บทวิเคราะห์ฟอเร็กซ์และคริปโตเคอเรนซีประจำวันที่ 29 พฤษภาคม - 02 มิถุนายน 2023

EUR/USD: ดอลลาร์รอการล้มละลายของสหรัฐฯ

  • ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นนับตั้งแต่วันที่ 4 พฤษภาคมที่ผ่านมา ในสัปดาห์ที่แล้ววันที่ 26 พฤษภาคม ดัชนี DXY ขยับถึง 104.34 และไม่เคยอยู่สูงขนาดนี้มาตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม 2023 สิ่งที่ขับเคลื่อนค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ให้สูงขึ้นและส่งผลให้คู่ EUR/USD ขยับลงมาคืออะไร? นักวิเคราะห์จาก Commerzbank ชี้ว่าคือ “ความนิ่งสงบโดยบริบูรณ์ในตลาดออปชั่น ซึ่งชี้ให้เห็นว่าแรงขับเคลื่อนเบื้ืองหลัง EUR/USD คือการพิจารณานโยบายทางการเงินมากกว่าการเจรจาเพดานหนี้ธารณะของสหรัฐฯ ในขณะนี้” ทั้งนี้ โอกาสการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในวันที่ 14 มิถุนายนในที่ประชุมของ FOMC (คณะกรรมการกำหนดนโยบายทางการเงินของสหรัฐฯ) เพิ่มขึ้นตลอดเดือนพฤษภาคม ในช่วงต้นเดือน โอกาสการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่เกือบ 0% แต่ภายในปลายเดือนเพิ่มขึ้นเป็น 50% ผลปรากฏว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังทำผลงานได้ดีเยี่ยมเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจประเทศอื่น ๆ และสถานการณ์ที่แย่ลงในการให้สินเชื่อนั้นยังไม่รุนแรงหรือเร่งตัวอย่างที่กังวลเมื่อก่อนหน้านี้

    แน่นอนว่า 50% นั้นห่างไกลจาก 100% นอกจากนี้ FOMC ยังได้เผยแพร่ผลการประชุมครั้งล่าสุดเมื่อวันพุธที่ 24 พฤษภาคม ซึ่งไม่ปรากฏข้อความใด ๆ เกี่ยวกับโอกาสในการใช้มาตรการทางการเงินแบบเข้มงวดเพิ่มเติม เอกสารฉบับดังกล่าวยังเปิดเผยถึงความเห็นที่แตกต่างกันในหมู่กรรมการบริหารธนาคารเกี่ยวกับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป อย่างไรก็ดี การหนีเข้าหาความปลอดภัยเพื่อรับมือกับสถานการณ์สหรัฐฯ อาจผิดนัดชำระหนี้ยังคงช่วยหนุนเงินดอลลาร์

    รัฐบาลสหรัฐฯ มีหนี้สินเกินกว่า $31 ล้านล้านดอลลาร์แล้ว ในกรณีที่สภาคองเกรสไม่ขึ้นเพดานหนี้ภายใน 1 มิถุนายน สหรัฐฯ จะต้องประกาศว่าผิดนัดชำระหนี้ นาง Janet Yellen รัฐมนตรีการคลังได้ออกมาเตือนสถานการณ์ดังกล่าวแล้หลายครั้ง แต่วันที่จะเกิดภาวะล้มละลายจริง ๆ อาจไม่ใช่วันที่ 1 มิถุนายน โดย Deutsche Bank ชี้ว่าอาจเป็นปลายเดือนกรกฎาคม ด้าน Morgan Stanley พูดถึงช่วงวันที่ 7-14 มิถุนายนหรือ 21-28 กรกฎาคม และ Goldman Sachs ชี้ว่าเป็นช่วงกลายเดือนกันยายน

    นักเขียนนิตยสารชื่อดังของอังกฤษ The Economist กำลังทำให้ผู้อ่านตื่นตระหนก โดยเขียนว่าการล้มละลายของสหรัฐฯ จะส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกทรุดตัวหนักและสร้างความหวาดวิตกในเศรษฐกิจโลก การประเมินของสภาที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของทำเนียบขาวชี้ว่า ตลาดหุ้นจะร่วงลง 45% ในช่วงเดือนแรก ๆ ของวิกฤติ ด้านหน่วยงาน Moody ทำนายว่าจะเกิดแนวโน้มขาลง 20% แต่อัตราว่างงานจะเพิ่มขึ้นเป็น 5%

