EUR/USD: ตลาดกำลังอยู่กลางสี่แยก
- ทุกอย่างเกิดขึ้นอย่างที่มันควรจะเป็น คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารเฟด (FOMC) ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 25 จุดพื้นฐาน (bps) เป็น 5.25% ในการประชุมวันที่ 2 และ 3 พฤษภาคม ธนาคารกลางยุโรปดำเนินการในลักษณะเดียวกันในวันที่ 4 พฤษภาคม โดยขึ้นอัตราดอกเบี้ยยูโรเท่ากันที่ 25 bps เป็น 3.75% การขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้ถูกเก็งไว้ในราคาตลาดอยู่แล้ว ที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้นคือรายงานและคำแถลงข่าวโดยผู้บริหารธนาคารกลางทั้งสองแห่ง
ความสนใจต่อคำแถลงของ Jerome Powell ประธานธนาคารเฟดเพิ่มขึ้นเนื่องด้วยวิกฤติธนาคารที่รุนแรงขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หุ้นของ First Republic Bank ร่วงลงหลังรายงานการเงินที่ย่ำแย่ และฉุดกระชากหุ้นธนาคารอีกหลายแห่ง ภาคธนาคารของสหรัฐฯ ร่วงลงมากกว่า 10% นับตั้งแต่ช่วงต้นสัปดาห์ สถานการณ์สร้างความคาดหวังว่าธนาคารเฟดจะเปลี่ยนท่าทีจากนโยบายการเงินแบบเข้มงวด (QT) เป็นแบบผ่อนปรนมากขึ้น (QE) เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงนั้นเป็นสาเหตุของวิกฤติธนาคาร
คำแถลงโดยประธานเฟดค่อนข้างมีความกำกวม แม้ว่าจะตระหนักถึงบางประเด็นปัญหา นาย Jerome Powell ไม่ได้ยืนหยัดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยระดับสูงสุดนี้ไปจนถึงปลายปี 2023 เขายังกล่าวด้วยว่า แม้ว่าการตัดสินใจที่จะหยุดพักวัฎจักรมาตรการคุมเข้มทางการเงินในปัจจุบันยังไม่เกิดขึ้น แต่ก็ไม่ตัดโอกาสความเป็นไปได้ที่อัตราดอกเบี้ยกำลังขึ้นสู่ระดับสูงสุดแล้ว
ด้วยเหตุนี้ ตลาดอนุพันธ์จึงตัดสินใจว่า อัตราดอกเบี้ยในช่วงปลายปีจะลดต่ำลงมาอีก 90 จุด การคาดการณ์เหล่านี้ส่งผลให้ดัชนีดอลลาร์ DXY และผลตอบแทนพันธบัตรขยับลดลง ในขณะที่ EUR/USD ขยับขึ้น อย่างไรก็ดี การเติบโตดังกล่าวค่อนข้างพอประมาณที่ 100 จุด ราคาไม่สามารถฝ่าระดับ 1.1100 ไปได้ และหลังจากการประชุมของธนาคารกลางยุโรป ราคาก็ถอยกลับลงมา
สถิติซึ่งประกาศเมื่อวันอังคารที่ 2 พฤษภาคม ชี้ให้เห็นว่า ตัวเลขการค้าปลีกของเยอรมนีลดลงจาก -7.1% เหลือ -6% (การคาดการณ์ที่ -6.1%) และอัตราเงินเฟ้อ (CPI) ในยูโรโซนโดยรวมเพิ่มขึ้นจาก 6.9% เป็น 7.0% ตามสถิติเบื้องต้น ธนาคารกลางยุโรปจึงแสดงความกังวลคล้ายกันกับธนาคารเฟดต่อ ผลกระทบที่ล่าช้าจากนโยบายการเงินแบบเข้มงวด ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาใหม่ในเศรษฐกิจ ผลที่ตามมาก็คือนโยบายการเงินแบบเข้มงวดควรชะลอตัวลง
