EUR/USD: รอคู่นี้อยู่ที่ 1.0200?
- หลังจากเริ่มต้นสัปดาห์ด้วยแท่งเขียวแล้ว EUR/USD ได้ขยับมายังระดับแนวรับ/แนวต้านที่โซน 1.0700 เมื่อวันอังคารที่ 24 ตุลาคม ก่อนที่ราคาจะกลับตัวและดิ่งลงอย่างรวดเร็ว นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า การปรับฐานของดัชนีดอลลาร์ DXY ที่เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ซึ่งพาราคา EUR/USD ขึ้นไปด้านบนนั้น ถึงจุดสิ้นสุดแล้ว
ปัจจัยกระตุ้นให้แนวโน้มกลับตัวคือ สถิติที่น่าผิดหวังของดัชนีกิจกรรมทางธุรกิจ (PMI) ในเยอรมนีและยูโรโซน ซึ่งออกมาต่ำกว่าการคาดการณ์และลดลงมาต่ำกว่าระดับสำคัญที่ 50.0 บ่งชี้ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจกำลังซบเซา ตัวเลขเหล่านี้ยังคงอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบห้าปี ซึ่งขัดแย้งกับดัชนีที่คล้ายกันของฝั่งสหรัฐฯ เป็นอย่างมาก ดัชนี PMI ของสหรัฐฯ ประกาศในวันเดียวกันและออกมาสูงกว่าทั้งการคาดการณ์และอยู่เหนือระดับ 50.0 (การวิเคราะห์เชิงเทคนิคยังชี้ด้วยว่า แนวโน้มขาลงนั้นยังเป็นเพราะ EUR/USD เข้าใกล้ 1.0700 และแตะเส้น MA 50 วัน)
นอกเหนือจากดัชนี PMI แล้ว สถิติ GDP สหรัฐฯ เบื้องต้นในไตรมาสที่ 3 ซึ่งประกาศเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 26 ตุลาคม ก็เป็นหลักฐานเพิ่มเติมว่าเศรษฐกิจอเมริกันกำลังรับมือได้ดีกับมาตรการถอนสภาพคล่องทางการเงินอย่างเข้มข้นในช่วงหนึ่งปีครึ่งที่ผ่านมา ตัวเลขรายปีสูงกว่าตัวเลขครั้งก่อนหน้าและตัวเลขคาดการณ์อยู่มาก อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจขยับถึง 4.9% เทียบกับ 2.1% และ 4.2% ตามลำดับ (ทั้งนี้ แม้ว่าจะมีการเติบโต ผู้เชี่ยวชาญจาก Wall Street Journal คาดว่า GDP จะชะลอตัวเหลือ 0.9% ซึ่งทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ลดลงและชะลอการทะยานขึ้นของ DXY เล็กน้อย)
อีกทั้ง ในวันพฤหัสบดีที่ 26 ตุลาคมที่ผ่านมามีการประชุมที่จัดขึ้นของฝั่งธนาคารกลางยุโรป (ECB) ซึ่งสภาบริหารธนาคารจะต้องตัดสินใจเรื่องอัตราดอกเบี้ยของยูโณโซน โดยมีการคาดการณ์เห็นพ้องกันว่า ECB จะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับเดิมคือ 4.50% และก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ตลาดต่างให้ความสนใจกับการแถลงความเห็นโดยผู้บริหาร ECB จากคำแถลงของนาง Christine Lagarde ประธานธนาคารกลางยุโรป สามารถสรุปได้ว่า ECB กำลังดำเนิน “นโยบายทางการเงินที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในภาคการเงิน” อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในยุโรปนั้นไม่สมบูรณ์แบบ “อัตราดอกเบี้ยน่าจะถึงระดับสูงสุดแล้ว แต่สภาบริหารยังไม่ตัดโอกาสที่จะขึ้นดอกเบี้ยต่อ” เธอกล่าว และเสริมว่าควรมีการใช้นโยบายที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล และบางครั้งการนิ่งเฉยไม่กระทำสิ่งใดก็เป็นการกระทำเช่นกัน
นอกเหนือจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยและการคงสถานการณ์ตามเดิมแล้ว ยังมีทางเลือกที่สามคือ การลดอัตราดอกเบี้ย Lagarde ตัดโอกาสทางเลือกนี้ เธอกล่าวว่าการลดอัตราดอกเบี้ยในเวลานี้ยังเร็วเกินไป แต่เสียงจากตลาดชี้ว่า ECB จะประกาศการสิ้นสุดลงของวัฎจักรการขึ้นอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันอย่างเป็นทางการในหนึ่งในการประชุมครั้งหน้านี้ นอกจากนี้ยังมีการคาดการณ์ด้วยว่า การผ่อนคลายนโยบายทางการเงินของ ECB อาจเริ่มต้นได้ตั้งแต่เดือนเมษายน โดยมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายนเกือบถึง 100% ทั้งหมดนี้จะนำไปสู่การอ่อนค่าลงของยูโรในระยะยาว
