บทวิเคราะห์ฟอเร็กซ์และคริปโตเคอเรนซีประจำวันที่ 10 - 14 กรกฎาคม 2023

EUR/USD: หลายอย่างขึ้นอยู่กับ CPI

  • ดัชนีดอลลาร์ (DXY) ขยับขึ้นอย่างต่อเนื่องในสัปดาห์ที่ผ่านมาจนถึงวันพฤหัสบดีที่ 6 กรกฎาคม ผลก็คือคู่ EUR/USD เป็นฝั่งดอลลาร์ที่ได้เปรียบมากกว่า และราคาคู่นี้ปรับลงมายังกรอบด้านล่างที่ 1.0833 ความแข็งแกร่งของดอลลาร์มาจากการประกาศผลการประชุมของคณะกรรมการตลาดเสรีของสหรัฐฯ (FOMC) ในการประชุมครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน ซึ่งกรรมการหลายคนได้เน้นย้ำถึงความเสี่ยงของแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อ และแสดงความมุ่งมั่นในการบรรลุเป้าหมายระดับเงินเฟ้อที่ 2.0% โดยเร็วที่สุด พวกเขาเน้นเรื่องความเหมาะสมที่จะต้องขึ้นดอกเบี้ยอย่างน้อยอีกหนึ่งครั้ง นอกเหนือจากหนึ่งครั้งในเดือนกรกฎาคม ซึ่งยิ่งเพิ่มความมั่นใจให้กับฝั่งกระทิงของ DXY ทั้งนี้ นาย Jerome Powell ประธานธนาคารเฟดยังกล่าวในช่วงปลายเดือนมิถุนายนด้วยว่า “ผู้บริหารเฟดส่วนใหญ่คาดว่าจะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกสองครั้งหรือมากกว่าภายในสิ้นปีนี้”

    ทุกอย่างดูจะไปได้สวยสำหรับดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม สถิติที่ประกาศมาตลอดสัปดาห์ค่อนข้างคละกัน ทำให้เกิดความสงสัยในนโยบายการเงินสายเหยี่ยวของธนาคารเฟด ในด้านหนึ่ง รายงาน ADP ระบุว่าการจ้างงานในภาคเอกชนของสหรัฐฯ ซึ่งมีตัวเลขคาดการณ์ที่ 228K เติบโตขึ้นเป็น 497K ในเดือนมิถุนายน ซึ่งสูงกว่าตัวเลข 267K ในเดือนพฤษภาคมอยู่มาก ในอีกด้านหนึ่ง ดัชนีตำแหน่งงานเปิดใหม่ หรือ JOLTS อยู่ที่ 9.82 ล้านในเดือนพฤษภาคม ลดลงจาก 10.3 ล้านในเดือนก่อนหน้า และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ 9.935 ล้านตำแหน่ง ด้านดัชนี PMI ภาคการผลิต ซึ่งปรับลดลงมาตลอดแปดเดือนติดต่อกัน ก็น่าผิดหวังเช่นกัน ดัชนีอยู่ที่ 46.0 ในเดือนมิถุนายน ซึ่งต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2020 Chris Williamson หัวหน้านักเศรษฐษศาสตร์จาก S&P Global Market Intelligence ให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า “สุขภาพของภาคการผลิตสหรัฐฯ ย่ำแย่ลงเป็นอย่างมากในเดือนมิถุนายน และสิ่งนี้กระตุ้นความกลัวว่าเศรษฐกิจกำลังจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้"

    ความกลัวเหล่านี้ยังรุนแรงขึ้น หลังจากความตึงเครียดทางการค้าที่กลับมาอีกครั้งระหว่างสหรัฐฯ และจีน ตลาดต่างตั้งคำถามว่าธนาคารเฟดจะกล้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งหนึ่งหรือไม่หลังจากเดือนกรกฎาคม (โดยตลาดเก็งมานานแล้วว่า จะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในวันที่ 27 กรกฎาคม จาก 5.25% เป็น 5.5%) หรือเฟดจะประกาศยุติวัฎจักรการถอนสภาพคล่องทางการเงินในปัจจุบัน? สถิติตลาดแรงงานชุดล่าสุดที่ประกาศเมื่อวันศุกร์ที่ 7 กรกฎาคมอาจช่วยตอบคำถามข้อนี้

