EUR/USD: 14 พฤศจิกายน - วันที่มืดมนสำหรับดอลลาร์
- ในรีวิวฉบับก่อนหน้านี้ ผู้เชี่ยวชาญเสียงข้างมากแสดงความเห็นด้วยกับดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง การคาดการณ์นี้ปรากฏว่าเกิดขึ้นจริง ดัชนีเงินเฟ้อผู้บริโภคในสหรัฐฯ ซึ่งประกาศเมื่อวันอังคารที่ 14 พฤศจิกายน พาดัชนีดอลลาร์ (DXY) ตกลงมาจาก 105.75 เหลือ 103.84 รายงานจาก Bank of America ชี้ว่า นี่เป็นการทุบดอลลาร์ครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ต้นปี และก็ส่งผลกระทบต่อคู่ EUR/USD ซึ่งเป็นวันที่เกิดแท่งเทียนกระทิงแท่งใหญ่ พาราคาขึ้นไปเกือบ 200 จุด
ทั้งนี้ เมื่อเกือบหนึ่งปีที่แล้ว หลังจากมีการประกาศสถิติเงินเฟ้อเมื่อเดือนตุลาคม ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ร่วงลง ดัชนีหุ้นพุ่งสูงขึ้น และดอลลาร์อ่อนค่าลงฮวบเทียบกับค่าเงินสกุลหลักต่าง ๆ และประวัติศาสตร์ก็เกิดขึ้นซ้ำรอย ในครั้งนี้ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในสหรัฐฯ ของเดือนตุลาคมลดลงจาก 0.4% เหลือ 0% (เดือนต่อเดือน) และในตัวเลขรายปีลดลงจาก 3.7% เหลือ 3.2% ด้านดัชนี Core CPI ในช่วงเวลาเดียวกันลดลงจาก 4.1% เหลือ 4.0% ทำระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2021
ในความเป็นจริง เงินเฟ้อที่ลดลง 0.1% ไม่มีนัยสำคัญขนาดนั้น แต่การตอบสนองที่รุนแรงของตลาดแสดงให้เห็นว่าดอลลาร์อยู่ในภาวะ overbought มากขนาดไหน นักวิเคราะห์จาก ING (Internationale Nederlanden Groep) เขียนว่า แนวโน้มกระทิงที่ทรงพลังในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ทำให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้น 4.9% การพยุงดอลลาร์ให้แข็งค่านั้นไม่ยากเนื่องด้วยอัตราดอกเบี้ยที่สูง และผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่เพิ่มสูงขึ้น
แต่ทุกอย่างก็มาถึงจุดจบในที่สุด สถิติที่ประกาศเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน ยืนยันแรงกดดันภาวะเงินเฟ้อที่ลดลง และทำให้ตลาดเชื่อว่าธนาคารเฟด (FRS) จะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก นอกจากนี้ ตลาดยังไม่ตัดโอกาสที่ธนาคารกลางอาจปรับไปใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายไม่ใช่ในช่วงกลางฤดูร้อนปีหน้า แต่ตั้งแต่ฤดูใบไม้ผลิในปีถัดไป นักเศรษฐศาสตร์จาก ING เชื่อว่า การมาถึงของภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ จะบีบให้ธนาคารเฟดต้องหั่นอัตราดอกเบี้ยลง 150 จุดพื้นฐานในไตรมาสที่ 2 ของปี 2024 MUFG Bank ชี้ว่า ความเป็นไปได้ที่อัตราดอกเบี้จะปรับลดลงในเดือนพฤษภาคม 2024 ปัจจุบันอยู่ที่ 80% และในเดือนมีนาคมที่ 30% การลดดอกเบี้ยดังกล่าวจะช่วยหยุดการทะยานขึ้นของดอลลาร์ และช่วยพยุงค่าเงินสินค้าโภคภัณฑ์ และ MUFG เชื่อว่า EUR/USD อาจทำระดับสูงสุด 1.1500 ในช่วงปีหน้า