    ในส่วนของนักการเมืองมีการพูดคุยเกี่ยวกับการขยายเพดานหนี้ต่อไป ในวันพุธที่ 24 พฤษภาคม Kevin McCarthy โฆษกสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐฯ ตั้งข้อสังเกตว่ายังมีงานต้องทำอีกมากเพื่อจะบรรลุข้อตกลงให้สำเร็จ อย่างไรก็ตาม เขากล่าวเสริมว่า สหรัฐฯ จะไม่ต้องประกาศผิดนัดชำระหนี้ ส่วนประธานาธิบดี โจ ไบเดน แสดงความเชื่อมั่นที่จะได้สรุปข้อตกลงกับพรรครีพับลิคกัน ซึ่งเป็นข้อตกลงที่สองพรรคได้ประโยชน์ เนื่องจากปีหน้าเป็นปีแห่งการเลือกตั้งในสหรัฐฯ

    David Malpass ประธานธนาคารโลกไดกล่าวในบทสัมภาษณ์กับ CNN ว่า เขาไม่คาดว่าจะเกิดการผิดนัดชำระหนี้และอธิบายว่าสถานการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นทุก ๆ สองหรือสามปี (อ้างอิงว่าเพดานหนี้ของสหรัฐฯ มีอยู่มาตั้งแต่ปี 1917 และถูกปรับขึ้น 78 ครั้งนับตั้งแต่ 1960)

    อย่างที่เคยกล่าวไว้ก่อนหน้านี้ สถิติบ่งบอกว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังค่อนข้างมีความเชื่อมั่น ตัวเลขคาดการณ์ GDP ในไตรมาสที่ 1 ถูกปรับขึ้นจาก 1.1% เป็น 1.3% ในขณะเดียวกัน จำนวนยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานจากที่คาดการณ์คือ 250K ลดลงเป็น 229K จำนวนคำสั่งซื้อสินค้าคงทนเพิ่มขึ้นเป็น 1.1% ตัวเลขนี้ตามมาด้วยการเพิ่มขึ้นที่ 3.3% ในเดือนมีนาคม และสูงกว่าการคาดการณ์ของตลาดที่คาดการณ์ว่าจะลดลง 1.0% สุดท้ายนี้ดัชนีกิจกรรมประเทศเดือนเมษายนจากธนาคารเฟดสาขาชิคาโกเพิ่มขึ้นจาก -0.37 เป็น +0.07

    Goldman Sachs ธนาคารเพื่อการลงทุนได้ทำนายว่าดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้นเนื่องด้วยการขาดทางเลือกที่น่าดึงดูดเมื่อเทียบกับค่าเงินอื่น ๆ ผู้เชี่ยวชาญของธนาคารชี้ว่า ตอนนี้ยังไม่มีคู่แข่งจริงจังสำหรับสถานะสกุลเงินสำรองของโลก ไม่แม้แต่ยูโร สถานการณ์ในยูโรโซนไม่ทำให้นักลงทุนประทับใจ โดยการคาดการณ์เบื้องต้นของค่า GDP เยอรมนีในไตรมาสที่ 1 อยู่ที่ -0.1% ความเป็นจริงแสดงให้เห็นแนวโน้มที่ลดลง -0.3% นอกจากนี้ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ในภาคการผลิตของเยอรมนีลดลง (42.9 เทียบกับตัวเลขครั้งก่อนหน้าที่ 44.5 และการคาดการณ์ที่ 45.0) เช่นเดียวกันกับดัชนีบรรยากาศทางธุรกิจของประเทศ (IFO) (ที่ 91.7 เทียบกับตัวเลขครั้งก่อนหน้าที่ 93.4 และการคาดการณ์คือ 93.0)

    หลังจากเริ่มต้นสัปดาห์ที่ 1.0805 วันที่ 25 พฤษภาคม EUR/USD ขยับถึงระดับต่ำสุดในกรอบที่ 1.0701 และภายในท้ายสัปดาห์ (ช่วงเย็นวันศุกร์ที่ 26 พฤษภาคม) ราคาซื้อขายอยู่ที่ 1.0725 สำหรับแนวโน้มระยะสั้นในขณะนี้ นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ (55%) คาดว่าราคาจะปรับฐานขึ้นด้านบน ส่วน 20% คาดว่าดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้น ในขณะที่ 25% ที่เหลือมีท่าทีเป็นกลาง ในส่วนของอินดิเคเตอร์บนกรอบรายวัน (D1) ดอลลาร์มีความได้เปรียบเป็นอย่างมาก ออสซิลเลเตอร์ 100% ให้สัญญาณสีแดง (แต่หนึ่งในสามให้สัญญาณ oversold แล้วสำหรับคู่นี้) ส่วนอินดิเคเตอร์เทรนด์ 85% อยู่ฝั่งสีแดง (15% เลือกฝั่งสีเขียว) ระดับแนวรับที่ใกล้ที่สุดของคู่นี้อยู่ที่บริเวณ 1.0680-1.0710 ตามมาด้วยโซนและระดับต่าง ๆ ที่ 1.0620 และ 1.0490-1.0525 ส่วนฝั่งกระทิงจะเจอกับแนวต้านที่บริเวณ 1.0800-1.0835, followed by 1.0865, 1.0895-1.0925, 1.0985, 1.1045, 1.1090-1.1110, 1.1230, 1.1280 และ 1.1355-1.1390