    ตัวเลขนี้ปรากฏว่าน่าผิดหวังสำหรับฝั่งกระทิง DXY ส่วนดัชนี Non-Farm Payrolls (NFP) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดสถานการณ์ความแน่นอนทางเศรษฐกิจในสหรัฐฯ ชี้ให้เห็นว่า จำนวนตำแหน่งงานใหม่นอกภาคการเกษตรลดลงเหลือ 209K ในเดือนมิถุนายน ตัวเลขนี้ต่ำกว่าทั้งดัชนีในเดือนพฤษภาคมที่ 306K และการคาดการณ์ที่ 225K ด้านอัตราการเติบโตของค่าจ้างเฉลี่ยรายชั่วโมง สำนักงานสถิติแรงงานสหรัฐฯ รายงานว่า ดัชนีดังกล่าวยังคงอยู่ที่ระดับก่อนหน้าคือ 4.4% ปีต่อปี  และ 0.4% เดือนต่อเดือน ส่วนสิ่งที่เป็นไปตามการคาดการณ์ของตลาดคืออัตราการว่างงาน ซึ่งลดลงจาก 3.7% เหลือ 3.6% ในรอบเดือน

    หลังจากการประกาศสถิติดังกล่าว ฝั่งผู้ขายดอลลาร์กลับมาสู่ตลาด และ EUR/USD ปิดท้ายสัปดาห์ทำการที่ระดับ 1.0968 ในส่วนแนวโน้มระยะใกล้ ณ ขณะที่เขียนบทวิเคราะห์ฉบับนี้ในช่วงเย็นวันที่ 7 กรกฎาคม มีนักวิเคราะห์ 35% ที่คาดการณ์ว่าราคาคู่นี้จะเติบโตต่อไป 45% คาดการณ์แนวโน้มขาลง และ 20% ที่เหลือมีท่าทีเป็นกลาง ในส่วนออสซิลเลเตอร์บนกรอบ D1 มี 80% เห็นด้วยกับฝั่งกระทิง 20% กับฝั่งหมี และด้านอินดิเคเตอร์เทรนด์ทั้งหมดอยู่ฝั่งกระทิง สำหรับแนวรับที่ใกล้ที่สุดของคู่นี้อยู่ที่บริเวณ 1.0895-1.0925 ตามมาด้วย 1.0835-1.0865, 1.0790-1.0800, 1.0740, 1.0670 และแนวรับสุดท้ายคือราคาต่ำสุดของวันที่ 31 พฤษภาคมที่ 1.0635 ด้านฝั่งกระทิงจะต้องเจอกับแนวต้านที่บริเวณ 1.0975-1.0985 ตามมาด้วย 1.1010, 1.1045, 1.1090-1.1110

    สัปดาห์ที่จะถึงนี้เต็มไปด้วยสถิติเงินเฟ้อผู้บริโภคจากสหรัฐฯ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อนโยบายทางการเงินของธนาคาเฟดได้ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) รวมถึงดัชนีพื้นฐานจะประกาศในวันพุธที่ 12 กรกฎาคม ในวันพฤหัสบดีที่ 13 กรกฎาคม เราจะได้ทราบข้อมูลดัชนีสำคัญต่าง ๆ เช่น จำนวนยอดขอรับสวัสดิการว่างงานและดัชนีราคาผู้ผลิตสหรัฐฯ (PPI) ส่วนในวันศุกร์เราจะเตรียมรอฟังรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของ University of Michigan ส่วนดัชนีที่สำคัญจากฝั่งยุโรปจะเป็นการประกาศดัชนีราคาผู้บริโภคของเยอรมนี (CPI) ในวันอังคาร

GBP/USD: แนวโน้มสำหรับเทรนด์กระทิง

  • ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินปอนด์เป็นผู้ได้ประโยชน์จาก GBP/USD อย่างชัดเจน เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน เงินปอนด์ซื้อขายอยู่ที่ระดับ 1.2600 และพอถึงวันที่ 7 กรกฎาคม ราคาขยับขึ้นมาถึง 1.2848

