ทฤษฎี Elliott Wave เป็นเครื่องมือสำคัญในการวิเคราะห์เชิงเทคนิค ซึ่งส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อการเทรดในตลาดการเงิน นักเทรดและนักวิเคราะห์หลายคนใช้หลักการของทฤษฎีนี้ในการทำนายการเคลื่อนที่ของราคาตลาด และหาจุดเข้าและจุดออกจากการเทรดที่ดีที่สุด ทฤษฎีนี้ได้กลายเป็นพื้นฐานของกลยุทธ์การเทรดหลายรูปแบบ และระบบการเทรดต่าง ๆ ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมา ซึ่งนำมาใช้อย่างประสบความสำเร็จในตลาดฟอเร็กซ์ ตลาดหุ้น และตลาดคริปโต แล้วทฤษฎี Elliott Theory จริง ๆ แล้วเคืออะไร กำเนิดขึ้นมาอย่างไร และมีการใช้งานอย่างไร?
Mr. Elliott คือใคร?
Ralph Nelson Elliott เกิดที่รัฐแคนซัส สหรัฐอเมริกา ในปี 1871 แม้ว่ารายละเอียดในเรื่องชีวิตวัยเด็กและการศึกษาของเขายังไม่ชัดเจนนัก แต่ทราบกันว่าเขาเริ่มอาชีพการทำงานเป็นนักบัญชี ในช่วงกลางปี 1890s ชีวิตวัยหนุ่มของ Ralph ได้เข้าสู่วงการบัญชี และทำงานกับบริษัทการรถไฟในอเมริกากลางและเม็กซิโก
ในปี 1903 เขาได้แต่งงานกับ Mary Elizabeth Fitzpatrick ผู้อยู่เคียงข้างกับเขาในช่วงการทำงานในเม็กซิโก การจลาจลในประเทศส่งผลให้สามีภรรยาคู่นี้ต้องย้ายกลับมายังสหรัฐฯ จนท้ายที่สุดเขาก็ได้ลงหลักปักฐานที่นิวยอร์กที่ซึ่ง Ralph เริ่มต้นธุรกิจที่ปรึกษาที่ประสบความสำเร็จ
ในปี 1924 นาย Elliott ได้รับการแต่งตั้งโดยกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ให้เป็นสมุห์บัญชีให้กับนิคารากัว ประเทศที่ยังอยู่ภายใต้การควบคุมของอเมริกาในตอนนั้น หลังจากนั้นไม่นาน เขาได้เขียนหนังสือขึ้นมาสองเล่มจากประสบการณ์อาชีพของเขาเรื่อง “Tea Room and Cafeteria Management” และเรื่อง “The Future of Latin America”
การกำเนิดขึ้นของทฤษฎี Elliott Wave
ตลอดเกือบทั้งชีวิตในสายงานอาชีพของเขา Elliott ทำงานด้านบัญชีและการบริหารด้านการเงิน งานของเขาในด้านนี้เป็นงานที่เกี่ยวกับการศึกษาและวิเคราะห์ฐานข้อมูลอย่างละเอียด ซึ่งต่อมาได้ช่วยเหลือเขาในการวิจัยตลาดหุ้น ความสนใจของเขาในตลาดหุ้นปรากฏขึ้นในช่วงต้นปี 1930s หลังจากเริ่มป่วยและหันหลังให้ชีวิตการทำงาน Elliott ใช้เวลาหลายชั่วโมงและวันไปกับการศึกษาราคาตลาดหุ้นและดัชนีตลาด เขาวิเคราะห์และสร้างระบบให้กับข้อมูลตลาดเป็นเวลา 75 ปี ซึ่งรวมถึงกราฟที่แบ่งช่วงเวลารายครึ่งชั่วโมงถึงรายปี
Elliott ได้ค้นพบว่าการเคลื่อนที่ของราคาไม่ได้เกิดขึ้นแบบสุ่ม ๆ แต่มีรูปแบบบางประการ หรือที่เรียกว่า “คลื่น” ในปี 1938 เขาได้ร่วมกันกับ Charles J. Collins ตีพิมพ์หนังสือเล่มที่สามเรื่อง “The Wave Principle” ซึ่งอธิบายถึงข้อสังเกตและทฤษฎีของเขาเกี่ยวกับพฤติกรรมของตลาด ในผลงานเล่มนี้ Elliott ให้สมมติฐานไว้ว่า แม้ว่าราคาตลาดหุ้นอาจดูไม่แน่นอนและคาดการณ์ไม่ได้ จริง ๆ แล้วราคานั้นเป็นไปตามกฎใดกฎหนึ่ง และสามารถวัดและคาดการณ์โดยใช้ตัวเลข Fibonacci ได้ เขาได้แนะนำหลักการว่า ราคาตลาดเคลื่อนไหวในวัฎจักรที่ซ้ำรอย ซึ่งเขาใช้คำว่า “คลื่น” หลังจากการเผยแพร่เรื่อง “ทฤษฎีคลื่น” นิตยาสาร Finacial World ก็ได้ว่าจ้างให้นาย Elliott เขียนบทความ 12 ฉบับที่อธิบายเกี่ยวกับวิธีการคาดการณ์ตลาดของเขา
