บทวิเคราะห์ฟอเร็กซ์และคริปโตเคอเรนซีประจำวันที่ 4 - 8 กันยายน 2023

EUR/USD: ไม่กับการขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่ใช่กับดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น!

  • ตลาดยังคงพินิจพิจารณาสถานการณ์เศรษฐกิจมหภาคของสหรัฐฯ โดยพยายามที่จะหาข้อสรุป (หรือเก็ง) ว่าธนาคารเฟดจะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหรือไม่ หลังจากรายงานความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่น่าผิดหวัง สถิติตลาดแรงงาน ADP ที่อ่อนแอ และการชะลอตัวในการเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ตลาดเริ่มหันมาเก็งว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยและธนาคารเฟดอาจเปลี่ยนมาใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนปรน การเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในปัจจุบันดีกว่าความคาดหมาย แต่การประเมิน GDP ยังคงทำให้ตลาดผิดหวัง เพราะต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์เบื้องต้น

    อีกด้านหนึ่งนั้น การใช้จ่ายในครัวเรือนเพิ่มขึ้น 0.8% เดือนต่อเดือน ซึ่งเป็นอัตราสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนมกราคม ดัชนีค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภคแบบส่วนบุคคล (PCE) ซึ่งเป็นดัชนีเงินเฟ้อที่ธนาคารเฟดติดตามอย่างใกล้ชิด ขึ้นมา 0.2% ในรอบเดือนต่อเดือนเป็นเดือนที่สองติดต่อกัน ถึงแม้จะเป็นการเติบโตเพียงเล็กน้อยแต่ก็เป็นการเติบโต ดัชนี PCE พื้นฐานขึ้นมา 4.2% ปีต่อปี ซึ่งตรงกับการคาดการณ์ แต่ยังสูงกว่าตัวเลขในเดือนก่อนหน้าที่ 4.1%

    สถานการณ์ตลาดแรงงานได้เปลี่ยนจาก “แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง” เป็น “ค่อนข้างมีความท้าทาย” จำนวนตำแหน่งงานที่เปิดว่างตามที่วัดโดยรายงาน JOLTS ร่วงลง 8.827 ล้านดอลลาร์ในเดือนกรกฎาคม เป็นครั้งแรกในรอบระยะเวลานาน ซึ่งดัชนีนี้สูงกว่า 10 ล้านมาเกือบตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา ตัวเลขนี้เป็นดัชนีที่ธนาคารเฟดใช้ในการประเมินความแข็งแกร่งของตลาดแรงงาน นอกจากนี้ จำนวนยอดขอรับสวัสดิการว่างงานเบื้องต้นยังเพิ่มขึ้นเป็น 228,000 ในสัปดาห์ที่แล้ว

    สถิติที่ประกาศเมื่อวันศุกร์ที่ 1 กันยายน ยิ่งทำให้การคาดการณ์ตลาดยุ่งเหยิงขึ้น ในวันพฤหัสบดี ทุกสัญญาณบ่งชี้ว่าตลาดแรงงานสงบลง แต่แทนที่สถิติจะสอดรับกับตัวเลขคาดการณ์ที่ 170K จำนวนตำแหน่งงานใหม่นอกภาคการเกษตร (NFP) เพิ่มขึ้นสูงเป็นอย่างมากจาก 157K เป็น 187K หรือกล่าวได้ว่าข่าวนี้เป็นข่าวดี อีกด้านหนึ่ง อัตราว่างงานก็เพิ่มขึ้นเช่นกันจาก 3.5% เป็น 3.8% (จากการคาดการณ์ที่ 3.5%) ดังนั้น ข่าวนี้ถือว่าเป็นข่าวร้าย นอกจากนี้ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของสหรัฐฯ (PMI) ก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน จากระดับก่อนหน้าที่ 46.4 และตัวเลขคาดการณ์ที่ 47.0 เป็นตัวเลขจริงที่ 47.6 ซึ่งเป็นอีกครั้งที่เป็นข่าวดี แต่ทั้งนี้ ดัชนี PMI ที่สูงกว่า 50.0 ชี้ว่า สถานการณ์เศรษฐกิจดีขึ้น ในขณะที่ดัชนีที่ต่ำกว่า 50.0 ชี้ว่าสถานการณ์แย่ลง ดังนั้น ข่าวนี้ก็คงเป็นข่าวร้ายอีกครั้ง?

