EUR/USD: ตลาดคาดการณ์การลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารเฟด
● เมื่อสัปดาห์สุดท้ายของปี 2023 เราได้เผยแพร่การคาดการณ์ของเราสำหรับ EUR/USD ของปีนี้ ส่วนตอนนี้เรากลับมายังรีวิวประจำสัปดาห์ทั่วไป ซึ่งกลุ่มนักวิเคราะห์ NordFX ได้จัดทำมากว่าสิบปีแล้ว
กิจกรรมหลักของสัปดาห์ที่ผ่านมานี้แน่นอนว่าเป็นสถิติเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ซึ่งมีการประกาศสถิติเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 11 มกราคม แสดงให้เห็นว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ขยับขึ้นมา 3.4% ปีต่อปี เมื่อเทียบกับการคาดการณ์ทั่วไปที่ 3.2% และตัวเลขครั้งก่อนหน้าที่ 3.1% ในส่วนตัวเลขรายเดือน สถิติผู้บริโภคก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกันที่ 0.3% เทียบกับการคาดการณ์ที่ 0.2% และตัวเลขครั้งก่อนหน้าที่ 0.1% ในทางกลับกัน ดัชนี CPI พื้นฐาน ซึ่งไม่รวมราคาอาหารและน้ำมัน ลดลงมาที่ 3.9% จากตัวเลขครั้งก่อนหน้าที่ 4.0% (ปีต่อปี)
● ทั้งนี้ ด้วยคำแถลงสายพิราบในงานแถลงข่าวเดือนธันวาคม นาย Jerome Powell ประธานธนาคารเฟดได้ให้ความหวังว่า เขาไม่ได้เป็นนักสู้ภาวะเงินเฟ้ออย่างที่เคยเป็นอีกต่อไป แปลว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ ในขณะนี้จะตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของตัวชี้วัดดังกล่าวอย่างยืดหยุ่นมากขึ้น ดังนั้น สถิติ CPI ที่ผสม ๆ กันจึงยิ่งทำให้ตลาดเชื่อว่า ธนาคารเฟดจะเริ่มผ่อนคลายนโยบายทางการเงินภายในปลายไตรมาสที่ 1 ปี 2024 ข้อมูลจาก CME Fedwatch ชี้ว่ามีโอกาสที่อัตราดอกเบี้ยจะถูกปรับลด 25 จุดพื้นฐานในเดือนมีนาคมที่ 68% ลดลงมาจาก 61% ก่อนการประกาศสถิติดังกล่าว ในระห่วางนี้ นักยุทธศาสตร์ที่ ING เครือธนาคารขนาดใหญ่ที่สุดในเนเธอร์แลนด์คาดว่าดอลลาร์จะอ่อนค่าลงเป็นอย่างมากในช่วงไตรมาสที่สอง: ในเวลานี้เองที่พวกเขาคาดว่า EUR/USD จะเริ่มทะยานขึ้นไปที่ 1.1500 จนกว่าจะถึงตอนนั้น ตลาดสกุลเงินจะยังคงค่อนข้างไม่มีเสถียรภาพล
● ในส่วนยูโรโซนมีการประกาศสถิติเมื่อวันจันทร์ที่ 8 มกราคม ซึ่งชี้ว่า สถานการณ์ในตลาดผู้บริโภคกำลังเลวร้าย แต่อาจไม่เลวร้ายอย่างที่คาดคิด ยอดค้าปลีกลดลง -1.1% ปีต่อปี ตัวเลขนี้ถึงแม้จะสูงกว่าตัวเลขครั้งก่อนหน้าที่ -0.8% แต่ก็ยังต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ -1.5% อยู่มาก
ในบริบทนี้ คำกล่าวจาก Isabel Schnabel กรรมการบริหารธนาคารกลางยุโรป (ECB) ดูเหมือนจะเป็นท่าทีสายเหยี่ยว เธอให้ความเห็นว่า ดัชนีที่บ่งชี้ถึงความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจในยูโรโซนน่าจะถึงจุดต่ำสุดแล้ว ในขณะที่ตลาดแรงงานยังคงมีเสถียรภาพ Schnabel ยังไม่ตัดโอกาสที่เศรษฐกิจยุโรปจะลงจอดอย่างนุ่มนวลและอัตราเงินเฟ้อกลับไปสู่เป้าหมายที่ 2.0% ภายในปี 2024 เธอให้ความเห็นว่า นี่ยังคงเป็นจริงได้อยู่ แต่จะต้องอาศัยการคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูง การขัดกันดังกล่าวระหว่างท่าทีสายเหยี่ยวของธนาคารกลางยุโรป และท่าทีสายพิราบของธนาคารฝั่งสหรัฐฯ นั้นช่วยหนุนเงินยูโร และป้องกันไม่ให้ EUR/USD ตกลงมาต่ำกว่า 1.0900
