บทวิเคราะห์ฟอเร็กซ์และคริปโตเคอเรนซีประจำวันที่ 2 - 6 ตุลาคม 2023

EUR/USD: การปรับฐานยังไม่ใช่การกลับตัวของแนวโน้ม

  • พฤติกรรมของคู่ EUR/USD ในสัปดาห์ที่ผ่านมานั้นไม่ค่อยปกติ ในสถานการณ์ทั่วไป การต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจที่มีความแข็งแกร่งและตลาดแรงงานดูดี จะส่งผลให้ธนาคารกลางขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งท่าทีนี้จะดึงดูดนักลงทุนและช่วงให้ค่าเงินประเทศแข็งค่าขึ้น อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในครั้งนี้กลับแตกต่างออกไปมาก

    สถิติเศรษฐกิจมหภาคในสหรัฐฯ ซึ่งประกาศเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 28 กันยายน ชี้ถึงการเติบโตของ GDP ที่แข็งแกร่งในไตรมาสที่ 2 ที่ 2.1% จำนวนยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานอยู่ที่ 204K ซึ่งสูงกว่าตัวเลขครั้งก่อนหน้าเล็กน้อยที่ 202K แต่ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ 215K ในขณะที่จำนวนประชาชนที่ขอสวัสดิการรวมทั้งหมดอยู่ที่ 1.67 ล้านคนต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ 1.675 ล้านคน

    สถิตินี้ชี้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ และตลาดแรงงานยังคงมีเสถียรภาพ ซึ่งอาจกระตุ้นให้ธนาคารเฟดสหรัฐฯ ขึ้นอัตราดอกเบี้ย 25 จุดพื้นฐาน (bps) ทั้งนี้ Neil Kashkari ประธานธนาคารเฟดสาขามินนิอาโปลีสได้ยืนยันเสียงสนับสนุนให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพราะการจัดการกับภาวะเงินเฟ้อสูงยังคงเป็นเป้าหมายหลักของธนาคารกลาง Jamie Dimon ซีอีโอของ JPMorgan ยิ่งสนับสนุนยิ่งกว่า โดยเขามองว่ามีความเป็นไปได้ที่อัตราดอกเบี้ยจะถูกปรับขึ้นจากระดับปัจจุบันที่ 5.50% เป็น 7.00%

    อย่างไรก็ตาม ตัวเลขและการคาดการณ์เหล่านี้ไม่ได้มีผลต่อผู้เล่นในตลาด โดยเฉพาะคำแถลงของผู้บริหารธนาคารเฟดดูเหมือนจะเป็นไปในทางตรงกันข้าม เช่น Thomas Barkin ประธานธนาคารเฟดสาขาริชมอนด์ไม่เชื่อว่า GDP สหรัฐฯ จะเติบโตต่อไปในไตรมาสที่ 4 เขายังชี้ด้วยว่า มีความเห็นที่หลากหลายเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยในอนาคต และยังไม่มีความชัดเจนว่าจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมในนโยบายการเงินหรือไม่ Austin Goolsbee ประธานธนาคารเฟดสาขาชิคาโกชี้ว่า การมีความมั่นใจมากเกินไปในการแลกระหว่างอัตราเงินเฟ้อและอัตราว่างงานยิ่งเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดข้อผิดพลาดทางนโยบาย

    คำกล่าวดังกล่าวกระตุ้นฝั่งกระทิงของเงินดอลลาร์ ในช่วงสถานการณ์ที่กลับตาลปัตรเช่นนี้ ผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งช่วยหนุนค่าเงินดอลลาร์นั้นลดลงจากระดับสูงสุดในรอบหลายปี ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับงบประมาณรัฐบาลสหรัฐฯ และภัยการชัทดาวน์ของรัฐบาลยิ่งส่งแรงกดดันต่อดอลลาร์ อีกทั้งวันที่ 28 และ 29 กันยายนนี้เป็นวันทำการซื้อขายสุดท้ายของไตรมาสที่ 3 และหลังจากดอลลาร์แข็งค่าขึ้นมา 11 สัปดาห์ ฝั่งกระทิงก็เริ่มจะปิดคำสั่งซื้อกับดัชนี DXY เพื่อเก็บกำไร