    ในภาพรวมแล้ว ดัชนีที่ผสมผสานกันเหล่านี้ทำให้เกิดการตอบสนองต่อตลาดที่มีความแตกต่างกันไป ในด้านหนึ่ง ดัชนีดอลลาร์ (DXY) เริ่มขยับขึ้นตั้งแต่วันพุธที่ 30 สิงหาคม โดยเร่งตัวเป็นอย่างมากในวันศุกร์ อีกด้านหนึ่ง โอกาสที่ธนาคารเฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 19-20 กันยายนลดลงเหลือ 12% โดยสาเหตุที่มีส่วนทำให้ความเป็นไปได้ดังกล่าวลดลงมาจากคำแถลงจากผู้บริหารธนาคารเฟดที่มีหลากหลายทิศทาง เราได้เคยพูดไปแล้วว่าผู้บริหารแต่ละท่านมีความเห็นอย่างไร เช่น Susan Collins ประธานเฟดสาขาบอสตัน หรือความเห็นของ Patrick Harker ประธานเฟดสาขาฟิลาเดลเฟีย และ Jerome Powell ประธานธนาคารเฟดในการประชุมสุดยอดผู้นำธนาคารกลางระดับโลกที่เมืองแจ็คสันโฮลในบทวิเคราะห์ฉบับที่แล้วของเรา ในครั้งนี้ เราเสริมว่า Raphael Bostic ประธานเฟดสาขาแอตแลนตาเชื่อว่า อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ระดับจำกัดแล้ว และการขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปอาจส่งผลให้เกิดความเจ็บปวดเพิ่มเติมต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ

    ในส่วนของเศรษฐกิจยูโรโซน สถิติล่าสุดชี้ว่า อัตราเงินเฟ้อหยุดลดลงแล้ว ในขณะที่ปริมาณเงินหดตัวเนื่องด้วยปริมาณการให้สินเชื่อที่ลดลง ในทางตรงกันข้ามกับการคาดการณ์ของผู้เชี่ยวชาญ Bloomberg ที่ 5.1% ดัชนีราคาผู้บริโภคปีต่อปี (CPI) ยังคงที่ที่ 5.3% ด้าน CPI รายเดือนของเยอรมนี เศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดของเยอรมนีคงที่ที่ 0.3% เช่นกัน

    ในสถานการณ์เช่นนี้ เราคาดว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะเดินหน้าเพิ่มความเข้มงวดในนโยบายการเงินต่อไป แต่ภัยเรื่องภาวะเศรษฐกิจชะงักงันยังคงเป็นที่น่ากังวลต่อธนาคารกลางมากกว่าราคาที่สูงขึ้น แม้แต่คำกล่าวของ Isabel Schnabel กรรมการบริหารธนาคารกลางยุโรปยังยืนยันด้วยว่า ภาพรวมเศรษฐกิจของยูโรโซนน่าเป็นห่วงกว่าที่คาดคิดไว้ในตอนต้น ซึ่งแปลว่า ภูมิภาคนี้กำลังอยู่ใกล้กับการเข้าสู่ภาวะถดถอยที่ยืดเยื้อและยาวนาน

    ความเห็นของเธอนั้นได้รับการสนับสนุนโดยตลาดแรงงาน อัตราการว่างงานรวมในยูโรโซนยังคงสูงลิ่วที่ 6.4% อัตราว่างงานในเยอรมนีค่อย ๆ เพิ่มขึ้นในแต่ละไตรมาส โดยกลับสู่ระดับที่เคยเห็นในช่วงวิกฤติการแพร่ระบาดของ COVID-19

    ดูเหมือนว่าทั้งสองธนาคารกลางคือธนาคารเฟด และธนาคารกลางยุโรปกำลังเตรียมที่จะยุติวัฎจักรนโยบายการเงินแบบเข้มงวด (หรืออย่างน้อยก็หยุดพักการขึ้นอัตราดอกเบี้ยไว้ก่อน) ในสถานการณ์เช่นนี้จึงสมเหตุสมผลที่ เศรษฐกิจที่อ่อนแอกว่าจะเป็นฝ่ายสูญเสีย นักยุทธศาสตร์จาก JP Morgan และ Bank of America คาดการณ์ว่ายูโรจะขยับขึ้นถึง $1.0500 ภายในสิ้นปีนี้ ในขณะที่ BNP Paribas คาดการณ์ต่ำกว่านั้นที่ $1.0200

