -0.3% (โดยเศรษฐกิจขยายตัว +0.1% ในเดือนพฤศจิกายน) ดัชนี GDP ค้างอยู่ที่ 0% ใน Q4 หลังจากลดลงมา -0.2% ในไตรมาสก่อนหน้า และค่า GDP ลดลงจาก +1.9% เหลือ +0.4% ในส่วนตัวเลขรายปี
ท่ามกลางสถานการณ์ดังกล่าว รายงานที่ประกาศชัยชนะและตัวเลขคาดการณ์ในแง่บวกจาก Jeremy Hunt รัฐมนตรีการคลังของอังกฤษฟังดูค่อนข้างแปลกประหลาด เขากล่าวว่า “สหราชอาณาจักรเป็นประเทศเศรษฐกิจที่เติบโตรวดเร็วที่สุดในกลุ่ม G7 ในปีที่แล้ว และหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้สำเร็จดี” มันแสดงให้เห็นว่า “เศรษฐกิจมีภูมิคุ้มกันมากกว่าที่หลายคนกังวล” และ “ถ้าหากเรายึดแผนในการลดภาวะเงินเฟ้อลงให้ได้ครึ่งหนึ่งในปีนี้” Jeremy Hunt กล่าวต่อ “เราจะมั่นใจได้ว่า เราจะได้เห็นแนวโน้มการเติบโตที่ดีที่สุดเหนือทุกประเทศในยุโรป”
นักยุทธศาสตร์จาก Commerzbank เห็นต่างออกไปจาก Jeremy Hunt โดยพวกเขาเชื่อว่า ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อในอนาคตของสหราชอาณาจักรยังคงมีอยู่ในระดับสูง ความเคลื่อนไหวและค่าดัชนีราคาผู้บริโภค ซึ่งจะประกาศในวันพุธที่ 15 กุมภาพันธ์จะช่วยให้เราเห็นความชัดเจน ค่า CPI เป็นตัวชี้วัดสำคัญที่จะกำหนดแนวทางนโยบายทางการเงินในอนาคตของธนาคารแห่งชาติอังกฤษ แน่นอนว่าสถิติภาคแรงงานซึ่งจะประกาศหนึ่งวันก่อนหน้าคือวันอังคารที่ 14 กุมภาพันธ์ และดัชนีค้าปลีกในสหราชอาณาจักรจะประกาศให้ทราบในวันที่ 17 กุมภาพันธ์นี้จะมีความสำคัญเช่นกัน
สถิติเศรษฐกิจมหภาคทั้งหลายเหล่านี้แน่นอนว่าจะเพิ่มความผันผวนให้กับคู่เงิน GBP/USD ในระหว่างนี้ นักวิเคราะห์ 40% คาดว่าเงินปอนด์จะอ่อนค่าลงต่อ ในขณะที่นักวิเคราะห์จำนวนเดียวกันยังไม่อยากให้คำคาดการณ์ และขอรอการประกาศดัชนีก่อน มีผู้เชี่ยวชาญเพียง 20% ที่โหวตว่าดอลลาร์จะแข็งค่าและคู่นี้จะขยับขึ้น ในส่วนของอินดิเคเตอร์เทรนด์บนกรอบ D1 ให้อัตราส่วนที่ 75% ต่อ 25% โดยฝ่ายสีแดงได้เปรียบ ทางด้านออสซิลเลเตอร์ สีแดงได้เปรียบถึง 100% แต่มี 10% ให้สัญญาณว่าราคาอยู่ในโซน oversold สำหรับระดับและโซนของคู่นี้อยู่ที่ 1.2025, 1.1960, 1.1900, 1.1800-1.1840 ทั้งนี้ หากราคาขยับขึ้นทิศเหนือ จะต้องเจอกับแนวต้านที่ระดับ 1.2085, 1.2145, 1.2185-1.2210, 1.2270, 1.2335, 1.2390-1.2400, 1.2430-1.2450, 1.2510, 1.2575-1.2610, 1.2700, 1.2750 และ 1.2940
USD/JPY: ประธาน BOJ คนใหม่ นโยบายเก่า
- เงินเยนญี่ปุ่น เช่นเดียวกันกับคู่แข่งของ DXY ต่างตอบสนองต่อทั้งคำแถลงสายเหยี่ยวจากฝั่งธนาคารเฟดสหรัฐฯ และความผันผวนของผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว อย่างไรก็ดี ความผันผวนที่พุ่งขึ้นสูงที่สุดเป้นข่าวจากคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นที่แต่งตั้งให้ Kazuo Uedo วัย 71 ปี ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติญี่ปุ่น (BOJ) คนใหม่
อดีตศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยโตเกียวท่านนี้เป็นผู้เชี่ยวชาญนโยบายทางการเงินที่มีชื่อเสียง เขาร่วมคณะกรรมการบริหารของ BOJ เมื่อ 25 ปีที่แล้วในเดือนเมษายน 1998 และอยู่จนถึงเดือนเมษายน 2005 Ueda เคยกล่าวไม่เห็นด้วยกับการละทิ้งนโยบายคงอัตราดอกเบี้ยเป็นศูนย์ของธนาคารกลางเมื่อปี 2000 และการที่เขาได้รับเลือกให้รับตำแหน่งนี้น่าจะเป็นเพราะความต้องการของรัฐบาลที่อยากเห็นผู้ว่าการธนาคารคนใหม่ที่จะไม่รีบจำกัดนโยบายทางการเงินแบบผ่อนปรนสุดโต่ง Ueda เองเคยกล่าวยืนยันเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ว่า นโยบายทางการเงินปัจจุบันนั้นไม่เพียงพอ และมีความจำเป็นที่จะต้องยึดแนวทางอย่างชัดเจนมากขึ้น
USD/JPY ปิดท้ายสัปดาห์ที่ 131.39 ซึ่งเป็นบริเวณที่ราคาเคยขยับไปถึงหลายครั้งตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2022 นักวิเคราะห์นส่วนใหญ่ (55%) มีความเห็นว่า เงินเยนอาจแข็งค่าขึ้นบ้างในช่วงระยะเวลาสามเดือน แต่ระยะเป้าหมายนั้นค่อนข้างกว้าง บางคนเชื่อว่าธนาคารเฟดจะกลับมาสู่ค่ายพิราบในที่สุด และจากนั้น USD/JPY จะสามารถขยับถึงโซน 120.00 ในขณะที่บางคนมองว่า 127.00-128.00 เป็นกรอบด้านล่างสุด
สำหรับในระยะสั้นมีผู้เชี่ยวชาญเพียง 20% ที่โหวตว่าราคาคู่นี้จะขยับลง 30% โหวตว่าราคาจะขยับขึ้น และ 50% ได้ตัดสินใจที่จะไม่ทำการคาดการณ์ใด ๆ ในส่วนของออสซิลเลเตอร์บนกรอบ D1 มี 80% ที่ชี้ไปยังทิศเหนือ 10% ทิศใต้ และ 10% ชี้ไปทางทิศตะวันออก ในส่วนของอินดิเคเตอร์เทรนด์มี 40% ชี้ไปยังทิศเหนือ 60% ทิศใต้ โดยมีระดับแนวรับที่ใกล้ที่สุดอยู่ในโซน 131.25 ตามมาด้วยระดับและโซน ได้แก่ 130.50, 129.70-130.00, 128.90-129.00, 128.50, 127.75-128.10, 127.00-127.25 และ 125.00 ส่วนระดับและโซนแนวต้าน ได้แก่ 131.85-132.00, 132.80-133.00, 133.60, 134.40 และจากนั้นคือ 137.50
ค่า GDP เบื้องต้นของญี่ปุ่นจะประกาศในสัปดาห์หน้านี้ในวันอังคารที่ 14 กุมภาพันธ์ ซึ่งคาดว่าเศรษฐกิจประเทศจะเติบโตขึ้น +0.5% ใน Q4 ปี 2022 (ลดลง -0.2% ในไตรมาสก่อนหน้า) สถิติที่ประกาศแล้วก็ดูเป็นบวกเช่นกัน ดัชนีการกู้ยืมของธนาคารในเดือนมกราคมสูงกว่าการคาดการณ์ (+2.6%) และเพิ่มขึ้นจริง +3.1% (+2.7% ของเดือนธันวาคม) ดัชนี Eco Watchers Current Situation Index เพิ่มขึ้นเช่นกันจาก 47.9 เป็น 48.5 จุดภายในปลายเดือนมกราคม
คริปโตเคอเรนซี: บิทคอยน์ควร “หยุดพักหรือไม่”?
