บทวิเคราะห์ฟอเร็กซ์และคริปโตเคอเรนซี ประจำวันที่ 13 - 17 มีนาคม 2023

EUR/USD: ตลาดแรงงานสหรัฐฯ หยุด USD

  • Jerome Powell พยุงดอลลาร์ในสัปดาห์ที่แล้ว แน่นอนว่าประธานเฟดคนนี้ทราบดีว่า ตลาดเก็งการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ 25 จุดพื้นฐาน (bps) ตั้งแต่การประชุมครั้งถัดไปของคณะกรรมการ FOMC (คณะกรรมการกำหนดนโยบายทางการเงินของสหรัฐฯ) แต่เขายังไม่ตัดโอกาสที่เฟดอาจมีมาตรการที่เด็ดขาดมากขึ้น เพื่อรับมือกับภาวะเงินเฟ้อ และอาจขึ้นดอกเบี้ยอีก 50 bps ในวันที่ 22 มีนาคมในคราวเดียว นอกจากนี้ ก่อนหน้านี้ยังมีการคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยอาจขยับถึง 5.00-5.25% ที่ระดับสูงสุด ในขณะนี้ Powell และเพื่อนร่วมงานของเขายังบอกว่ามีโอกาสที่ระดับสูงสุดของอัตราดอกเบี้ยอาจอยู่ที่ 5.50% (ตามความเห็นของนักยุทธศาสตร์จาก Commerzbank ชี้ว่า 6.00% ก็มีความเป็นไปได้)

    และเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะช็อค ประธานธนาคารเฟดจึงตัดสินใจที่จะให้ตลาดเตรียมพร้อมต่อสถานการณ์นี้ล่วงหน้า คำแถลงของเขาต่อสภาคองเกรสสหรัฐฯ เมื่อวันอังคารที่ 7 มีนาคม เป็นถ้อยแถลงแนว hawkish (เน้นนโยบายแบบเข้มงวดทางการเงิน) ส่งผลให้ดัชนีดอลลาร์ DXY ทำระดับสูงสุดของปี 2023 ที่ 105.86 และ EUR/USD ดิ่งลงมากว่า 170 จุด ลงมาที่ 1.0523 โดยความเป็นไปได้ที่อัตราดอกเบี้ยจะปรับขึ้น 50 bps ในเดือนมีนาคมเพิ่มขึ้นเป็น 70% (สัปดาห์ที่แล้วอยู่ที่ 23-30% และตลาดคาดการณ์เพียง 9% เท่านั้นในเดือนที่แล้ว)

    อย่างไรก็ดี ดอลลาร์ปักหลักไม่สำเร็จ และ EUR/USD กลับขึ้นทิศเหนือในช่วงกลางสัปดาห์ สถิติจากตลาดแรงงานสหรัฐฯ ทำให้ดอลลาร์อ่อนค่าลง จำนวนยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานเบื้องต้นที่ประกาศเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 9 มีนาคม อยู่ที่ 211K จากการคาดการณ์ที่ 195K และ 190K เมื่อหนึ่งเดือนก่อนหน้า ดัชนีนี้สูงกว่าระดับ 200K เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ครึ่งแรกของเดือนมกราคม และทำระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม 2022 นอกจากนี้ นักเก็งกำไรระยะสั้นยังเริ่มเก็บกำไรจาก USD ล่วงหน้าก่อนการประกาศรายงานจากตลาดแรงงานของสหรัฐฯ ประจำเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งประกาศเมื่อวันศุกร์ที่ 10 มีนาคม และพวกเขาก็ทำได้ถูกต้อง เพราะดอลลาร์เริ่มถอนตัวและอ่อนค่าลง รายงานดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า จำนวนตำแหน่งงานใหม่นอกภาคการเกษตร (NFP) อยู่ที่ 311K ซึ่งมากกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ 205K แต่น้อยกว่าสถิติเดือนมกราคมที่ 503K ทั้งนี้ หากพิจารณาอัตราว่างงานที่เพิ่มขึ้น 3.6% (ตัวเลขคาดการณ์ที่ 3.4% และ 3.4% ของเดือนมกราคม) ประกอบ สถิติเหล่านี้บ่งบอกว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังคลายตัว ซึ่งอาจช่วยผ่อนคลายท่าทีสายเหยี่ยวของกรรมการบริหารธนาคารเฟดบางรายได้ เราเห็นการยืนยันได้จากพฤติกรรมของ EUR/USD ซึ่งพุ่งขึ้นไปยังระดับที่ 1.0700 ไม่กี่ชั่วโมงหลังการประกาศรายงานดังกล่าว

