บทวิเคราะห์ฟอเร็กซ์และคริปโตเคอเรนซีประจำวันที่ 12 - 16 กุมภาพันธ์ 2024

EUR/USD: ดอลลาร์ร่วงลง แต่สัญญาว่าจะรีบาวด์

● ในสัปดาห์ที่แล้ว เราไม่ค่อยเห็นการประกาศรายงานสถิติเชิงมหภาคที่สำคัญมากเท่าไรนัก ผู้เล่นในตลาดคาดหวังปัจจัยขับเคลื่อนใหม่ ๆ โดยทำการวิเคราะห์ตลาดแรงงานสหรัฐฯ และคำแถลงจากผู้บริหารธนาคารเฟดสหรัฐฯ

ข้อมูลที่ประกาศเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ เผยให้เห็นว่า จำนวนตำแหน่งงานใหม่ในภาคนอกการเกษตรของสหรัฐฯ (Non-Farm Payrolls) เพิ่มขึ้น 353,000 ตำแหน่งในเดือนมกราคมจากที่คาดการณ์คือ 180,000 ตัวเลขนี้ตามหลังตัวเลขที่เพิ่มขึ้นของเดือนธันวาคมที่ 333,000 อัตราการว่างงานยังคงคงที่ที่ 3.7% แต่ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 3.8% ในระหว่างนี้ อัตราเงินเฟ้อของค่าจ้างเพิ่มขึ้น 4.5% เป็นรายปี ซึ่งสูงกว่าการคาดการณ์ของตลาดที่ 4.1% เป็นอย่างมาก รายงานซึ่งประกาศเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาก็ดูแข็งแกร่งเช่นกัน ชี้ให้เห็นว่ามีประชาชนชาวสหรัฐฯ ที่ขอรับสวัสดิการว่างงานจำนวน 218K ลดลงจากก่อนหน้านี้ที่ 227K

ด้วยเหตุนี้ ความกังวลของนาย Jerome Powell ประธานธนาคารเฟดดูยังไม่มีเหตุผลรองรับ ไม่นานมานี้เขาได้กล่าวว่า หากตลาดแรงงานนิ่งสงบลงอย่างฉับพลัน การผ่อนคลายนโยบายทางการเงินอาจเกิดขึ้นค่อนข้างรวดเร็วได้ อย่างไรก็ตาม ตลาดแรงงานไม่ได้นิ่งตัว กรรมการ FOMC จึงอาจจะไม่รีบใช้นโยบายสายพิราบจนกว่าพวกเขาจะเห็นหลักฐานที่น่าเชื่อถือว่าอัตราเงินเฟ้อลดลงมาต่ำกว่าระดับเป้าหมายที่ 2.0%

ความเห็นที่ตามมาในการแถลงข่าวของผู้แทนจากธนาคารเฟดช่วยยืนยันความเป็นไปได้ต่ำของการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในระยะใกล้นี้ เช่น Susan Collins ประธานธนาคารเฟดสาขาบอสตันกล่าวว่า เนื่องด้วยตลาดแรงงานและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ตอนนี้ไม่แนะนำให้ลดอัตราดอกเบี้ย ด้านประธานเฟดสาขาริชมอนด์ Thomas Barkin ก็แสดงข้อกังขาอย่างจริงจังเกี่ยวกับความยั่งยืนยของอัตราเงินเฟ้อที่ลดลง เนื่องจากการเติบโตของราคายังคงมีความต่อเนื่องในภาคบริการและธุรกิจปล่อยเช่า ตามสถิติข้างต้นก็ชี้ให้เห็นเช่นกันว่า อัตราเงินเฟ้อของค่าจ้างนั้นเพิ่มสูงขึ้น

ท่ามกลางท่าทีสายเหยี่ยวของผู้แทนธนาคารเฟดนี้ ความเป็นไปได้ที่เฟดจะลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนมีนาคมจึงลดลง และข้อมูลจาก FedWatch Tool ชี้ว่า โอกาสดังกล่าวตอนนี้อยู่ที่เพียง 15.5% และโอกาสที่จะลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนพฤษภาคมอยู่ที่ 54.1% ในสถานการณ์ดังกล่าว ฝั่งกระทิงของดัชนีดอลลาร์ (DXY) ดูมีความมั่นใจมากกว่าฝั่งหมีเป็นอย่างมาก