    เงินปอนด์แข็งค่าขึ้นมาจากสถิติกิจกรรมการผลิตและตลาดแรงงานที่อ่อนแอในสหรัฐฯ และข้อกังวลเกี่ยวกับท่าทีการดำเนินนโยบายสายเหยี่ยวอย่างต่อเนื่องของธนาคารเฟด นอกจากนี้ยังได้แรงหนุนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของสหราชอาณาจักร (PMI) ซึ่งประกาศที่ 46.5 ในเดือนมิถุนายน ต่ำกว่าตัวเลขครั้งก่อนหน้าที่ 47.1 และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ 46.2 ในสถานการณ์นี้ มีโอกาสที่ธนาคารอังกฤษ (BoE) จะเพิ่มความเข้มงวดในนโยบายทางการเงินต่อไปอย่างไม่ต้องสงสัย หลังจากการประชุมในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน BoE ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 25 จุด และ 50 จุดเป็น 5.00% นักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่า ธนาคารอาจดันอัตราดอกเบี้ยขึ้นไปที่ 5.50% ในช่วงการประชุมสองครั้งข้างหน้า และจากนั้นอาจขึ้นไปถึง 6.25% แม้ว่าจะยังมีภัยเรื่องเศรษฐกิจถดถอยอยู่ ในสถานการณ์เช่นนี้ ค่าเงินปอนด์มีความได้เปรียบมาก เช่น Credit Suisse ประเมินว่า GBP/USD ยังมีโอกาสที่จะเติบโตไปที่ 1.3000

    ราคาคู่นี้ปิดท้ายสัปดาห์ที่แล้วที่ระดับ 1.2838 “โมเมนตัมของเทรนดย์ยังคงเป็นแนวโน้มกระทิงทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ชี้ให้เห็นว่าราคายังมีโอกาสดันขึ้นไปที่ 1.2850 (และมากกว่านั้น)” เขียนโดยนักเศรษฐศาสตร์จาก Scotiabank ในทางทฤษฎีแล้ว ความผันผวนปัจจุบันของ GBP/USD อาจครอบคลุมระยะทางที่เหลือถึง 1.3000 ในเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์หรือไม่กี่วัน อย่างไรก็ตาม ณ จุดนี้ ผู้เชี่ยวชาญ 25% เท่านั้นที่เห็นด้วยกับสถานการณ์นี้ โดยมี 45% เห็นในทางตรงกันข้าม และ 30% มีความเห็นเป็นกลาง

    ในส่วนการวิเคราะห์เชิงเทคนิค ออสซิลเลเตอร์ 90% บนกรอบ D1 ชี้ไปยังทิศเหนือ (หนึ่งในสี่ชี้ราคาในโซน overbought) และ 10% ชี้ไปยังทิศตะวันออก ด้านอินดิเคเตอร์แนวโน้ม 100% แนะนำให้เข้าซื้อ ในกรณีที่ราคาขยับไปยังทิศใต้ จะเจอกับระดับและโซนแนวต้านที่ 1.2755, 1.2680-1.2700, 1.2590-1.2625, 1.2480-1.2510, 1.2330-1.2350, 1.2275, 1.2200-1.2210 ส่วนในกรณีที่ราคาขยับขึ้น จะต้องเจอกับแนวต้านที่ระดับ 1.2850, 1.2940, 1.3000, 1.3050 และ 1.3185-1.321

    สำหรับกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในสัปดาห์ที่จะถึงนี้ ได้แก่ การกล่าวแถลงของ Andrew Bailey ผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติอังกฤษในวันจันทร์ที่ 10 กรกฎาคม และการประกาศสถิติตลาดแรงงานของสหราชอาณาจักรในวันอังคารที่ 11 กรกฎาคม

USD/JPY: การทะยานขึ้นที่ถูกขัดขวางและชัยชนะของฝั่งหมี

  • สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญรอให้เกิดขึ้นมานานในที่สุดก็เกิดขึ้นแล้ว คู่ USD/JPY หยุดชะงักจาก “เที่ยวบินสู่ดวงจันทร์” และลงจอดอย่างฉุกเฉิน กล่าวคือ ไม่ใช่แค่แนวโน้มขาลงเท่านั้น แต่เป็นการทรุดลงอย่างจริงจัง สาเหตุแน่นอนว่าเป็นเพราะสถิติเศรษฐกิจที่อ่อนแอจากสหรัฐฯ เพราะไม่มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นในทางฝั่งญี่ปุ่น นโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง นาย Shinichi Uchida รองผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นได้ตัดโอกาสที่จะยุตินโยบายการเงินแบบผ่อนปรนสุดขั้วก่อนกำหนด และไม่หยุดใช้อัตราดอกเบี้ยที่ติดลบ

    นโยบายการเงินของรัฐบาลและธนาคารกลางญี่ปุ่นในช่วงสองสามปีที่ผ่านมาแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ค่าเงินเยนและแม้แต่อัตราเงินเฟ้อไม่ใช่วาระสำคัญสูงสุด แม้ว่าดัชนี CPI จะเร่งตัวขึ้นไปที่ 3.1% ปีต่อปี สิ่งสำคัญก็คือตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจและดูเหมือนว่าตรงนี้ทุกอย่างยังปกติดี ด้านดัชนี Tankan Index of Large Manufacturers (เกี่ยวกับผู้ผลิตรายใหญ่) ซึ่งรายงานไปเมื่อวันจันทร์ที่ 3 กรกฎาคม แสดงถึงแนวโน้มขาขึ้นอย่างน่าประทับใจจาก 1 เป็น 5 (โดยมีการคาดการณ์ที่ 3) ซึ่งบ่งบอกถึงพัฒนาการบรรยากาศทางธุรกิจในญี่ปุ่น