แต่ธนาคารกลางยุโรปประกาศว่า ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป แม้ยอดขายสินทรัพย์จากงบจะเพิ่มขึ้นจาก €15 พันล้านเป็น €25 พันล้านยูโรต่อเดือน นักลงทุนก็ยังไม่พึงพอใจ ตลาดในระยะสั้นตอบสนองต่อความเป็นไปได้ที่จะมีการชะลอมาตรการ QT ในยูโรโซนโดยการปรับลดตัวเลขคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยจาก 3.9% เป็น 3.6% ภายในปีนี้ ซึ่งในครั้งนี้ ผลตอบแทนพันธบัตรยูโรและเยอรมันร่วงลงพร้อมกัน
สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ EUR/USD กลับมายังตรงกลางของกรอบไซด์เวยส์ที่ 1.0940-1.1090 ซึ่งราคาได้ขยับอยู่ในกรอบนี้มาเป็นเวลาสองสัปดาห์ติดต่อกัน (จริง ๆ แล้ว ถ้าไม่นับรวมช่วงที่ราคาพุ่งเลยออกไป กรอบนี้จะแคบยิ่งกว่าที่ 1.0965-1.1065)
สถิติจากตลาดแรงงานสหรัฐฯ ประกาศเมื่อวันศุกร์แรกของเดือนวันที่ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมา และช่วยพยุงดอลลาร์ในช่วงสั้น ๆ จำนวนตำแหน่งงานใหม่นอกภาคการเกษตรของสหรัฐฯ (NFP) คิดเป็น 253K โดยเพิ่มขึ้นสูงกว่าตัวเลขครั้งก่อนหน้า (165K) และตัวเลขคาดการณ์ (180K) สถานการณ์อัตราว่างงานดีขึ้นเช่นกัน และอัตราว่างงานลดลงจาก 3.5% เป็น 3.4% แทนที่การคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 3.6%
ดังนั้น EUR/USD ปิดตลาดรอบห้าวันทำการที่ระดับ 1.1018 ในขณะที่เขียนบทวิเคราะห์ฉบับนี้ในช่วงเย็นวันศุกร์ที่ 5 พฤษภาคม ความเห็นของนักวิเคราะห์แบ่งออกเป็นกลุ่มต่าง ๆ ดังนี้ 60% คาดว่าดอลลาร์จะอ่อนค่า และคู่นี้จะขยับขึ้น 30% คาดว่าดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้น และส่วน 10% ที่เหลือยังคงท่าทีเป็นกลาง
ในส่วนของการวิเคราะห์เชิงเทคนิค ออสซิลเลเตอร์บนกรอบ D1 มี 60% เป็นสีเขียว (10% ให้สัญญาณว่าราคาอยู่ในโซน overbought) ในขณะที่ 40% ที่เหลือเป็นสีเทากลาง ในส่วนของอินดิเคเตอร์เทรนด์ 90% เป็นสีเขียว และมีเพียง 10% เท่านั้นที่เป็นสีแดง ด้านแนวรับที่ใกล้ที่สุดของคู่นี้อยู่ที่บริเวณ 1.0985-1.1000 ตามมาด้วย 1.0925-1.0955, 1.0865-1.0885, 1.0740-1.0760, 1.0675-1.0710, 1.0620 และ 1.0490-1.0530 ด้านกระทิงจะต้องเจอกับแนวต้านที่บริเวณ 1.1050-1.1070 จากนั้นคือ 1.1109-1.1110, 1.1230, 1.1280 และ 1.1355-1.1390
ในส่วนของกิจกรรมสำคัญในสัปดาห์ที่จะถึงนี้ ในวันพุธที่ 10 พฤษภาคมน่าจะเป็นวันที่สำคัญมากที่สุด เพราะจะมีการประกาศสถิติเงินเฟ้อ (CPI) ของเยอรมนีและสหรัฐฯ ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของมิชิแกนเบื้องต้นจะประกาศในวันศุกร์ที่ 12 พฤษภาคม ซึ่งจะช่วยเสริมภาพรวมของเศรษฐกิจ
GBP/USD: การคาดการณ์เงินปอนด์ส่วนมากเป็นบวก