    ในส่วนยูโรโซน ภาวะเงินเฟ้อดูเหมือนจะค่อย ๆ ซบเซาลง สถิติเบื้องต้นชี้ว่า การเติบโตของดัชนีราคาผู้บริโภคประจำปี (CPI) ในเยอรมนีชะลอตัวจาก 6.4% เป็น 4.3% ทำระดับต่ำสุดนับตั้งแต่รัสเซียเข้าบุกรุกประเทศยูเครน ดัชนี CPI ยูโรโซนโดยรวมก็ลดลงเช่นกัน แม้ว่าตัวเลขครั้งก่อนหน้าจะอยู่ที่ 5.3% และตัวเลขคาดการณ์อยู่ที่ 4.8% ดัชนีดังกล่าวลดลงมาที่ 4.5%

    CPI ที่ลดลงเช่นนี้ทำให้เกิดการประเมินว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) น่าจะเปลี่ยนท่าทีนโยบายแบบผ่อนคลายจากไตรมาสที่ 3 ในปี 2024 เป็นไตรมาสที่ 2 ปี 2024 นอกจากนี้ มีโอกาสที่การขึ้นอัตราดอกเบี้ยรอบใหม่จะลดลงเป็นอย่างมาก ตามทฤษฎีแล้ว ท่าทีนี้น่าจะส่งผลให้ยูโรอ่อนค่า แต่ความกังวลต่อชะตาของดอลลาร์กลับมีผลกระทบมากกว่า และหลังจากราคาตีกลับจากระดับ 1.0487, EUR/USD ก็ขยับขึ้นมายังระดับที่ 1.0609

    นักวิเคราะห์จาก Commerzbank ของเยอรมนีชี้ว่า นักเทรดบางคนไม่พึงพอใจเป็นอย่างมากที่ราคาตกลงมาต่ำกว่าระดับ 1.0500 สถิติเศรษฐกิจมหภาคหรือคำแถลงจากผู้บริหารเฟดจึงไม่ได้มีอิทธิพลอะไรต่อสิ่งนี้ อย่างไรก็ตาม การที่ราคารีบาวด์ไม่ได้แปลว่าเทรนด์จะกลับทิศทาง หรือการทะยานขึ้นของดอลลาร์จะสิ้นสุดลงแล้ว นักวิเคราะห์จาก Commerzbank เชื่อว่า เนื่องจากตลาดเดิมพันว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะลงจอดอย่างนุ่ม ๆ ดอลลาร์จึงน่าจะตอบสนองได้อย่างรุนแรง ถ้าเกิดสถานการณ์นี้ไม่เกิดขึ้นจริง

    นักวิเคราะห์จาก MUFG Bank เชื่อเช่นกันว่า โซนที่ 1.0500 ได้กลายเป็นระดับที่แข็งแกร่งจริง ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้ราคากลับทิศทางได้ อย่างไรก็ตาม ความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารชี้ว่า การปรับฐานนั้นเป็นโดยเทคนิคเป็นหลักและราคาอาจจะเริ่มแผ่วลงได้

    วันศุกร์ที่ 29 กันยายน นักเทรดรอการประกาศดัชนีค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนตัว (PCE) ในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตัวชี้วัดสำคัญ ตัวเลขปีต่อปีอยู่ที่ 3.9% ซึ่งตรงกับการคาดการณ์โดยตรง (ตัวเลขครั้งก่อนหน้าคือ 4.3%) ตลาดตอบสนองต่อความผันผวนที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย หลังจากนั้น EUR/USD ก็ปิดท้ายสัปดาห์ เดือน และไตรมาสที่ 1.0573 นักยุทธศาสตร์จาก Wells Fargo ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มธนาคาร “Big Four” ของสหรัฐฯ เชื่อว่า ตัวเลขที่ต่ำเมื่อเทียบกับของสหรัฐฯ น่าจะส่งผลให้เกิดแรงกดดันต่อเนื่องต่อยูโร พวกเขาเชื่อด้วยว่า ธนาคารกลางยุโรป (ได้ยุติวัฎจักรการเพิ่มความเข้มงวดทางการเงินในปัจจุบันแล้ว ซึ่งส่งผลให้ราคาอาจตกลงมายังระดับ 1.0200 ภายในต้นปี 2024

