บทวิเคราะห์ฟอเร็กซ์และคริปโตเคอเรนซีประจำวันที่ 28 สิงหาคม - 1 กันยายน 2023

EUR/USD: Mr. Powell และ Mrs. Lagarde  -  มีแต่น้ำ ไม่มีเนื้อ

  • ดัชนีกิจกรรมทางธุรกิจในสัปดาห์ที่แล้วจากทั้งสองฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกกลับอ่อนแอเป็นอย่างมาก ยูโรตกอยู่ภายใต้แรงกดดันเนื่องด้วยดัชนี PMI ภาคบริการของเยอรมนีที่ลดลงจาก 52.3 เหลือ 47.3 ซึ่งยิ่งฉุดดัชนีกิจกรรมทางธุรกิจโดยรวม ไม่ใช่แค่ทั้งของเยอรมนี แต่ทั้งยูโรโซนให้ลดลง ดัชนีตัวแรกลดลงจาก 48.5 เหลือ 44.7 ในขณะที่ตัวหลังลดลงจาก 48.6 เหลือ 47.0 ดัชนี GDP เยอรมนีไตรมาสที่ 2 ซึ่งประกาศเมื่อวันศุกร์ที่ 25 สิงหาคม ยิ่งยืนยันต่อว่าเศรษฐกิจของยุโรปกำลังอยู่ในภาวะชะงักตัว ในรายไตรมาส ดัชนีนี้อยู่ที่ 0% และในรายปีอยู่ที่ -0.6%

    ด้านดัชนีเศรษฐกิจสำคัญของอเมริกาก็ทำให้นักลงทุนผิดหวังเช่นกัน ดัชนีกิจกรรมทางธุรกิจเบื้องต้นของสหรัฐฯ ซึ่งประกาศเมื่อวันพุธที่ 23 สิงหาคม ต่ำกว่าการคาดการณ์ โดยเฉพาะดัชนี PMI ภาคการผลิตลดลงจาก 49.0 เหลือ 47.0 และของภาคบริการลดลงจาก 52.3 เหลือ 51.0 ด้านดัชนีคอมโพสิตลดลงจาก 52.0 เหลือ 50.4 เช่นกัน (ทั้งนี้ ตัวเลขที่สูงกว่า 50.0 แสดงให้เห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจดีขึ้น ในขณะที่ตัวเลขที่ต่ำกว่า 50.0 ชี้ถึงภาวะที่แย่ลง) สถิติสินค้าคงทนของสหรัฐฯ ก็ออกมาค่อนข้างอ่อนแอเช่นกัน ก่อนหน้านี้เพิ่มขึ้น 4.4% ในเดือนมิถุนายน แต่กลับลดลงอย่างผิดความคาดหมายที่ -5.2% ในเดือนกรกฎาคม

    ถึงแม้ว่าสถิติทั้งฝั่งยุโรปและอเมริกาต่างถือว่าย่ำแย่ในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญหลายคน ดัชนีดอลลาร์ DXY ยังคงทะยานขึ้นตามแนวโน้มที่เริ่มขึ้นตั้งแต่หกสัปดาห์ก่อน EUR/USD จึงขยับลงด้านล่าง แม้แต่คำพูดสายเหยี่ยวของ Joachim Nagel ประธาน Deutsche Bundesbank ก็ไม่ช่วยหนุนเงินยูโรแต่อย่างใด Nagel พูดสนับสนุนให้มีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปเพื่อควบคุมภาวะเงินเฟ้อ ในทางกลับกัน Mario Centeno เพื่อนร่วมงานของเขาจากโปรตุเกสเรียกร้องให้มีความระมัดระวัง เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบในทางลบต่อเศรษฐกิจของยูโรโซน

    ความเห็นที่ไม่ตรงกันในหมู่สมาชิกสภาบริหารธนาคารกลางยุโรปนี้เกิดขึ้นท่ามกลาง สภาพเศรษฐกิจที่ค่อนข้างอ่อนแอในไตรมาสที่ 1 และ 2 และโอกาสที่ GDP จะหดตัวต่อในไตรมาสที่ 3 ปี 2023 จึงยิ่งสร้างความกังวลให้กับตลาด สถานการณ์เหล่านี้ทำให้เกิดข้อกังขาเกี่ยวกับว่า ธนาคารกลางฯ จะดำเนินการขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อในเดือนกันยายนนี้หรือไม่ 

    ท่าทีของผู้แทนสหรัฐฯ ที่กล่าวแถลงในงานการประชุมธนาคารกลางระดับโลกในเมืองแจ็คสันโฮล ปรากฏว่ามีท่าทีพ้องกันมากขึ้น Susan Collins ประธานธนาคารเฟดสาขาบอสตัน และ Patrick Harker ประธานเฟดสาขาฟิลาเดลเฟียกล่าวว่า ธนาคารเฟดอาจคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับเสถียรไปจนถึงสิ้นปี แต่พวกเขาหลีกเลี่ยงที่จะให้ความเห็นเกี่ยวกับกำหนดเวลาในการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางการเงินในปีหน้า นอกจากนี้ Susan Collins ยังกล่าวว่า ความทนทานของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ต่อนโยบายการเงินแบบเข้มงวดสูงชี้ให้เห็นว่า ธนาคารเฟดอาจจะต้องดำเนินการมากกว่าที่ได้ทำไปแล้ว ความเห็นของเธอถูกตีความว่าเป็นสัญญาณที่ชัดเจนที่ธนาคารกลางควรจะเร่งถอนสภาพคล่องต่อไป ทำให้ตลาดเก็งว่า Jerome Powell ประธานเฟดอาจจะมีท่าทีสายเหยี่ยวนี้ด้วยเช่นกัน