    เริ่มต้นช่วงห้าวันทำการที่ 1.0794 โดย EUR/USD ปิดตัวใกล้ระดับที่เริ่มต้นอยู่ที่ 1.0774 ซึ่ง ณ ขณะที่เขียนบทวิเคราะห์ฉบับนี้ ในช่วงเย็นวันที่ 1 กันยายน ผู้เชี่ยวชาญ 50% มองแนวโน้มขาขึ้นของคู่นี้ในระยะใกล้ 20% มองขาลง และ 30% มีความเห็นเป็นกลาง ในส่วนการวิเคราะห์เชิงเทคนิค ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา อินดิเคเตอร์เทรนด์และออสซิลเลเตอร์บนกรอบ D1 ทั้งหมดให้ 100% กับฝั่งดอลลาร์สหรัฐฯ และให้สัญญาณสีแดง นอกจากนี้มี 15% ที่ชี้ว่าราคาอยู่ในโซน oversold โดยมีระดับแนวรับที่ใกล้ที่สุดของคู่นี้อยู่ที่บริเวณ 1.0765 ตามมาด้วย 1.0665-1.0680, 1.0620-1.0635 และ 1.0515-1.0525 ด้านฝั่งกระทิงเจอกับแนวต้านที่ 1.0800 ตามมาด้วย 1.0835-1.0865, 1.0895-1.0925, 1.0985, 1.1045, 1.1090-1.1110, 1.1150-1.1170, 1.1230 และ 1.1275-1.1290

    ในส่วนกิจกรรมที่ต้องจับตาดูในสัปดาห์ที่จะถึงนี้ ควรให้ความสนใจกับคำกล่าวของ Christine Lagarde ประธานธนาคารกลางยุโรปในวันจันทร์ที่ 4 กันยายนนี้ ส่วนวันพุธที่ 6 กันยายน จะมีการประกาศดัชนีค้าปลีกในยูโรโซน ควบคู่กับดัชนี PMI ภาคบริการของสหรัฐฯ ส่วนวันพฤหัสบดีที่ 7 กันยายน GDP ไตรมาสที่ 2 ของยูโรโซนจะเผยแพร่ให้ทราบ รวมถึงยอดขอรับสวัสดิการว่างงานเบื้องต้นของสหรัฐฯ ปิดท้ายสัปดาห์ด้วยดัชนีเงินเฟ้อ (CPI) ในเยอรมนีในวันศุกร์ที่ 8 กันยายนนี้

GBP/USD: อัตราดอกเบี้ยจะไม่ขึ้นเลยใช่ไหม?

  • ก่อนหน้านี้ในภาพรวมของคู่ EUR/USD เราได้ให้ความสำคัญกับคำถามสำคัญของธนาคารว่าอะไรสำคัญกว่ากัน ระหว่างการเอาชนะปัญหาเงินเฟ้อ หรือการป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจถดถอย? ถึงแม้ว่าอัตราเงินเฟ้อรายปีของสหราชอาณาจักรจะลดลงจาก 7.9% เหลือ 6.8% (ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ปี 2022) อัตราเงินเฟ้อยังคงสูงสุดในกลุ่มประเทศ G7 นอกจากนี้ ดัชนี CPI พื้นฐานคงที่ที่ 6.9% ปีต่อปี เหมือนกันกับหนึ่งเดือนก่อนหน้า ซึ่งต่ำกว่าระดับสูงสุดเมื่อสองเดือนก่อนแค่ 0.2% เท่านั้น อีกทั้ง ราคาพลังงานที่สูงขึ้นยังเป็นภัยความเสี่ยงของภาวะเงินเฟ้อที่จะสูงขึ้นรอบใหม่ด้วย

    นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า สถิติและภาพรวมดังกล่าวน่าจะบีบให้ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป แต่มีอีกหนึ่งปัจจัยที่อาจพาไปยังทิศทางตรงกันข้าม เดือนสิงหาคมเป็นเดือนที่ภาคการผลิตของสหราชอาณาจักรเจอกับขาลงอย่างหนัก ผู้ผลิตในประเทศเผชิญกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ เพราะความต้องการได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และวิกฤติค่าครองชีพ การขาดทุนในภาคการส่งออก และข้อกังวลเรื่องตลาด S&P Global ชี้ว่า ผู้ผลิตสินค้าชั้นกลางเป็นผู้ได้รับความเสียหายมากที่สุด ซึ่งก็คือภาค B2B ที่เจอกับแนวโน้มขาลงลึกที่สุดในปริมาณการผลิต สิ่งนี้ส่งผลต่อทั้งคำสั่งซื้อใหม่และระดับการจ้างงาน ซึ่งถูกตัดลดลง

    ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ในเดือนสิงหาคมอยู่ที่เพียง 43.0 ดัชนี PMI หลักร่วงลงทำระดับต่ำสุดในรอบ 39 เดือน เพราะปริมาณการผลิตและคำสั่งซื้อใหม่หดตัวลงในระดับที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ยกเว้นในช่วงภาวะเศรษฐกิจชะงักตัว เช่น วิกฤติการเงินโลกช่วงปี 2008-2009 และช่วงที่มีมาตรการล็อคดาวน์เนื่องด้วยการแพร่ระบาดของไวรัส

    ท่ามกลางสถานการณ์ดังกล่าว ผลการสำรวจชี้ว่า ผู้ออกนโยบายของประเทศจะให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นต่อข้อกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจ มากกว่าประเด็นการขึ้นอัตราดอกเบี้ย Huw Pill ผู้อำนวยการด้านเศรษฐศาสตร์ของธนาคารแห่งชาติอังกฤษกล่าวว่า ในขณะที่ยังไม่มีความพึงพอใจในเรื่องอัตราเงินเฟ้อ เขาเองอยากจะให้คงอัตราดอกเบี้ยในระดับเดิมให้นานยิ่งขึ้น เขาประกาศว่า ในการประชุมของ BoE ที่จะมีขึ้นในวันที่ 21 กันยายนนี้ เขาจะลงคะแนนเสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยที่ 5.25% หลังจากคำแถลงดังกล่าว กฎที่เคยอธิบายไปแล้วก่อนหน้านี้ก็มีผลบังคับใช้ กล่าวคือ หากธนาคารกลางทั้งสองไม่อยากจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป เศรษฐกิจที่อ่อนแอกว่าก็จะเป็นฝ่ายสูญเสีย ในกรณีนี้ สหราชอาณาจักรถือว่าเป็นฝ่ายที่อ่อนแอกว่านั่นเอง

    ก่อนหน้านี้ เราได้กล่าวว่า ผู้เชี่ยวชาญที่ Scotiabank ไม่ตัดโอกาสที่ GBP/USD จะร่วงลงมายัง 1.2400 นักวิเคราะห์จาก ING เครือธนาคารขนาดใหญ่ที่สุดในเนเธอร์แลนด์เชื่อว่า หากดอลลาร์แข็งค่าขึ้น ราคาคู่นี้อาจเจอกับแนวรับที่บริเวณ 1.2500 ด้านธนาคาร UOB ของสิงคโปร์มองว่า “ตราบใดที่เงินปอนด์อยู่ต่ำกว่าแนวต้านสำคัญที่ 1.2720 ก็จะมีแนวโน้มที่จะอ่อนค่าลงมาที่ 1.2530 และอาจจะต่ำถึง 1.2480"

    ราคาคู่นี้ปิดตลาดท้ายสัปดาห์ที่ 1.2585 เมื่อดูในระยะใกล้ ผู้เชี่ยวชาญ 40% คาดการณ์การปรับฐานสู่ขาขึ้น 20% เชื่อว่าดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้น และ 40% คาดว่าราคาจะขยับอยู่ในกรอบ ในส่วนของออสซิลเลเตอร์บนกรอบ D1 มี 90% ที่ให้สัญญาณสีแดง และ 10% สีเขียว ในส่วนของอินดิเคเตอร์เทรนด์ให้อัตราส่วนระหว่างสีแดงและสีเขียวที่ 85% ต่อ 15% ตามลำดับ หากราคาขยับลงทิศใต้ จะต้องเจอกับระดับและโซนแนวรับ ได้แก่ 1.2560-1.2575, 1.2545, 1.2500-1.2510, 1.2435-1.2450, 1.2300-1.2330, 1.2190-1.2210, 1.2085, 1.1960 และ 1.1800 ในกรณีที่มีการขยับสู่ขาขึ้น ราคาจะต้องเจอกับแนวต้านที่ 1.2620-1.2635, 1.2690-1.2710, 1.2760, 1.2800-1.2815, 1.2880, 1.2940, 1.2980-1.3000, 1.3050-1.3060, 1.3125-1.3140 และ 1.3185-1.3210

    ในส่วนของกิจกรรมสำคัญของเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรในสัปดาห์นี้ ความสนใจหลักจะอยู่ที่รายงานอัตราเงินเฟ้อที่จะประกาศในวันพฤหัสบดีที่ 7 กันยายน