    USD/JPY ซื้อขายอยู่ที่ 145.06 เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน และราคาต่ำสุดเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคมทำไว้ที่ 142.06 ดังนั้น ในเวลาเพียงสัปดาห์เดียว เงินเยนแข็งค่าขึ้นมา 300 จุดเต็มจากดอลลาร์ สาเหตุของชัยชนะของฝั่งหมีนี้เป็นเพราะ เงินเยนเจอแรงขายมากเกินไป นักยุทธศาสตร์จาก Societe Generale เครือบริษัทการเงินจากฝรั่งเศสชี้ว่า เงินเยนไม่เคยอ่อนค่าขนาดนี้มาตั้งแต่ช่วงปี 1970 “ข้อผิดพลาดทางราคาครั้งใหญ่อาจกินเวลานานกว่าที่เราเคยคาดคิดไว้” “แต่ครั้งนี้มีความพิเศษ เพราะทันทีที่ราคาเริ่มกลับตัวอีกครั้ง เงินเยนจะทะยานขึ้นอย่างแน่นอน” เมื่อวิเคราะห์แนวโน้มของคู่นี้ Societe Generale คาดการณ์ว่าผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลชุด 5 ปี จะลดลงมาที่ 2.66% ในหนึ่งปี และ USD/JPY จะทะลุลงมาต่ำกว่า 130 หากผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (JGB) คงอยู่ที่ระดับปัจจุบัน ราคาจะมีโอกาสที่จะลดลงมาที่ 125.00

    เราให้ข้อสังเกตไว้ในบทวิเคราะห์ครั้งที่แล้วว่า นักเศรษฐศาสตร์ Danske Bank คาดการณ์อัตราแลกเปลี่ยน USD/JPY ไว้ต่ำกว่า 130.00 ในช่วงอีก 6-12 เดือนข้างหน้า ด้านนักยุทธศาสตร์จาก BNP Paribas ให้ตัวเลขคาดการณ์คล้ายกันคือ ตั้งเป้าหมายไว้ที่ระดับ 130.00 ภายในสิ้นปีนี้ และ 123.00 ภายในสิ้นปี 123.00 ด้าน Wells Fargo ให้การคาดการณ์ที่ถ่อมตัวที่สุดคือ ภายในสิ้นปี 2024 คาดว่าราคาคู่นี้จะลดลงมาที่ 133.00

    ในสัปดาห์นี้เราได้เห็น USD/JPY ปิดท้ายตลาดที่ 142.10 ซึ่ง ณ ขณะที่เขียนบทวิเคราะห์ฉบับนี้ นักวิเคราะห์ 60% เชื่อว่าการปรับตัวลงด้านล่างนั้นเป็นเพียงการปรับฐานระยะสั้นเท่านั้น และราคาจะกลับขึ้นสู่ด้านบนในไม่กี่วันข้างหน้า ด้าน 40% โหวตว่าราคาน่าจะลงต่อ ส่วนอินดิเคเตอร์บนกรอบ D1 ค่อนข้างคละกัน ออสซิลเลเตอร์ 25% ให้สัญญาณสีเขียว 15% ให้สีเทากลาง และ 60% ให้สีแดง (โดยหนึ่งในสี่ให้สัญญาณว่าราคาอยู่ในโซน oversold) ในส่วนอินดิเคเตอร์เทรนด์ สมดุลอำนาจระหว่างฝั่งสีเขียวและสีแดงคือ 50% และ 50% โดยมีแนวรับที่ใกล้ที่สุดในโซน 1.4140-141.60 ตามมาด้วย 140.45-140.60, 1.3875-1.3905, 137.50, 135.90-137.05 ส่วนแนวต้านที่ใกล้ที่สุดคือ 145.00-145.30 จากนั้นฝั่งกระทิงจะต้องฝ่าฟันอุปสรรคที่ระดับ 146.85-147.15, 148.85 และหลังจากนั้นราคาจะอยู่ไม่ไกลจากระดับสูงสุดของเดือนตุลาคมที่ 151.95

