EUR/USD: เงินเฟ้อขับเคลื่อนเทรนด์
- ในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนีดอลลาร์ (DXY) ปรับลงต่อเนื่อง ซึ่งเทรนด์นี้เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม ในขณะที่ตลาดหุ้นทั่วโลกขยับขึ้น พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นปัจจัยที่ขับเคลื่อนอยู่เบื้องหลัง ในช่วงไม่กี่วันล่าสุด ภาครัฐพยายามโน้มน้าวตลาดให้เชื่อว่ามีโอกาสที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะ “ลงจอดอย่างนุ่ม ๆ” และเป็นการบ่งชี้ว่าวัฎจักรมาตรการถอนสภาพคล่องทางการเงินอาจหยุดลงพักใหญ่ เช่น เมื่อวันพุธที่ 11 ตุลาคม Christopher Waller กรรมการบริหารของธนาคารเฟดสหรัฐฯ กล่าวว่า “การลดสภาพคล่องในตลาดการเงินกำลังได้ผลต่อเราในระดับหนึ่ง” ช่วยให้ธนาคารกลางสามารถใช้แนวทางรอดูสถานการณ์
ในวันเดียวกัน ผลการประชุมเดือนกันยายนของคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (FOMC) ได้ประกาศออกมา รายงานดังกล่าวไม่ให้สัญญาณแนวพิราบแต่ก็ไม่ใช่สัญญาณสายเหยี่ยวแต่อย่างใด ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยเท่าเดิมในเดือนกันยายน ในส่วนอนาคต ผลการประชุมชี้ว่าผู้นำธนาคารเฟดตระหนักถึง “ความไม่แน่นอนอย่างสูง” เกี่ยวกับอนาคตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และตระหนักถึงความจำเป็นในการใช้แนวทางที่ระมัดระวังต่อนโยบายทางการเงิน
สภาพอารมณ์ในตลาดเริ่มค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงหลังการประกาศดัชนีราคาผู้ผลิตสหรัฐฯ (PPI) สำนักงานสถิติรายงานว่าดัชนี PPI เพิ่มขึ้น 0.5% ในเดือนกันยายน ซึ่งสูงกว่าการคาดการณ์ 0.3% ดัชนี PPI (MoM) เพิ่มขึ้น 0.3% เทียบกับตัวเลขคาดการณ์คือ 0.2% ส่วนตัวเลขรายปีอยู่ที่ 2.2% ซึ่งสูงกว่าการคาดการณ์ที่ 1.6% และตัวเลขครั้งก่อนหน้าที่ 2% ตัวเลขเงินเฟ้อเชิงอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่คาดคิดทำให้ตลาดเก็งว่า อัตราเงินเฟ้อของผู้บริโภคน่าจะสูงกว่าการคาดการณ์เช่นกัน
และก็เป็นความจริง สถิติที่ประกาศเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 12 ตุลาคม ชี้ให้เห็นว่า ระดับเงินเฟ้อในเดือนกันยายนเพิ่มขึ้น 0.4% สูงกว่าการคาดการณ์ที่ 0.3% ในส่วนสถิติรายปี ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) สูงกว่าการคาดการณ์เช่นกันโดยอยู่ที่ 3.7% จากการคาดการณ์ที่ 3.6% ผู้ร่วมตลาดสรุปว่า การเติบโตของระดับเงินเฟ้อดังกล่าวอาจกระตุ้นให้ธนาคารเฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้อีก 25 จุดพื้นฐาน เป็น 5.75% ในการประชุมของ FOMC ที่จะถึงนี้ ในสถานการณ์นี้ ดอลลาร์และผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเป็นมาก ในขณะที่ตลาดหุ้นปรับตัวลง ดัชนี The DXY ทำระดับสูงสุดใหม่ในกรอบที่ 106.35 ด้านผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลชุด 10 ปี เพิ่มขึ้นเป็น 4.65% และผลตอบแทนแบบ 2 ปีเพิ่มขึ้นเป็น 5.05% EUR/USD กลับทิศทาง โดยร่วงลงมาจากระดับสูงสุดที่ 1.0639 ลงมายัง 1.0525 ในเวลาไม่กี่ชั่วโมง