    สัปดาห์ที่จะมาถึงเต็มไปด้วยเหตุการณ์สำคัญมากมาย ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะประกาศในวันอังคารที่ 30 พฤษภาคม ซึ่งในวันถัดมาจะเป็นการรายงานอัตราว่างงานและดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ส่วนในวันพฤหัสบดีจะมีการรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของเยอรมนี (PMI) ในภาคธุรกิจ วันที่ 1 มิถุนายน จะมีการประกาศดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เบื้องต้นของยูโรโซนและผลการประชุมของคณะกรรมการนโยบายทางการเงินในธนาคารกลางยุโรป นอกจากนี้ สถิติสำคัญจากสหรัฐฯ อีกหลายชุดจะประกาศให้ทราบ ได้แก่ สถิติตลาดแรงงาน และดัชนี PMI ในภาคการผลิตของสหรัฐฯ โดยสถาบันการจัดการอุปทาน (ISM)

    และตามธรรมเนียมทั่วไป วันศุกร์แรกของฤดูร้อนเราจะได้ทราบสถิติตลาดแรงงานสหรัฐฯ อีกรอบหนึ่ง ได้แก่ อัตราการว่างงาน และจำนวนตำแหน่งงานใหม่นอกภาคการเกษตรที่สร้างขึ้นในประเทศ นักเทรดควรทราบด้วยว่าวันจันทร์ที่ 29 พฤษภาคมเป็นวัน Memorial Day ในสหรัฐฯ และไม่มีการเทรดในวันนี้

GBP/USD: หนึ่งก้าวไปข้างหน้า ถอยหลังอีกหนึ่งก้าว

  • จริงอยู่ที่ GBP/USD เคลื่อนที่ไปข้างหน้าหนึ่งก้าวและก็ถอยหลังหนึ่งก้าวในช่วงที่ผ่านมา แต่ดูเหมือนว่าราคาจะขยับลงด้านล่าง หากดูกราฟอย่างใกล้ชิดจะเห็นว่า ราคาปิดท้ายสัปดาห์เมื่อวันศุกร์ที่ 26 พฤษภาคมที่ระดับเดียวกับที่เคยขยับถึงในเดือนกันยายนและเมื่อหนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้า ในด้านหนึ่ง ดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นก็ช่วยกดราคาให้ขยับลงมา แต่อีกด้านหนึ่ง ความหวังว่าเงินเฟ้อจะกระตุ้นให้ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปยังคงกีดกันไม่ให้ราคาดำดิ่งลงเหวลึก

    ข้อมูลอัตราเงินเฟ้อล่าสุด (CPI) ในสหราชอาณาจักรปรากฏว่าสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ สถิติเดือนกันยายนชี้ว่าราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้น 1.2% เทียบกับตัวเลขของเดือนที่แล้วที่ 0.8% ดัชนี CPI พื้นฐานขึ้นทำระดับสูงสุดในรอบหลายปีที่ 6.8% ปีต่อปีจากที่เดิมคาดการณ์ไว้ที่ 6.2% แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อรายปีจะชะลอตัวจาก 10.1% เหลือ 8.7% ตัวเลขยังคงสูงกว่าการคาดการณ์ที่ 8.2% และแม้ว่าจะเป็นสถิติที่ต่ำที่สุดในรอบ 13 เดือน ยังคงอยู่สูงกว่าระดับเป้าหมายที่ตั้งไว้

