EUR/USD: เฝ้ารอการประชุมของธนาคารเฟดและธนาคารกลางยุโรป
- เมื่อดัชนีดอลลาร์ DXY ร่วงลงมายังระดับเดือนเมษายน 2022 (99.65) เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ผู้เล่นตลาดหลายรายได้ข้อสรุปว่า ช่วงวันที่ดีที่สุดของดอลลาร์สหรัฐสิ้นสุดลงแล้ว ภาวะเงินเฟ้อเข้าใกล้ระดับเป้าหมาย และเพื่อเป็นการไม่บีบเศรษฐกิจมากเกินไป อีกไม่นาน ธนาคารเฟดจะต้องเริ่มใช้มาตรการเพื่อผ่อนคลายนโยบายทางการเงิน อย่างไรก็ตาม หลายอย่างไม่ตรงไปตรงมาเสมอไป หลังจากราคาขึ้นมาที่ 1.1275 เมื่อวันอังคารที่ 18 กรกฎาคม คู่ EUR/USD กลับทิศทางและเริ่มขยับลดลง
โดยทั่วไป ท่ามกลางการประกาศรายงานเศรษฐกิจมหภาคที่อ่อนแอจากสหรัฐฯ ดอลลาร์อาจจะต้องยอมแพ้หลายร้อยจุดให้กับยูโร สถิติการผลิตเชิงอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ ลดลงมาเป็นเดือนที่สองติดต่อกัน โดยลดลง 0.5% ในเดือนมิถุนายน ดัชนีค้าปลีกซึ่งคาดการณ์ว่าจะเติบโตขึ้น 0.5% กลับเพิ่มขึ้นเพียง 0.2% (จากที่เพิ่มขึ้น 0.5% ในเดือนพฤษภาคม) ดัชนีกิจกรรมภาคการผลิตของธนาคารเฟดสาขาฟิลาเดลเฟียยังคงอยู่ในเขตติดลบ (-13.5) สถิติตลาดอสังหาริมทรัพย์ปรากฏว่าแย่กว่าการคาดการณ์ เช่น ตัวเลขการก่อสร้างอาคารใหม่ในสหรัฐฯ ลดลง 8.0% ในเดือนมิถุนายน หลังจากเพิ่มขึ้นมา 15.7% ในเดือนก่อนหน้า ด้านจำนวนคำขออนุญาตก่อสร้างอาคารลดลง 3.7% เช่นกัน หลังจากขึ้นมา 5.6% ในเดือนพฤษภาคม ยอดขายอสังหาริมทรัพย์รองต่ำกว่าตัวเลขครั้งก่อนหน้า (4.16M ในเดือนมิถุนายน, 4.30M ในเดือนพฤษภาคม จากการคาดการณ์ที่ 4.20M) อย่างไรก็ตาม สถิติจากตลาดแรงงานปรากฏว่าดีกว่าที่คาดการณ์ไว้เล็กน้อย โดยจำนวนยอดขอรับสวัสดิการว่างงานเบื้องต้นอยู่ที่ 228K (ตัวเลขครั้งก่อนหน้า 237K การคาดการณ์อยู่ที่ 242K) แต่นี่เป็นดัชนีที่มีความผันผวนสูง และอาจไม่สะท้อนถึงสถานการณ์จริง แต่ตลาดก็ยินดีที่ได้รับข่าวบวกบ้างในเวลานี้
โดยรวมแล้ว สถิติเศรษฐกิจที่เผยแพร่ออกมาแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มสงบขึ้น สถานการณ์ที่เลวร้ายขึ้นในตลาดอสังหาฯ เป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่า อัตราดอกเบี้ยสูงส่งแรงกดดันต่อภาคเศรษฐกิจที่สำคัญนี้ เพียงพอให้เรานึกถึงวิกฤติการเงินโลกเมื่อช่วงปี 2007-2008 ซึ่งเกิดวิกฤติหนี้สินจำนองในสหรัฐฯ
ในสถานการณ์เช่นนี้ มาตรการนโยบายสายเหยี่ยวของธนาคารเฟดน่าจะใกล้ถึงจุดสิ้นสุดแล้ว ผู้เชี่ยวชาญเกือบทุกคนของ Bloomberg คาดว่า ในวันที่ 26 กรกฎาคม คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (FOMC) จะขึ้นอัตราดอกเบี้ย 25 จุดเป็น 5.5% โดยมีความเป็นไปได้ที่อาจขึ้นอัตราดอกเบี้ยน้อยกว่านั้น คือ 10 จุด แทน 25 จุด หลังจากนั้นคาดว่าคณะกรรมการฯ จะใช้แนวทางรอดูสถานการณ์ไปพลาง ๆ ซึ่งอาจกินเวลาไปจนถึงสิ้นปี ตลาดฟิวเจอร์สประเมินว่ามีความเป็นไปได้ที่จะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ย 5.75% ในปี 2023 อยู่ที่ 28%