ในส่วนภาพรวมระยะใกล้ นักเศรษฐศาสตร์จาก Societe Generale มองว่า ไม่ว่าผลการประชุมของธนาคารเฟดในวันที่ 13 ธันวาคม และของธนาคารกลางยุโรปในวันที่ 14 ธันวาคมจะออกมาแบบไหน แนวโน้มค่าเงินยูโรในเดือนสุดท้ายของปี 2023 ยังคงเป็นแนวโน้มกระทิง แต่ดอลลาร์อาจได้รับแรงหนุนจากอัตราการเติบโตที่อ่อนแอในยูโรโซน เศรษฐกิจเยอรมนีอยู่ในภาวะหยุดชะงัก สถิติ GDP เบื้องต้นของยูโรโซนลดลง -0.1% ในไตรมาสที่ 3 และคณะกรรมการยุโรปปรับการคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจในปี 2023 ลงจาก 0.8% เหลือ 0.6% ดังนั้น ยูโรจึงอาจเจอกับแรงกดดันจากความคาดหวังว่าจะมีการลดอัตราดอกเบี้ยโดยธนาคารกลางยุโรป
EUR/USD ปิดตลาดในสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ระดับ 1.0913 ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญในขณะนี้ต่ออนาคตอันใกล้แบ่งออกเป็นหลายกลุ่ม ได้แก่ 60% โหวตว่าดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้น 25% โหวตให้กับยูโน และ 15% มีความเห็นเป็นกลาง ในส่วนการวิเคราะห์เชิงเทคนิค 100% ของอินดิเคเตอร์เทรนด์และออสซิลเลเตอร์บนกรอบ D1 ให้สัญญาณสีเขียว โดย 25% ของกลุ่มหลังอยู่ในโซน overbought โดยมีแนวรับที่ใกล้ที่สุดอยู่ที่บริเวณ 1.0830, ตามมาด้วย 1.0740, 1.0620-1.0640, 1.0480-1.0520, 1.0450, 1.0375, 1.0200-1.0255, 1.0130, 1.0000 ด้านฝั่งกระทิงจะเจอกับแนวต้านที่บริเวณ ตามมาด้วย 1.0945-1.0975 และ 1.1065-1.1090, 1.1150, 1.1260-1.1275
ในสัปดาห์หน้า วันพุธที่ 22 พฤศจิกายน จะมีการเผยแพร่ผลการประชุมครั้งล่าสุดของคณะกรรมการที่กำหนดนโยบายการเงินของธนาคารเฟด (FOMC) ในวันพฤหัสบดีที่ 23 พฤศจิกายนจะมีการรายงานสถิติเบื้องต้นของกิจกรรมทางธุรกิจ (PMI) ในเยอรมนีและยูโรโซน และวันถัดมาจะมีการประกาศดัชนีที่คล้ายกันจากสหรัฐฯ นอกจากนี้ นักเทรดควรทราบด้วยว่า ในวันศุกร์ที่จะถึงนี้ ตลาดในสหรัฐฯ จะปิดทำการก่อนเวลาปกติเนื่องในวันขอบคุณพระเจ้า (Thanksgiving Day)
GBP/USD: เซอร์ไพรส์จาก CPI สหราชอาณาจักร
- การแข็งค่าขึ้นของเงินปอนด์จากสถิติเงินเฟ้อสหรัฐฯ ปรากฏว่ามากกว่าที่เกิดขึ้นกับยูโร เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายนที่ผ่านมา GBP/USD พุ่งขึ้นมา 240 จุดจาก 1.2265 ขึ้นมาที่ 1.2505 นี่เป็นข่าวดีสำหรับเงินปอนด์ แต่ก็มีข่าวร้ายเช่นกัน เพราะเงินเฟ้อในสหราชอาณาจักรกำลังลดลง
ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในเดือนตุลาคมลดลงจาก 0.5% เหลือ 0% (เดือนต่อเดือน) และลดลงจาก 6.7% เหลือ 4.6% ปีต่อปี ดัชนี Core CPI ในช่วงเวลาเดียวกันลดลงจาก 6.1% เหลือ 5.7% ตัวเลขทั้งหลายเหล่านี้ปรากฏว่าต่ำกว่าการคาดการณ์ และเป็นข่าวเซอร์ไพรส์ไม่ใช่แค่ตลาดเท่านั้น แต่รวมถึงภาครัฐของอังกฤษด้วย
Megan Green สมาชิกคณะกรรมการนโยบายทางการเงินของธนาคารแห่งชาติอังกฤษได้กล่าวในบทสัมภาษณ์กับ Bloomberg TV เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายนว่า ถึงแม้ว่าเงินเฟ้อจะลดลง อัตราการเติบโตของค่าจ้างในสหราชอาณาจักรยังสูงเป็นอย่างมาก และมีผลิตผลของแรงงานที่ต่ำ ปัจจัยสองประการเหล่านี้เป็นความท้าทายต่อการให้ CPI ไปถึงระดับเป้าหมายที่ 2.0% และทำให้เราตั้งข้อสงสัยว่านโยบายของธนาคารกลางอังกฤษนั้นเข้มงวดเพียงพอแล้วหรือไม่ Megan Greene มองว่า BoE อาจต้องยึดนโยบายการเงินที่เข้มงวดในระยะยาวนานกว่าที่ประเมินไว้
ในกรณีที่ภาวะเงินเฟ้อไม่สร้างความน่าประหลาดใจใหม่ใด ๆ จะมีความเป็นไปได้น้อยที่ธนาคารแห่งชาติอังกฤษจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อในช่วงหลายเดือนข้างหน้า แต่ในกรณีที่ธนาคารฯ คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับปัจจุบันที่ 5.25% ในขณะที่ธนาคารเฟดเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ย สิ่งนี้จะส่งผลดีต่อเงินปอนด์ อย่างไรก็ตามในขณะนี้การคาดการณ์ใด ๆ ยังคงเป็นเรื่องยาก
“เรายังคงระมัดระวังอยู่ในขณะนี้” เขียนโดยนักเศรษฐศาสตร์จาก Commerzbank ของเยอรมนี “ข่าวน่าประหลาดใจหนึ่งไม่ได้แปลว่าทุกอย่างจะหยุดแค่นั้น และเนื่องด้วยการขาดเสถียรภาพในภาวะเงินเฟ้อในสหราชอาณาจักร จึงมีความเสี่ยงที่การกลับสู่ระดับเงินเฟ้อเป้าหมายนั้นจะขาดความสม่ำเสมอ สถิติเงินเฟ้อที่เผยแพร่เมื่อวันอังคารก็ยืนยันมุมมองนี้เช่นกัน ในขณะนี้ ธนาคารแห่งชาติอังกฤษอาจหยุดพักถอนหายใจได้ แต่ก็ต้องจำเป็นที่จะต้องระมัดระวัง”
GBP/USD ปิดท้ายสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ระดับ 1.2462 ในส่วนการคาดการณ์กลางโดยนักวิเคราะห์มีเสียงความเห็นที่แตกต่างกันไปอย่างเท่า ๆ กัน หนึ่งในสามให้แนวโน้มทิศเหนือ อีกหนึ่งในสามเป็นทิศใต้ และหนึ่งในสามชี้ว่าราคาจะออกด้านข้าง ด้านอินดิเคเตอร์เทรนด์บนกรอบ D1 มี 90% ชี้ไปยังทิศเหนือ 10% ชี้ลงทิศใต้ ออสซิลเลเตอร์ 100% ชี้ขึ้นด้านบน ในขณะที่ 15% ของออสซิลเลเตอร์ให้สัญญาณว่าราคาอยู่ในโซน overbought แล้ว ในกรณีที่ราคาขยับลงด้านล่างจะต้องเจอกับระดับและโซนแนวรับที่บริเวณ 1.2390-1.2420, 1.2330, 1.2210, 1.2040-1.2085, 1.1960, and 1.1800-1.1840, 1.1720, 1.1595-1.1625, 1.1450-1.1475 ส่วนในกรณีที่ราคาขึ้นด้านบน จะต้องเจอกับแนวต้านที่บริเวณ 1.2500-1.2510 ตามมาด้วย 1.2545-1.2575, 1.2690-1.2710, 1.2785-1.2820, 1.2940 และ 1.3140