● ในส่วนของยูโร ค่าเงินยูโรได้รับผลกระทบจากถ้อยคำสายพิราบจากผู้บริหารธนาคารกลางยุโรป (ECB) เป็นอย่างมาก สถิติที่อ่อนแอจากยูโรโซนก็ช่วยสนับสนุนให้เริ่มนโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลายเร็วกว่ากำหนดเช่นกัน เมื่อเปรียบเทียบตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจระหว่างเศรษฐกิจโลกเก่าและโลกใหม่จะเห็นได้ว่า อัตราการว่างงานในยูโรโซนอยู่ที่ 6.4% เทียบกับ 3.7% ในสหรัฐฯ ด้าน GDP ยุโรปในไตรมาสที่ 4 แทบจะไม่ถอยจากระดับถดถอยจาก -0.1% เป็น 0% (ตรงกันข้ามกับในสหรัฐฯ ซึ่งเพิ่มขึ้น +3.3%) ดัชนีกิจกรรมภาคบริการลดลงจาก 48.8 เหลือ 48.4 คะแนน ในขณะที่ดัชนีรวม ซึ่งรวมทั้งภาคบริการและภาคผลิตอยู่ที่ 47.9 ดังนั้น ดัชนีทั้งสองนี้ยังอยู่ในโซนหยุดชะงัก (ต่ำกว่า 50.0) ตัวเลจการส่งออกสินค้าในเยอรมนีลดลง 4.6% ในเดือนธันวาคม และตัวเลขนำเข้าลดลง 6.7%

อีกด้านหนึ่งนั้น ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นดัชนีเงินเฟ้อที่สำคัญเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในเยอรมนีจาก 0.1% เป็น 0.2% เดือนต่อเดือน ซึ่งช่วยพยุงยูโรได้ในระดับหนึ่ง โดยให้นักลงทุนมีความหวังว่าธนาคารกลางยุโรปอาจไม่ใช่คนแรกที่จะเริ่มลดอัตราดอกเบี้ย ดังนั้น EUR/USD จึงปิดตลาดท้ายสัปดาห์ที่ 1.0785

● ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเชื่อว่า ดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงในสัปดาห์ที่แล้วเป็นการย่อตัว และปัจจัยพื้นฐานโดยรวมยังคงเอื้อต่อค่าเงินดอลลาร์ ณ ขณะที่เขียนบทวิเคราะห์ฉบับนี้ในช่วงเย็นวันศุกร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ มีผู้เชี่ยวชาญ 70% ที่โหวตให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นในอนาคตอันใกล้ และให้คู่นี้ขยับลดลงต่อไป 15% โหวตให้กับยูโร และเปอร์เซ็นต์ที่เท่ากันมีความเห็นเป็นกลาง ด้านออสซิลเลเตอร์บนกรอบ D1 มีมุมมองที่คล้ายกัน 65% ให้สัญญาณสีแดง โดยบ่งชี้ถึงมุมมองตลาดหมี 10% เป็นสีเขียวแสดงถึงมุมมองตลาดกระทิง และ 25% ให้สีเทากลาง ด้านอินดิเคเตอร์เทรนด์ การกระจายตัวของฝั่งสีแดง (ตลาดหมี) สีเขียว (ตลาดกระทิง) อยู่ที่ 65% ต่อ 35% แนวรับที่ใกล้ที่สุดของคู่นี้อยู่ที่โซน 1.0725-1.0740 ตามมาด้วย 1.0680, 1.0620, 1.0495-1.0515 และ 1.0450 ด้านฝั่งกระทิงจะเผชิญกับแนวต้านที่ระดับ 1.0800-1.0820, 1.0865, 1.0925, 1.0985-1.1015, 1.1110-1.1140 และ 1.1230-1.1275.

● สำหรับกิจกรรมที่น่าสนใจในสัปดาห์ที่จะถึงนี้ ได้แก่ การประกาศดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐฯ (CPI) ในวันอังคารที่ 13 กุมภาพันธ์ ตลาดจะวิเคราะห์สถิติ GDP ยูโรโซนล่าสุดในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันแห่งการฉลองเทศกาลวันวาเลนไทน์ ส่วนในวันพฤหัสบดีที่ 15 กุมภาพันธ์จะมีการประกาศถสิติกิจกรรมการผลิตของอเมริกา อัตราการว่างงาน และปริมาณยอดค้าปลีก และสัปดาห์นี้จะปิดท้ายด้วยการประกาศดัชนีราคาผู้ผลิตของสหรัฐฯ (PPI) ของเดือนมกราคมในวันศุกร์

 

GBP/USD: ปัจจัยที่สนับสนุนและกดดันต่อเงินปอนด์

● เมื่อวันศุกร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ได้มีการประกาสถิติที่แข็งแกร่งจากตลาดแรงงานสหรัฐฯ ซึ่งช่วยหนุนค่าเงินดอลลาร์ และกดราคา GBP/USD จากที่อยู่บริเวณกรอบด้านบนของ 1.2600-1.2800 ลงมายังด้านล่างของกรอบ ราคาขยับลดลงตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาจนทำระดับต่ำสุดที่ 1.2518 เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ โดยฝั่งเงินปอนด์สามารถฟื้นตัวขึ้นมาและพาราคากลับมายังโซน 1.26000 ซึ่งเปลี่ยนจากแนวรับมาเป็นแนวต้าน