อย่างไรก็ดี ไม่ใช่แค่สกุลเงินอเมริกันเท่านั้นที่มีน้ำหนักในคู่ EUR/USD แต่ฝั่งยุโรปด้วยเช่นกัน สถิติที่ทบทวนแล้วแสดงให้เห็นว่า ในไตรมาสที่ 1 GDP ของยูโรโซนเกือบเท่ากับศูนย์ เศรษฐกิจชะงักตัว และแนวโน้มการเติบโตค่อนข้างอ่อนแอ ชัดเจนว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของยูโร ซึ่งได้ขึ้นมาจาก 0% เป็น 4.0% ในวัฎจักรการถอนสภาพคล่องออกจากระบบนี้ยังคงส่งผลกระทบในเชิงลบอย่างต่อเนื่อง โดยมีผลกระทบจากนโยบายการเงินแบบเข้มงวดที่ปรากฏขึ้นในภายหลังและเริ่มเห็นผลกระทบชัดเจนขึ้น
ในอีกด้านหนึ่ง แม้ว่าจะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ย 400 จุดพื้นฐาน ภาวะเงินเฟ้อ (CPI) ในยูโรโซนลดลงอย่างค่อนข้างช้า ๆ ในเดือนมิถุนายนอยู่ที่ 5.5% ปีต่อปี เทียบกับ 6.1% เมื่อหนึ่งเดือนก่อนหน้า แต่ยังคงอยู่ห่างไกลจากระดับเป้าหมายที่ 2.0%
ดังนั้น ในด้านหนึ่ง เราเห็นแรงกดดันครั้งใหญ่ของราคา แต่อีกด้านหนึ่งนั้นก็เป็นความยากลำบากที่เศรษฐกิจยุโรปกำลังเผชิญอยู่ ในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนเช่นนี้ ท่าทีถัดไปของธนาคารกลางยุโรปก็ยังขาดความแน่นอนเช่นกัน ความชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับนโยบายการเงินในอนาคตคาดว่าเราจะได้เห็นกันจากการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางในวันพฤหัสบดีที่ 27 กรกฎาคม ซึ่งนี่คือสิ่งที่ตลาดคาดหวังเป็นอย่างน้อย
แม้แต่สถิติที่ไม่ค่อยชัดเจนจากตลาดแรงงานสหรัฐฯ ก็เพียงพอที่จะกระตุ้นให้ดัชนี DXY ปรับฐานขึ้นด้านบนและส่งคู่ EUR/USD ลงทิศใต้ ราคาปิดตลาดท้ายสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ 1.1125 ในส่วนแนวโน้มระยะใกล้ ณ ขณะที่เขียนบทวิเคราะห์ฉบับนี้คือ ช่วงเย็นวันที่ 21 กรกฎาคม มีนักวิเคราะห์เพียง 20% เท่านั้นที่โหวตว่าราคาจะขยับขึ้นต่อ 50% โหวตให้ขาลง และ 30% ที่เหลือมีท่าทีเป็นกลาง ในส่วนของการวิเคราะห์เชิงเทคนิคบนกรอบ D1 มีอินดิเคเตอร์เทรนด์ 75% ชี้ไปยังทิศเหนือ 25% ชี้ทิศใต้ ส่วนออสซิลเลเตอร์มี 85% แนะนำให้เข้าซื้อ ในขณะที่ 15% ที่เหลือมีท่าทีเป็นกลาง โดยมีแนวรับที่ใกล้ที่สุดของคู่นี้อยู่ที่บริเวณ 1.1090-1.1110, 1.1045, 1.0995-1.1010, 1.0895-1.0925, 1.0845-1.0865, 1.0800, 1.0760, 1.0670, 1.0620-1.0635 ด้านฝั่งกระทิงจะเจอกับแนวต้านที่บริเวณ 1.1145 จากนั้นคือ 1.1170, 1.1230-1.1245, 1.1275-1.1290, 1.1355, 1.1475 และ 1.1715
