บทวิเคราะห์ฟอเร็กซ์และคริปโตเคอเรนซีประจำวันที่ 23 - 27 ตุลาคม 2023

EUR/USD: จะไม่มีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยจากเฟดและ ECB ในอนาคตอันใกล้?

  • เริ่มตั้งแต่ช่วงไม่กี่วันสุดท้ายของเดือนกันยายน ดัชนีดอลลาร์สหรัฐฯ (DXY) ซื้อขายอยู่ในกรอบไซด์เวยส์ สถิติที่ประกาศในสัปดาห์ที่แล้วไม่ได้ให้แรงสนับสนุนที่ชัดเจนกับดอลลาร์หรือยูโร เมื่อวันอังคารที่ 17 ตุลาคมที่ผ่านมา ดัชนีค้าปลีกสหรัฐฯ รายเดือนเพิ่มขึ้น 0.7% แม้ว่าตัวเลขนี้จะต่ำกว่าตัวเลขครั้งก่อนหน้าที่ 0.8% แต่ก็สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์เฉลี่ยของตลาดที่ 0.3% อยู่มาก ในวันเดียวกันมีการประกาศดัชนี Economic Sentiment ของสถาบัน ZEW ยูโรโซนด้วยเช่นกัน โดยตัวเลขประกาศที่ 2.3 สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ -8 อยู่มาก และเป็นการกลับขึ้นมาเป็นบวกจากที่เคยติดลบ -8.9 ในครั้งก่อนหน้า

    เมื่อวันพุธที่ 18 ตุลาคมมีการประกาศดัชนีเงินเฟ้อผู้บริโภคที่ทบทวนใหม่ ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนกันยายน (CPI) ตรงกันกับตัวเลขคาดการณ์และประเมินไว้ที่ 4.3% ปีต่อปี (YoY) เทียบกับ 5.2% ในเดือนก่อนหน้า ในวันพฤหัสบดีที่ 19 ตุลาคม จำนวนยอดขอรับสวัสดิการว่างงานเบื้องต้นในสหรัฐฯ ประกาศที่ 198K สูงกว่าการคาดการณ์และลดลงต่ำกว่าตัวเลขก่อนหน้าที่ 211K และตัวเลขคาดการณ์ของตลาดที่ 212K

    เมื่อดูในเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในภาพรวม เราจะสังเกตเห็นระดับการจ้างงานที่แข็งแกร่งและอัตราการเติบโตของ GDP ที่เข้มแข็ง เงินเฟ้อชะลอตัว และกิจกรรมของผู้บริโภคเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงตลาดอสังหาฯ ที่ยังคงค่อนข้างเสถียรแม้ว่าดอกเบี้ยจะเพิ่มสูงขึ้นก็ตาม ปัจจัยทั้งหลายเหล่านี้ชี้ให้เห็นถึงความเหมาะสมที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้ง ซึ่งควรจะดันให้ดัชนี DXY สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม จากคำพูดของผู้บริหารธนาคารเฟด ดูเหมือนยังมีแนวโน้มต่ำที่จะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมคณะกรรมการตลาดเสรีของธนาคารเฟด (FOMC) ในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้

    Patrick Harker ประธานธนาคารเฟดสาขาฟิลาเดลเฟียกล่าวว่า แรงกดดันทางเศรษฐกิจไม่ควรมาจากการเพิ่มต้นทุนดอกเบี้ย Lorie Logan ประะธานเฟดสาขาดัลลาสเห็นด้วยกับความเห็นของ Harker เช่นกัน โดยกล่าวว่า “ความคืบหน้าที่ต้องการกำลังเห็นได้ในรูปแบบของการต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ มันยังคงสูงเกินไป” เธอกล่าวเสริมว่า “เศรษฐกิจยังคงแสดงให้เห็นถึงผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง และตลาดแรงงานยังคงตึงตัว” แต่ “ธนาคารเฟดยังพอมีเวลาที่จะรอดูสถานการณ์เศรษฐกิจและตลาดต่อไปก่อนที่จะทำการตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายการเงิน” คำแถลงของนาย Jerome Powell ในงาน New York Economic Club เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 19 พฤศจิกายน ไม่เป็นไปตามความคาดหวังของฝั่งที่หวังให้ดอลลาร์แข็งค่า ผลที่ตามมาก็คือ EUR/USD ขยับขึ้นเหนือระดับ 1.0615 นักเศรษฐศาสตร์จาก Rabobank ชี้ว่า ประธานเฟดพยายามที่จะเปิดประตูให้กับทางเลือกหลายทาง ในขณะเดียวกันก็คงท่าทีที่เป็นกลาง Rabobank เชื่อว่า ดัชนีเศรษฐกิจสหรัฐฯ น่าจะสามารถพยุงโอกาสให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปอีกได้ อย่างไรก็ดี เหลือเวลาก่อนถึงการประชุม FOMC ครั้งถัดไปไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ครึ่ง “ท่าทีเป็นกลางในขณะนี้ไม่สนับสนุนแนวโน้มที่จะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้” แต่พวกเขาระบุด้วยว่า “ตัวเลือกนี้ยังคงมีความเป็นไปได้ในการประชุมเดือนธันวาคม” ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารคาดหมายว่า “ตลาดพันธบัตรจะทำหน้าที่แทนธนาคารเฟด ทำให้การขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปไม่มีความจำเป็น แต่หากสถิติเศรษฐกิจยังคงแข็งแกร่ง FOMC จะต้องกลับมาเข้าสู่วัฎจักรการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในที่สุด”