    ในส่วนของยูโร สถิติเศรษฐกิจมหภาคดูเป็นกลางในสัปดาห์ที่แล้ว ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในเยอรมนี ประเทศขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุโรป ยังคงที่ที่ระดับเดิมและเป็นไปตามการคาดการณ์ที่ -8.7% ของตัวเลขรายปี

    สถิติสุดท้ายของสัปดาห์อยู่ที่ 1.0638 และแม้ว่าดอลลาร์จะอ่อนค่าลงในช่วงปลายสัปดาห์ นักวิเคราะห์ 80% คาดการณ์ว่าดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้นในอนาคตอันใกล้ ส่วน 20% มีท่าทีเป็นกลาง และไม่มีความเห็นใดโหวตว่ายูโรจะแข็งค่าขึ้น ในส่วนของออสซิลเลเตอร์บนกรอบ D1 มี 25% ให้สัญญาณสีแดง 25% สีเขียว และ 50% เป็นสีเทากลาง ในส่วนของอินดิเคเตอร์เทรนด์ 80% แนะนำให้ซื้อ 20% แนะนำให้ขาย และระดับแนวรับที่ใกล้ที่สุดของคู่นี้อยู่ที่บริเวณ 1.0600-1.0620 ตามมาด้วยระดับและโซนคือ 1.5000-1.0530, 1.0440, 1.0375-1.0400, 1.0300 และ 1.0220-1.0255 ด้านฝั่งกระทิงจะเจอกับแนวต้านที่บริเวณ 1.0650, 1.0700, 1.0740-1.0760, 1.0800, 1.0865, 1.0930, 1.0985-1.1030

    ในสัปดาห์หน้าจะมีการประกาศสถิติเศรษฐกิจหลายชุดด้วยกัน ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญต่อการตัดสินใจของทั้งธนาคารเฟดและธนาคารกลางยุโรป โดยดัชนีเงินเฟ้อผู้บริโภค (CPI) ในสหรัฐฯ จะประกาศในวันอังคารที่ 14 มีนาคม สถิติยอดค้าปลีกสหรัฐฯ รวมถึงดัชนีราคาผู้ผลิตสหรัฐฯ (PPI) จะรายงานในวันถัดไป ด้านฝั่งธนาคารกลางยุโรปจะตัดสินใจกำหนดอัตราดอกเบี้ยในวันพฤหัสบดีที่ 16 มีนาคม ซึ่งคาดว่าจะขึ้นดอกเบี้ย 50 จุด จาก 2.50% เป็น 3.00% แน่นอนว่าการแถลงข่าวที่ตามมาของผู้บริหารธนาคารกลางฯ จะเป็นที่จับตามองโดยตลาด และสุดท้ายคือการประกาศดัชนี CPI ในยูโรโซนในวันสุดท้ายของสัปดาห์วันที่ 17 มีนาคมนี้

GBP/USD: ความผันผวนสูง ผลลัพธ์เป็นศูนย์

  • ผลลัพธ์ในช่วงห้าวันที่ผ่านมาของ GBP/USD แม้ว่าจะมีความผันผวนที่ 310 จุด กลับแทบจะเป็นศูนย์ ราคาคู่นี้ปิดท้ายสัปดาห์ที่ระดับ 1.2025 โดยกลับมายังโซนตรงกลางของกรอบด้านข้าง 1.1920-1.2145 สาเหตุของพฤติกรรมดังกล่าวนั้นเหมือนกันกับของคู่ EUR/USD เนื่องจากทั้งสองคู่นี้ต่างมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ ในสหราชอาณาจักรไม่มีการประกาศสถิติเศรษฐกิจใด ๆ จนกระทั่งวันศุกร์ที่ 10 มีนาคม ซึ่งมีการรายงานดัชนี GDP และตัวเลขการผลิตเชิงอุตสาหกรรมของเดือนมกราคม