แน่นอนว่า เหตุการณ์สำคัญในสัปดาห์ที่จะถึงนี้จะเป็นการประชุมของธนาคารเฟดในวันที่ 26 กรกฎาคม และการประชุมของธนาคารกลางยุโรปในวันที่ 27 กรกฎาคม ตามมาด้วยงานแถลงข่าวโดยผู้บริหารธนาคารฯ นอกจากนี้ ในวันจันทร์ที่ 24 กรกฎาคม จะมีการรายงานสถิติกิจกรรมทางธุรกิจเบื้องต้น (PMI) หลายชุดจากเยอรมนี ยูโรโซน และสหรัฐฯ ในวันถัดมาจะมีการเผยแพร่แบบสำรวจการให้สินเชื่อของธนาคารในยูโรโซน และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐฯ ในวันพฤหัสบดีจะมีการรายงานสถิติคำสั่งซื้อสินค้าคงทนในสหรัฐฯ พร้อมด้วยสถิติจากตลาดอสังหาฯ และอัตราการว่างงาน สุดท้ายนี้ในช่วงปลายสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 28 กรกฎาคม เราจะได้ทราบสถิติเบื้องต้นเกี่ยวกับเงินเฟ้อ (CPI) ในเยอรมนี รวมถึงสถิติการใช้จ่ายโดยผู้บริโภคในสหรัฐฯ
GBP/USD: 50 จุดพื้นฐาน หรือ 25 จุดเท่านั้น?
- การประชุมครั้งถัดไปของธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) มีกำหนดจะจัดขึ้นในวันที่ 3 สิงหาคม โดยผู้ร่วมตลาดบางรายเชื่อว่า ในการประชุมครั้งนี้ ธนาคารฯ จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยพื้นฐานของเงินปอนด์อีก 50 จุดพื้นฐาน (bps) เป็น 5.50% นักเศรษฐศาสตร์จาก Societe Generale เครือบริษัทการเงินของฝรั่งเศสได้ให้ข้อสรุป 3 เหตุผลหลักที่ BoE จะดำเนินการดังกล่าว
เหตุผลข้อแรกคือ อัตราเงินเฟ้อในภาคบริการและค่าจ้างขึ้นทำระดับสูงสุดในเดือนมิถุนายน แต่ดัชนีทั้งสองตัวยังคงสูงอย่างน่ากังวล ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) แม้ว่าจะลดลงในรอบเดือนจาก 8.7% เหลือ 7.9% (จากการคาดการณ์ที่ 8.2%) ยังคงอยู่ห่างไกลจากระดับเป้าหมายที่ 2.0%
อันดับที่สอง Societe Generale เชื่อว่า นักลงทุนกำลังหลีกเลี่ยงพันธบัตรของอังกฤษเนื่องด้วยภาวะเงินเฟ้อที่ยืดเยื้อในสหราชอาณาจักร อัตราเงินเฟ้อที่สูงและต่อเนื่องหมายความว่า นักลงทุนจะต้องมีเงินชดเชยสูงขึ้นเพื่อถือพันธบัตรของอังกฤษ เมื่อเทียบกับพันธบัตรของสหรัฐฯ และเยอรมนี เพื่อให้นักลงทุนมีความมั่นใจมากยิ่งขึ้น สิ่งสำคัญในขั้นนี้คือการเดินหน้าใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดต่อไป
เหตุผลข้อที่สาม ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งชาติอังกฤษและนาย Andrew Bailey ผู้ว่าการธนาคารฯ ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักที่เขาใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายนานเกินไป จนส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้นอย่างรุนแรง และในขณะนี้ BoE อาจพยายามเกินไปที่จะพิสูจน์ให้เห็นว่าคำวิจารณ์เหล่านี้ไม่ถูกต้อง ซึ่งจะยิ่งนำไปสู่ท่าทีตอบโต้ที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น เช่น การขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ แต่เราต้องพิจารณาความเป็นไปได้ด้วยว่า BoE อาจเลือกขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ยืดหยุ่นกว่าคือ 25 จุดพื้นฐานแทน