    ในสัปดาห์ที่จะถึงนี้ไม่มีการประกาศข้อมูลทางเศรษฐกิจที่สำคัญจากฝั่งญี่ปุ่น

คริปโตเคอเรนซี: 3 ปัจจัยกระตุ้นการเติบโต - ธนาคารเฟด การฮาล์ฟฟิ่ง และผู้หญิง

  • ช่วงต้นฤดูร้อนปีนี้ปรากฏว่าค่อนข้างร้อนแรงในแวดวงคริปโต ในด้านหนึ่ง ทางการเดินหน้าเพิ่มความเข้มงวดในอุตสาหกรรม ในอีกด้านหนึ่ง เรากำลังเห็นความสนใจจากสถาบันต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้น อันดับแรกเลยคือการยื่นขอเปิดกองทุน ETF บิทคอยน์แบบสปอตจากบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง BlackRock, Invesco, Fidelity เป็นต้น

    ในเรื่องของแรงกดดันจากภาครัฐนั้นมีการถกเถียงมามากกว่าหนึ่งปี บางคนก็ยินดีต้อนรับกระบวนการนี้อย่างอบอุ่น แต่บางคนก็คัดค้าน ในกลุ่มแรกนั้นโต้แย้งว่าวิธีนี้จะช่วยทำความสะอาดอุตสาหกรรม เพื่อกำจัดผู้เล่นที่ไร้ศีลธรรม และดึงดูดเงินได้หลายพันล้านหรือล้านล้านเหรียญจากเหล่าสถาบันเข้ามายังตลาดคริปโต กลุ่มหลังอ้างว่าการแทรกแซงของคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ (SEC) นั้นเป็นการฝ่าฝืนหลักการที่เป็นหัวใจของคริปโตเคอเรนซี ซึ่งก็คือ ความเป็นอิสระจากรัฐและรัฐบาล “ระเบียบของผู้บังคับใช้กฎหมายกำลังฆ่าเศรษฐกิจของเรา” Tim Draper ผู้ร่วมก่อตั้ง Draper Fisher Jurvetson กล่าวเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน “ผมคิดว่าเรามีปัญหาจริง ๆ เพราะ SEC กำลังหว่านความกลัว..การกำกับดูแลแบบบังคับนี้มันไม่สมเหตุสมผล”

    ทั้งนี้ กลต. เคยปฏิเสธคำขอที่จะเปิดกองทุน ETF สปอตบิทคอยน์มาแล้วทั้งหมด ในครั้งนี้ กลต. กล่าวว่าการยื่นขอครั้งล่าสุดนี้ยังไม่ชัดเจนและครอบคลุมเพียงพอ แต่บริษัทก็ไม่ยอมถอย และยื่นส่งคำขอฉบับแก้ไขอีกครั้ง “การอนุมัติคำขอเปิด ETF บิทคอยน์แบบสปอตจะช่วยให้นักลงทุนทราบว่าสินทรัพย์คริปโตเป็นสินทรัพย์ของจริง” อธิบายโดย Michael Saylor ผู้ร่วมก่อตั้ง MicroStrategy “หากกลต. อนุมัติคำขอนี้ ผู้ใช้งานจะสามารถกดปุ่มและซื้อ BTC มูลค่า $10 ล้านดอลลาร์ได้ในเวลา 30 วินาที” “นี่คือความสำเร็จที่สำคัญสู่เส้นทางการยอมรับโดยสถาบัน ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องสำคัญ แต่ผมไม่คิดว่าบิทคอยน์ะเติบโตเป็น $5 ล้านดอลลาร์ในข้ามคืน” เขากล่าวสรุป

    อย่างไรก็ดี ในระยะกลาง Hugh Hendry ผู้จัดการกองทุนเฮดจ์ฟันด์ Eclectica Asset Management ชี้ว่าบิทคอยน์อาจเพิ่มมูลค่าถึงสามเท่า

    นอกจากนี้ ก่อนหน้านี้ Draper เคยทำนายว่า ราคาบิทคอยน์จะขยับขึ้นถึง $250,000 ภายในสิ้นปี 2022 เมื่อการคาดการณ์ของเขาไม่เป็นจริง เขาก็ขยายกรอบเวลาออกไปอีกหกเดือนเป็นกลางเดือน 2023 ตอนนี้เขาก็ทำการ “แก้ไข” อีกครั้ง และบอกว่าบิทคอยน์จะไปถึงเป้าหมายข้างต้นโดยมีความเป็นไปได้ 100% ภายในสิ้นเดือนมิถุนายน 2025 และหนึ่งในปัจจัยกระตุ้นการเติบโตหลักจะเป็นการที่ผู้หญิงให้การยอมรับบิทคอยน์