    คำกล่าวแถลงที่สำคัญมีกำหนดเมื่อช่วงเย็นวันศุกร์ที่ 25 สิงหาคมที่งานการประชุมเมืองแจ็คสันโฮล คำกล่าวเหล่านี้คาดว่าอาจมีอิทธิพลมากพอที่จะพลิกหรือยิ่งเพิ่มความรุนแรงให้กับเทรนด์การเงินในปัจจุบัน นาย Jerome Powell ประธานธนาคารเฟดสหรัฐฯ มีกำหนดขึ้นกล่าวแถลงเป็นคนแรก ตามด้วยนาง Christine Lagarde ประธานธนาคารกลางยุโรป เพียงสองชั่วโมงก่อนที่ตลาดจะปิดทำการ

    หากนายพาวเวลล์ยืนยันว่า อัตราดอกเบี้ยจะยังคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลงตลอดจนถึงสิ้นปี นี่อาจยิ่งกระตุ้นแรงขายต่อดอลลาร์ ในทางกลับกัน การแข็งค่าขึ้นของดอลลาร์อาจจะยิ่งเร่งตัวหากพาวเวลล์บ่งชี้ว่ามีโอกาสที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกรอบหนึ่ง สถิติจาก FedWatch Tool ชี้ว่ามีโอกาส 39% ที่จะมีการขึ้นดอกเบี้ยอีก 25 จุดพื้นฐานภายในสิ้นปี 2023 ก่อนการแถลงดังกล่าว

    ในปีที่แล้วที่เมืองแจ็คสันโฮล พาวเวลล์เคยเตือนว่า การขึ้นอัตราดอกเบี้ยใด ๆ อาจจะยิ่งกระตุ้น “ความเจ็บปวด” ต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งเป็นคำพูดที่ทำตลาดหุ้นสหรัฐฯ จมดิ่งอย่างรวดเร็ว แต่ในครั้งนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ไม่ได้รอฟังคำกล่าวของนายพาวเวลล์แต่อย่างใด โดยดัชนีหลักทรัพย์อย่าง S&P 500, Dow Jones และ Nasdaq ติดลบลงอย่างรวดเร็วแล้วตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา

    แล้วนาย Jerome Powelll กล่าวอะไรไปในครั้งนี้? โดยหลักแล้วก็เป็นคำพูดเดียวกันกับที่เขาเคยกล่าวไว้ในปีที่แล้ว “ในการประชุมเมืองแจ็คสันโฮลปีที่แล้ว ข้อความของผมนั้นกระชับและตรงไปตรงมา ใจความหลักของคำกล่าวของผมในปีนี้ยังคงเหมือนเดิม ภารกิจของธนาคารเฟดคือ การกดอัตราเงินเฟ้อให้ลงมาที่เป้าหมายคือ 2% และเราจะทำให้สำเร็จ” เขากล่าวยืนยันต่อผู้ชม จากนั้นเขาก็ได้ให้มุมมองสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตสองแบบ คือ อาจจะคงอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันหรือปรับขึ้น “ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อลดลงจากระดับสูงสุด ซึ่งเป็นพัฒนาการที่ดี มันยังคงสูงเกินไป” เขากล่าว “เราเตรียมพร้อมที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อหากมีความจำเป็น และจะคงนโยบายที่เข้มงวดต่อไปจนกว่าเราจะมั่นใจว่า เงินเฟ้อกำลังเข้าสู่ระดับเป้าหมายของเรา”

    ประธานเฟดยังให้ข้อสังเกตด้วยว่า ดัชนี PCE พื้นฐาน (การใช้จ่ายด้านการบริโภคส่วนตัว) ขยับขึ้นมา 4.3% ในเดือนกรกฎาคม สูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 4.1% (ดัชนี PCE เดือนกรกฎาคมจะประกาศอย่างเป็นทางการในวันที่ 31 สิงหาคมนี้) โดยรวมแล้ว คำกล่าวของนายพาวเวลล์ยังค่อนข้างมีความกำกวมเหมือนหลาย ๆ ครั้ง ทำให้ผลลัพธ์ที่ตามมาอาจเป็นไปได้ทั้งสองแบบ

    ด้านการแถลงของลาการ์ดยิ่งเข้าใจยากมากกว่า “การเปลี่ยนแปลงที่ลึกซึ้งในการทำงานของเศรษฐกิจโลกอาจนำไปสู่ความผันผวนของภาวะเงินเฟ้อที่สูงยิ่งขึ้น และแรงกดดันต่อราคาที่ต่อเนื่อง” เธอกล่าว “ในเวลานี้ ยังไม่มีความชัดเจนว่าการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะคงอยู่ถาวรหรือไม่ ถึงแม้การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อาจปรากฏว่าเป็นเพียงผลชั่วคราว ธนาคารกลางจำเป็นต้องเตรียมพร้อมรับมือในกรณีที่มันมีความยืดเยื้อยาวนาน”

