บทวิเคราะห์ฟอเร็กซ์และคริปโตเคอเรนซีประจำวันที่ 7-11 สิงหาคม 2023

EUR/USD: ฝั่งกระทิงของดอลลาร์ผิดหวังกับ NFP

  • ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาจนถึงวันพฤหัสบดีที่ 3 สิงหาคม ดอลลาร์ยังคงแข็งค่าขึ้น ต่อเนื่องจากแนวโน้มที่เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม ดูเหมือนว่าตลาดจะเหนื่อยล้ากับสภาพเศรษฐกิจโลก และเงินไหลกลับเข้าสู่ดอลลาร์ในฐานะสินทรัพย์หลบภัย

    ที่น่าสนใจก็คือ ดอลลาร์ดูเหมือนจะได้ประโยชน์จากการปรับลดคะแนนเรตติ้ง Fitch ระยะยาวของสหรัฐฯ ลงเป็นครั้งแรกในรอบ 12 ปี โดยมีการปรับลดคะแนนจากสูงสุดที่ AAA เหลือ AA+ ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่กระทบต่อชื่อเสียงมากกว่าเป็นปัจจัยกระตุ้นให้ตลาดดิ่งลง อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์เช่นนี้ นักลงทุนมักจะขจัดสินทรัพย์ที่อ่อนแอและมีความเสี่ยงมากที่สุดออกจากพอร์ต และหันเข้าหาพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และเงินดอลลาร์ที่มีสภาพคล่องดีกว่าแทน ทั้งนี้ ในปี 2011 เมื่อ Standard & Poor's ได้ปรับลดคะแนนเรตติ้งให้กับสหรัฐฯ ได้กระตุ้นให้เกิดภาวะตลาดหุ้นดิ่งลง และดอลลาร์แข็งค่าสูงสุดในรอบหลายปี เพราะปรากฏว่าประเทศอื่นนั้นเผชิญปัญหาที่เลวร้ายยิ่งกว่า

    นักวิเคราะห์จำนวนมากไม่ตัดโอกาสที่สถานการณ์ที่คล้ายกันอาจเกิดขึ้นซ้ำร้อยได้อีก ระดับสำคัญของดัชนีดอลลาร์ที่ 100.0 น่าจะทำหน้าที่เป็นแนวรับให้ราคาเด้งขึ้นต่อไปได้ (ระดับเลขจำนวนเต็มอย่าง 80.0 ในช่วงปี 1990 ถึง 1995 และในปี 2014 และระดับ 90.0 ตั้งแต่ปี 2017-2021 ก็แสดงบทบาทที่คล้ายกัน)

    สถิติเศรษฐกิจมหภาคที่ประกาศเมื่อสัปดาห์ที่แล้วในสหรัฐฯ ปรากฏว่าผสมผสานกัน ในทางหนึ่ง ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ในภาคการผลิตของประเทศเติบโตขึ้นเดือนต่อเดือนจาก 46.0 เป็น 46.4 จุด แต่อีกทางหนึ่งกลับต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ 46.8 ในทางกลับกัน ดัชนี PMI ในภาคบริการลดลงจาก 53.9 เหลือ 52.7 จากตัวเลขคาดการณ์ที่ 53.0 แม้ว่าดัชนีจะคงอยู่ในโซนฟื้นตัว (สูงกว่า 50) ตัวเลขนี้ชี้ว่า เศรษฐกิจภาคนี้กำลังรับมือกับผลที่ตามมาของนโยบายสายเหยี่ยวของธนาคารเฟดและความต้องการของผู้บริโภคที่ลดลง จำนวนยอดขอรับสวัสดิการเบื้องต้นเพิ่มขึ้นจาก 221K เป็น 227K ก็ส่งแรงกดดันต่อเงินดอลลาร์เช่นกัน

    ในฝั่งยูโรโซน สถิติเบื้องต้นแสดงให้เห็นว่า เงินเฟ้อเริ่มจะชะลอตัว ถึงแม้จะเป็นไปอย่างช้า ๆ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ลดลงจาก 5.5% เหลือ 5.3% ซึ่งเป็นไปตามการคาดการณ์ตลาดโดยสมบูรณ์ อัตราการลดลงของปริมาณยอดค้าปลีกชะลอตัวเช่นกัน จาก -2.4% เหลือ -1.4% และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ -1.7%

    หลังจากสถิติดังกล่าว ทุกอย่างกำหนดว่าจะตัดสินใจขึ้นในวันศุกร์ที่ 4 สิงหาคม โดยตลาดรอฟังสถิติจากตลาดแรงงานสหรัฐฯ รวมถึงดัชนี เช่น ระดับค่าจ้าง อัตราว่างงาน และดัชนีนอนฟาร์ม (NFP) หรือจำนวนตำแหน่งงานใหม่นอกภาคการเกษตร ตัวเลขเหล่านี้มีบทบาทสำคัญที่บ่งบอกถึงสภาพตลาดแรงงานในประเทศ ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อที่ส่งผลต่อการตัดสินใจกำหนดนโยบายการเงินในอนาคตของธนาคารเฟด