ดัชนี CPI ของเยอรมนีก็ประกาศเมื่อวันพุธที่ 11 กันยายนเช่นกัน ซึ่งชี้ว่าอัตราเงินเฟ้อของผู้บริโภครายปีอยู่ที่ 4.3% และตัวเลขรายเดือนคือ 0.3% สถิติทั้งสองชุดนี้สอดคล้องกับการคาดการณ์และสถิติครั้งก่อนหน้าโดยสมบูรณ์ Joachim Nagel สมาชิกในคณะกรรมการบริหารธนาคารกลางยุโรปและประธานธนาคารกลางเยอรมนีกล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อในเยอรมนีถึงระดับสูงสุดแล้ว และภายในปี 2025 เขาคาดการณ์นโยบายถอนสภาพคล่องจะช่วยกดระดับเงินเฟ้อในยูโรโซนให้ลดลงมาที่ 2.7% เขากล่าวว่า “เราจะไม่หยุดพักจนกว่าเราจะมีชัยชนะเหนืออัตราเงินเฟ้อสูง” เขากล่าวยืนยัน
ผลการประชุมของธนาคารกลางยุโรปเดือนกันยายนเผยว่า กรรมการบริหารส่วนใหญ่เห็นด้วยให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ย 25 จุดพื้นฐาน พวกเขามองว่า การหยุดพักใด ๆ อาจเป็นสัญญาณว่าวัฎจักรการถอนสภาพคล่องมาถึงจุดสิ้นสุดแล้ว หรือคณะกรรมการฯ มีความกังวลกับสภาวะเศรษฐกิจและโอกาสการเกิดเศรษฐกิจถดถอยมากกว่าระดับเงินเฟ้อที่สูงเกินไป ซึ่งนี่เป็นผลการประชุมที่เผยแพร่เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 12 ตุลาคมที่ผ่านมา
กรรมการบริหารบางท่านผลักดันให้คงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับปัจจุบัน โดยเฉพาะ François Villeroy de Galhau ประธานธนาคารกลางฝรั่งเศส เขามองว่า ความอดทนในนโยบายการเงินในปัจจุบันมีความสำคัญมากกว่ากิจกรรม และมองว่า มันจะดีกว่ามากในการทำเป้าหมายให้สำเร็จด้วยการ “ลงจอดอย่างนุ่ม ๆ” มากกว่า “ลงจอดอย่างแรง”
ยังมีความเป็นไปได้ในระดับหนึ่งที่ธนาคารกลางยุโรปจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็น 4.75% ในการประชุมครั้งถัดไปวันที่ 26 ตุลาคม และถึงแม้จะขึ้นอัตราดอกเบี้ย อัตราดอกเบี้ยก็ยังคงต่ำกว่าของฝั่งสหรัฐฯ เมื่อเราพิจารณาความอ่อนแอของเศรษฐกิจยูโรโซนประกอบด้วยแล้ว สถานการณ์นี้จะยิ่งเพิ่มแรงกดดันต่อยูโร และยิ่งซับซ้อนขึ้นอีกจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในเวลานี้ที่ยังมีปฏิบัติการทางทหารในยูเครนและเหตุการณ์ความรุนแรงที่ปะทุขึ้นในอิสราเอล-ปาเลสไตน์ พร้อมกับฤดูหนาวที่ใกล้เข้ามา
EUR/USD ปิดระดับที่ 1.0507 ในสัปดาห์ที่แล้ว ณ ช่วงเย็นวันที่ 13 ตุลาคม ที่มีการเขียนรีวิวฉบับนี้ ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญแบ่งออกได้ดังนี้ 80% เห็นด้วยกับการปรับฐานขาขึ้นของคู่นี้ ในขณะที่ 20% มีความเห็นเป็นกลาง จำนวนผู้ที่โหวตให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นอยู่ที่ 0%