    โดยสรุปแล้ว ในขณะที่นายพาวเวลล์ให้ทางเลือกสองทาง คือ การคงหรือขึ้นอัตราดอกเบี้ย ด้านนางลาการ์ดเพียงแค่ประกาศว่า อัตราดอกเบี้ยจะปรับขึ้นได้เรื่อย ๆ ตราบเท่าที่จำเป็นเพื่อต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ ดังนั้น แท่งเทียนรายวันของ EUR/USD จึงกลับสู่โซนตรงกลางของกรอบหลังจากที่ลังเลอยู่สักพัก

     หลังจากเปิดสัปดาห์ที่ 1.0872, EUR/USD ปิดท้ายสัปดาห์ โดยดอลลาร์แข็งค่าขึ้นทำราคาอยู่ที่ 1.0794 ซึ่ง ณ ขณะที่เขียนบทวิเคราะห์ฉบับนี้ในช่วงเย็นวันที่ 25 สิงหาคม หลังการกล่าวแถลงของประธานเฟดและประธานธนาคารกลางยุโรปที่เมืองแจ็คสันโฮล ความเห็นของนักวิเคราะห์แบ่งออกเป็น 50% เท่า ๆ กันที่คาดว่าราคาคู่นี้จะขยับขึ้นและลง ในส่วนอินดิเคเตอร์เทรนด์และออสซิลเลเตอร์บนกรอบ D1 มี 100% ชี้ว่าดอลลาร์จะแข็งค่า และคาดว่าคู่นี้จะขยับลงต่อ แต่ 15% ชี้ว่ามีสัญญาณ oversold แล้ว ด้านแนวรับที่ใกล้ที่สุดอยู่ในบริเวณ 1.0765-1.0775 ตามมาด้วย 1.0740, 1.0665-1.0680, 1.0620-1.0635 และ 1.0525 ด้านฝั่งกระทิงจะต้องเจอกับแนวต้านที่บริเวณ 1.0845-1.0865 ตามด้วย 1.0895-1.0925 จากนั้นคือ 1.0985, 1.1045, 1.1090-1.1110, 1.1150-1.1170, 1.1230 และ 1.1275-1.1290

    ส่วนสัปดาห์ที่จะมาถึงนี้ เราจะได้เห็นการประกาศสถิติเศรษฐกิจที่มีความหลากหลาย เริ่มจากวันอังคารที่ 29 สิงหาคม ซึ่งจะมีการประกาศดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐฯ และจำนวนตำแหน่งงานเปิดใหม่ วันพุธที่ 30 สิงหาคมมีการประกาศดัชนีราคาผู้บริโภคเบื้องต้น (CPI) จากเยอรมนี และสถิติตลาดแรงงาน และ GDP ของสหรัฐฯ วันพฤหัสบจะมีการประกาศดัชนี CPI เบื้องต้นของยูโรโซน ดัชนีค้าปลีกของเยอรมนี รวมถึงอัตราว่างงานของสหรัฐฯ และดัชนี Core PCE Price ของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตัวชี้วัดภาวะเงินเฟ้อที่สำคัญ ในวันศุกร์ที่ 1 กันยายน อีกหนึ่งข้อมูลที่สำคัญจากตลาดแรงงานสหรัฐฯ ได้แก่ ดัชนีนอนฟาร์ม (NFP) และปิดท้ายด้วยการประกาศดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของสหรัฐฯ (PMI)

GBP/USD: อัตราดอกเบี้ยจะขึ้นไหมในที่สุด?

  • แรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อในสหราชอาณาจักรเริ่มผ่อนคลาย แต่ยังคงสูงสุดในบรรดากลุ่มประเทศ G7 ก่อนหน้านี้ เราเคยเขียนไว้ว่า แม้ว่าอัตราการเติบโตของราคาต่อปีจะลดลงจาก 7.9% เหลือ 6.8% (ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2022) อัตราเงินเฟ้อยังคงสูงมาก อีกทั้ง ดัชนี CPI พื้นฐานยังคงที่ที่ 6.9% ปีต่อปี หรือต่ำกว่าระดับสูงสุดเมื่อสองเดือนก่อนหน้าแค่ 0.2% เท่านั้น ราคาพลังงานที่สูงขึ้นยิ่งส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อ

    สถิติและแนวโน้มเหล่านี้ยิ่งส่งแรงกดดันสำคัญต่อค่าเงินปอนด์อังกฤษ นักวิเคราะห์บางกลุ่มมองว่า สิ่งเหล่านี้จะบีบให้ธนาคารแห่งชาติอังกฤษ (BoE) ต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อ ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้น ถึงแม้ว่าอัตราว่างงานจะสูงขึ้น และมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งยังไม่สามารถตัดโอกาสความเสี่ยงนี้ได้ เนื่องจากดัชนีกิจกรรมทางธุรกิจเบื้องต้นซึ่งประกาศเมื่อวันพุธที่ 23 สิงหาคม ชี้ให้เห็นว่าดัชนี PMI ภาคการผลิตของสหราชอาณาจักรลดลงจาก 45.3 เหลือ 42.5 ภายในหนึ่งเดือน ดัชนี PMI ภาคบริการลดลงจาก 51.5 เหลือ 48.7 และดัชนี Composite PMI ลดลงจาก 50.8 เหลือ 47.9 ดังนั้น ดัชนีทั้งสามนี้ลดลงต่ำกว่า 50.0 ซึ่งเป็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจกำลังทรุดตัว

    ผู้เชี่ยวชาญจำนวนหนึ่งเชื่อว่า อัตราดอกเบี้ยอาจทำระดับสูงสุดที่บริเวณ 6% (ปัจจุบันอยู่ที่ 5.25%) เนื่องด้วยแรงกดดันของภาวะเงินเฟ้อที่เร่งตัว BoE อาจถูกบีบให้ต้องคงระดับสูงสุดนี้ไปในระยะหนึ่ง แม้ว่าจะต้องเผชิญกับแรงกดดันจากนักการเมืองสายประชานิยมก็ตาม หากสถานการณ์นี้เกิดขึ้น เงินปอนด์จะมีโอกาสที่จะแข็งค่าขึ้นได้เมื่อเทียบกับดอลลาร์

    แต่ในส่วนของแนวโน้มระยะสั้น ผู้เชี่ยวชาญจาก Scotiabank ไม่ตัดโอกาสที่ GBP/USD จะดิ่งลงต่อมาที่ 1.2400 หลังจากราคาหลุดแนวรับที่ 1.2620 พวกเขาเสริมว่า “การรีบาวด์ขึ้นเหนือ 1.2600 อาจช่วยให้แรงหนุนระยะสั้นให้กับเงินปอนด์ โดยเฉพาะหากมีการเทขายหนักเกินไป” ผู้เชี่ยวชาญจาก ING เครือธนาคารขนาดใหญ่ที่สุดของเนเธอร์แลนด์เชื่อว่า ราคาคู่นี้อาจไปยังแนวรับบริเวณ 1.2500 ได้ ในกรณีที่ดอลลาร์แข็งค่า ด้าน United Overseas Bank ของสิงคโปร์คาดว่า GBP/USD จะมีราคาซื้อขายอยู่ที่ 1.2580-1.2780 “ในอนาคต ตราบใดที่เงินปอนด์ยังคงตัวต่ำกว่าระดับแนวต้านที่สำคัญที่ 1.2720 จะมีโอกาสที่ราคาจะอ่อนค่าลงมาที่ 1.2530 และอาจลงต่อไปยัง 1.2480"

    หลังจากการกล่าวแถลงที่งานประชุมเมืองแจ็คสันโฮลเมื่อวันศุกร์ที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา GBP/USD ปิดตลาดที่ 1.2578 โดยความเห็นในระยะใกล้ของผู้เชี่ยวชาญมีดังนี้ 60% คาดว่าจะเป็นเทรนด์กระทิง 20% โหวตให้เทรนด์หมี และ 20% ที่เหลือมีความเห็นเป็นกลาง ในกรอบ D1 ออสซิลเลเตอร์ 60% ให้สัญญาณสีแดง โดยหนึ่งในสามให้สัญญาณ oversold ส่วน 40% ที่เหลือชี้สัญญาณสีเทากลาง ด้านอินดิเคเตอร์เทรนด์มี 85% ที่ให้สัญญาณสีแดง ซึ่งบ่งชี้ถึงแนวโน้มตลาดหมี เทียบกับ 15% ที่ให้สัญญาณสีเขียว

    หากราคาเป็นเทรนด์ขาลง มีแนวโน้มที่จะต้องเจอกับแนวรับที่โซนและระดับต่าง ๆ ดังนี้ 1.2540, 1.2500-1.2510, 1.2435-1.2450, 1.2300-1.2330, 1.2190-1.2210, 1.2085, 1.1960,  และ 1.1800 ในทางกลับกัน ในกรณีที่ราคาขยับขึ้นด้านบน จะต้องเจอกับแนวต้านที่ 1.2630, 1.2675-1.2690, 1.2760, 1.2800-1.2815, 1.2880, 1.2940, 1.2980-1.3000, 1.3050-1.3060, 1.3125-1.3140 และ 1.3185-1.3210.

    ในส่วนข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหราชอาณาจักร ไม่คาดว่าจะมีการประกาศสถิติเศรษฐกิจที่สำคัญใด ๆ ในสัปดาห์ที่จะถึงนี้ โดยโฟกัสสำคัญจะอยู่ที่ข่าวฝั่งอเมริกา แต่นักเทรดต้องไม่ลืมด้วยว่าวันจันทร์ที่ 28 สิงหาคม นั้นเป็นวันหยุดธนาคารในสหราชอาณาจักร

USD/JPY: สูงขึ้นและสูงขึ้น

  • Kazuo Ueda ผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติญี่ปุ่น (BoJ) มีกำหนดจะกล่าวแถลงในงานประชุมเมืองแจ็คสันโฮลในวันเสาร์ที่ 26 สิงหาคม ซึ่งยังไม่เกิดขึ้น ณ ขณะที่เขียนบทรีวิวฉบับนี้ ถ้าพูดกันตามตรง เราไม่คาดว่าจะมีคำแถลงที่น่าประหลาดใจใด ๆ จากเขา ตอนนี้เราแค่พิจารณาความเห็นจากนาย Shunichi Suzuki รัฐมนตรีการคลังญี่ปุ่น ซึ่งกล่าวไปเมื่อวันศุกร์ที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมาว่า เขา “กำลังติดตามผลที่ตามมาของการประชุมเมืองแจ็คสันโฮลต่อเศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิด” เขาเสริมด้วยว่า เขาไม่สามารถให้รายละเอียดเฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับการตั้งงบประมาณเสริมเพื่อสนับสนุนมาตรการเศรษฐกิจ