แน่นอนว่าดอลลาร์สหรัฐฯ ได้ประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันที่สูงขึ้น (5.50% เทียบกับ 4.50%) รวมถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและความแข็งแกร่งที่แตกต่างกันไประหว่างเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยูโรโซน อีกทั้งดอลลาร์ยังน่าดึงดูดมากกว่าในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ปัจจัยเหล่านี้ ประกอบกับความคาดหวังว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะกลับมามีท่าทีสายพิราบก่อนธนาคารเฟด ทำให้ผู้เชี่ยวชาญทำนายว่า EUR/USD จะอยู่ในเทรนด์ขาลงต่อไป อย่างไรก้ตาม เมื่อพิจารณาความเป็นไปได้ที่การเติบโตของ GDP สหรัฐฯ จะชะลอตัว นักวิเคราะห์บางรายเชื่อว่าราคาคู่นี้อาจคงตัวในกรอบไซด์เวยส์ในระยะสั้น เช่น นักเศรษฐศาสตร์จากธนาคาร United Overseas Bank (UOB) ของสิงคโปร์มองว่า ราคาคู่นี้น่าจะมีราคาซื้อขายในกรอบ 1.0510-1.0690 ในช่วง 1-3 สัปดาห์ข้างหน้า
เมื่อพิจารณาการคาดการณ์ภายในช่วงสิ้นปี นักยุทธศาสตร์จาก Nomura ธนาคารผู้ถือหุ้นด้านการเงินของญี่ปุ่นได้ให้ปัจจัยกระตุ้นหลายประการที่เป็นตัวกดราคา EUR/USD คือ: 1) การยอมรับความเสี่ยงที่ลดลงรอบโลกเนื่องด้วยผลตอบแทนของพันธบัตรที่สูงขึ้น 2) ค่าส่วนต่างผลตอบแทนของพันธบัตรที่เพิ่มมากขึ้นระหว่างพันธบัตรเยอรมนีและอิตาลี 3) ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ลดลงในสหรัฐฯ และโอกาสรัฐบาลชัทดาวน์หรือหยุดปฏิบัติงานที่ลดลง และ 4) ความตึงเครียดทางการภูมิศาสตร์การเมืองในตะวันออกกลางที่อาจเป็นปัจจัยกระตุ้นให้ราคาน้ำมันดิบสูงขึ้น Nomura เชื่อว่า ข่าวดีล่าสุดเกี่ยวกับการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนไม่น่าจะชดเชยปัจจัยเหล่านี้ได้เพียงพอ ทำให้ตลาดยังคงมองว่ายูโรจะอ่อนค่า จากองค์ประกอบทั้งหลายเหล่านี้แ ละถ้าสันนิษฐานว่าธนาคารเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยไม่เปลี่ยนแปลงในสัปดาห์หน้า Normura จึงคาดการณ์ว่าอัตราแลกเปลี่ยน EUR/USD จะลดลงมาที่ 1.0200 ภายในสิ้นปีนี้
นักยุทธศาสตร์จาก Wells Fargo หนึ่งในธนาคาร “Big Four” ของสหรัฐฯ คาดว่าราคาคู่นี้จะขยับถึง 1.0200 ล่าช้าออกไปเล็กน้อย คือในช่วงต้นปี 2024 มุมมองตลาดหมียังเป็นของนักยุทธศาสตร์จาก ING เครือธนาคารขนาดใหญ่ที่สุดในเนเธอร์แลนด์
หลังจากการประกาศสถิติการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นไปตามการคาดการณ์โดยสมบูรณ์ EUR/USD ปิดตลาดในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ระดับ 1.0564 ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญต่อมุมมองระยะใกล้นั้นแตกต่างกันไป 45% สนับสนุนว่าดอลลาร์จะแข็งค่า อีก 30% โหวตให้ยูโร และ 25% ที่เหลือมีท่าทีเป็นกลาง ในส่วนการวิเคราะห์เชิงเทคนิค ออสซิลเลเตอร์ของกราฟ D1 ไม่ได้ให้ทิศทางที่ชัดเจน โดย 30% ชี้ไปยังทิศทางขาลง 20% ขาขึ้น และ 50% ให้สัญญาณเป็นกลาง ในส่วนอินดิเคเตรอ์เทรนด์ให้ภาพที่ชัดเจนมากขึ้น คือ 90% ชี้ทิศทางขาลง และมี 10% เท่านั้นที่มองว่าคู่นี้จะขยับขึ้น ระดับแนวรับที่ใกล้ที่สุดของคู่นี้อยู่ที่บริเวณ 1.0500-1.0530 ตามมาด้วย 1.0450, 1.0375, 1.0200-1.0255, 1.0130 และ 1.0000 ส่วนระดับแนวต้านของฝั่งกระทิงอยู่ที่บริเวณ 1.0600-1.0620, 1.0740-1.0770, 1.0800, 1.0865 และ 1.0945-1.0975
ในสัปดาห์ที่จะถึงนี้คาดว่าจะเต็มไปด้วยหลากหลายกิจกรรมที่สำคัญ ในวันจันทร์ที่ 30 ตุลาคม เราจะได้ทราบดัชนี GDP และข้อมูลเงินเฟ้อ (CPI) จากเยอรมนี ในวันอังคารที่ 31 ตุลาคม จะมีการประกาศดัชนีค้าปลีกจากยุโรป รวมถึงข้อมูลเบื้องต้นของ GDP และ CPI ยูโรโซน ในวันพุธที่ 1 พฤศจิกายน จะมีการประกาศระดับการจ้างงานในภาคเอกชนของสหรัฐฯ และดัชนี PMI ภาคการผลิต ในวันเดียวกันนี้จะมีกิจกรรมที่สำคัญมากที่สุดคือ การประชุมของ FOMC (คณะกรรมการที่กำหนดนโยบายทางการเงินของธนาคารเฟด) ซึ่งจะมีการตัดสินใจเรื่องอัตรดาอกเบี้ย การคาดการณ์เห็นพ้องกันว่าอัตราดอกเบี้ยจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง ดังนั้น ตลาดจะให้ความสนใจกับแถลงการณ์และการให้ความเห็นของผู้บริหารธนาคารเฟดสหรัฐฯ เป็นพิเศษ
ในวันพฤหัสบดีที่ 2 พฤศจิกายน เราจะได้ทราบจำนวนคำขอสวัสดิการว่างงานเบื้องต้นของสหรัฐฯ สถิติตลาดแรงงานจะรายงานในวันศุกร์ที่ 3 พฤศจิกายน เนื่องจากเป็นตามธรรมเนียมที่วันศุกร์แรกของเดือนเราจะได้ทราบสถิติเศรษฐกิจมหภาคชุดสำคัญ ได้แก่ อัตราการว่างงาน และจำนวนตำแหน่งงานใหม่นอกภาคการเกษตรในสหรัฐฯ
GBP/USD: รอคู่นี้อยู่ที่ 1.1600?