ในส่วนการวิเคราะห์เชิงเทคนิค อินดิเคเตอร์เทรนด์บนกราฟ D1 มี 100% ที่เห็นด้วยกับฝั่งหมี และมีออสซิลเลเตอร์ส่วนใหญ่ (60%) ที่ยังคงอยู่ฝั่งดอลลาร์สหรัฐฯ และให้สัญญาณสีแดง 30% เห็นด้วยกับยูโร และมี 10% ที่ให้ความเห็นเป็นกลาง
แนวรับระยะใกล้ของคู่นี้อยู่ที่บริเวณ 1.0450 ตามมาด้วย 1.0375, 1.0255, 1.0130 และ 1.0000 ด้านฝั่งกระทิงจะเจอกับแนวต้านที่บริเวณ 1.0600-1.0620 ตามมาด้วย 1.0670-1.0700, 1.0740-1.0770, 1.0800, 1.0865, และ 1.0895-1.0930
ปฏิทินเศรษฐกิจในสัปดาห์ที่จะถึงนี้เน้นกิจกรรมสำคัญ ได้แก่ วันอังคารที่ 17 ตุลาคมจะมีการประกาศดัชนีค้าปลีกสหรัฐฯ ดัชนีราคาผู้บริโภคยูโรโซน (CPI) จะประกาศในวันพุธ ส่วนวันพฤหัสบดีจะมีการประกาศดัชนีการผลิตของธนาคารเฟดสาขาฟิลาเดลเฟีย และสถิติยอดขอรับสวัสดิการว่างงานเบื้องต้น ตามมาด้วยถ้อยแถลงของนาย Jerome Powell ประธานธนาคารเฟดในช่วงเย็นวันพฤหัสบดี
GBP/USD:ที่ผ่านมามันแย่และจะยังคงแย่
- ในภาพรวมกราฟ GBP/USD เคลื่อนไหวใกล้เคียงกับคู่ EUR/USD: โดยราคาขยับขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดี ก่อนที่จะกลับตัวลงมาหลังการประกาศสถิติเงินเฟ้อของผู้บริโภคในสหรัฐฯ นอกเหนือจากแนวโน้มการใช้นโยบายทางการเงินที่รัดกุมมากขึ้นในสหรัฐฯ เงินปอนด์อังกฤษยังได้รับแรงกดดันเพิ่มเติมจากสถิติการผลิตภาคอุตสาหกรรมของอังกฤษด้วย
สถิติล่าสุดจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ (ONS) ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาชี้ว่า กิจกรรมภาคการผลิตเชิงอุตสาหกรรมของประเทศลดลงอีกครั้งในเดือนสิงหาคม ผลผลิตลดลง -0.8% เทียบกับการคาดการณ์ที่ -0.4% และตัวเลขลดลง -1.2% ในเดือนกรกฎาคม การผลิตเชิงอุตสาหกรรมในภาพรวมลดลง -0.7% เทียบกับการคาดการณ์ที่ -0.2% และ -1.1% ในเดือนก่อนหน้า สำหรับตัวเลขรายปี แม้ว่าผลผลิตภาคอุตสาหกรรมจะเพิ่มขึ้น 2.8% ในเดือนสิงหาคม แต่ต่ำกว่าการคาดการณ์ที่ 3.4% ปริมาณการผลิตเชิงอุตสาหกรรมโดยรวมก็ต่ำกว่าการคาดการณ์เช่นกัน โดยเพิ่มขึ้นเพียง 1.3% จากที่คาดการณ์ไว้ 1.7%
แม้ว่า GDP สหราชอาณาจักรหลังจากที่หดตัวลง -0.6% ในเดือนกรกฎาคม เพิ่มขึ้นมา 0.2% ในเดือนสิงหาคม ความเสี่ยงที่การเติบโตทางเศรษฐกิจจะชะลอตัวเพิ่มขึ้น โดยหลักแล้วเป็นเพราะสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในอิสราเอล และความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นในตะวันออกกลางซึ่งอาจมีผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานรอบโลก และราคาเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น โดยเฉพาะน้ำมันจะยิ่งกระตุ้นแรงกดดันเงินเฟ้อ
นอกจากนี้ บริษัทอังกฤษไม่ได้แค่ชะลออัตราการเติบโตของการผลิตเนื่องด้วยอุปสงค์ที่ลดลงเท่านั้น แต่ยังเลื่อนแผนการขยายกำลังผลิตออกไปเนื่องด้วยัตราดอกเบี้ยสินเชื่อที่สูงขึ้นด้วย