    การที่เหล่าแม่บ้านซื้อบิทคอยน์ แน่นอนว่าอาจกลายเป็นปัจจัยที่มีผลจริงจังได้ แต่นักวิเคราะห์ “ที่ระมัดระวัง” เลือกที่จะให้ปัจจัยการเติบโตสองประการอื่นคือ 1) การผ่อนคลายนโยบายทางการเงินของธนาคารเฟด และ 2) การฮาล์ฟฟิ่ง (Halving) หรือการลดผลตอบแทนในการขุดเหรียญในเดือนเมษายน 2024 ท่ามกลางการรอคอยสองสถานการณ์นี้ ตลาดคริปโตกำลังสังเกตเห็นปริมาณเหรียญที่ลดลงและผู้ถือเหรียญระยะยาวที่สะสมเหรียญในวอลเล็ตตนเองเพิ่มขึ้นทำสถิติเป็น 13.4 ล้านบิทคอยน์

    ในส่วนข้อแรกนั้น ในที่ประชุมเดือนมิถุนายน ธนาคารเฟดได้ตัดสินใจหยุดพักและคงอัตราดอกเบี้ยไม่เปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตาม โอกาสที่จะมีการขึ้นดอกเบี้ยหนึ่งหรือสองครั้งที่ 25 จุดต่อครั้ง ยังมีอยู่ หลังจากนั้น วัฎจักรการเพิ่มสภาพคล่องจะสิ้นสุดลง และภายในสิ้นปี 2023 เข้าปี 2024 ตลาดจะรอการกลับตัวและการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งนี่น่าจะส่งผลดีต่อความต้องการความเสี่ยงของนักลงทุนและเอื้อต่อการไหลเข้ามาของเงินในสินทรัพย์ดิจิทัลกันมากขึ้น

    ข้อที่สอง Halving เหตุการณ์นี้มักจะส่งผลในทางบวกต่อราคาบิทคอยน์ ความสัมพันธ์ระหว่างการลดผลตอบแทนจากการขุดเหรียญที่เกิดขึ้นทุก ๆ สี่ปี และการเปลี่ยนแปลงของมูลค่าเหรียญเป็นที่ทราบกันดี Root นักวิเคราะห์ท่านหนึ่งได้นำเสนอแผนภาพรัศมีที่น่าสนใจในเรื่องนี้ โดยวาดรูปวงกลมในสี่ปี และราคาจะก่อตัวเป็นรูปยอดสูงสุดและเหวลึกของวัฎจักรในส่วนเดียวกัน และแผนภาพนี้ชี้ว่า หลังจากราคาทำระดับต่ำสุดในปี 2023 บิทคอยน์น่าจะขยับไปยังราคาเหรียญ $1 ล้านดอลลาร์ต่อเหรียญ ซึ่งจะไปถึงในปี 2026

    ในส่วนอนาคตอันใกล้  นักวิจัย CoinDesk กล่าวเตือน โดยตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 2022 ตัวชี้วัดสภาพคล่องของเงินเฟียตรอบโลกลดลงอย่างรวดเร็ว และราคาที่เพิ่มขึ้นของ BTC ในสภาพแวดล้อมดังกล่าวนั้นมีความผิดปกติ อัตราแลกเปลี่ยน BTC ทำราคาต่ำสุดในกรอบที่ $15,500 ในเดือนพฤศจิกายนเมื่อปีที่แล้ว และตั้งแต่นั้นมาก็ทำราคาเพิ่มขึ้นสองเท่าเป็น $31,000 นอกจากนี้ ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน ราคาเหรียญขยับเพิ่มขึ้นมากว่า 20%

    Lewis Harland ผู้จัดการพอร์ตการลงทุนของ Decentral Park Capital ให้ความเห็นว่า สถานการณ์ยังคงมีความซับซ้อน เขายืนยันว่า ดัชนีเงินเฟียตที่ติดตาม เช่น สภาพคล่องสุทธิของธนาคารเฟด และระดับสภาพคล่องสุทธิรอบโลกลดลงเป็นอย่างมาก “นี่คือสาเหตุหลักว่าทำไมเราจึงระมัดระวังกับบิทคอยน์ แม้ว่าตลาดจะมีทัศนคติในทางบวก เราคิดว่านักลงทุนกำลังมองข้ามสิ่งนี้” Harland กล่าว