- สำหรับการคาดการณ์ในช่วงห้าวันที่ผ่านมา ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ (75%) เข้าข้างฝั่งดอลลาร์สหรัฐ จริงอยู่ที่เมื่อต้นสัปดาห์ ดอลลาร์แข็งค่าขึ้น 130 จุดเทียบกับเงินปอนด์ อย่างไรก็ดี หลังจากสถาบัน Chartered Institute of Procurement and Supply (CIPS) ของอังกฤษเริ่มประกาศตัวเลข PMI ซึ่งชี้ให้เห็นว่ากิจกรรมทางธุรกิจของประเทศเพิ่มสูงขึ้น จากตัวเลขครั้งก่อนหน้าที่ 52.2 และการคาดการณ์ที่ 53.9 ดัชนี Composite PMI จริงเพิ่มขึ้นเป็น 54.9 จุด ส่วน PMI ภาคบริการของสหราชอาณาจักรยิ่งเติบโตอย่างน่าประทับใจมากกว่าจาก 52.9 เป็น 55.9 (ตัวเลขคาดการณ์คือ 54.9)
เงินปอนด์ยังได้รับแรงหนุนเพิ่มเติมจากอีกฟากหนึ่งของมหาสมุทรแอตแลนติก วิกฤติธนาคาในสหรัฐฯ และคำแถลงที่ดูกำกวมจากประธานธนาคารเฟดช่วยให้ GBP/USD ขยับขึ้นมายังระดับ 1.2652 โดยราคาไม่เคยขึ้นสูงถึงระดับดังกล่าวนับตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายน 2022 และปิดตลาดท้ายสัปดาห์ต่ำลงมาเล็กน้อยที่ 1.2631
ในวันจันทร์ที่ 8 พฤษภาคมจะเป็นวันหยุดธนาคารในสหราชอาณาจักร อย่างไรก็ดี หลังจากนั้นจะตามมาด้วยสารพัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจอังกฤษ ได้แก่ การประกาศสถิติเบื้องต้นของผลผลิตจากภาคการผลิตและ GDP ของสหราชอาณาจักรในวันพฤหัสบดีนี้ นอกจากนี้ ในวันเดียวกันนั้นจะมีการประชุมของธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) จัดขึ้น ซึ่งผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่เชื่อว่าวัฎจักรการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเงินปอนด์ยังไม่สิ้นสุดลง และจะขึ้นต่อจาก 4.25% เป็น 4.5% หลังการประชุมของ BoE จะตามมาด้วยการแถลงข่าว ซึ่งมีนาย Andrew Bailey ผู้ว่าการธนาคารนั่งเป็นประธานการแถลงข่าว ในส่วนของท้ายสัปดาห์นี้ เราจะได้ทราบสถิติตัวเลขยอดการผลิตแบบทบทวนแล้ว และค่า GDP ของประเทศในวันศุกร์ที่ 12 พฤษภาคมนี้
ในขณะนี้ ผู้เชี่ยวชาญหลายคนคาดว่าเงินปอนด์จะแข็งค่าขึ้นต่อ พร้อมกับการทะยานขึ้นของ GBP/USD ซึ่งมีมุมมองต่อราคาดังนี้
"ดูเหมือนว่าความเชื่อว่าธนาคารยุโรป รวมถึงธนาคารจากอังกฤษมีการกำกับดูแลที่ดีกว่าธนาคารในสหรัฐฯ นั้นมีส่วนช่วยคุ้มครองค่าเงินยุโรปอยู่บ้าง” ความเห็นจากนักเศรษฐศาสตร์จาก Internationale Nederlanden Groep (ING) " สิ่งนี้ยังช่วยสนับสนุนความคาดหวัง (ซึ่งเราไม่เห็นด้วย) ว่าธนาคารกลางอังกฤษอาจขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกสองหรือสามครั้งในปีนี้ จากการประเมินล่าสุด ธนาคารกลางอังกฤษอาจไม่ดำเนินการตามความคาดหวังเหล่านี้ในสัปดาห์หน้า ซึ่งจะทำให้เงินปอนด์รักษาความสำเร็จล่าสุดของมันไว้ได้” นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคาร ING เชื่อว่าคู่ GBP/USD อาจขยับขึ้นมาที่ 1.2650-1.2750