● สถิติเงินเฟ้ออุตสาหกรรมในสหรัฐฯ ที่ประกาศเมื่อช่วงปลายสัปดาห์เมื่อวันศุกร์ที่ 12 มกราคม ก็แสดงให้เห็นว่าดัชนีนี้ลดลงเช่นกัน แต่ไม่ได้มีผลต่อราคามากเท่าไรนัก ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) อยู่ที่ 1.8% ปีต่อปี (การคาดการณ์ที่ 1.9%, ตัวเลขครั้งก่อนหน้าอยู่ที่ 2.0%) และดัชนี PPI รายเดือนก็ลดลง -0.1% เหมือนกับในเดือนพฤศจิกายน (การคาดการณ์อยู่ที่ +0.1%)
หลังจากการประกาศสถิตินี้ EUR/USD ปิดท้ายสัปดาห์ที่ 1.0950 ในเวลานี้ ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญต่ออนาคตอันใกล้ของคู่นี้ยังไม่ให้ทิศทางที่ชัดเจน โดยความเห็นแบ่งออกเป็นสองกลุ่มเท่า ๆ กัน 50% โหวตว่าค่าเงินดอลลาร์จะแข็งค่า และ 50% จะอยู่ฝั่งยูโร ดัชนีการวิเคราะห์เชิงเทคนิคก็ดูค่อนข้างเป็นกลางเช่นกันน ในบรรดาอินดิเคเตอร์เทรนด์บนกรอบ D1 สมดุลระหว่างฝั่งสีแดงและสีเขียวอยู่ที่ 50% ต่อ 50% ในบรรดาออสซิลเลเตอร์มี 25% ที่ให้สีเขียว อีก 35% เป็นสีเทากลาง และ 40% ที่เหลือเป็นสีแดง โดยหนึ่งในสี่ให้สัญญาณว่าราคาอยู่ในโซน oversold โดยมีแนวรับที่ใกล้ที่สุดอยู่ในโซน 1.0890-1.0925 ตามมาด้วย 1.0865, 1.0725-1.0740, 1.0620-1.0640, 1.0500-1.0515, 1.0450 ฝั่งกระทิงจะเจอกับแนวต้านที่บริเวณ 1.0985-1.1015, 1.1185-1.1140, 1.1230-1.1275, 1.1350, และ 1.1475
● ในสัปดาห์หน้านี้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ การประกาศดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของเยอรมนีในวันอังคารที่ 16 มกราคม และยูโรโซนในวันพุธที่ 17 มกราคม นอกจากนี้ ในวันพุธจะมีการประกาศสถิติเกี่ยวกับตลาดค้าปลีกของสหรัฐฯ ในวันพฤหัสบดีที่ 18 มกราคม จะมีการประกาศดัชนียอดขอรับสวัสดิการว่างงานเบื้องต้นของสหรัฐฯ ในวันเดียวกันนั้น เรายังจะได้ทราบผลแบบสำรวจภาพรวมทางธุรกิจภาคการผลิตของธนาคารเฟดสาขาฟิลาเดลเฟีย และในวันศุกร์จะมีการประกาศดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคของ University of Michigan นอกจากนี้ นักเทรดยังต้องคำนึงด้วยว่า ในวันจันทร์ที่ 15 มกราคม จะเป็นวันหยุดสาธารณะในสหรัฐฯ เนื่องในวันมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์
GBP/USD: เงินปอนด์กลับมามีศักยภาพที่จะเติบโต
● ก่อนช่วงวันหยุดปีใหม่ GBP/USD ทำระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2023 โดยแตะที่ 1.2827 จากนั้นราคาก็ร่วงลงมามากกว่า 200 จุด ลงมาที่กรอบด้านล่างของช่องขาขึ้น และจากนั้นก็ตีกลับก่อนที่จะเริ่มขยับขึ้นอีกครั้ง ในขณะเขียนบทวิเคราะห์ฉบับนี้ ยังกล่าวอย่างมั่นใจได้ยากว่าเงินปอนด์ได้กลับมายังเทรนด์ขาขึ้นที่แข็งแกร่งแล้ว พฤติกรรมของสี่สัปดาห์สุดท้ายนั้นสามารถตีความได้ว่าเป็นเทรนด์ด้านข้าง หรือเทรนด์ไซด์เวยส์ รูปแบบที่คล้ายกันในโซนราคา 1.2600-1.2800 เคยปรากฏให้เห็นในเดือนสิงหาคม ซึ่งในเวลานั้นเป็นการเกิดขึ้นแค่เพียงชั่วคราวเท่านั้น ก่อนที่ราคาขาลงจะไปต่ออย่างมีแรงมากขึ้น จึงมีความเป็นไปได้ว่าเรากำลังสังเกตเห็นสถานการณ์ที่คล้ายกันในเวลานี้ แต่มีสัญญาณในทางบวกแทนสัญญาณลบ หากเป็นเช่นนี้จริง เราอาจได้เห็น GBP/USD ในโซน 1.3000-1.3150 ในช่วงไตรมาสแรก