กิจกรรมที่สำคัญในปฏิทินในสัปดาห์ที่จะถึงนี้ ได้แก่ คำแถลงของนาย Andrew Bailey ผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติอังกฤษในวันอังคารที่ 21 พฤศจิกายน ในวันถัดมาเราจะได้ทราบการประกาศรายงานเงินเฟ้อ และการหารือเรื่องงบประมาณประเทศ และในวันพฤหัสบดีที่ 23 พฤศจิกายน จะมีการประกาศสถิติเบื้องต้นของดัชนีกิจกรรมทางธุรกิจ (PMI) ในภาคธุรกิจต่าง ๆ ของสหราชอาณาจักร
USD/JPY: กระทรวงการคลังสหรัฐฯ คาดว่าจะกอบกู้เงินเยน
- เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน USD/JPY ได้ขึ้นทำระดับสูงสุดที่ 151.90 ทำระดับสูงสุดใหม่ในรอบหลายเดือน และกลับมายังระดับที่เคยเทรดเมื่อเดือนตุลาคม 2022 อย่างไรก็ตาม สถิติเงินเฟ้อสหรัฐฯ ช่วยให้เงินเยนกลับฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง
สถิติเศรษฐกิจของญี่ปุ่นนั้นมีผลกระทบน้อยมากต่อเงินเยน ซึ่งต่างไปจากสถิติที่สำคัญอย่าง CPI ของสหรัฐฯ แต่ก็มีหลายประเด็นที่ต้องพิจารณาเช่นกัน เช่น GDP ของญี่ปุ่นในไตรมาสที่สามลดลง -0.5% หลังเพิ่มขึ้นมา 1.2% ในช่วงเวลาก่อนหน้า และมีตัวเลขคาดการณ์อยู่ที่ -0.1% สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้นาย Kadsuo Ueda ผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติญี่ปุ่น (BoJ) กล่าวแถลงการณ์ที่สร้างความประหลาดใจเมื่อวันศุกร์ที่ 17 พฤศจิกายน โดยกล่าวว่าเศรษฐกิจประเทศกำลังฟื้นตัวและมีแนวโน้มที่จะยังคงฟื้นตัวต่อไป แม้ว่าจะอยู่ในอัตราปานกลาง
Ueda ไม่เชื่อมั่นว่าเงินเยนที่อ่อนแอจะส่งผลในทางลบต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น ในทางกลับกัน การอ่อนแอดังกล่าวนั้นส่งผลดีต่อการส่งออกและกำไรของบริษัทญี่ปุ่นที่ดำเนินงานในตลาดโลก ดังนั้น ผู้ว่าการฯ จึงไม่มั่นใจเกี่ยวกับคำสั่งที่จะออกและว่านโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่นควรจะเปลี่ยนไปมากน้อยเพียงใด “เราจะพิจารณายุตินโยบาย YCC และอัตราดอกเบี้ยติดลบ หากเราคาดว่า เงินเฟ้อจะเป็นไปตามเป้าหมายของเราในลักษณะที่มีเสถียรภาพและยั่งยืน” นาย Kadsuo Ueda กล่าวอย่างกำกวม
ในระหว่างนี้ Shun’ichi Suzuki รัฐมนตรีการคลังญี่ปุ่นได้ออกมากล่าวว่า เขาพร้อมที่ดำเนินมาตรการที่จำเป็นในกรณีที่เกิดแรงกดดันจากการเก็งกำไรเพิ่มขึ้นต่อค่าเงินประเทศ ด้านรองรัฐมนตรี Ryosei Akazawa เห็นด้วยกับหัวหน้าของเขา และเน้นย้ำว่า รัฐบาลจะเข้ามาแทรกแซงตลาดค่าเงินเพื่อรับมือกับความผันผวนที่สูงขึ้นมากเกินไป คำพูดของเจ้าหน้าที่ระดับสูงทั้งสองท่านนี้ยิ่งเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับเงินเยนญี่ปุ่น และเมื่อวันศุกร์ที่ 17 พฤศจิกายน ราคาก็ลงมาทำระดับต่ำสุดในกรอบที่ 149.19 และปิดตลาดที่สูงกว่านั้นเล็กน้อยที่ 149.56
