XAU/USD: ภาพรวมในอดีตและการคาดการณ์จนถึงปี 2027

ทองคำเป็นหนึ่งในสินทรัพย์เทรดตัวโปรดของนักเทรดส่วนใหญ่ที่ประสบความสำเร็จที่ NordFX สิ่งนี้ยืนยันได้จากการจัดอันดับรายเดือนโดยบริษัทโบรกเกอร์แห่งนี้ เพราะเช่นนี้ เราจึงจัดทำบทรีวิวพิเศษ ที่จะโฟกัสกับคู่ XAU/USD โดยเฉพาะ

 

ทองคำเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยจริงหรือไม่?

ในสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน ธนาคารกลางชั้นนำทั่วโลกพยายามที่จะรับมือกับภาวะเงินเฟ้อ ราคาทองคำจึงขึ้นทำระดับสูงสุดในประวัติศาสตร์ที่ $2,080 ต่อทรอยออนซ์เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม โดยตลาดต่างรีบกว้านซื้อทองคำ เพราะเชื่อว่ามันจะช่วยปกป้องคุ้มครองจากการเสื่อมมูลค่าของเงินสด

แบบสำรวจที่จัดทำขึ้นโดย Bloomberg ชี้ว่า ผู้ตอบแบบสอบถามประมาณ 50% มองว่าทองคำเป็นสินทรัพย์หลบภัยหลัก (ตามมาด้วยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นอันดับที่สอง โดยได้คะแนนโหวตเพียง 15%) อย่างไรก็ตาม ทองคำเป็นเครื่องมือที่ได้ผลดีที่สุดในการรับประกันความเสี่ยงของราคาจริงหรือไม่ หรือนี่เป็นเพียงแค่ความเข้าใจผิด ๆ?

หากพิจารณาช่วงเวลาตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงตุลาคม 2022 ราคาทองคำลดลงจาก $2,070 เหลือ $1,616 ซึ่งเป็นแนวโน้มลงเกือบ 22% สถานการณ์นี้เกิดขึ้นแม้ว่าภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐฯ จะทำระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี ในขณะนั้น แล้วอย่างนี้จะถือว่าทองคำเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยประเภทไหนกันแน่?

การเติบโตของราคาทองคำ

หากเราย้อนดูพฤติกรรมราคาทองคำในอดีต ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 เราจะสังเกตเห็นรูปแบบดังนี้ ในปี 1900 ราคาทองคำอยู่ที่ประมาณ $20 ต่อทรอยออนซ์

ในช่วงเวลาตั้งแต่ 1914 ถึง 1918 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และหลังจากสงคราม ราคาทองคำขึ้นเป็น $35 จากนั้นในช่วงปี 1930 ที่เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression) และผลลัพธ์ที่ตามมาจากการปฏิรูปค่าเงินในสหรัฐฯ ราคาทองคำกำหนดไว้ที่ $20.67 ต่อทรอยออนซ์ ตลอดช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง มูลค่าของราคาทองคำยังคงคงที่ที่ $35 ภายใต้ระบบเบรตตันวูดส์ (Bretton Woods) ระดับเดียวกันกับช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1

ในปี 1971 สหรัฐฯ ได้ละทิ้งมาตรฐานทองคำ ซึ่งทำให้อัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวและราคาทองคำเพิ่มสูงขึ้น ในช่วงปลายปี 1970 และต้นทศวรรษ 1980 ราคาทองคำขึ้นไปสูงกว่า $800 ต่อทรอยออนซ์เนื่องด้วยภาวะตึงเครียดทางการเมืองระหว่างประเทศ ภาวะเงินเฟ้อ และการผลิตทองคำที่ลดลง ตั้งแต่ช่วงปี 1980 ถึง 2000 ราคาทองคำปรับลดลงและผันผวนอยู่ในกรอบที่บริเวณ $250 ถึง $500