    คณะกรรมการนโยบายทางการเงินของธนาคารแห่งชาติอังกฤษตอบสนองต่อสถิติเหล่านี้โดย Jonathan Haskel กล่าวว่า เขาจะไม่ให้ความเห็นต่อราคาในตลาด แต่ไม่สามารถตัดโอกาสที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป อีกหนึ่งคนสำคัญคือ Jeremy Hunt รัฐมนตรีการคลังนั้นแสดงความสนับสนุนต่อนโยบายการเงินแบบตึงตัวเช่นกัน แม้ว่ามันจะกระทบต่อเศรษฐกิจ เขาให้สัมภาษณ์กับ Sky News ว่า “มันไม่ใช่การแลกกันระหว่างเอาชนะเงินเฟ้อหรือภาวะเศรษฐกิจถดถอย ท้ายที่สุดแล้ว หนทางสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนจะต้องเป็นการลดภาวะเงินเฟ้อ” นักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่าหากธนาคารแห่งชาติอังกฤษขึ้นอัตราดอกเบี้ยจริงอีก 1.0% เศรษฐกิจอังกฤษจะตกอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอย และเพิ่มแรงกดดันต่อเงินปอนด์

    ณ ขณะที่เขียนบทวิเคราะห์ฉบับนี้ GBP/USD ซื้อขายอยู่ที่บริเวณ 1.2350 โดยความเห็นของนักวิเคราะห์ในขณะนี้ค่อนข้างใกล้เคียงกัน โดย 40% โหวตให้แนวโน้มขาขึ้น 30% ขาลง และอีก 30% เว้นที่จะให้ความเห็น ในส่วนของออสซิลเลเตอร์บนกรอบ D1 มี 100% แนะนำให้ขาย (20% แสดงภาวะ oversold) ในส่วนของอินดิเคเตอร์เทรนด์ อัตราส่วนระหว่างสีแดงและสีเขียวอยู่ที่ 65% ต่อ 35% ในกรณีที่ราคาขยับลงด้านล่าง ราคาจะต้องเจอกับแนวรับที่โซนและระดับคือ 1.2300-1.2330, 1.2275, 1.2200, 1.2145, 1.2075-1.2085, 1.2000-1.2025, 1.1960, and 1.1900-1.1920 ซึ่งหากราคาขยับขึ้นจะต้องเจอกับแนวต้านที่ระดับ 1.2390, 1.2480, 1.2510, 1.2540, 1.2570, 1.2610-1.2635, 1.2675-1.2700, 1.2820 และ 1.2940

    สำหรับเหตุการณ์สำคัญที่จะมีขึ้นในสัปดาห์ที่จะถึงนี้ นักเทรดควรพักผ่อนในวันหยุด ซึ่งเป็นวันจันทร์ที่ 29 พฤษภาคมนี้ทั้งในสหราชอาณาจักรและสหรัฐฯ เพราะเป็นวันหยุดนักขัตฤกษ์ แต่ในวันพฤหัสบดีที่ 1 กรกฎาคม ควรให้ความสนใจเพราะจะเป็นวันที่มีการรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ในภาคการผลิตของประเทศ

USD/JPY: เงินเยนได้รับ "ตั๋วไปสู่ดวงจันทร"

  • เนื่องด้วยนโยบายที่ผ่อนปรนสุดโต่งของธนาคารแห่งชาติญี่ปุ่น (BoJ) และคำแถลงในทำนองเดียวกันจาก Kadsuo Ueda ผู้ว่าการคนใหม่ของญี่ปุ่น ส่งผลให้เงินเยนเป็นสกุลเงินที่อ่อนแอที่สุดในตะกร้าดัชนี DXY ในเดือนเมษายน โดยมีความเป็นไปได้สูงที่มันจะยังคงรักษาตำแหน่งนี้ในเดือนพฤษภาคมเช่นกัน ในสัปดาห์ที่แล้ว USD/JPY ยังคงพุ่งสู่ดวงจันทร์ โดยเริ่มต้นสัปดาห์ในวันจันทร์ที่ 137.93 และขยับถึง 140.70 ในช่วงเย็นวันศุกร์ และปิดตลาดต่ำลงมาเล็กน้อยในโซน 140.60

    นักวิเคราะห์หลายคนมีความเห็นว่า ท่าทีสายพิราบของธนาคารกลางญี่ปุ่นอาจยังคงส่งแรงกดดันต่อเงินเยนญี่ปุ่น และชี้ว่าเส้นทางที่มีแรงต้านทานน้อยที่สุดของ USD/JPY คือขาขึ้น สนับสนุนโดยแนวโน้มการขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปของฝั่งดอลลาร์สหรัฐ และผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่เพิ่มขึ้น การขึ้นอัตราดอกเบี้ยระหว่างสหรัฐฯ และญี่ปุ่นช่วยกระตุ้นให้เงินไหลออกจาก JPY ไปยัง USD