แน่นอนว่า ไม่ใช่ทุกคนที่เห็นด้วยกับคำวิจารณ์ของนักเศรษฐศาสตร์จากฝรั่งเศส เช่น นักวิเคราะห์จากธนาคาร Commerzbank ของเยอรมนีให้ข้อสังเกตว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในสหราชอาณาจักรเติบโตขึ้นในอัตราที่ล่าช้ากว่าที่คาดกาณ์ในเดือนมิถุนายนอยู่มาก ดังนั้น ความคาดหวังของตลาดว่าจะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาจสูงเกินไป และจำเป็นต้องมีการปรับฐานสู่ขาลง ซึ่งสิ่งนี้จะนำไปสู่สถานการณ์ที่เงินปอนด์อ่อนค่าลง มุมมองที่คล้ายกันนี้ยังมาจากนักยุทธศาสตร์ของ ING ธนาคารขนาดใหญ่ที่สุดในเนเธอร์แลนด์ ผู้เชื่อว่าอัตราดอกเบี้ยน่าจะเพิ่มขึ้นอีกสูงสุด 25 จุดพื้นฐาน
สถิติ CPI ข้างต้นเผยแพร่เมื่อวันพุธที่ 19 กรกฎาคม อย่างไรก็ตาม นอกจากนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติ (ONS) ในสหราชอาณาจักรยังได้เผยแพร่สถิติค้าปลีกในประเทศเมื่อวันศุกร์ที่ 21 กรกฎาคม ผลปรากฏว่า ในเดือนมิถุนายน ปริมาณการค้าปลีกเพิ่มขึ้น 0.7% ในรอบเดือน เมื่อเทียบกับการคาดการณ์ที่ 0.2% และ 0.1% ก่อนหน้านี้ ดัชนีหลักของยอดค้าปลีก ซึ่งไม่รวมยอดขายเชื้อเพลิงรถยนต์ นั้นเพิ่มขึ้น 0.8% ในรอบเดือนเมื่อเทียบกับการคาดการณ์ที่ 0.1% และ 0% ในเดือนพฤษภาคม ปริมาณการค้าปลีกในรอบปีในสหราชอาณาจักรลดลง -1.0% ในเดือนมิถุนายนท่ามกลางการคาดการณ์ที่ -1.5% และมีตัวเลขลดลง -2.3% ในเดือนพฤษภาคม ในขณะที่ปริมาณยอดค้าปลีกพื้นฐานลดลง -0.9% จากตัวเลขคาดการณ์ที่ -1.6% และตัวเลขครั้งก่อนหน้าที่ -1.9%
หลังการประกาศสถิติที่ดูเป็นมิตรเหล่านี้ นาย Jeremy Hunt รัฐมนตรีการคลังของสหราชอาณาจักรกล่าวว่า “เราจะเริ่มเห็นผลลัพธ์ ถ้าเรายึดตามแผนที่จะลดเงินเฟ้อลงให้ได้ครึ่งหนึ่ง” คำพูดของรัฐมนตรีอาจตีความได้ว่าเป็นการสนับสนุนการใช้นโยบายสายเหยี่ยวเพื่อลดสภาพคล่องต่อไป อย่างไรก็ตาม ตลาดก็เพิกเฉยต่อคำกล่าวเหล่านี้ และเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นยังส่งแรงกดดันต่อ GBP/USD ต่อไป ซึ่งทำให้ราคาปิดตลาดรอบห้าวันทำการที่ระดับ 1.2852
ในส่วนความเคลื่อนไหวของคู่นี้ แน่นอนว่าหลายอย่างจะขึ้นอยู่กับการตัดสินใจและคำแถลงของธนาคารเฟดในวันที่ 26 กรกฎาคม แน่นอนว่าการประชุมของธนาคารกลางยุโรปในวันที่ 27 กรกฎาคมจะส่งอิทธิพลต่อเงินปอนด์ผ่านคู่ EUR/GBP แต่ทั้งหมดนี้คือเรื่องอนาคตอันใกล้ ในส่วนปัจจุบัน ณ ขณะที่เขียนบทวิเคราะห์ฉบับนี้ การคาดการณ์กลางของผู้เชี่ยวชาญสำหรับคู่ GBP/USD ยังคงดูเป็นกลาง หนึ่งในสามโหวตให้ราคาคู่นี้มีการเติบโต