- สถิติที่ประกาศเมื่อสัปดาห์ที่แล้วบ่งชี้ว่า แม้ว่าอัตราการว่างงานของสหราชอาณาจักรจะลดลงจาก 4.3% เหลือ 4.2% จำนวนยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานอยู่ที่ 20.4K ตัวเลขนี้สูงกว่าทั้งตัวเลขครั้งก่อนหน้าที่ 9.0K และการคาดการณ์ที่ 2.3K ด้านข้อมูลเดือนตุลาคมจากสมาพันธ์อุตสหากรรมอังกฤษ (CBI) ว่าด้วยยอดค้าปลีกของผู้ค้าปลีกรายใหญ่เปิดเผยว่า ดัชนีค้าปลีกลดลงจาก -14 เหลือ -36 จุด ทำระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2021 นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ยังกลัวว่าสถานการณ์อาจรุนแรงยิ่งขึ้นในเดือนพฤศจิกายน เนื่องจากครัวเรือนต่าง ๆ เจอกับแรงกดดันจากราคาที่สูงขึ้น และทำให้พวกเขาต้องลดค่าใช้จ่ายลง
การคาดการณ์จาก ING ในระยะสั้นชี้ว่า มีความเสี่ยงที่เงินปอนด์จะลงไปยังระดับแนวรับสำคัญที่ 1.2000 เมื่อเปลี่ยนเป็นการคาดการณ์ระยะกลาง นักเศรษฐศาสตร์จาก Wells Fargo เชื่อว่า ไม่ใช่แค่ค่าเงินยูโร แต่รวมถึงเงินปอนด์อังกฤษที่จะอยู่ในเทรนด์ขาลง “ผลงานที่ย่ำแย่ของยุโรปเปรียบเทียบกับสหรัฐฯ น่าจะสร้างแรงกดดันต่อค่าเงินทั้งสอง” “ธนาคารกลางยุโรปและธนาคารกลางอังกฤษได้ให้สัญญาณว่า อัตราดอกเบี้ยน่าจะถึงระดับสูงสุดแล้ว ซึ่งอัตราดอกเบี้ยน่าจะให้แรงสนับสนุนค่าเงินน้อยลง เราจึงคาดว่าเงินปอนด์น่าจะอ่อนค่าในช่วงต้นปี 2024 โดยวางเป้าหมายต่ำสุดของคู่ GBP/USD ไว้ที่บริเวณ 1.1600"
ธนาคารแห่งชาติอังกฤษ (BoE) มีกำหนดจะจัดการประชุมในวันพฤหัสบดีที่ 2 พฤศจิกายน หลังจากการประชุมของธนาคารเฟดในต้นสัปดาห์ การคาดการณ์ชี้ว่า ธนาคารกลางอังกฤษน่าจะคงนโยบายทางการเงินไว้ตามเดิม โดยคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 5.25% ซึ่งเป็นการดำเนินการที่คล้ายกันกับของธนาคาร ECB และธนาคารเฟด อย่างไรก็ตาม เนื่องด้วยอัตราเงินเฟ้อที่สูงในอังกฤษ ซึ่งสูงกว่าประเทศคู่แข่งทางเศรษฐกิจที่สำคัญอื่น ๆ ท่าทีของ BoE อาจจะมีความเข้มงวดทางการเงินมากกว่าทางฝั่งยุโรป ในสถานการณ์นี้ เงินปอนด์อาจจะได้รับแรงหนุนมากกว่ายูโร แต่ไม่น่าจะรับแรงหนุนมากเมื่อเทียบกับดอลลาร์
GBP/USD ปิดท้ายสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ระดับ 1.2120 ในผลสำรวจอนาคตระยะใกล้ นักวิเคราะห์ 50% โหวตว่าราคาจะขยับขึ้น มี 20% เท่านั้นที่เชื่อว่าราคาจะยังเคลื่อนที่ไปยังเป้าหมายที่ 1.2000 ในขณะที่ 30% ที่เหลือยังคงมีท่าทีเป็นกลาง อินดิเคเตอร์เทรนด์บนกรอบ D1 ให้แนวโน้มตลาดหมีอย่างเป็นเอกฉันท์ โดย 10% ชี้ไปยังแนวโน้มขาลงและให้สัญญาณสีแดง ในส่วนออสซิลเลเตอร์มีความชัดเจนน้อยกว่าเล็กน้อย: 80% ให้สัญญาณขาลง (15% ให้สัญญาณว่าราคาอยู่ในโซน oversold) อีก 10% ชี้แนวโน้มขาขึ้น และ 10% ที่เหลือให้สีเทากลาง ในส่วนระดับและโซนแนวรับในกรณีที่ราคาขยับลงด้านล่างอยู่ที่บริเวณ 1.2000-1.2040, 1.1960, และ 1.1800-1.1840 ตามมาด้วย 1.1720, 1.1595-1.1625, and 1.1450-1.1475 หากราคาขยับขึ้น ราคาจะต้องเจอกับแนวต้านที่ 1.2145-1.2175, 1.2190-1.2215, 1.2280, 1.2335, 1.2450, 1.2550-1.2575 และ 1.2690-1.2710.