● ในสัปดาห์ที่แล้ว สกุลเงินปอนด์ได้รับแรงหนุนจากข้อมูลเงินเฟ้อในสหรัฐฯ และการคาดการณ์เกี่ยวกับกระแสกลับมาเป็นสายพิราบของธนาคารเฟด สำนักงานสถิติแห่งชาติของสหราชอาณาจักร (ONS) ก็สนับสนุนเงินปอนด์ด้วยเช่นกัน โดยได้ประกาศรายงานเมื่อวันศุกร์ที่ 12 มกราคมว่า GDP ประเทศในเดือนพฤศจิกายนเติบโตขึ้นมา 0.3% เดือนต่อเดือน จากการคาดการณ์ที่ 0.2% และลดลงที่ -0.3% ในเดือนตุลาคม นอกจากนี้ ปริมาณการส่งออกทางการผลิตเพิ่มขึ้น 0.4% เดือนต่อเดือนในเดือนพฤศจิกายน (การคาดการณ์อยู่ที่ 0.3%, ตัวเลขครั้งก่อนหน้าคือ -1.2%) ในขณะเดียวกัน ดัชนี FTSE 100 เพิ่มขึ้น 0.8% ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติในทางบวกของตลาดและระดับการยอมรับความเสี่ยงได้ของผู้ร่วมตลาด
● GBP/USD ปิดท้ายสัปดาห์ที่ 1.2753 โดยนักเศรษฐศาสตร์ที่ Scotiabank ชี้ว่า เงินปอนด์จะคงโมเมนตัมกระทิงได้นั้น จะต้องสามารถยืนเหนือแนวต้านที่โซน 1.2800-1.2820 ได้อย่างแข็งแกร่ง พวกเขาเขียนระบุว่า “อย่างไรก็ตาม หากราคาไม่ฝ่าบริเวณ 1.2800 ไปได้สำเร็จ มันอาจเริ่มเหนื่อยล้า และพฤติกรรมราคาในช่วงเดือนที่ผ่านมายังคงก่อตัวเป็นลักษณะตลาดกระทิง"
แม้ว่าเงินปอนด์จะรักษาศักยภาพการเติบโตเอาไว้ได้ในระยะกลาง การคาดการณ์ของผู้เชี่ยวชาญในช่วงไม่กี่วันข้างหน้านี้ยังคงเป็นดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ได้เปรียบเทียบ 60% โหวตว่าราคาคู่นี้จะขยับลง 25% คาดว่าราคาจะขยับขึ้น และ 15% ยินดีที่จะไม่ให้ความเห็นใด ๆ ผลการวิเคราะห์ในทางตรงกันข้ามกับผู้เชี่ยวชาญ อินดิเคเตอร์แทบจะให้เสียงที่สอดคล้องกันสนับสนุนเงินปอนด์ ในส่วนออสซิลเลเตอร์บนกรอบ D1, 90% อยู่ฝั่งเงินปอนด์ (โดยมี 10% เป็นกลาง) และในส่วนอินดิเคเตอร์เทรนด์ ทั้งหมด 100% ชี้ไปยังทิศทางขาขึ้น ในกรณีที่ราคาขยับลงทิศใต้ ราคาจะเจอกับแนวรับและโซนแนวรับที่ 1.2720, 1.2650, 1.2600-1.2610, 1.2500-1.2515, 1.2450, 1.2330, 1.2210, 1.2070-1.2085 ในกรณีที่ราคาขยับขึ้น ราคาจะเจอกับแนวต้านที่ระดับ 1.2785-1.2820, 1.2940, 1.3000 และ 1.3140-1.3150
● ในส่วนสัปดาห์ที่จะถึงนี้ วันที่ที่สำคัญ ได้แก่ วันอังคารที่ 16 มกราคม ซึ่งจะมีการประกาศสถิติชุดใหญ่จากตลาดแรงงานของสหราชอาณาจักร ด้านดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) จะประกาศในวันพุธที่ 17 มกราคม และดัชนีค้าปลีกในสหราชอาณาจักรจะประกาศในวันศุกร์ที่ 19 มกราคม
USD/JPY: CPI สหรัฐฯ ทำผลงานได้ดีกว่า CPI ญี่ปุ่น
● ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) กำลังพิจารณาที่จะปรับลดตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อของปีงบประมาณ 2024 ให้อยู่ที่กลาง 2% ในรายงานรายไตรมาสที่จะมาถึง ซึ่งมีกำหนดจะเผยแพร่ในวันที่ 23 มกราคม ข่าวนี้เป็นข่าวที่รายงานโดยสำนักข่าว Jiji และอ้างอิงโดย Reuters เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 11 มกราคม อัตราค่าจ้างจริงองญี่ปุ่นลดลงมา 3.0% โดยการเติบโตในค่าจ้างมีการชะลอตัวอย่างหนัก ดัชนีราคาผู้บริโภคของโตเดียวต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ โดยลดลงจาก 2.7% เหลือ 2.4% เมื่อตีความสถิติเหล่านี้ นักวิเคราะห์เริ่มเก็งว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่นอาจชะลอการเพิ่มความเข้มงวดให้กับนโยบายทางการเงินแบบผ่อนปรนสุดขั้ว ตามเหตุผลดังกล่าวจึงมีการแนะนำให้นักเทรดเปิดคำสั่งเทรดซื้อ (long) กับคู่ USD/JPY