    ในส่วนของแนวโน้มระยะสั้นสำหรับคู่ USD/JPY ความเห็นของนักวิเคราะห์แบ่งออกเป็นกลุ่มต่าง ๆ ดังนี้ ในขณะนี้ 75% หวังว่าเงินเยนจะแข็งค่าขึ้นอย่างน้อยในระยะสั้น และจะปรับฐานลงทิศใต้ เพียง 25% เท่านั้นที่โหวตว่าราคาขึ้นด้านบนต่อไป ในส่วนของอินดิเคเตอร์บนกรอบรายวันชี้ว่าดอลลาร์มีความได้เปรียบมากอย่างชัดเจน อินดิเคเตอร์เทรนด์ 100% และออสซิลเลเตอร์ 100% ชี้ไปยังทิศเหนือ (แต่ออสซิลเลเตอร์ 25% ชี้สภาวะ overbought สำหรับคู่นี้) โดยมีระดับแนวรับที่ใกล้ที่สุดอยู่ในโซน 139.85 ตามมาด้วยระดับและโซนที่ 138.75-139.05, 137.50, 135.90-136.10, 134.85-135.15, 134.40, 133.60, 132.80-133.00, 132.00, 131.25, 130.50-130.60 และ 129.65 ส่วนระดับแนวต้านที่ใกล้ที่สุดคือ 141.40 และจากนั้นฝั่งกระทิงจะต้องฝ่าอุปสรรคที่ระดับ 142.20, 143.50 และ 144.90-145.10 โดยราคาสูงสุดที่ 151.95 ของเดือนตุลาคม 2022 อยู่ไม่ไกล

    ในสัปดาห์หน้าไม่มีกิจกรรมหรือข้อมูลทางเศรษฐกิจที่สำคัญใด ๆ จากญี่ปุ่น

คริปโตเคอเรนซี: บิทคอยน์ต้องการแรงกระตุ้น

  • บิทคอยน์ยังคงเจอแรงกดดันจากฝั่งผู้ขายเป็นเวลาสิบสัปดาห์ติดต่อกัน อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะเจอกับอุปสรรค ราคาก็สามารถพยุงตัวอยู่เหนือโซนแนวรับ/แนวต้านที่สำคัญบริเวณ $26,500 ได้ ในวันพฤหัสบดีที่ 25 พฤษภาคมท่ามกลางการแข็งค่าขึ้นของดอลลาร์ ฝั่งหมีเริ่มการโจมตีอีกครั้งและกดราคา BTC/USD ลงมาที่ระดับ $25,860 และมีการโจมตีในลักษณะเดียวกันเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม ที่ราคาลงมายัง $25,799 แต่การโจมตีทั้งสองครั้งถูกต้านทานไว้ได้และไม่เกิดพายุใด ๆ

    นักลงทุนเริ่มนึกถึงการเริ่มไตรมาสที่หนึ่งของปีนี้อย่างน่าประทับใจ อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่นั้นมาก็เป็นช่วงเวลาที่นิ่งสงบและกิจกรรมการเทรดลดลงทำระดับต่ำสุดในรอบสามปี นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่า ราคาปัจจุบันไม่สามารถจุดประกายความสนใจในหมู่ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายได้ ในสถานการณ์เช่นนี้ นักลงทุนลังเลที่จะลงทุน Glassnode หน่วยงานด้านการวิเคราะห์ชี้ว่า ผู้ถือระยะยาว (กว่า 155 วัน) ได้สะสมเหรียญกว่า 14.5 ล้าน BTC หากเราเพิ่มเงินสำรองของแพลตฟอร์มคริปโตและผู้สะสมรายอื่น ๆ ในจำนวนนี้ ตัวเลขดังกล่าวจะยิ่งสูงขึ้น แม้แต่นักเก็งกำไรระยะสั้นยังเข้าสู่ภาวะจำศีล ตลาดจำเป็นต้องมีแรงกระตุ้น ซึ่งอาจเป็นการตัดสินใจของธนาคารเฟดเกี่ยวกับนโยบายการเงินหรือการประกาศเรื่องภาวะผิดนัดชำระหนี้ของรัฐบาลสหรัฐฯ