    นักวิเคราะห์จาก ING เครือธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในเนเธอร์แลนด์มีความเห็นว่า แม้ว่าความเห็นของธนาคารเฟดจะเป็นความเห็นสายพิราบและทำให้ดอลลาร์อ่อนค่าลงได้บ้าง ดอลลาร์ดูมีแนวโน้มที่จะขยับขึ้นมากกว่าร่วงลงในระยะสั้น นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคาร Commerzbank เยอรมนีประเมินสภาพอารมณ์ของผู้บริหารเฟดว่า เป็นท่าทีสายเหยี่ยวแบบระมัดระวังมากกว่าสายพิราบ พวกเขายังเห็นว่าพอมีโอกาสอยู่บ้างที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในสภาพแวดล้อมปัจจุบัน “จริงอยู่ที่อาจดูเหมือนว่าธนาคารเฟดขึ้นดอกเบี้ยสูงสุดแล้ว แต่นาย Jerome Powell ไม่ได้ตัดโอกาสที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้ง โดยขึ้นอยู่กับสถิติที่รายงาน อย่างไรก็ดี นโยบายการเงินในปัจจุบันมีบทบาทรองในตลาด ความเสี่ยงเรื่องการเมืองระหว่างประเทศเป็นวาระสำคัญแนวหน้า และดอลลาร์ยังคงเป็นที่ต้องการในฐานะสินทรัพย์หลบภัย” พวกเขาให้ความเห็น ผู้เชี่ยวชาญของธนาคารเฟดยังคาดการณ์ด้วยว่า ดอลลาร์อาจเจอกับความท้าทายที่จะแข็งค่าขึ้นในสถานการณ์เช่นนี้ แต่ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นจะช่วยให้แรงสนับสนุน

    ด้านธนาคาร Societe Generale ของฝรั่งเศส ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า “มันคือคำอธิบายเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นในระยะยาว ทั้งจากธนาคารเฟดและ ECB ซึ่งบ่งชี้ว่ายูโรจะค่อย ๆ อ่อนค่าลง” ผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นว่า “สถิติจากยูโรโซนไม่ค่อยดีนัก และความแตกต่างระหว่างการคาดการณ์การเติบโตในสหรัฐฯ และยูโรโซนชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปได้ของการเคลื่อนที่อย่างช้า ๆ ไปยังระดับคู่ขนานที่ 1.000 แต่ไม่เกินไปกว่านั้น "

    ณ ขณะที่เขียนบทรีวิวฉบับนี้ ชัดเจนว่า EUR/USD ยังไม่ถึงระดับคู่ขนานและปิดตลาดในสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ 1.0593 ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญต่อนาคตระยะใกล้แบ่งออกเป็นดังนี้: 50% โหวตให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้น 35% คาดว่าราคานี้จะเข้าสู่เทรนด์ขาขึ้น และ 15% มีความเห็นเป็นกลาง

    เมื่อดูที่การวิเคราะห์เชิงเทคนิค ภาพรวมค่อนข้างมีหลายทิศทาง อินดิเคเตอร์เทรนด์บนกราฟ D1 ให้อัตราส่วน 1:1 โดย 50% ให้สัญญาณสีแดง (bearish) และ 50% ให้สัญญาณสีเขียว (bullish) ออสซิลเลเตอร์ 40% ให้สัญญาณฝั่งยูโรแข็งค่า ในขณะที่ 15% เท่านั้นที่สนับสนุนดอลลาร์ ส่วน 45% มีความเห็นเป็นกลาง ระดับแนวรับที่ใกล้ที่สุดของคู่นี้อยู่ที่บริเวณ 1.0550 ตามมาด้วย 1.0485-1.0510, 1.0450, 1.0375, 1.0255, 1.0130, และ 1.0000 ด้านฝั่งกระทิงจะเจอกับระดับแนวต้านที่โซน 1.0600-1.0620 จากนั้นคือ 1.0670-1.0700, 1.0740-1.0770, 1.0800, 1.0865 และ 1.0945-1.0975