ผู้เชี่ยวชาญจาก Scotiabank เชื่อว่าแรงขับจะพาราคาขึ้นไปที่ 1.2700-1.2800 แต่พวกเขาก็ไม่ตัดโอกาสที่การเติบโตดังกล่าวอาจเกิดขึ้นอย่างล่าช้ามาก ซึ่งแนวรับในมุมมองของพวกเขาคือโซน 1.2475-1.2525
ธนาคาร Credit Suisse ยังคงเห็น “ศักยภาพที่ราคาจะขยับขึ้นต่อไปยังเป้าหมายที่ 1.2668-1.2758 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของเดือนพฤษภาคม 2022 และเป็นระดับการปรับฐาน 61.8% ของแนวโน้มขาลงปี 2021/2022 “ในที่นี้ เราคาดหวังว่าจุดสูงสุดที่สำคัญจะเกิดขึ้น” กล่าวโดยผู้เชี่ยวชาญ Credit Suisse ยังเตือนด้วยว่าหากเงินปอนด์อ่อนค่าลง แนวรับที่ 1.2344 ควรจะต้านทานไว้ได้ แต่ถ้าราคายืนไม่อยู่ จะเกิดการย่อตัวที่ลึกขึ้นมาที่ 55-DMA และจะกลับไปยังแนวรับที่ 1.2190-1.2255
นักยุทธศาตร์จาก HSBC หนึ่งในเครือการเงินขนาดใหญ่ที่สุดในโลกเห็นด้วยกับแนวโน้มเชิงบวก “ในขณะนี้ เงินปอนด์ได้ประโยชน์จากทั้งความต้องการในความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในหมู่นักลงทุนและการแกว่งขึ้นตามวัฎจักร” “เราเชื่อว่าโมเมนตัมจากวัฎจักรในทางบวกนี้จะช่วยสนับสนุนเงินปอนด์ในช่วงหลายเดือนที่จะมาถึง แต่ในสถานการณ์การให้สินเชื่อที่อ่อนแอและผลที่ตามมาจากการคลายตัวของภาวะเงินเฟ้อ GBP/USD อาจไม่สามารถขยับไปไกลกว่าระดับ 1.3000 ได้"
ในส่วนการคาดการณ์ระยะกลางมีผู้เชี่ยวชาญ 50% ในขณะนี้ที่เห็นด้วยกับเงินปอนด์ 10% เห็นด้วยกับเงินดอลลาร์ และ 40% มีท่าทีเป็นกลาง ด้านอินดิเคเตอร์เทรนด์บนกรอบ D1 มี 100% ที่เห็นด้วยกับฝั่งสีเขียว (ตลาดกระทิง) และออสซิลเลเตอร์ก็ให้ภาพที่คล้ายกัน แต่หนึ่งในสามชี้ว่าราคาอยู่ในโซน overbought แล้ว ด้านระดับและโซนแนวรับของคู่นี้คือ 1.2575-1.2610, 1.2510, 1.2450-1.2480, 1.2390-1.2400, 1.2330, 1.2275, 1.2200, 1.2145, 1.2075-1.2085, 1.2000-1.2025, 1.1960, 1.1900-1.1920 และ 1.1800-1.1840 หากราคาขยับขึ้นทิศเหนือ ราคาจะต้องเจอกับแนวต้านที่ระดับ 1.2650, 1.2695-1.2700, 1.2820 และ 1.2940
USD/JPY: เงินเยนได้แรงสนับสนุนจากสหรัฐฯ
- ในการประชุมครั้งล่าสุด ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) ยังคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับติดลบที่ -0.1% (ครั้งสุดท้ายที่มีการเปลี่ยนแปลงคือวันที่ 29 มกราคม 2016 ซึ่งถูกปรับลดลง 20 จุดพื้นฐาน) ทั้งนี้ ในช่วงการแถลงข่าวหลังการประชุมวันที่ 28 เมษายน นาย Kazuo Ueda ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นคนใหม่กล่าวว่า “เราจะเดินหน้านโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไปโดยไม่ลังเล หากมีความจำเป็น” ดูเหมือนว่ามันจะไม่มีพื้นที่เหลือให้ผ่อนคลายอีกต่อไป แต่บางทีระดับที่ -0.1% ในขณะนี้ก็ไม่ใช่ระดับจำกัด