ความหวังว่า BoJ จะเพิ่มความเข้มงวดในนโยบายทางการเงินยังคงปรากฏอยู่ในหมู่ผู้เล่นในตลาด นักยุทธศาสตร์จาก Danske Bank คาดการณ์ว่า แนวโน้มขาลงของ USD/JPY ต่ำกว่าระดับ 140.00 ภายใน 6-12 เดือนมีความเป็นไปได้ พวกเขามองว่าโดยหลักแล้วน่าจะเป็นเพราะผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ในระยะยาวขึ้นทำระดับสูงสุดแล้ว “เราคาดว่า ในช่วงปีที่จะถึงนี้ ส่วนต่างของผลตอบแทนจะช่วยทำให้ค่าเงินเยนญี่ปุ่นแข็งค่าขึ้น” “นอกจากนี้ สถิติในอดีตชี้ให้เห็นว่า สภาพแวดล้อมของโลกที่มีการเติบโตและเงินเฟ้อที่ชะลอตัวจะเป็นผลดีต่อเงินเยนให้แข็งค่าขึ้น”
เมื่อพูดถึงแนวโน้มในระยะใกล้ของคู่นี้ นักวิเคราะห์ 65% คาดว่าเงินเยนจะแข็งค่าขึ้นต่อ ในขณะที่ 35% คาดว่าดอลลาร์จะขึ้นทะยานรอบใหม่ ในส่วนการวิเคราะห์เชิงเทคนิคในกรอบ D1 การคาดการณ์ที่นี่ส่วนใหญ่เป็นกลาง ในขณะที่อินดิเคเตอร์เทรนด์และออสซิลเลเตอร์ให้อัตราส่วนระหว่างฝั่งสีเขียวและสีแดงที่ 50-50 โดยมีแนวรับอยู่ในโซน 149.20 ตามมาด้วย 148.40-148.70, 146.85-147.30, 145.90-146.10, 145.30, 144.45, 143.75-144.05, 142.20 ส่วนแนวต้านที่ใกล้ที่สุดอยู่ที่บริเวณ 150.00-150.15 จากนั้นคือ 151.70-151.90 (ระดับสูงสุดของเดือนตุลาคม 2022) ต่อมาคือ 152.80-153.15 และ 156.25
ทั้งนี้ ในสัปดาห์ที่จะถึงนี้ไม่มีแผนการประกาศสถิติที่สำคัญอื่นใดจากฝั่งเศรษฐกิจญี่ปุ่น
คริปโตเคอเรนซี: คุณจะได้เป็นเศรษฐีเงินล้านบิทคอยน์เมื่อไร?
- ตามสถิติที่บันทึกไว้โดย Wayback Machine พบว่ามูลค่าของบิทคอยน์ที่เพิ่มขึ้นทำให้เศรษฐีเงินล้านบิทคอยน์เพิ่มขึ้นเป็สามเท่านับตั้งแต่ต้นปีนี้ ณ วันที่ 12 พฤศจิกายน จำนวนเศรษฐีเพิ่มขึ้นเป็น 88,628 รายเทียบกับ 28,084 ราย เมื่อวันที่ 5 มกราคม โดยราคาบิทคอยน์เพิ่มขึ้นจาก $16,500 เป็น $37,000 ในช่วงเวลานี้
ล่าสุด เมื่อให้คำทำนายสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในมุมมองของ Mike Novogratz ซีอีโอของ Galaxy Digital เขาเชื่อว่า ภายใน 5 ปี ทองคำดิจิทัลจะขยับขึ้นไปถึง $500,000 แล้วจำนวนเศรษฐีเงินล้านจะเพิ่มขึ้นเป็นหลักล้านคนหรือไม่? แล้วหากราคา BTC สูงเกิน $1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามที่ทำนายโดย Catherine Wood ซีอีโอของ ARK Investment เราจะเข้าร่วมวงของเศรษฐีเหล่านี้ด้วยหรือไม่? แน่นอนว่าใคร ๆ ก็อยากให้ความฝันเหล่านี้เป็นจริง ตอนนี้เราจะมาลงลึกในรายละเอียดกันว่า ความฝันเหล่านี้จะเป็นจริงเพราะอะไร และจะล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่าเพราะอะไร