นักวิเคราะห์เชื่อว่า เงินปอนด์ยังคงได้รับแรงหนุนจากความคาดหวังว่า ธนาคารแห่งชาติอังกฤษ (BoE) อาจเป็นธนาคารแห่งท้าย ๆ ที่จะลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ BoE ได้จัดการประชุมและคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับก่อนหน้าคือ 5.25% อย่างไรก็ตาม เงินปอนด์ได้รับแรงหนุนเพราะมีสมาชิกสองท่านของคณะกรรมการนโยบายทางการเงินของ BoE ที่ยังคงโหวตให้มีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปที่ 25 จุดพื้นฐาน (bps) ในวันถัดมา Catherine Mann อธิบายว่า เธอลงคะแนนเสียงให้มีการขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพราะว่าเธอไม่มั่นใจว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะลดลงต่อไปในระยะใกล้ ด้าน Jonathan Haskel กรรมการบริหารอีกท่านหนึ่งยอมรับว่าแรงกดดันจากเงินเฟ้ออาจจะผ่อนคลายลง แต่ให้ข้อสังเกตว่า เขายังต้องการหลักฐานเพิ่มเติมของสถานการณ์นี้ก่อนที่จะเปลี่ยนท่าทีต่อการขึ้นอัตราดอกเบี้ย

นอกจากนี้ GBP/USD ได้รับอิทธิพลจากความต้องการความเสี่ยงของผู้เล่นในตลาด ซึ่งเพิ่มขึ้นและเห็นได้จากตัวเลขของดัชนีหุ้น เช่น S&P 500, Dow Jones และ Nasdaq ผลที่ตามมาก็คือ ถ้อยคำสายเหยี่ยวจากผู้บริหารธนาคารกลางอังกฤษ และสถานการณ์ที่ดีขึ้นเกี่ยวกับความเสี่ยงช่วยให้คู่นี้ฟื้นตัวขึ้นมาได้

● สิ่งที่ส่งผลในทางลบต่อเงินปอนด์คือ แรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อที่เริ่มจะผ่อนคลายตัวจริง ๆ ตามรายงานจากหน่วยงาน KPMG and the Recruitment & Employment Confederation ของอังกฤษเกี่ยวกับตำแหน่งงาน ดัชนีเงินเฟ้อของค่าจ้างลดลงจาก 56.5 เหลือ 55.8 จุดในเดือนมกราคม ซึ่งบ่งชี้ว่า อัตราการเติบโตของค่าจ้างในประเทศอยู่ในระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2021 ดังนั้น สัญญาณอัตราเงินเฟ้อที่เบาบางลงสามารถนำมาเป็นเหตุผลให้ธนาคารกลางอังกฤษเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยได้ ในการประชุมครั้งล่าสุดของธนาคารฯ อย่างที่กล่าวไปว่ามีกรรมการบริหารสองท่านที่โหวตให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อ และ 8 ท่านให้คงอัตราดอกเบี้ยเท่าเดิม และมี 1 ท่านเท่านั้นที่โหวตให้ลดอัตราดอกเบี้ย อย่างไรก็ตาม หากการประชุมครั้งถัดไปในวันที่ 21 มีนาคม สายพิราบเริ่มได้รับคะแนนเสียงเพิ่มขึ้น 2 หรือ 3 คะแนน ก็อาจจะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดแรงเทขายคู่ GBP/USD ได้

● ราคาคู่นี้ได้ปิดตลาดรอบห้าวันที่ผ่านมาที่ระดับ 1.2630 ในส่วนการคาดการณ์กลางของนักวิเคราะห์ในไม่กี่วันข้างหน้า มี 50% ที่โหวตให้กับแนวโน้มขาลงของคู่นี้ 15% โหวตให้กับขาขึ้น และ 35% ที่เหลือหลีกเลี่ยงที่จะให้ความเห็น ในส่วนออสซิลเลเตอร์บนกรอบ D1 มี 50% ที่ชี้ถึงทิศทางขาลง และ 50% ชี้ว่าราคาจะออกด้านข้าง โดยไม่มีออสซิลเลเตอร์ใดที่ชี้ว่าราคาจะขึ้นด้านบน สถานการณ์ด้านอินดิเคเตอร์เทรนด์แตกต่างออกไป ซึ่งจำนวนมากกว่าเล็กน้อยที่อยู่ฝั่งเงินปอนด์ 60% ชี้ว่าราคาจะขึ้นด้านบน และ 40% ที่เหลือชี้ลงด้านล่าง ในกรณีที่ราคาขยับลงด้านล่าง จะต้องเจอกับระดับและโซนแนวรับที่ 1.2595, 1.2570, 1.2495-1.2515, 1.2450, 1.2330, 1.2210, 1.2070-1.2085 ในกรณีที่ราคาขยับขึ้นด้านบน แนวต้านจะอยู่ที่ระดับ 1.2695-1.2725, 1.2785-1.2820, 1.2940, 1.3000 และ 1.3140-1.3150