นอกจากการประชุมของธนาคารกลางอังกฤษที่จะมีขึ้นในวันที่ 2 พฤศจิกายนนี้แล้ว ไม่คาดว่าจะมีกิจกรรมที่มีความสำคัญอื่น ๆ เกี่ยวกับเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรในสัปดาห์นี้
USD/JPY: รอคู่นี้อยู่ที่ 52.80?
- เงินเยนญี่ปุ่นยังคงเป็นค่าเงินที่อ่อนแอที่สุดในบรรดาประเทศเศรษฐกิจพัฒนา USD/JPY ขยับขึ้นมาตลอดทั้งปี และเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 26 ตุลาคม ราคาได้ทำระดับสูงสุดใหม่ในรอบปีที่ 150.77 สาเหตุหลักของเทรนด์ดังกล่าวเป็นไปตามที่เราเคยเน้นย้ำในบทวิเคราะห์ครั้งก่อน ๆ คือ ความแตกต่างกันในนโยบายทางการเงินระหว่างธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) และธนาคารกลางประเทศสำคัญอื่น ๆ BoJ ไม่แสดงสัญญาณที่จะลดละนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายสุดขั้ว และยังคงเลือกจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ -0.1% ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยของธนาคารเฟดอยู่ที่ +5.50% การดำเนินธุรกรรมแบบ Carry Trade โดยแลกเงินเยนกับดอลลาร์ก็ให้ผลตอบแทนสูงเนื่องด้วยส่วนต่างของอัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าว
เงินเยนก็ไม่ได้รับแรงสนับสนุนจากการผ่อนคลายการควบคุมเส้นโค้งพันธบัตรของรัฐบาลญี่ปุ่น ปัจจุบัน ผลตอบแทนพันธบัตรชุด 10 ปี สามารถเบี่ยงเบนออกจากระดับ 0 ได้ไม่เกิน 0.5% และในการประชุมเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา BoJ ได้ตัดสินใจว่าระดับดังกล่าวนั้นเป็นแนวทางมากกว่าเป็นกรอบที่เข้มงวด อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมาชี้ให้เห็นว่า การเบี่ยงเบนที่เห็นได้ชัดจากกรอบดังกล่าวกระตุ้นให้ BoJ เข้าซื้อพันธบัตร และก็ส่งผลให้เงินเยนอ่อนค่าอีกครั้ง
ถึงแม้ว่าการแทรกแซงค่าเงินที่ดำเนินการเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม เมื่อ USD/JPY สูงขึ้นเกินระดับ 150.00 ไม่สามารถช่วยพยุงเงินเยนได้สำเร็จ ราคาถูกกดลงมาที่ระดับ 147.26 ชั่วคราวอีกครั้ง และก็รีบาวด์กลับขึ้นไปอย่างรวดเร็ว และเป็นอีกครั้งที่ราคาเข้าใกล้ระดับ 150.00
ผู้บริหารกระทรวงการคลังญี่ปุ่นและธนาคารกลางฯ พยายามอย่างต่อเนื่องที่จะเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับเงินเยน โดยการยืนยันผ่านคำแถลงที่ค่อนข้างกำกวมว่า ระบบการเงินโดยรวมของญี่ปุ่นยังคงมีเสถียรภาพ และพวกเขากำลังติดตามอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม คำพูดนั้นมีผลจำกัด เมื่อวันศุกร์ที่ 27 ตุลาคมที่ผ่านมา Hirokazu Matsuno หัวหน้าเลขาธิการรัฐมนตรีญี่ปุ่นยิ่งกล่าวคำพูดที่เพิ่มความกำกวมมากยิ่งขึ้น เขาคาดหวังว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นจะดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสม ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการคงราคาไว้ในระดับที่เสถียรและยั่งยืน แม้ว่ามันอาจฟังดูดี แต่การตีความและทำความเข้าใจยังเป็นเรื่องยาก นโยบาย “ที่เหมาะสม” นั้นคืออะไร? และ “ระดับราคาเป้าหมาย” ที่พูดถึงนั้นควรอยู่ตรงไหนกันแน่?