    เมื่อปรับมาเป็นภาพรวมระยะกลางถึงระยะใกล้ ณ ช่วงเย็นวันที่ 29 กันยายน ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญแบ่งออกเป็นสามกลุ่มด้วยกัน: หนึ่งในสามคาดการณ์ว่าดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้น และอีกหนึ่งในสามคาดว่า EUR/USD จะปรับฐานขึ้นด้านบน และหนึ่งในสามที่เหลือมีความเห็นเป็นกลาง ในส่วนการวิเคราะห์เชิงเทคนิค ทั้งอินดิเคเตอร์เทรนด์และออสซิลเลเตอร์บนกรอบ D1 มี 90% ที่ยังคงอยู่ฝั่งดอลลาร์สหรัฐฯ และให้สัญญาณสีแดง มี 10% เท่านั้นที่อยู่ฝั่งยูโร ระดับแนวรับที่ใกล้ที่สุดของคู่นี้อยู่ที่บริเวณ 1.0560 ตามมาด้วย 1.0490-1.0525, 1.0375, 1.0255, 1.0130 และ 1.0000 ฝั่งกระทิงจะเจอกับแนวต้านที่บริเวณ 1.0620-1.0630 จากนั้นคือ 1.0670-1.0700 ตามมาด้วย 1.0745-1.0770, 1.0800, 1.0865, 1.0895-1.0925, 1.0985 และ 1.1045

    การประกาศสถิติที่เกี่ยวข้องกับตลาดแรงงานสหรัฐฯ ในสัปดาห์นี้เริ่มตั้งแต่วันที่ 3 ถึง 6 ตุลาคม สัปดาห์นี้จะปิดท้ายด้วยวันที่ศุกร์ที่ 6 ตุลาคม ซึ่งจะมีการประกาศอัตราการว่างงานและดัชนีนอนฟาร์ม (NFP) ก่อนหน้านั้น ในวันจันทร์ที่ 2 ตุลาคม จะมีการประกาศกิจกรรมทางธุรกิจของภาคการผลิต (PMI) นาย Jerome Powell ธนาคารเฟดสหรัฐฯ มีกำหนดจะกล่าวแถลงในวันนี้ ส่วนวันพุธที่ 4 ตุลาคม ข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมทางธุรกิจในภาคบริการของสหรัฐฯ รวมถึงดัชนีค้าปลีกของยูโรโซนจะรายงานให้ทราบต่อสาธารณะ

GBP/USD: ไม่มีปัจจัยกระตุ้นเงินปอนด์

  • สถิติล่าสุดจากสำนักงานสถิติของสหราชอาณาจักรชี้ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของสหราชอาณาจักรเพิ่มขึ้น 0.6% ปีต่อปีในไตรมาสที่ 2 ซึ่งสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ 0.4% และเพิ่มขึ้น 0.5% จากไตรมาสที่แล้ว ในขณะที่แนวโน้มในทางบวกดูดีอย่างชัดเจน อัตราการเติบโต 0.6% ของสหราชอาณาจักรยังคงต่ำกว่าตัวเลขที่เทียบกันได้ของสหรัฐฯ ถึง 3.5 เท่า ซึ่งอยู่ที่ 2.1% ดังนั้น ความคิดเห็นใด ๆ ว่าเศรษฐกิจอังกฤษนั้นแข็งแกร่งกว่านั้นไม่จำเป็น

    นักยุทธศาสตร์จาก ING เครือธนาคารที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเนเธอร์แลนด์เชื่อว่า GBP/USD ขยับขึ้นมาไตรมาสที่สองของสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นเพราะการปรับฐานของดอลลาร์สหรัฐฯ แต่เพียงอย่างเดียว พวกเขามองว่า ไม่มีปัจจัยกระตุ้นที่เป็นรูปธรรมใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสหราชอาณาจักรที่จะอธิบายแนวโน้มขาขึ้นของเงินปอนด์ที่ยืนหยัดมาได้จนถึงเวลานี้

    นักวิเคราะห์ UOB Group คาดว่า GBP/USD จะผันผวนในกรอบที่ค่อนข้างกว่าที่ 1.2100-1.2380 ในช่วง 1-3 สัปดาห์ข้างหน้า อย่างไรก็ตาม นักยุทธศาสตร์จาก Wells Fargo คาดว่าราคาคู่นี้จะขยับลดลง ถึงโซน 1.1600 ในช่วงต้นปี 2024 ซึ่งเป็นราคาที่เคยมีการซื้อขายเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2022 มีโอกาสที่แนวโน้มดังกล่าวจะมาพร้อมกับสัญญาณของธนาคารอังกฤษที่ชี้ว่า อัตราดอกเบี้ยของเงินปอนด์นั้นถึงระดับสูงสุดแล้ว

