หลักการของเทรนด์เป็นสิ่งสำคัญในการเทรดในตลาดการเงิน ไม่ว่าจะเป็นตลาดฟอเร็กซ์ หุ้น สินค้าโภคภัณฑ์ หรือตลาดคริปโต กลยุทธ์การเทรดจำนวนมากต้องอาศัยการทำความเข้าใจและรับมือกับเทรนด์ อย่างไรก็ตาม เทรนด์ไม่ใช่เส้นตรงเรียบ ๆ ที่เราสามารถเทรดตามได้ง่าย ๆ มันเป็นเส้นหยึกหยักที่เต็มไปด้วยการแกว่งตัว กลับตัว มุมลาดชันหรือลาดยาว ทั้งขาขึ้นและลงที่ไม่อาจคาดเดาได้ ในแต่ละสถานการณ์ นักเทรดจะต้องเผชิญกับคำถามว่า นี่เป็นการย่อตัวชั่วคราว (หรือเป็นการปรับฐาน) หลังจากนั้นราคาจะกลับมายังเส้นทางหลักเดิม แล้วไปต่อจนถึงจุดหมายหรือไม่? หรือมันเป็นทางตัน ที่พอแตะถึงแล้ว ราคาจะกลับตัวลงมายังจุดที่มันเริ่มต้นขึ้น? คำตอบที่ผิดอาจทำให้เราเสียเงินฝากไปได้ ในขณะที่คำตอบที่ถูกต้องก็นำพากำไรก้อนโตมาให้กับเรา
Trend และ Breakout คืออะไร?
Trend (เทรนด์ หรือ แนวโน้ม) ในตลาดฟอเร็กซ์หรือตลาดการเงินอื่น ๆ สื่อถึงการเคลื่อนที่ที่มั่นคงและยาวนานของราคาสินทรัพย์ในทิศทางใดทิศทางหนึ่งในช่วงเวลาหนึ่งที่กำหนดในช่วงการเทรด โดยจะอยู่ระหว่างแนวรับและแนวต้าน การวิเคราะห์เทรนด์เป็นเครื่องมือที่สำคัญสำหรับนักเทรดและนักลงทุน รวมถึงการเข้าใจเทรนด์ปัจจุบันสามารถช่วยให้ทำการตัดสินใจอย่างเหมาะสมได้ 3 ประเภท ได้แก่: 1) Bullish (เทรนด์กระทิงหรือขาขึ้น) ซึ่งเกิดขึ้นจากราคาที่ขยับขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง แสดงถึงความเชื่อมั่นและทัศนคติที่ดีว่าตลาดจะเติบโตขึ้นต่อ 2) Bearish (เทรนด์หมีหรือขาลง) เกิดขึ้นเมื่อราคาลดลงอย่างต่อเนื่อง แสดงถึงมุมมองในเชิงลบและการขาดความเชื่อมั่นต่อตลาด 3) Sideways (ไซด์เวยส์หรือราคาออกด้านข้าง) คือการขาดทิศทางที่แน่นอนในการเคลื่อนที่ของราคา โดยตลาดผันผวนอยู่ในกรอบที่ค่อนข้างแคบ
Breakout (การทะลุออกกรอบ) แสดงถึงสถานการณ์ที่ราคาตราสารทางการเงินทะลุผ่านระดับแนวรับหรือแนวต้านใด ๆ ที่เป็นการบ่งชี้ว่าอาจมีการเปลี่ยนแปลงของเทรนด์ปัจจุบันในตลาดเกิดขึ้น หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ Breakout เกิดขึ้นได้เมื่อราคา “ทะลุ” ออกนอกกรอบการเทรดหรือเทรนด์ จึงเป็นสัญญาณว่าอารมณ์ตลาดมีการเปลี่ยนแปลงไป โดยมีสถานการณ์สองแบบที่อาจเกิดขึ้นได้ต่อจากนี้ สถานการณ์แรกคือ การทะลุออกจริง ๆ ในกรณีนี้ ราคาจะไม่กลับมายังระดับเดิมอีกเมื่อทะลุออกจากกรอบไปแล้ว แต่จะขยับในทางตรงกันข้าม สถานการณ์ที่สองก็คือ False Breakout ซึ่งคล้ายกันที่ราคาจะทะลุผ่านแนวรับหรือแนวต้านออกไป แต่โมเมนตัมนั้นไม่มีกำลังมากพอ และราคาก็กลับมายังระดับเดิมก่อนที่จะขยับในทิศทางของเทรนด์ต่อไป False breakout เกิดขึ้นบ่อยและเป็นผลมาจากพฤติกรรมของคนส่วนใหญ่ โดยพบได้บ่อยในหมู่นักเทรดมือใหม่ที่เชื่อว่าตนเองกำลังเปิดคำสั่งเทรดในจุดที่ปลอดภัยที่สุด แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น พวกเขาจึงติดกับดักกระทิงหรือหมี ซึ่งอาจเป็นกับดักที่เจ้ามือหรือนักเทรดรายใหญ่ที่มีประสบการณ์มากกว่าตั้งใจวางเอาไว้
Correction หรือ Pullback คืออะไร?
