EUR/USD: เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีเซอร์ไพรส์
● กิจกรรมที่สำคัญที่สุดในสัปดาห์ที่แล้วเกิดขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 25 มกราคม ในวันดังกล่าว ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้จัดการประชุมขึ้น และมีการประกาศดัชนี GDP เบื้องต้นของสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 4 ปี 2023
ทุกอย่างเป็นไปตามความคาดหมาย ธนาคารกลางยุโรปคงอัตราดอกเบี้ยที่ 4.50% ซึ่งธนาคารยังคงหลักเกณฑ์ที่สำคัญอื่น ๆ ของนโยบายทางการเงิน ในการแถลงข่าวหลังการประชุม นาง Christine Lagarde ประธานธนาคารกลางยุโรปหลีกเลี่ยงที่จะให้ความเห็นเกี่ยวกับกำหนดเวลาที่เป็นไปได้ในการลดอัตราดอกเบี้ย เธอเน้นย้ำคำกล่าวในอดีตว่า กรรมการบริหารธนาคารกลางยุโรปเชื่อว่า ยังเร็วเกินไปที่จะหารือเรื่องการผ่อนคลายนโยบาย อย่างไรก็ตาม Lagarde กล่าวย้ำว่า การเติบโตของรายได้ลดลงแล้ว และเสริมว่าพวกเขาคาดหวังว่าเงินเฟ้อจะถูกปรับลดลงต่อไปตลอดปี 2024
● โดยรวมแล้ว กิจกรรมแรกผ่านไปโดยไม่มีเซอร์ไพรส์ใด ๆ ต่างจากเหตุการณ์ที่สอง ข้อมูล GDP เบื้องต้นในไตรมาสที่ 4 ปี 2023 ซึ่งประกาศโดยสำนักงานการวิเคราะห์เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ชี้ว่า อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจอเมริกันชะลอตัวเมื่อเทียบกับอัตราที่สูงอย่างยิ่งในไตรมาสที่ 3 (4.9%) อยู่ที่ 3.3% ตามตัวเลขรายปี อย่างไรก็ตาม นี่คือการคาดการณ์ที่สูงมากของตลาด ซึ่งคาดว่าจะมีการชะลอตัวยิ่งขึ้นที่ 2.0% ดังนั้น ผลปรากฏว่าตลอดปี 2023 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจสหรัฐฯ เติบโต 2.5% (เทียบกับ 1.9% ในปี 2022) ดัชนีดังกล่าวยืนยันความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ต่อวัฎจักรการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ช่วงปี 1980s แทนที่จะเป็นการชะลอตัวของเศรษฐกิจตามความคาดหมาย โดยยังคงเติบโตในอัตราที่สูงกว่าแนวโน้มในอดีต (1.8%)
ผลลัพธ์ที่น่าประทับใจเหล่านี้เป็นสิ่งที่เซอร์ไพรสต์ตลาด สถิติเหล่านี้ดู “ดีเยี่ยม” เมื่อเทียบกับผลการดำเนินงานของสกุลเงินอื่น ๆ เช่น GDP ของญี่ปุ่นยังคงถอยกลับมายังระดับช่วงก่อนโควิด-19 และ GDP ของยูโรโซนดูจะอยู่ในช่วงหยุดชะงักสักระยะหนึ่งแล้ว สถานการณ์นี้เป็นผลดีต่อดอลลาร์ เพราะเศรษฐกิจที่เสถียรจะช่วยให้ธนาคารเฟดสามารถชะลอการเริ่มใช้นโยบายการผ่อนคลายทางการเงิน และคงมาตรการจำกัดทางการเงินได้อีกระยะหนึ่ง ตามราคาอ้างอิงฟิวเจอร์ส CME มีความเป็นไปได้ที่จะลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนมีนาคมในเวลานี้อยู่ที่ 47% เกือบครึ่งหนึ่งของของที่เคยคาดการณ์ไว้เมื่อเดือนก่อนหน้า (88%) ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเชื่อว่า ธนาคารเฟดจะค่อย ๆ เริ่มลดดอกเบี้ยไม่เกินเดือนพฤษภาคมหรือเดือนมิถุนายน โดยต้องรอสัญญาณยืนยันว่าเงินเฟ้อจะชะลอตัวได้อย่างยั่งยืนก่อน