    นี่คือสถานการณ์สองรูปแบบ คือ อาจมีการประกาศการผิดนัดชำระหนี้ (ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้) หรือจะไม่มีการประกาศ ในกรณีแรก ความมั่นใจของนักลงทุนต่อดอลลาร์สหรัฐในฐานะสกุลเงินสำรองจะลดลงอย่างรวดเร็ว และจะส่งผลดีต่อบิทคอยน์ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ในกรณีที่สองจะยิ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับเงินคริปโต โดยกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ จะต้องเติมเงินสำรองโดยการออกพันธบัตรอีกจำนวนมาก ทำให้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้น และนักลงทุนจะเลือกที่จะลงทุนในสินทรัพย์เหล่านี้มากกว่าใน BTC

    อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่ควรตระหนักคือ การประกาศการผิดนัดชำระหนี้อาจส่งผลต่อตลาด stablecoin อย่างมีนัยสำคัญได้ ทั้งนี้ Tether ที่ออก USDT คือหนึ่งในผู้ที่ถือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ มากที่สุด มากกว่าประเทศต่าง ๆ เช่น ไทยและอิสราเอล ปริมาณตราสารหนี้เหล่านี้ในงบดุลของ Tether อยู่ที่ $53 พันล้านดอลลาร์ หรือ 64% ของเงินสำรองของสถาบัน เงินสำรองเหล่านี้เองที่ช่วยสนับสนุนสภาพคล่องให้กับ USDT หากเกิดการผิดนัดชำระหนี้ เงิน 1 stablecoin จะมีมูลค่าไม่ใช่ $1 แต่จะเหลือเพียง 36 เซนต์ หรือมีโอกาสเป็นไปได้เช่นกันที่มันจะล้มละลายหายไปตาม Tether

    จริงอยู่ที่สถานการณ์ดูกำกวมเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ ผู้ร่วมอุตสาหกรรมยังคงกังวลเกี่ยวกับแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นด้านการกำกับดูแล ทั้งนี้ในปี 2023 คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ (SEC) ได้กล่าวหาตลาดคริปโตหลายแห่ง ได้แก่ Bittrex, Coinbase, Kraken, Gemini, และ Genesis โดยคณะกรรมการการซื้อขายสัญญาฟิวเจอร์ส (CFTC) ยังยื่นฟ้องร้อง Binance และซีอีโอ Changpeng Zhao ด้วย

    Yassine Elmandjra นักวิเคราะห์จาก ARK Invest เป็นผู้กล่าวเตือน เขามองว่า สภาพแวดล้อมการกำกับดูแลที่กำกวมส่งผลในเชิงลบต่อบริษัทที่มีอยู่และเป็นอุปสรรคขัดขวางผู้เล่นรายใหม่ ผู้เชี่ยวชาญตั้งข้อสังเกตว่า แนวโน้มขาขึ้นจากมาร์เก็ตเมกเกอร์อย่าง Jane Street และ Jump Trading จากสหรัฐฯ นั้นเป็นสัญญาณปฏิกิริยาตอบสนองในทางลบ สถิติจาก Coin Metrics ชี้ด้วยว่า ในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา ปริมาณการซื้อขาย Bitcoin ในประเทศลดลงมา 75% จาก $20 ล้านดอลลาร์ต่อวันในเดือนมีนาคมเป็น $4 ล้านดอลลาร์ในเดือนพฤษภาคม

    Michael Saylor ซีอีโอบริษัท MicroStrategy เชื่อว่า การฮาล์ฟผลตอบแทนเหรียญที่จะมาถึงและการเข้ามาแทรกแซงในการกำกับดูแลอุตสาหกรรมคริปโตจะส่งผลต่อบิทคอยน์ในทางบวกและเพิ่มสัดส่วนบิทคอยน์ในตลาด Saylor เน้นถึงความสนใจที่เพิ่มขึ้นในหมู่นักลงทุนต่อบิทคอยน์เมื่อเทียบกับเหรียญอื่น ๆ เขามองว่าคู่แข่ง BTC จะค่อย ๆ ล้มหายตายจากไปหลังจากเจอกฎกำกับดูแลที่เข้มงวดมากขึ้น ซึ่งสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนหลังจาก Gary Gensler ประธานกลต. สหรัฐฯ กล่าวว่า “ทุกสิ่งยกเว้นบิทคอยน์” อยู่ภายใต้กฎหมายหลักทรัพย์