หนึ่งในสามโหวตว่าราคาจะขยับลง และหนึ่งในสามมีท่าทีเป็นกลาง ด้านออสซิลเลเตอร์บนกรอบ D1 มี 35% ที่ให้สัญญาณสีเขียว 25% ให้สีแดง และ 40% ให้สีเทากลาง ด้านอินดิเคเตอร์เทรนด์ 60% ให้ผลลัพธ์สีเขียว และ 40% เป็นสีแดง ในกรณีที่ราคาหันลงทิศใต้ จะเจอกับระดับและโซนแนวรับที่บริเวณ 1.2800-1.2815, ตามมาด้วย 1.2675-1.2695, 1.2570, 1.2435-1.2450, 1.2300-1.2330, 1.2190-1.2210 ส่วนในกรณีที่ราคาเติบโตขึ้น จะต้องเจอกับแนวต้านที่ 1.2940 จากนั้นคือ 1.2980-1.3000, 1.3050-1.3060, 1.3125-1.3140, 1.3185-1.3210, 1.3300-1.3335, 1.3425, 1.3605
นอกเหนือจากการประชุมของธนาคารเฟดและ ECB แล้ว อีกหนึ่งกิจกรรมที่น่าสนใจในปฏิทินเศรษฐกิจสัปดาห์นี้คือ วันจันทร์ที่ 24 กรกฎาคม ซึ่งจะมีการประกาศสถิติกิจกรรมทางธุรกิจเบื้องต้น (PMI) ของหลายภาคเศรษฐกิจในสหราชอาณาจักร
USD/JPY: สองก้าวไปข้างหน้า ถอยหลังหนึ่งก้าว
- วลาดิเมียร์ เลนิน นักปฏิวัติรัสเซียเคยเขียนหนังสือเล่มหนึ่งในปี 1904 ชื่อเรื่องว่า “หนึ่งก้าวไปข้างหน้า ถอยหลังสองก้าว” แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับเงินเยนในช่วงสามสัปดาห์ที่ผ่านมา อาจตั้งชื่อหัวเรื่องได้ว่าเป็น “สองก้าวไปข้างหน้า ถอยหลังหนึ่งก้าว” ในช่วงสองสัปดาห์แรกของเดือนกรกฎาคม เงินเยนญี่ปุ่นแข็งค่าขึ้น และในสัปดาห์ที่สาม ก็มีการย่อตัวลงกว่าครึ่งหนึ่ง ในขณะที่เงินยูโรและเงินปอนด์อ่อนค่าลงเพราะดอลลาร์สหรัฐฯ ที่แข็งค่าขึ้น ในกรณีของ USD/JPY ความเสียหายอย่างหนักต่อค่าเงินเยนนั้นไม่ใช่เพราะสหรัฐฯ แต่เป็นเพราะอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงในญี่ปุ่น
สิ่งที่ต้องไม่ลืมก็คือ เมื่อตอนที่เขียนบทวิเคราะห์ในสัปดาห์ที่แล้ว จำนวนผู้สนับสนุนว่าเงินเยนจะอ่อนค่านั้นมากกว่าฝั่งที่โหวตให้เงินแข็งค่าถึงสามเท่า (45% ต่อ 15%) และผลปรากฏว่าส่วนใหญ่นั้นคาดการณ์ได้ถูกต้อง รายงานระดับเงินเฟ้อที่เผยแพร่เมื่อวันศุกร์ที่ 21 กรกฎาคม พาเงินเยนร่วงลงมา USD/JPY พุ่งขึ้นกว่า 1% ผลปรากฏว่า แม้ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) จะคงนโยบายผ่อนคลายสุดโต่งและอัตราดอกเบี้ยติดลบ -0.1% การเติบโตของราคาผู้บริโภคลดลง แม้ว่าตัวเลขคาดการณ์จะอยู่ที่ 3.5% อัตราเงินเฟ้อในความเป็นจริง (CPI) ในเดือนมิถุนายนอยู่ที่ 3.3% ด้านดัชนีราคาผู้บริโภค ซึ่งไม่รวมสินค้าอาหารและพลังงานลดลงมาที่ 4.2% เทียบกับตัวเลขครั้งก่อนหน้าที่ 4.3%