● ในส่วนเศรษฐกิจสหราชอาณาจักร ปฏิทินของสัปดาห์ที่จะถึงนี้เน้นกิจกรรมการกล่าวแถลงของ Andrew Baily ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษในวันจันทร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ สถิติจำนวนมากเกี่ยวกับตลาดแรงงานสหราชอาณาจักรจะประกาศในวันอังคารที่ 14 กุมภาพันธ์ ส่วนในวันพุธที่ 15 กุมภาพันธ์ จะมีการประกาศดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ตามมาด้วยดัชนี GDP ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ การประกาศสถิติที่ปิดท้ายสัปดาห์นี้ในวันศุกร์ที่ 16 กุมภาพันธ์จะเป็นการประกาศดัชนียอดค้าปลีกในสหราชอาณาจักร

 

USD/JPY: ราคาคู่นี้ยังคงทะยานขึ้นไปสู่ดวงจันทร์

● เนื่องด้วยท่าทีสายเหยี่ยวจากผู้บริหารของธนาคารเฟด คู่ USD/JPY ยังคงขยับขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมา เข้าใกล้ระดับแนวต้านเชิงจิตวิทยาที่ 150.00 โดยมีแนวโน้มที่จะทะลุระดับดังกล่าว แต่ผู้เล่นตลาดกำลังระมัดระวังเกี่ยวกับการประกาศดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนมกราคมในสหรัฐฯ ซึ่งมีกำหนดจะประกาศในวันที่ 13 กุมภาพันธ์นี้

● เงินเยนยังคงตกอยู่ภายใต้แรงกดดันเนื่องด้วยท่าทีสายพิราบอย่างดื้อดึงของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) นักลงทุนสังเกตเห็นว่า ธนาคารฯ ยังคงไม่มีความตั้งใจที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ย ในวันพฤหัสบดีที่ 8 กุมภาพันธ์ นาย Shinichi Uchida รองผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นได้กล่าวว่า “อนาคตของอัตราแลกเปลี่ยนขึ้นอยู่กับพัฒนาการทางเศรษฐกิจและราคา” และเงื่อนไขนโยบายทางการเงินของเศรษฐกิจญี่ปุ่นนั้นติดลบเป็นอย่างมาก โดยไม่มีความคาดหวังว่าจะเกิดภาวะเงินเฟ้อที่รุนแรง ในวันถัดมา นาย Kazuo Ueda ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นกล่าวแถลงตามธรรมเนียมว่า “โอกาสที่จะคงนโยบายผ่อนคลายนั้นยังสูงอยู่ แม้ว่าจะเลิกใช้ดอกเบี้ยติดลบ"

จากคำกล่าวนี้ ตลาดได้สรุปว่า หากมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นต่อนโยบายทางการเงินของธนาคารกลาง การเปลี่ยนแปลงนั้นจะเกิดขึ้นอย่างช้ามาก ๆ และไม่มีความแน่นอนว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร การตอบสนองของนักลงทุนเห็นได้ชัดเจนในกราฟ USD/JPY: ราคาทำระดับสูงสุดอยู่ที่ 149.57 โดยราคาสุดท้ายของสัปดาห์อยู่ที่ 149.25

● ในส่วนมุมองในระยะใกล้ USD/JPY ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญนั้นแบ่งออกเป็นหลายกลุ่ม หนึ่งในสามคาดว่าราคาจะขึ้นต่อ อีกหนึ่งในสามคาดว่าราคาจะขยับลดลง และส่วนที่เหลือเลือกที่จะไม่ออกความเห็น ด้านอินดิเคเตอร์เทรนด์และออสซิลเลเตอร์บนกรอบ D1 ให้เสียงขาขึ้นอย่างเป็นเอกฉันท์ แต่ 25% ของออสซิลเลเตอร์ชี้ว่าราคาอยู่ในโซน overbought แล้ว โดยมีแนวรับที่ใกล้ที่สุดอยู่ในโซน 148.25-148.40 ตามมาด้วย 147.65, 146.85-147.15, 145.90-146.10, 144.90-145.30, 143.50, 142.20 และ 140.25-140.60 ระดับแนวต้านพบอยู่ที่ 149.65-150.00, 150.75 และ 151.70-151.90

● ในบรรดากิจกรรมที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจญี่ปุ่น การประกาศสถิติ GDP ในวันพฤหัสบดีที่ 15 กุมภาพันธ์เป็นที่น่าสนใจ นักเทรดควรทราบด้วยว่า วันจันทร์ที่ 12 กุมภาพันธ์นี้เป็นวันหยุดนักขัตฤกษ์ในญี่ปุ่น เนื่องในวันก่อตั้งประเทศ