    "เหรียญคริปโตและหลักทรัพย์คริปโตจะต้องมีการกำกับดูแล และพวกมันอาจจะไม่มีอยู่อีกต่อไป บิทคอยน์จะเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ชนิดเดียวที่กลต. ไม่ตั้งใจจะกำกับดูแล บิทคอยน์เป็นเครือข่ายและสินทรัพย์ที่ปลอดภัยที่สุด” กล่าวโดยประธานสูงสุดของ MicroStrategy เขามีความเห็นว่า การไหลออกของเงินอย่างต่อเนื่องจากเหรียญอื่น ๆ ในแวดวงคริปโตเข้ามายังบิทคอยน์จะเริ่มขึ้นในเร็ว ๆ นี้ และเขาเริ่มเห็นจุดเริ่มต้นของวัฎจักรกระทิงรอบใหม่แล้ว

    อ้างอิง: ณ วันที่ 4 เมษายน 2023 MicroStrategy รวมถึงบริษัทในเครือเป็นเจ้าของบิทคอยน์ประมาณ 140,000 BTC ซึ่งบริษัทจ่ายเงินซื้อรวมทั้งสิ้น $4.17 พันล้านดอลลาร์ ดังนั้น ราคาซื้อโดยเฉลี่ยเท่ากับ $29,803 ต่อเหรียญ

    มุมมองในทางตรงกันข้ามเป็นของ Mike McGlone นักวิเคราะห์จาก Bloomberg คาดการณ์การทรุดตัวของราคาบิทคอยน์ลงมาที่แนวรับ $7,366 การคาดการณ์นี้มาจากแนวโน้มขาลงไปยังค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 52 สัปดาห์ (MA) บนกราฟ BTC โดย McGlone ตั้งข้อสังเกตว่าก่อนที่ราคาจะกระโดดขึ้นในปี 2020 เส้นดังกล่าวนั้นกลับขยับขึ้น

    ผู้เชี่ยวชาญรายนี้มองว่า แนวโน้มขาลงจะยังคงดำเนินต่อไป และคริปโตเคอเรนซีจะเจอกับช่วงเวลาที่ยากลำบาก “ธนาคารเฟดเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ย แม้ว่าจะมีความวิตกกังวลในภาคธนาคาร แนวโน้มราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดลงอาจส่งผลให้สินทรัพย์กลุ่มเสี่ยงสูงมีราคาถูกลง แนวโน้มที่เพิ่มขึ้นพร้อมกันของบิทคอยน์และการทะยานขึ้นของตลาดหุ้นไม่น่าจะเกิดขึ้น” กล่าวโดย McGlone

    ทั้งนี้ ไม่นานมานี้เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา เขาได้ให้การคาดการณ์ที่ตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง ซึ่งเขาประเมินไว้ในเวลานั้นว่าบิทคอยน์อาจทะยานขึ้นไปแตะ $100,000

    ในช่วงเวลาที่ขาดปัจจัยพื้นฐานมากระตุ้น ผู้เชี่ยวชาญนั้นให้ความสนใจกับการวิเคราะห์เชิงเทคนิคเป็นพิเศษ เช่น Dave the Wave นักเทรดที่มีชื่อเสียงเรื่องการคาดการณ์ที่แม่นยำหลายครั้ง เชื่อว่าบิทคอยน์กำลังสะสมกำลังอยู่ใน “โซนซื้อ” ของเส้นโค้งแบบลอการิธึม เส้นโค้งนี้ประเมินราคาสูงสุดและต่ำสุดในระยะยาวของบิทคอยน์ตลอดช่วงวัฎจักรของมัน โดยเพิกเฉยต่อความผันผวนในระยะสั้น

    นักวิเคราะห์ท่านนี้ตั้งข้อสังเกตว่า จากโครงสร้างราคาในปัจจุบัน การขยับขึ้นของราคาไปที่ $32,000 จะเป็นสัญญาณการทะลุกรอบการสะสมกำลัง ดังนั้น Dave the Wave จึงมองว่า การเข้าซื้อที่ราคาต่ำกว่า $31,000 ยังคงเป็นโอกาสที่ดีเยี่ยม ส่วนการคาดการณ์แบบต่ำสุดของเขามองว่า ราคาเป้าหมายของบิทคอยน์ภายในสิ้นปีน่าจะอยู่ที่บริเวณ $40,000