    ดัชนีสภาพคล่องสุทธิรอบโลก ซึ่งพิจารณาลดลงเหลือ $26.5 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2022 ข้อมูลนี้ได้รับจากแพลตฟอร์ม TradingView และ Decentral Park Capital

    ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่า ความผิดปกติยังเห็นได้จากความสัมพันธ์ที่ลดลงระหว่างทองคำจริงและทองคำดิจิทัลหรือบิทคอยน์ ในขณะที่บิทคอยน์มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด มูลค่าทองคำค่อย ๆ ลดลง Fred Thiel ซีอีโอ Marathon Digital รายงานว่า ไม่ใช่สิ่งนี้เท่านั้นที่แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงในความนิยมในสินทรัพย์ดิจิทัลที่มากกว่า แต่ยังแสดงให้เห็นว่าบิทคอยน์สามารถเข้าถึงโดยนักลงทุนที่กว้างขวางมากขึ้น

    Peter Schiff ประธาน Euro Pacific Capital เรียกสถานการณ์นี้ว่า  “แมลงทอง” และเสริมว่าเขาได้ประเมิน “ศักยภาพฟองสบู่ของบิทคอยน์ต่ำเกินไป ในมุมมองของเขา นักลงทุนส่วนใหญ่ไม่เชื่อในบิทคอยน์ พวกเขาแค่หวังว่าใครบางคนจะซื้อมันที่ราคาสูง นักธุรกิจรายนี้เชื่อว่า เรื่องราวเกี่ยวกับคนที่สูญเสียเงินไปกับคริปโตเคอเรนซีจะกลบเกลื่อนผู้ที่ร่ำรวยจากมัน “ราคาสูงสุดที่เราเห็นในปี 2021 ที่บริเวณ $70,000 เท่านั้น และท้ายที่สุดแล้ว ฟองสบู่บิทคอยน์จะแตกลง” โดยกล่าวเสริมด้วยว่าเรื่องราวของคนที่เสียเงินไปกับคริปโตจะบดบังเรื่องราวของคนที่ร่ำรวยจากมัน

    Benjamin Cowen นักวิเคราะห์คริปโตชื่อดังกล่าวว่า แนวโน้มที่ลดลงในสภาพคล่องของเงินเฟียตจะส่งผลในเชิงลบไม่ใช่ต่อบิทคอยน์ แต่เป็นเหรียญทางเลือก “สภาพคล่องจะหมดลง คนจะได้เห็นความปลอดภัยที่มากกว่าของบิทคอยน์เมื่อเทียบกับตลาดอัลท์คอยน์ แต่นี่ไม่ได้หมายความว่าบิทคอยน์จะร่วงลงไม่ได้ แค่แปลว่ามันปลอดภัยมากกว่าเล็กน้อยเท่านั้น”

    Cowen คาดการณ์ว่า บิทคอยน์สามารถเติบโตได้อีก 14% ขึ้นไปที่ระดับ $35,000 ในปี 2023 “ในระยะสั้น มันยังเป็นเรื่องยากมากที่จะกล่าวว่า บิทคอยน์จะขยับขึ้นอีกหรือไม่ สำหรับผมแล้ว ผมตั้งเป้าหมายไว้ที่ $35,000” ผู้เชี่ยวชาญกล่าว

    นักเทรดคริปโต Altcoin Sherpa มั่นใจว่าบิทคอยน์อาจขยับขึ้นไปที่ $32,000 ก่อน และจากนั้นจะไปที่ระดับสูงสุดใหม่ของ 2023 ที่ $40,000 อย่างไรก็ตาม เขาไม่มั่นใจในแนวโน้มอย่างหลัง ซึ่งน่าจะตามมาด้วยการปรับฐานขาลงครั้งใหญ่

    ข้อมูลการวิเคราะห์เชิงเทคนิคชี้ว่า อัตราแลกเปลี่ยนของบิทคอยน์บนกราฟ BTC/USD อาจก่อตัวเป็นรูป “bullish flag” ใหม่ขึ้น ความเห็นนี้มาจากผู้เชี่ยวชาญจาก Fairlead Strategies “บิทคอยน์กำลังทะยานขึ้นในช่วงสะสมกำลัง” “bullish flag ใหม่นี้อาจกำลังก่อตัว ซึ่งจะปะทุขึ้นเมื่อราคาทะลุ Ichimoku Cloud ที่บริเวณ $31,900”