    GBP/USD ปิดท้ายสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ระดับ 1.2202 โดยความเห็นของนักวิเคราะห์ต่ออนาคตอันใกล้แบ่งออกเป็นหลายเสียงด้วยกัน และไม่ให้ทิศทางที่ชัดเจน 40% คาดการณ์เทรนด์ขาขึ้น อีก 40% มองเทรนด์ขาลง และ 20% ที่เหลือมีท่าทีที่เป็นกลาง ในส่วนอินดิเคเตอร์เทรนด์และออสซิลเลเตอร์บนกรอบรายวัน (D1) มี 90% ที่ให้สัญญาณสีแดง ในขณะที่ 10% ให้สัญญาณสีเขียว ในกรณีที่ราคาขยับลงด้านล่างจะต้องเจอกับระดับและโซนแนวรับที่ 1.2120-1.2145, 1.2085, 1.1960 และ 1.1800 ในทางกลับกัน หากราคาขยับขึ้น จะต้องเจอกับแนวต้านที่บริเวณ 1.2270, 1.2330, 1.2440-1.2450, 1.2510, 1.2550-1.2575, 1.2600-1.2615, 1.2690-1.2710, 1.2760 และ 1.2800-1.2815

    ไม่คาดว่าจะมีเหตุการณ์ใดที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรในสัปดาห์ที่จะถึงนี้

USD/JPY: รอราคาฝ่าทะลุ 150.00

  • "มาตรการที่เหมาะสมจะต้องดำเนินการเพื่อต้านทานการเคลื่อนไหวอย่างรุนแรงของค่าเงิน โดยไม่มีข้อยกเว้นใด ๆ” “เรากำลังติดตามอัตราแลกเปลี่ยนของค่าเงินอย่างใกล้ชิด” คำพูดเหล่านี้ฟังดูคุ้น ๆ หรือไม่? คำพูดเหล่านี้เป็นอีกหนึ่งการแทรกแซงทางวาจาที่พูดขึ้นโดยนาย Shunichi Suzuki รัฐมนตรีการคลังของญี่ปุ่นเมื่อวันศุกร์ที่ 29 กันยายน เขากล่าวเสริมว่า “รัฐบาลไม่มีระดับเป้าหมายชัดเจนสำหรับค่าเงินเยนที่อาจจะเป็นตัวกระตุ้นให้มีการแทรกแซงทางในค่าเงิน”

    เราอาจเห็นด้วยกับคำกล่าวสุดท้าย โดยเฉพาะเมื่อ USD/JPY ได้ขยับถึง 149.70 ในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับสูงสุดที่เคยทำได้เมื่อเดือนตุลาคม 2022 นอกจากนี้ การเทขายพันธบัตรล็อตใหญ่ ซึ่งเป็นมาตรการของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) ในการรับมือกับผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลชุด 10 ปี (JGBs) ที่เพิ่มขึ้น และประกาศเข้าซื้อพันธบัตรเหล่านี้อย่างนอกเหนือแผนที่กำหนดเมื่อวันที่ 29 กันยายน สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้มีความเป็นไปได้สูงที่ USD/JPY อาจฝ่าทะลุระดับ 150.00 หากดอลลาร์ไม่ปรับฐานเสียก่อน

    เราได้กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า ผู้เชี่ยวชาญหลายรายชี้ว่า การเทขายของดอลลาร์มักจะเกี่ยวข้องกับการเก็บกำไรในช่วงวันสุดท้าย เดือน และไตรมาสสุดท้าย ดังนั้น แนวโน้มนี้อาจคลี่คลายลง ทำให้การทะลุระดับ 150.00 นั้นเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