    ดัชนี GDP ขึ้นมาจาก -0.5% เป็น +0.3% จากการคาดการณ์ที่ +0.1% ส่วนดัชนีที่สองลดลง ตัวเลขการผลิตของสหราชอาณาจักรลดลงจาก 0.0% เหลือ -0.4% ในเดือนมกราคมจากตัวเลขคาดการณ์ที่ -0.1% ในขณะที่ผลผลิตทางอุตสาหกรรมรวมเดิมอยู่ที่ -0.3% เดือนต่อเดือน เทียบกับ -0.2% และ +0.3% ที่เคยคาดการณ์ไว้ในเดือนธันวาคม ดังนั้น สถิติ GDP จึงช่วยเสริมทัศนคติที่ดีต่อเงินปอนด์ ในขณะที่สถิติการผลิตเชิงอุตสาหกรรมส่งผลลบเล็กน้อย

    ตามความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ Commerzbank ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ไม่คาดว่าจะช่วยหนุนค่าเงินปอนด์แต่อย่างใด ทั้งนี้ คำกล่าวของ Andrew Bailey ผู้ว่าการ BoE เมื่อวันพุธที่ 1 มีนาคม ยิ่งทำให้ประเด็นต่าง ๆ มีความคลุมเครือ เขากล่าวว่าการตัดสินใจสุดท้ายต่อแนวโน้มนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางอังกฤษยังไม่เกิดขึ้น และธนาคารฯ ควรจะมีความยืดหยุ่นในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า เพื่อที่จะไม่สร้างความหวาดกลัวให้ตลาด และตราบใดที่ธนาคารฯ ยังคงมีท่าทีที่ระมัดระวัง ซึ่งต่างจากธนาคารเฟดและ ECB เงินปอนด์ก็น่าจะยังคงอยู่ภายใต้แรงกดดันต่อไป แทนที่จะตั้งใจต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อที่สูงลิ่ว ธนาคารอังกฤษมีแนวโน้มที่จะใช้ท่าทีแบบตามหลัง ซึ่งจะส่งผลให้ GBP/USD ปรับลดลงต่อเนื่อง

    การคาดการณ์กลางของผู้เชี่ยวชาญในอนาคตอันใกล้นั้นคล้ายกันกับการคาดการณ์ของ EUR/USD: โดยผู้เชี่ยวชาญ 75% โหวตว่าดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้นและ GBP/USD ขยับลดลง ส่วน 25% ที่เหลือหลีกเลี่ยงจากการคาดการณ์ใด ๆ ในส่วนของออสซิลเลเตอร์บนกรอบ D1 ให้ผลลัพธ์ดังนี้ 35% โหวตให้สีเขียว อีก 35% โหวตสีแดง และ 30% ให้สีเทากลาง ในส่วนของอินดิเคเตอร์เทรนด์ ฝ่ายที่ได้เปรียบกว่าอย่างชัดเจนคือสีเขียว 75% ต่อ 25% สำหรับระดับและโซนแนวรับของคู่นี้ ได้แก่ 1.1985-1.2000, 1.1960, 1.1900-1.1925, 1.1840, 1.1800, 1.1720 และ 1.1600 ทั้งนี้ เมื่อราคาขยับขึ้นทิศเหนือ จะต้องเจอกับแนวต้านที่ระดับ 1.2055, 1.2075-1.2085, 1.2145, 1.2185-1.2210, 1.2270, 1.2335, 1.2390-1.2400, 1.2430-1.2450, 1.2510, 1.2575-1.2610, 1.2700, 1.2750 และ 1.2940

    ในส่วนของการประกาศสถิติเศรษฐกิจมหภาคของอังกฤษ ปฏิทินในสัปดาห์หน้า ได้แก่ การประกาศสถิติอัตราว่างงานและค่าจ้างในสหราชอาณาจักรในวันอังคารที่ 14 มีนาคม