    ทั้งนี้ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) ได้ทำการตัดสินใจที่ “บุกเบิก” ไม่นานมานี้ คือ การเปลี่ยนจากเส้นโค้งผลตอบแทนที่กำหนดตายตัวของพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น (JGBs) เป็นแนวทางที่ยืดหยุ่นมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ธนาคารฯ มีการกำหนดกรอบโดยขีด “เส้นสีแดง” ให้ผลตอบแทนที่ 1.0% และประกาศว่าจะดำเนินการซื้อต่อเนื่องเพื่อรับประกันว่า ผลตอบแทนพันธบัตรจะต้องไม่สูงเกินระดับดังกล่าว ต่อมาหนึ่งสัปดาห์หลังจากนั้น ผลตอบแทนของ JGBs ทำระดับสูงสุดในรอบเก้าปีที่ 0.65% ผลที่ตามมาก็คือ ธนาคารกลางจำเป็นต้องเข้าแทรกแซงด้วยการซื้อพันธบัตรเหล่านี้เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้นอีก

    ในสื่อญี่ปุ่น Nikkei Asia ระบุว่า การใช้จ่ายงบประมาณเพื่อการดำเนินการดังกล่าวคาดว่าจะยิ่งเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยสื่อระบุตัวเลขเฉพาะเจาะจงที่ 110 ล้านล้านเยน (กว่า 753 พันล้านดอลลาร์) ในปี 2024 ซึ่งรายงานจากสื่อระบุว่า คำของบประมาณคาดว่าจะยื่นภายในสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ คือภายในสัปดาห์นี้นั่นเอง

    อย่างที่กล่าวไปแล้วก่อนหน้านี้ การเปลี่ยนแปลงในระเบียบว่าด้วยเส้นโค้งผลตอบแทนถือว่าเป็นการดำเนินการที่ถือว่าผิดธรรมชาติของธนาคารแห่งชาติญี่ปุ่น แต่ MUFG Bank ของญี่ปุ่นรายงานว่า นี่ยังไม่เพียงพอที่จะกระตุ้นให้เงินเยนฟื้นตัน ในส่วนการขึ้นอัตราดอกเบี้ย MUFG เชื่อว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่นจะตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในช่วงครึ่งแรกของปีหน้าเท่านั้น หลังจากนั้นจึงจะมีการหันมาดันให้ค่าเงินประเทศแข็งค่าขึ้น

    เงินเยนมีโอกาสที่จะแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยในสัปดาห์ที่แล้ว หลังจากตอบสนองต่อสถิติกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ผลตอบแทนของพันธบัตรสหรัฐฯ ลดลงกว่า 1.5% ทั้งนี้ ผลตอบแทนของพันธบัตรสหรัฐฯ และเงินเยนญี่ปุนนั้นมีความสัมพันธ์แบบผกผันต่อกัน คือ หากผลตอบแทนของสหรัฐฯ ลดลง ของเงินเยนญี่ปุ่นจะเพิ่มขึ้น และ USD/JPY ก่อตัวเป็นเทรนด์ขาลง ซึ่งนี่คือสิ่งที่เราเห็นได้ชัดเจนเมื่อช่วงกลางสัปดาห์วันที่ 23 สิงหาคม เมื่อราคาคู่นี้ทำระดับต่ำสุดในกรอบที่ 144.53

    อย่างไรก็ตาม ความสุขของนักลงทุนเงินเยนเกิดขึ้นเพียงชั่วครู่ หลังจากราคาทำระดับสูงสุดใหม่ที่ 146.62 เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม ราคาปิดท้ายสัปดาห์ที่ระดับ 146.40 โดยนักยุทธศาสตร์จาก Credit Suisse กล่าวว่า ราคาจะไต่สูงขึ้นในที่สุด และจะไปถึงเป้าหมายระยะยาวที่สำคัญคือ 148.57

    ในส่วนมุมมองระยะใกล้ ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญมีดังนี้ ผู้เชี่ยวชาญส่วนมาก (60%) คาดว่าจะมีการปรับฐานเกิดขึ้น ในขณะที่ 20% คาดว่า USD/JPY จะยังคงขยับขึ้นต่อไป และอีก 20% ไม่ให้ความเห็นใด ๆ ในส่วนกรอบเวลา D1 อินดิเคเตอร์เทรนด์ทั้งหมดให้สัญญาณสีเขียว ในขณะที่ออสซิลเลเตอร์ 90% ให้สัญญาณสีเขียวเช่นกัน (แต่มี 10% ชี้ว่าราคาอยู่ในโซน overbought) ด้านออสซิลเลเตอร์ที่เหลือให้สัญญาณเป็นกลาง โดยมีระดับแนวรับที่ใกล้ที่สุดอยู่ที่ 146.10 ตามมาด้วย 145.50-145.75, 144.90, 144.50, 143.75-144.05, 142.90-143.05, 142.20, 141.40-141.75, 140.60-140.75, 139.85, 138.95-139.05, 138.05-138.30 และ 137.25-137.50 ด้านแนวต้านที่ใกล้ที่สุดคือ 146.90-147.15 ตามมาด้วย 148.45-148.60, 150.00 และสุดท้ายคือราคาสูงสุดที่ 151.95 ที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม 2022