นักวิเคราะห์ Matrixport ได้ให้ปัจจัยขับเคลื่อน 6 ประการที่มีผลต่อราคาในทางบวก ได้แก่ 1) การอนุมัติกองทุน ETF บิทคอยน์ของ ก.ล.ต. ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2024 2) IPO ของ Circle ผู้ออกเหรียญ USDC 3) คำสั่งอนุญาตจากศาลให้เริ่มกลับมาให้บริการแพลตฟอร์ม FTX ในเดือนธันวาคม 2023 ซึ่งคาดว่าจะมีการกลับมาทำงานใหม่อีกครั้งในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 4) Halving ของบิทคอยน์ 5) การใช้กลไก EIP-4844 หลังจากการแยกตัวแบบ Dencun ในบล็อกเชน Ethereum ในไตรมาสแรกของปี 2024 และ 6) ความเป็นไปได้ที่นโยบายการเงินของธนาคารเฟดสหรัฐฯ จะผ่อนคลายลงภายในกลางปี 2024
เมื่อเจาะลึกลงไปในสองปัจจัยเหล่านี้ ปัจจัยแรกและปัจจัยที่สี่ ปัจจุบันกำลังมีบทบาทสำคัญในการเร่งการสะสมเหรียญ BTC ทำให้การสะสมเหรียญแซงหน้าอัตราการออกเหรียญใหม่ถึง 2.2 เท่า โดยมี 57% ของเหรียญที่หมุนเวียนอยู่ถูกเก็บระยะยาวอยู่ในวอลเล็ตที่นานกว่าสองปี พร้อมกันนั้น ปริมาณเหรียญจากผู้ถือเหรียญระยะสั้นและนักเก็งกำไรก็ลดลงเป็นอย่างมาก พฤติกรรมนี้ชี้ให้เห็นถึงภาวะขาดดุลอย่างมีนัยสำคัญในตลาดทองคำดิจิทัล และยิ่งเร่งตัวให้ราคาสูงขึ้น ผู้เชี่ยวชาญหลายคนคาดว่าแนวโน้มนี้จะยิ่งเข้มข้นขึ้นหลังจากมีการอนุมัติกองทุน ETFs สปอตและ Halving ที่จะมีขึ้นในปี 2024
รายงานจาก Glassnode ชี้ว่า นับตั้งแต่กลางปี 2022 เนื่องด้วยราคาสินทรัพย์คริปโตที่ลดลง นักขุดเหรียญถูกบีบให้ขายเหรียญเกือบทั้งหมดที่ขุดได้เพื่อนำมาชดเชยค่าใช้จ่ายและหนี้สินคิดเป็นเงินประมาณ $1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน หลังจาก Halving และผลตอบแทนจากการขุดเหรียญที่ลดลง 50% ปริมาณดังกล่าวคาดว่าจะลดลงเหลือ $0.5 พันล้านดอลลาร์ บางบริษัทอาจประสบปัญหาในการประคับประคองกิจการ การไหลเข้ามาของเหรียญคาดว่าจะลดลงจาก 81,000 เหลือ 40,500 ต่อไตรมาส การขาดแคลนเหรียญที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจึงช่วยดันราคาให้สูงขึ้นได้ ข้อมูลในอดีตชี้ว่าในช่วงปีหลัง Halvings ราคา BTC พุ่งขึ้นจาก 460% เป็น 7745%
มีการหารือกันอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับกระแสเงินมหาศาลจากนักลงทุนรายสถาบันที่อาจไหลเข้ามา หลังคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ (SEC) อนุมัติการเปิดกองทุน ETF สปอตบิทคอยน์ ในส่วนนี้ เราจะมาดูการคาดการณ์เพิ่มเติมบางส่วน นักวิเคราะห์จาก CryptoQuant ชี้ว่า มูลค่าตลาดคริปโตโดยรวมน่าจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว $1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในสถานการณ์นี้ โดยประมาณมี ~1% ของสินทรัพย์ที่อยู่ภายใต้การบริหารของบริษัทที่จะไหลเข้ามายังตลาดบิทคอยน์ และคาดว่าจะช่วยเพิ่มมูลค่ารวมในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลได้ถึง $450-900 พันล้านดอลลาร์ ในแง่ของราคา สิ่งนี้อาจช่วยให้ราคาขยับขึ้นในระยะสั้นสำหรับคู่ BTC/USD ไปที่ $50,000-73,000
นักวิเคราะห์จาก Bernstein คาดว่า ในกรณีที่ ETF บิทคอยน์ได้รับการอนุมัติ ราคาสินทรัพย์อาจขยับถึง $150,000 ภายในปี 2025 ด้าน LookIntoBitcoin แนะนำให้เก็บกำไรเมื่อเหรียญทำราคาขึ้นไปอย่างน้อยที่ $110,000 LookIntoBitcoin แนะนำให้เก็บกำไร เมื่อราคาขึ้นไปถึงอย่างน้อย $110,000 การกำหนดว่าราคาสูงสุดของ BTC จะไปถึงที่เท่าไรนั้น ผู้เชี่ยวชาญจาก LookIntoBitcoin คำนวณราคาสูงสุดของเหรียญ โดยคำนวณจากหลายปัจจัย ได้แก่ ช่วงเวลาระหว่างการขุด BTC และการนำไปใช้จ่าย รวมถึงปริมาณเหรียญที่หมุนเวียน การคำนวณชี้ให้เห็นว่า บิทคอยน์จะไปถึงราคาสูงสุดในช่วงตลาดกระทิงรอบถัดไป คาดว่าจะสิ้นสุดลงในช่วงปลายปี 2025 ในส่วนระยะยาวที่ยาวนานกว่านั้น เราอาจดูการคาดการณ์จาก Mike Novogratz และ Catherine Wood ในช่วงห้าถึงเจ็ดปีข้างหน้า (ดูรายละเอียดด้านบน)
และในตอนนี้ก็มาถึงความเห็นของนักวิเคราะห์จาก JPMorgan ที่เรียกได้ว่าเป็นการเทน้ำเย็นใส่กองไฟดับฝันแฟน ๆ คริปโตทั้งหลาย ไม่นานมานี้ JPMorgan ได้เผยแพร่รายงานที่ตั้งข้อกังขาต่อความคาดหวังของนักลงทุน ประเด็นสำคัญในรายงานฉบับนี้มีดังนี้ 1) กองทุนสปอต ETF จะทำให้เงินทุนเปลี่ยนมือจากผลิตภัณฑ์การลงทุนที่มีอยู่แล้ว (เช่น Grayscale Bitcoin Trust) แต่จะไม่สร้างอุปสงค์ใหม่ ๆ ขึ้นมา 2) คดีความที่ SEC แพ้ (ต่อ Ripple และ Grayscale) ไม่ได้เพิ่มความไว้ใจในการกำกับดูแลคริปโต และส่งเสริมการสร้างกรอบการกำกับดูแลให้เป็นรูปธรรม สถานการณ์จะมีแต่เคร่งครัดมากขึ้น 3) ผลกระทบของ halving นั้นคาดการณ์ไม่ได้ เพราะราคาตลาดปัจจุบันได้เก็งว่าจะมีการลดผลตอบแทนอยู่แล้ว
แล้วมีอะไรรอบิทคอยน์อยู่กันแน่? นี่คือคำถามที่ถามโดย Peter Schiff ประธาน Euro Pacific Capital, และผู้ที่มีฉายาว่าเป็น “แมลงทอง” และเป็นนักวิจารณ์บิทคอยน์ตัวยงได้สร้างโพลสำรวจบน X (ก่อนหน้านี้คือ Twitter) ว่าบิทคอยน์จะล่มสลายลงเมื่อไร คำตอบไม่ได้ทำให้เขาถูกใจนัก เพราะผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่ (68.1%) เชื่อว่าควรจะซื้อสินทรัพย์นี้และถือครองไว้ 23% ของผู้ที่ตอบแบบสำรวจทำนายว่า เหรียญนี้จะล่มสลายลงหลังจากมีการเปิดกองทุน ETF บิทคอยน์สปอต มี 8.9% เท่านั้นที่โหวตว่าการล่มสลายลงจะเกิดขึ้นก่อนการให้บริการกองทุน ETF เหล่านี้