    สัปดาห์ที่จะถึงนี้มีกิจกรรมมากมาย ในวันอังคารที่ 24 ตุลาคมจะได้ทราบดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) จากภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ ของเยอรมนี ยูโรโซน และสหรัฐฯ ในวันถัดมา 25 ตุลาคม จะมีการประกาศสถิติตลาดอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯ พร้อมด้วยคำแถลงของนาย Jerome Powell ประธานธนาคารเฟด ในวันพฤหัสบดี ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะจัดการประชุม ซึ่งคณะกรรมการบริหารธนาคารฯ คาดว่าจะตัดสินใจกำหนดอัตราดอกเบี้ยของยูโร ซึ่งความเห็นส่วนใหญ่พ้องกันว่า มีแนวโน้มที่อัตราดอกเบี้ยจะคงตัวที่ระดับเดิมคือ 4.50% ที่สำคัญก็คือ ไม่ใช่แค่การตัดสินใจเท่านั้น แต่การแถลงข่าวและแสดงความเห็นที่ตามมาของผู้บริหาร ECB จะมีความสำคัญเช่นกัน ในวันเดียวกัน สหรัฐฯ จะประกาศข้อมูลคำสั่งซื้อสินค้าคงทน รวมถึงตัวเลข GDP เบื้องต้นในไตรมาสที่ 3 ของปีปัจจุบัน สัปดาห์หน้านี้จะปิดลงในวันที่ 27 ตุลาคม ด้วยการประกาศสถิติการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนตัวของสหรัฐฯ

GBP/USD: อัตราดอกเบี้ยของ BoE จะไม่เปลี่ยนแปลงเหมือนกันหรือไม่?

  • ในช่วงต้นเดือนนี้ โดยเฉพาะวันที่ 4 ตุลาคม GBP/USD ทำเทรนด์ขึ้นด้านบน โดยราคาขยับขึ้นจากระดับ 1.2037 ไปถึง 1.2337 ภายในหนึ่งสัปดาห์ อย่างไรก็ตาม แนวต้านอยู่ที่บริเวณโซน 1.2320 และเห็นเส้นเทรนด์ไลน์ได้ชัดเจนบนกรอบเวลา D1 และ W1 จึงหยุดแนวโน้มขาขึ้นไว้ได้ และพาราคากลับตัวลงมา ผลที่ตามมาก็คือเงินปอนด์อ่อนค่าลงมา 7.5% เทียบกับดอลลาร์นับตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม ปัจจัยที่ขับเคลื่อนเบื้องหลังนี้ไม่ใช่แค่การวิเคราะห์เชิงเทคนิคเท่านั้น แต่รวมถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศด้วย

    ท่ามกลางสถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลางและความรุนแรงที่ปะทุขึ้นระหว่างอิสราเอลและฮามาส นักลงทุนหันกลับมาหาดอลลาร์ โดยมองว่าดอลลาร์เป็นสกุลเงินหลบภัยที่ดี ในขณะเดียวกัน ค่าเชื้อเพลิงพลังงานที่สูงขึ้นก็ส่งผลต่อราคาสินค้าต่าง ๆ ในสหราชอาณาจักรด้วยเช่นกัน ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งแรงกดดันต่อเศรษฐกิจประเทศและเงินปอนด์ ซึ่งนักลงทุนมักมองว่าเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงกว่า

    ทั้งนี้ในช่วงต้นปี ผู้เชี่ยวชาญหลายคนคาดการณ์ว่า สหราชอาณาจักรจะถอยเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ถึงตอนนี้คำทำนายดังกล่าวยังไม่เป็นจริง แต่เศรษฐกิจก็เข้าใกล้อยู่เต็มที โดยอัตราการเติบโตของ GDP รายปีของปีปัจจุบันอยู่ที่ 0.6% (เทียบกับ 2.1% ในสหรัฐฯ) สถานการณ์อาจเลวร้ายยิ่งขึ้นภายในสิ้นปี เนื่องจากราคาเชื้อเพลิงพลังงานในช่วงฤดูหนาวอาจยิ่งกระตุ้นให้ภาวะเงินเฟ้อรุนแรงขึ้น ทั้งนี้ สังเกตเห็นได้ชัดเจนแล้วว่าการชะลอตัวของอัตราเงินเฟ้อในอังกฤษเริ่มหยุดตัว และดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ขยับอยู่ที่บริเวณ 6.8-6.7% ปีต่อปีมาเป็นเดือนที่สามติดต่อกัน

    ในสถานการณ์เช่นนี้ ธนาคารแห่งชาติอังกฤษ (BoE) อาจเลือกที่จะให้ความสำคัญกับการกระตุ้นเศรษฐกิจมากกว่าการต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ แม้ว่าผู้แทนจากธนาคารกลางได้กล่าวว่า ประเด็นการขึ้นอัตราดอกเบี้ยยังคงปลายเปิดอยู่ บทสัมภาษณ์ล่าสุดของนาย Andrew Bailey ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษต่อ Belfast Telegraph ยังคงดูมีท่าทีที่ค่อนข้างเป็นสายพิราบ Bailey กล่าวว่า เขาคาดหวังว่าระดับเงินเฟ้อ “จะลดลงอย่างเห็นได้ชัด” ในเดือนข้างหน้านี้ “ถ้าดูสถิติเงินเฟ้อเดือนกันยายน เราจะกล่าวได้ว่าระดับเงินเฟ้อหลักลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับการคาดการณ์ของเรา ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างดี” กล่าวโดย Bailey และทำให้ GBP/USD ปรับตัวลงเล็กน้อย