 นับตั้งแต่ช่วงต้นปี 2000 ราคาทองคำก็ขยับขึ้นเป็นอย่างมาก เนื่องด้วยเหตุการณ์การเมืองระหว่างประเทศ การขาดเสถียรภาพทางการเงิน และแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อ ในเดือนสิงหาคม 2020 ช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด 19 และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ทำให้ราคาทองคำขึ้นสูงกว่าระดับ $2,000 ต่อทรอยออนซ์เป็นครั้งแรก อย่างไรก็ตาม หลังจากระดับสูงสุดดังกล่าว ราคาก็เจอกับแนวโน้มขาลงเนื่องจากความคาดหวังว่าเศรษฐกิจจะมีการฟื้นตัว นโยบายการเงินที่ตึงตัวขึ้นโดยธนาคารกลาง การขึ้นอัตราดอกเบี้ย และปัจจัยอื่น ๆ อีกหลายประการ

ความพยายามครั้งต่อมาที่จะฝ่าขึ้นแนวต้านที่ $2,000 เกิดขึ้นในเดือนมีนาคม 2022 แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ท้ายที่สุด ความพยายามครั้งที่สามเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคมปีนี้

ทำไมราคาทองคำถึงขยับขึ้น

แล้วอะไรที่ส่งผลต่อมูลค่าของทองคำ และทำไมราคาทองคำจึงขยับขึ้น?

  • ความหายากและปริมาณที่จำกัด: ทองคำเป็นโลหะภัณฑ์ที่หายาก การสกัดแร่ทองคำมีจำกัด และต้องอาศัยความพยายามและทรัพยากรมาก
  • ความคงทนและอายุยาวนาน: ทองคำเป็นแร่ที่ทนต่อผุพังและเสื่อมสลายเป็นอย่างดี มันรักษาคุณสมบัติทางกายภาพได้ดี ทำให้เหมาะสำหรับการจัดเก็บในระยะยาวและดึงดูดสำหรับการใช้งานเป็นเครื่องประดับและอุตสาหกรรมอื่น ๆ
  • เครื่องสะสมมูลค่า: ทองคำถือว่าเป็นเครื่องสะสมมูลค่ามาเป็นเวลานานแล้ว มันสามารถรักษากำลังซื้อได้ในระยะยาว จึงเป็นเครื่องรับประกันความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อ และความไม่แน่นอนของหุ้นและสกุลเงิน
  • สภาพคล่องและการยอมรับ: ทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ได้รับการยอมรับเป็นสากล สามารถนำไปแลกเป็นเงินสดได้อย่างง่ายดาย และสามารถนำไปใช้เป็นสื่อกลางในการชำระเงินในประเทศและวัฒนธรรมอื่น ๆ ได้

ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้ทองคำเป็นที่ต้องการและชื่นชอบ และทำให้ราคาของมันสูงขึ้น

ปัจจัยที่ส่งผลต่อราคาทองคำ

เรามาลงลึกรายละเอียดปัจจัยที่ส่งผลต่อราคาทองคำกันต่อ สิ่งสำคัญที่ต้องเข้าใจคือ ราคาทองคำนั้นไม่ได้มีความสัมพันธ์โดยตรงกับแต่ละปัจจัย การคาดการณ์ตลาดและการพิจารณาปัจจัยเหล่านี้มประกอบก็มีบทบาทสำคัญในการคาดการณ์ราคาทองคำ เช่น การทะยานขึ้นครั้งล่าสุดของ XAU/USD อาจถือได้ว่ามาจากการคาดการณ์ว่าจะมีแนวโน้มพลิกกลับในวัฎจักรการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารเฟดสหรัฐฯ โอกาสการผิดนัดชำระหนี้ของสหรัฐฯ รวมถึงการขาดเสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจเนื่องด้วยการปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียในยูเครน โดยปัจจัยหลักต่าง ๆ มีดังนี้:

  • เงื่อนไขด้านเศรษฐกิจ: สถานการณ์เศรษฐกิจโลก รวมถึงการเติบโตหรือลดลงของ GDP อัตราการว่างงาน และเสถียรภาพทางการเงินโดยรวมสามารถมีอิทธิพลต่อราคาทองคำได้ ความไม่แน่นอนในตลาดหรือภาวะเศรษฐกิจถดถอยอาจกระตุ้นความต้องการในทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดความเสี่ยง
  • เหตุการณ์ทางภูมิศาสตร์การเมือง: เหตุการณ์การเมืองและการเมืองระหว่างประเทศ เช่น ความขัดแย้งทางทหาร สงคราม การก่อการร้าย การคว่ำบาตร การเลือกตั้ง ฯลฯ อาจก่อให้เกิดการขาดเสถียรภาพในตลาดและความไม่แน่นอน นำไปสู่ความต้องการถือทองคำเป็นสินทรัพย์หลบภัยเพิ่มมากขึ้น
  • ภาวะเงินเฟ้อ: ระดับเงินเฟ้อมีบทบาทสำคัญในการกำหนดมูลค่าของทองคำ เมื่อเงินเฟ้อสูงขึ้น ราคาทองคำจะขึ้นตามด้วย เพราะนักลงทุนต้องการหาเครื่องป้องกันจากสถานการณ์ที่เงินเสื่อมมูลค่า
  • ธนาคารกลาง: มาตรการโดยธนาคารกลาง โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงในอัตราดอกเบี้ยอาจส่งผลต่อราคาทองคำได้ เช่น อัตราดอกเบี้ยที่ลดลงอาจกระตุ้นให้มีความต้องการในทองคำมากขึ้น เพราะการถือทองคำนั้นน่าดึงดูดกว่าสินทรัพย์ประเภทอื่น ๆ
  • การเคลื่อนที่ของค่าเงิน: ความผันผวนในอัตราแลกเปลี่ยนประเทศต่าง ๆ ก็สามารถส่งผลต่อราคาทองคำได้เช่นกัน หากค่าเงินของประเทศที่ผลิตทองคำอ่อนค่าลงเทียบกับค่าเงินอื่น ๆ ราคาทองคำในค่าเงินนั้นอาจเพิ่มขึ้น และช่วยกระตุ้นการส่งออก และเพิ่มความต้องการในทองคำได้
  • ความต้องการในการลงทุน: ความต้องการในการลงทุน ได้แก่ การซื้อทองคำแท่ง เหรียญทองคำ และธุรกรรมในตลาดฟิวเจอร์ โดยอุปสงค์จะเพิ่มขึ้นเมื่อมีความเชื่อใจในค่าเงินพันธบัตรลดน้อยลง
  • ที่สำคัญที่ควรพิจารณาคือ ความสัมพันธ์กันระหว่างปัจจัยเหล่านี้และความคาดหวังของตลาดเวลาประเมินราคาทองคำ

การคาดการณ์: ราคาทองคำจะเพิ่มขึ้นหรือไม่?

เมื่อพูดถึงการคาดการณ์ เราต้องเข้าใจว่ามันเป็นเพียงการสันนิษฐานโดยอ้างอิงจากข้อมูลและการวิเคราะห์ที่มีเท่านั้น อย่างที่เคยกล่าวไปแล้วว่า ตลาดทองคำมีความซับซ้อนและขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ การคาดการณ์ใด ๆ ล้วนเป็นการประเมินตามความเห็นส่วนตัวและอาจเปลี่ยนแปลงได้โดยขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมือง รวมถึงการเปลี่ยนแปลงในอุปสงค์และอุปทานตลาด อย่างไรก็ดี ทั้งนี้ การคาดการณ์บางแห่งก็พิสูจน์ได้ว่าค่อนข้างแม่นยำ

ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างการคาดการณ์ดังกล่าวที่เคยให้ไว้ก่อนเดือนกันยายน 2021 ซึ่งในเดือนพฤษภาคม 2021 นักวิเคราะห์จาก Goldman Sachs เคยทำนายไว้ว่าราคาทองคำจะขยับถึง $2,000 ต่อทรอยออนซ์ภายในปี 2024 สองเดือนถัดมา Bank of America ให้การคาดการณ์เดียวกัน ซึ่งราคาทองคำไปถึงระดับดังกล่าวเร็วกว่าที่คาดไว้ถึงหนึ่งปี แต่คำถามว่า XAU/USD จะสามารถฝ่าไปเพื่อยืนเหนือระดับดังกล่าว เปลี่ยนจากแนวต้านเป็นแนวรับได้หรือไม่นั้น ยังเป็นคำถามปลายเปิด