    ในตอนท้าย ตัวเลขต่าง ๆ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมาก แต่ตลาดตัดสินใจว่ามันแสดงถึงแนวโน้มตลาดหมีมากกว่ากระทิงสำหรับดอลลาร์ รายได้เฉลี่ยต่อชั่วโมง (เดือนต่อเดือน) ยังคงเท่าเดิมที่ 0.4% อัตราว่างงานลดลงเล็กน้อยจาก 3.6% เหลือ 3.5% (ตัวเลขคาดการณ์อยู่ที่ 3.6%) ส่วนตัวเลข NFP ยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงมาก อยู่ที่ 187K เทียบกับ 185K เมื่อหนึ่งเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ดี ตัวเลขนี้ต่ำกว่าการคาดการณ์ที่ 200K

    ดัชนี NFP เป็นตัวชี้วัดหลักของภาวะเศรษฐกิจที่สงบลงของสหรัฐฯ NFP ที่ลดลงแปลว่า “น็อต” นั้นไขแน่นมากเกินไป เศรษฐกิจกำลังอยู่ในภาวะเงินฝืด และบางทีอาจจะต้องหยุดพักนโยบายการเงินแบบเข้มงวดลงก่อน หรืออย่างน้อยที่สุดอาจจะถึงเวลาที่จะต้องยุติวัฎจักรการจำกัดนโยบายทางการเงินแล้ว เหตุผลนี้ส่งผลให้ดัชนี DXY ขยับลดลง และดันคู่ EUR/USD ให้สูงขึ้น ผลก็คือ ราคาคู่นี้ปิดท้ายห้าวันทำการที่ระดับ 1.1008

    ในส่วนแนวโน้มระยะใกล้ ณ ขณะที่เขียนบทวิเคราะห์ฉบับนี้ในช่วงเย็นวันที่ 4 สิงหาคม มีนักวิเคราะห์เพียง 25% เท่านั้นที่โหวตให้แนวโน้มขาขึ้นและดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง อีก 75% โหวตให้กับฝั่งตรงข้าม ภาพรวมของออสซิลเลเตอร์บนกรอบ D1 นั้นคล้ายกัน โดย 75% ชี้ไปยังทิศใต้ (15% อยู่ในโซน oversold) 15% ชี้ไปยังทิศเหนือ และ 10% อยู่ในโซนตรงกลาง ด้านอินดิเคเตอร์แนวโน้มแสดงสถานการณ์ที่ตรงกันข้าม โดยมี 75% แนะนำให้ซื้อ และ 25% แนะนำให้ขาย

    แนวรับที่ใกล้ที่สุดของคู่นี้อยู่ที่บริเวณ 1.0985 จากนั้นคือ 1.0945, 1.0895-1.0925, 1.0845-1.0865, 1.0780-1.0805, 1.0740, 1.0665-1.0680, และ 1.0620-1.0635 ฝั่งกระทิงจะเจอกับแนวต้านที่บริเวณ 1.1045 จากนั้นคือ 1.1090-1.1110, 1.1150-1.1170, 1.1230, 1.1275-1.1290, 1.1355, 1.1475 และ 1.1715.

    เราเคยกล่าวไปแล้วว่า สถานการณ์ในตลาดแรงงานและภาวะเงินเฟ้อเป็นปัจจัยกำหนดรูปแบบนโยบายการเงินของธนาคารกลางต่าง ๆ ในสัปดาห์ที่แล้ว เราได้รับทราบสถิติหลายชุดด้วยกัน ส่วนในสัปดาห์ที่จะถึงนี้ เราจะได้ทราบสถิติดังนี้ ในวันจันทร์ที่ 8 สิงหาคม เราจะทราบสถานการณ์เงินเฟ้อของเยอรมนี และวันพฤหัสบดีที่ 10 สิงหาคม จะมีการประกาศดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) นอกจากนี้ ในวันเดียวกันจะมีการรายงานสถิติอัตราว่างงานของสหรัฐฯ และปิดท้ายสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 11 สิงหาคม ด้วยดัชนีเงินเฟ้อที่สำคัญ คือ ดัชนีราคาผู้ผลิตของสหรัฐฯ (PPI)

GBP/USD: ธนาคารอังกฤษคิดถูกหรือผิด?

  • ความตื่นเต้นว่าธนาคารแห่งชาติอังกฤษ (BoE) จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยเท่าไรเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม ที่ 50 หรือ 25 จุดพื้นฐาน (bps) ปรากฏว่าจบลงด้วยท่าทีที่ระมัดระวังมากกว่า อัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจาก 5.00% เป็น 5.25% พาราคาคู่ GBP/USD ขึ้นไปที่โซนต่ำสุดในรอบห้าสัปดาห์ โดยมีระดับต่ำสุดอยู่ที่ 1.2620