    แรงกดดันต่อเงินปอนด์ยังมาจากสถิติค้าปลีกของสหราชอาณาจักร ซึ่งประกาศเมื่อวันศุกร์ที่ 20 ตุลาคม สำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษเผยรายงานค้าปลีกลดลง -0.9% เดือนต่อเดือนในเดือนกันยายน ซึ่งต่ำกว่าการคาดการณ์ที่ -0.1% อยู่มาก รวมถึงตัวเลขครั้งก่อนหน้าที่ 0.4%

    ณ ขณะนี้ สถานการณ์เงินปอนด์ยังคงมีความซับซ้อน โดยไม่มีความชัดเจนว่า BoE จะตอบสนองอย่างไรรต่อสถิติล่าสุด มีแนวโน้มเป็นไปได้สูงที่ก่อนถึงการประชุมวันที่ 2 พฤศจิกายนนี้ ธนาคารกลางอังกฤษจะใช้แนวทาง “ปิดตาและหวังว่าสถานการณ์จะดีที่สุด” ในระหว่างนี้ นักวิเคราะห์จาก Bank of America, Deutsche Bank, Goldman Sachs และ RBC ต่างเห็นด้วยว่า วัฎจักรการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในสหราชอาณาจักรน่าจะมาถึงจุดสิ้นสุดแล้ว อย่างน้อยที่สุด โอกาสที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งถัดไปของ BoE คาดว่าต่ำกว่า 50%

    ราคาต่ำสุดในรอบสัปดาห์ของ GBP/USD อยู่ที่ 1.2089 ในขณะที่ราคาปิดท้ายสัปดาห์ที่ 1.2163 เมื่อพูดถึงอนาคตอันใกล้ของคู่นี้ นักวิเคราะห์ 40% โหวตว่าราคาจะขยับขึ้น ส่วนใหญ่ (60%) เชื่อว่าราคาจะเคลื่อนที่ไปยังเป้าหมายที่ 1.2000 ในส่วนกรอบเวลา D1 อินดิเคเตอร์เทรนด์ให้ผลลัพธ์เป็นเอกฉันท์ (100%) ว่าราคาจะขยับลดลง ในส่วนของออสซิลเลเตอร์มีความชัดเจนน้อยกว่า 65% ชี้แนวโน้มลง 15% ชี้ขาขึ้น และ 20% ให้สัญญาณเป็นกลาง

    ในส่วนของระดับและโซนแนวรับ หากราคายังคงเคลื่อนที่ไปยังด้านล่าง จะต้องเจอกับแนวรับที่ 1.2085-1.2130, 1.2040, 1.1960 และ 1.1800 ส่วนในกรณีที่ราคาขยับขึ้น จะเจอกับแนวต้านที่บริเวณ 1.2190-1.2215, 1.2270, 1.2330, 1.2450, 1.2510, 1.2550-1.2575 และ 1.2690-1.2710

    วันอังคารที่ 24 ตุลาคม เป็นที่น่าสนใจในปฏิทินเศรษฐกิจในสัปดาห์ที่จะถึงนี้ โดยสถิติตลาดแรงงานสหราชอาณาจักรและดัชนีกิจกรรมทางธุรกิจจะประกาศให้ทราบในวันนี้

USD/JPY: ความไม่แน่นอนที่ยืดเยื้อ

  • หลายครั้ง เราได้ยินคำกล่าวที่เสริมสร้างความเชื่อมั่นมาจากทางการของญี่ปุ่น แต่หลายครั้งก็ไม่มีอะไรเลย! ลองดูตัวอย่างคำพูดของวันศุกร์ที่ 20 ตุลาคม ในตอนแรก นาย Kazuo Udea ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) กล่าวว่า “เศรษฐกิจญี่ปุ่นกำลังฟื้นตัวในอัตราปานกลาง ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับเศรษฐกิจญี่ปุ่นอยู่ในระดับสูงมาก อัตราเงินเฟ้อน่าจะชะลอตัวและจะเร่งตัวขึ้นอีกครั้ง แต่โดยรวมแล้ว ระบบการเงินของญี่ปุ่นยังคงมีเสถียรภาพ”

    หลังจากนั้น นาย Shunichi Suzuki รัฐมนตรีการคลังญี่ปุ่นกล่าวต่อว่า "มันเป็นสิ่งสำคัญสำหรับค่าเงินที่จะต้องมีเสถียรภาพและสะท้อนถึงตัวชี้วัดพื้นฐาน อัตราแลกเปลี่ยนได้รับอิทธิพลจากปัจจัยหลายประการ ผมจะไม่แสดงความเห็นเรื่องระดับค่าเงินในตลาดฟอเร็กซ์ และจะไม่ให้ความเห็นเกี่ยวกับการตอบสนองของเราต่อสถานการณ์ตลาดค่าเงินในขณะนี้”