    Michael van de Poppe นักวิเคราะห์ นักเทรด และผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์มให้คำปรึกษา EightGlobal ได้บอกกับผู้ติดตามทาง Twitter ของเขาว่า การกลับมาทดสอบที่แนวรับ $26,280 (MA200) อย่างสำเร็จอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกการสิ้นสุดลงของการปรับฐานและช่วงสะสมกำลังของบิทคอยน์ ดังนั้น เขาเชื่อว่าระดับนี้จะเป็นระดับที่ดีในการเข้าซื้อสะสมบิทคอยน์ ในช่วงหกเดือนที่ผ่านมา บิทคอยน์ใช้เวลาอยู่ต่ำกว่าแนวรับดังกล่าวเป็นเวลานาน ทำให้มันมีมูลค่าต่ำกว่าที่ควร สัปดาห์หน้านี้จะมีความสำคัญ ราคาจะมีการกลับมาทดสอบและเด้งขึ้นไปเพื่อแสดงถึงการสิ้นสุดลงของการปรับฐานบิทคอยน์” อธิบายโดยนักวิเคราะห์คริปโต ซึ่ง Michael van de Poppe มั่นใจว่าบิทคอยน์จะยืนยันการเติบโตในอนาคตได้นั้น มันจะต้องยืนให้มั่นคงเหนือระดับ $27,000 ให้ได้

    มีคำพูดที่คนมักกล่าวกันว่า “มากคน ก็มากความ (เห็น)” ซึ่งในกรณีนี้เราอาจจะตีความได้ว่า “มีนักวิเคราะห์หลายคน ก็มีหลายการคาดการณ์” สื่อออนไลน์ BeInCrypto ได้ตัดสินใจที่จะหาคำตอบว่าบิทคอยน์จะขยับขึ้นต่อหรือไม่ หรือราคาแนวไซด์เวยส์ที่ยืดเยื้อนี้จะจบลงด้วยแนวโน้มขาลงอีกรอบหนึ่ง ความเห็นในชุมชนคริปโตแตกออกเป็นกลุ่มต่าง ๆ เช่น การคาดการณ์จาก CryptoKaleo บล็อกเกอร์ชื่อดังยังไม่ตัดโอกาสที่บิทคอยน์จะอัปเดตราคาสูงสุดใหม่ สัญญาณที่ทำให้เขาเดิมพันว่าบิทคอยน์จะเติบโตนั้นยังเห็นได้โดยนักเทรดที่มีชื่อว่า DaanCrypto โดยเขากล่าวว่าบิทคอยน์อาจรีบาวด์จากเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่รายสัปดาห์ (MA200) โดยจากมุมมองการวิเคราะห์เชิงเทคนิค พฤติกรรมนี้จากบิทคอยน์อาจแสดงถึงแรงซื้อ

    ในทางกลับกัน Nebraskangooner บล็อกเกอร์คริปโตกลับเห็นสัญญาณแนวโน้มลงบนกราฟ การคาดการณ์ของเขายังไม่ตัดโอกาสที่บิทคอยน์จะตกลงมายัง $25,500 ซึ่งบล็อกเกอร์รายนี้เห็นสัญญาณจากการที่ราคาออกมาจากสามเหลี่ยมสมมาตรที่ปรากฏบนกราฟ การคาดการณ์แบบลบของบิทคอยน์ Bitcoin ยังสนับสนุนโดย Inmortal นักวิเคราห์ที่มีมุมมองในแง่บวก เขาไม่ตัดโอกาสเช่นกันที่ราคาอาจตกลงไปที่ $22,000 แต่เขามั่นใจว่าบิทคอยน์จะสามารถฟื้นตัวอย่างรวดเร็วได้หลังจากนั้น

    ณ ช่วงเย็นวันศุกร์ที่ 26 พฤษภาคม BTC/USD ซื้อขายอยู่ที่ 26,755 โดยมูลค่ารวมในตลาดคริปโตอยู่ที่ $1.123 ล้านล้านดอลลาร์ ($1.126 ล้านล้านดอลลาร์ในสัปดาห์ที่แล้ว) ดัชนี Crypto Fear & Greed Index ยังคงที่ไม่เปลี่ยนแปลงในช่วงเจ็ดวันที่ผ่านมา และขณะนี้อยู่ในโซนตรงกลาง (Neutral) ที่ระดับ 49 (48 จุดเมื่อหนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้า)

 

กลุ่มนักวิเคราะห์ NordFX

 

หมายเหตุ: เนื้อหาดังกล่าวไม่ควรยึดถือเป็นคำแนะนำในการลงทุนหรือเป็นคำปรึกษาในการซื้อขายในตลาดการเงิน โดยเนื้อหาข้างต้นเป็นไปเพียงเพื่อจุดประสงค์ในการให้ข้อมูลเท่านั้น การซื้อขายในตลาดการเงินมีความเสี่ยงและอาจทำให้เกิดการสูญเสียเงินฝากได้

กลับ กลับ
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ นโยบายคุกกี้ ของเรา