อย่างไรก็ตาม หลังจากราคาทำระดับสูงสุดที่ 146.41 เมื่อวันที่ 11 มกราคม ราคาก็กลับตัว และเริ่มที่จะลดลง อัตราเงินเฟ้อที่ลดลงในสหรัฐฯ ปรากฏว่าลดลงมากกว่าอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงในญี่ปุ่น การที่อัตราดอกเบี้ยของเงินเยนยังคงที่ระดับติดลบคือ -0.1% จึงไม่มีนัยสำคัญ สิ่งที่สำคัญมากยิ่งกว่าคือ อัตราดอกเบี้ยของดอลลาร์อาจลดลงมา 0.25% ในเร็ว ๆ นี้
● Mathias Cormann เลขาธิการองค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ได้แถลงล่าสุดว่า “ธนาคารกลางญี่ปุ่นมีโอกาสที่จะพิจารณาระดับการเพิ่มความเข้มงวดให้กับนโยบายทางการเงิน” อย่างไรก็ตาม เราได้รับฟังคำแถลงที่กำกวมและคลุมเครือมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง เราจึงมีความเห็นว่า การนำเสนอผลการวิเคราะห์เชิงเทคนิคของสถานการณ์ปัจจุบันโดยนักเศรษฐศาสตร์จากธนาคาร Societe Generale ของฝรั่งเศสนั้นจะมีความน่าสนใจมากยิ่งกว่า
"พวกเขาเขียนว่า USD/JPY ฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากทำระดับต่ำสุดในระยะกลางที่บริเวณ 140.20 ในช่วงปลายเดือนที่แล้ว ราคาได้กลับมายังราคาค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่รอบ 200 วัน (200 DMA) และมาถึงระดับต่ำสุดของเดือนตุลาคมที่ 146.60-147.40 ซึ่งทำหน้าที่เป็นโซนแนวต้านระยะกลาง หลังจากมีความพยายามอย่างไม่สำเร็จที่จะฝ่าเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ระยะ 50 วัน ที่ระดับ 146.41 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 11 มกราคม ราคาคู่นี้ก็ถอยกลับ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการเริ่มต้นของการย่อตัว “น่าสนใจที่จะได้เห็นว่าราคาจะสามารถพยุงเส้น 200 DMA ที่บริเวณ 143.40 ได้หรือไม่ หากไม่สำเร็จจะแปลว่า มีความเสี่ยงที่ราคาจะร่วงลงไปยังช่วง 140.20-139.60 อีกคร้ัง การฝ่าทะลุเหนือ 146.60-147.40 มีความจำเป็นเพื่อยืนยันการรีบาวด์ (ขาขึ้น) ที่ไปต่อ” นี่คือความเห็นจาก Societe General
● USD/JPY ปิดตลาดในสัปดาห์ที่แล้วที่ 144.90 (ที่น่าสนใจก็คือ พฤติกรรมราคาในปัจจุบันนั้นตรงกับทฤษฎีคลื่นที่เราเคยพูดถึงในบทวิเคราะห์ฉบับที่แล้วโดยสมบูรณ์) ในอนาคตอันใกล้ ผู้เชี่ยวชาญ 40% คาดว่าเงินเยนจะแข็งค่าขึ้น อีก 40% โหวตให้กับเงินดอลลาร์ และ 20% มีท่าทีเป็นกลาง ในส่วนอินดิเคเตอร์เทรนด์บนกรอบ D1 60% ชี้ไปยังทิศเหนือ ในขณะที่ 40% ที่เหลือชี้ไปยังทิศใต้ ในส่วนออสซิลเลเตอร์มี 70% ที่ให้สัญญาณสีเขียว (15% อยู่ในโซน overbought) 15% เป็นสีแดง และ 15% ที่เหลือเป็นสีเทากลาง ด้านระดับแนวรับที่ใกล้ที่สุดอยู่ในโซน 143.75-144.05 ตามมาด้วย 142.20, 141.50, 140.25-140.60, 138.75-139.05, 137.25-137.50, และ 136.00 ระดับแนวต้านอยู่ที่ 145.30, 146.00, 146.90, 147.50, 148.40, 149.80-150.00, 150.80, และ 151.70-151.90
● ในสัปดาห์ที่จะถึงนี้ไม่คาดว่าจะมีกิจกรรมที่สำคัญจากเศรษฐกิจญี่ปุ่น
สกุลเงินคริปโต: วัน X มาถึงแล้ว จะเกิดอะไรขึ้นต่อไป?