ผลลัพธ์จากคำพูดของผู้ว่าการธนาคารกลางยุโรปนั้นปรากฏให้เห็นบนกราฟ โดยภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง USD/JPY พุ่งขึ้นจาก 133.30 ไปที่ 136.55 แปลว่าเงินเยนอ่อนค่าลง 325 จุด การเติบโตดังกล่าวยังคงเกิดขึ้นต่อในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา และราคาทำระดับสถิติสูงสุดในกรอบที่ 137.77 เมื่อวันอังคารที่ 2 พฤษภาคม หลังจากนั้นเงินเยนก็สวมบทบาทเป็นที่หลบภัย และได้รับแรงหนุนจากวิกฤติธนาคารในสหรัฐฯ คำแถลงของ Jerome Powell ช่วยปิด “งาน” ให้เงินเยนแข็งค่าขึ้น และทำให้ราคาร่วงลงมา 428 จุดที่ 133.49 ในที่สุด
ในวันศุกร์ที่ 5 พฤษภาคม สถิติตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่งช่วยให้ดอลลาร์ฟื้นตัวขึ้นมาบางส่วน และ USD/JPY ปิดตลาดท้ายสัปดาห์ที่ 134.83
การประชุมของ BoJ ครั้งถัดไปจะมีขึ้นในวันที่ 16 มิถุนายน ซึ่งก่อนจะถึงวันนั้น อัตราแลกเปลี่ยน USD/JPY น่าจะขึ้นอยู่กับฝั่งดอลลาร์เป็นหลัก ในส่วนของแนวโน้มระยะสั้นของคู่นี้ ความเห็นของนักวิเคราะห์มีดังต่อไปนี้ 25% ของผู้เชี่ยวชาญโหวตว่าราคาจะขยับขึ้นต่อไป จำนวนเดียวกันโหวตในทิศทางตรงกันข้าม ส่วนใหญ่ (50%) ไม่ให้ความเห็น จึงยืนยันว่านักลงทุนกำลังอยู่ท่ามกลางสี่แยกและรอดูสัญญาณที่อาจจะพาตลาดไปยังทิศทางใดทิศทางหนึ่ง
อินดิเคเตอร์บนกรอบ D1 ก็ดูน่าสงสัยเช่นกัน ในส่วนของออสซิลเลเตอร์ 50% ชี้ไปยังทิศเหนือ 25% มีท่าทีเป็นกลาง และ 25% ที่เหลือชี้ไปยังทิศใต้ (หนึ่งในสามอยู่ในโซน oversold) อัตราส่วนของอินดิเคเตอร์อยู่ที่ 60 ต่อ 40% โดยฝั่งสีเขียวมากกว่า ระดับแนวรับที่ใกล้ที่สุดอยู่ที่บริเวณ 134.35 ตามมาด้วยระดับและโซนที่ 133.60, 132.80-133.00, 132.00, 131.25, 130.50-130.60, 129.65, 128.00-128.15 และ 127.20. Resistance levels and zones are at 135.15, 135.95-136.25, 137.50-137.75, and 139.05, 140.60
รายงานการประชุมเดือนเมษายนของคณะกรรมการนโยบายทางการเงินของธนาคารแห่งชาติญี่ปุ่นจะประกาศในวันจันทร์ที่ 8 พฤษภาคม โดยไม่คาดว่าจะมีการประกาศข้อมูลทางเศรษฐกิจที่สำคัญอื่นใดของญี่ปุ่นในช่วงสัปดาห์ที่จะถึงนี้
คริปโตเคอเรนซี:บิทคอยน์จะตื่นขึ้นเมื่อไหร่?
- แน่นอนว่าราคาของบิทคอยน์ได้รับอิทธิพลจากปัจจัยหลายประการ ได้แก่ มาตรการจากทางการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมนี้ ข่าวการล้มละลายของแพลตฟอร์มคริปโตและธนาคารต่าง ๆ และคำกล่าวของเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ที่ส่งผลต่อความเห็นในชุมชนคริปโต ปัจจัยทั้งหลายเหล่านี้ล้วนมีบทบาท แต่หนึ่งในปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่ส่งผลต่อ BTC/USD คือเหรียญอีกด้านหนึ่ง ซึ่งก็คือดอลลาร์สหรัฐ ยิ่งดอลลาร์ทำผลงานได้ดีเท่าไหร่ มันยิ่งเป็นผลเสียต่อคริปโตเคอเรนซีชั้นนำ ความสัมพันธ์แบบผกผันนี้เห็นได้อย่างชัดเจนเมื่อเทียบกราฟบิทคอยน์กับกราฟดัชนีดอลลาร์ DXY