อีกหนึ่งกับดักที่คล้ายกันกับ False Breakout สำหรับนักเทรดอาจเป็น Correction (หรือ Pullback ที่เป็นการปรับฐานหรือย่อตัว) ในราคา ในตลาดฟอเร็กซ์ ปรากฏการณ์นี้แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงชั่วคราวในราคาสินทรัพย์ในทิศทางตรงกันข้ามกับเทรนด์ปัจจุบันเช่นกัน คีย์เวิร์ดสำคัญตรงนี้คือ “ชั่วคราว” เพราะในทางหนึ่งนักเทรดจะสามารถเพิ่มพูนกำไรได้โดยการเปิดเทรดในทิศทางเดียวกันกับเทรนด์ในช่วงราคาปรับฐาน แต่อีกทางหนึ่ง หากนักเทรดทำพลาดและเปิดเทรดสวนทางกับเทรนด์ ก็จะขาดทุนได้
ทำไมการปรับฐานหรือย่อตัวเกิดขึ้น? มีหลายเหตุผลว่าทำไมตลาดต้องมีการปรับฐานเกิดขึ้น ข้อแรกก็คือ อาจเป็นเพราะนักเทรดเริ่มเก็บกำไรหลังจากมีแนวโน้มครั้งใหญ่เกิดขึ้นในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง ข้อสองก็คือ ปัจจัยต่าง ๆ เช่น ข่าวเศรษฐกิจ หรือเหตุการณ์อาจเปลี่ยนแปลงอารมณ์ตลาด และทำให้เกิดราคาเปลี่ยนแปลงชั่วคราวได้
อย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้น การทำความเข้าใจการย่อตัวและปรับฐานในตลาดฟอเร็กซ์คือองค์ประกอบที่สำคัญของการประสบความสำเร็จในการเทรด นักเทรดจะต้องแยกแยะให้ออกระหว่างการเปลี่ยนแปลงชั่วคราวของเทรนด์ และการเปลี่ยนแปลงในระยะยาว เพื่อทำการตัดสินใจอย่างเหมาะสมและทำกำไรจากการเคลื่อนไหวของโลกสกุลเงินและตลาดอื่น ๆ
วิธีแยกระหว่างการปรับฐานและการเปลี่ยนแปลงของเทรนด์
ต่อไปนี้คือตัวอย่างวิธีในการแยกให้ออกว่าการเคลื่อนที่ของตลาดนั้นเป็นการปรับฐาน (Correction) หรือเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงของเทรนด์ในระยะยาว:
– ระดับแนวรับและแนวต้านมีบทบาทสำคัญในการกำหนดสภาพแวดล้อมตลาด ณ ปัจจุบัน หลังจากราคาดีดกลับจากเทรนด์ไลน์แล้ว ราคามาเจอกับแนวรับ/แนวต้านระหว่างทาง และก็ตีกลับไปยังเส้นเทรนด์ไลน์อีกครั้ง นี่อาจเป็นสัญญาณว่าเป็นการปรับฐาน ในทางกลับกัน Breakout ที่ระดับดังกล่าวอาจบ่งบอกว่าเทรนด์จะมีการเปลี่ยนแปลง แต่โดยหลักแล้วขึ้นอยู่กับโมเมนตัมที่ระดับนั้น
– การวิเคราะห์ปริมาณการเทรด (Volume) อาจมีประโยชน์ได้เช่นกัน การเคลื่อนที่ตามเทรนด์หรือการเปลี่ยนแปลงของเทรนด์ที่แท้จริงมักมาพร้อมกับปริมาณการซื้อขาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ช่วยยืนยันความแข็งแกร่งของเทรนด์ ในทางกลับกันนั้น การปรับฐานก็จะมาพร้อมกับปริมาณซื้อขายที่น้อย ซึ่งบ่งบอกว่าตลาดขาดแรงหนุนที่เพียงพอ
– คุณสามารถใช้อินดิเคเตอร์เชิงเทคนิคเพื่อยืนยันการเปลี่ยนแปลงของเทรนด์ เช่น MACD (Moving Average Convergence Divergence), Relative Strength Index (RSI), Stochastic Oscillator, หรือ ADX (Average Directional Index) เป็นต้น เครื่องมือเหล่านี้ช่วยในการหาความแข็งแกร่งของเทรนด์ปัจจุบัน และความเป็นไปได้ที่เทรนด์จะมีการเปลี่ยนแปลง อีกทั้งยังช่วยหาช่วงเวลาที่ตลาดอยู่ในภาวะที่มีแรงซื้อมากเกินไป (overbought) หรือมีแรงขายมากเกินไป (oversold) ซึ่งอาจเป็นปัจจัยกระตุ้นให้ราคาเกิดการปรับฐานหรือเทรนด์เปลี่ยนแปลงได้
– สิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณาคือข่าวและปัจจัยพื้นฐานต่าง ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อตลาด เหตุการณ์ที่สำคัญที่ยืนยันการเคลื่อนที่ของราคาอาจเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยแยกการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงของเทรนด์ออกจากการปรับฐานชั่วคราว
– การศึกษาการเคลื่อนที่ของราคาในหลายกรอบเวลาสามารถช่วยให้เข้าใจภาพรวมความแรงของการเคลื่อนที่ได้อย่างชัดเจนขึ้น การเปลี่ยนแปลงของเทรนด์จริง ๆ มักเห็นได้ชัดในหลายกรอบเวลา รวมถึงในไทม์เฟรมที่ใหญ่กว่า
วิธีดูปริมาณการเทรด
นักเทรดจะดูปริมาณการเทรดได้ที่ไหน? ด้านล่างนี้ เราจะมาให้แนวทางหลายวิธีในการดูปริมาณการเทรด (ที่สำคัญคือต้องไม่ลืมว่า ปริมาณเหล่านี้อาจมีความแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับช่วงเวลาของวัน (กิจกรรมของแต่ละตลาด) วันที่บนปฏิทิน (วันหยุด ช่วงปลายเดือน ไตรมาส หรือปี) และสภาพคล่องในตลาด โดยมีวิธีดูข้อมูลปริมาณการเทรดดังนี้
– ข้อมูลบนตลาดหลักทรัพย์: ตลาดหลักทรัพย์บางแห่งให้ข้อมูลการเทรดแบบเรียลไทม์ รวมถึงข้อมูลปริมาณ (Volume) ข้อมูลนี้อาจเข้าถึงได้บนเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์หรือบริการเฉพาะทาง
– อินดิเคเตอร์เชิงเทคนิค เช่น On-Balance Volume (OBV) หรือ Volume Weighted Average Price (VWAP) เป็นเครื่องมือที่สามารถใช้ในการติดตามปริมาณการเทรดตามเวลาจริงได้
– อีกทั้งยังมีแพลตฟอร์มวิเคราะห์และแพลตฟอร์มข่าวที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณการเทรดในปัจจุบัน นักเทรดสามารถสมัครใช้บริการเพื่อรับข้อมูลที่ทันสมัยมากที่สุด
– แหล่งข่าวการเงินและแหล่งข้อมูลบางแห่งก็ให้บริการข้อมูลปริมาณการเทรดในปัจจุบันของตลาดเช่นกัน บางที่นั้นออกแบบมาเพื่อให้นักเทรดมืออาชีพใช้งาน แต่บางที่ก็ให้บริการสำหรับนักเทรดรายย่อย เช่น Bloomberg Terminal, Reuters Eikon, CME Group, NASDAQ (เครื่องมือ Market Velocity และ Market Forces), TradingView, Investing.com, MetaStock, Quandl เป็นต้น
– แพลตฟอร์มการเทรด MetaTrader 4 (MT4) ที่ให้บริการโดยบริษัทโบรกเกอร์ NordFX ก็ให้บริการข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณการเทรดเช่นกัน ในแพลตฟอร์มนี้ คุณสามารถติดตามข้อมูลนี้ได้บนกราฟอย่างง่ายดาย ขั้นตอนที่ต้องทำคือ 1) เปิดกราฟสินทรัพย์ที่ต้องการเทรด 2) เลือกแท็บ “Insert” ในเมนูด้านบนของแพลตฟอร์ม MetaTrader 4 และจากนั้นไปที่ “Indicators” 3) ในส่วน “Volumes” ให้เลือก “Volumes” หลังจากเพิ่มอินดิเคเตอร์ Volume แล้ว มันจะปรากฏบนกราฟเป็นกราฟฮิสโตแกรมด้านล่างกราฟราคา นอกจากนี้ คุณยังสามารถกำหนดการตั้งค่าอินดิเคเตอร์ Volume ด้วยตนเอง เช่น การเลือกสี และสไตล์การแสดงผลตามความชอบของคุณ
***
กล่าวโดยสรุป เราต้องย้ำอีกครั้งว่า การเทรดในตลาดการเงินมีความเสี่ยงที่จะขาดทุนได้เสมอ เพื่อเป็นการลดความเป็นไปได้ที่จะเกิดข้อผิดพลาด คุณจำเป็นต้องใช้หลายแนวทางผสมกัน ควบคู่ไปกับการติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์อย่างต่อเนื่อง วิธีนี้จะช่วยเพิ่มโอกาสในการรับมือกับกับดักที่วางไว้ทั้งหมด และช่วยให้คุณทำการตัดสินใจที่ให้กำไรและแม่นยำได้ดีขึ้นเป็นอย่างมาก
กลับ กลับ