สถิติเหล่านี้กลบฝังความหวังที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นจะเปลี่ยนมาใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวด ถึงแม้ว่าจะไม่กลบความหวังโดยสิ้นเชิง แต่อย่างน้อยก็เป็นระยะเวลาอีกยาวนาน นอกจากนี้ นาย Fumio Kishida นายกรัฐมนตรีได้กล่าวสนับสนุนนโยบายการเงินของธนาคารกลางฯ ในปัจจุบัน ดังนั้น น่าจะมีความเป็นไปได้สูงที่การประชุมในวันศุกร์ที่ 28 กรกฎาคม ธนาคารกลางญี่ปุ่นจะคงอัตราดอกเบี้ยไม่เปลี่ยนแปลง และเพื่อเป็นการรักษาค่าเงินประเทศ หากจำเป็น ธนาคารฯ อาจมีการแทรกแซงค่าเงินอย่างที่เคยทำไว้แล้วก่อนหน้านี้
ในระหว่างนี้ เพื่อหยุดยั้งไม่ให้เงินเยนร่วงลงต่อ นาย Masato Kanda ทูตด้านค่าเงินของญี่ปุ่นได้เข้ามา “แทรกแซงโดยคำพูด” เขากล่าวว่า เขาเอง “ไม่รู้สึกว่ามีข้อจำกัดใด ๆ ต่อโอกาสการแทรกแซงค่าเงิน” และเมื่อพูดถึงมาตรการนี้ เขาจะใช้หลายมาตรการเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะที่ “กระสุน” หมดคลัง
สถานการณ์นิ่งสงบลงในระดับหนึ่ง หลังจากความเห็นของนาย Masato Kanda โดย USD/JPY ปิดที่ระดับ 141.80 ในสัปดาห์ที่แล้ว ณ ขณะที่เขียนบทวิเคราะห์ฉบับนี้ มีนักวิเคราะห์ 25% ที่คาดการณ์ว่าราคาจะขยับไปยังทิศเหนือต่อไปในช่วงไม่กี่วันข้างหน้า 55% โหวตให้กับแนวโน้มขาลง และ 20% โหวตให้กับแนวโน้มตรงกลาง ด้านอินดิเคเตอร์ต่าง ๆ 25% ให้สัญญาณสีแดง 50% ให้สีเขียว และ 25% ให้สีเทากลาง ในส่วนของอินดิเคเตอร์เทรนด์ชี้ให้เห็นว่าฝั่งสีเขียวได้เปรียบกว่า 90% และมี 10% เท่านั้นที่ให้สัญญาณสีแดง โดยมีระดับแนวรับที่ใกล้ที่สุดอยู่ที่โซน 141.40 ตามมาด้วย 140.45-140.60, 139.85, 138.95-139.05, 138.05-138.30, จากนั้นคือ 137.25-137.50, 135.95, 133.75-134.15, 132.80-133.00, 131.25, 130.60, 129.70, 128.10, และ 127.20 ด้านแนวต้านที่ใกล้ที่สุดอยู่ที่ 142.20 ตามมาด้วย 143.75-144.00, 145.05-145.30, 146.85-147.15, 148.85 และสุดท้ายนี้คือระดับสูงสุดของเดือนตุลาคม 2022 ที่ 151.95
นอกเหนือจากการประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่นแล้ว ในสัปดาห์นี้ไม่คาดว่าจะมีการประกาศข้อมูลทางเศรษฐกิจที่สำคัญใด ๆ ในสัปดาห์ที่จะถึงนี้
คริปโตเคอเรนซี: Litecoin Halving - การซ้อม Halving สำหรับ Bitcoin
- ผู้สังเกตการณ์ชี้ว่า จุดสูงสุดของดัชนีดอลลาร์ DXY ในปี 2023 แทบจะตรงกับจุดเหวลึกสุดของบิทคอยน์ นี่ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจแต่อย่างใด BTC/USD ก็เหมือนกับตราชั่ง หากดอลลาร์หนักขึ้น บิทคอยน์จะเบาลง ในสัปดาห์ที่แล้ว ดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นทำให้บิทคอยน์อ่อนค่าลง ทั้งนี้ บิทคอยน์ได้พยายามอย่างทุกวิถีทางเพื่อพยุงโซนแนวรับที่ $29,850 ให้สำเร็จ และพยุงราคาไม่ให้ร่วงลงมายังระดับต่ำสุดของเดือนมิถุนายนที่บริเวณ $25,000