    ในสัปดาห์นี้ไม่คาดว่าจะมีการประกาศสถิติที่สำคัญใด ๆ เกี่ยวกับเศรษฐกิจญี่ปุ่น

คริปโตเคอเรนซี: ภาวะช็อคยังไม่จบ

  • ดูเหมือนว่าตลาดคริปโตยังคงชะงักตัวจากภาวะช็อควันที่ 17 สิงหาคม ในครั้งนั้น บิทคอยน์ดิ่งลงอย่างหนัก ทำระดับต่ำสุดที่ $24,296 ดัชนี Crypto Fear & Greed Index ซึ่งอยู่ในโซนตรงกลางมานานแล้ว และได้เข้าสู่โซนความกลัว บิทคอยน์ฉุดตลาดคริปโตทั้งตลาดลงมา ทำตลาดหดตัว 10% จาก $1.171 ล้านล้านเหลือ $1.054 ล้านล้านดอลลาร์ โดยราคาแทบจะไม่ยืนเหนือระดับจิตวิทยาที่ $1 ล้านล้านดอลลาร์ ในวันที่ 17 สิงหาคมวันเดียว นักเทรดสูญเสียเงินกว่า $1 พันล้านดอลลาร์จากสินทรัพย์ทั้งหมด จึงเป็นการขาดทุนครั้งใหญ่สุดนับตั้งแต่การล่มสลายของตลาด FTX

    นี่คือคำอธิบายแบบสังเขปของเหตุการณ์ล่าสุด ตอนนี้เราจะมาเจาะลึกถึงสาเหตุกัน เราได้ไฮไลต์ทฤษฎีหลักไปในบทรีวิวฉบับที่แล้วของเรา และผลก็ออกมาว่าถูกต้อง แต่ตอนนี้จะมาถึงบทวิเคราะห์ที่ครอบคลุมมากขึ้น เหตุการณ์สำคัญสองเหตุการณ์เป็นตัวกระตุ้นแนวโน้มขาลง เหตุการณ์แรกคือ การประกาศผลการประชุมเดือนกรกฎาคมจากธนาคารเฟด ซึ่งคณะกรรมการ FOMC (Federal Open Market Committee) แสดงความเห็นว่ามีโอกาสที่อัตราดอกเบี้ยหลักจะขึ้นในปี 2023 อัตราดอกเบี้ยจะกระตุ้นผลตอบแทนให้กับดอลลาร์และพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ทำให้กระแสเงินจะไหลออกจากสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงมากกว่า

    ปัจจัยกระตุ้นที่สองคือ บทความจาก The Wall Street Journal ซึ่งอ้างว่าบริษัท SpaceX ของนายอีลอน มัสก์ ได้ขายบิทคอยน์ไปเป็นเงินกว่า $373 ล้านดอลลาร์ แต่รายงานฉบับนี้ไม่ได้ระบุว่า SpaceX ขายเหรียญเหล่านี้ไปตั้งแต่เมื่อไร แต่ความวิตกล่าสุดชี้ให้เห็นว่า รายละเอียดดังกล่าวนั้นไม่ใช่เรื่องสำคัญ

    ในอีกบริบทหนึ่ง ข่าวสองเหตุการณ์นี้อาจไม่ได้เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการเทขายอย่างรุนแรง แต่เป็นสภาพตลาดที่แข็งตัวมาอย่างยืดเยื้อ ปริมาณการซื้อขายที่ต่ำในตลาดสปอต และจำนวนคำสั่งซื้อขายแบบอนุพันธ์ที่นักเทรดเปิดโดยใช้เลเวอเรจก็ส่งผลในทางลบ ราคาที่ลดลงจึงเกิดเป็นผลกระทบแบบโดมิโน่ ทำให้มีการล้างพอร์ตไปกว่า 175,000 คำสั่งที่ใช้เลเวอเรจในเวลา 24 ชั่วโมงตามรายงานของ Coinglass ด้วยเหตุนี้ อัตราเลเวอเรจจึงลดลงระดับเดียวกันกับเมื่อเดือนเมษายน

    ตอนนี้ สัปดาห์ถัดมาหลังคำแถลงของประธานเฟดในการประชุมเมืองแจ็คสันโฮล ผลปรากฏว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาจเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้น ธนาคารเฟดอาจจะยุติวัฎจักรนโยบายการเงินแบบเข้มงวดและแช่แข็งอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับปัจจุบัน ซึ่งจะกำจัดสาเหตุแรกให้ต้องวิตกกังวล ในส่วนสาเหตุที่สอง ผลปรากฏว่า SpaceX ได้ขายสินทรัพย์คริปโตออกไปตั้งแต่ช่วงปี 2021-2022 “ข่าว” ดังกล่าวจึงไม่มีผลเท่าใดนัก