ในขณะนี้ นักยุทธศาสตร์จาก Goldman Sachs ตั้งเป้าหมายไว้ที่ $2,200 ในขณะที่ UBS บริษัทการเงินจากสวิสเชื่อว่า ราคาทองคำอาจทะยานขึ้นถึง $2,100 ภายในสิ้นปี 2023 และไปที่ $2,200 ภายในเดือนมีนาคม 2024 (ทั้งนี้ การคาดการณ์ก่อนหน้าให้ตัวเลขสูงสุดไว้ที่ $2,400 สำหรับปีนี้) ตัวเลขที่คล้ายกันนั้นระบุโดยนักวิเคราะห์จาก Economic Forecasting Agency ผู้เชื่อว่าราคาทองคำอาจขึ้นสูงกว่า $2,400 แต่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2027

***

ในช่วงต้นบทรีวิวฉบับนี้ เราได้ตั้งคำถามว่าทองคำถือว่าเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยจริงหรือไม่ ก่อนหน้านี้ในอดีต นายวอร์เรน บัฟเฟตต์ เคยแสดงข้อกังขาเกี่ยวกับการลงทุนในทองคำ และอ้างว่ามันเป็นสินทรัพย์ที่ไม่ให้ผลผลิต และไม่สร้างรายได้ใด ๆ แต่เมื่อดูกราฟแล้วจะเห็นได้อยา่งชัดเจนว่า เขาคิดผิด แม้แต่นักลงทุนในตำนานเองก็ยังออกมายอมรับและในเวลาต่อมาก็แสดงทัศนคติเชิงบวกต่อทองคำ ว่ามันเป็นเครื่องสะสมมูลค่าได้ นายจอร์จ โซรอส นักการเงินชื่อดังก็ยังถือว่าทองคำเป็นสินทรัพย์กระจายความเสี่ยงที่ให้การคุ้มครองจากภาวะเงินเฟ้อ และการขาดเสถียรภาพทางการเงิน ด้านนาย เรย์ ดาลิโอ ผู้ก่อตั้งบริษัทด้านการลงทุน Bridgewater Associates แนะนำให้รวมทองคำเข้าในพอร์ตของนักลงทุน

มีความเป็นไปได้สูงว่า พวกเขาต่างคาดการณ์ได้ถูกต้อง และในอนาคตที่เล็งเห็นได้ ทองคำจะคงบทบาทเป็นเครื่องสะสมมูลค่าหลัก อย่างไรก็ดี สิ่งสำคัญที่ต้องจดจำก็คือ ประสิทธิภาพของการลงทุนทุกรูปแบบนั้นขึ้นอยู่กับว่าคุณเข้าตลาดที่จุดไหน หากเลือกจังหวะในการเทรดไม่ถูกต้อง จะมีความเป็นไปได้ที่เงินฝากของคุณจะเริ่มลดลง อย่างไรก็ดี ในกรณีทองคำนั้นมีความเป็นไปได้ที่ XAU/USD จะขยับขึ้นอีกครั้ง ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงกว่าสกุลเงินเฟียตอื่น ๆ ทั้งนี้ การบริหารจัดการเงินและที่เหมาะสม จังหวะเวลา และความอดทนเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้สามารถรับมือกับช่วงที่ติดลบและทำกำไรได้ในที่สุด

 

กลุ่มนักวิเคราะห์ NordFX


หมายเหตุ: เนื้อหาดังกล่าวไม่ควรยึดถือเป็นคำแนะนำในการลงทุนหรือเป็นคำปรึกษาในการซื้อขายในตลาดการเงิน โดยเนื้อหาข้างต้นเป็นไปเพียงเพื่อจุดประสงค์ในการให้ข้อมูลเท่านั้น การซื้อขายในตลาดการเงินมีความเสี่ยงและอาจทำให้เกิดการสูญเสียเงินฝากได้

กลับ กลับ
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ นโยบายคุกกี้ ของเรา