ความสัมพันธ์ระหว่าง BTC และ USD เป็นเหตุเป็นผลต่อกัน และเข้าใจได้ อย่างไรก้ตาม นักเทรดคริปโตตัวยงพยายามจะวางบิทคอยน์เป็นสินทรัพย์ชี้นำ ในขณะที่ดอลลาร์ตามหลังเหมือนหางของสุนัข พวกเขาอ้างตัวอย่างเหตุการณ์ครั้งที่บิทคอยน์เข้าสู่กรอบแนวนอนในช่วงกลางปีที่แล้ว ในขณะที่ดัชนีดอลลาร์ตามหลังในเวลาไม่กี่สัปดาห์ถัดมา หากคุณสังเกตอย่างใกล้ชิด คุณอาจเห็นสถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นหลายครั้งบนกราฟ แต่ในมุมมองของเรา เราไม่ควรประเมินความสำคัญของคริปโตอย่างเกินตัวมากเกินไป
ในขณะนี้ ผู้เชี่ยวชาญและอินฟลูเอนเซอร์หลายคนยังวาดอนาคตที่สดใสให้กับบิทคอยน์ แม้ว่าจุดสูงสุดของแต่ละคนจะแตกต่างกันไป บ้างก็ต่างกันหลายสิบเท่า เช่น Geoff Kendrick ล่าสุดได้กล่าวว่า บริษัทเขาได้ปรับการคาดการณ์ที่สดใสมากขึ้นให้กับมูลค่าตลาดของบิทคอยน์ โดยตั้งเป้าไว้ที่ระดับ $120,000 ภายในสิ้นปี 2024
Glen Goodman นักวิเคราะห์จาก BBC World ตอบกลับโดยกล่าวว่า $120,000 “ดูเหมือนจะเป็นตัวเลขที่ลอยอยู่ในอากาศมากกว่าการคาดการณ์ที่เหมาะสมอย่างแท้จริง” เขาเชื่อว่าคนที่ให้การคาดการณ์เช่นนี้และอยู่ข้างกระทิงนั้นไม่ได้พิจารณาปัจจัยหลายประการ ปัจจัยที่สำคัญที่สุดก็คือ ทางการสหรัฐฯ กำลังโจมตีอุตสาหกรรมคริปโตอย่างไร้ความปรานี นำมาซึ่งการฟ้องร้องคดีและการสอบสวนมากมาย นอกจากนี้ Goodman ยังอ้างถึงการคาดการณ์โดยนักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันที่คาดว่า ภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะเกิดขึ้นในปีหน้า ซึ่งผลที่ตามมาจะส่งผลต่อกิจกรรมในตลาดการเงินอย่างรุนแรง รวมถึงตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลด้วย
Raoul Pal ซีอีโอของ Real Vision และอดีตผู้บริหารสูงสุดของ Goldman Sachs มีความเห็นที่แตกต่างไปจาก Glen Goodman เขาเชื่อว่า ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจและความสับสนอลหม่านในภาคธนาคาร และวิกฤติตลาดอสังหาริมทรัพย์เป็นผลดีต่อบิทคอยน์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยท่ามกลางวิกฤติเหล่านี้ Raoul Pal ชี้ว่า การทะยานขึ้นของตลาดกระทิงของทองคำดิจิทัลนั้นหลีกเลี่ยงไม่ได้ และ BTC จะขึ้นไปถึง $50,000 อย่างไม่ยากในช่วงปลายปีนี้
นักวิเคราะห์ชื่อดังภายใต้ชื่อเล่นว่า PlanB กลับไม่เชื่อว่าบิทคอยน์จะพุ่งทะยานขึ้นได้ก่อนการ Halving ในเดือนเมษายน 2024 การทำนายของเขานั้นอ้างอิงจากอินดิเคเตอร์ MA-200 ซึ่งเส้นอินดิเคเตอร์ดังกล่าวจะสูงขึ้นโดยเฉลี่ย $500 ต่อเดือน ดังนั้นใน 9 เดือน ราคาน่าจะอยู่ที่บริเวณ $32,000 PlanB มองว่ามีความเป็นไปได้ที่ราคาบิทคอยน์อาจอยู่สูงกว่าระดับดังกล่าว 50% แต่ก็แปลว่าอยู่ที่เพียง $48,000 เท่านั้น