USD/JPY: ดอลลาร์ตัดสินทุกอย่าง

  • การประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) จัดขึ้นในช่วงปลายสัปดาห์ที่แล้ว วันศุกร์ที่ 10 มีนาคม ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายที่อดีตผู้ว่าการธนาคารฯ Haruhiko Kuroda เป็นประธานการประชุม การประชุมเป็นไปตามความคาดหมาย ธนาคารกลางญี่ปุ่นไม่มีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ของนโยบายผ่อนคลายทางการเงินแบบสุดขั้วแต่อย่างใด อัตราดอกเบี้ยยังคงตัวที่ระดับติดลบที่ -0.1%

    Haruhiko Kuroda ได้กล่าวแถลงที่งานแถลงข่าวครั้งสุดท้ายของเขา โดยให้ความเห็นต่อผลการประชุมครั้งสุดท้ายของธนาคารกลางว่า ผลกระทบเชิงบวกของนโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลายมากกว่าผลข้างเคียง ในขณะเดียวกัน เขาย้ำว่าธนาคาร “จะไม่ลังเลที่จะใช้นโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลายต่อไปหากจำเป็น” และ “สิ่งสำคัญคือการเดินหน้าผ่อนคลายต่อไปเพื่อกระตุ้นบริษัทและขึ้นค่าจ้าง” Kazuo Uedu ผู้ว่าการธนาคาร BoJ คนใหม่น่าจะเดินตามรอยหลักการของผู้ว่าการคนก่อนหน้า และอย่างน้อยเราไม่ควรคาดการณ์ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงที่ฉับพลันใด ๆ

    ในขณะนี้ ค่าเงินดอลลาร์มีความชัดเจนในเรื่องนี้ หลังการประกาศสถิติตลาดแรงงานสหรัฐฯ ดอลลาร์อ่อนค่าลงทำระดับต่ำสุดใหม่ ในขณะที่ฟิวเจอร์สของดัชนีหุ้นสหรัฐฯ ขึ้นเป็นบวก เดิม USD/JPY เทรดอยู่ที่ 137.90 เมื่อวันพุธที่ 8 มีนาคม และลงมาที่ระดับต่ำสุด 134.10 เมื่อวันที่ 10 มีนาคม และปิดท้ายสัปดาห์หลังจากปรับฐานอยู่ที่ 135.05

    ในส่วนของแนวโน้มในระยะสั้น ผู้เชี่ยวชาญ 75% โหวตให้ราคาเคลื่อนที่ไปยังทิศใต้ในขณะนี้ 25% ชี้ไปยังทิศทางตรงกันข้าม ด้านออสซิลเลเตอร์บนกรอบ D1 มี 25% ชี้ไปยังทิศเหนือ 40% ชี้ไปยังทิศตรงกันข้าม และส่วน 35% ที่เหลือชี้ไปยังทิศตะวันออก สำหรับอินดิเคเตอร์เทรนด์ 40% ชี้ไปยังทิศเหนือ และ 60% ทิศใต้ โดยระดับแนวรับที่ใกล้ที่สุดอยู่ที่โซน 134.75 ตามมาด้วยโซนและระดับที่ 134.00-134.35, 133.60, 132.80-133.20, 131.85-132.00, 131.25 130.50, 129.70-130.00 โซนและระดับแนวต้านอยู่ที่ 135.15, 136.00-136.30, 136.70-137.10, 137.50, 139.00-139.35, 140.60, 143.75

    บรรดาเหตุการณ์ที่สำคัญในสัปดาห์นี้ เราอาจพูดถึงการประกาศรายงานการประชุมครั้งสุดท้ายของธนาคารกลางญี่ปุ่นในวันพุธที่ 15 มีนาคม แต่เอกสารฉบับนี้ไม่น่าจะส่งผลสำคัญใด ๆ ต่อตลาด

คริปโตเคอเรนซี: มันแย่มาก แต่จะแย่กว่านี้อีกไหม?