● สิ่งที่หลายคนได้พูดและวาดฝันถึงนั้นมาถึงแล้ว และก็เป็นไปตามการคาดการณ์ เมื่อวันที่ 10 มกราคม คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ (SEC) ได้อนุมัติคำขอยื่นเปิดกองทุน ETF บิทคอยน์ ผลที่ตามมาก็คือ กองทุนจาก Grayscale รวมถึง Bitwise และ Hashdex ได้รับการอนุมัติจากตลาดหุ้น NYSE Arca กองทุนของ BlackRock และ Valkyrie จะเปิดให้เทรดบนตลาด Nasdaq ด้าน CBOE จะเปิดให้บริการ ETFs จาก VanEck, Wisdom Tree, Fidelity, Franklin Templeton รวมถึงกองทุนรวมจาก ARK Invest/21 Shares และ Invesco/Galaxy
ทันทีหลังจากการอนุมัติ ทุกอย่างก็เป็นไปอย่างตรงกันข้าม คู่ BTC/USD ขยับขึ้นมาถึงแค่ $47,652 แทนที่ราคาจะทะยานขึ้น สาเหตุที่ราคาตอบสนองอย่างเฉื่อยชาดังกล่าวเป็นเพราะว่า ตลาดเก็งเหตุการณ์นี้ไว้อยู่แล้ว นอกจากนี้ หนึ่งวันก่อนหน้ายังมีกลุ่มแฮ็คเกอร์ได้เจาะเข้าบัญชีโซเชียลเน็ตเวิร์ค X ของ SEC (ก่อนหน้านี้คือ Twitter) และได้ทวีตข้อความปลอมเกี่ยวกับการอนุมัติกองทุน BTC-ETFs ที่รอคอยกันมาอย่างยาวนาน จากนั้นตลาดก็ตอบสนองต่อทวีตปลอมดังกล่าว ส่งผลให้ราคาบิทคอยน์ขึ้นไปที่ระดับ $48,000 หลังจากราคาถูกปฏิเสธ ราคาก็ร่วงลงมาและเมื่อวันที่ 10 มกราคม ราคาก็ได้ซ้ำรอยเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นหนึ่งวันก่อนหน้านี้
● สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงก็คือ SEC ไม่ได้ประทับใจเป็นพิเศษกับการตัดสินใจอนุมัติคำขอดังกล่าว คำขอเปิดกองทุน ETF สปอตแรกนั้นริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2013 โดยพี่น้องตระกูล Winklevoss (Cameron & Tyler Winklevoss) และถูกปฏิเสธในปี 2017 พอเวลาผ่านมาประมาณหกปี SEC ยังคงมีท่าทีไม่ยอมรับคริปโตอยู่ และการอนุมัติคำขอในปัจจุบันนั้นเป็นไปอย่างลังเลและอยู่ภายใต้แรงกดดัน คำแถลงโดยนาย Gary Gensler ประธาน SEC สหรัฐฯ นั้นทำการตัดสินใจโดยอ้างอิงจากคำตัดสินของศาลอุทธรณ์ในคดีความกับ Grayscale เกี่ยวกับการแปลงกองทุนทรัสต์เป็นกองทุน ETF สปอต ศาลตัดสินเอื้อประโยชน์ต่อ Graysale โดยระบุว่า SEC “ล้มเหลวในการให้เหตุผลอย่างชอบธรรมในการปฏิเสธ” หลังจากเหตุการณ์นั้น การชะลอการอนุมัติผลิตภัณฑ์ที่คล้ายกันก็ไม่สมเหตุสมผลอีกต่อไป
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 10 มกราคม Gensler ไม่ได้ปกปิดผลการประเมินในทางลบของเขา “แม้ว่ากองทุน BTC-ETFs จะได้รับการอนุมัติ เราไม่ได้สนับสนุนบิทคอยน์ นักลงทุนควรพิจารณาสารพัดความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับบิทคอยน์และผลิตภัณฑ์ที่มูลค่าผูกอยู่กับสกุลเงินคริปโต บิทคอยน์เป็นเพียงสินทรัพย์ที่มีลักษณะเก็งกำไรและผันผวนสูงที่ยังมีการใช้งานในกิจกรรมที่ผิดกฎหมาย เช่น ซอฟต์แวร์เรียกค่าไถ่ การฟอกเงิน การหลีกเลี่ยงมาตรการคว่ำบาตร และการสนับสนุนเงินให้แก่ผู้ก่อการร้าย ปัจจุบัน เราได้อนุมัติการจดทะเบียนและการเทรดหุ้นบิทคอยน์ใน ETP สปอตบางแห่ง แต่เราไม่ได้อนุมัติบิทคอยน์” ประธาน SEC ให้ข้อสรุป ซึ่งชัดเจนว่าการต่อสู้กับสินทรัพย์ดิจิทัลยังไม่สิ้นสุดลงง่าย ๆ