 

สกุลเงินคริปโต: ทำไมบิทคอยน์จึงขยับขึ้น

● "Halving: ความเศร้าหรือความสุข?” นี่เป็นคำถามหัวข้อในบทรีวิวฉบับที่แล้วของเรา การถกเถียงในเรื่องนี้ยังคงไม่คลี่คลาย แต่กลับเข้มข้นยิ่งขึ้นเมื่อเดือนเมษายนเริ่มใกล้เข้ามา

กระบวนการเก็บกำไรหลังมีการอนุมัติกองทุน ETFs บิทคอยน์สปอตเมื่อวันที่ 10 มกราคมได้สิ้นสุดลงแล้ว อย่างไรก็ตาม เกิดภัยคุกคามใหม่มาปกคลุมตลาดในเวลานี้ และภัยคุกคามนี้คือนักขุดเหรียญ Scott Melker นักเทรด นักลงทุน และนักเขียนชื่อดัง และพิธีกรรายการพอดแคสต์ "The Wolf Of All Streets" ผู้ที่ครองตำแหน่งเป็นอินฟลูเอนเซอร์แห่งปีของ Binance ได้แชร์มุมมองของเขาต่อ Halving บิทคอยน์ที่จะมาถึง เขาเชื่อว่า อีเวนต์ดังกล่าวอาจผลักดันราคาบิทคอยน์ไปถึง $240,000 “Halving ของบิทคอยน์จะเกิดขึ้นเมื่อจำนวนบล็อกที่ขุดแล้วแตะถึง 840,000 บล็อกในเดือนเมษายนปี 2024 ซึ่งหลังจากนั้นผลตอบแทนของบล็อกจะลดลงจาก 6.25 เหลือ 3.125 BTC” Melker อธิบาย “โดยหลักแล้ว มันหมายความว่า การออกเหรียญใหม่จะลดลงครึ่งหนึ่ง มันจะยากขึ้นสองเท่าสำหรับนักขุดเหรียญในการทำเงินจากการขุดบิทคอยน์”

Halving มีกำหนดว่าจะเกิดขึ้นในวันที่ 19 เมษายน แปลว่าเหลือเวลาประมาณแค่สองเดือน หากราคาทองคำดิจิทัลไม่เติบโตเป็นอย่างมากในช่วงเวลานี้ นักขุดเหรียญส่วนใหญ่จะเจอกับภาวะขาดแคลนสภาพคล่องอย่างฉับพลัน ดังนั้น เพื่อเป็นการเติมสภาพคล่อง พวกเขาอาจเริ่มเทขาย BTC ที่ถือครองไว้อยู่ ซึ่งจะส่งแรงกดดันต่อตลาดเป็นอย่างมากได้

ตามการประมาณการ นักขุดบิทคอยน์คาดว่าน่าจะมีบิทคอยน์ประมาณ 1.8 ล้าน BTC คิดเป็นมูลค่าประมาณ $85 พันล้านเหรียญฯ (ตามราคา ณ ปัจจุบัน) และตอนนี้ CryptoQuant ได้ประกาศว่า ปริมาณบิทคอยน์ที่นักขุดเหรียญสำรองไว้ลดลงมายังระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2021 กระเป๋าเงินของพูลที่ขุดเหรียญอยู่ในปริมาณต่ำที่สุดนับตั้งแต่ช่วงเวลาที่เรียกว่า Great Migration ของเหล่านักขุดเหรียญจากจีนที่ย้ายถิ่นฐานมายังประเทศอื่น ๆ เช่น ในยูเรเซีย และอเมริกาเหนือ นอกจากนี้ ในสัปดาห์ที่แล้ว เรายังได้เห็นกระแส BTC ไหลออกจากกระเป๋าเงินนิรนามมายังกระดานซื้อขายมากที่สุดอีกด้วย

นักวิเคราะห์จาก Bitfinex ยังตั้งข้อสังเกตถึงกระแสการไหลเข้าของบิทคอยน์มายังที่อยู่แพลตฟอร์มที่เกี่ยวข้องกับบริษัทขุดเหรียญ พวกเขาเชื่อว่า การเทขายบิทคอยน์ครั้งใหญ่อาจเกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งเป็นเรื่องน่ากังวล อย่างไรก็ตาม นักขุดเหรียญยังคงบิทคอยน์สำรองไว้อยู่ในขณะนี้ แม้ว่ารายได้จากค่าธรรมเนียมธุรกรรมจะลดลง CryptoQuant ชี้ว่ายอดขายรายวันลดลงและขณะนี้ต่ำกว่า 300 BTC