    และสุดท้ายนี้เป็นนถ้อยคำจากรายงานฉบับล่าสุดของธนาคารกลางญี่ปุ่น ซึ่งเผยแพร่ออกมาเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม เช่นกัน “แม้ว่าระบบการเงินของประเทศจะมีเสถียรภาพโดยรวม ช่วงเวลาแห่งความเครียดอาจยืดเยื้อยาวนานขึ้น เนื่องด้วยนโยบายการเงินของธนาคารกลางหลายแห่งที่ยังคงถอนสภาพคล่องออกจากระบบต่อเนื่อง และความกังวลเกี่ยวกับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในต่างประเทศ” โดยสรุปแล้ว ในด้านหนึ่งญี่ปุ่นก็อยู่ในภาวะที่ดี แต่อีกด้านหนึ่งก็เผชิญกับความตึงเครียดเนื่องจากธนาคารกลางในต่างประเทศใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัวและปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของตนเอง

    ผู้เชี่ยวชาญให้ข้อสังเกตว่า BoJ ยังคงนโยบายการเงินแบบผ่อนผันอย่างยิ่งต่อเนื่อง โดยเพิกเฉยต่อความเสี่ยงของแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่สูงขึ้นในญี่ปุ่น ในวันอังคารที่ 17 ตุลาคม Bloomberg รายงานว่า ตัวเลขคาดการณ์ CPI พื้นฐานใหม่ของ BoJ ในปีงบประมาณ 2023 น่าจะอยู่ที่ 3.0% เทียบกับปีก่อนหน้าที่ 2.5%

    การที่อัตราดอกเบี้ยในญี่ปุ่นยังคงต่ำมากเนื่องด้วยนโยบายการควบคุมเส้นโค้งพันธบัตรน่าจะนำไปสู่สถานการณ์ที่เงินเยนอ่อนค่าลงยิ่งกว่าเดิมเมื่อเทียบกับดอลลาร์ แนวโน้มลงนี้อาจหยุดลงได้ภายใต้เงื่อนไขสองข้อคือ ในกรณีที่อัตราดอกเบี้ยของดอลลาร์ลดลง หรือธนาคารกลางญี่ปุ่นยกเลิกนโยบาย YCC (การควบคุมเส้นโค้งผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล) ทั้งสองเงื่อนไขนี้อาจเริ่มเป็นจริงได้ตั้งแต่กลางปี 2024 แต่ไม่ใช่ในเวลานี้อย่างแน่นอน (แต่เราไม่ควรตัดโอกาสที่กระทรวงการคลังของญี่ปุ่นมีโอกาสที่จะแทรกแซงค่าเงินได้ทุกเมื่อ)

    นักยุทธศาสตร์จาก Societe Generale กล่าวว่า "หากเราเห็นผลตอบแทนพันธบัตรเพิ่มขึ้นต่อไปในสหรัฐฯ และไม่มีการเปลี่ยนแปลงในการคาดการณ์เงินเฟ้อของธนาคารกลางญี่ปุ่นในที่ประชุมวันที่ 31 ตุลาคมนี้ การทะยานขึ้นไป [ของ USD/JPY] เหนือระดับ 150.00 จึงไม่น่าจะหลีกเลี่ยงได้” “เงินเยนมีโอกาสสูงที่จะเป็นหนึ่งในค่าเงินที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในปี 2024” Societe Generale เชื่ออย่างนั้น “แต่การทำนายว่า USD/JPY ถึงจุดสูงสุดตอนไหนนั้นทั้งง่ายและยากไม่ต่างกับการตอบว่าผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ชุด 10 ปีจะทำระดับสูงสุดตอนไหน”

    ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่แน่นอนที่ยืดเยื้อยาวนาน USD/JPY ปิดท้ายสัปดาห์ก่อนหน้าที่ 149.85 ในส่วนมุมมองระยะสั้นของคู่นี้ มีผู้เชี่ยวชาญเพียง 15% ที่คาดการณ์ว่าราคาจะขึ้นไปบุกระดับ 150.00 อีกครั้ง 20% ทำนายว่าราคาจะปรับฐานลง ในขณะที่ 65% ส่วนใหญ่มีความเห็นเป็นกลาง ในส่วนกรอบเวลา D1 อินดิเคเตอร์เทรนด์ทั้งหมดให้สัญญาณเป็นเอกฉันท์ให้ “ซื้อ” ด้วยสัญญาณสีเขียว และออสซิลเลเตอร์ 100% เช่นเดียวกันที่ให้สัญญาณสีเขียว แต่ในจำนวนนี้มี 40% ที่ชี้ว่าราคาอยู่ในโซน overbought ระดับแนวรับที่ใกล้ที่สุดอยู่ที่บริเวณ 149.60 ตามมาด้วยโซนที่ 148.30-148.65, 146.85-147.25, 145.90-146.10, 145.30, 144.45, 143.75-144.05 และสุดท้ายคือ 142.20 ในส่วนแนวต้านด้านบนคือระดับ 150.00-150.15 จากนั้นคือ 150.40, ตามมาด้วยระดับสูงสุดของเดือนตุลาคม 2022 ที่ 151.90 และ 153.15