สำนักงานสถิติแรงงานสหรัฐฯ ก็รายงานเมื่อวันที่ 25 มกราคมเช่นกันว่า จำนวนยอดขอรับสวัสดิการว่างงานเบื้องต้นในสัปดาห์จนถึงวันที่ 20 มกราคม เพิ่มขึ้นมาถึง 214kK สูงกว่าตัวเลขของสัปดาห์ที่แล้วและตัวเลขคาดการณ์ที่ 200K ถึงแม้ว่าจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ตัวเลขจริงยังถือว่าเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว
● อย่างที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ สถานการณ์เศรษฐกิจในยูโรโซนดูจะแย่กว่ามาก หลังได้รับผลจากเหตุการณ์รัสเซียบุกรุกยูเครนและเศรษฐกิจขาลงของจีน ซึ่งเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญของยุโรป ท่ามกลางสถานการณ์เหล่านี้ ธนาคารกลางยุโรปอาจกลายเป็นธนาคารกลางที่เร่งรีบลดอัตราดอกเบี้ยมากที่สุดในหมู่ธนาคารกลางของกลุ่มประเทศ G10 การดำเนินการดังกล่าวจะยิ่งเสริมแรงกดดันที่สำคัญต่อค่าเงินยูโร จึงทำให้ยูโรเสียเปรียบในตลาดแคร์รีเทรด นอกจากนี้ อีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามคือความได้เปรียบของดอลลาร์ในฐานะสกุลเงินปลอดภัย
● ดัชนีดอลลาร์ DXY มีแนวรับที่สำคัญอยู่ที่ระดับ 100.00 ในช่วงปลายปีที่แล้ว จากนั้นก็รีบาวด์ขึ้นมา และคงตัวอยู่ที่บริเวณ 103.00 ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่นมา ซึ่งดูเหมือนว่ากำลัง “เกาะ” อยู่กับเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 200 วัน ผู้เล่นในตลาดต่างกำลังรอการประชุมของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (FOMC) ของธนาคารเฟด ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นในวันพุธที่ 31 มกราคมนี้ ท่ามกลางสถิติ GDP ที่แข็งแกร่งและการผ่อนคลายของภาวะเงินเฟ้ออย่างเห็นได้ชัด มีความเป็นไปได้ว่า อัตราดอกเบี้ยอาจจะคงอยู่ที่ระดับปัจจุบัน (5.50%) ต่อไป นอกจากนี้ ยังคาดการณ์กันว่าคำกล่าวของนาย Jerome Powell ประธานธนาคารเฟดน่าจะฟังดูมีท่าทีที่ระมัดระวัง คล้ายกันกับของฝั่งธนาคารกลางยุโรป อย่างไรก็ดี น้ำเสียงที่เอนไปทางการลดอัตราดอกเบี้ยมากกว่าของเขาอาจจะเพียงพอที่ฟื้นความเชื่อมั่นให้กับตลาด ให้มีการเริ่มผ่อนคลายนโยบายทางการเงินตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมก็เป็นไปได้ ในกรณีนี้ ดัชนี DXY อาจเริ่มเคลื่อนที่ไปยังระดับ 100.00 หรือไม่เช่นนั้น การกลับมายังทำระดับสูงสุดใหม่ของเดือนธันวาคมที่ 104.28 ก็ดูค่อนข้างมีความเป็นไปได้
● สถิติค่าใช้จ่ายในการบริโภคส่วนตัวในสหรัฐฯ ประกาศในช่วงปลายสัปดาห์ เมื่อวันศุกร์ที่ 26 มกราคม โดยดัชนีค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนตัวพื้นฐาน (Core PCE) เพิ่มขึ้นรายเดือนจาก 0.1% เป็น 0.2% ซึ่งตรงกับการคาดการณ์โดยสมบูรณ์ ดัชนีรายปีอยู่ที่ 2.9% ซึ่งต่ำกว่าทั้งดัชนีครั้งก่อนหน้า (3.2%) และตัวเลขคาดการณ์ (3.0%)