สถานการณ์ของบริษัทขุดเหรียญยังซับซ้อนเช่นกัน เนื่องด้วยปริมาณการผลิตเหรียญใหม่ที่น้อยลง TheMinerMag ชี้ว่า การขุด BTC โดยนักขุดเหรียญในสหรัฐฯ ลดลงมายังระดับต่ำสุดเป็นประวัติศาสตร์ในเดือนมกราคม เนื่องด้วยค่าไฟที่สูงขึ้น 29-50% ต้นทุนค่าไฟฟ้าที่สูงคาดว่าจะยืดยาวไปจนถึงปลายไตรมาส 1 ปี 2024 ดังนั้น หากแนวโน้มยังดำเนินต่อไป การขาดดุลอุปทานบิทคอยน์อาจจะเกิดขึ้นก่อน Halving ท่ามกลางอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น และการที่อุปสงค์เพิ่มขึ้นนั้นยังได้รับการยืนยันโดยนักวิเคราะห์จาก Santiment ผู้สังเกตเห็นจำนวนนักลงทุนกลุ่ม “วาฬ” ผู้ถือเหรียญมากกว่า 1000 BTC ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งโดยธรรมชาติแล้วน่าจะผลักดันให้ BTC/USD ขยับขึ้น

● ระหว่างวันที่ 7-9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ราคาบิทคอยน์พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วทำระดับสูงสุดที่ $48,145 ในการทะยานขึ้นครั้งนี้ นอกเหนือจากสาเหตุที่กล่าวไปแล้วก่อนหน้า ความต้องการความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของนักลงทุนรายใหญ่ของโลกก็มีบทบาทสำคัญด้วยเช่นกัน กระแสเงินที่ไหลเข้ามายังตลาดหุ้นก็ส่งผลดีต่อตลาดคริปโต  IntoTheBlock ชี้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างบิทคอยน์และดัชนี S&P500 เป็นลบเมื่อช่วงปลายเดือนมกราคมแต่ก็กลับมาอีก อีกสาเหตุหนึ่งที่ผู้เชี่ยวชาญบางท่านอ้างอิงถึงแนวโน้มราคาบิทคอยน์ที่เพิ่มขึ้น คือ การใกล้เข้ามาของเทศกาลตรุษจีน ซึ่งตั้งข้อสังเกตว่าราคาบิทคอยน์มักจะขยับขึ้นในช่วงก่อนเทศกาลนี้

● โดยรวมแล้ว การคาดการณ์ส่วนใหญ่ของทั้งปี 2024 ดูค่อนข้างเป็นบวก โดยมีการคาดการณ์บางส่วนที่สูงเป็นอย่างมาก เช่น Scott Melker เชื่อว่า Halving อาจพาราคาบิทคอยน์ขึ้นไปถึง $240,000 “หลังจาก Halving ครั้งก่อนหน้า ราคา BTC ก็พุ่งขึ้นจาก $20,000 เป็น $69,000 ซึ่งราคาขึ้นไปถึง 250% ดังนั้น หากสถานการณ์เกิดขึ้นซ้ำรอยในครั้งนี้ ราคาสูงสุดครั้งถัดไปถัดจาก $69,000 อาจเป็น $240,000” “ผมรู้ว่ามันอาจดูเวอร์เกินไป.. วัฎจักรนี้เคยได้ผลในอดีต และหากผมไม่เห็นมันร่วงลง (ในครั้งนี้) ผมก็พร้อมที่จะเดิมพันว่าบิทคอยน์จะไปเกิน $200,000” Melker กล่าวยืนยัน

● Cathy Wood ซีอีโอ Ark Invest เสริมว่า นักลงทุนเริ่มเปลี่ยนจากทองคำมาเป็นบิทคอยน์หลังกองทุนบิทคอยน์สปอต (ETFs) เริ่มให้บริการ “บิทคอยน์เติบโตขึ้นเมื่อเทียบกับทองคำ โดยบิทคอยน์กำลังมาแทนที่ทองคำอย่างเต็มที่ และเราเชื่อว่าสถานการณ์นี้จะดำเนินต่อไป”