    150.00 จะเป็น “หมายเลขมหัศจรรย์” ที่กระตุ้นให้หน่วยงานการเงินของญี่ปุ่นเริ่มการแทรกแซงในค่าเงินหรือไม่? อย่างน้อยที่สุด ผู้เล่นในตลาดมองว่าระดับนี้อาจเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการแทรกแซงดังกล่าวได้ ทั้งหมดนี้มีความเป็นไปได้มากกว่า เมื่อพิจารณาตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน ตัวเลขการผลิตทางอุตสาหกรรมไม่มีการเปลี่ยนแปลงในเดือนสิงหาคมเมื่อเทียบกันกับเดือนกรกฎาคม และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในโตเกียวชะลอตัวเป็นเดือนที่สามติดต่อกันในเดือนกันยายน ภายใต้เงื่อนไขเหล่านี้ นักเศรษฐศาสตร์ที่ Mizuho Securities เชื่อว่า แม้ว่าการแทรกแซงค่าเงินอาจมีผลกระทบที่จำกัด “รัฐบาลจะไม่เสียอะไรทางการเมืองโดยการแสดงให้ประชาชนชาวญี่ปุ่นเห็นว่า รัฐบาลกำลังรับมือกับราคาสินค้านำเข้าที่พุ่งขึ้นสูงอย่างจริงจัง อันเกิดจากเงินเยนที่อ่อนค่าลง”

    สัปดาห์นี้ปิดท้ายด้วย USD/JPY ซื้อขายอยู่ที่ระดับ 149.32 โดยผู้เชี่ยวชาญที่ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่ (60%) คาดว่าราคาจะมีการปรับฐานลงทิศใต้สำหรับคู่ USD/JPY โดยเงินเยนอาจแข็งค่าขึ้นฉับพลันเนื่องด้วยการแทรกแซงค่าเงิน ในระหว่างนี้ มีผู้เชี่ยวชาญ 20% มั่นใจว่าราคาจะขยับขึ้นทิศเหนือ อีก 20% มีท่าทีเป็นกลาง ในส่วนกรอบเวลา D1 อินดิเคเตอร์เทรนด์ทั้งหมดและออสซิลเลเตอร์ให้สัญญาณสีเขียว อย่างไรก็ดี 10% ของออสซิลเลเตอร์ให้สัญญาณ overbought แล้ว ด้านระดับแนวรับที่ใกล้ที่สุดอยู่ที่บริเวณ 149.15 ตามมาด้วย 148.45, 147.95-148.05, 146.85-147.25, 145.90-146.10, 145.30, 144.45, 143.75-144.05, 142.20, 140.60-140.75, 138.95-139.05 และ 137.25-137.50 ส่วนแนวต้านที่ใกล้ที่สุดอยู่ที่บริเวณ 149.70-150.00, ตามมาด้วย 150.40, 151.90 (ราคาสูงสุดของเดือนตุลาคม 2022) และ 153.15

    นอกเหนือจากการประกาศดัชนี Tankan Large Manufacturers Index ในไตรมาสที่ 3 ในวันที่ 2 ตุลาคมนี้ ไม่คาดว่าจะมีสถิติเศรษฐกิจที่สำคัญอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่จะประกาศในสัปดาห์นี้

คริปโตเคอเรนซี: ความหวังต่อ Halving และฮาโลวีน

  • ในช่วงครึ่งแรกของสัปดาห์ BTC/USD มีแนวโน้มลง โดยยอมจำนนต่อดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น อย่างไรก็ตาม ราคาสามารถปักหลักในโซน $26,000 หลังจากนั้นเทรนด์ก็มีการเปลี่ยนแปลง ดัชนีดอลลาร์ (DXY) เริ่มจะอ่อนค่าลง โดยให้โอกาสฝั่งกระทิงให้ดันราคากลับมายังบริเวณแนวรับ/แนวต้านที่บริเวณ $27,000

    ชัดเจนว่านโยบายการเงินที่เข้มงวดของธนาคารเฟดจะยังคงส่งแรงกดดันต่อบิทคอยน์รวมถึงตลาดคริปโตในภาพรวม ธนาคารเฟดสหรัฐฯ เลือกที่จะไม่ปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นในช่วงปลายเดือนกันยายน แต่ก็ไม่ตัดโอกาสที่ขึ้นดอกเบี้ยในอนาคต นอกเหนือจากความไม่แน่นอนในตลาดแล้วยังมีการรอฟังคำตัดสินของคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ (SEC) ต่อการขออนุญาตเปิดกองทุนบิทคอยน์ ETF ในตลาดสปอต