ตัวเลขเหล่านี้ไม่มีผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนมากนัก และ EUR/USD ปิดท้ายสัปดาห์ที่ 1.0854 ในขณะนี้ ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้นในอนาคตอันใกล้ ซึ่งมี 80% โหวตว่าดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้น 0% ให้ฝั่งยูโร และส่วน 20% ที่เหลือมีท่าทีเป็นกลาง อย่างไรก็ตาม ในมุมมองรายเดือน สมดุลอำนาจระหว่างฝั่งกระทิง (สีแดง) ฝั่งหมี (สีเขียว) และฝั่งกลาง (สีเทา) แบ่งออกเป็นกลุ่มต่าง ๆ อย่างเท่ากันอย่างละหนึ่งในสาม ด้านออสซิลเลเตอร์บนกรอบ D1 ให้ผลลัพธ์ที่ยืนยันการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์: 100% ให้สีแดง (15% ชี้ว่าราคาอยู่ในสภาวะ oversold) ในส่วนอินดิเคเตอร์เทรนด์ มีอัตราส่วนคือ 65% เห็นด้วยกับฝั่งสีแดง และ 35% ให้สีเขียว ด้านระดับแนวรับที่ใกล้ที่สุดของคู่นี้อยู่ที่โซน 1.0800-1.0820 ตามมาด้วย 1.0725-1.0740, 1.0620-1.0640, 1.0500-1.0515 และ 1.0450 ด้านกระทิงจะเจอกับแนวต้านที่บริเวณ 1.0905-1.0925, 1.0985-1.1015, 1.1110-1.1140, 1.1230-1.1275, 1.1350 และ 1.1475
● ในช่วงสัปดาห์ที่จะถึงนี้ นอกเหนือจากการประชุมของ FOMC และงานแถลงข่าวที่ตามมาแล้ว เรายังคาดหวังว่าจะมีการเผยแพร่สถิติ GDP ไตรมาสที่ 4 ของเยอรมนีและยูโรโซนในวันอังคารที่ 30 มกราคม ส่วนในวันพุธ เราจะได้ทราบดัชนียอดค้าปลีกและดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในเยอรมนี รวมถึงสถานะการจ้างงานในภาคเอกชนของสหรัฐฯ จาก ADP ในวันพฤหัสบดีที่ 1 กุมภาพันธ์ จะมีการประกาศดัชนีเงินเฟ้อ (CPI) ของยูโรโซนและดัชนีกิจกรรมทางธุรกิจในภาคการผลิตของสหรัฐฯ (PMI) นอกจากนี้ ในวันที่ 1 และ 2 กุมภาพันธ์ เราจะได้รับทราบสถิติชุดใหญ่จากตลาดแรงงานสหรัฐฯ รวมถึงอัตราการว่างงานและจำนวนตำแหน่งงานใหม่นอกภาคการเกษตร (ดัชนี Non-Farm Payrolls, NFP)
GBP/USD: อัตราเงินเฟ้อยังคงช่วยหนุนเงินปอนด์
● รายงานค้าปลีกที่ประกาศเมื่อวันที่ 19 มกราคมในสหราชอาณาจักรปรากฏว่าดูน่าผิดหวัง ปริมาณยอดค้าปลีกในเดือนธันวาคมลดลง -3.2% หลังจากที่เคยเพิ่มขึ้น 1.4% ในเดือนก่อนหน้า ในขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะลดลง -0.5% ดัชนีปีต่อปีนี้ลดลง -2.4% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนก่อนหน้า (การคาดการณ์เดิมอยู่ที่ -1.1%) ยอดขายที่ไม่รวมเชื้อเพลิงลดลง -3.3% เดือนต่อเดือน และ -2.1% ปีต่อปีจากการคาดการณ์ของผู้เชี่ยวชาญที่ -0.6% และ -1.3% ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม GBP/USD ไม่ใช่แค่รักษาระดับไว้ในกรอบด้านข้างระยะเวลา 6 สัปดาห์ที่ 1.2600-1.2800 เท่านั้น แต่ยังพยายามจะขึ้นไปด้านบนของกรอบด้วย นักวิเคราะห์เชื่อว่าเงินปอนด์น่าจะได้รับแรงหนุนจากธนาคารแห่งชาติอังกฤษ (BoE) ต่อไป จึงน่าจะเป็นธนาคารแห่งสุดท้ายที่ปรับอัตราดอกเบี้ยลดลงในปีนี้
● ทั้งนี้ สถิติเงินเฟ้อในเดือนธันวาคมชี้ให้เห็นว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในสหราชอาณาจักรเพิ่มขึ้นเดือนต่อเดือน จาก -0.2% เป็น 0.4% (การคาดการณ์รวมที่ 0.2%) และดัชนีปีต่อปีอยู่ที่ 4.0% (เทียบกับตัวเลขครั้งก่อนหน้าอยู่ที่ 3.9% และการคาดการณ์ที่ 3.8%) ดัชนี Core CPI ยังคงที่ที่ระดับเดิม 5.1% ปีต่อปี หลังการประกาศรายงานดังกล่าว ซึ่งแสดงให้เห็นว่าภาวะเงินเฟ้อยังคงสูงขึ้น