ในเดือนมีนาคม การรอดูการตัดสินใจกำหนดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารเฟดเป็นตัวจำกัด DXY และ BTC/USD ให้อยู่ในกรอบด้านข้าง การขึ้นดอกเบี้ย 25 จุดนั้นเป็นไปตามการคาดการณ์และถูกเก็งไว้ในราคาอยู่แล้ว ดังนั้น ปฏิกิริยาที่นิ่งสงบของ DXY ต่อท่าทีดังกล่าวจึงค่อนข้างสมเหตุสมผล บิทคอยน์ยังตอบสนองอย่างนิ่งเฉยต่อข่าวนี้เช่นกัน และราคาคงตัวอยู่ที่ $26,500-30,000
สถานการณ์เบื้องหลังในปัจจุบันยังคงเป็นกลาง “ฝั่งกระทิง” กำลังเตรียมตุนพลังนอกเหนือจากการตัดสินใจกำหนดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารเฟดที่คาดการณ์ไว้แล้ว ความลังเลที่จะเข้าซื้อยังมีผลมาจากการขาดความต้องการถือสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงในหมู่นักลงทุน สถิติเศรษฐกิจมหภาคที่อ่อนแอจากจีนมีบทบาทมากในส่วนนี้
ปัจจัยอีกประการหนึ่งที่สร้างแรงกดดันต่อบิทคอยน์คือการเก็บกำไรโดยผู้ถือเหรียญบางกลุ่ม ซึ่งขยับตามการเติบโตที่น่าประทับใจของบิทคอยน์ในไตรมาสที่ 1 ของปีนี้ คนกลุ่มนี้เป็นเพียงแค่นักเก็งกำไรระยะสั้นที่คุมกว่า 60% ของกำไรที่เกิดขึ้นจริงทั้งหมด
ในส่วนของกลุ่ม “วาฬ” ได้กำจัดเหรียญที่ถือไว้บางส่วน กลุ่มนี้อาจเข้าสู่ช่วงจำศีลหรือกลับเข้าสู่ช่วงสะสมเหรียญอย่างไม่มีนัยสำคัญ เนื่องด้วยข่าววิกฤติธนาคารที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ BTC/USD ร่วงลงมาที่ $26,933 ในวันที่ 24 เมษายน ซึ่งตลาดเตรียมดูราคาบิทคอยน์ขยับลงต่ำกว่าลงมาที่แนวรับ $26,500 อยู่แล้ว ซึ่งหากหลุดแนวรับนี้จะเปิดทางไปสู่ $25,000 อย่างไรก็ดี ราคาเหรียญกลับขยับขึ้นมาที่ $30,020 อย่างไม่คาดคิดเมื่อวันที่ 26 เมษายน โดยสาเหตุที่ราคาขึ้นนั้นเป็นเพราะการล้มละลายของธนาคารอเมริกันแห่งที่สี่ ในครั้งนี้คือธนาคารที่มีชื่อว่า First Republic Bank.
ผู้เชี่ยวชาญจาก Standard Chartered ธนาคารอังกฤษมีความเห็นว่า บิทคอยน์ได้ประโยชน์จากสถานะ “ที่หลบภัย” สำหรับการออมเงินในช่วงต้นปี 2023 และสถานการณ์ปัจจุบันแสดงถึงจุดสิ้นสุดลงของ “ฤดูหนาวคริปโต” Geoff Kendrick ประธานแผนกวิจัยสกุลเงินของธนาคาร Standard Chartered ของอังกฤษ กล่าวในบทสัมภาษณ์กับ Business Insider โดยกล่าวว่าสถานการณ์นี้อาจเกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2023 หากสภาคองเกรสไม่อนุมัติการขึ้นเพดานหนี้สู่ระดับใหม่ อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญรายนี้มองว่าการผิดนัดชำระหนี้ “ไม่น่าจะเกิดขึ้น” แต่ถ้าเกิดขึ้นจะมาพร้อมกับ “ผลที่ตามมาครั้งใหญ่”