- ความสัมพันธ์ของบิทคอยน์กับตลาดหุ้น (S&P500, Dow Jones, Nasdaq) และสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงอื่น ๆ ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ทองคำดิจิทัลกลับแสดงพฤติกรรมไม่ใช่ผกผัน แต่เป็นความสัมพันธ์แบบแปรผันตรงกับดอลลาร์อย่างผิดความคาดหมายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเห็นได้ชัดเจนหากเราเปรียบเทียบกราฟ BTC/USD และ EUR/USD สินทรัพย์ทั้งสองนี้ต่างเจอทั้งขาขึ้นและขาลงในจังหวะเดียวกัน เราสังเกตเห็นความย้อนแย้งทางกายภาพ ซึ่งทั้งสองผันผวนตรงกัน และในท้ายสัปดาห์นี้เองเป็นช่วงที่กฎแห่งฟิสิกส์กลับมาทำงานอีกครั้ง และดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย แต่บิทคอยน์อ่อนค่าลง
โมเมนตัมขาขึ้นที่พาบิทคอยน์ขึ้นไปจากระดับต่ำสุดที่ $16,272 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2022 ไปยัง $24,244 ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2023 ค่อย ๆ จางหายไป BTC/USD ได้กลับมายังที่เดิมในช่วงครึ่งหลังของเดือนมกราคม และผลลัพธ์ของช่วงสามสัปดาห์สุดท้ายปรากฏว่าแทบจะเป็นศูนย์
Tone Bays นักเทรดและนักวิเคราะห์ชื่อดังกล่าวไว้ว่า บิทคอยน์ “เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วและสูงมาก” และตอนนี้กำลังเจอกับแนวต้านที่สำคัญที่ระดับ $25,000 ผู้เชี่ยวชาญท่านนี้เชื่อว่า สินทรัพย์จะตัดผ่านโซนแนวต้านดังกล่าวได้สำเร็จ แต่อาจ “หยุดพักก่อนในตอนนี้” Vays ชี้แจงว่าเขาคาดว่าจะเกิดช่วงราคาแข็งตัว (consolidation) ในกรอบแคบ ๆ หรืออาจมีการย่อตัวเล็กน้อย
ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญคนนี้เท่านั้น สถิติชี้ให้เห็นว่า ราคาคาดการณ์กลางของสมาชิกในชุมชนคริปโตซึ่งทำนายมูลค่าบิทคอยน์ภายในสิ้นเดือนของแต่ละเดือนในช่วงหกเดือนที่ผ่านมาได้ถูกต้องถึง 75% ผู้เชี่ยวชาญ Finbold ให้ข้อสังเกตว่า การคาดการณ์ที่ได้จากแบบสำรวจนักเทรดมากกว่า 15,000 คน และการทำนายของอัลกอริทึมของเอไอนั้นให้ค่าที่ต่างกันเป็นอย่างมาก ผู้ตอบแบบสำรวจประเมินว่าราคา BTC อาจขยับลงมาที่ $20,250 ภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2023 ในขณะที่เอไอชี้ราคา $24,342
ระยะความผันผวนต่ำ (ตามมาตรฐานของบิทคอยน์) ดังกล่าวนั้นตรงกับคำทำนายที่ค่อนข้างแม่นยำของ Vays ว่าราคาน่าจะ “หยุดพัก” สถานการณ์ตลาดยังไม่ค่อยมีความแน่นอนในขณะนี้ และแม้ว่าผู้ถือเหรียญในระยะสั้นจะกลับมาสู่โซนที่ได้กำไรแล้ว ผู้ถือเหรียญระยะยาว (ที่ถือเหรียญ 6 เดือนขึ้นไป) ยังคงติดลบอยู่ โดยต้องใช้เวลา 291 วันจนกว่าทุกตัวชี้วัดจะเปลี่ยนเป็นสีเขียวในระยะตลาดหมีครั้งล่าสุด และตอนนี้เวลาผ่านไปแล้ว 268 วัน