การคาดการณ์ที่พ้องกันกับของ Cathy Wood มาจาก PlanB นักวิเคราะห์และบล็อกเกอร์ชื่อดัง “หลังจาก Halving บิทคอยน์ที่จะมีขึ้นในเดือนเมษายน บิทคอยน์จะขาดแคลนหนักยิ่งกว่าทองคำและอสังหาริมทรัพย์” เขากล่าวโดยชี้ว่า บิทคอยน์อาจแตะราคาถึง $500,000 ซึ่งตามโมเดล Stock-to-Flow ของเขา เขามองว่ามูลค่ารวมตามราคาตลาดของสินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าวอาจไม่แซงหน้าทองคำที่เกิน $10 ล้านล้านเหรียญฯ อย่างไรก็ตาม เมื่อไปถึงระดับนี้และมีการออกเหรียญที่ 20 ล้านเหรียญ อาจนำพาบิทคอยน์ไปสู่ราคาดังกล่าวได้ ทั้งนี้ PlanB ไม่ได้ระบุกำหนดเวลาที่ราคาจะไปถึงระดับดังกล่าว แต่เขาได้ระบุถึงระดับต่ำสุดที่เขามองว่า บิทคอยน์จะไม่มีวันตกลงไปต่ำกว่านั้นซึ่งก็คือ ค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 200 สัปดาห์ (200WMA) (ณ ขณะที่เขียนทวิเคราะห์ฉบับนี้ 200WMA อยู่ที่บริเวณ $32,000) นักวิเคราะห์อีกท่านหนึ่งที่ชื่อว่า ali_charts เชื่อว่าระดับแนวรับที่สำคัญในขณะนี้คือ $42,560

● Michael Van De Poppe นักเทรด นักลงทุนชื่อดัง และผู้ก่อตั้ง MN Trading เชื่อเหมือนกับ PlanB ว่า มูลค่าของบิทคอยน์จะไปถึง $500,000 เขาเน้นย้ำหลายปัจจัยที่จะส่งผลให้ราคาเติบโตแบบก้าวกระโดด ในบรรดาปัจจัยเหล่านี้คือสถานการณ์ตลาดใในปัจจุบัน การเปิดตัว BTC-ETFs กระแสเงินที่ไหลเข้ามาจากนักลงทุนรายสถาบัน ฯลฯ ปัจจัยที่สำคัญจะเป็น Halving หลังจากนั้นคาดว่าจะเกิดกระแสตลาดกระทิงในตลาดคริปโต นักวิจัยเน้นย้ำว่า วัฎจักรปัจจุบันอาจยาวนานกว่าวัฎจักรก่อนหน้าเล็กน้อย เนื่องด้วยการเข้ามาของผู้เล่นรายสถาบันในตลาด และการเปลี่ยนแปลงในทิศทางของพัฒนาการในอุตสาหกรรมโดยรวม ตามความเห็นของนักวิเคราะห์ สภาพคล่อง อิทธิพล และปัจจัยเศรษฐกิจมหภาคอื่น ๆ อาจส่งผลต่อตลาดได้อย่างมีนัยสำคัญ

Van De Popp ชี้แนะสถานการณ์ที่มูลค่าบิทคอยน์อาจขยับขึ้นไปที่ $48,000 ก่อนจะถึง Halving โดยราคาจะไปถึงระดับแนวต้านที่สำคัญ ซึ่งจะตามมาด้วยการปรับฐานอีกครั้งหนึ่งที่ส่งผลให้ราคาร่วงลง 20% หลังการ Halving มูลค่า BTC จะเริ่มขยับขึ้นอีกครั้งและจะแตะถึงระดับสูงสุดในกรอบภายในฤดูใบไม้ร่วง

● Grok เอไอที่พัฒนาขึ้นโดยบริษัทของนาย Elon Musk ชื่อบริษัท xAI ได้ทำการคาดการณ์สองอย่างคือ ภายในสิ้นปี 2024 ราคา Ethereum จะอยู่ที่ตั้งแต่ $4,000 ถึง $5,000 และภายในปีนี้ มูลค่าของ ETH อาจทำระดับสูงสุดที่ $6,500 โดย Grok ให้ความสำคัญกับแนวโน้มของ Ethereum เป็นอย่างมาก เนื่องด้วยพัฒนาการในระบบนิเวศและการอัปเดต Dencun การอัปเดตครั้งนี้จะเป็นการเพิ่มความสามารถในการขยายเครือข่ายบล็อกเชน ETH และจะยิ่งลดต้นทุนในการดำเนินธุรกรรมได้เป็นอย่างมาก การอัปเดต Dencun มีขึ้นในเครือข่ายทดสอบ Goerli เมื่อวันที่ 17 มกราคม และในเครือข่ายทดสอบ Sepolia เมื่อวันที่ 30 มกราคม การเปิดตัว Dencun ในเครือข่ายหลักมีกำหนดในวันที่ 13 มีนาคม (ทั้งนี้ การอัปเดตนี้ได้กลายเป็นหนึ่งในสาเหตุว่าทำไม ผู้ถือ ETH เริ่มเคลื่อนย้ายสินทรัพย์ของตนเองออกจากกระเป๋าเงินที่ไม่มีความเคลื่อนไหวมานาน ล่าสุดมี “วาฬ” ได้เคลื่อนย้าย 492 ETH มูลค่ากว่า $1.1 ล้านเหรียญออกจากกระเป๋าเงินที่นิ่งเฉยมานานกว่า 8 ปี)