Kendrick เชื่อว่าบิทคอยน์จะเติบโตขึ้นอย่างเป็นเส้นตรง โดยมีแนวโน้มที่หลังจากผิดนัดชำระหนี้ ราคาจะร่วงลงมาที่ $5,000 ในช่วงวันหรือสัปดาห์แรก จากนั้นราคาจะเพิ่มขึ้นเป็น $25,000 อย่างรวดเร็ว ในส่วนของ Ethereum เขามองว่ามันเทรดเหมือนกับหุ้น จึงมีแนวโน้มที่จะร่วงลงมากกว่าในสถานการณ์ดังกล่าว กลยุทธ์การเทรดที่ดีที่สุดในมุมมองของ Kendrick คือการเปิดคำสั่งซื้อกับบิทคอยน์และขาย Ethereum
ก่อนหน้านี้ นักวิเคราะห์จาก Standard Chartered ท่านนี้เคยกล่าวว่า บิทคอยน์อาจขยับขึ้นถึง $100,000 ภายในสิ้นปี 2024 โดยเขาอ้างวิกฤติธนาคารเป็นสาเหตุหลัก ตามมาด้วยการฮาล์ฟผลตอบแทน และการผ่อนคลายนโยบายทางการเงินของธนาคารเฟดสหรัฐฯ
Ray Dalio นักลงทุนและเศรษฐีพันล้านยอมรับว่า แม้ว่าเขาจะเป็นเจ้าของบิทคอยน์ เขาชอบทองคำมากกว่า ในมุมมองของเขา บิทคอยน์ทำหน้าที่เป็นเครื่องประกันภาวะเงินเฟ้อได้ดี แต่ไม่ใช่ทางเลือกที่ดีโดยสมบูรณ์เมื่อเทียบกับทองคำ “ผมไม่เข้าใจว่าทำไมคนถึงหันเข้ามาบิทคอยน์มากกว่าทองคำ” เขากล่าว “ในระดับระหว่างประเทศนั้น ทองคำเป็นสินทรัพย์สำรองใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสามของโลกสำหรับธนาคารกลาง รองจากดอลลาร์ ยูโร ทองคำ และเยนญี่ปุ่น"
Dalio มองว่าทองคำเป็นสิ่งที่ “เหนือกาลเวลาและเป็นสากล” ในทางกลับกัน บิทคอยน์ต้องอาศัยการติดตามอย่างใกล้ชิดจากนักลงทุนเนื่องด้วยความผันผวนของมัน “คุณจะต้องเตรียมพร้อมที่ราคาจะร่วงลงถึง 80% หรือประมาณนั้น” เศรษฐีพันล้านกล่าวเตือน
Jenny Johnson ซีอีโอจากบริษัทด้านการลงทุน Franklin Templeton ซึ่งบริหารจัดการสินทรัพย์มูลค่ากว่า $1.5 ล้านล้านดอลลาร์ ได้วิจารณ์บิทคอยน์ว่า เทคโนโลยีบล็อกเชนเป็นสิ่งขัดขวางนวัตกรรมที่แท้จริงที่ใหญ่ที่สุด เธอยังกล่าวเตือนด้วยว่าอุตสาหกรรมคริปโตควรเตรียมรับมือกับระเบียบที่เข้มงวดยิ่งขึ้น ประธาน Franklin Templeton รายนี้ยังเตือนต่อว่า บิทคอยน์จะไม่สามารถกลายเป็นสกุลเงินของโลกได้ และรัฐบาลสหรัฐฯ จะไม่อนุญาตให้สิ่งนี้เกิดขึ้น “ฉันบอกได้เลยว่า หากบิทคอยน์มันมีความสำคัญขึ้นมาจนเป็นภัยต่อดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินสำรอง สหรัฐฯ จะจำกัดการใช้งานของมัน” ในทางกลับกัน เธอมองว่าสิงคโปร์ ฮ่องกง และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นที่ที่กฎหมายเอื้อต่อคริปโต
การเปลี่ยนแปลงในท่าทีของผู้ออกกฎหมาย รวมถึงสงครามและเหตุวิบัติต่าง ๆ เป็นเพียงปัจจัยส่วนหนึ่งที่เอไอไม่สามารถคาดการณ์และพิจารณาได้ ดังนั้น การอาศัยการคาดการณ์ของ ChatGPT ในการพัฒนากลุทธ์การเทรดจึงถือเป็นสิ่งที่ประมาทมาก Conor Grogan ผู้อำนวยการด้านธุรกิจของ Coinbase อ้างว่าเขาได้เจอ “เจลเบรก” (จุดอ่อน) ในซอฟต์แวร์ของ ChatGPT “เจลเบรก” ที่ว่านี้ช่วยให้ผู้ใช้งานได้รับคำทำนายจากเอไอ (ปัญญาประดิษฐ์) ต่อสถานการณ์ต่าง