    นักเศรษฐศาสตร์จาก Commerzbank ให้ความเห็นต่อการตัดสินใจของธนาคารกลางอังกฤษดังนี้ “ธนาคารกลางอังกฤษพยายามที่จะฟื้นคืนอำนาจ แต่ยังไม่ชัดเจนว่ามันจะสำเร็จแค่ไหน” Commerzbank เชื่อว่า การตัดสินใจของ BoE ในการลดอัตราการขึ้นดอกเบี้ยมาจากข้อเท็จจริงที่อัตราเงินเฟ้อเดือนมิถุนายนเป็นตัวเลขไม่สูงอย่างน่าประหลาดใจ ซึ่งไม่ได้แปลว่าธนาคารกลางจะเปลี่ยนแปลงแนวทางโดยรวม “หากเงินเฟ้อยังคงดีขึ้น การตัดสินใจอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันนั้นอาจเพียงพอ” กล่าวโดยนักเศรษฐศาสตร์ของธนาคาร Commerzbank และเชื่อว่า หากรายงานเงินเฟ้อเดือนมิถุนายนเป็นกรณียกเว้น ธนาคารอังกฤษก็อาจจะมีความลังเลได้อีกครั้ง และจะส่งแรงกดดันต่อเงินปอนด"

    ในเดือนมิถุนายน ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในสหราชอาณาจักรลดลงจาก 8.7% เป็น 7.9% (จากการคาดการณ์ที่ 8.2%) อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อในประเทศยังคงอยู่ระดับสูงสุดในบรรดาประเทศพัฒนาแล้ว ทั้งนี้ เงินเฟ้อยังคงสูงกว่าระดับเป้าหมายที่ 2% เป็นอย่างมาก ธนาคารอังกฤษจึงอาจจะยังคงแนวทางเชิงรุก และเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป แม้ว่าจะมีความเสี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่เพิ่มขึ้น

    หลังจากดัชนี DXY ปรับลดลงเนื่องด้วยสถิติตลาดแรงงานที่น่าผิดหวังในสหรัฐฯ GBP/USD ปิดท้ายสัปดาห์ที่ 1.2748 การคาดการณ์กลางของผู้เชี่ยวชาญสำหรับอนาคตอันใกล้ดูยังเป็นกลาง โดยมี 45% เห็นด้วยกับแนวโน้มขาลง 30% ขาขึ้น และที่เหลือ 25% ไม่ให้ความเห็นใด ๆ ในส่วนออสซิลเลเตอร์บนกรอบ D1 มี 10% ให้สัญญาณสีเขียว และ 15% สีเทากลาง ส่วน 75% ให้สีแดง (หนึ่งในสี่ชี้ว่าราคาอยู่ในภาวะ oversold) อัตราส่วนสีเขียวต่อสีแดงในหมู่อินดิเคเตอร์เทรนด์อยู่ที่ 50% ต่อ 50% เหมือนในสัปดาห์ที่แล้ว หากราคาขยับลงทิศใต้ จะเจอกับแนวรับและโซนที่ 1.2675-1.2695, 1.2575-1.2600, 1.2435-1.2450, 1.2300-1.2330. 1.2190-1.2210, 1.2085, 1.1960 และ 1.1800 ในกรณีที่ราคาเติบโตขึ้น จะต้องเจอกับแนวต้านที่ระดับ 1.2800-1.2815 ตามมาด้วย 1.2880, 1.2940, 1.2980-1.3000, 1.3050-1.3060, 1.3125-1.3140, 1.3185-1.3210, 1.3300-1.3335, 1.3425, 1.3605

    ที่น่าสนใจก็คือ สถิติ GDP ของสหราชอาณาจักรจะประกาศในวันศุกร์ที่ 11 สิงหาคมนี้ ซึ่งจะบ่งบอกถึงสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ แต่คุณได้เห็นความผันผวนที่เพิ่มขึ้นมากในวันพฤหัสบดีที่ 10 สิงหาคม ซึ่งจะมีการประกาศดัชนีเงินเฟ้อ (CPI) ของสหรัฐฯ ซึ่งดัชนีทางเศรษฐกิจเหล่านี้จะมีอิทธิพลสำคัญต่ออัตราแลกเปลี่ยนและจะเป็นที่จับตามองอย่างใกล้ชิดโดยนักเทรดและนักลงทุน ผลลัพธ์อาจส่งผลต่อการตัดสินใจทางนโยบายทางการเงินของธนาคารอังกฤษ และกระทบต่อคู่ GBP/USD ได้

USD/JPY: ภาวะเงินเฟ้อตัดสินทุกอย่าง

  • ในช่วงครึ่งแรกของสัปดาห์ เงินเยนอ่อนค่าลงภายใต้แรงกดดันจากดอลลาร์ เช่นเดียวกับสกุลเงินอื่น ๆ ในตะกร้า DXY และคู่ USD/JPY ขยับถึงระดับ 143.88 อย่างไรก็ตาม ธนาคารแห่งชาติอังกฤษ (BoJ) ได้เข้ามายื่นมือช่วยเหลือค่าเงินประเทศ