นาย Rishi Sunak นายกรัฐมนตรีอังกฤษรีบสร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาด เขากล่าวว่า แผนเศรษฐกิจของรัฐบาลยังคงแข็งแกร่งและได้ผล โดยลดอัตราเงินเฟ้อจาก 11% ได้เหลือ 4% อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีถ้อยคำในทางบวกจากนายกรัฐมนตรี ผู้เล่นในตลาดหลายรายยังคงเชื่อว่า ธนาคารแห่งชาติอังกฤษจะชะลอการเริ่มผ่อนคลายนโยบายทางการเงินไปจนกว่าจะถึงสิ้นปี “มีความกังวลเพิ่มขึ้นว่า กระบวนการผ่อนคลายเงินเฟ้ออาจหยุดชะงักลง” นักเศรษฐศาสตร์ Commerzbank เขียนว่า “และตลาดน่าจะเดิมพันว่าธนาคารแห่งชาติอังกฤษจะตอบสนองตามสถานการณ์ และดังนั้นน่าจะระมัดระวังมากขึ้นเกี่ยวกับจังหวะเวลาที่จะลดอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรก”
● ค่าเงินปอนด์ยังได้รับแรงหนุนจากสถิติเบื้องต้นของกิจกรรมทางธุรกิจในประเทศ ซึ่งประกาศเมื่อวันพุธที่ 24 มกราคมที่ผ่านมา ดัชนี PMI ภาคการผลิตขยับขึ้นจาก 46.2 เป็น 47.3 เทียบกับตัวเลขคาดการณ์ที่ 46.7 นอกจากนี้ ดัชนี PMI ภาคบริการ และดัชนี Composite PMI ยังคงตัวอยู่ในโซนเติบโตอย่างมั่นคง (อยู่เหนือระดับ 50) ด้านดัชนี PMI ภาคบริการเพิ่มขึ้นจาก 53.4 เป็น 53.8 (การคาดการณ์อยู่ที่ 53.2) และดัชนี Composite PMI ขยับขึ้นมาจาก 52.1 เป็น 52.5 (การคาดการณ์ที่ 52.2) จากตัวเลขเหล่านี้ ตลาดเก็งว่าเศรษฐกิจของอังกฤษอาจจะรับมือกับอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงได้ต่อไปในระยะยาว
● GBP/USD ปิดท้ายสัปดาห์ที่แล้วที่ระดับ 1.2701 ในส่วนการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ในช่วงไม่กี่วันที่จะถึงนี้ สภาพอารมณ์ของนักวิเคราะห์นั้นคล้ายกันกับคู่ EUR/USD โดย 70% โหวตว่าราคาคู่นี้จะขยับลง มี 10% เท่านั้นที่มองว่าราคาจะขึ้น และ 20% มีความเห็นเป็นกลาง ภาพรวมแนวโน้มรายเดือนและระยะยาวดูขาดความชัดเจนยิ่งกว่า ในส่วนอินดิเคเตอร์เทรนด์บนกรอบ D1 ตรงกันข้ามกับความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ โดยฝั่งเงินปอนด์ได้เปรียบอย่างเห็นได้ชัด 80% ให้ผลลัพธ์ว่าราคาคู่นี้จะขยับขึ้น ในขณะที่อีก 20% ให้แนวโน้มขาลง ในส่วนออสซิลเลเตอร์มี 35% เห็นด้วยกับฝั่งเงินปอนด์ ด้าน 10% ให้ฝั่งเงินดอลลาร์ และ 55% ที่เหลือยังคงความเห็นเป็นกลาง หากราคาคู่นี้ขยับลงด้านล่าง ระดับและโซนแนวรับที่ 1.2595-1.2610, 1.2500-1.2515, 1.2450, 1.2330, 1.2210, 1.2070-1.2085 จะเป็นโซนที่รออยู่ ในกรณีที่ราคาขึ้นด้านบน ราคาจะเจอกับแนวต้านที่ระดับ 1.2750-1.2765, 1.2785-1.2820, 1.2940, 1.3000 และ .3140-1.3150
● นอกเหนือจากการประชุมของ FOMC ของธนาคารเฟดสหรัฐฯ เราจะยังมีการประชุมกับธนาคารแห่งชาติอังกฤษในสัปดาห์ที่จะมาถึงนี้ในวันพฤหัสบดีที่ 1 กุมภาพันธ์ และคาดการณ์กันว่า BoE จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับปัจจุบันคือ 5.25% นอกเหนือจากนี้ไม่มีกิจกรรมที่สำคัญใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสหราชอาณาจักรในอนาคตอันใกล้
USD/JPY: ราคาจะขยับต่อไปยัง 150.00 หรือไม่?
● ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในพื้นที่โตเกียวลดลงมาจาก 2.4% เหลือ 1.6% ในเดือนมกราม และตัวเลขนี้ที่ไม่รวมราคาอาหารและพลังงานลดลงจาก 3.5% เหลือ 3.1% แรงกดดันจากเงินเฟ้อที่อ่อนตัวลงเป็นอย่างมากอาจส่งผลให้ธนาคารแห่งชาติญี่ปุ่น (BoJ) หลีกเลี่ยงที่จะเพิ่มความเข้มงวดให้กับนโยบายทางการเงินในอนาคตอันใกล้
การคาดการณ์นี้ยังได้รับการสนับสนุนโดยรายงานเศรษฐกิจประจำเดือนของรัฐบาลญี่ปุ่น ซึ่งประกาศเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 25 มกราคม รายงานฉบับนี้ระบุว่า ผลที่ตามมาของแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่คาบสมุทรโนโตะในตอนกลางของเกาะฮอนชู ญี่ปุ่น อาจลด GDP ประเทศไป 0.5% การประมาณเหล่านี้เพิ่มความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นจะคงนโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลายสุดขั้วต่อไปจนถึงอย่างน้อยกลางปี 2024 ผลที่ตามมาก็คือ ตลาดเก็งกันว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนเมษายนไม่น่าจะเป็นไปได้
ผลการประชุมเดือนธันวาคมของธนาคารกลางญี่ปุ่นยิ่งช่วยยืนยันความเห็นนี้ โดยมีข้อสังเกตว่า กรรมการบริหารหลายท่านเห็นด้วยว่า “มีความจำเป็นที่จะต้องรักษานโยบายปัจจุบันอย่างอดทน” สมาชิกหลายท่านกล่าวด้วยว่า “มันมีความจำเป็นที่จะต้องยืนยันสัญญาณวัฎจักรเงินเฟ้อในรายได้ในทางบวก เพื่อที่จะพิจารณาการถอยออกจากนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบ และ YCC” “สมาชิกหลายท่านกล่าวว่า พวกเขาไม่เห็นความเสี่ยงว่าธนาคารกลางดำเนินการไม่ทันการณ์และสามารถรอดูพัฒนาการในการเจรจาเรื่องรายได้ในช่วงฤดูใบไม้ผลินี้”
●นักเศรษฐศาสตร์ที่ธนาคาร MUFG ในญี่ปุ่นเชื่อว่า สถานการณ์ปัจจุบันไม่ได้ขัดขวางแรงขายเงินเยน “ตามมุมมองของเราต่อการแข็งค่าขึ้นของดอลลาร์สหรัฐฯ ในระยะใกล้ และสถิติเงินเฟ้อที่สูงกว่าที่คาดไว้ในญี่ปุ่น” “เราอาจได้เห็นความต้องการถือคำสั่งแคร์รีเทรดเพิ่มขึ้นจากเงินเยน ซึ่งจะส่งผลให้ USD/JPY ทะยานขึ้นต่อไป" นักยุทธศาสตร์จาก MUFG มีความเห็นว่า ราคาจะยังคงขยับไปยังทิศเหนือต่อไปยังระดับ 150.00 อย่างไรก็ตาม เมื่อราคาไปถึงระดับนี้ ความกังวลว่าทางการญี่ปุ่นจะแทรกแซงค่าเงินก็ค่อย ๆ เพิ่มขึ้น
อันที่จริงแล้ว ก็ยังมีหลายคนที่เชื่อว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นจะเปลี่ยนไปใช้นโยบายที่เข้มงวดขึ้น เช่น ผู้เชี่ยวชาญจาก Dutch Rabobank ยังคงยึดกับการคาดการณ์ที่ชี้ว่า ธนาคารกลางฯ อาจขึ้นอัตราดอกเบี้ยตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน “อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างล้วนขึ้นอยู่กับสถิติรายได้ที่แข็งแกร่งจากการเจรจาในช่วงฤดูใบไม้ผิ และหลักฐานการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของบริษัทเกี่ยวกับรายได้และราคา” “การคาดการณ์ของเรา ซึ่งมองไว้ว่า USD/JPY จะส่งท้ายปีนี้ที่ 135.00 โดยสันนิษฐานว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นจะขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้” นักเศรษฐศาสตร์ Rabobank กล่าวต่อ อย่างไรก็ตาม พวกเขาเสริมว่ายังมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดความผิดหวังในความเร็วในการขึ้นอัตราดอกเบี้ย