ผู้เชี่ยวชาญจาก Commerzbank ของเยอรมนีชี้ว่า “ไม่ใช่ทุกอย่างในนโยบายการเงินและนโยบายการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของญี่ปุ่นจะสมเหตุสมผลเสมอไป” “ตลาดน่าจะพยายามทดสอบระดับที่สูงกว่าใน USD/JPY" นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารให้การคาดการณ์ “หลังจากนั้นจะมีสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้สองแบบคือ กระทรวงการคลังญี่ปุ่นจะต้องแทรกแซงอีกครั้ง หรือเงินเยนที่อ่อนค่าจะเร่งให้ตลาดเริ่มเลิกเก็งราคาจากความเสี่ยงของการแทรกแซงค่าเงิน”
นักวิเคราะห์จาก Commerzbank กล่าวต่อว่า “ในระยะกลางถึงระยะยาว การแทรกแซงจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงการอ่อนค่าลงของค่าเงินได้ โดยเฉพาะหากธนาคารกลางญี่ปุ่นยังคงเพิ่มแรงกดดันต่อเงินเยนโดยคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายสุดขั้วอยู่ ดังนั้น การตอบสนองที่สมเหตุสมผลเดียวเท่านั้นคือ การปรับนโยบายทางการเงินให้มีความสมดุลอย่างช้า ๆ เป็นอย่างน้อย ซึ่งอาจจะทำผ่านการผ่อนคลายมาตรการควบคุมเส้นโค้งผลตอบแทนพันธบัตร (YCC) อย่างไรก็ดี ไม่มีความแน่นอนว่าการผ่อนคลายมาตรการ YCC จะเพียงพอ หรือมีความแน่นอนใด ๆ ว่า BoJ จะมีการเปลี่ยนท่าทีในการประชุมในวันอังคารนี้” (31 ตุลาคม)
ดังนั้น นักวิเคราะห์จาก Societe Generale ธนาคารของฝรั่งเศสเชื่อว่า พฤติกรรมปัจจุบันเอื้อต่อเทรนด์ขาขึ้นต่อไปของคู่นี้ โดยคาดว่าแนวต้านถัดไปจะอยู่ที่ระดับและโซนสูงสุดของปีที่แล้วที่ 152.00-152.804 ซึ่งโซนแนวรับสำคัญอยู่ที่ 149.30-148.85 แต่การหลุดแนวรับดังกล่าวจะเป็นการยืนยันแนวโน้มขาลงในระยะสั้น
USD/JPY ปิดตลาดท้ายสัปดาห์ที่แล้วที่ระดับ 149.63 เมื่อพูดถึงแนวโน้มระยะใกล้ นักวิเคราะห์มีความเห็นแบ่งออกเป็นกลุ่มเท่า ๆ กันคือ: 50% คาดว่าราคาจะขยับขึ้น และอีก 50% คาดการณ์แนวโน้มขาลง อินดิเคเตอร์เทรนด์บนกราฟ D1 แสดงสัญญาณสีเขียว 65% และ 35% เป็นสีแดง ในส่วนออสซิลเลเตอร์ไม่ปรากฏสัญญาณขาลง โดย 50% ชี้ไปยังขาขึ้น และ 50% ที่เหลือให้เทรนด์ด้านข้าง ระดับแนวรับที่ใกล้ที่สุดอดยู่ในโซน 148.30-148.70 ตามมาด้วย 146.85-147.30, 145.90-146.10, 145.30, 144.45, 143.75-144.05 และ 142.20 ส่วนระดับแนวต้านที่ใกล้ที่สุดอยู่ที่ 150.00-150.15 จากนั้นคือ 150.40-150.80 ตามมาด้วย 151.90 (ราคาสูงสุดของเดือนตุลาคม 2022) และ 152.80-153.15
ในสัปดาห์นี้ไม่คาดว่าจะมีสถิติเศรษฐกิจที่สำคัญจากฝั่งญี่ปุ่น โดยทั่วไปแล้ว ความสนใจหลักจะอยู่ที่การประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่นในวันอังคารที่ 31 ตุลาคม แต่ไม่น่าจะมีข่าวน่าประหลาดใจใด ๆ นักเทรดควรคำนึงด้วยว่า ในวันศุกร์ที่ 3 พฤศจิกายน เป็นวันหยุดนักขัตฤกษ์ในญี่ปุ่น เนื่องในวัน Culture Day
ข้อมูลที่ช่วยเสริมความมั่นใจให้กับผู้สนับสนุนฝั่งเงินเยนญี่ปุ่นมาจาก Wells Fargo พวกเขาคาดว่า “หากธนาคารเฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ย และถึงแม้ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นจะค่อย ๆ คุมเข้มนโยบายทางการเงิน ส่วนต่างของผลตอบแทนควรให้ผลดีต่อเงินเยนในระยะยาว” นักยุทธศาสตร์จาก Wells Fargo คาดการณ์ว่า “ภายในสิ้นปีหน้านี้ USD/JPY จะไปถึง 146.00”
ภาพรวมของธนาคารอเมริกันนี้ยังคงให้ความหวังกับนักเทรดที่เปิดคำสั่ง short ไว้ที่ราคา 150.00 แต่ต้องไม่ลืมว่าได้เกิดอะไรขึ้นกับผู้ที่เปิดคำสั่ง “ขาย” ไปตั้งแต่เดือนมกราคม 2023 เมื่อราคาเทรดอยู่ที่ 127.00 เท่านั้น
สกุลเงินคริปโต: การเริ่มต้นตลาดกระทิงหรือเป็นอีกหนึ่งกับดักกระทิง?