ๆ “ChatGPT ทำนายอนาคตของเหตุการณ์ได้ทุกเหตุการณ์ (รวมถึงวันเสียชีวิตของคนได้ด้วย) และคิดคำนวณความเป็นไปได้ของสถานการณ์” Grogran เขียนและกล่าวเสริมว่า “ChatGPT ดูเข้าข้างบิทคอยน์อย่างชัดเจน แต่กลับดูมีข้อกังขาต่ออัลท์คอยน์อื่น ๆ” การคาดการณ์ชี้ว่ามีโอกาส 15% ที่ BTC จะสูญเสียมูลค่า 99.9% ภายในปี 2035 และไม่มีประโยชน์อีกต่อไป ในกรณีของ Ethereum โอกาสที่จะเกิดขึ้นคือ 20% LTC - 35% และ DOGE 45%
ก่อนหน้านี้ ChatGPT เคยทำนายราคาบิทคอยน์ไว้ว่าอาจจะขยับถึง $150,000 ภายในปี 2024 หลังจากนั้นราคาจะเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยที่ $25,000 ต่อปี และขยับถึง $300,000 ภายในปี 2030
ต่างไปจาก ChatGPT นักเทรดที่มีชื่อเล่นว่า Bluntz ผู้เคยทำนายจุดต่ำสุดของตลาดหมีของ BTC ในปี 2018 เชื่อว่า บิทคอยน์ไม่น่าจะสามารถคงตัวยืนหยัดอยู่เหนือ $30,000 ในอนาคตอันใกล้นี้ได้ ความเห็นของเขามาจากการที่ BTC ได้จบแนวโน้มกระทิงคลื่นที่ห้าบนกราฟรายวันเรียบร้อยแล้ว Bluntz เชื่อว่า ขณะนี้บิทคอยน์กำลังอยู่ตรงกลางของการปรับฐาน ABC และสิ่งนี้อาจทำให้ราคาขยับลงมาที่ $25,000 และแนวโน้มขาลงดังกล่าวจะตามมาด้วยราคาขาขึ้นมาที่ $32,000 ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2023
ณ ขณะที่เขียนบทวิเคราะห์ฉบับนี้คือช่วงเย็นวันศุกร์ที่ 5 พฤษภาคม BTC/USD ซื้อขายอยู่ที่ $29,450 โดยมูลค่ารวมในตลาดคริปโตอยู่ที่ $1.219 ล้านล้านดอลลาร์ ($1.204 เมื่อหนึ่งวันก่อนหน้า) ดัชนี Crypto Fear & Greed Index ลดลงจาก 64 จุดเหลือ 61 จุด ในช่วงเจ็ดวันที่ผ่านมา และยังคงตัวอยู่ในโซนความโลภ (Greed)
ดัชนี Bitcoin Dominance Index (สัดส่วนของบิทคอยน์ในมูลค่ารวมตามราคาตลาดคริปโต) ขณะนี้อยู่ที่ 46.9% ในมุมมองของ Peter Brandt นักเทรดในตำนานและซีอีโอของ Factor LLC ชี้ว่า ดัชนีนี้กำลังเตรียมทะลุกรอบสี่เหลี่ยมที่ราคาสะสมกำลังมาเป็นเวลาสองปี แม้ว่าแนวโน้มจะอยู่ใน “กรอบที่จำกัด” หากราคาทะลุออกจากกรอบนี้ จะมีนัยสำคัญต่อสินทรัพย์ ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา สัดส่วนของ BTC ลดลงมาที่ 32.4% ในปี 2018 และขึ้นไปที่ 71.9% ในปี 2021 ซึ่งดัชนีนี้มีแนวโน้มที่จะผ่านระดับ 50% และเริ่มแนวโน้มกระทิง “ผมเชื่อว่าบิทคอยน์จะขุดหลุมฝังดินเหรียญที่เสแสร้งอื่น ๆ ทั้งหมด สุดท้ายแล้วจะเหลือราชาคนเดียวที่ยืนอยู่บนยอดเขา” เขียนโดย Peter Brandt
กลุ่มนักวิเคราะห์ NordFX
หมายเหตุ: เนื้อหาดังกล่าวไม่ควรยึดถือเป็นคำแนะนำในการลงทุนหรือเป็นคำปรึกษาในการซื้อขายในตลาดการเงิน โดยเนื้อหาข้างต้นเป็นไปเพียงเพื่อจุดประสงค์ในการให้ข้อมูลเท่านั้น การซื้อขายในตลาดการเงินมีความเสี่ยงและอาจทำให้เกิดการสูญเสียเงินฝากได้
กลับ กลับ