● USD/JPY ทำสถิติสูงสุดในสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ 148.69 ซึ่งปิดตลาดต่ำลงมาเล็กน้อยที่ 148.11 ในภาพรวมระยะยาว ผู้เชี่ยวชาญ 30% คาดว่าดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้นต่อ 30% เห็นด้วยกับฝั่งเงินเยน และ 40% ไม่ออกความเห็น ในส่วนอินดิเคเตอร์เทรนด์และออสซิลเลเตอร์บนกรอบเวลา D1 ทั้งหมด 100% ชี้ไปยังทิศเหนือ แต่ 10% ชี้ว่าราคาอยู่ในโซน overbought อยู่แล้ว โดยแนวรับที่ใกล้ที่สุดตั้งอยู่ในโซน 146.65-146.85 ตามมาด้วย 146.00, 145.30, 143.40-143.65, 142.20, 141.50 และ 140.25-140.60 ระดับแนวต้านตั้งอยู่ที่ 148.55-148.80, 149.85-150.00, 150.80 และ 151.70-151.90
● ไม่คาดว่าในสัปดาห์นี้จะมีกิจกรรมที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจญี่ปุ่น
สกุลเงินคริปโต: เพราะอะไรบิทคอยน์ถึงร่วงลง
● เมื่อวันที่ 10 มกราคม คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ (SEC) ได้อนุมัติคำขอของบริษัทเพื่อการลงทุน 11 แห่งทั้งหมดเพื่อเปิดให้บริการกองทุน ETFs จากบิทคอยน์ ท่ามกลางสถานการณ์นี้ ราคาบิทคอยน์ก็พุ่งขึ้นมาชั่วคราวที่ $47,787 ซึ่งเป็นระดับที่เคยเห็นเมื่อช่วงฤดูใบไม้ผลิปี 2022 แต่แทนที่จะเติบโตไปตามคาด บิทคอยน์กลับร่วงลงและทำระดับต่ำสุดในกรอบที่ $38,540 เมื่อวันที่ 23 มกราคม ดังนั้น ในเวลาเพียง 12 วัน บิทคอยน์ติดลบเกือบ 20% ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่า นี่คือกรณีคลาสสิกของการ “ซื้อตามข่าวลือ ขายตามข่าวจริง” ในช่วงต้นนั้นมีการทะยานขึ้นที่กระตุ้นด้วยข่าวเก็งกำไรจากการเปิดกองทุน ETFs บิทคอยน์ หลังจากกองทุนเหล่านี้เปิดให้บริการแล้ว ผู้เล่นในตลาดก็เริ่มเก็บกำไร
● อย่างไรก็ตาม ยังมีเหตุผลอื่น ๆ ที่ราคาขยับลดลงดังที่สะท้อนให้เห็นในราคา กระแสเงินที่ไหลเข้า BTC-ETFS ที่หลายกองทุนนั้นให้บริการโดยผู้เล่นรายใหญ่ของวอลล์สตรีท เช่น BlackRock กลับมีจำนวนน้อยกว่าที่คาดคิด ข้อมูลจาก CoinShares ชี้ว่ากองทุนใหม่ 10 แห่งที่เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 11 มกราคม ได้ระดมเงินได้ $4.7 พันล้านเหรียญฯ ภายในวันอังคารที่ผ่านมา ในขณะที่มีเงินจำนวน $3.4 พันล้านเหรียญฯ ที่ไหลออกจากกองทรัสต์ของ Grayscale ซึ่งถือว่าเป็นผู้ถือบิทคอยน์รายใหญ่ที่สุดของโลก และในขณะนี้ได้กลายมาเป็นกองทุน BTC-ETF ตรรกะนี้ชี้ให้เห็นว่าเงินจำนวนมากในกองทุนใหม่ทั้ง 10 แห่งน่าจะมาจากนักลงทุน Grayscale ที่เปลี่ยนมาใช้บริการกองทุนคู่แข่งที่มีค่าธรรมเนียมที่ต่ำกว่า หากเป็นเช่นนี้ กระแสเงินใหม่ที่ไหลเข้ามายังกองทุนจะคิดเป็นเงินเพียง $1.3 พันล้านเหรียญฯ เท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีกระแสเงินไหลออกสุทธิกว่า $25 ล้านเหรียญฯ
สิ่งสำคัญที่ควรตั้งข้อสังเกตก็คือ นับตั้งแต่การอนุมัติ BTC-ETFs ประกอบกับนักเก็งกำไรระยะสั้นและนักลงทุนของ Grayscale กระแสการเทขายยังได้รับอิทธิพลมาจาก ผู้จัดการแพลตฟอร์มคริปโต FTX ที่ล้มละลายในตลาด โดยเฉพาะจากนักขุดเหรียญ พวกเขาได้ปล่อยเหรียญมูลค่ากว่า $20 พันล้านเหรียญฯ ลงตลาด เป็นสัดส่วนขนาดใหญ่ที่มาจากนักขุดเหรียญ โดยพวกเขากังวลเกี่ยวกับความยากลำบากในการประมวลผลที่เพิ่มขึ้น และผลตอบแทนที่ลดลงครึ่งหนึ่งในเดือนเมษายน ซึ่งจะบีบให้หลายคนต้องออกจากธุรกิจนี้ ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 10 มกราคมเป็นต้นมา นักขุดเหรียญได้ส่งเงินจำนวน 355,000 BTC มูลค่า $15 พันล้านเหรียญฯ เข้าไปในกระดานเทรดคริปโต ซึ่งเป็นจำนวนเงินสูงสุดในรอบหกปี ในสถานการณ์เช่นนี้ ความต้องการลงทุนในกองทุน ETF สปอตบิทคอยน์มูลค่า $4.7 พันล้านเหรียญฯ (หรือจริง ๆ ก็คือ $1.3 พันล้านเหรียญฯ) นั้นดูไม่มากเท่าไร และไม่สามารถชดเชยกับกระแสเงินที่ไหลออกได้ ดังนั้น เรากำลังสังเกตเห็นช่วงที่ราคาสินทรัพย์ดิจิทัลลดลงเป็นอย่างมาก