สถานการณ์นี้ทำให้เกิดภาวะที่กลืนไม่เข้าและคลายไม่ออกสำหรับผู้บริหารธนาคารกลางยุโรป ที่ต้องเลือกระหว่างการพยายามรับมือกับภาวะเงินเฟ้อและการป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจตกอยู่ในภาวะถดถอย นาย Andrew Bailey ผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติอังกฤษได้กล่าวในที่ประชุมประจำปีของสถาบันการเงินระหว่างประเทศในโมร็อกโกเมื่อวันศุกร์ที่ 13 ตุลาคมที่ผ่านมาว่า “การตัดสินใจสุดท้ายเป็นการตัดสินใจที่ยาก” และ “การตัดสินใจในอนาคตก็จะยากเช่นกัน” ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงโดยอยู่ที่ 5.25% ในเดือนกันยายน การประชุมของธนาคารอังกฤษครั้งถัดไปจะมีขึ้นในวันที่ 2 พฤศจิกายน และธนาคารจะเลือกขึ้นอัตราดอกเบี้ยหรือไม่นั้นยังคงเป็นคำถามที่สำคัญที่ต้องจับตาดู
GBP/USD ปิดท้ายสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ 1.2143 ความเห็นของนักวิเคราะห์ต่ออนาคตระยะใกล้เป็นความเห็นที่พ้องกันอย่างน่าประหลาดใจ โดย 100% คาดการณ์ว่าราคาคู่นี้จะเพิ่มขึ้น (ทั้งนี้ ควรคำนึงเสมอว่าความเห็นที่เป็นเอกฉันท์ไม่ได้รับประกันความแม่นยำของการคาดการณ์) ในทางกลับกัน อินดิเคเตอร์เทรนด์บนกราฟ D1 เป็นภาพตลาดหมีโดยสมบูรณ์ 100% ชี้ว่าราคาจะลดลง และให้สัญญาณสีแดง ส่วนออสซิลเลเตอร์ที่บ่งชี้ว่าราคาจะลดลงมี 50% ให้แนวโน้มขาขึ้น 40% และอีก 10% ที่เหลือให้ภาพเป็นกลาง ในกรณีที่ราคาขยับลดลงจะเจอกับแนวรับและโซนแนวรับที่ 1.2100-1.2115, 1.2030-1.2050, 1.1960 และ 1.1800 ในกรณีที่ราคาขยับขึ้น จะเจอกับแนวต้านที่ระดับ 1.2205-1.2220, 1.2270, 1.2330, 1.2450, 1.2510, 1.2550-1.2575, 1.2690-1.2710, 1.2760 และ 1.2800-1.2815
เหตุการณ์สำคัญในสัปดาห์ที่จะถึงนี้ ได้แก่ วันอังคารที่ 17 ตุลาคม ซึ่งจะมีการประกาศสถิติตลาดแรงงานสหราชอาณาจักร ในวันพุธที่ 18 ตุลาคม ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) จะประกาศทั้งในยูโรโซนและสหราชอาณาจักร (โดยเฉพาะอย่างยิ่งคู่ EUR/GBP จะมีความผันผวนสูงในวันนี้) นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจในวันศุกร์ที่ 20 ตุลาคม ซึ่งจะประกาศดัชนีค้าปลีกในสหราชอาณาจักร
USD/JPY: มาถึงเต็มวงจร
- เกิดอะไรขึ้นในญี่ปุ่น? สถานการณ์ยังคงน่าจับตามองเหมือนเช่นเคย หลังจากราคาร่วงลงมาที่ระดับ 147.24 เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม USD/JPY ทะยานขึ้นด้านบน และทำระดับสูงสุดที่ 149.82 และยังอยู่ไม่ไกลจากระดับสำคัญที่ 150.00 ทั้งนี้ เราให้ข้อสังเกตไว้แล้วหลายครั้งว่า ความไม่สอดคล้องกันระหว่างนโยบายการเงินของสหรัฐฯ และธนาคารกลางญี่ปุ่นจะเป็นแรงผลักดันให้ราคาคู่นี้ขยับขึ้นต่อเนื่อง และความพยายามแทรกแซงค่าเงินใด ๆ โดยทางการญี่ปุ่นจะส่งผลให้เงินเยนแข็งค่าขึ้นแค่ชั่วคราวเท่านั้น