- บทรีวิวตลาดคริปโตในวันนี้ดูดีอย่างชัดเจนและก็มีเหตุผลดี ๆ รองรับเช่นกัน เมื่อวันที่ 23-24 ตุลาคม ราคาบิทคอยน์พุ่งขึ้นไปที่ $35,188 เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2022 ราคาบิทคอยน์ที่สูงขึ้นนั้นเกิดขึ้นจากเหตุการณ์หลายเหตุการณ์ผสมกัน รวมถึงกระแสข่าวลือและข่าวปลอมที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ (SEC)
ตัวอย่างเช่น สำนักข่าว Reuters และ Bloomberg รายงานว่า กลต. จะไม่โต้แย้งคำพิพากษาของศาลที่ตัดสินให้ประโยชน์ต่อฝั่ง Grayscale Investments นอกจากนี้ยังมีข่าวว่ากลต. จะล้มเลิกการต่อสู้ทางคดีต่อ Ripple และผู้บริหารด้วย ข่าวที่ปรากฏยังเกี่ยวกับโอกาสการอนุมัติ ETF สำหรับ Ethereum และข่าวลือเรื่อง BTC-ETF สปอตของ BlackRock ได้รับการอนุมัติ BlackRock ได้ออกมายืนยันเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ข่าวนี้เป็นข่าวปลอม อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์แห่ขายเหรียญซึ่งกระตุ้นจากข่าวปลอมนี้ช่วยสนับสนุนการเติบโตของคริปโตในระดับหนึ่ง เทรนด์ในกรอบเริ่มมีโมเมนตัมในตอนช่วงต้น เนื่องจากมีคำสั่ง short ที่เปิดด้วยเลเวอเรจสูงจำนวนมากถูกกำจัดออกไป Coinglass ระบุว่ามีคำสั่งดังกล่าวมูลค่าสูงถึง $161 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ถูกกำจัด
แน่นอนว่าข่าวนั้นเป็นข่าวปลอม แต่ก็เป็นไปตามคำกล่าวที่ว่า “ข่าวลือมักมีมูล” กองทุน ETF สปอตบิทคอยน์ของ BlackRock ที่มีชื่อว่า iShares Bitcoin Trust ปรากฏชื่อขึ้นในรายชื่อของ Depository Trust and Clearing Corporation (DTCC) ซึ่ง BlackRock ได้แจ้งให้กลต. ทราบเกี่ยวกับแผนการเปิดให้บริการระยะเริ่มต้นในช่วงเดือนตุลาคมสำหรับ BTC-ETF สปอต และอาจมีการเข้าซื้อบิทคอยน์เตรียมไว้แล้วเพื่อวัตถุประสงค์นี้ รายงานข่าวนี้จึงยิ่งกระตุ้นให้มีการคาดการณ์และข่าวลือว่า การอนุมัติ ETF ยังไงก็ต้องเกิดขึ้น
อีกทั้งผู้เชี่ยวชาญหลายคนเชื่อว่า ปัจจัยทางเทคนิคก็มีส่วนด้วยเช่นกัน การวิเคราะห์เชิงเทคนิคให้สัญญาณมานานแล้วว่ามีโอกาสที่ตลาดกระทิงจะเกิดขึ้นหลังจากราคาทะลุออกจากเทรนด์ไซด์เวยส์
นักวิเคราะห์บางท่านเชื่อว่า อีกหนึ่งปัจจัยกระตุ้นของราคาบิทคอยน์คือดัชนีดอลลาร์ (DXY) ที่ร่วงลงทำระดับต่ำสุดเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม แต่ข้อนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกัน ก่อนหน้านี้เราได้กล่าวไว้ว่า บิทคอยน์ได้สูญเสียความสัมพันธ์ทั้งแบบผันตามและผกผันจน “เป็นอิสระ” จากทั้งค่าเงินดอลลาร์และดัชนีตลาดหุ้น กราฟชี้ให้เห็นว่าเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม ดอลลาร์กลับทิศทางและเริ่มขยับขึ้น สินทรัพย์กลุ่มเสี่ยงอย่าง S&P 500, Dow Jones และ Nasdaq Composite ตอบสนองด้วยแนวโน้มขาลงอย่างรวดเร็ว แต่ไม่ใช่ BTC/USD ซึ่งเปลี่ยนมาขยับในกรอบด้านข้างที่บริเวณ Pivot Point ที่ $34,000.