Michael Van De Poppe ผู้ก่อตั้งบริษัท Eight ได้ชี้แจงคำทำนายของเขาจากสัปดาห์ที่แล้ว เขาเชื่อว่า เทรนด์ปัจจุบันกำลังทะลุจุดต่ำสุด ส่งผลให้บิทคอยน์อาจร่วงลงไปที่ $29,500 และแม้แต่ $29,000 อย่างไรก็ดี เขาคิดว่า การเคลื่อนที่ดังกล่าวของราคาน่าจะตามมาด้วยการทะยานขึ้น ซึ่งบิทคอยน์จะขึ้นไปที่ $32,500 ก่อน และหลังจากนั้นไปที่ $34,000 ตามมาด้วย $38,000
เมื่อเปลี่ยนจากการคาดการณ์ระยะสั้นมาเป็นระยะกลางจนถึงระยะยาว เราอาจพูดถึงความเห็นของ Catherine Wood ซีอีโอ ARK Invest ดูเหมือนว่าเธอจะไม่ได้สนใจว่าราคาจะพุ่งขึ้นมาที่ $38,000 และแม้แต่ $120,000 เป็นอีกครั้งที่เธอยืนยันการคาดการณ์ของเธอในอีก 7 ปีข้างหน้า ท่ามกลางสถานการณ์ภาวะเงินเฟ้อและวิกฤติธนาคาร บิทคอยน์จะมีราคาซื้อขายอยู่ที่ $1,500,000 ต่อเหรียญ หรืออย่างน้อย $625,000
หากฟังมุมมองจาก CryptoVantage ซึ่งได้สำรวจความเห็นของนักลงทุนคริปโต 1,000 คนจากสหรัฐฯ ปรากฏว่าอาจจะต้องมีหนาวกันบ้าง เพราะมี 23% เท่านั้นที่เชื่อว่าราคาบิทคอยน์จะขยับถึงระดับสูงสุดคือ $68,917 ในปีหน้า 47% เชื่อว่าราคาเหรียญจะขยับขึ้นถึงระดับนี้ภายในห้าปี 78% มั่นใจว่า BTC จะกลับไปยังระดับสูงสุดในประวัติศาสตร์ในที่สุด แต่อนาคตที่จะเกิดขึ้นนั้นยังไม่แน่นอน และ 9% เชื่อว่ามันจะไม่มีวันเกิดขึ้นอีกครั้ง
เราได้ให้ความสนใจเป็นอย่างมากต่อการ Halving ของบิทคอยน์ที่มีขึ้นในเดือนเมษายนปี 2024 ในบทวิเคราะห์ก่อนหน้านี้ของเรา ส่วนตอนนี้เราต้องไม่ลืมว่า Halving ของ Litecoin จะเกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้ คือ วันที่ 2 สิงหาคมนี้ ผลตอบแทนของการขุดบล็อกจะลดลงเหลือ 6.25 LTC ทั้งนี้ เนื่องจาก Litecoin เป็นเหรียญที่แยกออกมาจากบิทคอยน์ และการออกเหรียญทั้งหมดจำกัดไว้ที่ 84 ล้านเหรียญ ทำให้การเปลี่ยนแปลงในราคา Litecoin จะเป็นที่น่าสนใจ และอาจมีความพยายามในการคาดการณ์ราคาบิทคอยน์โดยอ้างอิงจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจาก Halving ของ Litecoin ได้
ในขณะที่เขียนบทวิเคราะห์ฉบับนี้ ในช่วงเย็นวันศุกร์ที่ 21 กรกฎาคม BTC/USD มีราคาซื้อขายอยู่ที่บริเวณ $29,850 โดยมูลค่ารวมของตลาดคริปโตแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงและอยู่ที่ $1.202 ล้านล้านดอลลาร์ ($1.198 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว) ด้านดัชนี Crypto Fear & Greed Index อยู่ในโซนปานกลางคือ (Neutral) ที่ 50 จุด (ลดจาก 60 จุดเมื่อหนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้า)
กลุ่มนักวิเคราะห์ NordFX
หมายเหตุ: เนื้อหาดังกล่าวไม่ควรยึดถือเป็นคำแนะนำในการลงทุนหรือเป็นคำปรึกษาในการซื้อขายในตลาดการเงิน โดยเนื้อหาข้างต้นเป็นไปเพียงเพื่อจุดประสงค์ในการให้ข้อมูลเท่านั้น การซื้อขายในตลาดการเงินมีความเสี่ยงและอาจทำให้เกิดการสูญเสียเงินฝากได้
กลับ กลับ