● เมื่อพูดถึงมุมมองในระยะสั้น นักวิเคราะห์หลายคนไม่คาดว่าราคาจะทะยานขึ้นอย่างมาก โดยชี้ว่าระดับที่ $48,500 เป็นระดับแนวต้านที่สำคัญ พวกเขาคาดการณ์ได้อย่างถูกต้อง หลังจาก BTC/USD ได้ฝ่าทะลุระดับนี้เมื่อวันที่ 11 กันยายน และปรากฏการณ์ “ขายตามข่าว” ก็เกิดขึ้น ซึ่งเป็นการปิดคำสั่งซื้อและเก็บกำไรขนานใหญ่ ผลที่ตามมาก็คือ ราคาย่อตัวอย่างรุนแรง ข้อมูลจาก Coinglass ชี้ว่า จำนวนคำสั่งเทรดคริปโตที่ถูกล้างไปมีมูลค่าประมาณ $209 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ในส่วนผลกระทบในระยะยาวของกองทุน ETF สปอตบิทคอยน์ จำเป็นต้องใช้เวลาในการประเมินอย่างรอบคอบ โดยอาจต้องรอเวลาประมาณหนึ่งสัปดาห์ให้กองทุนเริ่มให้บริการบนตลาดหลักทรัพย์ โดยคาดว่าจะได้รับข้อมูลปริมาณการซื้อขายประมาณช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ หากเราเปรียบเทียบกองทุน ETFs กับผลิตภัณฑ์อื่น ๆ คาดว่าจะมีเม็ดเงินประมาณ $1.2 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ที่ลงทุนในกองทุนเหล่านี้ในช่วงสองปีที่ผ่านมา โดยเจ็ดปีหลังเริ่มมีการเปิดให้บริการกองทุน ETF ทองคำเมื่อปี 2004 ราคาทองคำก็พุ่งขึ้นมาสี่เท่า และปัจจุบันกองทุน ETF ทองคำมีมูลค่ากว่า $100 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ในส่วนทองคำดิจิทัล นักวิเคราะห์จากธนาคาร Standard Chartered มองว่าการอนุมัติกองทุน ETF บิทคอยน์เป็นช่วงเวลาที่สำคัญของการยอมรับในสินทรัพย์ “บิทคอยน์น่าจะได้เห็นการเติบโตที่ใกล้เคียงกับผลิตภัณฑ์การเทรดที่คล้ายกันกับทองคำ” “แต่นี่คาดว่าจะเกิดขึ้นจริงในช่วงระยะเวลาที่สั้นกว่า ไม่ใช่ 7-8 ปี อย่างในกรณีของทองคำ แต่เป็น 1-2 ปี หากพิจารณาวิวัฒนาการอันรวดเร็วของตลาดคริปโต” ธนาคารฯ คาดการณ์ราคาบิทคอยน์ว่ามีศักยภาพที่จะขึ้นไปถึง $200,000 ภายในสิ้นปี 2025 ธนาคาร Standard Chartered ประเมินว่า ภายในสิ้นปี 2024 กองทุน ETF อาจมีเหรียญบิทคอยน์หมุนเวียนอยู่ที่ระหว่าง 437,000 BTC และ 1.32 ล้าน BTC ซึ่งเท่ากับเงินที่ไหลเข้ามาในตลาดประมาณ $50-100 พันล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งจะสร้างแรงขับเคลื่อนที่สำคัญให้กับบิทคอยน์
Chamath Palihapitiya นักลงทุนก็แสดงความคิดเห็นที่ใกล้เคียงกัน เขาเชื่อว่าปี 2024 อาจเป็นปีที่สำคัญมากที่สุดของบิทคอยน์ เศรษฐีพันล้านท่านนี้ให้ข้อสังเกตในพอดแคสต์ All-In ตอนล่าสุดว่า การอนุมัติกองทุน ETF สปอตบิทคอยน์จำนวนมากน่าจะเป็น “ตัวพลิกเกมให้กับ BTC” ซึ่งอาจทำให้บิทคอยน์ได้รับการยอมรับในวงกว้างในที่สุด Palihapitiya ยังเสริมด้วยว่าในกรณีนี้ ภายในสิ้นปี 2024 จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบการเงินดั้งเดิม