  • บิทคอยน์ยังคงอยู่ใต้แรงกดดันของสารพัดข่าวร้ายที่ถาโถมเข้ามา คำสั่งซื้อกว่า $94 ล้านคำสั่งในปี 2023 ถูกล้างไปเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 10 มีนาคมวันเดียว นักวิเคราะห์จาก Santiment กำลังบันทึกสถานการณ์เชิงลบครั้งใหญ่ในแวดวงคริปโต อารมณ์ที่มืดมนของนักลงทุนนั้นได้รับอิทธิพลจาก:

    1. ข่าวธนาคารคริปโต Silvergate ถูกบังคับให้ชำระบัญชี หลังจากตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดทำการเมื่อวันที่ 8 มีนาคม Silvergate Capital Corp. บริษัทอเมริกันที่บริหารจัดการธนาคารแห่งนี้ ได้ประกาศแผนที่จะจำกัดกิจกรรมและบังคับชำระบัญชีบริษัท เนื่องด้วยฐานลูกค้าจำนวนมากของ Silvergate ข่าวนี้อาจส่งผลให้เกิดผลกระทบแบบโดมิโน่ที่คล้ายกันกับปีที่แล้ว

    2. รัฐบาลสหรัฐฯ อาจเปิดขายบิทคอยน์ $1 พันล้านเหรียญ

    3. แนวโน้มนโยบายทางการเงินของธนาคารเฟดแบบเข้มงวด ซึ่งได้ส่งผลกดดันราคาสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงทุกชนิด รวมถึงหุ้นและคริปโตเคอเรนซี

    4. สำนักงานอัยการนิวยอร์กยังคงโจมตีแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนคริปโตอย่างต่อเนื่อง เมื่อวันที่ 9 มีนาคม สำนักอัยการฯ ได้สั่งฟ้อง KuCoin ข้อหาขาดการจดทะเบียนแพลตฟอร์มในสหรัฐฯ ในฐานะโบรกเกอร์หลักทรัพย์ ทั้งนี้ Lititia James อัยการสูงสุด รวมถึง Gary Gensler ประธานกลต. ได้ถือว่าอัลท์คอยน์เป็นหลักทรัพย์แล้ว

    5. และสุดท้ายนี้เป็นน้ำตาลที่โรยหน้าเค้กคือ ข้อเสนอของรัฐบาลประธานาธิบดีไบเดนให้สั่งแบนบริษัทคริปโตจากการโกงภาษี และให้คิดภาษีค่าไฟฟ้า 30% ต่อบริษัทที่ขุดเหรียญ การโกงภาษีคือการทำธุรกรรมทางการเงินของบริษัท โดยบริษัทยื่นว่ามีการขาดทุนโดยขายสินทรัพย์คริปโตในตอนแรก และเข้าซื้อใหม่โดยทันทีเพื่อจำนวนภาษีที่ต้องจ่าย และการคิดภาษีค่าไฟฟ้า 30% อาจสร้างความเสียหายอย่างหนักต่อไม่ใช่แค่นักขุดเหรียญในอเมริกาเท่านั้น แต่รวมถึงอุตสาหกรรมโดยรวมด้วย

    ในความเห็นของเรา ข่าวร้ายนั้นมีอยู่มากในสัปดาห์นี้มีเพียงสัปดาห์เดียว ตอนนี้เราจะมาลองพูดถึงข่าวดีเล็กน้อยกันบ้าง ผู้เชี่ยวชาญจาก Credible Crypto ชี้ว่าในขณะนี้มีเหรียญ BTC ประมาณ 73% จากเหรียญทั้งหมดที่กระจุกอยู่ในมือผู้ถือเหรียญที่มีประสบการณ์ ผู้ที่เคยชินกับแนวโน้มขาลงและสามารถยืนหยัดช่วงเวลาแห่งการแช่แข็งคริปโตที่รุนแรงได้ และ Santiment เตือนให้ทราบว่า การติดลบโดยภาพรมเคยนำไปสู่การรีบาวด์ขาขึ้นอย่างเห็นได้ชัดของราคามาแล้ว