    เราได้รายงานไปในบทรีวิวครั้งที่แล้วว่า เป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่ Kazuo Ueda ประธานธนาคารกลางญี่ปุ่นคนใหม่ตัดสินใจเป้าเส้นโค้งผลตอบแทนพันธบัตรให้มีความยืดหยุ่นขึ้น ซึ่งระดับเป้าหมายของผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นชุด 10 ปี (JGB) ยังคงเท่าเดิมที่ 0% แต่อนุญาตให้ผันผวนได้ในช่วง +/-0.5% แต่ข้อจำกัดนี้จะไม่ใช่กรอบที่เคร่งครัดอีกต่อไป แต่จะมีความยืดหยุ่นให้ผันผวนเกินเลยมากกว่านั้นได้ แน่นอนว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นได้ขีด “เส้นสีแดง” ไว้ที่ระดับ 1.0% และประกาศว่าจะเริ่มดำเนินการซื้อพันธบัตรเพื่อรักษาผลตอบแทนไม่ให้ขึ้นสูงเหนือระดับดังกล่าว

    และตอนนี้ ไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์หลังจากท่าทีอันบุกเบิกโดย BoJ ผลตอบแทนของ JGB จึงขึ้นสูงสุดในรอบเก้าปีที่บริเวณ 0.65% ส่งผลให้ธนาคารกลางฯ รีบเข้ามาแทรกแซง และเพื่อไม่ให้ผลตอบแทนขยับสูงขึ้น ธนาคารฯ เข้าแทรกแซงโดยการซื้อสินทรัพย์เหล่านี้ จึงช่วยหนุนค่าเงินเยน

    ค่าเงินเยนญี่ปุ่นได้รับแรงหนุนเพิ่มเติมเมื่อวันศุกร์ที่ 4 สิงหาคม เนื่องด้วยสถิติที่อ่อนแอของดัชนี NFP ในสหรัฐฯ ส่งผลให้ USD/JPY ปิดท้ายสัปดาห์ที่ระดับ 141.73

    ไม่ต้องสงสัยเลยว่า อัตราเงินเฟ้อจะเป็นสิ่งสำคัญสำหรับธนาคารกลาง และตลาดค่าเงิน ในขณะนี้ มีหลักฐานมากมายที่ชี้ว่าอัตราเงินเฟ้อในญี่ปุ่นจะยังคงเพิ่มสูงขึ้น ไม่กี่วันก่อน รัฐบาลญี่ปุ่นได้แนะนำให้มีการขึ้นค่าจ้าง 4% และการเจรจาค่าจ้างทำระดับเติบโตสูงสุดในรอบสามทศวรรษ สถานการณ์นี้จึงมีหลักฐานสนับสนุนเพิ่มเติมว่า ธุรกิจทั้งหลายพร้อมที่จะผลักภาระไปยังผู้บริโภค ส่งผลให้ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ปรับตัวสูงขึ้น แนวโน้มนี้ยังสะท้อนให้เห็นในการที่บริษัทญี่ปุ่นตอบรับต่อต้นทุนแรงงานที่เพิ่มขึ้นโดยการขึ้นราคา จึงยิ่งผลักดันภาวะเงินเฟ้อ ดังนั้น สถานการณ์นี้อาจส่งผลต่อการตัดสินใจของธนาคารกลางญี่ปุ่นและอิทธิพลของค่าเงินเยนในตลาดเงินตรา สถานการณ์เน้นให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความสัมพันธ์กันระหว่างตลาดการเงิน นโยบายการเงิน และมูลค่าของค่าเงิน และยิ่งเน้นย้ำถึงความสำคัญของการติดตามดัชนีเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด รวมถึงท่าทีของธนาคารกลาง

    เพื่อเป็นการต่อสู้กับราคาที่สูงขึ้น ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) ได้ดำเนินการร่วมกับสหรัฐฯ และยุโรปในการใช้นโยบายทางการเงินที่เข้มงวดและขึ้นอัตราดอกเบี้ย นักวิเคราะห์จาก Dutch Rabobank หวังว่า BoJ จะเดินตามรอยและค่อย ๆ ถอยห่างจากนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายสุดโต่ง ด้วยเหตุนี้ พวกเขาคาดการณ์ว่าอัตราแลกเปลี่ยน USD/JPY อาจกลับมายังระดับ 138.00 ภายในระยะเวลาสามถึงหกเดือน

    มุมมองของนักยุทธศาสตร์ธนาคาร MUFG ของญี่ปุ่นเป็นบวกน้อยกว่า พวกเขาเขียนว่า “ในเวลานี้ เราคาดการณ์ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในครึ่งแรกของปีหน้า การเปลี่ยนไปใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวดขึ้นโดย BoJ จะสนับสนุนการคาดการณ์เงินเยนที่แข็งค่าขึ้นของเราในปีหน้าที่จะถึงนี้” สำหรับการเปลี่ยนแปลงล่าสุดในนโยบายการควบคุมเส้นโค้งผลตอบแทน MUFG เชื่อว่า สิ่งนี้อย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะฟื้นคืนค่าเงินญี่ปุ่น

    นักเศรษฐศาสตร์จาก Commerzbank ของเยอรมนี และ Nordea Bank ของฟินแลนด์เห็นด้วยว่า หากธนาคารกลางญี่ปุ่นสามารถรับมือกับภาวะเงินเฟ้อได้ อัตราแลกเปลี่ยนของเงินเยนน่าจะสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงในนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่นจะไม่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอาจจะเกิดขึ้นในช่วงปี 2024