    ไม่มีการประกาศข้อมูลทางเศรษฐกิจที่สำคัญของญี่ปุ่นในสัปดาห์ที่จะถึงนี้ ข่าวเดียวที่น่าสนใจคือการประกาศดัชนีราคาผู้บริโภคโตเกียวในวันศุกร์ที่ 27 ตุลาคม

คริปโตเคอเรนซี: การทะยานขึ้นจริงของตลาดที่มาจากข่าวปลอมเกี่ยวกับ BTC-ETF

  • ไม่ต้องสงสัยเลยว่าวันสำคัญที่สุดในสัปดาห์ที่ผ่านมา คือ วันจันทร์ที่ 16 ตุลาคม ในวันนี้เอง ราคาบิทคอยน์พุ่งขึ้นไปที่ $30,102 ก่อนที่จะร่วงลงมายัง $27,728 สินทรัพย์ดิจิทัลอื่นก็ตามรอยบิทคอยน์เช่นกัน โดยราคาพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วก่อนที่จะทุบลงมาในที่สุด สถิติจาก Coinglass ชี้ว่า ราคาที่พุ่งขึ้นส่งผลให้มีคำสั่งเทรดถูกล้างไปกว่า 33,000 คำสั่ง และมีนักเทรดขาดทุนเป็นเงินกว่า $154 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ $92.0 ของเงินจำนวนนี้เป็นธุรกรรมบิทคอยน์ $22.7 ล้านดอลลาร์เป็นของ Ethereum และ $4.6 ล้านดอลลาร์เป็นของ Solana

    การทะยานขึ้นของราคาเกิดขึ้นหลังจาก Cointelegraph ได้เผยแพร่รายงานที่ระบุว่า คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ (SEC) ได้อนุมัติคำขอเปิดกองทุน ETF บิทคอยน์ในตลาดสปอตของ BlackRock ซึ่งต่อมาพบว่าเป็นข่าวปลอม ทีมงานบรรณาธิการของ Cointelegraph ออกมาขอโทษที่เผยแพร่ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องดังกล่าว และอธิบายว่าพนักงานกลุ่มหนึ่งได้เห็นข่าวการอนุมัติ ETF บิทคอยน์บนแพลตฟอร์ม X (หรือก่อนหน้านี้มีชื่อว่า Twitter) และตัดสินใจเผยแพร่ข่าวโดยเร็วที่สุด โดยไม่ได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงหรือรับการอนุมัติจากบรรณาธิการที่รับผิดชอบ ผู้แทนจากกลต. สหรัฐฯ เน้นย้ำด้วยว่า “กลต. เองคือแหล่งข่าวที่ดีที่สุดเกี่ยวกับกลต.” และแนะนำให้ผู้ใช้ “ระมัดระวังกับสิ่งที่อ่านออนไลน์เสมอ”

    เพื่อให้เข้าใจเรื่องนี้อย่างลึกซึ้งมากขึ้น เราจะต้องย้อนกลับไปยังต้นกำเนิดในปี 2021 ในปีดังกล่าง มีบริษัทหลายแห่งได้ยื่นเรื่องขอเปิดกองทุนในลักษณะเดียวกัน สามปีก่อนหน้านี้ Matt Hougan ผู้อำนวยการด้านการลงทุนของ Bitwise ได้อธิบายว่า ETFs ฟิวเจอร์สคริปโตนั้นไม่เหมาะสำหรับนักลงทุนระยะยาวเนื่องด้วยค่าใช้จ่ายเสริมที่สูง และนักลงทุนรายสถาบันจะเริ่มหันกระแสเงินจำนวนมหาศาลเข้ามาเมื่อมีการเปิดให้บริการกองทุนสปอตบิทคอยน์ ETF แล้วเท่านั้น

    อธิบายเพิ่มเติม: BTC-ETF สปอตคือ กองทุนที่จะซื้อขายหุ้นกันบนตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งจะติดตามตลาดหรือราคาสปอตของบิทคอยน์ แนวคิดหลักเบื้องหลังกองทุน ETF ดังกล่าวคือ การให้นักลงทุนรายสถาบันสามารถเข้าถึงการเทรดบิทคอยน์ได้โดยไม่ต้องครอบครองสินทรัพย์จริง ๆ ผ่านผลิตภัณฑ์ที่มีการกำกับดูแลและเป็นที่คุ้นเคยทางการเงิน