ตอนนี้มาถึงสถานการณ์ปัจจุบัน นักวิเคราะห์จากแพลตฟอร์ม Bitfinex เตือนว่า ราคาบิทคอยน์ได้ขยับถึงระดับสูงสุดในกรอบและอาจมีการปรับฐานในเร็ว ๆ นี้ รายงานของแพลตฟอร์มระบุว่า ปัจจุบัน ราคาเฉลี่ยของผู้ถือเหรียญระยะสั้น (STH RP) ของ BTC อยู่ที่ $30,380 ในอดีตนั้น สิ่งนี้บ่งบอกว่าราคาเหรียญได้ขยับถึงราคาสูงสุดและอาจมีการปรับฐานไปยังระดับ STH RP คือตกลงมาที่ช่วง $30,000–$31,000 นักวิเคราะห์ที่มีชื่อว่า Doctor Profit ก็คาดว่าจะมีการปรับฐานของราคาเช่นกัน โดยเชื่อว่าในการปรับฐานครั้งหน้าหลังจากแนวโน้มที่เป็นบวกจะพาราคา BTC กลับมาอยู่ที่บริเวณ $34,000 “ตลาดกำลังคุกรุ่นในขณะนี้ การปรับฐานจะเกิดขึ้นไม่ช้าก็เร็ว” เขาเขียนลงในบล็อกเล็ก ๆ ของเขา
ในทางกลับกัน นักวิเคราะห์ Matrixport เชื่อว่า การตัดผ่านเหนือระดับ $36,000 จะดันราคาบิทคอยน์ให้ไปถึงแนวต้าน $40,000 หลังจากนั้นจะเป็นการปูทางไปยัง $45,000 ซึ่งราคาอาจไปถึงได้ภายในสิ้นปี 2023 “เนื่องด้วยการเติบโตที่มั่นคงของจำนวนผู้ซื้อในช่วงชั่วโมงซื้อขายสหรัฐฯ เราคาดว่าราคาอาจจะเพิ่มขึ้นภายในสิ้นเดือน (และสิ้นปี) การทะยานขึ้นอาจเริ่มต้นได้ทุกขณะ” ผู้เชี่ยวชาญกล่าวย้ำ
สมาชิกหลายคนในชุมชนคริปโตเห็นด้วยกับการคาดการณ์ในทางบวกของ Matrixport นักวิเคราะห์จาก CrediBULL Crypto เชื่อว่าอีกไม่นาน BTC พาราคาเหรียญขึ้นไปที่ $40,000 CryptoCon ก็มีความเห็นในทำนองเดียวกัน การคำนวณของเขาชี้ว่า BTC มี “เบาะรอง” สูงสุดที่ $47,000 ซึ่งเป็นระดับที่เขาเชื่อว่าจะสามารถไปถึงได้ในฤดูร้อนปี 2024 หลังจากนั้นการปรับฐานที่บริเวณ $31,000 คาดว่าน่าจะเกิดขึ้น CryptoCon มั่นใจว่าระยะการเติบโตอย่างต่อเนื่องจะเกิดขึ้นเพราะ Halving ของบิทคอยน์ในช่วงสิ้นปี 2024 ถึงต้นปี 2025
ณ ขณะที่เขียนบทรีวิวฉบับนี้ในวันศุกร์ที่ 17 พฤศจิกายน BTC/USD มีราคาซื้อขายอยู่ที่ $36,380 มูลค่ารวมในตลาดคริปโตอยู่ที่ $1.38 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ($1.42 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว) ด้านดัชนี Crypto Fear and Greed Index ลดลงมาจาก 70 เหลือ 63 จุด แต่ยังคงอยู่ในโซนความโลภ (Greed)
กลุ่มนักวิเคราะห์ NordFX
หมายเหตุ: เนื้อหาดังกล่าวไม่ควรยึดถือเป็นคำแนะนำในการลงทุนหรือเป็นคำปรึกษาในการซื้อขายในตลาดการเงิน โดยเนื้อหาข้างต้นเป็นไปเพียงเพื่อจุดประสงค์ในการให้ข้อมูลเท่านั้น การซื้อขายในตลาดการเงินมีความเสี่ยงและอาจทำให้เกิดการสูญเสียเงินฝากได้
กลับ กลับ