USD/JPY: รอการแทรกแซงค่าเงิน

  • กล่าวโดยรวมแล้ว หากเรารีวิวผลลัพธ์ในสัปดาห์ที่แล้ว จะกล่าวได้ว่าดัชนีดอลลาร์ (DXY) ทวงคืนทุกคู่ทั้งสามคู่คือ EUR/USD, GBP/USD และ USD/JPY โดยเมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา ดัชนีดอลลาร์พาราคากลับมายังระดับที่เริ่มต้นสัปดาห์ แม้ว่าจะมีความผันผวนอยู่มากก็ตาม เช่น ราคาเยนต่อดอลลาร์เริ่มต้นสัปดาห์ที่ที่ 146.40 ขยับขึ้นไปสูงสุดที่ 147.36 และจากนั้นก็ร่วงลงมาที่ 144.44 โดยปิดระดับสุดท้ายที่ 146.21

    สถิติล่าสุดชี้ให้เห็นว่า กิจกรรมทางธุรกิจในญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับแนวโน้มขาลง ซึ่งเห็นได้ชัดเจนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI( ในภาคการผลิต ซึ่งลดลงจาก 49.7 เหลือ 49.6 ในหนึ่งเดือน ต่ำกว่าระดับ 50 เป็นเดือนที่สามติดต่อกัน ระดับที่ 50 เป็นตัวบ่งชี้ระหว่างการขยายตัวและหดตัว โดยคู่ USD/JPY ยังคงอยู่ในแนวโน้มกระทิง แต่อาจถูกรบกวนด้วยการแทรกแซงค่าเงินจากรัฐบาลญี่ปุ่น ทางการยืนยันว่าพวกเขายังคงดูแลอย่างใกล้ชิด เช่น Sanaiti Suzuki รัฐมนตรีการคลังของญ๊่ปุ่นไม่นานมานี้ได้ทำการแทรกแซงโดยคำพูด (ไม่ใช่ทางการเงิน) อีกครั้ง เมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา เขากล่าวว่า ตลาดควรกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนด้วยตนเอง ในขณะเดียวกันก็ย้ำว่าความผันผวนที่รุนแรงเป็นสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ เขาเองยังได้พูดถึงการติดตามความเคลื่อนไหวของค่าเงินอย่างใกล้ชิด ไม่ว่า “คำกล่าว” ดังกล่าวจะปลอบใจนักลงทุนได้สำเร็จหรือไม่นั้นยังไม่มีความชัดเจน แต่มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการแทรกแซงทางการเงินขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมจริง แต่จะต้องมีหลักฐานเกิดขึ้นอย่างที่เคยเกิดขึ้นไปในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

    ในแง่ของภาพรวมในระยะใกล้ หลายอย่างก็คล้ายกันกับคู่ก่อนหน้านี้ นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เชื่อว่า ดัชนี DXY ขึ้นมาเป็นอย่างมาก และอาจจะถึงเวลาที่จะต้องปรับฐานลงบ้าง หรืออย่างน้อยก็ชั่วคราว สำหรับคู่ USD/JPY นักวิเคราะห์ 80% โหวตให้กับการกลับตัวของเทรนด์ โดยมี 20% ที่ยังคงเชื่อในศักยภาพของดอลลาร์ที่จะเติบโตต่อไปได้ ในกรอบเวลา 1D อินดิเคเตอร์เทรนด์ 100% ให้สัญญาณสีเขียว ในส่วนของออสซิลเลเตอร์มี 65% ที่เป็นสีเขียว ในขณะที่ 10% ให้สีแดง และ 25% ที่เหลือมีท่าทีเป็นกลาง

    ระดับแนวรับที่ใกล้ที่สุดอยู่ในกรอบคือ 146.10 ตามมาด้วย 145.50-145.70, 144.90, 144.50, 143.75-144.05, 142.90-143.05, 142.20, 141.40-141.75, 140.60-140.75, 139.85, 138.95-139.05, 138.05-138.30, 137.25-137.50 ทั้งนี้ ระดับแนวต้านที่ใกล้ที่สุดอยู่ที่ 146.50-146.60 ตามมาด้วย 146.90, 147.25-147.35, 148.45-148.85, 150.00 และสุดท้ายคือระดับสูงสุดของเดือนตุลาคม 2022 ที่ 151.90

    วันศุกร์ที่ 8 กันยายน เป็นวันสำคัญในปฏิทินเศรษฐกิจในสัปดาห์ที่จะถึงนี้ เพราะเป็นวันที่ญี่ปุ่นจะประกาศ GDP ไตรมาสที่ 2 ของปี 2023 โดยไม่คาดว่าจะมีสถิติที่สำคัญอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับญี่ปุ่นในสัปดาห์นี้