    แต่อะไรที่เกิดขึ้นแล้วก็เกิดขึ้นไปแล้ว ผู้ถือ BTC ระยะสั้นเป็นผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุด 88.3% ของคนกลุ่มนี้กำลังขาดทุน เรื่องนี้เป็นที่น่ากังวล เพราะนักเก็งกำไรเหล่านี้มักจะไม่ค่อยมีความอดทนและอาจจะเทขายเหรียญเมื่อไรก็ได้ ซึ่งจะยิ่งส่งแรงกดดันต่อราคา อีกด้านหนึ่งนั้น ผู้ถือเหรียญระยะยาว (ที่นานกว่า 155 วัน) อาจฉวยโอกาสจากสถานการณ์เพื่อเข้าซื้อเหรียญ และมองว่านี่เป็นจังหวะที่ดีในการสร้างพอร์ตได้

    หลังจากราคาทรุดตัววันที่ 17 สิงหาคม เสียงสนับสนุนว่าบิทคอยน์จะฟื้นตัวอย่างรวดเร็วก็เริ่มเงียบลง ในขณะที่ผู้มองโลกในแง่ลบเริ่มเสียงดังมากขึ้น แต่ในการคาดการณ์ของคนกลุ่มนี้มักพูดถึง “halving” (การลดผลตอบแทนของการขุดเหรียญ) ที่อินฟลูเอนเซอร์หลายคนคาดหวังไว้มาก เช่น นักวิเคราะห์ที่มีชื่อว่า Tolberti ได้ทำนายว่าเทรนด์ขาลงจะดำเนินต่อไปในตลาดบิทคอยน์ และมูลค่าของเหรียญจะเท่ากับ $10,000 การคาดการณ์นี้อ้างอิงจากการที่ราคา BTC ตกลงมาต่ำกว่าค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 200 สัปดาห์และ 20 เดือน (MAs) และการเกิดรูป Bearish Flag บนกราฟ ซึ่งเป็นสัญญาณว่าเทรนด์ขาลงยังคงยืดเยื้อ

    Benjamin Cowen นักวิเคราะห์ชื่อดังชี้ว่า แนวโน้มที่ลดลงในราคาบิทคอยน์ในขณะนี้อาจยังไม่สิ้นสุดลง และบิทคอยน์จะร่วงลงต่อ เทรนด์ขาลงนี้สอดคล้องกับเทรนด์เศรษฐกิจโลกเป็นอย่างดี

    Cowen ยังสังเกตเห็นว่าบิทคอยน์ร่วงลงในลักษณะที่คล้ายกันทุก ๆ สี่ปี “จริง ๆ คือทุกสี่ปีในเดือนสิงหาคม หรือกันยายน หนึ่งปีก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะมีการปรับฐานในตลาดอเมริกัน และบิทคอยน์ก็มีความสัมพันธ์กับตลาดหุ้นสหรัฐฯ หากเราดูในปี 2023 เราจะเห็นความสัมพันธ์นี้เช่นกัน ในปี 2019 บิทคอยน์ดิ่งลง 61% ในปี 2015 แนวโน้มขาลงอยู่ที่ประมาณ 40% เราเห็นเหตุการณ์ “หงส์ดำ” เกิดขึ้นที่ 82.5% ในปี 2011 ดังนั้น ทุกปีก่อนจะเกิด Halving และการเลือกตั้งในอเมริกา เราจะเห็นราคาบิทคอยน์ร่วงลง”

    Dave the Wave นักวิเคราะห์ผู้ทำนายการทรุดตัวของตลาดคริปโตในเดือนพฤษภาคม 2021 ได้อย่างถูกต้อง เชื่อว่าตลาดหมีรอบปัจจุบันจะอยู่อย่างนี้ต่อไปจนถึงอย่างน้อยปลายปี ผู้เชี่ยวชาญใช้เส้นโค้งแบบลอการิธึมในแบบของเขาเอง ซึ่งช่วยในการหาจุดสูงสุดและจุดต่ำสุดในภาพใหญ่ของบิทคอยน์ อีกทั้งยังกรองความผันผวนระยะกลางและคลื่นรบกวนต่าง ๆ ในขณะนี้ การคำนวณของเขาชี้ว่า บิทคอยน์เทรดอยู่ที่กรอบด้านล่างของเส้นโค้งแบบลอการิธึม แต่ยังคงอยู่ใน “โซนซื้อ” Dave the Wave ไม่ตัดโอกาสที่บิทคอยน์อาจจะร่วงลงต่อ และภายในกลางปี 2024 ราคาจะขยับขึ้นสูงสุดเหนือ $69,000

    ในความเห็นของนักลงทุนและนักเทรดหลายคน Relative Strength Index (RSI) ซึ่งเป็นอินดิเคเตอร์คลาสสิก ทำหน้าที่เป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ที่วิเคราะห์สภาพสินทรัพย์ ดัชนีจะให้ค่าที่ผันผวนระหว่าง 0 และ 100 โดย 70 ขึ้นไปแปลว่า สินทรัพย์มีแรงซื้อมากเกิน (overbought) และต่ำกว่า 30 แปลว่าสินทรัพย์มีแรงขายมากเกิน (oversold)

    การที่ RSI รายวันของบิทคอยน์ตกลงมาต่ำกว่าระดับ 20 (17.47 ที่ระดับต่ำสุด) เทียบได้กับสภาวะ oversold ในช่วงที่ตลาดทรุดตัวในเดือนมีนาคม 2020 ซึ่งในครั้งนั้นระบบการเงินนั้นเต็มไปด้วยความกลัวและความไม่แน่นอน