● CoinDesk รายงานว่า ความสัมพันธ์ในรอบ 40 วันระหว่างทองคำดิจิทัลและดัชนีเทคโนโลยี Nasdaq 100 ได้ลดลงเหลือ 0 ในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ของราคาดังกล่าวเคยเป็นบวก โดยอยู่ในช่วงตั้งแต่ปานกลาง (0.15) ไปจนถึงแข็งแกร่ง (0.8) อินดิเคเตอร์นี้แตะระดับสูงสุดในช่วงตลาดหมีปี 2022 ปัจจุบัน บิทคอยน์ได้ “แยกตัวออกจาก” Nasdaq แล้วโดยสิ้นเชิง การรีเซ็ตความสัมพันธ์อาจยิ่งช่วยเพิ่มศักยภาพให้กับบิทคอยน์ในฐานะเครื่องมือการกระจายความเสี่ยงที่น่าสนใจให้กับพอร์ตการลงทุน จึงยิ่งช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับเหรียญ
Henrik Zeberg นักยุทธศาสตร์มหภาคคาดการณ์ตลาดกระทิงที่วิเศษในปี 2024 พวกเขามองว่า พฤติกรรมของสินทรัพย์ดิจิทัลในปีนี้ถูกขับเคลื่อนโดยผู้เล่นรายใหญ่ ซึ่งจะเป็นการเคลื่อนที่แบบ “พาราโบลิก” “บิทคอยน์จะระเบิดอย่างแน่นอน มันจะระเบิดขึ้นเป็นแนวตั้ง ผมคิดว่าเราจะไปถึงอย่างน้อย $115,000 มันคือการคาดการณ์อย่างถ่อมตัวที่สุดของผม ระดับ $150,000 ก็ค่อนข้างจะเป็นจริงได้ และผมยังเห็นราคาที่ $250,000 ด้วย” นักเศรษฐศาสตร์ท่านนี้กล่าว
Zeberg กล่าวเสริมว่า เนื่องด้วยการเข้ามาของนักลงทุนรายสถาบันและนักลงทุนดั้งเดิม หลังการอนุมัติกองทุน ETFs บิทคอยน์ สี่เดือนแรกของปี 2024 “อาจเป็นเดือนที่ “น่าประทับใจอย่างยิ่ง” สำหรับตลาดคริปโต ทุกคนที่ไม่ได้คาดการณ์วัฎจักรกระทิงรอบแรกและรอบที่สองจะพูดว่า “โห ฉันพลาดไปแล้วสองครั้ง แต่ครั้งนี้ฉันจะไม่พลาด” อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญท่านนี้เชื่อว่า ตลาดดั้งเดิมกำลังประสบ “การทรุดตัวที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่ปี 1929” เมื่อภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ
PlanB นักวิเคราะห์ชื่อดังเชื่อว่า มูลค่าของบิทคอยน์อาจไปถึงกรอบระหว่าง $100,000 และ $1 ล้านดอลลาร์ฯ ในเร็ว ๆ นี้ เขาอธิบายว่า เขาไม่คาดว่า BTC จะร่วงลง เพราะระดับการยอมรับอยู่ที่ 2-3% เท่านั้น ตามพัฒนาการขององค์กรแบบเส้นโค้ง S และกฎ Metcalfe ความสามารถในการทำกำไรที่ลดลงของสินทรัพย์ไม่น่าจะเกิดขึ้นเมื่อระดับการยอมรับลดลงต่ำกว่า 50% ดังนั้น นักวิเคราะห์มีความเห็นว่า “บิทคอยน์อาจมีการเติบโตแบบก้าวกระโดดในอีกสองหรือสามปีข้างหน้า”
● ในบรรดาผู้ที่มีทัศนคติในแง่บวก ก็มีผู้ที่คาดการณ์สถานการณ์ในทางลบเช่นกัน เราเคยพูดถึงคนกลุ่มนี้ไปแล้วในสองสัปดาห์ที่แล้วในบทรีวิวฉบับพิเศษ “การคาดการณ์ปี 2024: บิทคอยน์เมื่อวานนี้ วันพรุ่งนี้ และวันข้างหน้า” ในเวลานี้ ควรจะให้ความสำคัญกับคำพูดล่าสุดจาก Jim Cramer พิธีกรทีวีและผู้ก่อตั้งเฮดจ์ฟันด์ Cramer & Co. เขากล่าวว่า ราคาบิทคอยน์ทำระดับสูงสุดแล้วและไม่คาดว่าจะมีการเติบโตขึ้นต่อไปได้ เขาให้การคาดการณ์ดังกล่าวทันทีที่ราคาบิทคอยน์ผ่านระดับ $47,000 เมื่อสังเกตราคาบิทคอยน์ระหว่างวันที่ 11-12 มกราคมที่ผ่านมา ยิ่งชูประเด็นคำถามขึ้นมาว่า “นาย Jime Cramer อาจจะทำนายถูกต้องหรือไม่?”