    Mark Yusko ซีอีโอบริษัท Morgan Creek Capital เชื่อว่า การตัดสินใจเชิงบวกต่อคำร้องขอเปิดกองทุน ETG บิทคอยน์จะกระตุ้นให้มีกระแสเงินไหลเข้ามากว่า $300 พันล้านดอลลาร์ ในสถานการณ์ดังกล่าว มูลค่ารวมของตลาดและมูลค่าเหรียญจะเติบโตเป็นอย่างมาก

    อย่างไรก็ตาม คำสำคัญในที่นี้คือคำว่า “ถ้า” Anthony Scaramucci ผู้ก่อตั้ง SkyBridge Capital กล่าวที่งานประชุม Messari Mainnet ในนิวยอร์ก โดยพูดถึง “กระแสลมพัด” สำหรับบิทคอยน์ในรูปของอัตราดอกเบี้ยที่สูงซึ่งกำหนดโดยธนาคารเฟด และความไม่เป็นมิตรของ Gary Gensler ประธานกลต. สหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม เขามั่นใจว่าบิทคอยน์มีศักยภาพที่ดีกว่าทองคำ ในมุมมองของเขา การเปิดให้บริการ ETF บิทคอยน์จะทำให้คนยอมรับในสินทรัพย์ดิจิทัลมากขึ้น เขาเชื่อว่าสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดได้ผ่านเราไปแล้วในตลาดหมี ณ ปัจจุบัน  “หากคุณถือบิทคอยน์ เป็นผมจะไม่ขายมัน คุณฝ่าฟันพายุมาแล้ว อีก 10-20 ปีข้างหน้าจะเป็นแนวโน้มกระทิงที่น่าทึ่ง” เขากล่าวว่า คนยุคใหม่จะเข้ามาถือบิทคอยน์ ในลักษณะที่เหมือนกันกับที่เกิดขึ้นกับอินเทอร์เน็ต

    ท่ามกลางความไม่แน่นอนเกี่ยวกับมาตรการของธนาคารเฟด และกลต. สหรัฐฯ ความหวังหลักต่อการเติบโตของตลาดคริปโตอยู่ที่ Halving ที่จะมาถึงในเดือนเมษายน 2024 ซึ่งมีความแน่นอนสูงว่ามันจะเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้แต่เรื่องนี้เองก็มีความเห็นที่แตกต่างกันไป ผู้เชี่ยวชาญหลายคนทำนายว่าราคาบิทคอยน์จะลดลงก่อนจะถึง Halving

    นักวิเคราะห์ภายใต้ชื่อ Rekt Capital ได้เปรียบเทียบสภาพตลาดในปัจจุบันกับพฤติกรรมราคา BTC ในปี 2020 และเก็งว่า ราคาเหรียญจะลดลงอยู่ในกรอบสามเหลี่ยมขาลง อย่างไรก็ตาม ความเห็นของเขาชี้ว่า แนวโน้มขาลงจะรุนแรงน้อยลงมาก เพราะราคาเหรียญจะตกลงมา 27% ที่ $19,082

    Bluntz นักเทรดชื่อดัง ผู้เคยทำนายก่อนหน้านี้ว่ามูลค่าของบิทคอยน์จะร่วงลงในช่วงแนวโน้มตลาดหมีปี 2018 ก็คาดการณ์ว่าเทรนด์ขาลงจะมีความต่อเนื่องในตลาดคริปโตเช่นกัน เขาไม่เชื่อว่ามูลค่าเหรียญได้ถึงจุดต่ำสุดแล้ว เนื่องรูปสามเหลี่ยมขาลงกำลังปรากฏขึ้นบนกราฟและยังไม่สิ้นสุดลง ด้วยเหตุนี้ Bluntz จึงคาดว่า บิทคอยน์จะมีมูลค่าลดลงมาที่ประมาณ $23,800 และจบคลื่นปรับฐานที่สามในที่สุด