ธนาคารกลางญี่ปุ่นรายงานว่า อัตราเงินเฟ้อของผู้ผลิตชะลอตัวมาเป็นเดือนที่ 9 ติดต่อกัน ราคาผู้ผลิตซึ่งขยับขึ้น 3.3% ในเดือนกันยายน โดยมีการคาดการณ์เดือนกันยายนที่ 2.3% เพิ่มขึ้นเพียง 2.0% ปีต่อปีเท่านั้น ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2021 อย่างไรก็ตาม ในส่วนตัวเลขเงินเฟ้อผู้บริโภค ธนาคารกลางญี่ปุ่นกำลังพิจารณาจะปรับตัวเลขเป้าหมายดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) 2023/24 ให้สูงขึ้นจาก 2.5% เป็นประมาณ 3% รายงาน ณ วันอังคารที่ 10 ตุลาาคม โดยสำนักงาน Kyodo โดยอ้างแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือ
เมื่อประเมินสภาพเศรษฐกิจญี่ปุ่นและนโยบายการเงินแล้ว สำนักงานเรตติ้ง S&P Global เชื่อว่า “อัตราดอกเบี้ยในญี่ปุ่นจะเริ่มปรับขึ้นตั้งแต่ปี 2024” อย่างไรก็ตาม ความเห็นของสำนักงานนี้ขัดกันกับคำแถลงที่ให้ไว้โดยผู้แทนของธนาคารกลางญี่ปุ่น เช่น Asahi Noguchi กรรมการบริหารธนาคารกลางญี่ปุ่นกล่าวเมื่อวันพฤฆัสบดีที่ 13 ตุลาคม ว่า “การขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะถูกกระตุ้นโดยการทำตามเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 2%" และเป้าหมายนี้ยังคงอยู่ห่างไกล เขามองว่า “ไม่จำเป็นที่จะต้องรีบ” และ “ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องเปลี่ยนแปลงนโยบายการควบคุมเส้นโค้งผลตอบแทนพันธบัตร (YCC)" จากคำพูดของ Noguchi เราอาจอนุมานได้ว่า ทางการญี่ปุ่นจะไม่แม้แต่พิจารณาประเด็นเรื่องอัตราดอกเบี้ย และจะคงมันไว้ที่ระดับติดลบ -0.1% และการขึ้นอัตราดอกเบี้ย “ไม่จำเป็นต้องสะท้อนถึงความคาดหวังต่อระดับเงินเฟ้อในญี่ปุ่น แต่ควรเป็นอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ”
USD/JPY ปิดท้ายตลาดที่ระดับ 149.53 ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ทำนายว่าดอลลาร์จะอ่อนค่าลงเทียบกับยูโรและเงินปอนด์ มีเพียง 25% ที่ตอบแบบสำรวจเท่านั้นที่เห็นด้วยกับมุมมองนี้ ส่วน 75% ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าเงินเยนจะอ่อนค่าต่อไปและดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้น ด้านอินดิเคเตอร์เทรนด์ 100% ยังคงให้สัญญาณสีเขียว ในส่วนออสซิลเลเตอร์ 80% เป็นสีเขียว และ 10% ให้สีแดง ส่วน 10% ที่เหลือให้สีเทากลาง ระดับแนวรับที่ใกล้ที่สุดอยู่ที่ 149.15 ตามมาด้วย 148.15-148.40, 146.85-147.25, 145.90-146.10, 145.30, 144.45, 143.75-144.05, 142.20, 140.60-140.75, 138.95-139.05 และ 137.25-137.50 ระดับแนวต้านที่ใกล้ที่สุดคือ 149.70-150.15 ตามมาด้วย 150.40, 151.90 (ราคาสูงสุดเดือนตุลาคม 2022) และ 153.15
ไม่คาดว่าจะมีสถิติเศรษฐกิจที่สำคัญเกี่ยวข้องกับญี่ปุ่นที่จะประกาศในสัปดาห์ที่จะถึงนี้
สกุลเงินคริปโต: บิทคอยน์จะบินไปทางไหนต่อ?