ทั้งนี้ ทฤษฎี Elliott Wave ไม่ได้รับความสนใจมากเท่าไรในช่วงที่เขายังมีชีวิตอยู่ แต่ตลอดช่วงปี 1940 เขาได้ปรับทฤษฎีและโฆษณษทฤษฎีของเขาให้เป็นที่รู้จัก โดยตีพิมพ์ผลงานและหนังสืออีกหลายเล่มเพื่อพัฒนาต่อยอดไอเดียของเขา ในปี 1946 Elliott ได้ตีพิมพ์หนังสือเล่มสุดท้ายชื่อ "Nature's Law – The Secret of the Universe" ซึ่งเขาพยายามที่จะสาธิตว่า ทฤษฎีคลื่นของเขานั้นสามารถใช้งานได้ ไม่ใช่แค่กับตลาดหุ้นเท่านั้น แต่รวมถึงแง่มุมอื่น ๆ ในชีวิตด้วย Ralph Nelson Elliott เสียชีวิตในปี 1948 แต่ทฤษฎีของเขายังคงเป็นที่ถกเถียงและโต้แย้งอย่างต่อเนื่อง ทฤษฎีนี้กลายเป็นหนึ่งในหลักการพื้นฐานของการวิเคราะห์เชิงเทคนิค และยังคงมีผลต่อการเทรดในตลาดการเงินมาจนถึงปัจจุบัน
หลักการพื้นฐานของทฤษฎีคลื่น
1. โครงสร้างของคลื่น: Elliott กล่าวว่า ราคาตลาดเคลื่อนในโครงสร้างคลื่น 5 คลื่นในทิศทางของเทรนด์หลัก (คลื่น impulse) ตามมาด้วยโครงสร้างคลื่น 3 คลื่นที่สวนทางกับเทรดน์ (คลื่น corrective)
2. คลื่น Impulse และ Corrective: คลื่น Impulse จะนับเป็น 1-5 ซึ่งอยู่ในภายในเทรนด์หลัก ส่วนคลื่น corrective เป็นคลื่นปรับฐานที่มีตัวอักษร A, B และ C กำกับอยู่ คลื่น Impulse คอยขับเคลื่อนให้ตลาดขยับขึ้นหรือลง ในขณะที่คลื่น Corrective แสดงถึงการเคลื่อนที่ที่สวนเทรนด์ชั่วคราว
3. แฟร็กทัล: ทฤษฎีคลื่นชี้ว่า คลื่นนั้นมีลักษณะธรรมชาติเป็นแฟร็กทัล หมายความว่าแต่ละคลื่นสามารถแบ่งย่อยออกเป็นคลื่นเล็ก ๆ ที่เคลื่อนไหวตามรูปแบบเชิงโครงสร้างเดียวกัน
4. Fibonacci: Elliott ค้นพบว่า คลื่นมักมีความเกี่ยวข้องกันในเชิงขนาดตามอันดับของ Fibonacci เช่น ราคามักย่อตัวหลังการปรับฐานถึงระดับ 61.8% ของการเคลื่อนที่ก่อนหน้านั้น
5. จิตวิทยาตลาด: ทฤษฎีคลื่นสะท้อนถึงจิตวิทยาของคนหมู่มากในตลาด คลื่น Impulse สะท้อนถึงทัศนคติที่ดีและความต้องการในการลงทุน ในขณะที่คลื่น Corrective สะท้อนถึงความไม่แน่นอนและความต้องการในการเก็บกำไร
การศึกษาต่อยอดและพัฒนาทฤษฎีของ Elliott
วิทยาศาสตร์ไม่ได้อยู่กับที่ นักวิเคราะห์และนักเทรดหลายคนได้มีบทบาทในการพัฒนาทฤษฎี Elliott Wave ในเวลาต่อมา โดยนำหลักการมาปรับใช้กับเงื่อนไขตลาดสมัยใหม่ พวกเขาได้พัฒนารูปแบบที่หลากหลาย และส่วนเสริมที่ต่อยอดทฤษฎีนี้ รวมถึงอินดิเคเตอร์และอัลกอริทึมที่ช่วยพัฒนาความแม่นยำของการคาดการณ์ เรามาให้รายชื่อบุคคลสำคัญที่มีบทบาทชัดเจนมากที่สุดในกระบวนการนี้กัน