    Benjamin Cowen นักวิเคราะห์ชื่อดังเชื่อเช่นกันว่า หลังจากราคาเทรดในกรอบแคบ ๆ มาติดต่อกันหลายสัปดาห์ ราคา BTC อาจตกลงมายังระดับ $23,000 Cowen ให้การคาดการณ์ตามรูปแบบในอดีต ซึ่งชี้ให้เห็นว่าราคาบิทคอยน์มักจะเจอกับแนวโน้มขาลงครั้งใหญ่ก่อนจะถึงการ Halving โดย Cowen ชี้ว่า ข้อมูลจากวัฎจักรในอดีตบ่งชี้ว่า BTC และสกุลเงินคริปโตอื่น ๆ ไม่ได้ทำผลงานได้ดีเยี่ยมในช่วงระยะเวลาก่อนถึงเหตุการณ์สำคัญดังกล่าว

    ในกรณีที่ราคาสินทรัพย์เข้าสู่ขาลง Halving ที่จะมาถึงนี้อาจจะสร้างความเสียหายทางการเงินให้กับนักขุดเหรียญหลายคนได้ บางคนได้ยอมพ่ายแพ้ต่อแรงกดดันจากการแข่งขันในตลาดนี้ในช่วงปี 2021-2022 ไปแล้ว ปัจจุบัน นักขุดเหรียญที่ทำงานโดยได้กำไรเพียงไม่มาก ซึ่งผลตอบแทนของการขุดบล็อกคิดเป็น 96% ของรายได้ของพวกเขา ในขณะที่ค่าธรรมเนียมอยู่ที่เพียง 4% Halving จะลดผลตอบแทนต่อการขุดบล็อกลงครึ่งหนึ่ง และหากสิ่งนี้เกิดขึ้นโดยที่ราคาเหรียญไม่เพิ่มขึ้นอย่างสอดรับกัน มันอาจนำไปสู่หายนะทางการเงินให้กับผู้ประกอบธุรกิจหลายรายได้

    บริษัทบางแห่งได้เริ่มเชื่อมต่อฟาร์มขุดเหรียญของพวกเขากับโรงงานพลังงานนิวเคลียร์แล้ว โดยดำเนินการโดยไม่ผ่านเครือข่ายตัวกลาง ในขณะที่บริษัทอีกกลุ่มหนึ่งกำลังมองหาแหล่งพลังงานทดแทน อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนที่มีทางเลือกนี้ Glassnode ระบุว่า ต้นทุนเฉลี่ยของอุตสาหกรรมในการขุดเหรียญหนึ่งบิทคอยน์ในปัจจุบันอยู่ที่ $24,000 แต่ต้นทุนนี้แตกต่างกันไปตามแต่ละประเทศ สถิติ CoinGecko ชี้ให้เห็นว่า ต้นทุนต่ำสุดของการขุดเหรียญในประเทศต่าง ๆ มีตัวอย่างดังนี้ เลบานอน ($266) อิหร่าน ($532) และซีเรีย ($1,330) ในทางกลับกัน เนื่องด้วยต้นทุนค่าไฟที่สูงกว่า ต้นทุนในสหรัฐฯ จึงเพิ่มขึ้นเป็น $46,280 ในกรณีที่ราคาบิทคอยน์หรือค่าธรรมเนียมเครือข่ายไม่เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากในขณะที่เกิด Halving คาดว่าจะตามมาด้วยคลื่นการล้มละลายของกิจการหลายแห่ง

    มันคือพัฒนาการที่ดีหรือไม่? การล้มละลายดังกล่าวอาจส่งผลให้มีการขุดเหรียญใหม่ ๆ น้อยลง และสร้างการขาดแคลนอุปทาน และท้ายที่สุดก็จะช่วยดันราคาให้สูงขึ้น ปัจจุบัน แพลตฟอร์มคริปโตมีจำนวนบิทคอยน์ลดลง 2 ล้าน BTC ซึ่งทำระดับเกือบต่ำที่สุดในรอบหกปี ผู้เล่นในตลาดเลือกที่จะเก็บเหรียญไว้ในกระเป๋าเงินเย็น และคาดว่าในอนาคตราคาจะพุ่งสูงขึ้น

    Fundstrat บริษัทการลงทุนให้ผลประเมินในทางตรงกันข้าม โดยชี้ว่า BTC อาจพุ่งขึ้นได้มากกว่า 500% จากมูลค่า ณ ปัจจุบันเนื่องด้วย Halving ที่จะมีขึ้น ซึ่งจะพาราคาไปสูงได้ถึง $180,000 ในระหว่างนี้ บริษัทด้านการเงิน Standard Chartered ให้การคาดการณ์ว่า ราคาบิทคอยน์อาจขยับขึ้นไปยัง $50,000 ในปีนี้และไปถึง $120,000 ภายในสิ้นปี 2024