    คำร้องทั้งหมดที่ส่งให้กลต.ในปี 2021 ถูกปฏิเสธ จนนำไปสู่สถานการณ์หยุดชะงักเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2023 ในวันนั้น สถานการณ์เปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้งเมื่อโลกการเงินเต็มไปด้วยพาดหัวข่าวบริษัท BlackRock ยักษ์ใหญ่ด้านการเงินลงทุน ได้ยื่นขอเปิดกองทุนทรัสต์สปอตบิทคอยน์ ในบทสัมภาษณ์กับ Bloomberg นาย Hougan กล่าวว่า “ตอนนี้เรามี BlackRock ที่กำลังชูธงและประกาศว่าบิทคอยน์คือสิ่งสำคัญ มันคือสินทรัพย์ที่นักลงทุนรายสถาบันต้องการจะลงทุน ผมเชื่อว่าเราได้เข้าสู่ยุคใหม่ของคริปโตเคอเรนซี ซึ่งผมเรียกมันว่าเป็นยุคก่อตั้ง และผมคาดว่าเทรนด์กระทิงในรอบหลายปีเพิ่งเริ่มขึ้นเท่านั้น”

    หลังจากเริ่มเปิดตัวโดย BlackRock สถาบันการเงินชั้นนำอีก 7 แห่งก็ยื่นคำขอที่คล้ายกันเช่นเดียวกันต่อกลต. ซึ่งล้วนเป็นบริษัทผู้บริหารสินทรัพย์ระดับโลก เช่น  Invesco และ Fidelity ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่ามีความสามารถที่จะดึงดูดเงินเข้ามาได้หลายล้านดอลลาร์ อันดับที่เก้าในรายชื่อคือ GlobalX บริษัทบริหารสินทรัพย์ ซึ่งเคยเป็นหนึ่งในบริษัทการเงินยักษ์ใหญ่ที่ได้ขอเปิดกองทุนตั้งแต่ปี 2021 แต่ถูกปฏิเสธโดยกลต. และในเดือนสิงหาคม 2023 GlobalX พยายามใหม่อีกครั้ง

    หลังจากความริเริ่มของบริษัทด้านการลงทุนเหล่านี้ปรากฏให้เห็นชัด บิทคอยน์ก็ทะยานขึ้น เริ่มตั้งแต่ครึ่งหลังของเดือนมิถุนายน ราคาได้ฝ่าแนวต้านที่ $25,000 และพุ่งขึ้นไปเหนือระดับ $30,000 และทำระดับสูงสุดที่ $31,388 ในวันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา ส่งผลให้ทำกำไรรายสัปดาห์ได้กว่า 26% Ethereum ก็ตามรอย Bitcoin เช่นกัน โดยเติบโตขึ้น 19% ในช่วงเวลาเดียวกัน อย่างไรก็ตาม เนื่องด้วยแรงกดดันจากหน่วยงานกำกับดูแลทั้งกลต. และท่าทีจากธนาคารเฟดสหรัฐฯ รวมถึงข่าวในแง่ลบอื่น ๆ คู่ BTC/USD เริ่มขยับลดลงและลงมายังระดับต่ำสุดที่ $24,296 ในวันที่ 17 สิงหาคม

    และตอนนี้เวลาได้ผ่านไปสองเดือนแล้ว เราก็ได้เห็นราคาพุ่งขึ้นและร่วงลงอีกครั้ง แล้วจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป? นี่คือคำถามสำคัญ เนื่องจากหาก ETF สปอตบิทคอยน์ได้รับการอนุมัตจะเป็นการสร้างแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ เปิดโอกาสให้นักลงทุนรายสถาบันสามารถเข้ามามีบทบาทในสินทรัพย์นี้ นักวิเคราะห์จาก CryptoQuant มองว่า มูลค่ารวมของตลาดคริปโตอาจเพิ่มขึ้นเป็น $1 ล้านล้านดอลลาร์ หาก ETF บิทคอยน์สปอตได้รับการอนุมัติในสหรัฐฯ โอกาสที่จะได้ผลลัพธ์ดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก หลังจาก Ripple และ Grayscale มีชัยชนะทางกฎหมายเหนือกลต. ในขณะที่นักวิเคราะห์จาก Bloomberg ประเมินความเป็นไปได้ดังกล่าวที่ 90% ว่าจะได้รับการอนุมัติ

    ทั้งนี้ วันขีดเส้นตายของกลต. ที่จะต้องตัดสินเรื่องคำขอเปิดกองทุนจาก BlackRock และบริษัทอื่น ๆ นั้นจะมาถึงในเดือนมีนาคม 2024 อย่างไรก็ตาม Mike Novogratz ซีอีโอของ Galaxy Investment เชื่อว่า ETF สปอตบิทคอยน์อาจกลายเป็นจริงได้ตั้งแต่ปีนี้ Larry Fink ประธาน BlackRock  ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นต่อสถานะการประเมินคำขอเปิดกองทุนได้ ณ ตอนนี้ เขาเชื่อเช่นกันว่า การทะยานขึ้นของบิทคอยน์โดยหลักแล้วน่าจะมาจากข่าวลือเรื่องการอนุมัติกองทุน ETF บิทคอยน์แบบสปอต มากกว่าความต้องการของผู้คนที่จะใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์คุณภาพนี้ เขารวมบิทคอยน์ ทองคำ และพันธบัตรให้อยู่ในหมวดหมู่สินทรัพย์ที่มีคุณภาพ