คริปโตเคอเรนซี: ทำไมบิทคอยน์พุ่งขึ้น และร่วงลงอีกครั้ง

  • ช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาถือว่าน่าเบื่อหน่ายอย่างเป็นพิเศษ แทบจะไม่มีอะไรเกิดขึ้น ยกเว้นเหตุการณ์เกี่ยวกับบริษัท Grayscale ซึ่งปัจจุบัน บริษัท Grayscale เป็นบริษัทด้านการลงทุนขนาดใหญ่ที่สุดของโลกที่บริหารสินทรัพย์คริปโต และในขณะนี้ บริษัทฯ ก็ได้ชนะการอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ (SEC) ศาลเห็นเป็นเอกฉันท์ให้การปฏิเสธของกลต. ในการแปลงจากกองทุนทรัสต์บิทคอยน์เป็นกองทุน ETF แบบสปอตว่า “เป็นไปโดยพลการและตามอำเภอใจ” การต่อสู้ทางกฎหมายนี้กินเวลากว่าหนึ่งปี และสิ่งที่เหนือความคาดหมายก็คือ เมื่อวันอังคารที่ 29 สิงหาคมที่ผ่านมา ศาลอ่านคำพิพากษาตัดสินดังกล่าว ผลก็คือ ภายในเวลาสามชั่วโมง บิทคอยน์พุ่งขึ้นจาก $26,060 เป็น $28,122 ซึ่งขึ้นมา 7.9% และเป็นอัตราการเติบโตที่ดีที่สุดในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา

    บางทีผลกระทบแบบระเบิดนี้อาจจะน่าประทับใจมากกว่านี้ ถ้าไม่เป็นคนวงใน ปรากฏว่ามีใครบางคนที่รู้เกี่ยวกับผลการตัดสินของศาลล่วงหน้า ไม่นานก่อนศาลจะประกาศคำตัดสิน มีคนซื้อบิทคอยน์ 30,000 เหรียญ มูลค่าประมาณ $780 ล้านดอลลาร์บนตลาด การขายบิทคอยน์ปริมาณดังกล่าวที่ราคาสูงสุดนั้นถือว่าเป็นเรื่องยากเนื่องด้วยสภาพคล่องที่ต่ำ ดังนั้น ส่งผลให้มูลค่าขายลดลง ผลที่ตามมาก็คือ BTC/USD ค่อย ๆ ปรับตัวลดลง และกลับมายังจุดที่ราคาเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม

    อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นแนวโน้มขาลง นักวิเคราะห์หลายคนมั่นใจว่า คำตัดสินของศาลในครั้งนี้จะยังคงส่งผลในทางบวกต่อตลาด อย่าลืมว่าในช่วงฤดูร้อนปีนี้ มีสถาบันการเงินถึง 8 แห่งที่ได้ยื่นคำขอต่อกลต. สหรัฐฯ เพื่อเข้าสู่ตลาดคริปโตโดยการเปิดกองทุน ETF บิทคอยน์ ในกลุ่มนี้ ได้แก่ บริษัทบริหารสินทรัพย์ขนาดใหญ่อย่าง BlackRock, Invesco และ Fidelity โดยก่อนหน้านี้ การที่กลต. ได้ปฏิเสธคำขอที่คล้ายกันทั้งหมดนั้นยิ่งสร้างความกังวลใจ แต่สถานการณ์ทุกอย่างเปลี่ยนไปแล้วในตอนนี้หลังคำตัดสินคดีของ Grayscale

    Eric Balchunas นักยุทธศาสตร์อาวุโสของ Bloomberg ได้ประเมินว่ามีโอกาส 95% ว่ากองทุน ETF จะได้รับการอนุมัติในปี 2024 และ 75% ในปีนี้ การคาดการณ์จากหลายแห่งชี้ว่า กองทุนเหล่านี้อาจดึงดูดเงินได้ถึง $5-$10 พันล้านดอลลาร์จากการลงทุนรายสถาบันภายในหกเดือนแรกเท่านั้น จึงยิ่งดันราคาให้สูงขึ้นได้อย่างแน่นอน