แม้ว่าดัชนี S&P 500 จะอยู่ในเทรนด์ขาลงมาตลอด 13 สัปดาห์ BTC ขยับขึ้นมาตั้งแต่วันที่ 17 สิงหาคม ถึงแม้จะมีความท้าทายอยู่บ้าง ในช่วงเวลานี้ สกุลเงินคริปโตชั้นมีมูลค่าเพิ่มขึ้นประมาณ 40% ถ้าดูในระยะเวลาที่ยาวนานกว่า ในช่วงสามปีที่ผ่านมา บิทคอยน์เติบโตขึ้น 147% (ณ วันที่ 20 ตุลาคม 2023) ในขณะที่ดัชนี S&P 500 ขึ้นมาเพียง 26% เท่านั้น
ในสัปดาห์ที่แล้ว ผู้ถือเหรียญ BTC โดยเฉลี่ยกลับมามีกำไรอีกครั้ง การคำนวณจาก Glassnode หน่วยงานด้านการวิเคราะห์ชี้ว่า ต้นทุนเฉลี่ยในการถือเหรียญของนักลงทุนคือ $29,800 ในส่วนผู้ถือเหรียญระยะสั้น (เหรียญที่มีความเคลื่อนไหวไม่เกิน 6 เดือน) ตัวเลขนี้อยู่ที่ $28,000 ซึ่ง ณ ขณะที่เขียนรีวิวฉบับนี้ มีกำไรอยู่ที่ประมาณ 20%
สถานการณ์นั้นค่อนข้างแตกต่างออกไปสำหรับผู้ถือเหรียญระยะยาว พวกเขาแทบจะไม่ตอบสนองต่อช่วงที่ตลาดมีความผันผวนสูง และยังคงคาดหวังกำไรในช่วงเวลาหลายปีข้างหน้า ในปี 2023 เหรียญ 30% ของจำนวนเหรียญทั้งหมดยังคงขาดทุนอยู่ แต่นี่ก็ไม่ได้ยับยั้งไม่ให้พวกเขาออมเหรียญเพิ่ม ปัจจุบัน ปริมาณการถือเหรียญของนักลงทุนกลุ่มนี้อยู่ที่ 14.9 ล้าน BTC เท่ากับ 75% ของปริมาณที่หมุนเวียนอยู่ ในบรรดา “วาฬ” ที่เป็นที่รู้จักและเป็นผู้ถือเหรียญรายใหญ่ที่สุดคือบริษัท MicroStrategy Incorporated ซึ่งบริษัทซื้อบิทคอยน์ชุดแรกไปในเดือนกันยายน 2020 ที่ราคา $11,600 ต่อเหรียญ การเข้าซื้อเกิดขึ้นทั้งในช่วงตลาดขาขึ้นและขาลง และตอนนี้บริษัทเป็นเจ้าของทั้งหมด 158,245 BTC และจ่ายเงินไปทั้งหมด $4.7 พันล้านดอลลาร์เพื่อซื้อเหรียญ กำไรที่ยังไม่เกิดขึ้นของ MicroStrategy ที่ประมาณ $0.65 พันล้านดอลลาร์หรือประมาณ 13.6%
ความคาดหวังที่จะเปิดให้บริการ ETF สปอตบิทคอยน์ในสหรัฐฯ ยิ่งกระตุ้นความสนใจของนักลงทุนรายสถาบันในสกุลเงินคริปโต อย่างไรก็ตาม เนื่องจากอุปสรรคจากการกำกับดูแลของก.ล.ต. นักวิเคราะห์จาก Ernst & Young ประเมินว่า ความต้องการถือเหรียญน่าจะดึงดูดเงินได้ประมาณ $15 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งอาจช่วยดันราคา BTC/USD ไปที่ $200,000 ในระยะยาว สิ่งที่สามารถพูดได้ชัดเจนก็คือ สัญญาสถานะคงค้าง (Open Interest) ในตลาดฟิวเจอร์ส บนตลาด Chicago Mercantile Exchange (CME) เลยระดับที่ 100,000 BTC และมีปริมาณซื้อขายต่อวันถึง $1.8 พันล้านดอลลาร์
ปัจจัยอีกประการหนึ่งของกิจกรรมที่เพิ่มขึ้นในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญเป็นเพราะความกังวลเรื่องภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐฯ และความเสี่ยงทางการเมืองระหว่างประเทศ เช่น ความตึงเครียดที่รุนแรงขึ้นในตะวันออกกลาง Zach Pandl ผู้อำนวยการบริหาร Grayscale Investments กล่าวว่า นักลงทุนหลายคนมองว่าบิทคอยน์เป็น “ทองคำดิจิทัล” และตั้งใจที่จะใช้มันเพื่อลดความเสี่ยงทางการเงิน CoinShares ชี้ว่า การลงทุนในกองทุนคริปโตเพิ่มขึ้น $66 ล้านล้านดอลลาร์ในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นสัปดาห์ที่สี่ติดต่อกันที่มีกระแสเงินไหลเข้ามา
ทัศนคติที่ดีต่อการจดทะเบียนกองทุน ETF สปอตบิทคอยน์กับกลต. เริ่มเพิ่มขึ้น และคาดว่าจะได้ทราบผลการตัดสินใจในทางบวก “ภายในเวลาไม่กี่เดือน” บทสรุปนี้เป็นของนักวิเคราะห์จาก JPMorgan ผู้เชี่ยวชาญให้ข้อสังเกตถึงการที่กลต. ไม่ยื่นอุทธรณ์ต่อคำพิพากษาของศาลในคดีกับ Grayscale กลต.ถูกสั่งไม่ให้ขัดขวางการเปลี่ยนกองทุนทรัสต์บิทคอยน์เป็นกองทุน ETF “ช่วงเวลาการอนุมัติยังไม่มีความแน่นอน แต่น่าจะได้ข้อสรุปภายในวันที่ 10 มกราคม 2024 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายสำหรับคำร้องของ ARK Invest และ 21 Co. นี่คือวันขีดเส้นตายที่ใกล้ที่สุดที่กลต. สหรัฐฯ จะต้องให้คำตอบ” กล่าวโดย JPMorgan ผู้เชี่ยวชาญยังเน้นด้วยว่า คณะกรรมการฯ อาจเลือกที่จะอนุมัติทุกคำร้องพร้อมกันเพื่อรับประกันการแข่งขันกันอย่างยุติธรรม