ควบคู่ไปกับบิทคอยน์ ยังมีเหรียญทางเลือกหลัก เช่น Ethereum (ETH), Solana (SOL), Cardano (ADA), Avalanche (AVAX), Dogecoin (DOGE), Binance Coin (BNB) และเหรียญอื่น ๆ ที่ประสบกับภาวะขาดทุน นักวิเคราะห์เชื่อว่า สถานการณ์ที่ดีขึ้นในตลาดหุ้นน่าจะส่งแรงกดดันเพิ่มเติมต่อตลาดคริปโต ซึ่งในช่วงสามสัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งดัชนีอเมริกันและยุโรปต่างแสดงการเติบโต
● Peter Schiff ประธาน Euro Pacific Capital ไม่ได้พลาดโอกาสที่จะโอ้อวดต่อผู้ซื้อหน่วยกองทุนบิทคอยน์ เขาเชื่อว่าการอนุมัติกองทุนเหล่านี้ไม่ได้สร้างความต้องการในคริปโตเพิ่มขึ้น นักการเงินรายนี้มองว่า นักลงทุนที่เคยซื้อสกุลเงินคริปโตในตลาดสปอตหรือเคยลงทุนในหุ้นของบริษัทขุดเหรียญ และ Coinbase แค่ย้ายเงินลงทุนมาที่กองทุน ETFs เท่านั้น “การสลับไพ่ในกองจะไม่ช่วยกอบกู้เรือไม่ให้มันจมลงได้” ทำนายโดยผู้นิยมทองคำท่านนี้
Schiff มองว่า ชะตาของนักลงทุนในผลิตภัณฑ์สปอตจะคล้ายกันกับผู้ที่ลงทุนในฟิวเจอร์ส ETF BITO ซึ่งเปิดให้บริการในช่วงฤดูใบไม้ร่วงปี 2021 ปัจจุบัน หน่วยของกองทุนนี้ซื้อขายในราคาส่วนลด 50% แปลว่าบิทคอยน์นั้นคาดว่าจะร่วงลงมาที่ประมาณ $25,000 นับตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2024 หน่วยของ BTC-ETFs ร่วงลงมาแล้ว 20% หรือมากกว่าจากจุดสูงสุด หน่วยของ FBTC ขาดทุนหนักสุด โดยมูลค่าลดลง 32% ในสองสัปดาห์ “ผมคิดว่า VanEck น่าจะเปลี่ยนชื่อ ETF จาก HODL เป็น GTFO (จากถือไว้ให้เป็น ขายมันทิ้งซะ) Schiff ให้ความเห็น
● Caroline Mauron ประธาน OrBit Markets กล่าวกับ Bloomberg ว่า หากบิทคอยน์ไม่สามารถยืนเหนือ $40,000 ได้ในเร็ว ๆ นี้ เราอาจได้เห็นการล้างคำสั่งครั้งใหญ่ในตลาดฟิวเจอร์ มาพร้อมกับกระแสเงินที่ไหลออกจากตลาดคริปโตเพราะความหวาดวิตก
นักวิเคราะห์ที่ใช้ชื่อแฝงว่า Ali ได้สาธิตรูปแบบราคาของวัฎจักรสองครั้งล่าสุดของบิทคอยน์ และชี้ว่าราคาจะร่วงลงต่อเช่นเดียวกันกับ Caroline Mauron ผู้เชี่ยวชาญรายนี้ชี้ว่า ในช่วงการทะยานขึ้นที่ผ่านมา บิทคอยน์เคลื่อนไหวตามรูปแบบที่มีความสม่ำเสมอ ในตอนแรกจะไปที่ระดับ Fibonacci level ที่ 78.6% ตามมาด้วยการปรับฐานที่ 50% ดังนั้น ตามโมเดลดังกล่าว ราคา BTC/USD น่าจะร่วงลงไปที่ $32,700 (50%) ซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้
นักเทรดที่มีชื่อว่า Mikeystrades ก็คาดว่าราคาจะลดลงไปที่ $31,000 เช่นกัน และแนะนำให้เปิดคำสั่งเทรดซื้อ “เก็บเงินของคุณไว้จนกว่าตลาดจะแสดงสัญญาณความแข็งแกร่งของกระทิง และเทรดตามกระแสของคำสั่งเทรด” ผู้เชี่ยวชาญเน้นย้ำ
นักเทรดคริปโตที่ชื่อว่า EliZ คาดการณ์มูลค่าบิทคอยน์ว่าจะร่วงลงมาที่ $30,000 “ผมคาดว่าจะมีการกระจายตัวของตลาดหมีในช่วงสองถึงสามเดือนข้างหน้า ซึ่งในช่วงครึ่งหลังของปี 2024 คาดว่าจะเป็นตลาดกระทิงอย่างแท้จริง การพักตัวเหล่านี้มีความจำเป็นเพื่อรักษาตลาดให้อยู่ในช่วงภาวะที่ดี” เขากล่าว