    Tom Lee ผู้ร่วมก่อตั้ง และหัวหน้านักวิจัยที่ Fundstrat Global Advisors เชื่อว่า หาก ETF บิทคอยน์สปอตได้รับการอนุมัติ ราคาอาจพุ่งขึ้นไปที่ $185,000 ในทางกลับกัน Cathy Wood ซีอีโอ ARK Invest คาดการณ์มูลค่าตามราคาตลาดคริปโตเพิ่มสูงขึ้นเป็น $25 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2030 ซึ่งเป็นแนวโน้มเพิ่มขึ้นถึง 2100% โดยในการคาดการณ์นี้ เส้นฐานของ ARK Invest มองว่าราคาบิทคอยน์จะขึ้นไปที่ $650,000 ในช่วงระยะเวลานี้ ในขณะที่การคาดการณ์ที่มองโลกในแง่ดีมากกว่าชี้ว่าอาจจะสูงกว่าถึงสองเท่า

    เอไอ ChatGPT ซึ่งพัฒนาขึ้นโดย OpenAI ได้เสนอสถานการณ์ในทางบวก โดยมองว่าบิทคอยน์มีโอกาสเติบโตขึ้นไปที่ $150,000 ภายในปี 2024, $500,000 ภายในปี 2028, $1 ล้านเหรียญภายในปี 2032 และ $5 ล้านเหรียญภายในปี 2050 แต่ ChatGPT ให้เงื่อนไขบางประการคือ การเติบโตนี้จะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อมีการยอมรับคริปโตอย่างกว้างขวาง บิทคอยน์กลายเป็นเครื่องสะสมมูลค่าที่เป็นที่นิยม และเหรียญนั้นตรึงอยู่ในระบบการเงินที่หลากหลาย หากไม่เป็นไปตามเงื่อนไขเหล่านี้ เอไอคำนวณว่าบิทคอยน์อาจมีมูลค่าได้ตั้งแต่ $20,000 ถึง $500,000 ภายในปี 2050

    โดยทั่วไปแล้ว แม้แต่ตัวเลขล่าสุดก็ฟังดูมีความหวังสำหรับผู้ที่ถือ BTC ระยะยาว ซึ่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ งานวิจัยจาก Glassnode เผยว่า นักลงทุนกลุ่มนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นทำระดับสูงสุด ซึ่งแสดงถึงความนิยมในหลักการ “hodling” แสดงถึงทัศนคติในแง่บวกระดับหนึ่ง และแรงต้านทานต่อความผันผวนของตลาด

    ในอีกด้านหนึ่ง นักเก็งกำไรระยะสั้นกำลังพากันออกจากตลาด CryptoQuant ชี้ว่า ปริมาณการเทรดบิทคอยน์ทำระดับต่ำสุดในรอบห้าปี “ปริมาณฏารเทรดลดลงท่ามกลางแนวโน้มตลาดหมี เนื่องจากนักลงทุนรายย่อยออกจากตลาด” Julio Moreno หัวหน้าทีมวิจัยของ CryptoQuant อธิบาย “โดยรวมแล้ว ตลาดยังคงขาดความแจ่มใส” กล่าวเสริมโดย Gautam Chhugani นักวิเคราะห์จาก Bernstein “แนวโน้มนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นตลาดหมีเสมอไป แต่นักลงทุนไม่สนใจในการเทรด เพราะตลาดกำลังรอแรงกระตุ้น”

    Raoul Pa ซีอีโอของ Real Vision Group หนึ่งในแพลตฟอร์มสื่อการเงินชั้นนำของโลก ให้ข้อสังเกตว่าความผันผวนรอบ 30 วันลดลง 20 จุด อย่างไรก็ตาม จากข้อสังเกตของเขา ความผันผวนต่ำดังกล่าวภายในสองถึงสี่เดือนได้นำไปสู่แนวโน้มขาขึ้นที่แข็งแกร่งของบิทคอยน์ นักวิเคราะห์ที่มีชื่อว่า Credible Crypto ระบุว่า ราคาจะพุ่งขึ้นอย่างจริงจังได้ ฝั่งกระทิงจะต้องดันราคาบิทคอยน์ให้ขึ้นไปเหนือโซนสำคัญที่ $29,000-$30,000 ในขณะนี้ นักเทรดจำนวนมากคาดหวังให้ BTC ปรับลดลงเพื่อรอจังหวะเข้าซื้อที่ดีขึ้น แต่เมื่อราคาผ่านระดับ $30,000 ไปแล้วตามความเห็นของ Credible Crypto ปรากฏการณ์ความกลัวที่จะตกรถ (FOMO) จะเข้ามามีผลดันให้ราคาขึ้นสูงต่อไป