    Anthony Scaramucci ผู้ก่อตั้ง SkyBridge Capital และอดีตผู้อำนวยการด้านการสื่อสารของทำเนียบขาวเชื่อว่า บิทคอยน์ “มีมูลค่ามากกว่าทองคำในหลายด้าน” และสามารถทำมูลค่าในตลาดได้ถึง $15 ล้านล้านดอลลาร์ “อย่างง่ายดาย” เขาคำนวณว่า ที่มูลค่าตามราคาตลาดดังกล่าวราคาบิทคอยน์จะอยู่ที่ประมาณ $700,000

    Scaramucci กล่าวเสริมว่า ระบบการเงินปัจจุบัน “พังลง” “สิ่งประหลาด ๆ อาจเกิดขึ้น ถ้าคุณเห็นประเทศที่เป็นศัตรูกับสหรัฐฯ เทรดบิทคอยน์หรือสินทรัพย์อื่น ๆ และเว้นระยะห่างออกจากดอลลาร์ เพราะสหรัฐฯ ใช้สกุลเงินของตนเองเพื่อความต้องการส่วนตัวทางภูมิรัฐศาสตร์” เขากล่าว

    ความเห็นในแวดวงคริปโตเกี่ยวกับอนาคตอันใกล้ของบิทคอยน์ (BTC) มีเสียงแตกต่างกันไป งานวิจัยหนึ่งที่จัดทำโดย Finbold เปิดเผยว่า ราคาบิทคอยน์อาจขึ้นไปถึง $100,000 หรือแม้แต่ $200,000 Finbold ยังได้ปรึกษา AI ของ PricePredictions เพื่อให้การคาดการณ์ราคา AI คำนวณว่า หลังจากการอนุมัติบิทคอยน์ ETF ราคาเหรียญอาจขยับถึงระดับ $100,000 ได้อย่างรวดเร็ว PricePredictions ได้เน้นย้ำว่า ปัจจัยอื่น ๆ เช่น การยอมรับในบิทคอยน์โดยรวม ท่าทีของนักลงทุนรายสถาบัน กิจกรรมการกำกับดูแล และสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจมหภาคโดยรวมอาจมีบทบาทสำคัญ

    ด้าน Michael Van De Poppe นักเทรด นักวิเคราะห์ และผู้ก่อตั้งบริษัท Eight เชื่อว่า รายงานเท็จจะไม่ขัดขวางการเติบโตของสกุลเงินคริปโต เขาให้ข้อสังเกตว่า บิทคอยน์ได้เข้าสู่ระยะการเคลื่อนไหวในทางบวกแล้ว “เทรนด์อยู่ขาขึ้นแล้ว ราคาต่ำสุดถูกกำหนดไว้ให้เราเข้าซื้อ [คริปโต] ในอีกไม่ช้า กองทุน ETF บิทคอยน์จะเริ่มเข้ามาในตลาด เพียงแค่มันยังไม่เกิดขึ้นในวันนี้” กล่าวโดยประธานบริษัท Eight

    เจ้าของช่อง Root บนแพลตฟอร์ม X (เดิมคือ Twitter) มีความเห็นเช่นกันว่า ข่าวเท็จไม่ได้เสริมแรงกดดันมากมายให้กับคริปโต พวกเขามองว่า การทะยานขึ้นของบิทคอยน์แม้ว่าจะมีการปรับฐานลงตามมา เป็นสิ่งที่ช่วยพัฒนาสถานการณ์ให้ดีขึ้น แต่ยังมีชุมชนคริปโตกลุ่มใหญ่ที่ยังคงมีมุมมองในทางลบ และทำนายว่าราคาอาจจะร่วงลงมาที่ช่วง $19,000-$23,000

    ในวันศุกร์ที่ 20 ตุลาคม BTC/USD พยายามฝ่าระดับ $30,000 อีกครั้ง โดยทำระดับสูงสุดที่ $30,207 ก่อนที่จะถอยตัวลงมา ณ ขณะที่เขียนบทรีวิวฉบับนี้ ราคาซื้อขายอยู่ที่ $29,570 โดยมูลค่ารวมตามราคาตลาดคริปโตอยู่ที่ $1.120 ล้านล้านดอลลาร์ สูงขึ้นจาก $1.046 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อหนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้า ดัชนี Crypto Fear & Greed Index ขยับขึ้นจาก 44 เป็น 53 จุดในรอบสัปดาห์ โดยออกจากโซน “ความกลัว” (Fear) เข้าสู่โซน “เป็นกลาง” (Neutral)

 

กลุ่มนักวิเคราะห์ NordFX

 

หมายเหตุ: เนื้อหาดังกล่าวไม่ควรยึดถือเป็นคำแนะนำในการลงทุนหรือเป็นคำปรึกษาในการซื้อขายในตลาดการเงิน โดยเนื้อหาข้างต้นเป็นไปเพียงเพื่อจุดประสงค์ในการให้ข้อมูลเท่านั้น การซื้อขายในตลาดการเงินมีความเสี่ยงและอาจทำให้เกิดการสูญเสียเงินฝากได้

กลับ กลับ
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ นโยบายคุกกี้ ของเรา