    Michael Van De Poppe ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง Eight Global ได้เน้นถึงความสำคัญของช่วงไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้าสำหรับบิทคอยน์ “มูลค่ารวมในตลาดอาจลดลงมาที่ $860 ล้านดอลลาร์ และฉุดตลาดทั้งตลาดลงไปด้วย” เขามองว่า หากดัชนีขยับลงไปที่ $19,700 และในกรณีที่เลวร้ายที่สุด ราคาต่ำสุดอาจต่ำยิ่งกว่านั้นที่ระดับ $18,000 หลังจากนั้นราคาจะขยับขึ้นและอาจแตะ $40,000 ในปีนี้

    Felix Zulauf ผู้ร่วมก่อตั้งเฮดจ์ฟันด์ Zulauf Consulting ชี้แนะว่า บิทคอยน์จะขยับเข้าสู่การทะยานขึ้นในช่วงปลายฤดูใบไม้ผลินี้ และผู้เชี่ยวชาญรายนี้ยังไม่ตัดโอกาสที่บิทคอยน์อาจทำราคาถึง $100,000 ในเทรนด์ขาขึ้นแบบฉับพลัน เขายังเน้นย้ำด้วยว่าบิทคอยน์กำลังอยู่ในช่วงระยะเริ่มต้นของวัฎจักรกระทิง ผู้เชี่ยวชาญจาก Credible Crypto  ยังคงมีทัศนคติในแง่บวกต่อแนวโน้มระยะกลางของบิทคอยน์ พวกเขาเห็นด้วยกับ Felix Zulauf ว่าบิทคอยน์อาจอัปเดตราคาสูงสุดใหม่ได้ในปีนี้ แต่สินทรัพย์นี้จะต้องเจอกับอุปสรรคมากมายก่อนที่เทรนด์ขาขึ้นที่มั่นคงจะเริ่มขึ้น (เราได้กล่าวถึงปัจจัยทั้งห้าข้อไปแล้วข้างต้น)

    Arthur Hayes อดีตซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง BitMEX เชื่อว่า การทะยานขึ้นของบิทคอยน์จะเริ่มขึ้นเมื่อเศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะวิกฤติน้ำมัน เขามองว่า ราคาน้ำมันที่ดีดตัวสูงขึ้นจะสร้างเงื่อนไขให้ราคาสินทรัพย์ดิจิทัลเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะบิทคอยน์ที่จะขยับเป็นอันดับแรก

    เหตุผลของ Hayes มีดังนี้ ในสถานการณ์ที่เกิดภาวะตึงเครียดทางการเมืองโลก ความต้องการในทรัพยากรพลังงานจะเพิ่มขึ้น เพราะประเทศผู้ส่งออกน้ำมันมีแนวโน้มที่จะลดการผลิต ในสถานการณ์ดังกล่าว สหรัฐฯ ในฐานะประเทศผู้นำด้านเศรษฐกิจจะต้องเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน ธนาคารเฟดจำเป็นจะต้องผ่อนคลายอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นกิจกรรมทางธุรกิจในภาคพลังงาน ทันทีที่ธนาคารเฟดเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ย เงินจะไหลกลับคืนสู่สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง รวมถึงคริปโตเคอเรนซี นอกจากนี้ อดีตประธาน BitMEX ยังอ้างถึงปริมาณที่จำกัดของ BTC ซึ่งอาจเป็นผลดีต่อราคาเหรียญ เนื่องจากดอลลาร์สหรัฐจะอ่อนแอลง

    ตรงนี้เราควรอ้างอิงข้อมูลจาก WooBull แพลตฟอร์มการวิเคราะห์ ซึ่งชี้ว่า อัตราเงินเฟ้อของบิทคอยน์ลดลงอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ที่มีการออกเหรียญในปี 2009 และคิดเป็น 1.79% ณ วันที่ 4 มีนาคม ในขณะเดียวกัน ตัวชี้วัดเดียวกันของ USD คิดเป็น 6.4% ในปี 2023 ซึ่งเท่ากับ 3.57 เท่าสูงกว่าของ BTC