- ในสัปดาห์ที่แล้ว บิทคอยน์เริ่มขยับในทิศทางของตนเอง โดยปลีกตนเองออกจาก “พี่ใหญ่ทั้งหลาย” และไม่สนใจในแง่ความสัมพันธ์ในทางตรงหรือทางผกผันแต่อย่างใด ถึงแม้ว่าดัชนีหุ้นจะขยับขึ้น และดอลลาร์อ่อนค่า บิทคอยน์ยังคงลดลงและขยับไปยังเทรนด์ไซด์เวย์สเมื่อดอลลาร์กลับมาแข็งค่าขึ้น
BTC/USD เทรดในช่วงราคา $24,300-$31,300 มาตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม ในช่วง 8 สัปดาห์ที่ผ่านมา กรอบด้านบนของราคาเริ่มลดต่ำลงเรื่อย ๆ พาราคาพักตัวอยู่ในโซน $28,100-$28,500 เมื่อราคากรอบดังกล่าวแคบลง นักเก็งกำไรระยะสั้นและนักเทรดรายย่อยก็เริ่มมีความเคลื่อนไหวน้อยลง ส่งผลให้อินดิเคเตอร์มูลค่าตลาดขยับใกล้ระดับศูนย์ ผู้ถือเหรียญระยะยาวที่เรียกว่า "hodlers" ก็ซื้อเหรียญเก็บเข้าในกระเป๋าเงิน BTC มากกว่าจะกำจัดออกไป และซื้อเหรียญประมาณ 50,000 ต่อเดือน
ในอดีต ภาวะหยุดชะงักของตลาดมักจะตามมาด้วยการเคลื่อนไหวที่รุนแรงของราคา นักลงทุนหลายคนเก็งว่า ปัจจัยกระตุ้นให้เกิดแนวโน้มกระทิงรอบถัดไปอาจจะเป็นเหตุการณ์ halving 2024 ที่จะมีขึ้น และโอกาสการอนุญาตให้เปิดให้บริการกองทุน ETF บิทคอยน์ในตลาดสปอต MicroStrategy บริษัทด้านเทคโนโลยีได้สะสมเหรียญทั้งหมด 158,245 BTC ซึ่งคิดเป็นเงินประมาณ $4.24 นอกจากนี้ บริษัทการลงทุนยักษ์ใหญ่อย่าง BlackRock ได้ยื่นขอเปิด ETF บิทคอยน์ในตลาดสปอตในเดือนมิถุนายนและเข้าซื้อหุ้นมูลค่า $400 ล้านดอลลาร์ในบริษัทขุดเหรียญชั้นนำ
การทะยานขึ้นของกระทิง (The Bull Run) อาจเริ่มขึ้นตอนนี้ แต่ Mike McGlone เชื่อว่า นโยบายที่เข้มงวดของสหรัฐฯ โดยเฉพาะโดยคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ (กลต. สหรัฐฯ) คืออุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางการเติบโตของบิทคอยน์ Sam Altman ซีอีโอ ChatGPT ก็แสดงความผิดหวังต่อแนวทางของรัฐบาลสหรัฐฯ ต่ออุตสาหกรรมคริปโตเช่นกัน “สงครามต่อต้านคริปโตดูไม่มีวันจบสิ้น และทางการดูจะกระตือรือร้นที่จะพยายามทุกวิถีทางเพื่อควบคุมทุกอย่าง” เขากล่าว เช่นเดียวกันกับ Robert F. Kennedy Jr. ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ผู้คิดว่าความไม่เป็นมิตรของรัฐบาลต่อสินทรัพย์ดิจิทัลที่เป็นอิสระนั้นส่วนหนึ่งเป็นเพราะความต้องการที่จะใช้สกุลเงินดิจิทัลธนาคาร (CBDC) ซึ่งถ้ามันเกิดขึ้นจริง สกุลเงินดังกล่าวจะกลายเป็นเครื่องมือของรัฐในการสอดส่องดูแลประชาชนฃ