    ตอนนี้ นักวิเคราะห์และนักเทรดกำลังติดตามการเคลื่อนที่ของ RSI นี่อย่างใกล้ชิด เพราะมันอาจจะให้สัญญาณกระทิงในแนวโน้ม BTC ได้ เดิมแล้วค่า oversold ที่ต่ำเกินไปมักจะตามมาด้วยการรีบาวด์ขึ้นของราคา อย่างไรก็ตาม อินดิเคเตอร์นี้จะต้องใช้งานอย่างระมัดระวัง ระดับ oversold ของ RSI สามารถให้มุมมองเจาะลึกเกี่ยวกับโอกาสการกลับตัวของราคา แต่ไม่ใช่สัญญาณที่การันตี ตลาดคริปโตมีความไม่แน่นอนสูง และทิศทางของราคามีปัจจัยหลากหลายเข้ามากำหนด โดยเฉพาะปัจจัยการเมืองและเศรษฐกิจที่มีบทบาทสำคัญ

    Peter Brandt นักวิเคราะห์ในตำนานของวอลล์สตรีมได้คาดว่าราคาบิทคอยน์น่าจะร่วงลงในเดือนพฤษภาคม โดยเขาสังเกตเห็นรูปแบบบนกราฟราคาที่เรียกว่า “Pennant” หรือ “Flag” ซึ่งแสดงถึง “ขาลงต่อเนื่อง” ตอนนี้ เขาได้เตือนว่าบิทคอยน์อาจทะลุออกจากเทรนด์ขาขึ้นที่เริ่มในเดือนมกราคม 2023 เนื่องจากราคาขยับมาถึงบริเวณที่สำคัญ ผู้เชี่ยวชาญรายนี้อธิบายว่า หากราคาปิดตัวต่ำกว่า $24,800 มันจะทำลายกราฟรายวันและสัปดาห์ และยิ่งมีโอกาสสูงขึ้นที่แรงขาขึ้นของ BTC จะล้มเหลวในระยะกลาง

    นักวิเคราะห์ภายใต้นามแฝงว่า Credible Crypto ตั้งข้อสังเกตสถานการณ์ปัจจุบันว่าคล้ายกับเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในปี 2020 ในตอนนั้น สกุลเงินดิจิทัลผู้นำทำราคาขึ้นจากประมาณ $16,000 เป็น $60,000 ภายในเวลาไม่กี่เดือน ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ตลาด “กำลังหยุดพัก” หลังจากราคาขึ้นมาตั้งแต่ต้นปี ซึ่งนี่เป็นการปรับฐานแบบปกติ สถานการณ์ปัจจุบันแทบจะสะท้อนการเคลื่อนที่ของราคาบิทคอยน์ตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงสิงหาคม 2020 เขามองว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้บ่งชี้ว่า สินทรัพย์กำลังสะสมกำลัง

    Credible Crypto ชี้ว่า บิทคอยน์เริ่ม “การทะยานขึ้นแบบพาราโบลิก” ในปี 2020 หลังจากระยะดังกล่าว “การทะลุออกจากช่วงสะสมกำลังครั้งที่แล้วกระตุ้นให้เกิดแนวโน้มขาขึ้นที่ตามมา ซึ่งพาราคา BTC ให้พุ่งสูงขึ้น” และผู้เชี่ยวชาญมองว่า ในครั้งนี้ บิทคอยน์มีเวลามีเวลามากกว่าหรือประมาณ 4 เดือนที่จะทำอีกครั้งในปี 2023 ในระหว่างนี้ นักวิเคราะห์เน้นย้ำว่า การคาดการณ์ของเขาจะไม่ถูกต้อง หากราคาบิทคอยน์ลดลงต่ำกว่า $24,800 (นี่คือระดับแนวรับที่ Peter Brandt มองว่าสำคัญ)

    ในส่วนสัปดาห์ที่ผ่านมา บิทคอยน์ซื้อขายอยู่ที่กรอบ $25,500-26,785 บริเวณ Pivot Point $26,000 ซึ่งชี้ว่าไม่มีเหตุผลที่ราคาจะขึ้นหรือลงอย่างชัดเจน ณ ขณะที่เขียนบทวิเคราะห์ฉบับนี้ ในช่วงเย็นวันศุกร์ที่ 25 สิงหาคม BTC/USD ซื้อขายอยู่ที่บริเวณ $26,050 โดยมูลค่ารวมของตลาดคริปโตอยู่ที่ $1.047 ล้านล้านดอลลาร์ (เทียบกับ $1.054 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว) ดัชนี Bitcoin Fear & Greed Index คงอยู่ในโซน “ความกลัว” โดยมีคะแนนอยู่ที่ 39 คะแนน (เทียบกับ 37 คะแนนในสัปดาห์ที่แล้ว)

 

ลุ่มนักวิเคราะห์ NordFX

 

หมายเหตุ: เนื้อหาดังกล่าวไม่ควรยึดถือเป็นคำแนะนำในการลงทุนหรือเป็นคำปรึกษาในการซื้อขายในตลาดการเงิน โดยเนื้อหาข้างต้นเป็นไปเพียงเพื่อจุดประสงค์ในการให้ข้อมูลเท่านั้น การซื้อขายในตลาดการเงินมีความเสี่ยงและอาจทำให้เกิดการสูญเสียเงินฝากได้

กลับ กลับ
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ นโยบายคุกกี้ ของเรา