– Robert Prechter: หนึ่งในผู้ส่งเสริมทฤษฎีคลื่นที่โด่งดังมากที่สุด เขาเริ่มนำทฤษฎีนี้ไปใช้และส่งเสริมให้ทฤษฎีนี้เป็นที่รู้จักในช่วงปี 1970 เขาได้เขียนหนังสือขึ้นมาหลายเล่มเกี่ยวกับเรื่องนี้ เช่น หนังสือเรื่อง "Elliott Wave Principle: Key to Market Behaviour" ซึ่งตีพิมพ์ในปี 1978 ร่วมกับ A.J. Frost เขาเองช่วยให้ทฤษฎีนี้เป็นที่รู้จักอย่างมากในหมู่นักเทรดและนักวิเคราะห์
– A.J. Frost: คือนักวิเคราะห์ชาวแคนาดา ผู้ร่วมเขียนหนังสือเรื่อง “Elliott Wave Principle” กับ Robert Prechter หนังสือเล่มนี้ถือว่าเป็นหนึ่งในผลงานที่มีอิทธิพลมากที่สุดเกี่ยวกับทฤษฎีคลื่น และเพิ่มความนิยมและการเป็นที่ยอมรับให้กับทฤษฎีนี้เป็นอย่างมาก
– Glenn Neely: ได้พัฒนาต่อยอดแนวคิดของ Elliott และพัฒนาหลักการที่เรียกว่า “Neely Wave Principles” ขึ้นมา หลักการเหล่านี้เป็นการให้ความกระจ่างและขยายความทฤษฎีดั้งเดิมของ Elliott โดยเฉพาะคำอธิบายเรื่องโครงสร้างคลื่นและสัดส่วนของเวลา
– Bill Williams: เป็นนักเทรดและเจ้าของหนังสือเกี่ยวกับจิตวิทยาการเทรด การวิเคราะห์เชิงเทคนิค และทฤษฎีความโกลาหลในการเทรดในตลาด Williams ได้ประยุกต์ทฤษฎีคลื่นในระบบการวิเคราะห์ของเขา และได้พัฒนาแนวทางในการช่วยเหลือนักเทรดในการหาและเทรดตามรูปแบบคลื่นของ Elliott โดยได้พัฒนาอินดิเคเตอร์เชิงเทคนิค 6 ชนิดที่กลายเป็นชุดเครื่องมือมาตรฐานในเทอร์มินัล MetaTrader-4
– Peter Brandt: นักเทรดผู้มากประสบการณ์ และมักเป็นที่ขนานนามว่าเป็น “ตำนานแห่งวอลล์สตรีท” Brandt มักใช้หลักทฤษฎี Elliott Wave ในกลยุทธ์การเทรดของเขา ในหนังสือเรื่อง "Diary of a Professional Commodity Trader" เขาได้พูดถึงการนำทฤษฎีคลื่นไปใช้ในการเทรดจริง
– Steve Nison: หรือที่รู้จักกันมากกว่าในฐานะผู้เชี่ยวชาญเรื่องกราฟแท่งเทียนญี่ปุ่น เขายังได้มีบทบาทเป็นอย่างยิ่งในความนิยมของทฤษฎี Elliott Wave โดยใช้ประกอบกับการวิเคราะห์เชิงเทคนิคเพื่อหาจุดเข้าและออกจากตลาดที่แม่นยำมากขึ้น
***
ทฤษฎี Elliott Wave ให้มุมมองที่เป็นเอกลักษณ์ต่อพฤติกรรมตลาด อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีนี้ได้รับการวิจารณ์อย่างต่อเนื่องในเรื่องความยากในการใช้งาน การใช้ทฤษฎีนี้อย่างเชี่ยวชาญต้องอาศัยเวลา ความพยายาม และการฝึกฝนเป็นอย่างมาก ความท้าทายหลักอยู่ที่การหาจังหวะที่ชัดเจนว่าคลื่นนั้นเริ่มต้นและสิ้นสุดตอนไหน รวมถึงตัวแปรต่าง ๆ ในสภาพแวดล้อมตลาด ซึ่งทำให้การคาดการณ์แม่นยำน้อยลง แต่อย่างไรนั้น ทฤษฎี Elliott Wave ยังคงเป็นเครื่องมือหลักให้กับผู้เล่นตลาดหลายราย และเป็นความรู้ที่มีคุณค่าอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ต้องการทำความเข้าใจและทำนายการเคลื่อนที่ตลาดอย่างดียิ่งขึ้น รวมถึงการหาจุดที่ราคามีโอกาสกลับตัว หรือความต่อเนื่องของเทรนด์ ไม่ต่างไปจากที่ Robert Prechter เคยกล่าวไว้ว่า “ทฤษฎี Elliott Wave ไม่ใช่แค่ชุดกติกาและแนวทางเท่านั้น แต่ยังเป็นมุมมองใหม่ต่อพฤติกรรมตลาดด้วย”
กลับ กลับ