อีกหนึ่งประเด็นที่กดดันสินทรัพย์เสมือนจริงมาจากนโยบายการเงินของธนาคารเฟดสหรัฐฯ นักวิเคราะห์ Nicholas Merten มีความเห็นว่าราคาบิทคอยน์อาจทรุดลงเป็นอย่างมากได้เนื่องด้วยมาตรการที่ดำเนินการโดยธนาคารเฟด ซึ่งคาดว่าจะนำไปสู่ช่วงเศรษฐกิจขาลงที่ยืดเยื้อในสหรัฐฯ หากสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และแร่ยูเรเนียมเริ่มมีราคาที่เสถียรหรือลดลง Merten มองว่านี่จะเป็นสัญญาณภาวะเศรษฐกิจถดถอยใกล้มาถึงในระยะสั้น ในสถานการณ์นี้ เขาชี้ว่า หุ้นอาจดิ่งลงประมาณ 33% คล้ายกับการปรับฐานที่เคยเกิดขึ้นในเดือนตุลาคม 2022 และบิทคอยน์ก็จะตอบสนองต่อสถานการณ์นี้โดยราคาลดลงมาที่ช่วง 15,000-$17,000
นักวิเคราะห์รายนี้เชื่อว่าแนวโน้มกระทิงที่มั่นคงในตลาดไม่น่าจะเกิดขึ้นได้จนกว่าธนาคารเฟดจะเพิ่มสภาพคล่องให้กับเศรษฐกิจ “บิทคอยน์จะเติบโตเมื่อมีปริมาณเงินเพิ่มขึ้นในตลาด และเมื่อนักลงทุนอยู่ในอารมณ์ต้องการความเสี่ยง อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ยังไม่เป็นไปตามเงื่อนไขข้อใด” เขากล่าวอธิบาย
พฤติกรรมปัจจุบันของบิทคอยน์ดูจะสอดรับกับเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนและหลังการ halvings ในปี 2016 และ 2020 หลังจากราคาสูงสุดในช่วงฤดูร้อน บิทคอยน์ก็เจอกับการปรับฐานลงด้านล่าง แต่นี่ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจ ปกติแล้ว ประมาณ 200 วันก่อน halving บิทคอยน์อาจเสียมูลค่าได้ 60-65% แต่ก็จะกลับมาเติบโตอีกครั้ง
ผู้เชี่ยวชาญหลายคนคาดการณ์ว่าราคาบิทคอยน์จะเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากในปี 2024 ทัศนคติที่ดีจากนักลงทุนมาจากเทรนด์ราคาในปัจจุบันของบิทคอยน์ ถึงแม้ว่าราคาจะย่อตัวจากระดับสูงสุดในช่วงฤดูร้อน การลงทุนในบิทคอยน์ให้ผลตอบแทนมากกว่า 60% นับตั้งแต่ต้นปี
นักวิเคราะห์จาก JP Morgan ให้ราคาที่ $45,000 ในขณะที่การคาดการณ์ของ Standard Chartered $100,000 นักเขียนและนักลงทุนที่มีชื่อว่า Robert Kiyosaki และนักเข้ารหัสลับ Adam Back ก็ตั้งเป้าหมายไว้ที่ $100,000 เช่นกัน ด้าน Tom Lee ผู้ก่อตั้ง Fundstrat Research ให้การคาดการณ์ราคาบิทคอยน์ที่ $180,000 ส่วน Tim Draper เจ้าของ Venture Capitalist ให้ราคาที่ $250,000 และ Mike Novogratz เศรษฐีพันล้านร่วมกับ Cathy Wood ซีอีโอของ ARK Invest คาดว่าเหรียญนี้จะเติบโตขึ้นเป็น $500,000 และ $1 ล้านดอลลาร์ในปีหน้าตามลำดับ