นักลงทุนส่วนใหญ่ต่างติดดอยในช่วงปลายปีที่ผ่านมา บริษัท MicroStrategy ได้รายงานการขาดทุนในงบปี 2022 เป็นจำนวนเงิน $1.3 พันล้านดอลลาร์ เนื่องด้วยการลงทุนในบิทคอยน์ในระยะยาว (ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2022 MicroStrategy มีบิทคอยน์รวมทั้งสิ้น 132,500 BTC มูลค่ากว่า $1.84 พันล้านดอลลาร์) ในขณะเดียวกัน ผู้บริหารบริษัทกล่าวว่า ยังไม่มีแผนที่จะหยุดซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล เขามองว่านี่เป็นตัวอย่างรูปแบบหนึ่งของทฤษฎีดาร์วิน ผู้เล่นที่อ่อนแอและเลวร้ายจะต้องออกจากตลาดและมันบีบให้อุตสาหกรรมก้าวหน้าต่อในระยะยาว ในขณะเดียวกัน Saylor มองว่าคริปโตเคอเรนซีจำเป็นต้องมีกรอบการกำกับดูแลที่ชัดเจนสำหรับบริษัทเพื่อให้มีการปฏิบัติตามมาตรฐานในระดับหนึ่งและคุ้มครองลูกค้า “สิ่งที่จำเป็นต้องมีจริง ๆ คือการกำกับดูแล แนวทางที่ชัดเจนจากสภาคองเกรสจำเป็นต้องวางไว้ในอุตสาหกรรมนี้เพื่อให้มันมี Goldman Sachs, Morgan Stanley และ BlackRock ของตนเอง เราจำเป็นต้องมีจรรยาบรรณที่ชัดเจนจากกลต. (คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์) ของสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม David Marcus อดีตหัวหน้าแผนกบล็อกเชนของบริษัท Meta อดีตประธาน PayPal ชี้ว่า ฤดูหนาวคริปโตจะสิ้นสุดลงภายในปี 2025 เมื่อตลาดฟื้นตัวจากความอลหม่านเมื่อปีที่แล้ว เขาเชื่อว่าช่วงเวลาที่คุณสามารถสร้างเหรียญโทเคนลอย ๆ ขึ้นมาในอากาศและทำเงินหลายล้านดอลลาร์จะผ่านไปในอีกไม่ช้า มูลค่าที่เพิ่มขึ้นจะอยู่ที่แอปพลิเคชันไร้ศูนย์กลาง ซึ่งมีมูลค่าที่จับต้องได้สำหรับโลกแห่งความจริงมากกว่า Marcus คาดว่าจะเกิดการบุกเบิกวงการชำระเงินครั้งใหญ่ การเปลี่ยนสินทรัพย์ให้เป็นเหรียญโทเคน และการกระจายศูนย์กลางทางการเงิน (DeFi) อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญรายนี้มีข้อกังขาว่า รัฐสภาจะสามารถพัฒนากฎกติกาในการกำกับดูแลเงินคริปโตได้ในอนาคตอันใกล้ ดังนั้น บริษัทคริปโตจะยังคงดำเนินงานใน “สุญญากาศ” ต่อไปในปี 2023 ภายใต้ความเสี่ยงของตนเอง และฤดูหนาวคริปโตจะสิ้นสุดลงภายในปี 2025 เมื่อตลาดฟื้นตัวจากภาวะช็อคของปีที่แล้ว
ที่น่าประหลาดใจก็คือไม่ใช่แค่ผู้ที่สนับสนุนเงินคริปโตเท่านั้น แต่ยังรวมถึงคู่อริที่ดุดันก็เรียกร้องให้เพิ่มการกวดขันและควบคุมวงการคริปโต Charlie Munger รองประธาน Berkshire Hathaway บริษัทถือหุ้นของ Warren Buffet เรียกร้องให้ทางการสหรัฐฯ ทำลายบิทคอยน์ ซึ่งเศรษฐีพันล้านรายนี้เปรียบเทียบการลงทุนในคริปโตกับการพนัน เขากล่าวให้สัมภาษณ์กับ Wall Street Journal ว่า อุตสหากรรมคริปโตกำลังบ่อนทำลายเสถียรภาพทางการเงินของโลก และ BTC ไม่สามารถจัดให้เป็นประเภทสินทรัพย์ได้ เพราะมันไม่มีมูลค่า
Munger แสดงมุมมองความเห็นดังกล่าวมาตลอดช่วงสองสามปีที่ผ่านมา และตอนนี้เขาเรียกร้องให้ทางการสหรัฐฯ รับมือกับความเสียหายที่รุนแรงในตลาดสหรัฐฯ เขามีความเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องผลักดันมันเข้าสู่กรอบการกำกับดูแลที่เข้มงวดที่สุด ซึ่งผลที่ตามมาจะทำให้อุตสาหกรรมไม่สามารถต้านทานแรงกดดันและตายหายไปในที่สุด