    อัตราเงินเฟ้อที่ลดลงของบิทคอยน์นั้นเป็นเพราะโมเดลเงินฝืดของสินทรัพย์ที่มาจากกลไก Halvings ซึ่งลดความเร็วในการขุดเหรียญและหักผลตอบแทนของผู้ขุดเหรียญลงครึ่งหนึ่ง ผู้เชี่ยวชาญเชื่อเช่นกันว่า ตัวเลขดังกล่าวจะยังคงต่ำอยู่เนื่องด้วยธรรมชาติการกระจายศูนย์ของ BTC ซึ่งจะต้านทานต่อความเสี่ยงทางการเมืองและเศรษฐกิจที่มักกระทบดอลลาร์สหรัฐ ในทางกลับกัน อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ จะเพิ่มขึ้น โดยหลักแล้วเพราะปริมาณเงินที่เพิ่มจนล้นตลาด และการลดลงของความต้องการและ/หรือการลดลงของการผลิต

    ในระหว่างนี้ ณ ขณะที่เขียนบทวิเคราะห์ฉบับนี้ (วันที่ 10 มีนาคม 23:00 น. เวลาเซิร์ฟเวอร์ NordFX) BTC/USD ซื้อขายอยู่ในโซน $20,070 (รายงานการจ้างงานในสหรัฐฯ สนับสนุนราคาเล็กน้อย) โดยมูลค่ารวมในตลาดคริปโตในสัปดาห์นี้ต่ำกว่าระดับสำคัญทางจิตวิทยาที่ $1 ล้านล้านดอลลาร์ และอยู่ที่ $0.937 ล้านล้านดอลลาร์ ($1.024 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ก่อนหน้า) ด้านดัชนี Crypto Fear & Greed Index ลดลงจาก 50 เหลือ 34 จุดในหนึ่งสัปดาห์และขยับมาจากโซน Neutral เข้าสู่โซน Fear

    Nicholas Merten นักวิเคราะห์ชื่อดังและเจ้าของช่อง DataDash ใน YouTube ยังไม่ตัดโอกาสที่ Ethereum อาจถูกเทลงครั้งใหญ่อีกครั้ง หากเราดูตลาดหมีครั้งก่อนหน้าในการคำนวณแล้ว ETH อาจร่วงลงได้มากกว่า 90% จากระดับสูงสุดในประวัติศาสตร์ ซึ่งราคาจะเหรียญจะเหลือเพียงไม่กี่ร้อยดอลลาร์เท่านั้น

    ETH/USD ยังมีหนทางอีกยาวไกล “เราอยู่แค่ 67% จากระดับสถิติเท่านั้น” กล่าวโดย Merten “และหากเราได้เห็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในตลาดหมีครั้งก่อนหน้าอีกครั้ง ซึ่งก็คือการปรับฐาน 92% หรือ 94% จากนั้นราคา ETH จะลดลงเหลือไม่กี่ร้อยดอลลาร์ ส่วนต่างมันเยอะมาก จาก $870 เหลือประมาณ $500”

    ปกติแล้วเรามักจะปิดท้ายบทวิเคราะห์ด้วยเรื่องราวดี ๆ แต่จะเกิดอะไรขึ้นถ้าหากหลังฤดูหนาวคริปโตที่ยาวนาน แทนที่จะเป็นฤดูใบไม้ผลิ เรากลับต้องเจอกับฤดูหนาวที่เยือกเย็นอีกครั้ง? ภาวนาว่าฤดูหนาวคริปโตจะเป็นไปตามฤดูตามปฏิทิน และตอนนี้ก็ถึงเดือนแรกของฤดูใบไม้ผลิแล้ว ซึ่งเราหวังว่ามันจะตามมาด้วยฤดูร้อนอันอบอุ่น

 

กลุ่มนักวิเคราะห์ NordFX

 

หมายเหตุ: เนื้อหาดังกล่าวไม่ควรยึดถือเป็นคำแนะนำในการลงทุนหรือเป็นคำปรึกษาในการซื้อขายในตลาดการเงิน โดยเนื้อหาข้างต้นเป็นไปเพียงเพื่อจุดประสงค์ในการให้ข้อมูลเท่านั้น การซื้อขายในตลาดการเงินมีความเสี่ยงและอาจทำให้เกิดการสูญเสียเงินฝากได้

กลับ กลับ
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ นโยบายคุกกี้ ของเรา