    มุมมองและการคาดการณ์ที่หลากหลายเน้นให้เห็นถึงความซับซ้อนของสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ และความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงในนโยบายทางการเงินและความเคลื่อนไหวในค่าเงิน สถานการณ์ในญี่ปุ่นมีความแตกต่างไปเป็นพิเศษ เนื่องจากธนาคารฯ ต่อสู้กับภาวะเงินฝืดมาเป็นเวลานาน และมีความมุ่งมั่นที่จะใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอย่างยิ่ง ตลาดและผู้ออกนโยบายจำเป็นต้องให้ความสนใจต่อตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจที่สำคัญอย่างใกล้ชิด ตลอดจนสัญญาณของธนาคารกลาง และแนวโน้มเศรษฐกิจโลก

    สำหรับการาคาดการณ์ในระยะสั้นของนักวิเคราะห์ ยังไม่มีทิศทางที่ชัดเจน หนึ่งในสามเชื่อว่า คู่ USD/JPY จะขยับไปยังทิศเหนือในไม่อีกกี่วันข้างหน้า หนึ่งในสามเชื่อว่าราคาจะขยับลงทิศใต้ และกลุ่มสุดท้ายเชื่อว่าจะเป็นเทรนด์ไซด์เวยส์หรือการเคลื่อนที่ “ด้านข้าง” ส่วนอินดิเคเตอร์ในกรอบ D1 ให้ผลลัพธ์ดังนี้:

    ออสซิลเลเตอร์ 75% ให้สัญญาณสีเขียว และ 25% ให้สีเทากลาง อินดิเคเตอร์เทรนด์ สีเขียวเป็นฝ่ายได้เปรียบที่ 85% และสีแดงมีเพียง 15% เท่านั้น

    ระดับแนวรับที่ใกล้ที่สุดอยู่ที่ 141.40 ตามมาด้วย 140.60-140.75, 139.85, 138.95-139.05, 138.05-138.30, 137.25-137.50, 135.95, 133.75-134.15, 132.80-133.00, 131.25, 130.60, 129.70, 128.10 และ 127.20 ส่วนแนวต้านที่ใกล้ที่สุดอยู่ที่ 141.20, then 142.90-143.05, 143.75-144.04, 145.05-145.30, 146.85-147.15, 148.85 และสุดท้ายคือราคาสูงสุดของเดือนตุลาคม 2022 ที่ 151.95

    เมื่อพิจารณาความเห็นที่แตกต่างกันของนักวิเคราะห์และผลการวิเคราะห์เชิงเทคนิคต่าง ๆ แล้ว นักเทรดอาจพิจารณาคู่นี้อย่างระมัดระวัง การประกาศสถิติทางเศรษฐกิจที่สำคัญ คำแถลงของธนาคารกลาง และปัจจัยพื้นฐานอื่น ๆ คือสิ่งที่จะให้มุมมองเจาะลึกเพิ่มเติมให้กับทิศทางที่น่าจะเป็นของคู่ USD/JPY

    ไม่มีข้อมูลที่สำคัญอะไรเกี่ยวกับเศรษฐกิจญี่ปุ่นคาดว่าจะประกาศในสัปดาห์ที่จะถึงนี้ นักเทรดควรทราบว่าในวันศุกร์ที่ 11 สิงหาคม จะเป็นวันหยุดในญี่ปุ่นเนื่องในวันภูเขา

คริปโตเคอเรนซี: ETH/BTC - ใครจะเป็นผู้ชนะ?

  • บทรีวิวคริปโตสัปดาห์ที่แล้วตั้งชื่อว่า “ค้นหาปัจจัยกระตุ้นที่หายไป” ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เรายังไม่พบปัจจัยกระตุ้น หลังจากแนวโน้มขาลงช่วงวันที่ 23-24 กรกฎาคม BTC/USD ได้เข้าสู่รอบการเคลื่อนที่แบบไซด์เวยส์อีกครั้ง โดยพยายามต้านทานดอลลาร์ที่แข็งค่า การทะยานขึ้นในช่วงวันที่ 1-2 สิงหาคม ที่ $30,000 ดูเหมือนกับดักฝั่งกระทิงเป็นอย่างมาก และทำให้ราคาดูลังเลที่จะขึ้นต่อและกลับลงมายัง Pivot Point ที่บริเวณ $29,200 ทองคำดิจิทัลแตกต่างไปจากทองคำจริง ตรงที่แทบจะไม่มีการตอบสนองต่อสถิติตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ประกาศเมื่อวันที่ 4 สิงหาคมแต่อย่างใด 

    นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่า วิกฤติ DeFi กำลังสร้างแรงกดดันเพิ่มเติมต่อบิทคอยน์ และถึงขั้นทำนายแนวโน้มขาลงครั้งใหญ่ของบิทคอยน์ในอนาคตอันใกล้ อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของเรา สิ่งที่พวกเขาเรียกว่า “วิกฤติ” นั้นไม่ใช่วิกฤติจริง ๆ ทุกอย่างเป็นเรื่องของความเปราะบางในภาษาโปรแกรม Vyper ในเวอร์ชันแรก ๆ ซึ่งเดิมเคยใช้เขียนสมาร์ททคอนแทรกที่ตลาดแลกเปลี่ยนแบบกระจายศูนย์ (DEX) ดำเนินงาน เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม พูลสภาพคล่องสี่คู่ (CRV/ETH, alETH/ETH, msETH/ETH, pETH/ETH) ที่ใช้ Vyper เวอร์ชันแรก ๆ 0.2.15-0.30 ถูกแฮ็คในตลาดแลกเปลี่ยน Curve Finance ส่วนพูลอื่น ๆ (กองเงินดิจิทัล) กว่าสองร้อยพูลไม่ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ เงินที่ถูกแฮ็คไปคิดเป็นมูลค่าประมาณ $52 ล้านดอลลาร์

    ผู้เชี่ยวชาญ CertiK รายงานว่า นักเทรดคริปโตสูญเสียเงินดิจิทัลคิดเป็นเงิน $303 ล้านดอลลาร์เนื่องด้วยการถูกแฮ็คโจมตีในเดือนกรกฎาคม ข้อมูลจาก PeckShield ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมิถุนายน 2023 ชี้ว่า อุตสาหกรรมคริปโตเจอกับการโจรกรรมอย่างน้อย 395 ครั้ง จึงมีการโจรกรรมเงินไปประมาณ $480 ล้านดอลลาร์ ดังนั้น การแฮ็ค Curve Finance จึงไม่ใช่เรื่องน่าพึงประสงค์อย่างแน่อน แต่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอะไร และยังมีขนาดมูลค่าความเสียหายที่ห่างไกลไปจาก Terra (LUNA) และเหตุการณ์ FTX ล่มสลาย

    บางทีถ้าอยากจะสบายใจมากขึ้น เราต้องไม่ฝากความหวังทั้งหมดไปกับเรื่อง ๆ เดียว นี่คือความเห็นของนาย Michael Novogratz ซีอีโอบริษัท Galaxy Investment Partners ในบทสัมภาษณ์ Bloomberg ล่าสุดว่า “ถ้านักลงทุนยังอายุไม่มากและสะดวกที่จะยอมรับความเสี่ยง ผมขอแนะนำให้ซื้อหุ้น Alibaba และลงทุนในเงิน ทองคำ บิทคอยน์ และอีธีเรียม ซึ่งนี่คือพอร์ตของผม” เขากล่าว

    ความมั่นใจของ Novogratz ในอนาคตของบิทคอยน์เพิ่มขึ้นหลังจากบริษัทยักษ์ใหญ่ BlackRok ได้ยื่นขอเปิดกองทุน ETF สปอตบิทคอยน์ นักธูรกิจท่านนี้ให้ข้อสังเกตว่า Larry Fink ซีอีโอของ BlackRock ไม่เคยเชื่อในบิทคอยน์มาก่อน แต่ตอนนี้เปลี่ยนมุมมองแล้ว “ตอนนี้ เขาบอกว่า BTC จะเป็นสกุลเงินของโลก และคนทั่วโลกจะเชื่อใจมัน เขาเชื่อในบิทคอยน์” กล่าวโดย Michael Novogratz

    Peter Brandt นักเทรดในตำนานและผู้คร่ำหวอดวงการการเงินเชื่อว่า ในอนาคต บิทคอยน์จะ “ปรากฏขึ้นจากเงา” ของสินทรัพย์เพื่อการลงทุนดั้งเดิม เช่น ทองคำและหุ้น และในอนาคต บิทคอยน์จะเป็นตัวกำหนดน้ำเสียงในตลาดการเงิน

    Brandt เน้นย้ำว่า ทางการสหรัฐฯ จะอนุมัติคำขอเปิดกองทุนบิทคอยน์สปอตอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์เชื่อว่า การอนุมัตินี้จะไม่เป็นข่าวดัง หรือแม้แต่การ Halving ของบิทคอยน์ หลังจากเหตุการณ์เหล่านี้ แทนที่ราคาจะขึ้น มันจะลดลง “ในการเก็งกำไร 48 ปี ผมเห็นมาตลอดว่าตลาดจะเก็งเหตุการณ์ไว้แล้วก่อนที่มันจะเกิดขึ้น” นักลงทุนในตำนานของวอลล์สตรีทท่านนี้ย้ำว่า “ให้ซื้อข่าวลือ และขายข่าวจริง”

    ความเห็นในทางค่อนข้างลบเกี่ยวกับผลที่ตามมาของการ Halving ยังแสดงออกโดยนักวิเคราะห์ CME Group ซึ่งพวกเขาตั้งข้อสังเกตว่า นักวิเคราะห์กล่าวว่า การเติบโตในอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นของสินทรัพย์คริปโต ซึ่งแข็งแกร่งเป็นอย่างมากในช่วงแปดปีแรกของบิทคอยน์ กลับค่อย ๆ ลดลงอย่างเห็นได้ชัดในช่วงห้าปีที่ผ่านมา ดังนั้น ไม่มีอะไรรับประกันได้ว่าการ Halving จะนำไปสู่ราคาขาขึ้นให้กับทั้ง BTC และเหรียญทางเลือกอื่น ๆ