เอไอ Grok ยังพิจารณาโอกาสที่การอนุมัติกองทุนสปอต Ethereum ETFs ภายในเดือนพฤษภาคม อาจเป็นปัจจัยกระตุ้นการเติบโตของราคาเหรียญ ซึ่งอาจได้รับการอนุมัติภายในเดือนพฤษภาคม โดยมีบริษัทอเมริกันรายใหญ่ 6 แห่งที่ยื่นเรื่องขอเปิดให้บริการกองทุนและตราสารอนุพันธ์เหล่านี้กับคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ (SEC)

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ไม่ได้ราบรื่นเสมอไป เราเคยกล่าวไปแล้วถึงคำพูดของนาย Gary Gensler ประธาน SEC สหรัฐฯ ว่า การตัดสินใจในทางบวกต่อกองทุน ETFs สปอตนั้นเป็นเรื่องของผลิตภัณฑ์ที่อ้างอิงบิทคอยน์เท่านั้น Gensler ชี้แจงว่าการตัดสินใจนี้ “ไม่ได้เป็นสัญญาณความพร้อมที่จะอนุมัติมาตรฐานการจดทะเบียนสินทรัพย์คริปโตให้เป็นหลักทรัพย์แต่อย่างใด” ทั้งนี้ หน่วยงานดังกล่าวยังเรียกบิทคอยน์ว่าเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ ในขณะที่ “สินทรัพย์คริปโตส่วนใหญ่นั้นเป็นสัญญาการลงทุนในมุมมองของเขา (เช่น หลักทรัพย์)”

ในสัปดาห์ที่แล้ว มีรายงานว่า SEC ได้เลื่อนการตัดสินใจต่อคำขอจากบริษัท invesco และ Galaxy ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ได้มีการขอเลื่อนการพิจารณาคำขออื่น ๆ เช่นกัน “วันที่เดียวที่สำคัญสำหรับ ETH-ETFs ในขณะนี้คือวันที่ 23 พฤษภาคม นี่คือวันขีดเส้นตายสำหรับคำขอของ VanEck” รายงานโดย Bloomberg

นักวิเคราะห์จากธนาคารเพื่อการลงทุน TD Cowen เชื่อว่า ไม่น่าจะเป็นไปได้ที่ SEC จะทำการตัดสินใจใด ๆ ก่อนช่วงครึ่งหลังของปี 2024 “ก่อนจะอนุมัติ ETH-ETF ทางการสหรัฐฯ น่าจะต้องการประสบการณ์ในทางปฏิบัติกับสินทรัพย์การลงทุนที่คล้ายกันในบิทคอยน์นี้ก่อน” Jaret Seiberg ประธาน TD Cowen Washington Research Group แสดงความเห็น TD Cowen เชื่อว่า SEC จะกลับมาหารือเรื่อง Ethereum ETFs หลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรับฯ ในเดือนพฤศจิกายน 2024 ผ่านไปแล้วเท่านั้น

Nikolaos Panagirtzoglou นักวิเคราะห์อาวุโสของ JP Morgan ก็ไม่คาดว่าจะมีการอนุมัติ ETH-ETFs สปอตในเร็ว ๆ นี้เช่นกัน SEC จะทำการตัดสินใจได้นั้น จะต้องมีการจัดกลุ่มให้ Ethereum เป็นสินค้าโภคภัณฑ์ไม่ใช่หลักทรัพย์ อย่างไรก็ตาม JP Morgan มองว่าสิ่งนี้ไม่น่าจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้

● ตลาดคริปโตแสดงให้เห็นถึงการเติบโตที่น่าประทับใจในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ณ ช่วงเย็นวันที่ 9 กุมภาพันธ์ BTC/USD ซื้อขายอยู่ในโซน $47,500 และ ETH/USD ที่ $2,500 ด้านมูลค่าตามราคาตลาดของสกุลเงินคริปโตอยู่ที่ $1.78 ล้านล้านเหรียญฯ (ขึ้นมาจาก $1.65 ล้านล้านเหรียญฯ ในสัปดาห์ก่อนหน้า) ด้านดัชนี Crypto Fear & Greed Index ขยับขึ้นมาเป็น 72 จุด (จาก 63 จุดในสัปดาห์ที่แล้ว) และยังคงอยู่ในโซนความโลภ (Greed)

 

กลุ่มนักวิเคราะห์ NordFX

 

หมายเหตุ: เนื้อหาดังกล่าวไม่ควรยึดถือเป็นคำแนะนำในการลงทุนหรือเป็นคำปรึกษาในการซื้อขายในตลาดการเงิน โดยเนื้อหาข้างต้นเป็นไปเพียงเพื่อจุดประสงค์ในการให้ข้อมูลเท่านั้น การซื้อขายในตลาดการเงินมีความเสี่ยงและอาจทำให้เกิดการสูญเสียเงินฝากได้

กลับ กลับ
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ นโยบายคุกกี้ ของเรา