    ราคาบิทคอยน์จะลดลงได้มากแค่ไหนในสถานการณ์ปัจจุบัน? เดือนกันยายนโดยเดิมแล้วไม่ได้เป็นเดือนที่ดีสำหรับบิทคอยน์ ตั้งแต่ปี 2011 ถึง 2022 ราคา BTC โดยเฉลี่ยติดลบ 4.67% ในช่วงเวลานี้

    นักวิเคราะห์ชื่อว่า Justin Bennett เชื่อว่า ราคาบิทคอยน์อาจร่วงลงมาที่ $14,000 ระดับนี้ทำหน้าที่เป็นแนวรับที่แข็งแกร่งตั้งแต่ปี 2018 ถึง 2020 โดย Bennett สนับสนุนการคาดการณ์ของเขาด้วยกราฟที่แสดงให้เห็นว่าบิทคอยน์ออกจากกรอบขาขึ้นในรอบประมาณสิบเดือนเรียบร้อยแล้ว บิทคอยน์ไม่สามารถผ่านแนวต้านได้สำเร็จในกรอบ $29,000-$33,000 ซึ่งนำไปสู่การทะลุกรอบดังกล่าว นอกจากนี้ ภาวะเศรษฐกิจถดถอยรอบโลกอาจทำให้การทรุดตัวลงรุนแรงยิ่งขึ้น Bennett ชี้ว่า เนื่องจากดัชนีหุ้น S&P 500 ไม่เป็นไปตามสถิติที่ทำไว้ในปี 2022 ที่ 4,750 จุด ตอนนี้มันอาจจะติดลบได้มากในเวลานี้

    อย่างไรก็ตาม แม้จะมีมุมมองดังกล่าว เดือนกันยายนก็ถือว่าเป็นเดือนที่ดีสำหรับการลงทุนระยะยาวสำหรับกลยุทธ์ “ช้อนซื้อ” Mike McGlone นักวิเคราะห์อาวุโสของ Bloomberg ได้เปรียบเทียบตัวชี้วัดของบิทคอยน์กับตลาดหุ้น และได้ข้อสรุปว่า แม้ว่าราคาจะลดลงมาที่ $10,000 แต่ก็ไม่ได้เปลี่ยนท่าทีของเหรียญมากนัก โดยผู้เชี่ยวชาญได้ให้ตัวอย่างหุ้น Amazon ที่ให้ผลตอบแทนถึง 7,000% ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา แต่ BTC มีผลงานที่ดีกว่า เพราะราคาเติบโตประมาณ 26,000% ตั้งแต่ปี 2011 เขากล่าวย้ำว่า “การย้ายฐานสู่กระแสหลัก” ของบิทคอยน์ก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน ในรูปแบบของกองทุนที่สามารถซื้อขายได้ หรือเครื่องมืออื่น ๆ ในตลาดดั้งเดิม

    นอกเหนือไปจากโอกาสการอนุมัติกองทุน ETF บิทคอยน์สปอต เหตุการณ์ Halving ที่จะมีขึ้นก็อาจส่งผลต่อการเติบโตของเหรียญได้เช่นกัน เนื่องด้วยปัจจัยเหล่านี้ การวิเคราะห์ของ TradingShot ชี้ว่า BTC/USD อาจขยับขึ้นไปที่ระดับ $50,000 ภายในสิ้นปีนี้ อย่างไรก็ตาม ณ ขณะที่เขียนบทรีวิวฉบับนี้ในช่วงเย็นวันศุกร์ที่ 1 กันยายน ราคาซื้อขายอยู่ที่ประมาณ $25,750 โดยมูลค่ารวมในตลาดคริปโตอยู่ที่ $1.048 ล้านล้านดอลลาร์ ($1.047 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว) ด้านดัชนี Crypto Fear & Greed Index ยังคงอยู่ในโซนความกลัวที่ระดับ 40 (39 จุดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว)

 

กลุ่มการวิเคราะห์ NordFX

 

หมายเหตุ: เนื้อหาดังกล่าวไม่ควรยึดถือเป็นคำแนะนำในการลงทุนหรือเป็นคำปรึกษาในการซื้อขายในตลาดการเงิน โดยเนื้อหาข้างต้นเป็นไปเพียงเพื่อจุดประสงค์ในการให้ข้อมูลเท่านั้น การซื้อขายในตลาดการเงินมีความเสี่ยงและอาจทำให้เกิดการสูญเสียเงินฝากได้

กลับ กลับ
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ นโยบายคุกกี้ ของเรา