ทั้งนี้ Charlie Munger เองนั้นมีอายุถึง 99 ปี ซึ่งอาจเป็นเหตุผลที่ช่วยอธิบายแนวคิดแบบอนุรักษ์นิยมสุดโต่งของเขา นักธุรกิจที่เป็นคนรุ่นใหม่จะมีความเชื่อในนวัตกรรมดิจิทัลมากกว่า เห็นได้จากผลการตอบแบบสำรวจโดยบริษัทที่ปรึกษาด้านการเงิน deVere Group ซึ่งชี้ว่า แม้ว่าปี 2022 จะเป็นปีที่มีความท้าทายสูง แต่เศรษฐี 82% พิจารณาลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล Nigel Green ซีอีโอของ deVere Group ระบุว่า ระดับความสนใจจะยิ่งเพิ่มขึ้นเมื่อเงื่อนไขในระบบการเงินดั้งเดิมมีการเปลี่ยนแปลง
Mark W. Yusko ซีอีโอบริษัท Morgan Creek ด้านการลงทุนกล่าวในบทสัมภาษณ์ Cointelegraph ว่า ตลาดกระทิงรอบถัดไปอาจเริ่มตั้งแต่ Q2 ในปี 2023 ซึ่งจะเอื้อโดยสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจมหภาคและความคาดหวังในการฮาล์ฟเหรียญบิทคอยน์ (Bitcoin Halving)
ผู้บริหารสูงสุดรายนี้กล่าวว่า ธนาคารเฟดสหรัฐฯ ไม่น่าจะหั่นอัตราดอกเบี้ยลงในอนาคตอันใกล้ แต่การชะลอตัวหรือการหยุดกระบวนการนี้จะถูกมองว่าเป็นสัญญาณเชิงบวกต่อสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง ซึ่งรวมถึงสกุลเงินคริปโต
ซีอีโอ Morgan Creek ชี้ถึงความคาดหวังของ Bitcoin Halving ครั้งถัดไป ซึ่งคาดว่าจะมีขึ้นในช่วงเดือนเมษายน 19-21 ปี 2024 ว่าเป็นเหตุผลเพิ่มเติมกระตุ้นให้เกิดตลาดกระทิง เขาเชื่อว่าการฟื้นตัวของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลมักจะเริ่มขึ้นเก้าเดือนก่อนอีเวนต์ดังกล่าว ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อนปี 2023 ในครั้งนี้
Cathie Wood ประธานบริษัท ARK Invest ยังคงมองว่าบิทคอยน์เป็นวิธีการคุ้มครองตนจากการขาดทุนทางการเงินและเป็นประกันภัยที่ดีที่สุดสำหรับประเทศกำลังพัฒนา “เรากำลังเห็นภาวะเงินเฟ้อสุดโต่งเกิดขึ้นรอบโลก และเงินพันธบัตรทรุดลง ประชากรทุกกลุ่มจะต้องมีนโยบายประกันภัยเหมือนกับบิทคอยน์” Cathy Wood มองว่าทั้งคนจนและคนรวยจะได้ประโยชน์จากการใช้ทองคำดิจิทัล นักวิเคราะห์จาก Ark Invest ให้การคาดการณ์ในเชิงบวกเป็นอย่างมาก โดยสถานการณ์ด้านลบที่ประเมินคือคาดว่าราคา BTC จะขยับขึ้นถึง $259,000 และเชิงบวกคือสูงสุดถึง $1.5 ล้านดอลลาร์ต่อเหรียญ (เราจึงอดสงสัยไม่ได้ว่า Charlie Munger จะมีความเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไร?)
ณ ขณะที่เขียนบทวิเคราะห์ฉบับนี้ (ช่วงเย็นวันศุกร์ที่ 10 กุมภาพันธ์) BTC/USD ซื้อขายอยู่ในโซน $21,600 โดยมูลค่ารวมของตลาดคริปโตคือ $1.010 ล้านล้านดอลลาร์ ($1.082 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ก่อนหน้า) ดัชนี Crypto Fear & Greed Index ลดลงมาจาก 60 เหลือ 48 จุดในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาและอยู่ที่โซนแทบจะกึ่งกลางของดัชนี สถานการณ์ไม่มีความแน่นอน และบางทีนักเทรดก็อาจต้องตั้งคำถามเหมือนกันกับบิทคอยน์ว่า “เราควรจะหยุดพักเบรกก่อนดีไหม?”
กลุ่มนักวิเคราะห์ NordFX
หมายเหตุ: เนื้อหาดังกล่าวไม่ควรยึดถือเป็นคำแนะนำในการลงทุนหรือเป็นคำปรึกษาในการซื้อขายในตลาดการเงิน โดยเนื้อหาข้างต้นเป็นไปเพียงเพื่อจุดประสงค์ในการให้ข้อมูลเท่านั้น การซื้อขายในตลาดการเงินมีความเสี่ยงและอาจทำให้เกิดการสูญเสียเงินฝากได้
กลับ กลับ