พฤติกรรมราคาบิทคอยน์ในอนาคตเป็นหัวข้อที่มีความเห็นแบ่งแยกกันในชุมชนคริปโต Matrixport ได้เผยแพร่รายงานการวิเคราะห์เกี่ยวกับผลกระทบของ FOMO (Fear of Missing Out หรือภาวะกลัวตกขบวนรถ) ในตลาดคริปโต นักวิเคราะห์ได้อ้างถึงอินดิเคเตอร์การเทรดของตนเอง ที่ช่วยให้พวกเขาคาดการณ์ราคาสินทรัพย์ดิจิทัลได้อย่างประสบความสำเร็จ พวกเขามองว่า ราคาบิทคอยน์อาจไปถึง $40,000 ภายในสิ้นปีนี้ และในกรณีที่ Bitcoin ETF ได้รับการอนุมัติ ราคาอาจขึ้นไปที่ $56,000
ผู้ร่วมตลาดหลายคนมั่นใจว่าข่าวเบื้องหลังในเชิงบวกจะช่วยหนุนการเติบโตต่อไปของคริปโต เช่น Will Clemente ผู้ร่วมก่อตั้ง Reflexivity Research เชื่อว่า พฤติกรรมของเหรียญนี้น่าจะทำให้ฝั่งหมีที่วางแผนจะซื้อ BTC ในราคาที่ต่ำกว่าเริ่มวิตกอยู่บ้าง การคาดการณ์ของนักเทรดและนักวิเคราะห์ที่มีชื่อว่า Titan of Crypto ชี้ว่า บิทคอยน์จะไปถึง $40,000 ภายในเดือนพฤศจิกายน 2023 และผู้ที่เห็นด้วยยังได้แก่ Michael Van De Poppe ผู้ก่อตั้งบริษัท Eight และ Charles Edwards ผู้ก่อตั้ง Capriole Fund
อย่างไรก็ดี มีผู้ที่้เชื่อเช่นกันว่า BTC จะไม่เติบโตขึ้นต่อ เช่น นักวิเคราะห์ Trader_J และ Doctor Profit มั่นใจว่า หลังจากราคาทำระดับต่ำสุดในกรอบ เหรียญนี้จะเข้าสู่ช่วงการปรับฐานในระยะยาว การคาดการณ์ของพวกเขายังไม่ตัดโอกาสที่ราคาคู่ BTC/USD อาจลดลงไปที่ $24,000-$26,000 ภายในสิ้นปี การคาดการณ์ BTC ในทางลบยังได้รับการสนับสนุนจากนักเทรดที่มีชื่อเรียกว่า Ninja เขามองว่า การวิเคราะห์เชิงเทคนิคซึ่งเป็นการวิเคราะห์ช่องว่างของ CME (ช่องว่างระหว่างราคาเปิดและราคาปิดของฟิวเจอร์สบิทคอยน์ในตลาด Chicago Mercantile Exchange) ชี้ว่ามีโอกาสที่ BTC จะร่วงลงไปที่ $20,000
ณ ขณะที่เขียนบทวิเคราะห์ฉบับนี้ในวันศุกร์ที่ 27 ตุลาคม BTC/USD มีราคาซื้อขายอยู่ที่ $33,800 มูลค่ารวมของตลาดคริปโตอยู่ที่ $1.25 ล้านล้านดอลลาร์ สูงขึ้นจาก $1.12 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในสัปดาห์ที่แล้ว ดัชนี Crypto Fear & Greed Index ขยับขึ้นมาในรอบสัปดาห์จาก 53 เป็น 72 จุด โดยออกจากโซน Neutral มายังโซน Greed ราคาทำระดับสูงสุดของปี 2023 ก่อนที่จะถอยลงมาเล็กน้อย และขณะนี้อยู่ที่ 70 จุด ทั้งนี้ เมื่อหนึ่งเดือนที่แล้ว ราคาดัชนีอยู่ในโซน Fear แนวโน้มราคาก้าวกระโดดขึ้นเคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ในช่วงกลางปี 2020 และกลางปี 2021 ซึ่งมีความสัมพันธ์กับราคาที่เพิ่มขึ้น
หลังจากสรุปภาพรวมในทางบวกไปแล้ว เราจะมานำเสนอมุมมองในทางลบเล็กน้อยจาก Peter Schiff ประธาน Euro Pacific Capital นักวิจารณ์บิทคอยน์ตัวยงกล่าวว่า บิทคอยน์ “ไม่ใช่สินทรัพย์ มันไม่ใช่อะไรทั้งนั้น” เขายังมองว่าพวกถือเหรียญนี้เป็นเหมือนลัทธิหนึ่ง “ไม่มีใครจำเป็นต้องมีบิทคอยน์ คนเพียงแค่ซื้อมันเพราะคนอื่นโน้มน้าวมันเท่านั้น หลังจากได้ [BTC] มาแล้ว พวกเขาก็พยายามที่จะโน้มน้าวคนอื่นทันทีให้เข้าร่วมด้วย มันเหมือนกับลัทธิ” Schiff กล่าว
อย่างไรก็ตาม นี่เป็น “ลัทธิ” ที่มีขนาดใหญ่มากและเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ในปี 2016 จำนวนผู้ถือเหรียญ BTC มีเพียง 1.2 ล้านคน แต่ในเดือนพฤษภาคม แหล่งข้อมูลต่าง ๆ ชี้ว่า การเป็นเจ้าของบิทคอยน์รอบโลกอยู่ที่ประมาณ 420 ล้าน หรือประมาณ 5.1% ของประชากรโลก
กลุ่มนักวิเคราะห์ NordFX
หมายเหตุ: เนื้อหาดังกล่าวไม่ควรยึดถือเป็นคำแนะนำในการลงทุนหรือเป็นคำปรึกษาในการซื้อขายในตลาดการเงิน โดยเนื้อหาข้างต้นเป็นไปเพียงเพื่อจุดประสงค์ในการให้ข้อมูลเท่านั้น การซื้อขายในตลาดการเงินมีความเสี่ยงและอาจทำให้เกิดการสูญเสียเงินฝากได้
กลับ กลับ