    ผู้เชี่ยวชาญอธิบายว่า รูปแบบดังกล่าวประกอบด้วยรูปเสาและตัวธง ซึ่งเสานั้นจะแสดงถึงการทะยานขึ้นของราคาในตอนต้น และรูปธงแสดงถึงการสะสมกำลังที่เกิดขึ้นในเวลาถัดมา ซึ่งเกิดจาก “ความเหนื่อยล้าชั่วคราวของแนวโน้มกระทิง” และการขาดแรงกดดันที่เห็นได้ชัดจากผู้ชาย ทฤษฎีการวิเคราะห์เชิงเทคนิคชี้ว่า เมื่อใดที่สินทรัพย์ทะลุราคาเหนือบริเวณธง มันจะเติบโตขึ้นไปอีกตามสัดส่วนความยาวที่เท่ากับความยาวของเสาธง

    ในกรณีของบิทคอยน์นี้ แนวโน้มขาขึ้นตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2023 มีราคาต่ำสุดอยู่ที่ $24,790 และมีราคาสูงสุดที่ $31,388 ของวันที่ 23 มิถุนายน ซึ่งเป็นรูปตัวเสา และช่วงสะสมกำลังของราคากำลังก่อตัวเป็นรูปธง นักวิเคราะห์มองว่า BTC มีโอกาสทะลุขึ้นด้านบนและจะพาราคาไปยังระดับแนวต้านสำคัญถัดไปที่ $35,900

    นักยุทธศาสตร์คริปโตและนักเทรดที่มีชื่อว่า Bluntz ได้เคยทำนายจุดต่ำสุดของตลาดหมีบิทคอยน์ไว้อย่างแม่นยำในปี 2018 เขาเชื่อว่า Ethereum กำลังแสดงสัญญาณการทะยานขึ้นอย่างทรงพลังที่อาจเกิดขึ้นได้ในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า เขากล่าวว่า ส่วนที่เหลือของปี 20023 อาจทำให้ Ethereum เติบโตแบบพาราโบลิก และทำให้มันทำผลงานแซงหน้า BTC ได้

    Bluntz ถือว่าเป็นนักเทรดที่เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์เชิงเทคนิค โดยเฉพาะทฤษฎี Elliott Wave Theory ซึ่งช่วยในการคาดการณ์พฤติกรรมของราคาตามหลักจิตวิทยาของคนหมู่มากที่มักจะแสดงให้เห็นในรูปคลื่น

    ทฤษฎีนี้เชื่อ่า สินทรัพย์ตลาดกระทิงจะแสดงคลื่นให้เห็นทั้งหมด 5 คลื่น โดยคลื่นที่ 3 จะมีความลาดชันมากที่สุด Bluntz ชี้ว่า Ethereum อยู่ในช่วงต้นของคลื่นที่สามแล้ว ซึ่งอาจทำให้ ETH ไปถึง $4,000 ภายในสิ้นปี 2023

    ในทางกลับกัน Altcoin Sherpa ให้การคาดการณ์ที่ตรงกันข้าม เมื่อพูดถึงคู่ ETH/BTC เขาสังเกตเห็นว่า Ethereum มีแนวโน้มที่จะปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับสินทรัพย์คริปโตชั้นนำอย่างบิทคอยน์ และวางเป้าหมายขั้นต่ำไว้ที่บริเวณ 0.053 BTC หรือ $1,614

    ณ ขณะที่เขียนบทวิเคราะห์ฉบับนี้ในช่วงเย็นวันศุกร์ที่ 7 กรกฎาคม BTC/USD มีราคาซื้อขายอยู่ที่บริเวณ $30,200 และ ETH/USD อยู่ในช่วง $1,860 โดยมูลค่ารวมตลาดคริปโตลดลงและอยู่ที่ $1.176 ล้านล้านดอลลาร์ ($1.191 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อหนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้า) ส่วนดัชนี Crypto Fear & Greed Index ยังคงอยู่ระหว่างโซนความโลภ (Greed) และโซนตรงกลาง (Neutral) ปัจจุบันอยู่ที่ 55 จุด (56 จุดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว)

 

กลุ่มนักวิเคราะห์ NordFX

 

หมายเหตุ: เนื้อหาดังกล่าวไม่ควรยึดถือเป็นคำแนะนำในการลงทุนหรือเป็นคำปรึกษาในการซื้อขายในตลาดการเงิน โดยเนื้อหาข้างต้นเป็นไปเพียงเพื่อจุดประสงค์ในการให้ข้อมูลเท่านั้น การซื้อขายในตลาดการเงินมีความเสี่ยงและอาจทำให้เกิดการสูญเสียเงินฝากได้

กลับ กลับ
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ นโยบายคุกกี้ ของเรา