● Michael Van De Poppe ผู้ก่อตั้ง MN Trading มีมุมมองที่ต่างออกไป เขาเน้นย้ำว่า บิทคอยน์กำลังดึงดูดสภาพคล่องและกำลังขยับถึงจุดต่ำสุดในกรอบ “ซื้อที่ราคาต่ำ บิทคอยน์ไม่เกิน $40,000 คือโอกาส” นักวิเคราะห์รายนี้กล่าวย้ำ
Yann Allemann ผู้ก่อตั้ง Glassnode ผู้ให้บริการข้อมูลบล็อกเชน อีกชื่อหนึ่งที่เรียกว่า Negentropic เชื่อว่า การทะยานขึ้นของตลาดกระทิงของบิทคอยน์จะเริ่มขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2024 เขาทำนายว่า ภายในต้นเดือนกรกฎาคม ราคาเหรียญจะขึ้นไปถึง $120,000 การคาดการณ์นี้มาจากพฤติกรรมในอดีตของราคาหลังจากเคยปรากฏรูป Bullish Flag บนกราฟ
● จริงอยู่ที่ไม่ควรเพิกเฉยต่อสถานการณ์ในทางลบ แต่สิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณาก็คือ แรงกดดันในปัจจุบันส่วนใหญ่แล้วเป็นผลมาจากปัจจัยชั่วคราว ในขณะที่เทรนด์ระยะยาวยังคงเอื้อต่อทองคำดิจิทัล เช่น นับตั้งแต่ราคาร่วงลงในปี 2021 ก็มีสัดส่วนของเหรียญที่ไม่มีความเคลื่อนไหวมากกว่าหนึ่งปีเพิ่มขึ้น ตัวชี้วัดนี้อยู่ที่ 70% ซึ่งเป็นสถิติที่บ่งบอกจำนวนผู้คนที่ไว้วางใจให้บิทคอยน์เป็นเครื่องมือป้องกันตนเองจากเงินเฟ้อและใช้ในการออมทรัพย์ จำนวนผู้ใช้คริปโตเพิ่มขึ้นเป็นกว่าห้าร้อยล้านคน หรือประมาณ 6% ของประชากรโ,กทั้งหมด จากข้อมูลล่าสุด จำนวนผู้ถือเหรียญ Ethereum เพิ่มขึ้นจาก 89 ล้านเป็น 124 ล้าน ในขณะที่จำนวนผู้ถือเหรียญบิทคอยน์ในช่วงปลายปีเพิ่มขึ้นจาก 222 ล้านเป็น 296 ล้านคน
อีกทั้งยังการยอมรับในสินทรัพย์ประเภทใหม่นี้เพิ่มขึ้นในบรรดาผู้แทนรายใหญ่ ในสัปดาห์ที่แล้ว Morgan Stanley ได้เผยแพร่เอกสารฉบับหนึ่งชื่อเรื่องว่า "Digital (De)Dollarization?" (การ(ลด)การพึ่งพิงดอลลาร์ทางดิจิทัล ที่เขียนขึ้นโดย Andrew Peel กรรมการผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการของธนาคาร โดยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนเพื่อลดความพึ่งพิงดอลลาร์ ซึ่งในทางกลับกันก็ช่วยกระตุ้นความสนใจในสกุลเงินดิจิทัล เช่น บิทคอยน์ สเตเบิลคอยน์ และ CBDCs (สกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง) Peel เขียนว่า ความสนใจที่เพิ่มขึ้นล่าสุดในสินทรัพย์เหล่านี้อาจเปลี่ยนสถานการณ์ตลาดค่าเงินได้เป็นอย่างมาก เขาอ้างถึงแบบสำรวจล่าสุดโดย Sygnum Bank ซึ่งผลสำรวจพบว่า นักลงทุนรายสถาบันกว่า 80% เชื่อว่าสกุลเงินคริปโตมีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมการเงินโลก
● ณ ช่วงเย็นวันที่ 26 มกราคม เมื่อมีการเขียนรีวิวฉบับนี้ BTC/USD ยังคงซื้อขายอยู่ที่ประมาณ $42,000 โดยจำนวนมูลค่ารวมตลาดคริปโตอยู่ที่ $1.61 ล้านล้านดอลลาร์ ลดลงจาก $1.64 ล้านล้านฯ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ด้านดัชนี Bitcoin Fear & Greed Index ยังคงอยู่ในโซนตรงกลาง (Neutral) ที่ 49 จุด โดยขยับลงมาจาก 51 เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
กลุ่มนักวิเคราะห์ NordFX
หมายเหตุ: เนื้อหาดังกล่าวไม่ควรยึดถือเป็นคำแนะนำในการลงทุนหรือเป็นคำปรึกษาในการซื้อขายในตลาดการเงิน โดยเนื้อหาข้างต้นเป็นไปเพียงเพื่อจุดประสงค์ในการให้ข้อมูลเท่านั้น การซื้อขายในตลาดการเงินมีความเสี่ยงและอาจทำให้เกิดการสูญเสียเงินฝากได้
กลับ กลับ