ณ ช่วงเย็นวันที่ 12 มกราคม ขณะที่มีการเขียนรีวิวฉบับนี้ BTC/USD กำลังเผชิญกับแนวโน้มขาลงครั้งใหญ่ที่บริเวณ $43,000 มูลค่ารวมของตลาดคริปโตอยู่ที่ $1.70 ล้านล้านดอลลาร์ ขึ้นมาจาก $1.67 ล้านล้านดอลลาร์ในสัปดาห์ที่แล้ว ด้านดัชนี Bitcoin Fear & Greed Index ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาลดลงจาก 72 เหลือ 71 จุด และยังคงอยู่ในโซนความโลภ (Greed)
● ตรงกันข้ามกับผลงานของบิทคอยน์ อัลท์คอยน์ผู้นำมีอัตราการเติบโตที่น่าประทับใจกว่ามากในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดย ETH/USD เริ่มต้นจากที่ระดับ $2,334 เมื่อวันที่ 10 มกราคม ขึ้นมาถึงระดับสูงสุดที่ $2,711 เมื่อวันที่ 12 มกราคม โดยทำราคาขึ้นมา 16% ที่น่าสนใจก็คือ การทะยานขึ้นครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากประธาน SEC กล่าวแถลง โดยเน้นย้ำถึงการตัดสินใจในทางบวกในประเด็นการให้บริการผลิตภัณฑ์กองทุนบิทคอยน์ นาย Gary Gensler ชี้แจงว่า การตัดสินใจดังกล่าว “ไม่ได้เป็นการให้สัญญาณความพร้อมในการอนุมัติมาตรฐานการจดทะเบียนให้กับสินทรัพย์คริปโตให้เป็นหลักทรัพย์แต่อย่างใด” สิ่งที่ควรคำนึงก็คือ SEC ยังคงมองว่าบิทคอยน์เป็นแค่สินค้าโภคภัณฑ์เท่านั้น ในขณะเดียวกันก็มอง “สกุลเงินคริปโตส่วนใหญ่เป็นสัญญาในการลงทุน (เช่น หลักทรัพย์)” ดังนั้น ความหวังที่จะมีการให้บริการกองทุน ETF สปอตของ Ethereum และเหรียญทางเลือกอื่น ๆ ยังคงริบหรี่
แต่ท่ามกลางสถานการณ์ที่อาจดูมืดมน ETH กลับพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว การตอบสนองของตลาดเป็นอะไรที่ตีความได้ยาก อย่างไรก็ตาม ในช่วงท้ายวันศุกร์ที่ 12 มกราคมที่ผ่านมา Ethereum เดินตามรอยบิทคอยน์โดยขยับลงมา และเริ่มต้นวันเสาร์ที่โซน $2,500
กลุ่มนักวิเคราะห์ NordFX
หมายเหตุ: เนื้อหาดังกล่าวไม่ควรยึดถือเป็นคำแนะนำในการลงทุนหรือเป็นคำปรึกษาในการซื้อขายในตลาดการเงิน โดยเนื้อหาข้างต้นเป็นไปเพียงเพื่อจุดประสงค์ในการให้ข้อมูลเท่านั้น การซื้อขายในตลาดการเงินมีความเสี่ยงและอาจทำให้เกิดการสูญเสียเงินฝากได้
กลับ กลับ