    กิจกรรมของเครือข่ายปัจจุบันชี้ให้เห็นว่า นักลงทุนมีแนวโน้มที่จะรอแนวโน้มขาขึ้นมากกว่า เนื่องจากปริมาณสำรองบิทคอยน์บนตลาดแลกเปลี่ยนนั้นกำลังเข้าใกล้ระดับต่ำสุดในรอบหกปี Bitcoin Rainbow Chart โดย Blockchain Center ยังแนะนำให้คุณเข้าซื้ออีกด้วย ราคาของ BTC/USD บนกราฟในปัจจุบันกำลังอยู่ในโซนด้านล่าง ซึ่งชี้ว่าราคาจะมีการรีบาวด์ในเร็ว ๆ นี้

    Michael Saylor ซีอีโอของ MicroStrategy ได้เปรียบเทียบอัตราการอ่อนค่าลงของเงินเฟียตกับอัตราเงินเฟ้อ เขาแสดงให้เห็นว่า คนเราสามารถเสียเงินที่ออมไว้ได้ หากถือเงินเป็นสกุลเงินดั้งเดิม เพราะเงินดอลลาร์สหรัฐฯ สูญเสียมูลค่าประมาณ 99% ในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา

    ณ ขณะที่เขียนบทรีวิวฉบับนี้ในช่วงเย็นวันศุกร์ที่ 29 กันยายน BTC/USD ยังไม่เคยตกลงมาที่ $19,000 หรือขยับขึ้นไปที่ $180,000 ราคากำลังซื้อขายอยู่ที่ $26,850 โดยมูลค่ารวมของตลาดคริปโตอยู่ที่ $1.075 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สูงขึ้นจาก $1.053 ล้านล้านในสัปดาห์ที่แล้ว ดัชนี Crypto Fear & Greed Index เพิ่มขึ้นมา 5 จุดจาก 43 เป็น 48 โดยเปลี่ยนผ่านจากโซน “ความกลัว” (Fear) เป็นโซน “ปานกลาง” (Neutral)

    กล่าวโดยสรุป สำหรับการคาดการณ์ในเดือนที่จะถึงนี้ เป็นอีกครั้งที่ผู้เชี่ยวชาญได้หันเข้าหาเอไอ (AI) ในครั้งนี้ การคาดการณ์ราคาบิทคอยน์ภายในวันฮาโลวีน (31 ตุลาคม) โดย AI ของ CoinCodex ชี้ว่า ราคาบิทคอยน์จะขึ้นไปที่ $29,703 ภายในวันดังกล่าว

    ที่น่าสนใจก็คือ ตลาดคริปโตมีคำศัพท์ที่เรียกว่า “Uptober” แนวคิดก็คือ ในทุกเดือนตุลาคม บิทคอยน์จะมีราคาที่สูงขึ้น เมื่อพิจารณาข้อมูลจากปี 2021 ตอนนั้นบิทคอยน์มีราคาอยู่ที่ $61,300 เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ซึ่งขึ้นมากว่า 344% เทียบกับปี 2020 ปรากฏการณ์นี้เป็นจริงในปี 2022 เช่นกัน ถึงแม้ว่าจะมีข่าวแพลตฟอร์ม FTX ล้มละลาย ในวันที่ 1 ตุลาคม 2022 ราคาเหรียญเทรดอยู่ที่ $19,300 แต่ในวันที่ 31 ตุลาคม ราคาก็ขยับขึ้นไปที่ $21,000 ดังนั้น เรามาดูกันว่าอะไรจะเกิดขึ้นในครั้งนี้

 

กลุ่มนักวิเคราะห์ NordFX

 

หมายเหตุ: เนื้อหาดังกล่าวไม่ควรยึดถือเป็นคำแนะนำในการลงทุนหรือเป็นคำปรึกษาในการซื้อขายในตลาดการเงิน โดยเนื้อหาข้างต้นเป็นไปเพียงเพื่อจุดประสงค์ในการให้ข้อมูลเท่านั้น การซื้อขายในตลาดการเงินมีความเสี่ยงและอาจทำให้เกิดการสูญเสียเงินฝากได้

กลับ กลับ
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ นโยบายคุกกี้ ของเรา