    แม้จะมีคำเตือนออกมามากมาย อินฟลูเอนเซอร์และแฟนคริปโตตัวยงมากมายยังคงแข่งกันให้ตัวเลขคาดการณ์ราคาบิทคอยน์ในอนาคตไม่กี่ปีข้างหน้า โดยเราสามารถจัดลำดับความเห็นส่วนหนึ่งจากน้อยไปหามากได้ดังนี้ นักวิเคราะห์ภายใต้ชื่อว่า TechDev ได้คาดการณ์ตัวเลที่ต่ำกว่าเล็กน้อยแต่ยังคงมีความสำคัญสำหรับ BTC เขาใช้พฤติกรรมของตลาดการเงินดั้งเดิมในการอ้างอิงเพื่อคาดการณ์ราคาบิทคอยน์ เช่น ราคาพันธบัตรรัฐบาลจีนชุด 10 ปี พฤติกรรมของดัชนีดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงงบประมาณของธนาคารกลางในประเทศขนาดใหญ่ ฯลฯ เขาเชื่อว่า ราคาบิทคอยน์กำลังขยับตามดัชนีสภาพคล่องของโลกอย่างใกล้ชิด และวัฎจักรเศรษฐกิจในปัจจุบันจะจบลงด้วยปริมาณเงินที่เพิ่มขึ้นมหาศาล ส่งผลให้บิทคอยน์มีราคาเติบโตขึ้น ในมุมมองของนักวิเคราะห์ ดัชนีการเติบโตแบลอการิธึม ซึ่งเพิกเฉยต่อความผันผวนของสินทรัพย์ในระยะสั้นนั้นชี้ให้เห็นว่า ภายในปี 2025 บิทคอยน์จะทำราคาขึ้นไปถึง $140,000 ได้ภายในปี 2025

    “ผมต้องบอกว่านี่เป็นการประมาณการคร่าว ๆ เท่านั้น เมื่อพิจารณาหลักเกณฑ์ของตัวชี้วัดและความลาดชันของโมเมนตัม” เขากล่าวเตือน นอกจากนี้ เขายังตั้งข้อสังเกตดัชนี Bollinger Band ที่อยู่ในกรอบแคบมาก ๆ ซึ่งครั้งสุดท้ายที่ราคาบิทคอยน์ออกจากกรอบดังกล่าวนั้นก็เกิดเป็นการทะยานขึ้นอย่างเต็มรูปแบบ

    ถัดไปในสามอันดับแรกของเราคือ Tim Draper นักลงทุนเศรษฐีพันล้านผู้กล่าวให้สัมภาษณ์กับ FOX Business ว่า การที่ทั่วโลกยอมรับบิทคอยน์จะเป็นเรื่องของเวลาเท่านั้น “รายย่อยจะตระหนักในที่สุดว่าจะทำเงินได้ขนาดไหนจากเงินออมแค่ 2% เมื่อให้การยอมรับบิทคอยน์ โดยตัดขาดความจำเป็นในการจ่ายเงินผ่านธนาคารและบริษัทบัตรเครดิต” เขาอธิบาย

    Draper กล่าวย้ำในคำทำนายในเดือนกรกฎาคมว่า มูลค่าบิทคอยน์จะพุ่งขึ้นไปที่ $250,000 ซึ่งเป็นความสำเร็จที่เขาคาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2025 ทั้งนี้ Draper มีชื่อเสียงเมื่อเขาได้เคยให้คำทำนายเดียวกันนี้เมื่อปี 2018 แต่เขาผลัดเป้าหมายไปเป็นปี 2022 ซึ่งการคาดการณ์ดังกล่าวก็ไม่ถูกต้อง

    และสุดท้ายนี้ อันดับสูงสุดเหรียญทองในครั้งนี้เป็นของ Arthur Hayes ผู้ร่วมก่อตั้งแพลตฟอร์ม BitMEX เขาได้เผยแพร่บทความที่ทำนายว่าราคาบิทคอยน์จะพุ่งไปที่ $760,000 ในมุมมองของเขา การประยุกต์เอไอเข้าในโครงการบล็อกเชนบิทคอยน์จะยิ่งเพิ่มความน่าสนใจให้กับเหรียญได้อย่างมาก ซึ่งเป็นสินทรัพย์ฐานหลักของระบบนิเวศ

    Hayes เชื่อว่า Ethereum จะแสดงโมเดลการพัฒนาที่คล้ายกัน หากโครงการที่มีฐานหลักเป็นเอไอผนวกเข้าในเหรียญทางเลือกนี้ ความน่าดึงดูดในการลงทุนใน ETH ซึ่งเป็นเครื่องมือธุรกรรมชั้นนำในเครือข่ายจะเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ในกรณีนี้ อัลท์คอยน์อาจมีราคาพุ่งขึ้น 1,556% ดังนั้น ผู้ร่วมก่อตั้ง BitMEX ไม่ตัดโอกาสที่ ETH อาจทะยานขึ้นเป็น $31,063