Arthur Hayes อดีตซีอีโอ BitMEX กล่าวว่า ราคาบิทคอยน์อาจขยับถึง $70,000 ในปีหน้า และอาจอยู่ระหว่าง $750,000 ถึง $1 ล้านดอลลาร์ภายในปี 2026 เขาให้เหตุผลจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น ปริมาณที่จำกัดของสินทรัพย์ โอกาสการอนุมัติกองทุน ETF บิทคอยน์ และความไม่แน่นอนทางการเมืองระหว่างประเทศ “ผมคิดว่านี่จะเป็นกระแสที่ใหญ่ที่สุดในตลาดการเงินในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ บิทคอยน์จะพุ่งขึ้นไปยังระดับที่น่าทึ่ง และดัชนี Nasdaq และ S&P500 จะพุ่งขึ้นไปยังระดับที่น่าทึ่งเช่นกัน” เขากล่าวชัดเจน
นาย Charlie Munger พาร์ทเนอร์ของ Warren Buffett และรองประธาน Berkshire Hathaway บริษัทบริหารหลักทรัพย์อเมริกันทำนายอนาคตที่มืดมนสำหรับสินทรัพย์ดิจิทัล เขามองว่า การลงทุนส่วนใหญ่ในสินทรัพย์ดิจิทัลจะไม่มีมูลค่าในที่สุด “อย่าให้ผมเริ่มพูดถึงบิทคอยน์เลย มันเป็นการลงทุนที่โง่ที่สุดที่ผมเคยเห็นมา” นักลงทุนวัย 99 ปีแสดงความเห็นในระหว่างการประชุมออนไลน์ Zoomtopia
ณ ขณะที่เขียนบทวิเคราะห์ฉบับนี้ ในช่วงเย็นวันศุกร์ที่ 13 ตุลาคม มูลค่ารวมของตลาดคริปโตอยู่ที่ $1.046 ล้านล้านดอลลาร์ ลดลงจาก $1.096 ในสัปดาห์ที่แล้ว สัดส่วนของบิทคอยน์ในตลาดโดยรวมเพิ่มขึ้นจาก 39.18% ในช่วงต้นปีเป็น 49.92% Benjamin Cowen เชื่อว่าตลาดคริปโตกำลังเข้าสู่ระยะ “หนึ่งที่เลวร้ายมากที่สุด” สัดส่วนการครองตลาดของบิทคอยน์ในแง่ของมูลค่ารวมในตลาดคริปโตกำลังเพิ่มขึ้น ท่ามกลางราคาของเหรียญทางเลือกที่น้อยลง และมีนักลงทุนสนใจในสินทรัพย์ประเภทนี้น้อยลง
เมื่อใช้ระดับ Fibonacci นาย Cowen ทำนายว่า การครองตลาดของ BTC จะทำระดับสูงสุดที่ 60% อย่างที่เคยทำได้ในวัฎจักรก่อนหน้า นักวิเคราะห์เน้นย้ำว่า หลักเกณฑ์นี้ไม่น่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 65% หรือ 70% โดยหลักแล้วเป็นเพราะตลาดสเตเบิลคอยน์ BTC/USD ปิดตลาดที่ $27,075 เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม ดัชนี Crypto Fear & Greed Index สำหรับบิทคอยน์ลดลงจาก 50 เหลือ 44 จุดในรอบสัปดาห์ ขยับจากโซนปานกลาง (Neutral) เป็นโซนความกลัว (Fear)
กลุ่มนักวิเคราะห์ NordFX
หมายเหตุ: เนื้อหาดังกล่าวไม่ควรยึดถือเป็นคำแนะนำในการลงทุนหรือเป็นคำปรึกษาในการซื้อขายในตลาดการเงิน โดยเนื้อหาข้างต้นเป็นไปเพียงเพื่อจุดประสงค์ในการให้ข้อมูลเท่านั้น การซื้อขายในตลาดการเงินมีความเสี่ยงและอาจทำให้เกิดการสูญเสียเงินฝากได้
กลับ กลับ