    อีกปัจจัยหนึ่งที่ Hayes พิจารณาว่าน่าจะกระตุ้นการเติบโตของ ETH ในช่วงห้าปีข้างหน้าคือ การขยายตัวของตลาดกระจายศูนย์ (DeFI) โปรโตคอลส่วนใหญ่ในระบบนิเวศใช้งาน Ethereum และความนิยมของมันจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การเติบโตของจำนวนผู้ใช้งานตลาดกระจายศูนย์ (DEX) จะทำให้ธุรกรรม ETH เพิ่มสูงขึ้น และผลที่ตามมาก็คือเหรียญอัลท์คอยน์ที่เพิ่มขึ้น

    โพลสำรวจที่จัดทำในแพลตฟอร์มการเงิน Finder ได้ให้มุมมองเชิงลึกต่อแนวโน้มในอนาคตของ Ethereum ผู้เชี่ยวชาญในวงการที่ตอบแบบสำรวจทำนายว่า Ethereum (ETH) จะขยับถึงมูลค่าเฉลี่ยที่ $2,400 ภายในสิ้นปี 2023 นอกจากนี้ พวกเขาคาดการณ์ว่าราคา ETH จะเพิ่มขึ้นเป็น $5,845 ภายในสิ้นปี 2025 และภายในปี 2023 จะเพิ่มขึ้นเป็น $16,414 โดยที่สำคัญคือการเน้นย้ำว่า ผู้เชี่ยวชาญ 56% เชื่อว่า ในปัจจุบันเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการเข้าซื้อ ETH โดย 41% แนะนำให้ถือคริปโตเคอเรนซีไว้ ในขณะที่ 4% แนะนำให้ขาย

    PwC บริษัทให้คำแนะนำขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสอง ได้จัดทำโพลสำรวจเกี่ยวกับผู้แทนจากเฮดจ์ฟันด์ทั้งคริปโตเคอเรนซีและเฮดจ์ฟันด์ดั้งเดิม 93% ของผู้ที่ตอบแบบสำรวจเชื่อว่า ตลาดผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และพวกเขาคาดว่าตลาดคริปโตจะเติบโตขึ้นภายในสิ้นปี 2023 ในส่วนคริปโตเคอเรนซี พวกเขายังคงชื่นชอบ Bitcoin และ Ethereum อย่างไรก็ตาม 72% เชื่อว่า Ethereum ไม่มีโอกาสที่จะแซงหน้าบิทคอยน์ในแง่ของมูลค่าตามราคาตลาด ส่วน 28% ที่เหลือที่เชื่อในชัยชนะของอัลท์คอยน์มองว่า มันอาจเกิดขึ้นได้ในอีก 2 ถึง 5 ปีข้างหน้า

    รายงานล่าสุดจาก CME Group แสดงให้เห็นว่า ETH/BTC แสดงความสัมพันธ์แทบเป็นศูนย์กับการเปลี่ยนแปลงในอัตราดอกเบี้ย ฟิวเจอร์สทองคำ และราคาน้ำมันดิบ อย่างไรก็ตาม มันได้รับอิทธิพลอย่างมากจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น ความแข็งแกร่งของดอลลาร์สหรัฐ การเปลี่ยนแปลงในปริมาณบิทคอยน์ในตลาด และผลการดำเนินงานของหุ้นบริษัทไอที งานวิจัยนี้ชี้ว่า ETH มีความอ่อนไหวต่อ USD มากกว่า และคู่ ETH/BTC ยังอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงในปริมาณ BTC มากกว่า ETH พร้อมกันนั้น ETH มักจะเติบโตโดยสัมพันธ์กับ BTC ในวันที่หุ้นบริษัทไอที (S&P 500 และ Nasdaq-100) มีมูลค่าสูงขึ้น

    ณ ขณะที่เขียนบทวิเคราะห์ฉบับนี้ในช่วงเย็นวันศุกร์ที่ 4 สิงหาคม BTC/USD ซื้อขายอยู่ที่บริเวณ $28,950, ETH/USD อยู่ที่บริเวณ $1,820 และ ETH/BTC อยู่ที่ 0.0629 โดยมูลค่ารวมตามราคาตลาดคริปโตยังคงลดลงต่อเนื่องและอยู่ที่ $1.157 ล้านล้านดอลลาร์ ($1.183 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อหนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้า) ส่วนดัชนี Crypto Fear & Greed Index ยังคงอยู่ในโซนตรงกลางที่ระดับ 54 คะแนน (52 เมื่อสัปดาห์ก่อนหน้า)

 

กลุ่มนักวิเคราะห์ NordFX

 

หมายเหตุ: เนื้อหาดังกล่าวไม่ควรยึดถือเป็นคำแนะนำในการลงทุนหรือเป็นคำปรึกษาในการซื้อขายในตลาดการเงิน โดยเนื้อหาข้างต้นเป็นไปเพียงเพื่อจุดประสงค์ในการให้ข้อมูลเท่านั้น การซื้อขายในตลาดการเงินมีความเสี่ยงและอาจทำให้เกิดการสูญเสียเงินฝากได้

กลับ กลับ
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ นโยบายคุกกี้ ของเรา